สมณศักดิ์...!!!การทำคุณงามความดีไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือ ประโยชน์ส่วนรวมตามแนวทางที่ถูกต้องตามหลักของศีลธรรมและกฏเกณฑ์ต่างๆ ทางสังคม เป็นต้น ย่อมจะได้รับผลดีเป็นเครื่องตอบแทน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ซึ่งผลดีในที่นี้ย่อมจะพิจารณาได้ทั้งในส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ก็คือผลดีทางวัตถุหรือจิตใจนั่นเอง
สมณศักดิ์ คือผลดีอย่างหนึ่งที่สะท้อนออกมาเป็นเครื่องตอบแทนแก่พระสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และได้รับประกอบศาสนกิจเป็นปรหิตานุหิตประโชน์ โดยอเนกประการแก่พระศาสนาและประเทศชาติ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์นับตั้งแต่สมัยอาณาจักรกรุงสุโขทัยเป็นต้นมาตราบเท่าปัจจุบันนี้ ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธิตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริม และให้กำลังใจต่อการที่จะประพฤติดีปฏิบัติชอบและประกอบศาสนกิจให้เป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป
สมณศักดิ์ คือยศของพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทาน มีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด หรือ สมณศักดิ์ คือเครื่องราชสักการะที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงถวายแด่พระสงฆ์ผู้ทรงศีล และมีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ เป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ให้มีอุตสาหะในการบำเพ็ญศาสนกิจ อันจะเป็นปัจจัยให้พระพุทธศาสนามั่นคงและเจริญแพร่หลายยิ่งๆ ขึ้น
สมณศักดิ์ คือฐานันดรศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งและเลื่อนถวายเฉพาะแด่พระสงฆ์ผู้มีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ และประกอบศาสนกิจเป็นปรหิตานุหิตประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติโดยอเนกประการดังกล่าว โดยมีพระราชประสงค์ที่จะทรงส่งเสริมให้พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ได้มีอุตสาหะวีริยะในการประพฤติดีปฏิบัติชอบและประกอบศาสนกิจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ส่วนประวัติและความเป็นมาของพระราชพิธีตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์นั้น มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา กล่าวคือในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๐๔ พระมหาธรรมราชา ( ลิไท ) ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ณ กรุงสุโขทัย ภายหลังจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประมาณ ๗๐ ปี พระองค์ได้โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชแห่งลังกาทวีป เพื่อให้มาประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกา ให้เจริญแพร่หลายในกรุงสุโขทัย จากนั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาลัทธิดังกล่าวก็ได้รับการประดิษฐานตั้งมั่นในประเทศไทยสืบต่อมาโดยลำดับ แม้ปัจจุบันนี้ตำราภาษาบาลีที่คณะสงฆ์กำหนดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียน ตั้งแต่ชั้นประโยค ๑ - ๒ ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ล้วนแต่เป็นตำราภาษาบาลีที่แต่งขึ้นในประเทศลังกา ( ศรีลังกาปัจจุบัน ) เกือบทั้งสิ้น นอกจากนี้พระมหาสวามีสังฆราช คงจะได้นำระเบียบแบบแผน ประเพณีและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาบางอย่างที่ใช้ปฏิบัติอยู่ในประเทศลังกาในขณะนั้นมาเผยแพร่ในกรุงสุโขทัยด้วย โดยเฉพาะสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงลงกาทรงตั้งถวายแด่พระสงฆ์ น่าเชื่อว่าท่านคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชา ( ลิไท ) ทรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม และได้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กำลังใจให้พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ได้ประพฤติดีปฏิบัติชอบและประกอบศาสนกิจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้ เพราะในลังกามีพระราชพิธีตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์มาเป็นเวลานานแล้ว สมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงลงกาทรงแต่งตั้งถวายแด่พระสงฆ์นั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือชั้นสูงเรียกว่า มหาสวามี และชั้นรองลงมาเรียกว่า สวามี พระมหาเถระที่ทรงสมณศักดิ์ชั้นมหาสวามีนั้น คงจะหมายถึงพระสังฆนายกที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่สูงสุดเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ในประเทศลังกา ส่วนสมณศักดิ์ชั้นสวามีนั้น คงจะหมายถึงพระมหาเถระที่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ระดับรองลงมา ส่วนข้อที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งราชทินนาม พระราชทานเป็นสมณศักดิ์นั้น ถือว่าเป็นพระราชประเพณีที่มีอยู่ทุกประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และประเทศที่เริ่มต้นพระราชประเพณีดังกล่าวนี้น่าจะเชื่อว่ามีขึ้นที่ประเทศลังกาก่อนเป็นแห่งแรก เพราะมีปรากฏอยู่ในหนังสือรามัญสมณวงศ์ว่า :- " พ.ศ. ๒๑๐๘ พระเจ้ารามธิบดี กรุงหงสาวดี ( พม่า ) มีพระราชประสงค์จะรวมพระสงฆ์ในรามัญประเทศ ซึ่งแตกต่างลัทธิกันอยู่เป็นหลายพวกให้เป็นนิกายอันเดียวกัน จึงส่งพระเถระเมืองหงสาวดีออกไปบวชแปลงที่เมืองลังกา เมื่อพระเจ้าภูวเนกพาหุ พระเจ้ากรุงลังกา ทรงจัดการให้พระมอญเหล่านั้นได้บวชแปลงสมปรารถนาแล้ว มีรับสั่งให้นิมนต์เข้ารับพระราชทานอาหารบิณฑบาตในพระราชวัง เมื่อทรงประเคนไทยธรรมเสร็จแล้วมีรับสั่งแก่พระเถระเหล่านั้นว่า การที่พระราชทานไทยธรรมต่าง ๆ ถึงจะมีมากมายสักเท่าใด ก็จะไม่ปรากฏพระเกียรติยศถาวรเท่ากับพระราชทานนามบัญญัติ เพราะไทยธรรมทั้งหลายย่อมกระจัดกระจายพลัดพลายหายสูญได้ แต่ส่วนราชทินนามนั้นย่อมจะปรากฏถาวรอยู่ตลอดอายุไขของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย มีรับสั่งดังนี้แล้วจึงพระราชทานราชทินนามแก่พระมอญที่ไปบวชแปลง ๒๒ รูป คือตั้งพระโมคคัลลานเถระให้มีนามว่า พระสิริสังฆโพธิสามิ และพระมหาสีวลีเถระให้มีนามว่า พระติโลกคุริสามิ เป็นต้น ความข้อนี้ทำให้น่าเชื่อว่า ประเทศลังกาคงมีพระราชประเพณีตั้งราชทินนามเป็นสมณศักดิ์มาก่อนหน้านั้นนานแล้ว จากนั้นจึงแพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ที่รับเอาอิทธิพลแห่งระเบียบแบบแผน ประเพณีและลัทธิสงฆ์อย่างลังกามาเป็นแบบอย่าง กล่าวสำหรับประเทศไทย พระราชประเพณีตั้งราชทินนามเป็นสมณศักดิ์เริ่มมีขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลายคือภายหลังจากที่พระมหาธรรมราชา ( ลิไท ) ได้โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชจากลังกา เพื่อให้มาทำการเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกา ณ กรุงสุโขทัยแล้ว เพราะมีราชชื่อพระสงฆ์ที่บ่งบอกว่าได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นสมณศักดิ์ปรากฏอยู่ในรัชสมัยนั้น เช่น พระสังฆราชา วัดมหาธาตุ, พระครูธรรมไตรโลก วัดเขาอินทร์แก้ว, พระครูยาโชค วัดอุทยานใหญ่, พระครูธรรมราชา วัดไตรภูมิป่าแก้ว, พระครูธรรมเสนา, พระครูญาณไตรโลก, พระครูญาณสิทธิ์ เป็นต้น พระราชประเพณีดังกล่าวได้รับการปฏิบัติสืบต่อมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระสงฆ์ที่ได้รับราชทินนามเป็นสมณศักดิ์ คือสมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี วัดมหาธาตุ, สมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว, พระพิมลธรรม วัดรามาวาส, พระธรรมโคดม วัดธรรมิกราช, พระธรรมไตรโลก วัดสุทธาสวรรค์, พระธรรมเจดีย์ วัดสวนหลวงสบสวรรค์, พระศรีสัจญาณมุนี วัดพญาแมน, พระศรีสมโพธิ วัดฉัททันต์, พระครูสันดานราชมุนี เมืองสรรค์บุรี, พระครูมโนรมย์มุนี เมืองมโมรมย์, พระครูญาณบวร เมืองนครสวรรค์ เป็นต้น หรือในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ( รัชกาลที่ ๔ ) เช่น สมเด็จพระอริยวงศาคนญาณ ( อู่ ) วัดสุทัสน์ ฯ สมเด็จพระวันรัตน ( เซ่ง ) วัดอรุณราชวราราม, สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( สน ) วัดสระเกศ, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ฉิม ) วัดมหาธาตุ เป็นต้น
ประเภทสมณศักดิ์ สมณศักดิ์ที่องค์พระประมุขของชาติ ทรงตั้งถวายแด่พระสงฆ์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบและประกอบศาสนกิจเป็นปรหิตานุหิตประโยชน์โดยอเนกประการแก่พระศาสนาและประเทศชาติอยู่ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๒ ประเภท คือ :-
๑. สมณศักดิ์เกี่ยวกับความรู้
สมณศักดิ์ประเภทนี้ทรงตั้งถวายเฉพาะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรมตั้งแต่ ๓ - ๙ ประโยค เรียกว่าทรงตั้งเปรียญ แต่ละประโยคมีพัดยศกำกับ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค และ ๙ ประโยค ทางกรมการศาสนาจะนิมนต์ให้เข้ารับพัดยศและประกาศนียบัตรจากองค์พระประมุขของชาติ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน เป็นประจำทุกปี
๒. สมณศักดิ์เกี่ยวกับผลงาน
สมณศักดิ์ประเภทนี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ พระครูสัญญาบัตร ( พระครูชั้นตรี, พระครูชั้นโท, พระครูชั้นเอก, และพระครูชั้นพิเศษ ) และพระราชาคณะซึ่งแบ่งออกเป็น ๖ ชั้น คือพระราชาคณะชั้นสามัญ, พระราชาคณะชั้นราช, พระราชาคณะชั้นเทพ, พระราชาคณะชั้นธรรม, พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฎ ( รองสมเด็จพระราชาคณะ ) และพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฎ ( สมเด็จพระราชาคณะ )
สมณศักดิ์ทั้ง ๒ ประเภทนี้ มีลักษณะแตกต่างกัน
กล่าวคือพระภิกษุสามเณรที่มีอุตสาหะวีริยะสอบได้ภูมิธรรมเปรียญแต่ละประโยคก็จะได้รับพระราชทานพัดยศ ผ้าไตร และประกาศนียบัตร ถือเป็นสมณศักดิ์เกี่ยวกับความรู้
ส่วนสมณศักดิ์เกี่ยวกับผลงานนั้น มหาเถรสมาคมจะทำการพิจารณาเป็นเบื้องต้นว่า พระสังฆาธิการรูปใดมีความเหมาะสมที่จะได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนให้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นใด จากนั้นก็จะเสนอรายชื่อพระสังฆาธิการเหล่านี้ขึ้นไปโดยลำดับ จนกระทั่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตั้งและเลื่อนให้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว
อนึ่ง สมณศักดิ์เกี่ยวกับผลงานโดยเฉพาะระดับพระราชาคณะ หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า เจ้าคุณ นั้น สามารถเทียบได้กับฐานันดรศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานแก่ฆราวาส ดังนี้ :-
พระราชาคณะชั้นสามัญ เท่ากับ ขุน
พระราชาคณะชั้นราช " หลวง
พระราชาคณะชั้นเทพ " พระ
พระราชาคณะชั้นธรรม " พระยา
พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฎ " เจ้าพระยา( รองสมเด็จพระราชาคณะ )
พระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฎ " สมเด็จเจ้าพระยา ( สมเด็จพระราชาคณะ )