หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระอริยานุวัตร (เขมจารีเถระ)

    พระอริยานุวัตร (เขมจารีเถระ)

    เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของวงการสงฆ์เมืองมหาสารคาม ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถรูปหนึ่ง ด้วยอุปนิสัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ใฝ่เรียนรู้ค้นคว้าตลอดเวลา ท่านยังเป็นผู้มีความสามารถรอบรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน เชี่ยวชาญอักขระโบราณ ตลอดชีวิตของท่านมุ่งมั่นอยู่กับการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์โบราณ วรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน แปลออกมาเป็นภาษาไทย ผลงานปรากฏต่อสาธารณชนวงกว้างมากมาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์แห่งภาคอีสานอย่างแท้จริง

    สถานะเดิม

    ชื่อ อารีย์   นามสกุล  โยธิมาตย์  เกิดเมื่อ ปีเถาะ  ปกติมาสตรงวันที่  ๒๔  กันยายน  ๒๔๘๓  เวลา  ๑๖.๐๐  น.   ตรียางค์ – นวางค์  ลัคนา  สถิต  ราศี  กันย์  ภูมิปาโลฤกษ์   บิดาชื่อ นายหัด  โยธิมาตย์   มารดาชื่อ นางตู้  โยธิมาตย์  คุ้มดอนบม  หมู่ที่ ๕  เลขที่ ๑๐ ตำบลหนองแสง  อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

    • ชีวิตตอนเป็นสามเณร
    แต่ก่อนเรียนที่โรงเรียนประชาบาลตอนอายุได้ ๙ ปี  ซึ่งพ่อป่วยหนักได้ตายจากไป อายุ ๑๒  ปี  เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๓  ในต้นปีกำลังเรียนพ่อตาคือพ่อใหญ่  อายุ ๑๐๐  ปีกว่าได้  ตายจากไป แม่จึงพูดว่า  ไม่มีอะไรที่จะสนองคุณพ่อใหญ่  ขอให้ลูกอารีย์บวชจูงศพพ่อใหญ่  จึงได้รับปากว่ายินดีบวชจูงศพพ่อใหญ่ ญาติๆ ทุกคนเห็นพ้องดีใจทุกคนในการบวชจูงศพ  หลังจากเสร็จสิ้นจากงานศพแล้วจะลาสิกขาบทแม่และญาติๆ ไม่อยากให้ลาสิกขาบท  จำเป็นต้องอดทนครอง   ผ้าเหลืองของพระพุทธเจ้าไปโรงเรียน  กระดาษ  สมุด  ดินสอ  หนังสือ  ไปขอเงินจากแม่ไปซื้อแม่ยินดีให้ไม่ขัดข้อง  เมื่อไปโรงเรียนแจ้งครูใหญ่ให้ทราบว่า  “บวชแล้ว”   เข้าห้องเรียนครูประจำชั้นเรียกชื่อ สามเณรอารีย์ 
    เรียนคัมภีร์พุทธศาสนา ต่อมาจึงลาออกจากโรงเรียนประชาบาลเพราะทางบ้านไม่มีเงินส่งเสีย   จึงมีเวลาเรียนพระพุทธศาสนาอันมีอยู่ในใบลานซึ่งมีอยู่ตามวัด  ใส่ตู้ไว้เป็นมัดๆ มีเป็น ๑๐ ตู้ในสมัยนั้น  จึงได้ตั้งใจเรียน
    อักษรขอม
    อักษรธรรม (ไทยใหญ่)
    อักษรลาว  (ไทยน้อย)
    อักษรกาพย์
    อักษรเจือง
    อักษรสร้อย
    เลขหางหมา คือ หางเลข

    • อุปสมบทเป็นพระ
    เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๗๘ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโสมนัสประดิษฐ์ ตำบลหนองแสง  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม คณะสงฆ์ ๒๕ รูป เป็นคณะปูรกะ
    • พระครูวาปีคณานุรักษ์ (พิน) วัดโสมนัสประดิษฐ์  เป็นพระอุปัชฌาย์
    • พระใบฎีกาชุย  วัดสุวรรณพัตร์  เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    • พระสมุห์เสาร์  วัดสุวรรณพัตร์  เป็นพระอนุสาวนาจารย์
    • พระสมุห์เคน  วัดโสมนัสประดิษฐ์  เป็นพระโอวาทถาจารย์
    จบกรรมวาจา – อนุสาวนา  เวลา ๑๑.๓๐ น.  พอดีสมบูรณ์ตามพระวินัย

    เมื่ออุปสมบทแล้ว  พระอุปัชฌาย์ตั้งชื่อฉายา  เขมจารี  หมายความเป็นผู้ประพฤติอันเกษม  จึงไปลาญาติพี่น้องและโยมแม่ประสงค์ไปเรียนหนังสือกรุงเทพฯ  ญาติพี่น้องทุกคนเห็นดีด้วย   โยมแม่พูดเป็นคติธรรมพื้นบ้านว่า
    มีเงินทองเต็มภาช์
    บ่ท่อ  มีผญาเต็มพุง
    เมื่อบวชเพียง ๗ วันเท่านั้น  จึงไปลาหลวงปู่อุปัชฌาย์ขอไปเรียนต่อกรุงเทพฯ  เมืองหลวง

    วิทยฐานะ
    • พ.ศ. ๒๔๗๒
    สอบชั้นประถมปีที่ ๓  ได้ในโรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม
    • พ.ศ. ๒๔๗๔ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี  วัดโสมนัสประดิษฐ์
    • พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท  วัดโสมนัสประดิษฐ์
    • พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก  สำนักเรียนวัดสามพระยา  พระนคร
    • พ.ศ. ๒๔๗๙ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค  สำนักเรียนวัดสามพระยา  พระนคร
    • พ.ศ. ๒๔๘๑ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคสำนักเรียนวัดสามพระยา  พระนคร
    • พ.ศ. ๒๔๘๓ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค  สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร  พระนคร

     

    สำนักเรียนวัดอัมพวัน  เป็นเพียงสำนักเรียนสาขาของสำนักเรียนใหญ่  เพียงเจ้าอาวาสจัดให้มีการศึกษาปริยัติธรรมขึ้นในวัดเท่านั้น  ญาติโยมผู้อุปการะวัดมีน้อย แต่ท่านพระครูพิสิฐวิริยคุณ  สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้ญาติโยมขึ้นมาก  ทำวัตร – สวดมนต์เช้า – เย็น  ลงปาติโมกข์  เป็นต้น  กติกาของวัดวางระเบียบไว้ดี   พระมหาเปรียญหลายรูปมีประโยคสูงถึง ๗ ประโยค  แต่ลาสึกไปมากเหมือนกัน  เป็นที่รับยกย่องจากเจ้าคณะแขวงเสมอว่า  เจ้าอาวาสเอาใจใส่ในการศึกษาเล่าเรียนพระเณรในวัดดี เมื่อศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้น  ท่านเจ้าอาวาสได้แต่งตั้งให้เป็นครูสอนปริยัติธรรม  ตั้งแต่สอบได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค  เป็นต้นมา  มีครูสอนด้วย ๑๐ กว่ารูป
    เจ้าสำนักวัดท่านได้ขอร้องนายพรม  เปรียญ ๕ ประโยค (อดีตเจ้าอาวาสวัดเสาประโคน ธนบุรี  เป็นพระญาณสมโพธิ)  ลาสิกขาบทเป็นครูสอนเปรียญ  ๔ – ๕ ประโยค  วัดอัมพวัน  เมื่อเรียนเปรียญ ๔ – ๕ เข้าแปลงมงคลทีปนีเปรียญ ๕  แปลตติยสาปนต์  ซึ่งนายพรมเป็นผู้สอนเวลาบ่ายทุกวันในวันพรรษา  แต่เมื่อออกพรรษาแล้วไปเรียนที่วัดสามพระยาบ้าง  ที่วัดมหาธาตุบ้าง  เข้าสอบเปรียญ ๔ ปีแรกสอบตก  ปีที่ ๒ จึงสอบได้  เหตุที่สอบตกเพราะมีภาระเป็นครูสอนจึงหาโอกาสที่จะช่วยตัวเองได้น้อย
    • พ.ศ. ๒๔๘๔ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคามขาดครูสอนปริยัติธรรมในสำนักเรียนท่านได้ขอร้องให้
    คุณแม่แก้ว  อัตถากร
    คุณแม่ดวงคำ  ธนสีลังกูร
    นายอดุลย์  ภวภูตานนท์ฯ
    คุณนายอุบล  ภาภูตานนท์

    ซึ่งเป็นลูกหลานเจ้าเมืองมหาสารคามไปอาราธนาให้ขึ้นมาอยู่ที่วัดมหาชัย  จังหวัดมหาสารคาม  เพื่อช่วยการคณะในจังหวัดมหาสารคาม  เพื่อช่วยการคณะในจังหวัดมหาสารคาม  ไม่ยอมรับนิมนต์  เพราะประสงค์จะเรียนเปรียญ ๖ เพื่อให้สอบไล่ได้  แต่ปีนี้สอบตก
    • พ.ศ. ๒๔๘๕ คณะลูกหลานเจ้าเมืองดังกล่าว  ได้ลงไปกรุงเทพฯ  พร้อมกันไปนิมนต์อีก  เป็นครั้งที่ ๒  และได้อ้างความขัดข้องเช่นเดียวกัน  คือประสงค์จะเรียนให้สอบเปรียญ ๖ ให้ได้  เสียใจที่สอบตกปีแรก  ในปีนี้ไม่ค่อยสบาย  ป่วยกระเสาะกระแสะตลอดปี  ไม่ค่อยจะได้ไปโรงเรียนจึงเป็นเหตุให้สอบตกอีก
    • พ.ศ. ๒๔๘๖ คณะญาติโยมทั้ง ๔ ท่านนั้น  ยังไม่วายที่จะให้ขึ้นไปอยู่กับเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  จึงพร้อมกันลงไปนิมนต์เป็นครั้งที่ ๓ ยังไม่ทอดอาลัยไปอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า  ทั้งไปเรียนขอร้องท่านเจ้าอาวาสวัดอัมพวันให้ช่วยนิมนต์อีกแรงหนึ่ง  โดยขอขึ้นไปช่วยกิจการคณะจังหวัดมหาสารคาม  เจ้าอาวาสท่านได้พูดปรับความเข้าใจเป็นพิเศษ  หลายครั้งหลายหนซึ่งพูดด้วยความเห็นใจทุกประการ  แต่ยังไม่รับปากนิมนต์อะไรทั้งนั้นเพราะมุ่งการเรียน  หากขึ้นไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วมีการเรียนย่อมเสียเป็นแน่  ทั้งปูนวัยพรรษายังน้อย  กำลังฝักใฝ่ต่อการเรียนไม่นานวันเท่าใดนัก  คณะลูกหลานเจ้าเมืองมหาสารคามลงไปนิมนต์อีก  ท่านเจ้าอาวาสใช้ให้พระไปนิมนต์มาพูดกันให้เป็นที่ตกลง  พอมาไหว้เจ้าอาวาสท่านขอร้องให้ขึ้นไปทำกิจพระศาสนา  แม้พระเถระผู้ใหญ่หลายองค์ซึ่งประชุมนั่งอยู่นั้น  พร้อมกันขอร้องเป็นเสียงเดียวกัน  จึงเห็นว่าที่ได้ลงไปนิมนต์ ๓ ครั้งนี้  ผู้ประสงค์จะให้ขึ้นไปอยู่จังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมยังมีความอาลัย  จึงตกลงรับขันนิมนต์ญาติโยม

    กลับภูมิลำเนาเดิม

    • พ.ศ. ๒๔๘๖ ทางเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  ได้ทำหนังสือขอไปยังเจ้าคณะตรวจการภาคและทางกรมการศาสนา  ตามระเบียบทางคณะสงฆ์ปฏิบัติ  จึงไปอำลาพระเถระผู้ใหญ่ในพระนคร  ในวันขึ้นมานั้นพระครูพิสิฐวิริยคุณเจ้าอาวาสได้จัดส่งสถานีรถไปหัวลำโพงพร้อมด้วยพระสงฆ์สามเณรไปส่งเป็นจำนวนมาก
    อตฺถมฺพิ  ชาตมหิ    สุขา    สหายา
    สหายทั้งหลาย   เมื่อเกิดประโยชน์  นำสุขมาให้
    แม้ทางเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  ท่านจัดการให้ทางเทศบาลเมืองไปรับที่คลองสมถวิล  หน้าโรงพยาบาลแห่มาจากชานเมืองเข้าวัดมหาชัย  พระสงฆ์สวดชัยมงคลกถาทำพิธีผ้าศรีสูตรขวัญตามประเพณี  อันเป็นประเพณีพื้นเมือง
    การขึ้นมาปฏิบัติกิจพระศาสนาในภูมิลำเนาเดิม  ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน  จึงเป็นที่สบายมากเพราะใครๆ เป็นญาติพี่น้องมีมาก  ไม่ค่อยจะมีอุปสรรคอะไรมากนัก  เจ้าคณะจังหวัดตั้งให้เป็น   ครูสอนนักธรรม  และบาลีไวยากรณ์ธรรมบท  และได้ทำการสอนไปถึงส่งนักเรียนเข้าสอบธรรมและบาลีในสนามหลวง  มีลูกศิษย์สอบมหาเปรียญได้หลายรูป  และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาชัย  มีดังนี้

    • พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่งตั้งให้เป็นครูสอนปริยัติธรรม, เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส
    • พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาชัย, เป็นพระอุปัชฌาย์
    • พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนผู้ใหญ่วัดมหาชัย, เป็นผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นครูใหญ่โรงเรียนผู้ใหญ่วัดมหาชัย  นับแต่ปีย่างเข้ามาอยู่วัดมหาชัย  จังหวัดมหาสารคาม  คณะสงฆ์จังหวัดมีมติเสนอแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่รับตำแหน่งในการควบคุมและในการบริหาร  ซึ่งเป็นตำแหน่งทางคณะสงฆ์แต่งตั้งโดยเฉพาะ  มีดังนี้
    • พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด, เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง, เป็นศึกษาจังหวัดมหาสารคาม
    • พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นคณะวินัยธรจังหวัดมหาสารคาม – ร้อยเอ็ด
    • พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะอำเภอเมือง
    • พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นหัวหน้าคณะวินัยธร  ภาค ๔
    • พ.ศ. ๒๕๐๔ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม
    • พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นกรรมการร่างศัพท์อีสานในปทานุกรม
    ในการทำกิพระพุทธศาสนาในส่วนภูมิภาคนั้นได้ออกอบรมประชาชนในเขตจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์พร้อมด้วยท่านพระครูพรหมสาร  รองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งสมัยนั้นกาฬสินธุ์ยังรวมอยู่กับมหาสารคามท่านพระครูพรหมสารได้รับแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการจังหวัดได้เดินทางไปตรวจการคณะด้วยกันทุกอำเภอ ใน ๑๑ อำเภอ
    • พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร  พระราชทินนามว่า  “พระครูอริยานุวัตร”  ศึกษาจังหวัดมหาสารคาม
    • พ.ศ. ๒๔๙๔ ไปดูการพระศาสนาในประเทศพม่าพร้อมด้วยคณะทูตสัมพันธ์  ในนามคณะสงฆ์ไทยซึ่งมีท่านเจ้าประคุณพระพิมลธรรม  สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองเป็นประธานพร้อมด้วยทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง  คือ นายฟุ้ง  ศรีวิจารณ์  อธิบดีกรมศาสนา และเจ้าหน้าที่หลายคน  กรรมการพุทธษมาคมแห่งประเทศไทยไปร่วมเดินทางด้วยกัน  ไปอยู่ในประเทศพม่าประมาณ ๒ อาทิตย์กว่า  จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย
    • พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์  เป็นพระราชาคณะ  ชั้นสามัญ  พระราชทานนามว่า  “พระอริยานุวัตร”  ซึ่งมีอายุ ๓๖  ปี พรรษ ๑๖  พรรษา  เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคุณหนุ่มรูปหนึ่ง  ในส่วนภูมิภาค
    • พ.ศ. ๒๔๙๙ เดินทางไปร่วมทำฉัฐสังคายนาในประเทศพม่า  พระสงฆ์ไทย ๒๕ รูป  โดยมีพระเดชพระคุณเจ้าประคุณพระพิมลธรรม  สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองเป็นประธานที่ประชุมสังวัธยาย  พระวินัยปิฎก  พระสุตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  พร้อมด้วยการฉลองศตวรรษ  ๒๕๐๐   ในประเทศพม่า  ณ  กำปาเอ้  ทำอยู่นั้น ๑ เดือนจึงสำเร็จ  คือเพียงเป็นการไปผลัดเปลี่ยนตามวาระเท่านั้น   มีพระสงฆ์ทุกประเทศมาร่วมประชุมสันนิบาต  พม่า  ไทย  ลังกา  เนปาล  เขมร  ลาว  เป็นต้น  ในงานฉลองศตวรรษพม่า  ๗ วัน ๗ คืน ที่นครหลวงกรุงย่างกุ้ง ทางรัฐบาลพม่านิมนต์ไปชมหัวเมืองสำคัญ  เมืองหลวงเก่าพุกาม  ตองอู  หงสา  มัณฑเล      อังวะ  เมเมี้ยว  มะแหม่ง  แคว้นรัฐฉาน  ซึ่งทางรัฐบาลพม่าบริการพาพระต่างประเทศไปเที่ยวชมภายในประเทศ  ในธรรมปฏิสันถารคารวตา  เคารพในสันถวไมตรี
    • พ.ศ. ๒๕๐๔ รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งหลวงปู่เจ้าคุณพระสารคามมุนีมรณภาพทำงานในตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะจังหวัดมาถึง ๓ ปีเศษ  พ.ศ. ๒๕๐๗  จึงพ้นจาก ตำแหน่ง  เพราะทางคณะสงฆ์ได้ตั้งพระเถระองค์อื่นเป็นเจ้าคณะจังหวัด  จึงได้มอบงานให้เจ้าคณะจังหวัดใหม่ทำต่อไป
    • พ.ศ. ๒๕๐๗ เมื่อหมดภาระรับผิดชอบในหน้าที่รักษาการเจ้าคณะจังหวัดแล้ว  จึงได้ค้นคว้าหนังสือธรรมใบลานและสมุดข่อย  ปริวรรคชำระให้เป็นอักษรไทยปัจจุบัน  รวบรวมอักษรโบราณ คือ
    - อักษรขอม
    - อักษรธรรม  (ไทยใหญ่)
    - อักษรลาว  (ไทยน้อย)
    - อักษรเจือง
    - อักษรกาพย์
    - อักษรสร้อย
    - เลขหางหมา คือ หางเลข

    ชำระวรรณคดีเก่าแก่ของภาคอีสาน  ซึ่งมีอยู่ตามวัด  อำเภอ  จังหวัด  บ้านเรือนของชาวบ้าน  อักษรศิลาจารึกพร้อมรวบรวมลายศิลป์ซึ่งเสาะแสวงหาเท่าที่สามารถจะหามาได้  ใบเสมาและวัตถุซึ่งเป็นโบราณวัตถุทิ้งกระจัดกระจายอยู่ตามป่าและท้องนา  พยายามรวบรวมมาไว้  ทั้งนี้  ไม่เกี่ยวกับโบราณสถานเลย  และจะไม่แตะต้องเป็นอันขาด  หม้อไห  เศษอิฐ  ซึ่งชาวบ้านทำนาขุดพบในท้องนา  พยายามไปขอบิณฑบาตไว้ได้มาจำนวนน้อย  ไม่ได้เป็นจำนวนมาก เพราะชาวบ้านนำไปขาย  ใบเสมานั้นมีเสมาแบนเป็นแผ่นสมัยทวารวดีต้น  ได้มาจากอำเภอหนองพอก  จังหวัดร้อยเอ็ด  อยู่ทางทิศเหนือห่างจากตัวอำเภอ ๕ กิโลเมตร  แม้คุณศรีศักดิ์  วัลลิโภดม  ลงในหนังสือวารสารเมืองโบราณ  ลงความเห็นว่าเป็นสมัยทวารวดีต้น
    เสมา ๘  เหลี่ยมลักษณะคล้ายดอกบัวตูม  ได้มาจากอำเภอกุฉินารายณ์  ๒ หลัก  มีลักษณะหินทรายขาวถูกแสงแดดจะขึ้นรัศมีระยับแพรวพราว  ไฟสมัยทวารวดีเหมือนกัน  ทางอีสานเรียกว่า “สถูปเสมา”  หลักใหญ่  ๒  หลัก  หลักเล็ก  ๒  หลัก  ได้มาจากที่นั่น  เนื่องด้วยเจ้าอาวาสวัดสามัคคีดงบ่อ  อำเภอกุฉินารายณ์  นำมาเก็บไว้ที่วัด  ชื่อ พระอธิการพรหมมา  ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมจริยคุณ      เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์  วัดศรีบุญเรือง  ขอพระอธิการพรหมมาไว้ให้จึงนำรถยนต์ไปบรรทุกมาไว้ที่วัด  ซึ่งดูลักษณะแล้วไม่มีในที่อื่น  แม้เทวสถานต่างๆ ไปดูมาแล้วไม่เห็นมี  และไม่มีที่ไหนเลย
    เสมา ๔  เหลี่ยมซึ่งทำด้วยศิลาแดง  คนสมัยก่อนฝังไว้เรียงราย  ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิมาทางอำเภอบัวใหญ่  จังหวัดนครราชสีมา  อำเภอพล  จังหวัดขอนแก่น  อำเภอนาเชือก  อำเภอนาดูน  อำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  หินศิลาแดงเป็นต้นเสายาว ๑ เมตร ๖๐ เซนติเมตร  ฝังห่างกันไว้ ๑ กิโลเมตร หรือ ๒ กิโลเมตร  ชาวบ้านเรียวกว่า  “หลักเขตแดนเมือง”  ในสมัยโบราณ  กว้าง ๑๖, ๑๗ นิ้ว  บางแห่งชาวบ้านนำไปทุบทำทางเข้าบ้าน  จึงเป็นที่เสียดาย  ซึ่งคนโบราณทำไว้  เอารถยนต์ไปบรรทุกมาฝังเรียงรายไว้รอบๆ กุฎี  ๓๗ ก้อน  จะได้เป็นเครื่องหมายเรือนหินเสียบ้าง มีมากที่สุดในเขตอำเภอวาปีปทุม  จังหวัดมหาสารคาม  ขณะนี้ทางด้านทิศใต้  อำเภอวาปีปทุม  ห่างจากตัวอำเภอ ๑๖ – ๑๗  กิโลเมตร  ยังมีมาก  บางแห่งชาวนาหวงไว้ไม่ยอมให้  กลัวให้แล้วชาวนาเจ้าของนาจะเดือดร้อนทั้งลูกและเมีย
    ไหซึ่งแต่ละอำเภอ  จังหวัด  ในหมู่บ้านต่างๆ ขุดกันได้มาก  ดูแล้วเป็นไหสมัยขอมต้น      ขอมกลาง  ขอมปลาย  บางลูกมีลายศิลป์สวยงามดี  แต่คนโบราณทำไว้นั้นใบเล็กๆ ก็มี  ทำไว้เพื่อประโยชน์อะไรยากที่จะสันนิษฐานบางลูกเป็นโอ่งใส่น้ำไว้ดื่มยังได้  แต่ขายแพงเหลือเกิน  ไหบ้านเชียงขุดขึ้นซึ่งมีอายุ  ๔๐๐๐ – ๗๐๐๐  ปีนั้น  ได้ไปเช่าซื้อมาไว้เหมือนกัน  โดยมากทางอำเภอวาปีปทุมจะมีไหสมัยทวารวดีซึ่งจมดินฝังลึก ๒ – ๓ เมตร ชาวบ้านขุดน้ำบ่อเลี้ยงปลาได้พบหม้อไหเสมอ  มีทั้งลูกปัด  กล้องสูบบุหรี่และของอื่นๆ อีก  เช่น  ขวานฟ้า  บางอันมีลักษณะ  คล้ายสะเก็ดดาวก็มี  ขวานฟ้านี้มีลักษณะเหมือนขวานหัวหมูเป็นหินสีเขียวแข็งมากเหมือนเพชรกรีดกระจก  พวกชาวนาไถนาไปพบเห็นเข้า  เอามาล้างน้ำดูจึงรู้ว่าเป็นลักษณะขวานให้ชื่อว่า  “ขวานฟ้า”
    โดยเหตุที่ภาคอีสานของประเทศไทย  พ้นน้ำทะเลมานานและมีเมืองร้างที่เก่าแก่มาก     จะเห็นแต่ซากหม้อแตกไหแตก  ศิลาแลง  ก้อนอิฐใหญ่ๆ  ผิดปกติ  เมืองเก่าที่จมอยู่ในดินมาก  หากขุดค้นจะพบของเก่าแก่ในยุคสมัยหินตอนต้น  ยุคสมัยหินตอนกลาง  และยุคสมัยหินตอนปลาย    ซึ่งคนผู้เฒ่ามักพูดว่า  “สมัยคน ๗ ศอก” ได้สร้างแปลงไว้ที่ได้พยายามรวบรวมไว้นี้  เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาในทางภูมิศาสตร์ทางมานุษยวิทยา  จะได้ค้นคว้าเท่าที่สามารถจะค้นคว้าได้     อันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติทีเดียว
    ลายศิลป์  เป็นสมบัติเก่าแก่อันหนึ่ง  จะเป็นฝีมือราษฎรหรือฝีมือหลวงทำไว้สมัยก่อนหลายร้อยปีมานั้นอันมีตามวัดเก่าแก่ตั้งแต่หลายร้อยปี  มีตามคันทวยนาคอกเลาประตูหน้าต่าง   หลักเทียนหรือเทียนหลัก  ซึ่งทำขึ้นบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถ  แกะลวดลายเก่าแก่นั้น ใช้ไม้ประดู่หินซึ่งแข็งมากจนกลายเป็นหินชนิดไม้กลายเป็นหินอายุหลายร้อยปีมาแล้ว  จึงเป็นสมบัติอันล้ำค่าเหมือนกัน  ไม่ทราบว่าอายุจะเท่าใดถามใครๆ ก็ไม่รู้  เพราะคนเก่าแก่ตายไปหมดแล้วเหลือที่จะเดาได้  จึงได้แต่ประมาณอายุกันเองเท่านั้น

    จัดระบบการศึกษา  ปริยัติ – ปฏิบัติ

    • ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๖ ได้ขึ้นมาอยู่วัดมหาชัย  ได้จัดการศึกษาปริยัติธรรม นักธรรมตรี-โท- เอก และมหาเปรียญทำการสอนในสำนักวัดมหาชัย  และวางนโยบายการศึกษาในเขจจังหวัดมหาสารคาม  สมัยดำรงตำแหน่งศึกษาจังหวัด
    นักธรรมทุกชั้น ๒๐,๐๐๐ กว่ารูป  เปรียญทุกชั้น ๕๐๐ กว่ารูป  เฉพาะนักธรรมตรี-โท-เอก ได้ขยายสนามสอบไปตามตำบลต่างๆ เพื่อสะดวกแก่นักเรียนผู้เข้าสอบทั้งเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบล  ครูปริยัติผู้ควบคุมการสอบธรรมสนามหลวง  จะได้ปฏิบัติศาสนกิจสะดวก  การพระพุทธศาสนาจึงเจริญก้าวหน้าในทางปริยัติได้ทั้งฝ่ายปริมาณและคุณภาพ  ขณะสอบธรรมสนามหลวงทุกปี  จะออกตรวจสนามสอบตามอำเภอและตำบล  เป็นการทำในหน้าที่ศึกษาจังหวัด  และให้กำลังนักเรียนผู้ทำการสอบส่งเสริมศรัทธาญาติโยมผู้ให้ความอุปถัมภ์ในการเลี้ยงพระภิกษุสามเณรผู้มารวมสอบเป็นจำนวนมากเมื่อสอบเสร็จแล้วทุกหน่วยสอบนำปัญหาเฉลยใบตอบของนักเรียน  นักธรรมชั้นตรี – โท  ตรวจที่จังหวัดมหาสารคาม  ส่วนนักธรรมชั้นเอกส่งไปตรวจส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร
    ทางแม่กองธรรมสนามหลวง อนุมัติให้จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดกาฬสินธุ์ ตรวจข้อสอบนักธรรมชั้นตรี – โท  ที่จังหวัดมหาสารคาม  ศึกษาจังหวัดดำเนินการตรวจในสนาม  เจ้าคณะจังหวัด ๓ จังหวัดเป็นประธานในการตรวจ  จังหวัดมหาสารคามเป็นผู้ดำเนินการย่อมเป็นภาระในการต้อนรับหมู่คณะ  เมื่อตรวจข้อสอบเสร็จแล้ว  ศึกษาจังหวัดทำบัญชีนักเรียนสอบได้ – ตก  ตรี – โท  ส่งแม่กองธรรมสนามหลวง  และกรมการศาสนาตามระเบียบ  จึงเป็นที่สงสารในการทำบัญชี  ซึ่งสมัยนั้นพิมพ์ดีดยังไม่มี  ใช้เขียนบัญชีด้วยปากกาหมึกซึม  และทำบัญชีรายชื่อนักเรียนผู้สอบได้  ส่งไปยังอำเภอเจ้าคณะอำเภอต่างๆ เพื่อประกาศให้นักเรียนในสำนักเรียนตำบลต่างๆ ทราบทั่วถึงตามระเบียบ  การทำบัญชีดังกล่าวนี้  เป็นระยะใกล้สอบบาลีสนามหลวงประจำปี  ทั้งทำบัญชีและทำการสอนบาลีประโยค ๓ – ๔ ที่จะเข้าสอบ  จึงสละเวลาคลุกคลีทำศาสนกิจ  เป็นการตรากตรำในภารกิจมิใช่น้อย  ทางคณะสงฆ์ไม่มีงบประมาณให้  จำเป็นใช้ทุนส่วนตัวแทบจะไม่มีอะไรติดตัว
    นักเรียนขอเข้าสอบบาลี  ประโยค ๓ -๔  สอบที่จังหวัดมหาสารคาม  ผู้ขอเข้าสอบประโยค  ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙  ส่งไปสอบสนามหลวงในส่วนกลาง  คือกรุงเทพมหานคร  มีนักเรียนทุกชั้น ๕๐๐ กว่ารูป  เปรียญ ๓ จำนวน ๓๐๐ กว่ารูป  เปรียญ ๔ จำนวน ๑๐๐ กว่ารูป  ศึกษาจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการสอบ  เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานกรรมการ  ทางคณะสงฆ์ไม่มีทุนงบประมาณ เพียงอาศัยความสามัคคีดำเนินงานเท่านั้น  จึงเป็นที่พอใจในวัดมหาชัย  มีพระมหาเปรียญสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ ๑ องค์ คือ พระมหาวีรวงศ์  เมื่อสอบได้แล้วจึงไปเรียนต่อประเทศอินเดีย  เมื่อสอบได้แล้วจึงกลับมาประเทศไทย  และได้ลาสิกขาบทไปนานแล้ว
    การศึกษาปริยัติธรรมดังกล่าวนี้เป็นผลงานที่ได้จัดการศึกษาโดยเฉพาะ  แม้ในการปฏิบัติธรรมได้ส่งเสริมพระภิกษุสามเณรเข้าปฏิบัติกรรมฐาน  สมถกรรมฐาน  วิปัสนากรรมฐาน  ซึ่งได้สร้างวัดเนรัญชราเป็นวัดปฏิบัติธรรมกรรมฐานได้ส่งพระภิกษุไปศึกษากรรมฐานที่วัดมหาธาตุ  พระนคร   พอศึกษาเป็นครูได้แล้ว  จึงขอขึ้นมาเป็นครูสอนวิปัสสนากรรมฐาน  ประจำจังหวัดมหาสารคาม  ได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ

    ศูนย์อนุรักษ์วรรณคดี

    • พ.ศ. ๒๕๑๓ จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นที่วัดมหาชัย  โดยรวบรวมหนังสือใบลานซึ่งอยู่ตามวัด  เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าพระคัมภีร์ในทางพุทธศาสนา  ใช้อักษรย่อว่า ศ.ว.น.  เครื่องหมายตราศูนย์  รูปแม่โคกินหญ้า  เครื่องหมายศัพท์ว่า อีสานะ  แปลว่า  เขาคืองัวแม่ง้องกินหญ้าฝ่ายอีสาน  ศ.ศูนย์อนุรักษ์  ว. วรรณคดี  น. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยมีวัตถุประสงค์  ๖  ประการ
    ๑. เพื่อรวบรวมวรรณคดีที่กระจัดกระจายให้เป็นหมวดหมู่
    ๒. เพื่อค้นคว้าอักษรโบราณ  และวรรณคดีของภาคที่นำมารวบรวมไว้
    ๓. เพื่อชำระตรวจแก้และถอดความเข้าสู่ภาษานิยมปริวรรตเป็นรูปเล่มเผยแพร่
    ๔. เพื่ออนุรักษ์วรรณคดี  ศิลป  โบราณคดี รักษาวัตถุนิยมอันล้ำค่า  ทางภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์
    ๕. เพื่อส่งเสริมศึกษาปริยัติธรรม  ศีลธรรม  วัฒนธรรม  ประเพณีของชาติไทย
    ๖. ศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีนี้  ไม่เกี่ยวข้องการเมืองทั้งสิ้น

    การดำเนินงานในศูนย์อนุรักษ์ฯ  นี้ได้แยกประเภทเป็นหน่วยปฏิบัติตามหน่วย  แต่ละหน่วยนั้นแบ่งออก  ดังนี้
    หน่วยวรรณคดี
    ๑. วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีหนังสือใบลานซ้ำกันบ้าง  ไม่ซ้ำกันบ้าง  ประมาณ ๔๐๐๐  กว่าเรื่อง
    ๒. แต่ละชิ้นนั้น  เป็นประโยชน์นำมาเปรียบเทียบทางวรรณคดี  เพื่อเป็นหลักฐานพยานทางมานุษยวิทยา
    ในการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีขึ้นนี้  เป็นประโยชน์ในทางวิชาการโดยเฉพาะ  เพื่อนักศึกษาจะพึงศึกษาค้นคว้า  ในนิทานชาวบ้าน  และปัญญาสชาดก  ภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  ภาษาศาสตร์  นักปราชญ์  โบราณจารลงในคัมภีร์  อักษรขอม  อักษรธรรม  อักษรไทยน้อย  อักษรศิลาจารึก  ทั้งประเพณีไทยโบราณรวบรวมประเภทลายศิลป์  มีอายุ ๒๐๐ กว่าปีขึ้นไป  คนโบราณแกะลายศิลป์ด้วยสิ่ว  ประตู  หน้าต่าง  คันทวย  โขงหน้า  อาคารโบสถ์  หลักเทียน  รวมเทียน  ลายรดน้ำ       ลายสัตว์  ป่าหิมพานต์  ลายขิด  เป็นต้น

    คัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดข่อย  มีประเภทดังนี้
    ๑. ใบลานยาวจารด้วยอักษรธรรม  อักษรขอม  คือ คัมภีร์พระไตรปิฎก  พงศาวดาร  ประวัติศาสตร์  เป็นต้น
    ๒. คัมภีร์ใบลานก้อม (ใบลานสั้น)  เช่น  ตำรายาฝน  ตำรายาต้ม  โหราศาสตร์  ผาศรีสูตรขวัญ  สะเดาะพระเคราะห์  คำผญา  คติชนวิทยา  กบิลเมือง  ไสยศาสตร์  เวทย์มนต์  เป็นต้น
    ๓. สมุดข่อย  ซึ่งคนเก่าแก่เขียนไว้  เช่น  คาถาอาคม  กฎหมาย  ประเพณี  เป็นต้น

    พระอาจารย์พิเศษ

    • พ.ศ. ๒๕๒๑ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาสารคาม  วิทยาลัยเขตแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์พิเศษ  ทำการสอนในมหาวิทยาลัย  ในวิชาอักษรขอม  อักษรธรรม  อักษร       ไทยน้อย  ประเพณีไทยอีสาน  ทำการสอน ๓ วัน คือ จันทร์  พุธ  ศุกร์  ประจำเดือน  ตั้งแต่เวลา   ๑๓.๐๐ น.  ถึงเวลา ๑๔.๐๐ น.  รวม ๑ ชั่วโมง  และไปประจำในมหาวิทยาลัยทุกวัน  แม้วันที่มิได้ทำการสอนก็ได้นิมนต์ให้ไปอยู่ประจำ  เพื่อสะดวกแก่นักศึกษาและอาจารย์ซึ่งจะติดต่อสัมพันธ์ในทางสังคมและปฏิคมทางมหาวิทยาลัยจัดห้องถวายให้เป็นพิเศษ  ยังแต่มิได้ให้ควมสะดวกสัปปายะในการดำเนินการสอนทุกประการ  พอถึงเวลา ๑๒.๓๐ น.  ทางเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจะนำรถยนต์ไปรับที่วัดมหาชัย  ถึงเวลา ๑๖.๐๐ น.  จัดรถยนต์ส่งกลับวัดเป็นประจำ
    • พ.ศ. ๒๕๒๒ ต้นปีคือเดือนมกราคม  ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นิมนต์ไปเป็นวิทยากรทำการสอนในคณะครุศาสตร์ ๒ อาทิตย์  ประเพณีอีสาน  ฮีต ๑๒ คลอง ๑๔  เพื่อนักศึกษาจะได้มีความรู้เรื่องประเพณีอีสาน  เป็นการแลกเปลี่ยนในทางประเพณี  ซึ่งทางภาคเหนือลานนาไทยมีประเพณีคล้ายอีสานมาแต่สมัยโบราณอยู่แล้ว อธิการบดี  คณาจารย์  นักศึกษา  ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ให้ความสะดวกสัปปายะทุกประการ  ในการไปเป็นวิทยากรพิเศษครั้งนี้  ได้ไปพักแรมจำวัดที่วัดพระสิงห์    วรมหาวิหาร  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก  เจ้าคุณพระราชสิทธาจารย์เจ้าอาวาสพระครูมานิตย์รัตนคุณ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส  ให้ความสะดวกจัดเสนาสนะให้พักเป็นพิเศษ  ถวายภัตตาหารเช้า – เพล  เมื่อได้เวลา ๑๒.๓๐ น. ทางมหาวิทยาลัยจึงนำรถยนต์มารับไปทำการสอนทำธุรกิจหน้าที่ตามกำหนดแล้วจึงได้กลับมหาสารคาม
    ก่อนจะถึงวันกลับ  นายช่างถวัลย์  จันทรจำนง  นายช่างผู้ช่วยแขวงการทางเชียงใหม่  นำรถยนต์พาไปทัศนาจรจังหวัดเชียงราย  อำเภอแม่จันทร์  อำเภอแม่สาย  อำเภอเชียงแสน  ติดเขตแดนประเทศพม่าและประเทศลาว  ปากแม่น้ำกกไหลลงสู่แม่น้ำโขง  ซึ่งเป็นเมืองเชียงลาวในสมัยโบราณ    มีซากอิฐหินกระเบื้องที่สบกกนั้นมาก  จึงกลับไปพักแรมจำวัดที่วัดเจดีย์เจ็ดยอดซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัด  รุ่งเช้าจึงมาที่จังหวัดพะเยา  จังหวัดลำปาง  จังหวัดลำพูน  กลับจังหวัดเชียงใหม่ ถึงตอนเย็นย่ำค่ำพอดี
    อนึ่ง  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  อันเป็นมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีคณะอาจารย์นำนักศึกษาไปวัดมหาชัยเสมอ  เพื่อไปศึกษานอกสถานที่  พร้อมได้บรรยายความรู้ซึ่งนักศึกษามีความสงสัยประมาณ  ๒ ชั่วโมง  แล้วจึงอำลากลับจังหวัดขอนแก่น  เมื่อต้นปี ๒๕๒๔ นี้  อธิการบดี  รองอธิการบดี  พร้อมคณาจารย์ไปเยี่ยมขอนิมนต์เป็นกรรมการในมหาวิทยาลัย  เรื่องประเพณีลายศิลปโบราณ  ซึ่งอยู่ตามฝาผนังโบสถ์พัทธสีมา  ที่นายช่างจิตรกรสมัยก่อนเขียนไว้  เช่น  ฝาผนังพัทธสีมา  วัดบ้านสาวัตถี  ตำบลสาวัตถี  อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  เป็นต้น  เมื่ออธิการบดีกลับถึงมหาวิทยาลัย  จึงได้ทำหนังสือแต่งตั้งพระอริยานุวัตร  เขมจารีเถระ  ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นกรรมการ ๑ รูป
    • พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเกียรตินิยม “ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์”  สาขาภาษาศาสตร์และวรรณคดีไทยเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๓  โดยศาสตราจารย์  ดร.นิพนธ์  ศศิธร  อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  อ่านประวัติเกียรติคุณทูลเกล้า  รองอธิการบดี   ดร.ชาตรี  เมืองนาโพธิ์  เข้ารับปริญญาบัตรแทน
    วันที่ ๓ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๒๓  ศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์  ศศิธร  อธิการบดีมหาวิทยาลัย  ศรีนครินทรวิโรฒ  ศูนย์ประสานมิตร  พระนคร  ดร. ชาตรี  เมืองนาโพธิ์  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ  วิทยาเขตมหาสารคาม  พร้อมด้วยคณาจารย์  ทำพิธีสนองพระบารมีมอบถวายแก่พระอริยานุวัตร  เขมจารี  เฉลิมพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระสงฆ์มีพระราชาคณะ  พระเดชพระคุณเจ้าพระพิมลธรรม  วัดมหาธาตุ  พระนคร  เป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์จบแล้วสวดชยมงคลกถา  เสร็จแล้วฉันภัตตาหารเพลพระสงฆ์อนุโมทนา ยถา  สพพี
    เวลา ๑๓.๓๐ น. ขบวนแห่ปริญญาบัตรมายังศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม  นักเรียน   นักศึกษาแต่ละสถาบันตั้งขบวนรับหน้าศาลากลางจังหวัด  ประชาชนในจังหวัดและต่างจังหวัดมาร่วมในขบวนประมาณแสน  เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนิมนต์พระอริยานุวัตร  เขมจารี  ขึ้นรถยนต์ที่ ตกแต่งไว้นั้น  ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมพร  สุขเกษม  อาจารย์มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ  ยืนถือพานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  อยู่ข้างขวา  อาจารย์ธนัน  พิจารย์  ถือพัดยศยืนอยู่ข้างซ้ายขบวนได้เคลื่อนจากหน้าศาลากลางจังหวัด  มาตามถนนนครสวรรค์เข้าวัดมหาชัย  คณะอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ   สวมเสื้อครุยเป็นการให้เกียรติอันสูงยิ่ง  การจัดเฉลิมพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้เป็นงานระดับชาติ  จึงเป็นงานพิเศษอันหนึ่ง
    วิทยลัยครู  วิทยาลัยพลศึกษา  วิทยาลัยเทคนิค  วิทยาลัยอาชีวศึกษา   โรงเรียนสารคาม-    พิทยาคม  โรงเรียนผดุงนารี  และโรงเรียนอื่นๆ ในเขตเทศบาลเมือง  ให้ความร่วมมือโดยพร้อมเพรียงทุกโรงเรียน  ปรากฏว่าต่างจังหวัดมาชมขบวนแห่ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก  สถานที่ต่างๆ เต็มไปด้วยผู้คน  เพราะใครๆ ถือว่า  พระสงฆ์ที่ได้รับยกย่องเช่นนี้พึ่งจะมีครั้งแรกในประเทศไทย

    ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล และภาพประกอบ:
    • โครงการอนุรักษ์ใบลานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : www.bl.msu.ac.th


    • Update : 18/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch