|
|
วิธีลำดับ สมณศักดิ์ พระสงฆ์ไทย
สมณศักดิ์
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า
ยศพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานมีหลายชั้น แต่ละชั้นมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด
อาจกล่าวได้ว่า
สมณศักดิ์ คือบรรดาศักดิ์ หรือยศที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบให้ดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปโดยเรียบร้อย
เพราะการที่พระสงฆ์รูปใดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ย่อมได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแห่งสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย
ความเป็นมาของสมณศักดิ์
ประเทศไทยนั้นระบบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชลิไทย
พระองค์ได้ทรงโปรดให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชมาจากประเทศลังกา
เพื่อให้ประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในกรุงสุโขทัย
พระมหาสามีสังฆราชคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชาลิไททรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ตามราชประเพณีที่ถือปฏิบัติในประเทศลังกา
ระบบสมณศักดิ์ในสมัยสุโขทัยไม่สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง 2 ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระสังฆราชคณะหรือพระราชาคณะและพระครู
ชั้นยศสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 1 พระองค์
สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ 8 รูป
พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ 19 รูป
พระราชาคณะชั้นธรรม 35 รูป
พระราชาคณะชั้นเทพ 66 รูป
พระราชาคณะชั้นราช 144 รูป
พระราชาคณะชั้นสามัญ 394 รูป
พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ(ไม่จำกัดจำนวน)
พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ
พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษา)(ไม่จำกัดจำนวน)
การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์
ในอดีต
การพิจารณาแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์เป็นพระราชอำนาจและเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเห็นหรือทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณว่า พระภิกษุรูปใดมีความรู้ความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฏก มีศิลาจารวัตรน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการปกครองหมู่คณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งยังเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของประชาชนแล้วก็จะพระราชทานสมณศักดิ์เพื่อเป็นเกียรติและกำลังใจ ในการจะได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายกอยู่นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะโปรดพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใด ก็จะทรงปรึกษากับสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก่อนทุกครั้ง ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงให้พระสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาเสนอความคิดเห็นได้
ปัจจุบัน เป็นหน้าที่ทางคณะสงฆ์จะช่วยกันพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับขั้น คือ จากเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงได้เสนอเรื่องเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานสมณศักดิ์ ตามระเบียบของทางราชการต่อไปแต่ในการพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระสังฆราชหรือสมเด็จพระราชาคณะ ทางคณะสงฆ์ชอบที่จะถวายพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ด้วยการเสนอนามพระเถระที่เห็นสมควรขึ้นไปหลายรูปเพื่อให้ทรงพิจารณาตามพระราชอัธยาศัย เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเสมอมา เพราะพระราชอำนาจส่วนนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียว
อ้างอิง
1. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. 9 ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด,
วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
2. เวบไซต์ธรรมะ เกตเวย์
3. เวปพระไทยเน็ต
|
Update : 18/5/2554
|
|