หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า
    การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

                การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้ามีที่มาและมีขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้

    พระกิตติศัพท์
                จากเวรัญชกัณฑ์  มีเรื่องราวที่แสดงให้ทราบดังนี้
                เมื่อพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปประทับ ณ ที่ใด  จะมีการกล่าวขานถึงพระผู้มีพระภาค ของมหาชนโดยทั่วไป ว่า
                พระสมณโคดม ศากยบุตร  ทรงผนวชจากศากยตระกูล
                ก็แล  พระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น  ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า  พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น  ทรงเป็นพระอรหันต์  ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ  ทรงบรรลุวิชชา และจรณะ  เสด็จไปตี  ทรงทราบโลก  ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก  ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า  ทรงเป็นศาสดาของเทพ และมนุษย์ทั้งหลาย  ทรงเป็นพุทธ  ทรงเป็นพระผู้มีพระภาค  พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก  พรหมโลกให้แจ้งชัด  ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง  แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์  เทพ และมนุษย์ให้รู้  ทรงแสดงธรรมในเบื้องต้น  งามในท่ามกลาง  งามในที่สุด  ทรงประกาศพรหมจรรย์  พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ  ครบบริบูรณ์บริสุทธิ์  อนึ่งการเห็นพระอรหันต์ทั้งหลาย  เป็นความดี

    การเข้าเฝ้า พระศาสดา และทูลถามปัญหา
                เมื่อผู้นั้นได้ไปในพุทธสำนัก  ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค  ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บรรเทิง  เป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว  จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  แล้วจึงทูลถามพระศาสดาถึงปัญหาที่ตนสงสัยไปตามลำดับ  พระผู้มีพระภาคก็จะทรงตอบปัญหา ที่ผู้นั้นสงสัยไปตามลำดับ
                ตัวอย่างการเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาของเวรัญชพราหมณ์  บางตอนมีดังนี้
               เวรัญชพราหมณ์      ท่านพระโคดมมีปกติไม่ไยดี
                พระผู้มีพระภาค      จริงเช่นนั้น  เหตุที่เขากล่าวหาเราว่ามีปกติดีไม่ไยดี  ชื่อว่ากล่าวถูก  เพราะความไยดีในรูป  เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ  เหล่านั้น  ตถาคตละได้แล้ว  ตัดรากขาดแล้ว  ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน  ทำไม่ให้มีในภายหลัง  มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา  นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่ามีปกติไม่ไยดี  ดังนี้ชื่อว่ากล่าวถูก  แต่ไม่ใช่เหตุที่ท่านมุ่งกล่าว
                   ว.  ท่านพระโคดมไม่มีสมบัติ
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะสมบัติ คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  เหล่านั้นตถาคตละได้แล้ว.....
                   ว.  ท่านพระโคดม กล่าวการไม่ทำ
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  เรากล่าวการไม่ทำบาปอกุศลหลายอย่าง.....
                   ว.  ท่านพระโคดมกล่าวการขาดสูญ
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งโทสะ  โมหะ  เรากล่าวความขาดสูญแห่งสภาพที่เป็นบาป อกุศลหลายอย่าง.....
                   ว.  ท่านพระโคดมช่างรังเกียจ
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะเรารังเกียจกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสภาพที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง.....
                   ว.  ท่านพระโคดม ช่างจำกัด
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะเราแสดงธรรมเพื่อจำกัด ราคะ  โทสะ  โมหะ และแสดงธรรมเพื่อกำจัดสภาพที่เป็นบาปอกุศล หลายอย่าง.....
                   ว.  ท่านพระโคดมช่างเผาผลาญ
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ  กายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  ว่าเป็นธรรมที่ควรเผาผลาญ  ธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่ควรเผาผลาญ  อันผู้ใดละได้แล้ว  ตัดรากขาดแล้ว  ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน  ทำให้ไม่มีในภายหลัง  มีไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา  เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นคนช่างเผาผลาญ.....
                   ว.  ท่านพระโคดมไม่ผุดเกิด
                   ภ.  จริงเช่นนั้น เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป  การเกิดในภพใหม่  อันผู้ใดละได้แล้ว..... เรากล่าวผู้นั้นว่าไม่ผุดเกิด.....

    ทรงอุปมาด้วยลูกไก่
                ดูกรพราหมณ์  เปรียบเหมือนฟองไข่หลายฟอง  อันแม่ไก่กกดีแล้ว  อบดีแล้ว  ฟักดีแล้ว  ลูกไก่ตัวใดทำลายฟองไข่ออกมาได้โดยสวัสดีก่อนเขา  ลูกไก่ตัวนั้นควรเรียกว่าพี่หรือน้อง
                   ว.   ควรเรียกว่าพี่  เพราะมันแก่กว่าเขา
                   ภ.  เราก็เหมือนอย่างนั้น  เมื่อประชาชนตกอยู่ในอวิชชา  เกิดในฟอง  เราผู้เดียวเท่านั้นในโลกได้ทำลายฟอง คือ อวิชชา  แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม  เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุดประเสริฐที่สุดของโลก  เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้ว  ไม่ย่อหย่อน  สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน  กายสงบไม่กระสับกระส่าย  จิตตั้งมั่น  อารมณ์เป็นหนึ่ง

    ทรงแสดงฌาณสี่ และวิชชาสาม
                เรานั้น สงัดแล้วจากกาม  จากอกุศลธรรม  ได้บรรลุ ปฐมฌาณ..... ทุติยฌาณ..... ตติยฌาณ..... จตุตถฌาณ  ไม่ทุกข์  ไม่มีสุข  เพราะละทุกข์  และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ   มีอุเบกขา  เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
                เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง  ไม่มีกิเลส  ปราศจากอุปกิเลส  อ่อน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวแล้ว  ได้น้อมจิตไปเพื่อ บุพเพนิวาสานุสติญาณ  เรานั้นย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก..... วิชชาที่หนึ่งนี้แล  เราได้บรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี  อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว  วิชชาเกิดแก่เราแล้ว  ความมืดเรากำจัดได้แล้ว  แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว..... ความชำแรกออกครั้งที่หนึ่งของเรานี้แล  ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น
                เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ..... ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณ  เครื่องรู้จุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย..... เราย่อมเล็งเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ  กำลังอุบัติ  เลว  ประณีต.....ได้ดี ตกยาก  ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์  ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงตามกรรม  ด้วยประการดังนี้  วิชชาที่สองนี้แล  เราได้บรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี  อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว  วิชชาเกิดแก่เราแล้ว..... ความชำแรกออกครั้งที่สองของเรา ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น
                เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ..... ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ   เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์  นี้เหตุแห่งทุกข์  นี้ความดับทุกข์  นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า  เหล่านี้อาสวะ  นี้เหตุให้เกิดอาสวะ  นี้ความดับอาสวะ  นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ  เมื่อเรานั้น รู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้  จิตได้หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ  ภวาสวะ  อวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว  ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า  ชาติสิ้นแล้ว พรหมณ์จรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี  วิชชาที่สามนี้แล  เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี  อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว  วิชชาเกิดแก่เราแล้ว..... ความชำแรกออกครั้งที่สามของเรา  ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากฟองแห่งลูกไก่  ฉะนั้น

    การแสดงตนเป็นอุบาสก
                เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  ผู้ที่ได้สดับ จะกราบทูลข้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
                ท่านพระโคดม เป็นผู้เจริญที่สุด  เป็นผู้ประเสริฐที่สุด  ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก  ไพเราะนัก
    พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยายอย่างนี้  เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางแก่คนหลงทาง  หรือส่องประทีปในที่มืด  ด้วยตั้งใจว่าคนมีจักษุ จักเห็นรูป ดังนี้  ข้าพเจ้าขอถึงท่านพระโคดม  พระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ  ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก  ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

    พุทธประเพณี
                ตถาคตทั้งหลาย  ทรงทราบอยู่ย่อมตรัสถามก็มี  ทรงทราบกาลแล้วตรัสถามก็มี  พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์  ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์  พระองค์ทรงกำจัดด้วยข้อปฏิบัติ  พระองค์ย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการสองอย่าง คือ  จักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง  จักทรงบัญญัติ สิกขาบทแก่พระสาวกอีกอย่างหนึ่ง

    การปฏิบัติตนต่อการถูกติชม พระรัตนตรัย
                จากพรหมชาลสูตร  สุปิยปริพาชกผู้เป็นอาจารย์  กล่าวติเตียน พระรัตนตรัย  ในขณะเดียวกัน พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์กล่าวชมพระรัตนตรัย  ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปสนทนากัน  พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่อง  จึงได้ตรัสว่า
                คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเตียนเรา  ติเตียนพระธรรม  ติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม  เธอทั้งหลายไม่สมควรอาฆาต โทมนัสน้อยใจ  แค้นใจคนเหล่านั้น  ถ้าเธอทั้งหลายขุ่นเคืองหรือโทมนัสน้อยใจ  อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย  คนพวกอื่นจะพึงติเตียนเรา  พระธรรม  พระสงฆ์ในคำที่ไม่จริง  เธอทั้งหลายควรแก้ไขให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า  นั้นไม่จริง ไม่แท้  ไม่มีในเราทั้งหลาย  คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา  พระธรรม  พระสงฆ์  เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ดีใจ  กระเหิมใจในคำชมนั้น  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น  อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย  คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา  ชมพระธรรม  หรือพระสงฆ์  ในคำชมนั้น  คำที่จริง  เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า  นั้นจริง นั้นแท้  มีในเราทั้งหลาย  หาได้ในเราทั้งหลาย

    จุลศีล
                เมื่อปุถุชนกล่าวคำชมตถาคต  จะพึงกล่าวด้วยประการใดนั้น  มีประมาณน้อยนัก ยังต่ำนักเป็นเพียงศีล  เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
                    1.    พระสมณโคดม   ละการฆ่าสัตว์  วางทัณฑะ  วางศาสตรา  มีความละอาย  เอ็นดู  กรุณา  หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
                    2.    ละการลักทรัพย์  รับแต่ของที่เขาให้  ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย  เป็นผู้สะอาดอยู่
                    3.    ละกรรมที่เป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์  ประพฤติพรหมจรรย์  เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน
                    4.    ละการพูดเท็จ  พูดแต่คำจริง  ดำรงสัตย์   มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน  ควรเชื่อได้  ไม่พูดลวงโลก
                    5.    ละคำส่อเสียดเพื่อให้คนแตกร้าวกัน  กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
                    6.    ละคำหยาบ  กล่าวแต่คำไม่มีโทษ  เพราะหู  ชวนให้รัก  จับใจ
                    7.    ละคำเพ้อเจ้อ  พูดถูกกาล  พูดแต่คำที่เป็นจริง  พูดอิงอรรถ  อิงธรรม  อิงวินัย  พูดแต่คำมีหลักฐาน  มีที่อ้าง  มีที่กำหนด  ประกอบด้วยประโยชน์  โดยกาลอันควร
                    8.    เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูติคาม
                    9.    ฉันหนเดียว  เว้นการฉันในราตรี  งดการฉันในเวลาวิกาล
                    10.    เว้นขาดจากการฟ้อนรำ  ขับร้อง  ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
                    11.    เว้นขาดจากการทัดทรง  ประดับ  และตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว  อันเป็นฐาน แห่งการแต่งตัว
                    12.    เว้นขาดการนั่ง  นอน  บนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
                    13.    เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
                    14.    เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
                    15.    เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
                    16.    เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
                    17.    เว้นขาดจากการรับทาสีและทาษ
                    18.    เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
                    19.     เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
                    20.    เว้นขาดจากการรับช้าง โค  ม้า  ลา
                    21.    เว้นขาดจากการรับไร่มาและที่ดิน
                    22.    เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
                    23.    เว้นขาดจากการซื้อการขาย
                    24.    เว้นขาดจากการโกงด้วย  ตาชั่ง  ของปลอม  เครื่องตวงวัด
                    25.    เว้นขาดจากการรับสินบน  การล่อลวง และการตลบตะแลง
                    26.    เว้นขาดจากการตัด  การฆ่า  การจองจำ  การตีชิง  การปล้น และการกรรโชก

    มัชฌิมศีล
                อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
                    1.    พระสมณโคดม เว้นขาดจากการพรากพีชคาม และภูติคาม  คือพีชเกิดแต่เง่า เกิดแต่ลำต้น เกิดแต่ผล เกิดแต่ยอด เกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า
                    2.    เว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน เครื่องประเทืองผิว  ของหอม  อามิษ
                    3.    เว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่การกุศล คือ การฟ้อน  การขับร้อง  การประโคมมหรสพ  มีการรำเป็นต้น  การเล่านิยาย  การเล่นปรบมือ  การเล่นปลุกผี   การเล่นตีกลอง  ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม  การเล่นของคนจัณฑาล  การเล่นไม้สูง  การเล่นหน้าศพ  ชนช้าง  ชนม้า  ชนกระบือ  ชนโค  ชนแพะ  ชนแกะ  ชนไก่  รบนกกระทา  รำกระบี่กระบอง  มวยชก  มวยปล้ำ  การรบ  การตรวจพล  การจัดกระบวนทัพ
                    4.    เว้นขาดจากการเล่นการพนัน  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ เล่นหมากรุก  เล่นหมากเก็บ  เล่นดวด  เล่นหมากไหว  เล่นโยนบ่วง  เล่นไม้หึ่ง  เล่นกำทาย  เล่นเป่าใบไม้  เล่นไถน้อยๆ  เล่นหกคะเมน  เล่นกังหัน  เล่นทายใจ  เล่นเลียนคนพิการ
                    5.    เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่  คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ  เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์  ผ้าโกเชาว์ขนยาว  เครื่องลาด (ที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย  ที่ทำด้วยขนแกะสีขาว  ที่มีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้  ที่ยัดนุ่น  ขนแกะมีขนตั้ง  ขนแกะมีขนข้างเดียว  ทองและเงินแกมไหม  ไหมขลิบทองและเงิน  ขนแกะจุนางฟ้อน 16 คน  หลังช้าง  หลังม้า  ในรถ  ที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่อ อชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม  ทำด้วยหนังชะมดมีเพดาน  มีหมอนข้าง)
                    6.    เว้นขาดจากการประดับตบแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว  คือ อบตัว  ไคลอวัยวะ  อาบน้ำหอม  นวด  ส่องกระจก  แต้มตา  ทัดดอกไม้  ประเทืองผิว  ผัดหน้า  ทาปาก  ประดับข้อมือ  สวมเกี้ยว  ใช้ไม้เท้า  ใช้กลักยา  ใช้ดาบ  ใช้ขรรค์  ใช้ร่ม  สวมรองเท้า  ประดับวิจิตร  ติดกรอบหน้า  ปักปิ่น  ใช้พัดวาลวิชนี  นุ่งห่มผ้าขาว  นุ่งห่มผ้ามีชาย
                    7.    เว้นขาดจากดิรัจฉานกถา  คือ พูดเรื่องพระราชา  เรื่องโจร  เรื่องมหาอำมาตย์  เรื่องกองทัพ  เรื่องภัย  เรื่องรบ  เรื่องข่าว  เรื่องน้ำ  เรื่องผ้า  เรื่องที่นอน  เรื่องดอกไม้  เรื่องของหอม  เรื่องญาติ  เรื่องยาน  เรื่องบ้าน  เรื่องนิคม  เรื่องนคร  เรื่องชนบท  เรื่องสตรี  เรื่องบุรุษ  เรื่องคนกล้าหาญ  เรื่องตรอก  เรื่องท่าน้ำ  เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว  เรื่องเบ็ดเตล็ด  เรื่องโลก  เรื่องทะเล  เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ
                    8.    เว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน  เช่นว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมนี้ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง  ท่านปฏิบัติผิดข้าพเจ้าปฏิบัติถูก  ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์  คำที่ควรกล่าวก่อนท่านกลับกล่าวภายหลัง  คำที่ควรกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน  ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว  ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว  ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว  ท่านจงถอนวาทะเสียมิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย
                    9.    เว้นขาดจาการประกอบทูตกรรมและการรับใช้  คือรับเป็นทูตของพระราชา  ราชอำมาตย์  กษัตริย์  พราหมณ์  คฤหบดี และกุมาร
                    10.    เว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและพูดเลียบเคียง  พูดหว่านล้อม  พูดและเล็ม  แสวงหาลาภด้วยลาภ

    มหาศีล
                อีกอย่างหนึ่ง  เมื่อปุถุชนกล่าวชมตถาคต  พึงกล่าวเช่นนี้ว่า
                    1.    พระสมณโคดม เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา คือ ทายอวัยวะ  ทายนิมิต  ทายอุปบาด  ทำนายฝัน  ทำนายลักษณะ  ทำนายหนูกัดผ้า  ทำพิธีบูชาไฟ  ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน  ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ  ซัดรำบูชาไฟ  ซัดข้าวสารบูชาไฟ  เติมเนยบูชาไฟ  เติมน้ำมันบูชาไฟ  เสกเป่าบูชาไฟ  ทำพลีกรรมด้วยโลหิต  เป็นหมอดูอวัยวะ  ดูลักษณะที่บ้าน  ดูลักษณะที่นา  เป็นหมอปลุกเสก  เป็นหมอผี  เป็นหมอทายเสียงนก  เสียงกา  เป็นหมอทายอายุ  เป็นหมอเสกกันลูกศร  เป็นหมอทายเสียงสัตว์
                    2.    เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา  คือทายลักษณะแก้วมณี  ไม้พลอง  ผ้า  ศาสตรา  ดาบ  ศร  ธนู  อาวุธ  สตรี  บุรุษ  กุมารี  ทาส  ทาสี  ช้าง  ม้า  กระบือ  โคอสุภะ  โค  แพะ  แกะ  ไก่  นกกระทา  เหี้ย  ตุ่น  เต่า  มฤค
                    3.    เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพ
                    4.    เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา  คือพยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส  สุริยคราส  นักษัตรคราส  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง  เดินผิดทาง  ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง เดินผิดทาง  จักมีอุกกาบาต  ดาวหาง  แผ่นดินไหว  ฟ้าร้อง  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก  จักขึ้น  จักมัวหมอง  จักกระจ่าง  จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้  ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้  เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้  ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้  เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้  แผ่นดินไหว  ฟ้าร้อง  จักมีผลเป็นอย่างนี้  ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตกมัวหมอง  กระจ่าง  จักมีผลเป็นอย่างนี้
                    5    เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยดิรัจฉานวิชา  คือ พยากรณ์ว่า  จักมีฝนดี  ฝนแล้ง  มีภักษาหารได้ง่าย  ภักษาหาได้ยาก  ความเกษม  ภัย  เกิดโรค  ความสำราญหาโรคมิได้  หรือนับคะแนนคำนวณ  นับประมวล แต่งกาพย์โลกายตศาสตร์
                    6.    เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา คือให้ฤกษ์ อาวาหมงคล  วิวาหมงคล  ดูฤกษ์เรียงหมอน  ดูฤกษ์หย่าร้าง  เก็บทรัพย์  จ่ายทรัพย์  ดูโชคดี  ดูเคราะห์ร้าย  ให้ยาผดุงครรภ์  ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง  ให้คางแข็ง  ให้มือสั่น  ไม่ให้หูได้ยินเสียง  เป็นหมอทรงกระจก  ทรงหญิงสาว  ทรงเจ้า  บวงสรวงพระอาทิตย์  ท้าวมหาพรหม  ร่ายมนต์พ่นไฟ  ทำพิธีเชิญขวัญ
                    7.    เว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิด ด้วยดิรัจฉานวิชา  คือ ทำพิธีบนบาน  แก้บน  ร่ายมนต์ขับผี  สวดมนต์ป้องกันบ้านเรือน  ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย  ทำชายให้กลายเป็นกะเทย  ทำพิธีปลูกเรือน  บวงสรวงพื้นที่  พ่นน้ำมนต์  รดน้ำมนต์  ทำพิธีบูชาไฟ  ปรุงยา (สำรอก  ถ่ายโทษเบื้องบน  ถ่ายโทษเบื้องล่าง  แก้ปวดศีรษะ) หุงน้ำมันหยอดหู  ปรุง (ยาตา  ยานัตถ์  ยาทากัด  ยาทาสมาน) ป้ายตา  ทำการผ่าตัดรักษาเด็ก  ใส่ยา  ชะแผล

    ทิฏฐิ 62
                ดูกร ภิกษุทั้งหลาย  ยังมีธรรมอย่างอื่นอีกที่ลึกซึ้ง  เห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  สงบ  ประณีต  จะคาดคะเนเอาไม่ได้  ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต  ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง  แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง  ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ  ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน
      ปุพพันตกัปปิถาทิฏฐิ 18 ลัทธิที่ปรารภขันธ์ส่วนอดีต 18 อย่าง
                    มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  กล่าวถึงขันธ์ส่วนอดีต  แสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 18 ประการ ดังนี้
            สัสสตทิฏฐิ 4    มีทิฏฐิว่าเที่ยง  บัญญัติอัตตา และโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ 4 ประการ
                ปุพเพนิวาสานุสสติ   สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ  ได้หนึ่งชาติบ้าง..... หลายแสนชาติบ้าง  เขากล่าวว่าอัตตา และโลกเที่ยง คงที่  ส่วนสัตว์นั้นย่อมแล่นไป  ท่องเที่ยวไป  จุติ เกิด  นี้เป็นฐานะที่ 1
                        ในฐานะที่ 2 และ 3    สมณพราหมณ์บางคน  บรรลุเจโตสมาธิ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  วัฏฏวิวัฏฏกัปหนึ่งบ้าง..... สี่สิบบ้าง  เขากล่าวว่าอัตตา และโลกเที่ยง คงที่  ส่วนสัตว์นั้นย่อมแล่นไป  ท่องเที่ยวไป จุติ เกิด
                        ในฐานะที่ 4    สมณพราหมณ์บางคน  เป็นนักตรึก  นักค้นคิด  กล่าวตามที่ตนตรึกได้  ค้นคิดได้  ว่า อัตตา และโลกเที่ยง คงที่  ส่วนสัตว์นั้นย่อมแล่นไป  ท่องเที่ยวไปจุติ  เกิด
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า  ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้  อันบุคคลถือไว้ยึดไว้แล้ว  ย่อมมีคติอย่างนั้น  มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น  และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด  ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย  เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ทราบความเกิดขึ้น  ความดับไป  คุณและโทษ  เวทนาทั้งหลาย  กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้น  ตามความเป็นจริง  จึงทราบความดับได้เฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น  ตถาคตจึงหลุดพ้น
            เอกัจจสัสติกทิฏฐิ 4    มีทิฏฐิว่าบางอย่างเที่ยง  บางอย่างไม่เที่ยง  ด้วยเหตุ 4 ประการ
                    บางครั้ง โดยระยะกาลช้านาน  เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่  เหล่าสัตว์ย่อมเกิดในอาภัสสรพรหม  เหล่าสัตว์นั้นได้สำเร็จทางใจ..... สถิตอยู่ในภพนั้น  บางครั้งสิ้นกาลยาวนาน  เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่  วิมานของพรหมปรากฎว่าว่างเปล่า  ครั้งนั้น สัตว์ที่จุติขึ้นจากชั้นอาภัสสรพรหม  เพราะสิ้นอายุ หรือเพราะสิ้นบุญ  ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า  สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ..... สถิตอยู่ในภพนั้น  เกิดความกระสันความดิ้นรน  ว่าแม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง  บรรดาสัตว์เหล่านั้น  ผู้ใดเกิดก่อน  ผู้นั้นย่อมมีความคิดว่า  เราเป็นพรหม  เราเป็นมหาพรหม  เป็นใหญ่ไม่มีใครข่มได้  เห็นถ่องแท้  เป็นผู้กุมอำนาจ  เป็นอิสระ  เป็นผู้สร้าง  เป็นผู้นิรมิต  เป็นผู้ประเสริฐ  เป็นผู้บงการ  เป็นผู้ทรงอำนาจ  เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้ว  และกำลังเป็นสัตว์เหล่านี้เรานิรมิต  แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลัง  ก็มีความคิดว่า  ท่านผู้นี้แลเป็นพรหม..... พวกเรา  อันพระพรหมผู้เจริญนี้นิรมิตแล้ว  บรรดาสัตว์เหล่านั้น  ผู้ใดเกิดก่อนผู้นั้นอายุยืนกว่า  มีศักดิ์มากกว่า
                    สัตว์เหล่านี้ได้บวชเป็นบรรพชิต แล้วบรรลุเจโตสมาธิ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้  จึงได้กล่าวว่า  ท่านผู้ใดเป็นพรหม..... พระพรหมผู้ใดนิรมิตพวกเรา  พระพรหมผู้นั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน  มีอันไม่แปรผัน  ส่วนพวกเราเป็นผู้ไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน  มีอายุน้อย  ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้  นี้เป็นฐานที่ 1
                        ในฐานะที่ 2    เทวดาพวกหนึ่ง  หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์  สติย่อมหลงลืม  เมื่อจุติจากชั้นนั้นแล้ว  มาเป็นอย่างนี้  จึงออกบวชเป็นบรรพชิต  แล้วบรรลุเจโตสมาธิ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้  จึงกล่าวว่า พวกเทวดาที่ไม่หมกมุ่นอยู่ในความรื่นรมย์  สติย่อมไม่หลงลืม  จึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง  ยั่งยืน  คงทน ไม่แปรผัน  ส่วนพวกตนเป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน  มีอายุน้อยยังต้องจุติ  นี้เป็นฐานะที่ 2
                        ในฐานะที่ 3    เทวดาพวกหนึ่งมักเพ่งโทษกันและกัน มุ่งร้ายกัน พากันจุติจากชั้นที่ตนอยู่ แล้วมาเป็นอย่างนี้  จึงออกบวชเป็นบรรพชิต  แล้วบรรลุเจโตสมาธิ  ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้  หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้  จึงเกิดความเห็นเช่นเดียวกับฐานะที่ 2
                        ในฐานะที่ 4     สมณพราหมณ์บางคนเป็นนักตรึก นักคิดค้น  กล่าวตามที่ตนตรึกได้ คิดค้นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า  จักษุ  โสตะ  ฆานะ  ชิวหา  กาย  นี้ได้ชื่อว่าอัตตา  เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน  ไม่คงทน  มีอันแปรผัน  ส่วนที่เรียกว่าจิต หรือใจ หรือวิญญาณนี้ชื่อว่าอัตตา  เป็นของเที่ยง.....
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า..... เพราะไม่ถือมั่นตถาคตจึงหลุดพ้น
            อันตานันติกทิฏฐิ 4    มีทิฏฐิว่าโลกมีที่สุด และหาที่สุดมิได้  ด้วยเหตุ 4 ประการ
                    สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ  ย่อมมีความสำคัญในโลกว่ามีที่สุด  กลมโดยรอบ นี้เป็นฐานะที่ 1
                        ในฐานะที่ 2    สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ  มีความสำคัญในโลกว่าไม่มีที่สุด  หาที่สุดรอบมิได้ พวกที่ว่าโลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบนั้นเท็จ  นี้เป็นฐานะที่ 2
                        ในฐานะที่ 3    สมณพราหมณ์บางคน บรรลุเจโตสมาธิ  มีความสำคัญในโลกว่า ด้านบน  ด้านล่าง มีที่สุด  ด้านขวางหาที่สุดมิได้  พวกที่ว่าในฐานะที่ 1  และในฐานะที่ 2 นั้นเท็จ  นี้เป็นฐานะที่ 3
                        ในฐานะที่ 4    สมณพราหมณ์บางคน เป็นนักตรึก นักค้นคิด  กล่าวตามที่ตนตรึกได้ ค้นคิดได้ว่า  โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่  ไม่มีที่สุดก็มิใช่  พวกที่ว่าในฐานะที่ 1,2 และ 3 นั้นเท็จ
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
            อมราวิเขปิกทิฏฐิ 4    มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว  ด้วยเหตุ 4 ประการ
                    สมณพราหมณ์บางคน  ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล  ถ้าตนพยากรณ์ไปก็จะเป็นเท็จ  จึงไม่กล้าพยากรณ์  เพราะเกลียดการกล่าวเท็จ  จึงกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า  ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่  อย่างนั้นก็มิใช่  อย่างอื่นก็มิใช่  ไม่ใช่ก็มิใช่  นี้เป็นฐานะที่ 1
                        ในฐานะที่ 2    สมณพราหมณ์บางคน  ไม่รู้ตามความเป็นจริง..... เกรงว่าพยากรณ์ไปแล้วจะเป็นอุปาทาน จึงกล่าววาจาดิ้นได้.....
                        ในฐานะที่ 3    สมณพราหมณ์บางคน  ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง  เกรงว่าเมื่อถูกซักไซ้แล้วตอบไม่ได้ จึงกล่าววาจาดิ้นได้.....
                        ในฐานะที่ 4    สมณพราหมณ์บางคนเป็นคนเขลา งมงาย  เมื่อถูกถามว่าอย่างไร  ตนมีความเห็นว่าเป็นอย่างไร ก็จะตอบไปตามนั้น  จึงกล่าววาจาดิ้นได้.....
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
            อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ 2    มีทิฏฐิว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ  ด้วยเหตุ 2 ประการ
                    พวกเทวดาชื่อว่าอสัญญีสัตว์มีอยู่  เมื่อจุติจากชั้นนั้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญา  มาเป็นอย่างนี้ แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต  บรรลุเจโตสมาธิ  ย่อมระลึกถึงความเกิดขึ้นแห่งสัญญาได้  เบื้องหน้าแต่นั้นไประลึกไม่ได้  เขากล่าวว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ  เพราะตนเมื่อก่อนไม่มี  เดี๋ยวนี้ตนมี  นี้เป็นฐานะที่ 1
                        ในฐานะที่ 2    สมณพราหมณ์บางคน  เป็นนักตรึก นักคิดค้น  เขากล่าวตามที่ตรึกได้ค้นคิดได้ว่า  อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวถึงขันธ์ส่วนอดีต  กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ 18 ประการนี้
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
      อปรันตกัปปิกทิฏฐิ 44 ลัทธิที่ปรารภขันธ์ส่วนอนาคตและปัจจุบัน 44 อย่าง
                    สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง  กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต.. กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 44 ประการ
            สัญญีทิฏฐิ 16    มีทิฏฐิว่า  อัตตาเหนือขึ้นไปจากการตายมีสัญญา ด้วยเหตุ 16 ประการ คือ  อัตตามีรูป  ไม่มีรูป  ทั้งที่มีรูปทั้งที่ไม่มีรูป  ทั้งที่มีรูปก็ไม่ใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็ไม่ใช่  ที่มีที่สุด  ที่ไม่มีที่สุด  ทั้งที่มีที่สุดทั้งที่ไม่มีที่สุด  ทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่  ที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน  ที่มีสัญญาต่างกัน  ที่มีสัญญาย่อมเยา  ที่มีสัญญาหาประมาณมิได้  ที่มีสุขอย่างเดียว  ที่มีทุกข์อย่างเดียว  ที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์  ที่มีทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่  ยั่งยืนมีสัญญา
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า.....
            อสัญญีทิฏฐิ 8    มีทิฏฐิว่า  อัตตาเหนือไปจากการตายไม่มีสัญญา  ด้วยเหตุ 8 ประการ คือ  อัตตาที่มีรูป  ที่ไม่มีรูป  ทั้งที่มีรูปทั้งที่ไม่มีรูป  ทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่  ที่มีที่สุด  ที่ไม่มีที่สุด  ทั้งที่มีที่สุดทั้งที่ไม่มีที่สุด  ทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่  ยั่งยืนไม่มีสัญญา
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
            เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ 8    มีทิฏฐิว่า  อัตตาเหนือไปจากการตาย  มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ 8 ประการ คือ  อัตตาที่มีรูป..... ทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่  ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่  ยั่งยืนมีสัญญา
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
            อุทเฉททิฏฐิ 7    มีทิฏฐิว่าขาดสูญ  ย่อมบัญญัติความขาดสูญ  ความพินาศ  ความเลิกเกิดของสัตว์  ด้วยเหตุ 7 ประการ คือ
                    สมณพราหมณ์บางคนมีวาทะว่า  เพราะอัตตานี้มีรูป  สำเร็จด้วยมหาภูตรูป 4  มีมารดา  บิดา  เป็นแดนเกิด  เพราะกายแตกย่อมขาดสูญ  ย่อมพินาศ  ย่อมเลิกเกิด  อัตตานี้จึงเป็นอันขาดสูญ
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์  เป็นกามาพจร  บริโภคกวฬิงดาราหาร  เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เป็นทิพย์  มีรูปสำเร็จด้วยใจ  มีอวัยวะใหญ่น้อยครบครัน  มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง  เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ  มีอารมณ์ว่าอากาศหาที่สุดมิได้  เพราะล่วงรูปสัญญา  เพราะดับปฏิฆสัญญา  เพราะไม่ใส่ใจในนานัตตสัญญา  เพราะกายแตก  อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ  เพราะกายแตก อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึง อากิญจายตนะ  เพราะกายแตก  อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีอัตตาอื่นที่เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ  เพราะกายแตก  อัตตานั้นย่อมขาดสูญ
                    เรื่องนี้ตถาคตย่อมรู้ชัด.....
            ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ 5    มีทิฏฐิว่า  นิพพานปัจจุบันเป็นธรรมอย่างยิ่งของสัตว์ ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ
                    สมณพราหมณ์บางคนกล่าวว่า  เพราะอัตตานี้อิ่มเอิบ  พรั่งพร้อม  เพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ 5 จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ยังมีเหตุอื่นอีก  เพราะเหตุว่ากามทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์  มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา  จึงเกิดความโศก  ความร่ำไร  ความทุกข์  โทมนัส  คับใจ  เพราะอัตตานี้สงัดจากกาม  จากอกุศลธรรม  บรรลุปฐมฌาณ  มีวิตก  วิจาร  มีปิติ และสุขเกิด แต่วิเวกอยู่  จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ปฐมฌาณยังหยาบ  เพราะอัตตานี้บรรลุทุติยฌาณ..... จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ทุติยฌาณยังหยาบ  เพราะอัตตานี้บรรลุตติยฌาณ..... จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
                    สมณพราหมณ์พวกอื่นกล่าวว่า  ตติยฌาณยังหยาบ  เพราะอัตตานี้บรรลุจตุตถฌาณ..... จึงเป็นอันบรรลุนิพพานปัจจุบัน
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  สมณพราหมณ์เหล่านั้น  กล่าวถึงขันธ์ส่วนอนาคต  กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 44 ประการนี้
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  สมณพราหมณ์เหล่านั้น  กล่าวถึงขันธ์ส่วนอดีตก็ดี  ส่วนอนาคตก็ดี  ทั้งส่วนอดีต ทั้งส่วนอนาคตก็ดี  กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการนี้เท่านั้น  หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง  นอกจากนี้ไม่มี
                    เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัด.....
                    ธรรมเหล่านี้แลลึกซึ้ง  เห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  สงบ  ประณีต  จะคาดคะเนเอาไม่ได้  ละเอียด  รู้ได้เฉพาะบัณฑิต  ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง  แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง  ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์..... กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ  แม้ข้อนั้น ก็เป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์เหล่านั้น  ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา  เป็นความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์..... กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ  ก็เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น  กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ 62 ประการ  สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก  ถูกต้อง ๆ แล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง 6  ย่อมเสวยเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ  เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส  เมื่อใดภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณและโทษแห่งผัสสายตนะทั้ง 6 กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น  เมื่อนั้น ภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด  ก็สมณพราหมณ์พวกใด  กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด  สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด  ถูกทิฏฐิ 62  อย่างเหล่านี้เป็นดุจข่ายปกคลุมไว้  อยู่ในข่ายนี้เอง  เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้  ติดอยู่ในข่ายนี้  ถูกข่ายนี้ปกคลุมไว้
                    ดูกร  ภิกษุทั้งหลาย  กายของตถาคต มีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว  ยังดำรงอยู่ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคต ชั่วเวลาที่กายของคถาคตดำรงอยู่  เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว  เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นคถาคต
                    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  พระอานนท์ได้กราบทูลว่า  น่าอัศจรรย์  ไม่เคยมีมา  ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระเจ้าข้า  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า  อรรถชาละก็ได้  ธรรมชาละก็ได้  พรหมชาละก็ได้
                    ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว  ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีใจชื่นชม  เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่  หมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว แล


    • Update : 17/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch