|
|
รำลึกละสังขาร 6 ปี หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม
|
พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง "พระมงคลสิทธิการ" หรือ "หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข" วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ละสังขารในวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2548 จวบจนถึงวันนี้ครบ 6 ปีบริบูรณ์
ทุกปี "วัดไผ่ล้อม" จะจัดให้มีพิธีรำลึกคุณงามความดีของหลวงพ่อพูล และพิธีไหว้ครู-ครอบครูบูรพาจารย์ สานต่ออนุรักษ์ประเพณีตามตำรับหลวงพ่อพูลไว้ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2554
"พระครูปลัดสิทธิวัฒน์" เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ประธานมูลนิธิหลวงพ่อพูล จึงจัดงานเพื่อสานต่อ พร้อมดำริจัดสร้าง "วิหารหลวงพ่อพูล" แทนหลังเดิมขึ้น เพื่อน้อมถวายบูชาคุณ และการประกาศคุณงามความดี ถวายเป็นเครื่องบูชาสักการะพระคุณ ถวายความกตัญญูกตเวทีแด่หลวงพ่อพูล ซึ่งวิหารหลวงพ่อพูลดังกล่าวนี้ ออกแบบโดย "นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์" นักวิชาการช่างศิลป์ระดับชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มีลักษณะแบบวิหารเป็นสถา ปัตยกรรมไทย ยอดทรงมณ ฑป หลังคาจัตุรมุข ซ้อน 2 ชั้น มีคอสอง แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ตรงเชิงชายของหลังคาและชายคาปีกกระหนกทุกด้านประดับด้วย กระจัง ลงรักปิดทอง
หน้าบันทั้งหมดประดิษฐาน พระนามาภิไธยย่อ "มวก" ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และอักษรพระนามาภิไธยย่อ "ศร" ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระ องค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ อักษรพระนามาภิไธยย่อ "พภ" ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อักษรพระนามาภิไธยย่อ "สร" ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า สิริวัณณวรีนารีรัตน์ อักษรพระนามาภิไธยย่อ "ทป" ในพระ เจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ รอบพระนามา ภิไธยย่อของทุกพระองค์มีลวดลายไทยประกอบ
ส่วนผนังของวิหาร ก่ออิฐถือปูน กรอบเช็ดหน้าของหน้าต่างและประตูลงรักปิดทอง ตัวบานของหน้าต่างและประตู ติดตั้งกระจกใส มีลวดลายประดับ รอบตัวอาคารวิหารมีกำแพงแก้วล้อมรอบ และเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ด้านหน้าของวิหารมีมุขโถงยื่นไปด้านหน้า มีบันไดขึ้น 3 ทาง ส่วนพื้นปูด้วยหินแกรนิต ส่วนฐานเป็นฐานเรียง ยกสูงจากระดับดิน 1.00 เมตร
ภายในวิหารจัดทำเป็นซุ้มวิมาน แกะสลักลวดลายไทยลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี สำหรับประดิษฐานสังขารหลวงพ่อพูล เพดานของวิหารฉลุลวดลายไทย ปิดทอง และมีดาวเพดาน แกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง ด้านนอกรอบตัววิหารจัดเป็นสวนหย่อม เพื่อให้เกิดความสง่างาม และความสวยงาม และเป็นที่พักผ่อนของพุทธศาสนิกชนที่มา สร้างบุญบารมีในภพชาตินี้
พิเศษปีนี้จัดให้มีพิธีครอบ "เศียรหนุมานวายุบุตร" เริ่มตั้งแต่เวลา 09.09 น. เป็นต้นไป เพื่อต้องการให้ศิษย์ทุกคน ได้รับรู้ และปฏิบัติต่อครู กตัญญูเฉกเช่นหนุมานวายุบุตร เพราะหนุมานตามความหมายของหลวงพ่อพูล คือวายุบุตรสุดประเสริฐ ถือกำเนิดจากพระพาย ไม่มีวันตาย ทำแต่ความดีเนืองนิตย์ ทำดีไม่ขาดสาย ทำได้ตลอดเวลา ทำทุกวัน ยิ่งทำยิ่งดีมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ตามตำรับโบราณบันทึกไว้ว่า หนุมาน เป็นลิงเผือก มีสีขาวประจำกาย เมื่อสำแดงฤทธิ์จะมี 4 หน้า 8 มือ สวมกุณฑล มีขนเพชร เขี้ยวแก้ว หาวเป็นดาวเป็นเดือน
ที่สำคัญพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ ครอบครูเศียรหนุมานวายุบุตรในปีนี้ ทางวัดได้จัดสร้างมงคลวัตถุที่ระลึก ปี 2554 เนรมิตเหรียญหนุมานวายุบุตร และหนุมานเชิญธงทรงบารมีขนาดบูชา นับว่าเป็นมงคลวัตถุสุดยอดแห่งความกตัญญูกตเวที
สำหรับเหรียญ เศียรหนุมานวายุบุตร ด้านหน้าเป็นหัวเศียรหนุมาน ทรงเครื่อง ตามแบบพุทธศิลป์ไทย ใบ หน้าเข้มขลังทรงพลังอานุภาพ เปี่ยมเมตตาบารมี มีฤทธิ์เดชมหาอำนาจ ออก แบบเป็นศิลปกรรมนูนสูง มีมิติอัศจรรย์ มองแล้วเหมือนมีชีวิต พุทธศิลป์ ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางยันต์หนุมาน ต้นตำรับหลวงพ่อพูล รายล้อมอักขระขอมโบราณ มีข้อความว่า "พิธีไหว้ครู วัดไผ่ล้อม นครปฐม 2554" สร้างขึ้นเป็นเนื้อโลหะ 3 กษัตริย์ และเนื้อผงพุทธคุณ ขนาดจัมโบ้
ส่วนหนุมานเชิญธงทรงบารมี ทรงพลังวายุบุตร สุดยอดความกตัญญู ขนาดบูชา พุทธศิลป์ หนุมานเชิดหน้าหันข้าง มือขวานำทัพถือธงทรงพลังอำนาจ มือซ้ายถือคทาวชิราวุธ แต่งองค์ทรงเครื่องคาดพระศอราชาวดี แต่งองค์เต็มยศทหารเอก พร้อมนำการรบออกทัพจับศึก เท้าขวาประทับบนฟากฟ้า เหยียบบนก้อนเมฆใหญ่ เข่าซ้ายยกกดเมฆด้วยสรีระลีลาที่สง่างามตามแบบโบราณ สร้างขึ้นเป็นเนื้อโลหะ เพนต์สี ขนาดบูชา
มงคลวัตถุ "หนุมานวายุบุตร" สุดยอดความกตัญญู นับเป็นมงคลที่ระลึก แห่งปี พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีแห่งพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ 6 ปี หลวงพ่อพูลละสังขาร แสดงความสำนึกในพระคุณ หลวงพ่อพูลซึ่งถือเป็นสุดยอดพระอมตะเถราจารย์ผู้ให้เสมอมา
เปี่ยมเมตตาต่อศิษย์ทุกคนอย่างแท้จริง
อนึ่ง วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2554 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ทางวัดเปิดโอกาสให้ญาติโยมศิษยานุศิษย์ ได้สัมผัสสังขารหลวงพ่อพูลอย่างใกล้ชิด โดยจัดพิธีถวายสักการะสรีระหลวงพ่อพูล สวดพระพุทธมนต์ ประกอบพิธีเปลี่ยนผ้าครองที่สังขารหลวงพ่อพูล ณ ศาลาการเปรียญวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
สำหรับพิธีลงกระหม่อม ในระหว่างเวลาดังกล่าวนี้ พระ ครูปลัดสิทธิวัฒน์ เปิดโอกาสให้เข้ากราบสักการะสังขารหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด ด้วยการก้มกราบน้อมศีรษะจรดแตะไปที่ปลายเท้าหลวงพ่อเพื่อความเป็นสิริมงคล
|
|
|
Update : 17/5/2554
|
|