|
|
รามเกียรติ์ 3
กำเนิดนางมณโฑ
|
- ที่ภูเขาหิมพานต์มีฤาษี 4 องค์ บวชมาได้สามหมื่นปีแล้ว ในเวลาเช้าจะมีโคนมมาที่บรรณศาลา แล้วหยอดนมไว้ในอ่างให้ฤาษีดื่มกินทุกวัน ที่หินซึ่งเป็นที่ฉันอาหาร มีกบตัวเมียอาศัยอยู่ และพระฤาษีจะให้กบเป็นทานทุกวัน วันหนึ่งมีนางนาคขึ้นมาจากบาดาลมาหาชายเป็นสามี บังเอิญพบงูดิน จึงร่วมรักกัน พระฤาษีมาเห็นเข้านางนาคอายแทรกบาดาลหายไป และคิดว่าถ้าเรื่องนี้รู้ถึงหูบิดาจะอับอายได้ จึงขึ้นไปคายพิษไว้ในอ่างนม กบได้แสดงความกตัญญูด้วยการลงไปในอ่างนมและขาดใจตาย พระฤาษีมาพบเข้าจึงชุบกบ แล้วถามความกบเล่าให้ฟัง พระฤาษีเห็นความดีของกบ ชุบนางเป็นมนุษย์ ตั้งชื่อตามสัญชาติเดิมว่า นางมณโฑ
|
แล้วพานางไปถวายพระอิศวร พระอิศวรจึงให้เป็นนางกำนัลของพระอุมา ซึ่งพระอุมาได้สอนพระเวทย์ต่าง ๆ ให้แก่นางมากมาย - ทางด้านเมืองบาดาล พระยากาลนาคเห็นว่าท้าวสหมลิวันมาอยู่จะทำให้เดือดร้อนไปทั่ว เพราะเป็นยักษ์พาล จึงควรจะปราบเสียแต่แรกท้าวสหมลิวันจึงไปขอความช่วยเหลือจากท้าวลัสเตียนผู้เป็นหลาน พระยากาลนาครบพ่ายแพ้ท้าวลัสเตียน จึงถวายราชธิดาชื่อ นางอัคคี และท้าวลัสเตียนจะรับไว้ให้เป็นชายาทศกรรฐ์ราชโอรสต่อไป
|
- ยักษ์วิรุฬหกซึ่งอาศัยอยู่นครบาดาล ใต้เขาตรีกูฎ ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรปีละเจ็ดครั้ง วันหนึ่งได้ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรกำลังบรรทมหลับ วิรุฬหกคิดว่าพระอิศวรอยู่ที่ท่ามกลางอสูรและเทพดา จึงกราบทุกคั่นปันไดที่ขึ้น สรภูตุ๊กแกที่เกาะอยู่บนยอดเขา เห็นเข้าก็ขบขัน วิรุฬหกโกรธถอดสังวาลย์นาคขว้างไปถูกเขาไกรลาส จนถึงกับทรุดเอียง พระอิศวรตกพระทัยตื่น แล้วจึงตรัสหาผู้อาสา ยกเขาไกรลาส เหล่าเทวดาได้ช่วยกันยก แต่ไม่สำเร็จ
|
พระอิศวรจึงให้ไปตามทศกรรฐ์มายกเขาไกรลาสจนตั้งตรงได้ ทศกรรฐ์คิดกำเริบขอประทานพระอุมา พระอิศวรยกให้ ทศกรรฐ์จึงเข้าไปจะอุ้ม แต่กายของพระอุมาร้อนแรงมาก ทศกรรฐ์อุ้มไม่ได้ ได้แต่อุ้มพระบาทวางไว้เหนือหัวพาเหาะไป
- พระนารายณ์ทราบเรื่อง จึงแปลงเป็นชายแก่ ไปดักทางที่ทศกรรฐ์จะผ่านไปและบอกว่ายังมีนางมณโฑซึ่งสวยงาม และเหมาะกับทศกรรฐ์มากกว่า ทศกรรฐ์เชื่อจึงนำพระอุมาไปคืนพระอิศวร แล้วทูลขอนางมณโฑ พระอิศวรก็ประทานให้ ทศกรรฐ์จึงอุ้มนางมณโฑเหาะผ่านนครขีดขิน เพื่อกลับไปยังลงกา พระยาพาลีโกรธหาว่าทศกรรฐ์หมิ่นตน จึงเหาะขึ้นมาจะทำร้ายทศกรรฐ์ เมื่อเห็นนางมณโฑจึงหลงรัก แล้วเข้าสู้รบแย่งชิงจนชนะทศกรรฐ์ ได้นางมา พากลับไปยังนครขีดขิน ได้นางมณโฑเป็นเมีย
|
|
กำเนิดองคต
|
- ส่วนทศกรรฐ์แค้นใจและเศร้าโศกเสียใจมาก กุมภกรรณและพิเภก จึงไปหาพระฤาษีโคบุตร พระฤาษีโคบุตรบอกให้ไปพบพระฤาษีอังคต อาจารย์ของพระยาพาลี ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ย จนพระยาพาลียอมคืนนางมณโฑให้ทศกรรฐ์ แต่ขณะนั้น นางมณโฑท้องได้ 6 เดือนกว่าแล้ว พระฤาษีอังคตจึงผ่าเอาทารกออกไปใส่ไว้ในท้องแพะ ส่วนนางมณโฑ ได้นำกลับไปคืนทศกรรฐ์ ต่อมาจนถึงเวลาพระฤาษีอังคตได้แหวะท้องแพะ เอาทารกออกมา ตั้งนามว่าองคต แล้วนำไปให้พระยาพาลี
|
ทศกรรฐ์ถอดดวงใจ
|
- สำหรับทศกรรฐ์ แม้จะได้นางมณโฑแล้ว ก็ไม่หายแค้นพระยาพาลี เมื่อพระยาพาลี จะประกอบพิธีสรงน้ำแก่โอรสองคตในแม่น้ำยมนา ทศกรรฐ์จึงคิดฆ่าให้สิ้นความอัปยศ จึงแปลงร่างเป็นปู ลงไปอยู่ใต้น้ำที่จะทำพิธี พระยาพาลีลงไปจับปูทศกรรฐ์ได้และได้ประจานอยู่เจ็ดวัน จึงปล่อยตัวไป ทศกรรฐ์จึงไปหาพระฤาษีโคบุตร ขอให้ช่วยถอดดวงใจให้ โดยไปทำพิธีกันที่ภูเขานิลคีรีและได้นำดวงใจนั้นรักษาไว้ ณ ภูเขานี้
|
- ส่วนหนุมานนั้นได้อยู่กับพระยาพาลีและสุครีพ ต่อมาต้องการรักษาศีลจึงลาผู้เป็นน้าแล้วเหาะไปจำศีลที่ป่ากัทลีวัน
- รณพักตร์ เป็นลูกทศกรรฐ์กับนางมณโฑ มีนิสัยหยาบช้าเช่นเดียวกับทศกรรฐ์ ไปศึกษาพระเวทกับ พระฤาษีโคบุตร พระฤาษีได้ให้วิชามหากาลอัคคี ใช้สำหรับบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ รณพักตร์เมื่อได้วิชาแล้ว จึงไปบำเพ็ญตบะที่เนินเขาโพกาศ เป็นเวลาเจ็ดปี ทำให้พระเป็นเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ต้องเสด็จมาถามความต้องการ รณพักตร์จึงขอศร พระอิศวรจึงประทานศรพรหมมาศ และพรแปลงกาย เป็นพระอินทร์ให้ พระพรหมให้ศรนาคบาศพร้อมกับพรว่า หากจะตายให้ตายบนอากาศหากเศียรขาดตกดิน ต้องมีพานแก้วของพระพรหมมารองรับ จึงจะไม่กลายเป็นไฟบรรลัยกัลปไหม้โลก ส่วนพระนารายณ์ให้ศรวิษณุปาณัม
|
- ทางด้านท้าวสหมลิวันที่ครองเมืองบาดาล เห็นว่าทศกรรฐ์เป็นยักษ์สันดานหยาบช้า อาจจะมารุกรานเมืองบาดาลได้ จึงเตรียมการเพื่อป้องกันพระนครอย่างมั่นคง ก่อนตายได้มอบให้โอรสชื่อมหายมยักษ์ ครองเมืองต่อไป แล้วสั่งว่าห้ามไปคบหากับทศกรรฐ์ แล้วตั้งชื่อมหายมยักษ์ให้ใหม่ว่าท้าวศากยวงศา ซึ่งมีมเหสีชื่อพระนางจันทประภา ต่อมามีโอรสธิดาชื่อนางพิรากวนและ ไมยราพ
|
|
- ทศกรรฐ์เมื่อเห็นรณพักตร์มีฤทธิ์มากขึ้น นับจากได้ศรจากพระอิศวร พระพรหมและพระนารายณ์ จึงให้รณพักตร์ยกทัพไปปราบพระอินทร์ ได้สู้รบกันที่กลางเขาพระสุเมรุ พระอินทร์สู้ไม่ได้ทิ้งจักรแก้วไว้ แล้วหนีไปฟ้องพระอิศวร ส่วนรณพักตร์ได้จักรแก้วของพระอินทร์ จึงกลับมายังเมือง ทศกรรฐ์จึงตั้งชื่อรณพักตร์ใหม่ว่า อินทรชิต ซึ่งแปลว่าสามารถปราบพระอินทร์ได้
|
|
Update : 17/5/2554
|
|