ท้าวเวสสุวรรณ เทพเจ้าแห่งภูตผีปีศาจ
ขอแนะนำในรูปแบบของพราหมณ์ให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักความเป็นมาของท่านก็คือ ท้าวเวสสุวัณหรือท้าวกุเวร ในวรรณคดีรามเกียรติ์ มีชื่อเรียกว่าท้าวกุเรปันและจากคัมภีร์ไตรเพทกล่าวว่า ท้าวเวสสุวัณ (สันสกฤตไวศรวณ, มคธ-เวสวัณโณ) คือ อธิบดีแห่งอสูรหรือเจ้าแห่งผีนั่นเอง และด้วยความเชื่อดังกล่าว ท้าวเวสสุวัณจึงถูกกำหนดให้ ทำหน้าที่ป้องกันและปราบผีโดยทั่วไปในทรรศนะของคนไทย
คนไทยสมัยโบราณมักจะวาดรูปท้าวเวสสุวรรณลักษณะรูปยักษ์ถือไม้ตะบองสองมือประสานและถ่างขา สองด้าน (ดูภาพประกอบ) และนำไปแขวนไว้ที่เปลของเด็กหรือแขวนไว้ตามประตูหน้าต่างทางเข้าบ้าน เพื่อป้องกันผีไม่ให้มารบกวนเด็ก ๆ เมื่อผีเห็นเข้าจะมีความกลัวเผ่นหนีไม่กล้ามาตอแยเลย ผู้เขียนได้ค้นคว้าจากตำนานหนังสือเทวกำเนิดซึ่งรวบรวมไว้โดยท่านพระยาสัจจาภิรมย์ ท.ม., ต.จ.ว. น.บ.ท. (สรวง ศรีเพ็ญ) ท่านกล่าวว่าไว้ดังนี้ ท่านท้าวเวสสุวรรณนี้ พูดกันว่าเป็นยักษ์ที่ดำรงอยู่ในสัจจธรรม และเป็นโอรสของพระวิศรวัสมุนีกับนางอิทาวิฑา แต่ในมหาภารตะว่าเป็นโอรสของพระปุลัสตย์
ซึ่งเป็นบิดาของพระวิศรวัสมุนีอีกชั้นหนึ่ง มีเรื่องเล่ากันว่าท้าวเวสสุวรรณไปใฝ่ใจกับท่านท้าวพรหมาหรือพระพรหมนั่นเอง จึงทำให้บิดาโกรธและได้แบ่งภาคมาเป็นพระวิศรวัสและได้เกิดเป็นพระปุลัสตย์จึงได้นามอีกว่า พระเปาสัศตยัม ซึ่งในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่าท้าวลัสเตียนแล้วท้าวลัสเตียนก็มาได้กับนางนิกษาบุตรีของท้าวสุมาลีรากษสเป็นชายาและเกิดโอรสธิดาด้วยกันคือ 1. ราพนาสูรหรือทศกัณฐ์ 2. กุมภวรรณ 3. วิภิษณ์หรือพิเภก 4. นางศูรปนขา
ดังนั้นท้าวเวสสุวรรณจึงนับได้ว่าเป็นพี่ชายร่วมบิดาเดียวกันกับทศกัณฐ์ เดิมทีท้าวเวสสุวรรณได้เป็นเจ้านครลงกาและมีบุษบกราชรถเป็นพาหนะ เมื่อขึ้นขี่แล้วจะลอยไปได้ตามแต่ใจปรารถนา แต่ก็ถูกน้องชายแย่งไปเสียทั้ง 2 อย่าง เมื่อพระพรหมทราบความจึงได้สร้างเมืองใหม่ให้ชื่อว่าอละกาหรือวสุธราอยู่ ณ เชิงเขาหิมาลัย บางทีก็ว่าอยู่ ณ เชิงเขาพระสุเมรุในป่าชัฏ บ้างก็ว่าชื่อเมืองโชตรรฐอยู่ ณ เชิงเขาไกรลาศ ในเทวภูมิซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพจตุโลกบาล บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาซึ่งก็ไม่น่าแปลกอะไรเพราะท้าวเวสสุ-
วรรรมีหน้าที่หลายอย่างหลายแห่งและยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ
นอกจากนั้นยังได้รับพรจากพระพรหมให้ท้าวเวสสุวรรณเป็นอมฤต คือไม่ตาย (มีบางท่านเปรียบสุราว่าเป็นน้ำอมฤต แต่เห็นดื่มเข้าไปทีไรแล้วเกือบตายทุกที) ท่านท้าวเวสสุวรรณถูกกล่าวไว้ใน อาฎานาฎิยปริตหรือมหาสมัยสูตร และภาณยักษ์ว่าท้าวเวสสุวรรณเป็นจอมเทพเจ้ายักษ์และโลกบาลทิศอุดร ส่วนในเทวภูมิเรียกนามโลกบาลทิศอุดรนี้ว่า ท้าวไพศรพมหาราชในลัทธิจีนฝ่ายมหายานว่าโลกบาลทิศอุดรชื่อ โตบุ๋นแปลว่าได้ยินทั่วไปมียักษ์ทั้งกังฉินและตงฉินเป็นบริวาร และบอกว่ามีกายสีดำมือถือดวงแก้วและงู ส่วนทางธิเบตก็ว่าชื่อเดียวกัน แต่มือถึงธงและพังพอนแต่กายสีทองคำ ส่วนทางญี่ปุ่นถือว่าโลกบาลทิศอุดรนี้เป็นเทพเจ้าประจำโชคลาภมีนามว่าพิสะมอนตรงกับนามว่าธนบดีหรือธเนศวร อันหมายถึงนามอีก
นามหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งแปลว่าเป็นเจ้าแห่งทรัพย์สมบัติ ในมือถือลูกแก้วมณีและทวนประจำชาติ
ท้าวเวสสุวรรณ ยังมีชื่อเรียกในโอกาสต่าง ๆ อีกหลายชื่อเช่น ท้าวยักษ์ราช แปลว่า ขุนแห่งยักษ์, ท้าวมยุราช แปลว่า แห่งกินนร, ท้าวรากาสเสนทร์ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในพวกรากษส, ท้าวอิจฉาวสุ แปลว่า ผู้มั่งมีได้ตามใจ เป็นต้น
รูปร่างลักษณะของท่านท้าวเวสสุวรรณ เมื่อเวลาอยู่ในเทวภูมิ มีกายสีขาวร่างสง่างาม มีอาภรณ์ทรงมงกุฎมี 4 กร (แขน) ทรงม้าขาวเป็นพาหนะ มีมเหสีชื่อนางจารวีหรือฤทธีเป็นบุตรีของท้าวมยุราสูร มีโอรส 2 องค์ ชื่อ 1. ท้าวมณีครีพ หรือวรรณกวี 2. ท้าวนลกุพรหรือมยุราช มีธิดา 1 องค์ชื่อ นางมีนาษี
เมื่อเวลาประจำโลกบาลทิศอุดร ท่านจะนิมิตกายเป็นพญายักษ์ ทรงมงกุฎ มีกระบองเป็นอาวุธและมีราชรถบุษบกเป็นพาหนะแต่ตอนหลังถูกทศกัณฑ์แย่งไป แล้วทศกัณฑ์เองก็ใช้ไม่ได้เพราะราชรถบุษบกไม่ลอกไปไหนดังใจปรารถนาอีก ดังมีเรื่องราวอยู่ในรามเกียรติ์ (แต่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวในที่นี้เพราะเรื่องมันยาวหน้ากระดาษคงไม่พอแน่ ต้องให้ท่านผู้อ่านไปหาซื้อหนังสือรามเกียรติ์อ่านกันเอาเอง อ้อ! ต้องเป็นฉบับสมบูรณ์นะเดี๋ยวหาว่าไม่บอกก่อน)
ความสำคัญของท้าวเวสสุวรรณ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้นว่าท่านเป็นยักษ์ที่แสนดี คนโบราณจึงให้ความเคารพนับถือ และสร้างรูปของท่านไว้เป็นที่พึ่งทางใจเช่น ให้เฝ้าประตูวัด แม้แต่ที่ซุ้มเรือนแก้วของพรุพุทธชินราชก็เป็นรูปท้าวเวสสุวรรณ ถือไม้ตะบองเฝ้าอยู่ด้านหลังและเมื่ออัญเชิญท้าวเวสสุวรรณมาประดิษฐานไว้ในบ้านเรือนแล้วรับรองว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องภูตผีปีศาจทั้งหลายจะมารบกวนได้ แม้แต่พระเกจิอาจารย์บางท่านยังได้สร้างเป็นรูปขนาดเล็ก
ซึ่งทำด้วยเนื้อดิน ชินผง รูปหล่อโลหะสร้างจำนวนไม่มากไว้แจกลูกศิษย์ลูกหา เท่าที่ทราบมีดังนี้เจ้าคุณศรี (สนธิ์ ยติธโร) แห่งวัสดุทัศน์เทพวราราม กทม. ได้สร้างไว้ราว พ.ศ. 2492 เป็นรูปท้าวเวสสุวรรณลอยองค์ มี 3 พิมพ์ ทำด้วยเนื้อโลหะผสมออกกระแสเหลือง ๆ
หลวงพ่อคอน วัดชัยพฤกามาลา ตลิ่งชัน กทม. (ธนบุรี) ก็สร้างไว้แต่เป็นเนื้อผงออกสีเทา ๆ แต่หายากพระครูในฎีกา (เกลี้ยง) แห่งวัดสุทัศน์เทพวรารามก็สร้างรูปท้าวเวสสุวรรณ แต่เป็นเนื้อผงลักษณะเป็นรูปไข่รี ๆ สีออกขาวไม่ใหญ่มาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 และนอกจากนี้ยังมีอีกหลายวัดและหลายพระเกจิอาจารย์ที่จัดสร้างขึ้นขอให้มีรูปท่านท้าวเวสสุวรรณเป็นใช้ได้
ส่วนคาถาเมื่อท่านผู้อ่านได้รูปเหมือนของท้าวเวสสุวรรณมาแล้ว ต้องการที่จะอาราธนาติดต่อไปหรือจะลองไล่ผีดุ ให้ว่าคาถาของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ว่าดังนี้
(อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณมะระนังสุขัง อะระหังสุขะโต นะโมพุทธายะ) และท่านพระครูภัทรวิริยะคุณแห่งคณะ 2 วัดสุทัสน์เทพวรารามได้เมตตาให้คาถา “อาวุธพุทธเจ้า”
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสัสเทวมหาเถร) ใช้ในการปัดเป่าขับไล่ภูตผีปีศาจและอวิชาต่าง ๆ ดังนี้
สักกัสสะ วชิราวุธัง เวสสวัณณัสสะ คฑาวุธัง อาฬวะกัสสะ ทุสาวุธัง ยะมะกัสสะ ทุสาวุธัง มารัสสะกะ กาวุธันติ อเมปัญจะ อาวุเธ ทิสะวา สัพเพ ยักขาปะลายันติ