ตำราไสยศาสตร์ภาษาอาหรับ
การทำคุณไสยในตะวันออกกลาง
กล่าวกันว่าชาวยิวเป็นผู้ที่นิยมไสยศาสตร์ไม่น้อยกว่าชนชาติอื่น ๆ แม้ว่าในกฎบัญญัติศาสดายูดายจะมีบทบัญญัติห้ามไสยศาสตร์ก็ตาม เช่นเดียวกับโลกอาหรับ ก็ยังมีผู้นิยมไสยศาสตร์แม้ว่าอิสลามจะห้ามการเรียนรู้และปฏิบัติไสยศาสตร์ ส่วนชาวศอบิอ์ในอิรักและอิหร่านก็ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นหมอไสยศาสตร์ที่เก่งกาจ และชาวคริสเตียนก็มีที่เชื่อและปฏิบัติไสยศาสตร์เช่นเดียวกัน
ในภาษาอาหรับมีตำราที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์เป็นร้อย ปัจจุบันแม้หนังสือเหล่านั้นจะเป็นที่ต้องห้าม เกือบทุกประเทศในโลกอาหรับ นอกจากอิยิปต์และเลบานอน ถึงกระนั้นก็ยังมีหนังสือประเภทนี้วางขายตามร้านขายหนังสือ วรรณกรรมไสยศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบด้วยการผสมผสานกับดุอาอ์ อีกทั้งฏอลสัม (ยันต์) ส่วนใหญ่ก็ใช้พระนามของอัลลอหฺและโองการอัลกุรอาน ทำให้แยกแยะไม่ออกว่าเป็นศาสตร์มืด หรือว่าการใช้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระนามและโองการอัลกุรอานกันแน่
จากการรวบรวมข้อมูลจากตำราไสยศาสตร์ภาษาอาหรับ จะเห็นว่า ไสยศาสตร์อาหรับโดยหลัก ๆ แล้วแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. การใช้คาถา นั่นคือโองการอัลกุรอาน และพระนามของพระผู้เจ้า อาจจะเป็นพระนามอื่นนอกเหนือจาก 99 พระนาม อาจจะเป็นคำที่มาจากภาษาเซมิติกอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาอาหรับ มีบางส่วนที่ใช้ตัวอักษรลับและระหัสลับ จนไม่อาจจะทราบได้ว่าเป็นพระนามของอัลลอหฺหรืออะไรกันแน่ หากเปรียบเทียบกับตำราของกรีกและฮิบรูก็จะพบว่า บางส่วนมีรากเดิมมาจากตำราดังกล่าว
2. การใช้สารที่สะกัดมาจากพืช สัตว์ และแร่ต่าง ๆ จากดิน เมื่อผสมผสานตามสูตรก็จะออกมาเป็นยาหรือยาพิษ ศาสตร์ส่วนนี้ได้วิวัฒนาการกลายเป็น مياء Alchemy อันเป็นจุดเริ่มต้นวิชาเคมีในยุคต่อมา
3. การเป็นมิตรและขอความช่วยเหลือจากญินและชัยฏอน เช่น เพื่อไปทำอันตรายต่อผู้คน หรือเพื่อเสาะหาขุมทรัพย์ นามของญินหรือชัยฏอนส่วนใหญ่จะเป็นภาษาซีรีแอค แม้ว่าบางวิธีจะออกมาในรูปแบบการการใช้คาถาเหมือนข้อแรกบังคับให้ญินทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ส่วนตำราไสยศาสตร์ของพวกคริสเตียนส่วนใหญ่จะแปลมาจากภาษาซีรีแอค และผสมผสานกับวรรณกรรมของไบเบิล และกรีก