พระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดศาสตร์หนึ่งสำหรับคนไทย มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กฎหมายไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ประมาณพ.ศ.๒๑๖๘ ให้จัดตั้งกระทรวงแพทยาคม เพื่อชำระคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคุณไสย เสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปด้วยวิทยาคม กฎหมายบัญญัติลงโทษผู้กระทำผิดในการใช้คุณไสยและวิทยาคมทำร้ายผู้อื่นทางอาญา กระทรวงนี้มีผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคมเป็นตุลาการ มีหน้าที่สอบสวนพิจารณาโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการกระทำทางไสยศาสตร์ เรื่องคุณไสยโดยเฉพาะ
ในหนังสือวรรณกรรมต่าง ๆ มีการกล่าวถึงเรื่องทางไสยศาสตร์อยู่มากมาย แม้ว่าจะเป็นความเกินเลยของจินตนาการมนุษย์ แต่ก็มีเค้ามูลที่มาจากความเป็นจริง ประเพณี และวิถีปฏิบัติของผู้คนในสมัยนั้น เสภาขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณกรรมที่มีเรื่องราวเหล่านี้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ในสังคมไทย พระพุทธศาสนากับไสยศาสตร์ เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ดังคำกล่าวที่ว่า “พุทธกับไสยย่อมอาศัยกัน” ทั้งนี้เพราะก่อนที่คนไทยจะนับถือพระพุทธศาสนาก็นับถือผีมาก่อนแล้ว ซ้ำยังได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาทั้งก่อนและพร้อมกับพระพุทธศาสนา จึงทำให้ผสมผสานองค์ประกอบของความเชื่อทั้งสามไปด้วยกัน
ในทางนิรุกศาสตร์ คำว่า “ไสยะ” นี้แปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่า นอนหลับอยู่ก็ได้ หรือจะแปลว่า ดีกว่า ก็ได้ ความหมายแรก ไสยะ แปลว่า นอนหลับ ตรงกันข้ามกับพุทธะ ซึ่งแปลว่า ตื่นจากหลับ เป็นอันว่า ไสยศาสตร์ตรงกันข้ามกับพระพุทธศาสนา ประหนึ่งว่าการนอนหลับกับการตื่นอยู่ ความหมายที่ ๒ แปลว่า ดีกว่า หมายถึงดีกว่าอะไร ๆ ที่มีอยู่ก่อนไสยศาสตร์ เป็นที่พึ่งของมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณกลัวภัย จำเป็นต้องหาอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยว
พระยาอนุมานราชธนให้ความหมายของไสยศาสตร์ไว้ในหนังสือชีวิตชาวไทยสมัยก่อนว่า “ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนต์คาถา ซึ่งถือว่าได้มาจากอินเดีย ถ้าเป็นตำราว่าด้วยเรื่องนี้ เรียกว่าไสยศาสตร์ ไสยและไสยศาสตร์ สองคำนี้ ใช้เป็นสามัญแทนกันได้ หมายถึงความเชื่อและความรู้เนื่องด้วยสิ่งลึกลับอยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถจะทราบและพิสูจน์ได้ ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เช่น เรื่องผีสางเทวดา เรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และรวมทั้งเรื่องโชคลางด้วย”
ในเรื่องไสยศาสตร์ คำว่า เวทมนต์คาถา เป็นคำที่มีความหมายสำคัญที่สุด ซึ่งเวทมนต์คาถานี้ได้รับการถ่ายทอดสืบ ๆ กันมา โดยใช้เพื่อให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ใช้ไม่รู้ความหมายของเวทมนต์คาถานั้น ๆ แต่อย่างใด แต่อาจทราบเลา ๆว่า เป็นเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด แค่เมื่อเอามาแปลในทางไวยากรณ์บาลีอาจไม่ถูกต้องตามหลัก เป็นแต่มีความเชื่อเป็นที่ตั้ง จึงก่อให้เกิดพลังศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวขึ้นมาได้
ในที่นี้เน้นกล่าวถึงความเชื่อในเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์อันได้จากเครื่องรางของขลังต่าง ๆ (เครื่องราง คือของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล เป็นต้น ของขลัง คือของที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์)
ในสมัยโบราณ เครื่องรางของขลังเป็นที่นิยมกันมาก มีทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ เช่น ว่านยา เหล็กไหล หรือเพชรนิลจินดาที่รวมเรียกกันว่า นพรัตน์ เพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น เจ้าของจะนำมาลงเลขยันต์ปลุกเสกด้วยคาถาอาคม โดยเฉพาะสิ่งที่ดูแล้วธรรมดา ๆ เช่น พวกเขี้ยวงา เขา ถ้าเป็นไม้ก็เป็นพวกไม้รักไม้ยม เอามาแกะเป็นตัวรักยม ไม้โพธิ์มาแกะเป็นพระพุทธรูป ไม้งิ้วดำมาแกะได้สารพัดอย่าง แม้กระทั่งมาแกะเป็นปลัดขิก หมอยาพื้นบ้านไทยและชาวจีนถือว่าไม้งิ้วดำเป็นยาอายุวัฒนะมักนำมาประกอบยาสมุนไพร ว่ากันว่าบางคนทำตะเกียบ ถ้าหยิบอาหารที่เป็นพิษ ตะเกียบจะเปลี่ยนสีทันที บางคนทำเป็นพัด ถ้ามีอากาศพิษ พัดที่ถืออยู่จะเปลี่ยนสี หมอยาบางคนใช้ไม้งิ้วดำตรวจรักษาโรค
บางครั้งใช้ผ้า เช่น ผ้าขาวหรือผ้าแดงมาลงอักขระเลขยันต์ ทำเป็นผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ใช้สวมใส่ผูกคอ พันศีรษะหรือผูกแขน นำไปถักเป็นแหวนลงรักปิดทองสวมใส่นิ้วมือที่เรียกกันว่า แหวนพิรอด บางอย่างใช้ด้ายดิบทำ เช่น ด้ายมงคลสำหรับสวมศีรษะหรือด้ายสายสิญจน์ หรือทำด้วยโลหะเงินทองหรือนากก็มี นำมาตีแผ่ให้เป็นแผ่นบาง ๆ สี่เหลี่ยม แล้วลงอักขระเลขยันต์ ม้วนเข้าให้กลมเรียกว่าตะกรุด หรือทำเป็นรูปพับเป็นสี่เหลี่ยมทำหูห้อยร้อยเชือกเรียกว่าพิสมร ซึ่งเชื่อกันว่ามีอานุภาพทางเมตตามหานิยม
ในอดีต การทำเครื่องรางของขลังเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะผู้ชาย คนเหล่านี้ต้องการในกรณีพิเศษคือเมื่อออกรบทัพจับศึก เสภาขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงทหารที่ออกรบในสมัยนั้นว่า
“สวมสอดเสื้อลงใส่มงคล ล้วนอยู่ยงคงทนซึ่งศัสตรา
บ้างอยู่ด้วยรากไม้ไพลว่าน บ้างอยู่ด้วยโอมอ่านพระคาถา
บ้างอยู่ด้วยเลขยันต์น้ำมันทา บ้างอยู่ด้วยสุราอาพัดกิน
บ้างอยู่ด้วยเงี้ยวงาแก้วตาสัตว์ บ้างอยู่ด้วยกำจัดทองแดงหิน
บ้างอยู่ด้วยเนื้อหนังฝังเพชรนิล ล้วนอยู่สิ้นทุกคนทนศัสตรา”
อาวุธที่ใช้ป้องกันตัวและออกรบคือมีดดาบก็ต้องเป็นของวิเศษ ใช้โลหะหลายอย่างที่เชื่อว่าไม่ได้มีอานุภาพตามธรรมชาติอย่างเดียว แต่มีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ในตัวด้วย จะได้ไม่เพียงแต่คม แต่สามารถฟาดฟันดั่งใจหมายได้ โลหะที่ดีต้องหายากและมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังกรณีที่กล่าวไว้ในเรื่องขุนช้างขุนแผนว่า
“เอาเหล็กยอดพระเจดีย์มหาธาตุ ยอดปราสาทวารามาประสม
เหล็กขนันผีพรายตายทั้งกลม เหล็กตรึกโลงตรึกปั้นลมสลักเพชร
หอกสัมฤทธิ์กริชทองแดงพระแสงหัก เหล็กปฏักสลักประตูตะปูเห็ด
พร้อมทั้งเหล็กเบญจพรรณกัลเม็ด เหล็กบ้านพร้อมเสร็จทุกสิ่งแท้
เอาเหล็กไหลเหล็กหล่อบ่อพระแสง เหล็กกำแพงน้ำพี้ทั้งเหล็กแร่
ทองคำสัมฤทธิ์นากอะแจ เงินที่แท้ชาติเหล็กทองแดงดง”
ดาบนี้นับเป็นของวิเศษขนาดที่ว่า เห็นต้นรังงามสามกำกึ่ง หวดผึงขาดพับลงกับที่ เบาไหลไม่ระคายคล้ายหยวกปลี” และถ้าดีจริงก็คงสู้กับคาถาอาคมของศัตรูได้ด้วย ศัตรูที่ขึ้นชื่อว่าคงกระพันก็ไม่อาจทนต่อดาบวิเศษเช่นนี้ได้
การตีดาบตีเหล็กและการทำเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ต้องมีการดูฤกษ์ยาม เสร็จจากการตีการผสมแล้วก็ต้องมีพิธีพุทธาภิเษก ทำนองใช้กระแสจิตดึงเอาพระพุทธคุณต่าง ๆ มาเข้าบรรจุไว้
พระยาอนุมานราชธนสรุปว่า “ชนชาติไทยนับถือศาสนาต่าง ๆ ซ้อนเป็นอย่างรูปเจดีย์อีกเหมือนกัน คือนับถือผีสางเทวดาเป็นพื้นฐาน ถัดขึ้นไปนับถือไสยศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ในศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดู แล้วจึงนับถือพระพุทธศาสนาเป็นดังชั้นยอดของเจดีย์ ความเชื่อทั้งสามคตินี้ นับถือเคล้าคละปะปนกันไป จะถืออย่างไหนมากหรือน้อยกว่ากันก็สุดแล้วแต่ชาติชั้นและการศึกษาของคนในหมู่ ซึ่งมีไม่เท่าเทียมกัน ใครจะถือหนักไปทางไหน ถ้าไม่เป็นเครื่องเบียดเบียนหรือเดือดร้อนเสียหายแก่ตนและคนอื่น ก็ถือไปไม่มีใครว่าอะไร”
เรื่องเดียวกันเป็นได้ทั้งพุทธศาสตร์หรือจะเป็นไสยศาสตร์ ถ้าเป็นการทำความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ เช่น พระเครื่อง ถ้าเข้าใจว่าเป็นอนุสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ก็เป็นพุทธศาสตร์ ถ้าเป็นเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ อันเกิดด้วยพลังศรัทธาของผู้บูชาก็เป็นเรื่องไสยศาสตร์
พระพุทธศาสนากับไสยศาสตร์มีความแตกต่างกันมาก คือพระพุทธศาสนาสอนให้คนรู้จักใช้ปัญญาคิดด้วยเหตุผล เมื่อคิดเห็นจริงแล้วว่าสิ่งใดดี มีผู้รู้ยกย่องว่าเป็นความสุขความเจริญ ก็จงปฏิบัติสิ่งนั้นให้มีอยู่ในตนยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตรงกันข้าม ถ้าคิดเห็นจริงแล้วว่า สิ่งใดชั่ว ผู้รู้ติเตียนว่าเป็นความทุกข์ความเสื่อม ก็จงพยายามละทิ้งเสีย อย่าให้กล้ำกรายเข้ามามีอยู่ในตน
ส่วนไสยศาสตร์เป็นเรื่องของความเชื่อมากกว่าเป็นเรื่องของปัญญา ถ้ามีความเชื่อแต่ไม่ใช้ปัญญาเข้าช่วย ก็อาจเข้าถึงความสุขได้เหมือนกัน แต่ความสุขนั้นมักเป็นความสุขชั่วแล่นผิดจากความสุขที่เกิดจากปัญญา ซึ่งอาจเป็นความสุขที่ถาวรก็ได้ เพราะเหตุนี้ ตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าผู้ใดมีปัญญาไตร่ตรองด้วยเหตุผล เห็นจริงตามที่แนะสอนไว้ และประพฤติปฏิบัติตนไปตามนั้นโดยลำดับ ก็จะประสบความสุขเป็นขั้น ๆ จนกว่าจะบรรลุความสุขที่แท้จริงเป็นที่สุด ซึ่งเรียกว่า นิพพาน
สรุปว่า ไสยศาสตร์ก็เป็นศาสตร์หนึ่งซึ่งมีความเชื่อเป็นฐานสามารถเป็นที่พึ่งของคนได้ในระดับหนึ่ง ถ้ายังหาที่พึ่งอื่นอีกไม่ได้ ถ้าสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อก็จะเป็นการดี ทำให้เราเชื่อได้อย่างถาวรพร้อมทั้งมีปัญญาประกอบ ส่วนพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งถาวร ทำให้สิ้นทุกข์ สิ้นกิเลสไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
|