ประวัติความเป็นมา ในการสักยันต์ของไทย วัฒนธรรมการสักบนผิวหนัง การสักลวดลายบนผิวหนังหรือที่เรียกว่า สักลายหรือสักยันต์เป็นวัฒธรรมอย่างหนึ่งของไทย ที่มีมาช้านานแต่ทุกวันนี้ ลายสักหรือสักยันต์ตามความเชื่ออย่างโบราณแทบจะไม่มีแล้ว จะมีเพื่อความสวยงาม เป็นการตกแต่งเสริมความงามให้กับร่างกายบ้างแต่ไม่มากนัก เรื่องราวของลายสักยันต์ หรือ รอยสักยันต์ ของคนไทยเป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าเรื่องหนึ่ง แต่ดูเหมือน จะไม่มีใครสนใจใคร่ศึกษามากนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน อย่างหนึ่งและนับวันจะสูญหายไป "สัก" คืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เขียนว่า "สัก คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธี การหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน, ใช้เหล็กแหลม จุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึก เรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า สักน้ำมัน (โบ)” ทำเครื่องหมายสักเพื่อแสดง เป็นหลักฐาน เช่น "สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือ มีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้า แสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษปราชิก เป็นต้น" จากคำอธิบาย ดังกล่าวทำให้รู้ว่า การสักลายหรือลายสักของไทยคืออะไร ประเพณีการสักนั้น มีไม่แพร่หลาย บางหมู่บ้านจะพบว่า ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่มักมีลายสักที่หน้าอก และแผ่นหลังตามสมัยนิยม ในขณะที่ผู้ชำนาญในการสักของท้องถิ่นแสดงความสามารถ ที่สืบทอดมาอย่างเต็มที่ผู้ที่ทำหน้าที่สักมีทั้งพระสงฆ์และคนธรรมดา การศึกษาค้นคว้าศิลปะชาวบ้านประเภทนี้ ควรจะได้รับการศึกษาบันทึกเกี่ยว กับการออกแบบกรรมวิธีและพิธีกรรม ศึกษาเปรียบเทียบแต่ละกลุ่มชน ศึกษาค่านิยม และความเปลี่ยนแปลง ศึกษาการสักที่สืบทอดมาแต่โบราณ การสักมีรูปแบบที่แตกต่าง กันอยู่ 2 รูปแบบ คือ ลายสักที่สืบทอดกันมาแแต่โบราณ และ ลายสักที่เกี่ยวเนื่องกับ ความเชื่อ แต่ละรูปแบบจะมีวิวัฒนา การตามแบบฉบับของมัน และแสดงให้เห็นรูปแบบ ของธรรมเนียมในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแต่ละแง่แต่ละมุมของลายสักที่ สืบทอดกันมาในสังคมไทยในอดีต การสักที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ นักประวัติศาสตร์ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตแบบไทย ๆ คงจะทราบความจริงว่าข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย และอาจะเดาได้ว่าการสักเป็น จุดเริ่มต้นของการแบ่งส่วนราชการของไทย หรือการสักเป็นไปตามการแบ่งส่วนราชการ การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ( พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑ ) การสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ วัตถุประสงค์ของการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถาเพื่อความแข็ง แกร่งของจิตใจและต้องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีนิยมในชนบางกลุ่ม การสักลักษณะนี้จะ สักให้เฉพาะชายฉกรรจ์เท่านั้น การสักมีลักษณะที่สอดแทรกไว้ด้วยความเชื่อและ พิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ก่อนทำการสักจะต้องมีการทำพิธีไหว้ครู ในการสักนั้นก็จะ ประกอบด้วยการร่ายเวทมนต์โดยอาจารย์สักจะถูผิวหนังของผู้มาสักทั้งก่อน ขณะสักลาย หรือสักยันต์ และหลังจากสักเสร็จแล้ว อาจารย์สักแต่ละคนจะมีรูปแบบของลวดลาย เป็นของตนเอง และผู้ที่ต้องการจะสักสามารถเลือกลายที่อาจารย์มีอยู่ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และ เป็นอักขระขอมและเลขยันต์ อาจจะสักลายทั้ง สามประเภทผสมกัน ดังนั้นลายสักของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน การสักยันต์ ในประเทศไทยอาจจะมีมาแต่โบราณ แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยใดนั้น ไม่มีหลักฐานชัดเจน การสักยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันนั้นเชื่อว่ามีมานานแล้วดังปรากฎ ในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน และวรรณกรรมอื่นๆ แต่การสักมักมองว่า เป็นเรื่องของนักเลง จึงถูกมองไปในทางลบ ทำให้ศิลปะบนผิวหนังประเภทนี้ เกือบจะสูญหายไปจากสังคมไทย เหตุผลที่การสักยังคงมีอยู่คือ หลาย ๆ คนยังเชื่อว่า การสักยันต์จะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย และอยู่ยงคงกระพัน พ้นจากอันตรายต่างๆ รูปแบบของการสัก แต่ละชนิดจะมีความขลังที่แตกต่างกัน ลายสักหรือยันต์บางชนิดสามารถช่วยผู้ที่สัก ให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้ สัญลัษณ์บางอย่างของลายสักสามารถทำให้ ผิวหนังเหนียวได้ ฟันไม่เข้า ศัตรูยิงไม่ออก เชื่อว่าการสักจะช่วยให้รอดพ้นจาก สถานการณ์อันเลวร้ายได้ด้วย นอกจากนี้ การสักยันต์ทางไสยศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการระวังอันตราย และความปลอดภัย ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่างๆ ศิลปะพื้นบ้านประเภทนี้ อาจจะกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดศรัทธาความเชื่อมั่น เกิดความมั่นใจ มันอาจเป็น เครื่องแสดงความจริงต่างๆ วัฒนธรรมสมัยใหม่นั้นเมื่อมองแล้วอาจจะไม่ทำให้ปลอดภัย ส่วนวัฒนธรรมการสักยันต์จึงช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจ เขามีความมั่นใจมั่นคงมากยิ่งๆ ขึ้น การสักยันต์ที่มีลวดลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ที่นิยมการสัก คือ ลวดลายสักที่ให้ผลทางไสยศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เพื่อผลทางเมตตามหานิยม และเพื่อผลทางคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม เป็นการสักเพื่อผลทางเมตตามหานิยมมักจะสักเป็นรูปจิ้งจก หรือนกสาริกาเพื่อเป็นตัวแทนของความมีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป โดยเฉพาะ ให้ผลดีทางการเจรจา ค้าขายทำให้เจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น หรือเป็นลักษณะตัวอักขระยันต์ เช่น ยันต์ดอกบัว ยันต์ก้นถุง ยันต์โภคทรัพย์ ซึ่งมีผลทางด้านการเงิน เป็นต้น คงกระพันชาตรี เป็นการสักยันต์ เพื่อให้แคล้วคลาดจากของมีคม อุบัติเหตุ หรืออันตรายทั้งปวง ลักษณะของลายสักเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีจะนิยมสักลวดลาย ซึ่งเป็นตัวแทนความดุร้าย ความปราดเปรียว ความสง่างาม ความกล้าหาย ได้แก่ ลายเสือเผ่น หนุมานคลุกผุ่น หงส์ และลายสิงห์ เป็นต้น หรือเป็นลายที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกัน ภยันตราย เช่น เก้ายอด ยันต์เกราะเพชร หรือลายยันต์ชนิดต่างๆ เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นแก่นแท้ของการสักยันต์ เพื่อผลทางไสยศาสตร์ และถือ กันว่าเป็น “หัวใจของการสักก็คือ หัวใจของคาถาที่กำกับลวดลายสักแต่ละลายอยู่ เพราะสิ่งนี้ คือเคล็ดลับวิชาคาถาอาคมที่เป็นวิชาชั้นสูงของแต่ละอาจารย์ที่จะไม่เปิดเผยให้แก่ผู้ ใด เป็นอันขาด” นอกจากลูกศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับถ่ายทอดวิชาการสักยันต์ ของอาจารย์สืบต่อไป ลายสักดังกล่าวจะต้องถูกสักอยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร ไม่เช่นนั้นความขลังจะไม่เกิด โดยมากผู้มาสักประสงค์จะให้ลายสักอยู่ภายในร่มผ้ามากที่สุด ตำแหน่งที่นิยมสักเรียง ตามลำดับดังนี้คือ หลัง หน้าอก คอ ศีรษะ ไหล่ แขน ชายโครง หน้า มือ และหัวเข่าของ บุคคลในแวดวงการสักลาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการสักคือเพื่อผลทางไสยศาสตร์ จึงต้องสักโดยครูอาจารย์ที่มีวิชาอาคมศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเท่านั้น ฆราวาสหรือบุคคลธรรมดา ที่ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ครู และอาจารย์ที่ได้รับการยอม รับนับถือจากบุคคลทั่วไป และความศักดิ์สิทธิ์ของการสักก็มักจะได้รับการทดสอบจน เห็นผลเป็นที่ร่ำลือมาแล้ว จากคำบอกเล่าของพระอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่งให้ความรู้ว่า ปัจจุบันอาจารย์สักที่ลง คาถาอาคมและมีอานุภาพดังคำร่ำลือ มีไม่เกิน 10 สำนักในเมืองไทย ผลการศึกษาของ นักวิชาการระบุออกมาว่า อาจารย์สักส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ มากกว่า 20 ปี อาจารย์สักถ้าเป็นผู้หญิงจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เช่นเดียวกับ ผู้ที่มารับการสักยันต์โดยมากจะเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิงก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งมักจะมาสักเพียง เพื่อต้องการจะดึงดูดเพศตรงข้าม หรือต้องการจะมีเสน่ห์ในการพูดจาเพื่อค้าขายได้คล่อง ฉะนั้นลายสัก นะหน้าทอง และสาริกาลิ้นทอง จึงเป็นลายสักที่นิยมในเพศหญิง ตรงกันข้าม กับฝ่ายชายที่มีความกระหายอยากจะได้ของดีติดตัวคือเหตุผลที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ความศรัทธา เชื่อมั่นในครูอาจารย์และเพื่อนฝูงญาติพี่น้องชักชวนให้มาสัก เป็นเหตุผลที่รองลงมา แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชายหรือหญิงคนนั้นจะต้องมีใจรักและเชื่อมั่นในเรื่องนี้ อย่างเหนียวแน่น เท่าที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการสักครั้งแรกไปแล้วก็มักจะกลับมาสักอีกครั้ง เป็นอย่างน้อย บางคนอาจถึง 10 ครั้งขึ้นไป อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้จะมีผู้เชื่อมั่นและศรัทธาในการสักอยู่ แต่ก็นับว่าลดลงไปมาก เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และนับวันข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลายสักจะสืบค้นได้ยากยิ่งขึ้น เป็นเพราะขาดผู้รู้ผู้ชำนาญ อาจารย์บางท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยถ่ายทอดวิชาให้ แก่ศิษย์ ทำให้นับวันผู้ที่รู้วิชานี้ยิ่งลดน้อยลงทุกที อีกทั้งสังคมปัจจุบันไม่ค่อยยอมรับคนที่มี ลายสักโดยดุษณีเช่นแต่ก่อนอีกแล้วในทางกลับกันทัศนคติของคนไทยในวันนี้กลับมองว่า คนที่มีรอยสักเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อย เป็นผู้มีอาชีพใช้แรงงาน เป็นนักเลงหัวไม้ หรือเข้าใจ หนักลงไปอีกว่า คนที่สักลายคือ พวกขี้คุกขี้ตรางที่มีลายสักซึ่งสักกันเองภายในเรือนจำ ประกอบกับการสักเป็นอุปสรรคในการรับราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสักไม่ได้รับความสนใจเหมือนในอดีต คือชาวเมืองและรวมถึง ผู้คนทั่วไปมองว่า ผู้ที่มีลายสักเป็นคนชั้นต่ำ เป็นนักเลง ความคิดเช่นนี้น่าจะได้รับอิทธิพล มาจากชาวตะวันตกที่มองผู้ที่มีลายสักว่าส่วนใหญ่มักเป็นกลาสีขี้เมา หรือคนจรจัด คนเมือง จึงเกิดความรู้สึกว่าลายสักเป็นวัฒนธรรม ของคนบ้านนอก คนไม่มีการศึกษา ทัศนคติเช่นนี้ มิได้มีแต่คนกรุงเทพฯ เท่านั้นแต่แพร่ไปสู่เมืองอื่นๆ ด้วย โดยคิดว่าการสักลายเป็น เรื่องของคนจน กรรมกร และคนบ้านนอก ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องลายสัก จึงกระทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะคนที่มีลายสักมักจะปกปิดลายสักไว้อย่างมิดชิด ผู้ที่จะให้ข้อมูลและเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการสักจะเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อใน อำนาจของศิลปะโบราณนี้เท่านั้น ความเสื่อมอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ได้รับการสักปฏิบัติตนไม่เหมาะสมใช้ผลของ การสักยันต์ทางไสยศาสตร์หรือการอยู่ยงคงกระพันชาตรีไปในทางที่ผิด เช่น โอ้อวด ท้าทาย ประลองต่อสู้กับผู้อื่น ทำตนเป็นมิจฉาชีพ ก่ออาชญากรรม ซึ่งมีส่วนผลักดัน ให้ค่านิยมของคนที่มีต่อลายสักเป็นไปในทางลบยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่มีลายสักจำนวนไม่น้อยที่อยากจะลบรอยสักนั้นทิ้งเสีย อาจด้วยความรู้สึกว่า เมื่ออายุมากขึ้นลายสักบนผิวหนังกายทำให้แลดูสกปรกเลอะเทอะ หรือทำให้คนตั้งข้อรังเกียจ ไม่อยากเข้าใกล้ เป็นต้น ในบางรายก็ค้นพบด้วยตนเองว่าการสักไม่ได้ให้ผลทางไสยศาสตร์ แก่ตนแต่อย่างใดเพราะความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันทำให้ไม่สามารถยึดถือปฏิบัติสัจจะ ที่ให้ไว้อย่างเคร่ง ครัดได้ ทว่า การลบรอยสักนั้นเป็นไปได้ยากมากเพราะหมึกที่ใช้สัก ถูกฝังลึกเข้าไปถึงชั้นของหนังแท้ ถ้าลบออกจะทำให้เกิดแผลเน่าน่าเกลียด แต่ก็อาจทำได้โดย กรรมวิธีศัลยกรรมตกแต่ง คือ ลอกผิวหนังตรงที่มีรอยสักทิ้งไป แล้วเอาผิวหนังส่วนอื่น ของร่างกายปะไว้แทน แต่ก็จะเป็นรอยแผลเป็นอยู่ดี ฉนั้นจึงกล่าวได้ว่าการที่จะลบรอย สักโดยไม่ให้เหลือร่องรอยปรากฎอยู่เลยนั้น…ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งหันไปใช้วิธีสักด้วยน้ำมันแทนการสักด้วยน้ำหมึก เพื่อจะได้มองไม่เห็นลวดลาย และตัดปัญหาเรื่องการลบรอยสักออกภายหลังเมื่อไม่ต้องการ การสักในลักษณะนี้จึงทำให้ลวดลายที่สวยงามวิจิตรบรรจงและสื่อความหมายในรูปแบบต่างๆ ที่นิยมกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมสูญหายไปทีละน้อย ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความคิดความเชื่อหลายๆ อย่างเสื่อมถอยไป แต่ลายสัก ก็ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของบุคคลหลายกลุ่มแต่จะยึดยาวนานไปสักเท่าใดนั้น ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์