หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    งานกู้ชาติในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 2

    การรบพม่าที่บางกุ้ง

                เมื่อเจ้าตากตีกรุงศรีอยุธยาคืนกลับมาได้  กิตติศัพท์ก็เลื่องลือออกไป  มีผู้มาอ่อนน้อมด้วยเป็นอันมาก  พวกชาวต่างประเทศที่มาค้าขาย  เห็นว่าเจ้าตากได้เป็นใหญ่ในราชธานี ก็พากันนับถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย  เมื่อเจ้าตากมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองธนบุรีแล้ว  จึงทำพิธีราชาภิเษก เมื่อปีกุน พ.ศ. 2310  ประกาศพระเกียรติยศเป็น  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามหากษัตริย์แทนโบราณราชแต่ก่อน  แล้วปูนบำเหน็จ นายทัพ นายกอง ที่มีความชอบ  แต่งตั้งให้มียศศักดิ์ตามทำเนียมราชการ ครั้งกรุงศรีอยุธยา  ครั้งนั้น นายสุดจินดาได้เป็นที่พระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจ  แล้วได้ไปชวนหลวงยกบัตรเมืองราชบุรีผู้เป็นพี่  คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ในเวลาต่อมา  เข้ามารับราชการเป็นที่พระราชนรินทร์ เจ้ากรมตำรวจด้วย
                ราชอาณาเขตของพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อราชาภิเษก  อยู่ในเขตภาคกลาง  ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ด้านเหนือสุดถึงเขตเมืองนครสวรรค์  ตั้งแต่ปากน้ำโพลงมา  ด้านตะวันออกถึงเมืองตราดจดแดนเขมร  ด้านใต้ถึงเขตเมืองชุมพร  คิดเป็นพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของราชอาณาจักรครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  แต่บรรดาเมืองต่าง ๆ นอกจากหัวเมืองทางด้านตะวันออก ถูกพม่าย่ำยีจนเป็นเมืองร้างอยู่เกือบทั้งหมด  เกิดการขาดแคลนอาหาร เพราะราษฎรไม่ได้ทำนาถึง 2 ปี  พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องใช้วิธีซื้อข้าวสารจากพ่อค้าต่างเมือง  ซึ่งเรียกราคาสูงมากตกถังละ 4 ถึง 5 บาท  รวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม นำมาแจกจ่ายราษฎรที่ขาดแคลน  ทำให้ผู้คนกลับเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนา  เป็นเหตุให้พวกเจ้ากรุงธนบุรีมีกำลังคนมากขึ้น
                ด้านการปกครองหัวเมือง  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงตั้งข้าราชการออกไปปกครอง  ซึ่งน่าจะมีอยู่ 11 เมือง คือ ลพบุรี  อ่างทอง  กรุงเก่า  ฉะเชิงเทรา  ระยอง  จันทบุรี ตราด  นครชัยศรี  สมุทรสงคราม  และเพชรบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีต้องแบ่งทหารออกไป ตั้งประจำอยู่ตามหัวเมืองหลายแห่ง  เช่นให้ทหารจีน ไปตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง ที่ต่อแดนระหว่างเมืองสมุทรสงครามกับเมืองราชบุรี
                เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นมาตีกรุงศรีอยุธยา  เพื่อขับไล่พม่าออกไปนั้น  ทางพม่าพระเจ้าอังวะทราบข่าวจากเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต  เมืองเวียงจันทน์  แต่เนื่องจากขณะนั้น พระเจ้าอังวะกำลังกังวลอยู่กับการที่จะเกิดสงครามกับจีน  ประกอบกับเห็นว่าเมืองไทยถูกย่ำยีอย่างยับเยิน  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าจะร้ายแรงอะไร  ดังนั้น จึงเป็นแต่ให้มีท้องตราสั่งแมงกี้มารหญ่า  เจ้าเมืองทวาย  ให้คุมกำลังมาตรวจตราดูสถานการณ์และรักษาความสงบ  ราบคาบในเมืองไทย  พระยาทวายจึงเกณฑ์ กำลังพล 20,000 คน  ยกกำลังเข้ามาทางเมืองไทรโยค  เมื่อฤดูแล้ง ปลายปีกุน พ.ศ. 2310
                ในเวลานั้น เมืองกาญจนบุรี และเมืองราชบุรี  ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า  จึงยังคงเป็นเมืองร้างอยู่ทั้งสองเมือง  เรือรบของพม่ายังอยู่ที่เมืองไทรโยค  ค่ายคูของพม่าที่ตั้งอยู่ตามริมน้ำเมืองราชบุรีก็ยังคงอยู่  เมื่อพระยาทวายยกกองทัพเข้ามา จึงเดินทัพมาได้โดยสดวก ปราศจากการขัดขวางใด ๆ  จนล่วงเข้ามาถึงบางกุ้ง  เห็นค่ายทหารของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่  จึงให้กองทัพเข้าล้อมไว้  เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบข่าวทัพพม่ายกเข้ามา  ก็จัดกำลังให้พระมหามนตรี เป็นแม่ทัพหน้า  พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นทัพหลวง ยกกำลังทางเรือออกไปเมืองสมุทรสงคราม  เมื่อถึงบางกุ้ง ก็ให้ยกกำลังเข้าโจมตีข้าศึกในวันนั้น  ทหารไทยใช้อาวุธสั้นเข้าไล่ตะลุมบอนข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก  ที่เหลือตายก็แตกหนี  พระยาทวายเป็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้  ก็ถอยกำลังกลับไปเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว  ซึ่งเป็นด่านทางเมืองราชบุรี  กองทัพไทยยึดได้เรือรบของพม่าทั้งหมด  และได้เครื่องศัตราวุธ รวมทั้งเสบียงอาหารอีกด้วยเป็นอันมาก


    ปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก

                ครั้นถึงปีชวด พ.ศ. 2311  เมื่อย่างเข้าฤดูฝน  สงครามทางด้านพม่าสงบลง  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ให้เตรียมเรือรบ และกำลังพล  เพื่อจะขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลกให้ได้ในปีนั้น  ครั้นถึง เดือน 11 อันเป็นฤดูน้ำนอง  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกำลังทางเรือขึ้นไปเมืองเหนือ  เมื่อเจ้าพิษณุโลกทราบข่าว จึงให้หลวงโกษา ชื่อยัง  คุมกำลังมาตั้งรับที่ตำบลบางเกยชัยซึ่งอยู่ในแขวงเมืองนครสวรรค์ อยู่เหนือปากน้ำโพขึ้นไปเล็กน้อย  เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึง ก็ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ  ฝ่ายข้าศึกยิงปืนมาถูกพระชงฆ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี  กองทัพกรุงธนบุรีเห็นว่าจะรบพุ่งต่อไปไม่สำเร็จ ก็ถอยทัพกลับคืนมาพระนคร
                ฝ่าย เจ้าพระยาพิษณุโลก  ครั้นทราบว่า กองทัพของตนทำให้ฝ่ายกรุงธนบุรีล่าถอยกลับไปก็ได้ใจเชื่อว่าฝ่ายตนชนะแล้ว  คงจะตั้งตัวเป็นใหญ่กว่าชุมนุมทั้งปวงได้  จึงตั้งพิธีราชาภิเษกตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  แต่พอราชาภิเษกแล้วได้ 7 วัน  ก็เกิดโรคฝีขึ้นในลำคอถึงพิราลัย พระอินทร์อากรผู้เป็นน้องชายจึงขึ้นครองเมืองแทน  แต่ไม่กล้าตั้งตัวเป็นเจ้า  ตั้งแต่นั้นมา ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลกก็อ่อนแอลง  เพราะผู้คนพลเมืองไม่นิยมนับถือพระอินทร์อากร  เหมือนเจ้าพิษณุโลก  เมื่อเหตุการณ์นี้ทราบไปถึงเจ้าพระฝาง  เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายอำนาจของตน  จึงยกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก  ตั้งล้อมเมืองอยู่ 2 เดือน  ชาวเมืองก็ลอบเปิดประตูเมือง ให้กองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง  เจ้าพระฝางก็จับพระอินทร์อากรประหารชีวิต  แล้วกวาดต้อนผู้คนและเก็บทรัพย์สมบัติในเมืองพิษณุโลก  พากลับไปเมืองสวางคบุรี  บรรดาชาวเมืองพิษณุโลก และเมืองพิจิตร ที่หลบหนีการกวาดต้อนได้ ก็พากันอพยพครอบครัวมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นอันมาก


    ปราบชุมนุมเจ้าพิมาย

                พระเจ้ากรุงธนบุรี เห็นว่าการรวมเมืองไทยนั้น  ควรจะปราบชุมนุมเล็ก ๆ ก่อน  ชุมนุมที่จะไปปราบครั้งนี้คือชุมนุมเจ้าพิมาย  พระองค์จึงให้พระมหามนตรี กับพระราชวรินทรยกกำลังไปตีด่านกระโทก  ซึ่งทางฝ่ายเจ้าพิมายให้พระยาวรวงศาธิราชเป็นผู้รักษาด่านอยู่  ส่วนพระองค์ยกไปตีด่านจอหอ  ซึ่งมีพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้รักษาด่าน  ทั้งสองทัพตีได้ด้านทั้งสองในเวลาใกล้เคียงกัน  กรมหมื่นเทพพิพิธเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงเตรียมหนีไปกรุงศรีสัตนาคนหุต  แต่ถูกขุนชนะกรมการเมืองพิมายจับตัวไว้ได้เสียก่อน  แล้วนำตัวมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี  ในตอนแรกพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าเป็นโอรสกษัตริย์คิดจะเลี้ยงไว้  แต่กรมหมื่นเทพพิพิธมีขัตติยมานะ ไม่ยอมอ่อนน้อมด้วย  พระองค์จึงให้ประหารเสีย  แล้วตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยาคำแหงสงคราม  ครองเมืองนครราชสีมาต่อ
                เมื่อเลิกทัพกลับกรุงธนบุรีแล้ว   พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงพระราชทานความดีความชอบแก่แม่ทัพนายกองทั้งหลาย ที่สำคัญตั้งพระราชวรินทร์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ และตั้งพระมหามนตรีเป็นพระยาอนุชิตราชา  ในตำแหน่งจางวางกรมตำรวจ ทั้ง 2 คน


     การรักษาขอบขัณฑสีมาด้านเขมร

                เมื่อต้น ปีฉลู พ.ศ. 2312  หลังจากได้พื้นที่ทางด้านตะวันออกได้บริบูรณ์  เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา  โดยปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมายได้แล้ว  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เตรียมกำลังเพื่อยกไปตีชุมนุมเจ้านคร  ขณะที่เตรียมการอยู่นั้น  ทางเมืองจันทบุรีได้มีใบบอกเข้ามาว่า  ญวนได้ยกกำลังทางเรือมาที่เมืองบันทายมาศ  เล่าลือกันว่าจะเข้ามาตีกรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เตรียมรักษาปากน้ำทั้ง 4 ทาง  และให้พระยาพิชัยนายทหารจีนซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม เลื่อนขึ้นเป็นพระยาโกษาธิบดี  มีหน้าที่รักษาปากน้ำ  แต่ต่อมาได้ทราบความว่า  ที่ญวนยกมาครั้งนี้มิใช่มาตีเมืองไทย  แต่มาด้วยเหตุภายในของกัมพูชา  เนื่องจากนักองนนท์ (หรือนักองโนน)  ซึ่งเป็นพระรามราชาชิงราชสมบัติกับ นักองตนซึ่งเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชาเจ้ากรุงกัมพูชา  นักองตนไปขอกำลังญวนมาช่วย  นักองนนท์สู้ไม่ได้ จึงหนีมาพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี ขอให้ช่วยในฐานะที่เป็นข้าขอบขันฑสีมาเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา
                พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีศุภอักษรไปยังสมเด็จพระนารายณ์ราชาว่า  กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปกติเช่นเดิมแล้ว ให้ทางกรุงกัมพูชา  ส่งต้นไม้ทองเงิน กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย ตามราชประเพณีดังแต่ก่อน  แต่สมเด็จพระนารายณ์ราชาตอบมาว่า  พระเจ้ากรุงธนบุรีมิใช่เชื้อพระวงศ์ของพระมหากษัตริย์  ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา  จึงไม่ยอมถวายต้นไม้ทองเงิน  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขัดเคือง  จึงมีรับสั่งให้จัดกำลัง ยกไปเมืองเขมร โดยแบ่งออกเป็นสองกองทัพ  ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ กับ พระยาอนุชิตราชา คุมกำลัง 2,000 คน  ยกไปจากเมืองนครราชสีมาลงทางช่องเสม็ดไปตีเมืองเสียมราฐทางหนึ่ง  ให้พระยาโกษาธิบดี คุมพล 2,000 ยกไปทางเมืองปราจีณบุรี  เพื่อไปตีเมืองพระตะบองอีกทางหนึ่ง  ทั้งสองเมืองนี้อยู่คนละฝั่งของทะเลสาบเขมร  และสามารถเดินทางต่อไปถึงกรุงกัมพูชาได้ทั้งสอง  การทำศึกครั้งนี้ จะเห็นว่ากำลังที่ยกไปไม่มาก  เมื่อฝ่ายไทยยึดเมืองทั้งสองได้แล้ว ก็จะดูทีท่าของสมเด็จพระนารายณ์ราชา ว่าจะยอมอ่อนน้อมหรือไม่ ถ้าไม่ยอมอ่อนน้อม ก็คงจะต้องรอกองทัพหลวง ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้เสด็จยกตามลงไป ตีกรุงกัมพูชาในฤดูแล้ง  เนื่องจากเวลานั้น ไทยทำศึกอยู่สองด้าน  คือได้ส่งกำลังไปตีชุมนุมเจ้านครด้วย  ดังนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องรอผลการปราบปรามชุมนุมเจ้านครอยู่ที่กรุงธนบุรี  ก่อนที่จะให้มีการปฏิบัติการขั้นต่อไป  เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า  กองทัพเจ้าพระยาจักรีถอยกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา  ทรงพระดำริเห็นว่าลำพังกองทัพ เจ้าพระยาจักรีคงจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้  และโอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในฤดูฝน  มีเวลาพอที่จะทำสงครามเสร็จในฤดูแล้ง  จากนั้นจะได้เสด็จไปกรุงกัมพูชาต่อไป ดังนั้น  เมื่อทราบว่าทางกองทัพที่ยกไปตีกรุงกัมพูชา ยึดได้เมืองเสียมราฐ  และพระตะบองได้แล้ว  พระองค์จึงเสด็จทางเรือ เมื่อเดือน 8 ปีฉลู  พร้อมกองทัพหลวง  จากกรุงธนบุรีลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช  และได้ทรงยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง เดือน 4 ปีฉลู

                ฝ่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์  พระยาอนุชิตราชา  ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองเสียมราฐได้เมื่อต้นฤดูฝน  สมเด็จพระนารายณ์ราชา  เจ้ากรุงกัมพูชาให้ออกญากลาโหม  คุมกองทัพยกมาเพื่อตีเมืองเสียมราฐกลับคืน  โดยยกกำลังมาทางน้ำมาตามทะเลสาบเขมร  พระยาทั้งสองของไทยก็ตีกองทัพเขมรแตกกลับไป  ออกญากลาโหมบาดเจ็บสาหัสในที่รบ  ครั้นแม่ทัพฝ่ายไทย คือพระยาทั้งสองได้รับท้องตราว่า  พระเจ้ากรุงธนบุรีจะเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในฤดูฝน  และเมื่อถึงฤดูแล้ง จะเสด็จยกทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา  จึงได้ตั้งรอกองทัพหลวงอยู่ที่เมืองเสียมราฐ  ครั้นล่วงถึงฤดูแล้ง ยังไม่ได้ยินข่าวว่า กองทัพหลวงจะยกไปตามกำหนด ก็แคลงใจ  ด้วยไม่ทราบว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีติดมรสุมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช  ทราบแต่เพียงว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งแต่เดือน 10  ครั้นเห็นเงียบหายไปนานหลายเดือน  ก็เกิดข่าวลือว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราช  เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึงพระยาทั้งสองก็ตกใจ เกรงจะเกิดความไม่สงบขึ้นที่กรุงธนบุรี  จึงได้ปรึกษากัน แล้วตกลงให้ถอนกำลังกลับมาทางเมืองนครราชสีมา  ส่วนพระยาอนุชิตราชาได้ยกล่วงมาถึงเมืองลพบุรี  เมื่อทราบว่าข่าวนั้นไม่เป็นความจริง จึงหยุดกำลังรออยู่
                ฝ่ายพระยาโกษาธิบดี  ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง  เมื่อทราบว่ากองทัพไทยทางเมืองเสียมราฐถอนกำลังกลับไป  ก็เกรงว่าถ้าตนตั้งอยู่ที่พระตะบองต่อไป  เขมรจะรวบรวมกำลังมาเข้าโจมตีได้  จึงได้ถอนกำลังกลับมาทางเมืองปราจีนบุรี  แล้วมีใบบอกกล่าวโทษพระยาทั้งสองที่ได้ถอนทัพกลับมา
                เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมาถึงกรุงธนบุรี  ได้ทราบความตามใบบอกของพระยาโกษาธิบดี  จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวง หาตัวพระยาอนุชิตราชามาถามความทั้งหมด  พระยาอนุชิตราชาก็กราบทูลไปตามความเป็นจริง  พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบความแล้ว ก็ตรัสสรรเสริญว่าเป็นการกระทำที่สมควรแล้ว  แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งให้กองทัพไทยที่ยกไปตีเขมรทั้งหมด กลับคืนพระนคร  ให้ระงับการตีกรุงกัมพูชาไว้ก่อน


    ปราบชุมนุมเจ้านคร

                การยกกำลังไปปราบปรามชุมนุมเจ้านครนั้น  เป็นเวลาเดียวกันกับที่เกิดเหตุการณ์ทางเขมร  ดังที่กล่าวมาแล้ว  พระเจ้ากรุงธนบุรีจำเป็นต้องแบ่งกำลังออกไปปฏิบัติการสองทาง  แต่เนื่องจากพระองค์ได้เตรียมการไปปราบปรามชุมนุมเจ้านครไว้แล้ว  เหตุการณ์ทางเขมรเป็นเหตุการณ์ที่แทรกซ้อนขึ้นมา  แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในระดับหนึ่ง  เพื่อรักษาเกียรติภูมิของไทย  ที่กรุงกัมพูชาเคยเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยมาก่อน แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  ดังนั้นในด้านเขมรจึงส่งกำลังไปเพียงเล็กน้อย  เพื่อยึดฐานปฏิบัติการขั้นต้นไว้ก่อน  คอยเวลาที่กำลังส่วนใหญ่ ที่เสร็จภารกิจการปราบปรามชุมนุมเจ้านครแล้ว มาดำเนินการขยายผลต่อไป
                การดำเนินการชุมนุมเจ้านคร  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ พระยายมราช  พระยาศรีพิพัฒน์  พระยาเพชรบุรี  เป็นนายกอง  คุมกำลังทางบกมีกำลังพล 5,000 คน  ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณเดือน 4 ปีฉลู พ.ศ. 2312  เมื่อกองทัพยกไปถึงเมืองชุมพร  เมืองไชยา  ตามลำดับกรมการเมืองทั้งสอง ก็เข้ามาอ่อนน้อมแต่โดยดี  แต่เนื่องจากแม่ทัพนายกองที่ยกไปครั้งนั้น ไม่สามัคคีกัน  เมื่อกองทัพยกลงไปถึงแดนเมืองนครศรีธรรมราช  ข้ามแม่น้ำหลวง (แม่น้ำตาปี) ไปถึงท่าหมาก  แขวงอำเภอลำพูน  พบข้าศึกตั้งค่ายสกัดอยู่  กองทัพกรุงธนบุรีเข้าตีค่ายข้าศึกไม่พร้อมกัน จึงเสียทีข้าศึก  พระยาศรีพิฒน์ และพระยาเพชรบุรีตายในที่รบ  พระยาจักรีก็ถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองไชยา  ส่วนพระยายมราชก็มีใบบอก กล่าวโทษพระยาจักรีว่า มิได้เป็นใจด้วยราชการ

                เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ  ก็ทรงพระดำริเห็นว่า  ลำพังกองทัพข้าราชเห็นจะตีเอาเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้  เมื่อทรงประมาณสถานการณ์แล้วเห็นว่า  ทางด้านเขมรกองทัพไทยตีได้เมืองเสียมราฐ และพระตะบองแล้ว  โอกาสที่จะตีเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในฤดูฝน และจะทำศึกด้านนี้เสร็จทันในฤดูแล้ง  ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการไปตีกรุงกัมพูชา  ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จโดยกระบวนเรือ  ออกจากกรุงธนบุรี เมื่อเดือน 8 ปีฉลู  พร้อมกองทัพหลวงมีกำลังพล 10,000 คน  ลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช  กระบวนทัพไปถูกพายุที่บางทะลุ  แขวงเมืองเพชรบุรี (บริเวณหาดเจ้าสำราญ  ปัจจุบัน)  ต้องหยุดซ่อมแซมเรือระยะหนึ่ง  จากนั้นจึงยกกำลังไปยังเมืองไชยา  แล้วจัดกำลังทางบก ให้พระยายมราชเป็นกองหน้า  ให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา  คุมกำลังทัพหลวงยกลงไปทางหนึ่ง  พระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกำลังลงไปอีกทางหนึ่ง  กำหนดให้เข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชพร้อมกันทั้งสองทาง
                ครั้งนั้น เจ้านครสำคัญว่ากองทัพกรุงธนบุรี ยกลงไปแต่ทางบกทางเดียวเช่นคราวก่อน  จึงไม่ได้เตรียมการต่อสู้ทางเรือ  กำลังทางเรือของพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึงปากพญา  อันเป็นปากน้ำเมืองนครศรีธรรมราช  เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 10  พอเจ้านครทราบก็ตกใจ  ให้อุปราชจันทร์นำกำลังไปตั้งค่ายต่อสู้ที่ท่าโพธิ  อันเป็นท่าขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช  อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 เส้น  พระเจ้ากรุงธนบุรียกกำลังเข้าตีค่ายท่าโพธิแตก จับอุปราชจันทร์ได้  เจ้าเมืองนครเห็นสถานการณ์เช่นนั้น ก็ไม่คิดต่อสู้ต่อไป  จึงทิ้งเมือง แล้วพาครอบครัวหนีไปเมืองสงขลา  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้เมืองนครศรีธรรมราช  ส่วนเจ้าพระยาจักรียกกำลังไปทางบก ไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช  หลังจากพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองได้ 8 วัน  จึงถูกภาคทัณฑ์โทษที่ไปไม่พ้นตามกำหนด  และให้เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพิชัยราชา  คุมกำลังทางบก  ทางเรือ ไปตามจับเจ้านครเป็นการแก้ตัว  จากนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยกกองทัพหลวงออกจากเมืองนครศรีธรรมราช  เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11  ตามลงไปยังเมืองสงขลา

                กองทัพเจ้าพระยาจักรีกับพระยาอภัยราชายกไปถึงเมืองสงขลา  ได้ทราบความว่าพระยาพัทลุงกับหลวงสงขลา  พาเจ้านครหนีลงไปทางใต้  ก็ยกกำลังไปถึงเมืองเทพา  อันเป็นเมืองขึ้นของสงขลาอยู่ต่อแดนเมืองมลายู  สืบทราบว่าเจ้านครหนีไปอาศัยพระยาปัตตานีศรีสุลต่านอยู่ที่เมืองปัตตานี  เจ้าพระยาจักรีจึงมีศุกอักษรไปยังพระยาปัตตานี ขอให้ส่งตัวเจ้านครมาให้  พระยาปัตตานีเกรงกลัว  จึงจับเจ้านครพร้อมสมัคพรรคพวกส่งมาให้ เจ้าพระยาจักรีนำกำลังมาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองสงขลา  เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีจัดการเมืองสงขลาและพัทลุงเรียบร้อยแล้ว  ก็เสด็จกลับมาเมืองนครศรีธรรมราช  มาถึงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12  แต่เนื่อจากในห้วงเวลานั้นเป็นมรสุมแรงทะเลมีคลื่นใหญ่  และฝนตกชุกยังเดินทางไม่ได้  จึงยับยั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึง เดือน 4 ปีฉลู  สิ้นมรสุมแล้วจึงตั้งเจ้านราสุริยวงศ์ผู้เป็นหลานเธอ  ให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช  แล้วให้เลิกทัพกลับพระนคร


    ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง

                ล่วงมาถึงปีขาล พ.ศ. 2313  มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่า  เมื่อเดือน 6 ปีขาล  เจ้าพระฝางให้ส่งกำลังลงมาลาดตระเวณถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท  เป็นทำนองว่าจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพ  จะยกไปตีเมืองเหนือในปีนั้น  ขณะนั้นพวกฮอลันดาจากเมืองยะกะตรา (จาร์กาตา)  ส่งปืนใหญ่มาถวาย และแขกเมืองตรังกานู ก็นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวาย จำนวน 2,000 กระบอก  พอเหมาะแก่พระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่จะใช้ทำศึกต่อไปในครั้งนี้
                พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนทัพเรือ  ยกกำลังออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ แรม 14 ค่ำ เดือน 8  ไปประชุมพล ณ ที่แห่งใดไม่ปรากฎหลักฐาน  จัดกำลังเป็น 3 ทัพ  ทัพที่ 1  พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปโดยขบวนเรือมีกำลังพล 12,000 คน  ทัพที่ 2  พระยาอนุชิตราชา  ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช ถือพล 5,000 คน  ยกไปทางบกข้างฟากตะวันออกของแม่น้ำแควใหญ่  กองทัพที่ 3  พระยาพิชัยราชา ถือพล 5,000 คน  ยกไปทางข้างฟากตะวันตก
                ฝ่ายเจ้าพระยาฝาง  เมื่อทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกกำลังขึ้นไปดังกล่าว  จึงให้หลวงโกษา  ยังคุมกำลังมาตั้งรับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
                กองทัพหลวงของพระเจ้ากรุงธนบุรี  ยกขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9  พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้เข้าปล้นเมืองในค่ำวันนั้น ก็ได้เมืองพิษณุโลก  หลวงโกษา ยัง หนีไปเมืองเมืองสวางคบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เมืองพิษณุโลกแล้ว  กองทัพที่ยกไปทางบกยังขึ้นไปไม่ถึงทั้งสองทัพ  ด้วยเป็นฤดูฝนหนทางลำบาก  พระองค์ประทับที่เมืองพิษณุโลกอยู่ 9 วัน  กองทัพพระยายมราชจึงเดินทางไปถึง  และต่อมาอีก 2 วัน  กองทัพพระยาพิชัยจึงยกมาถึง  เมื่อกำลังพร้อมแล้ว  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงให้กำลังทางบก รีบยกตามข้าศึกที่แตกหนีไปยังสวางคบุรี  พร้อมกันทั้งสองทาง  รับกำลังทางเรือให้คอยเวลาน้ำเหนือหลากลงมาก่อน  ด้วยทรงพระราชดำริว่า  ในเวลานั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อย  หนทางต่อไปลำน้ำแคบ และตลิ่งสูง  ถ้าข้าศึกยกกำลังมาดักทางเรือจะเสียเปรียบข้าศึก  ทรงคาดการณ์ว่าน้ำจะหลากลงมาในไม่ช้า  และก็เป็นจริงตามนั้น  พระเจ้ากรุงธนบุรี  ก็เสด็จยกกำลังทางเรือขึ้นไปจากเมืองพิษณุโลก

                กองทัพพระยายมราชกับพระยาพิชัยราชา  เมื่อยกไปถึงเมืองสวางคบุรีแล้วก็ล้อมเมืองไว้  เจ้าพระฝางรักษาเมืองไว้ได้ 3 วัน  ก็นำกำลังยกออกจากเมือง ตีฝ่าวงล้อมหนีขึ้นไปทางเหนือ  ชุมนุมเจ้าพระฝางก็ตกอยู่ในอำนาจกรุงธนบุรี
                เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว  ก็เท่ากับได้เมืองเหนือกลับมาทั้งหมด พระองค์ได้ประทับจัดการปกครองเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ  เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม  จัดการสำรวจไพร่พลในเมืองเหนือทั้งปวง  พบว่า เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง15,000 คน  เมืองสวรรคโลก มี 7,000 คน  เมืองพิชัย รวมทั้งเมือง สวรรคบุรี มี 9,000 คน  เมืองสุโขทัย มี 5,000 คน  เมืองกำแพงเพชร  และเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ 3,000 คนเศษ  จากนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นคือ
                พระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช  อยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก
                พระยาพิชัยราชา  ให้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา  สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก
                พระยาสีหราชเดโชชัย  ให้เป็นพระยาพิชัย
                พระยาท้ายน้ำ  ให้เป็นพระยาสุโขทัย
                พระยาสุรบดินทร์  เมืองชัยนาท  ให้เป็นพระยากำแพงเพชร
                พระยาอนุรักษ์ภูธร  ให้เป็นพระยานครสวรรค์
                เจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นอ่อนแอในสงคราม  มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่งสมุหนายก
                พระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้เป็นพระยายมราช  และให้บัญชาการกระทรวงมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย เมื่อจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้ว จึงเสด็จกลับกรุงธนบุรี


    • Update : 16/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch