หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ความรู้เรื่องเมืองสยาม จากจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ 11

    ประวัติของเทวทัต   แปลจากภาษาบาลี
                เป็นเรื่องของพระเทวทัต  ที่ลาลูแบร์ ได้จากการที่มีผู้มามอบให้ขณะที่เขาจะเดินทางกลับจากกรุงสยาม โดยที่เขาไม่รู้ที่จะสอบถามจากผู้ใดได้  จึงนำมาเขียนไว้ตามฉบับที่ได้รับมานั้น
    คำอธิบาย พระปาติโมกข์ หรือพระวินัยบัญญัติ
                บุรพกิจสี่อย่าง ที่พระภิกษุจะต้องปฎิบัติก่อนที่จะเข้าถึงอรรถาธิบายของพระปาติโมกข์ คือ
                    ๑. ต้องกวาดพื้นพระอุโบสถที่ใช้เป็นที่ชุมนุมสงฆ์
                    ๒. ต้องจุดประทีบโคมไฟ หรือเทียนสีผึ้ง
                    ๓. ต้องเตรียมน้ำไว้ในโอ่งดิน
                    ๔. ต้องปูอาสนะที่ใช้นั่งคือ เสื่อ หรือพรม
                นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เป็นพุทธบัญญัติ คือ
                    ๑. หากว่าพระภิกษุรูปใหม่เข้ามาในชุมนุมสงฆ์ เมื่อได้แสดงพระปาติโมกข์อยู่แล้ว ถ้ามีจำนวนน้อยกว่าภิกษุสงฆ์ที่ชุมนุมอยู่แล้ว  พวกที่มาถึงใหม่ก็จำต้องกล่าวว่าตนมีความเชื่อ และเต็มใจรับอรรถธิบายที่ได้แสดงไปแล้วนั้น ถ้าเป็นกรณีตรงกันข้าม ถ้าผู้ที่มาใหม่มีจำนวนมากกว่า ก็จะต้องเริ่มอ่านตอนที่ได้อ่านไปแล้วใหม่ทั้งหมด
                    ๒. จำเป็นต้องทราบ และบอกได้ถูกต้องว่า วันที่ชุมนุมสงฆ์นั้น ศุภมาสเป็นฤดูใด
                    ๓. นับจำนวนพระภิกษุสงฆ์ที่มาชุมนุมฟังพระปาติโมกข์
                    ๔. เริ่มแถลงพระวินัยบัญญัติ
    พระวินัยบัญญัติสิกขาบท ที่สำคัญ ๆ ของพระสงฆ์สยาม
                    อย่าฆ่ามนุษย์คนใด แม้แต่จะทุบตีใครก็ไม่ได้
                    อย่าลักทรัพย์
                    อย่าประพฤติล่วงเมถุนธรรม
                    อย่ายกย่องตนเองว่า ตนได้บรรลุพระอริยมรรคแล้ว ผู้ที่มิได้เป็นบรรพชิตจะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ด้วยว่าเขาไม่อาจบรรลุกุศลผลบุญราศีบางชั้นได้
                    อย่าขุดดิน เพื่อแสดงความเคารพต่อปถวีธาตุนั้น
                    อย่าทำให้พฤกษชาติใดตาย แม้แต่จะตัดกิ่งไม้ก็ห้ามด้วย
                    อย่าฆ่าสัตว์เดรัจฉานตัวใดเลย
                    อย่าดื่มน้ำเมาอย่างใดอันทำให้เมา
                    อย่าฉันภัตตาหารหลังเวลาเที่ยงวันไปแล้ว ภิกษุอาจฉันผลไม้ได้ในตอนค่ำ และเคี้ยวหมากพลูได้
                    อย่าดูการขับร้องฟ้อนรำ หรือการประโคมสังคีตดีดสีทั้งปวง
                    อย่าใช้เครื่องหอมต่าง ๆ ลูบไล้กาย
                    อย่านั่ง หรือนอนในที่สูงกว่าภิกษุผู้ใหญ่
                    อย่าเก็บรักษาทองคำ หรือเงินใด แม้จะสัมผัสถูกต้องก็ตาม แต่ภิกษุสยามไม่ค่อยถือสิกขาบทนี้เคร่งนัก
                    อย่าสนทนากับผู้ใดด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพระศาสนา
                    อย่าประกอบการงานสิ่งใดอันมิใช่งานของพระศาสดา

    ฯลฯ
    บันทึกเกี่ยวกับค่าฤาชาธรรมเนียมในศาล
                เมื่อผู้พิพากษารับสำนวนฟ้องครั้งแรก ๑ ลีเวรอะ (มาตราเงินของฝรั่งเศสในสมัยนั้นต่อมาเป็นฟรังก์)
                ผู้พิพากษาหรือเจ้าเมืองให้นับบรรทัดกับจำนวนแห่งที่ขีดฆ่า และประทับตรารับฟ้อง ๓ ลีเวรอะ
                เจ้าเมืองส่งสำนวนไปให้ที่ปรึกษานายหนึ่งพิจารณาปกติไปให้นายของคู่ความ และเพื่อนบ้านนายประกันของยคู่ความ ๑ ลีเวรอะ
                สำหรับคนเดินหมายเรียกตัวโจทก์ จำเลย ให้มายังห้องพิจารณาคดีของศาล  ๓ ลีเวรอะ
                เมื่อต้องพักแรมหนึ่งคืนระหว่างทาง  ๔ ลีเวรอะ
                สำหรับอนุญาตให้มีประกันทั้งโจทก์ และจำเลยจ่ายให้ผู้พิพากษา  ๑๖ ลีเวรอะ
                จ่ายให้จ่าศาลผู้เขียนใบประกัน ในเมื่อศาลให้ประกันแล้ว  ๓ ลีเวรอะ
                สำหรับจ่าศาลซึ่งไปสืบพยาน  ๓  ลีเวรอะ
                ถ้าต้องใช้เวลาเดินทางหนึ่งวันกับหนึ่งคืน  ๔  ลีเวรอะ
                ถ้าโจทก์ จำเลย จ้างพยานฝ่ายละคนเรียกค่าที่อ้างพยานเป็นรายตัว คนละ ๑ ลีเวรอะ
                สำหรับการคัดสำเนาคำให้การของโจทก์ จำเลยกับพยานเสนอต่อผู้พิพากษา   ๔ ลีเวรอะ
                สำหรับที่ปรึกษากับจ่าศาลอีกคนละ  ๑ ลีเวรอะ
                สำหรับเจ้าเมือง หรือผู้พิพากษาซึ่งจะมานั่งในห้องพิจารณาคดี  ๕ ลีเวรอะ
                ถ้าผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือปลัดมียศเป็นออกพระ  ๕ ลีเวรอะ
                ที่ปรึกษา  ๕ ลีเวรอะ
                ออกหลวง  ๓ ลีเวรอะ
                ค่าอาหารว่างหรืออาหารมือกลางวันของคณะที่ปรึกษา  ๓ ลีเวรอะ
                ถ้ามีคำสั่งศาลให้ดูบทพระอัยการเรียกว่า พระราชกฤษฎีกาอาญาการ
                จ่ายให้แก่ที่ปรึกษาที่เรียกว่า แพ่ง  ๓ ลีเวรอะ บวกผ้าขาวอีกยาว ๔ วา บวกข้าวสารหนักประมาณ ๕ ปอนด์ เทียนขี้ผึ้งสีเหลือง ๑ เล่ม หมากพลู ๕ คำ ไก่ ๑ ตัว เหล้า ๒ ไห ดอกไม้กับเสื้อเพื่อวางไว้ภายในตู้หนังสือนั้นทั้งโจทก์ และจำเลยออกเท่า ๆ กัน
    มาตราวัด มาตราชั่ง กับมาตราเงินของสยาม
                    มาตราวัดระยะแปดเมล็ดข้าวเปลือก  ยาวเท่ากับหนึ่งนิ้ว
                        สิบสองนิ้วเป็นหนึ่งคืบ มีระยะต่างระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลาง
                        สองคืบเป็นหนึ่งศอก คือระยะจากข้อศอกถึงปลายนิ้ววมือ
                        สองศอกเป็นหนึ่งแขน ระยะจากปลายนิ้วมือถึงกลางทรวงอก
                        สองแขนเป็นหนึ่งวา
                        ยี่สิบวาเป็นหนึ่งเส้น แปดพันวาเท่ากับหนึ่งโยชน์
                    มาตราชั่งกับมาตราเงิน  ชื่อและค่าของน้ำหนักและมาตราเงิน
                        หนึ่งหาบเท่ากับห้าสิบชั่ง หนึ่งชั่งเท่ากับยี่สิบตำลึง หนึ่งตำลึงเท่ากับสี่บาท
                        บาท เป็นเหรียญกษาปณ์เท่ากับสี่สลึง
                        สลึงเป็นเหรียญเงินกษาปณ์เท่ากับสองเฟื้อง
                        เฟื้องเป็นเหรียญเงินกษาปณ์เท่ากับสี่ไพ
                        ไพ ไม่เป็นเหรียญญกษาปณ์เท่ากับสองกล่ำ แต่สองไพเป็นเหรียญเงินเท่ากับครึ่งเฟื้อง
                        กล่ำ ไม่เป็นเหรียญกษาปณ์ มีน้ำหนักเท่ากับสิบสองเมล็ดข้าว
    รายการเครื่องเรือน อาวุธ และเครื่องนุ่งห่มกับตัวไม้ประกอบเรือน
                    เครื่องมือเครื่องใช้สามัญ พร้า มีดขนาดใหญ่ต่างขวานได้  สิ่วของช่างไม้ เลื่อย กบ บิดหล่า จอบ เรือน
                    ส่วนต่าง ๆ ของเรือน  เสา ลำไม้ไผ่ที่รับตัวเรือน มีอยู่สี่หรือหกต้น ปักเป็นสองแถวในระยะห่างเท่า ๆ กัน สูงจากพื้นดิน ๑๒ - ๑๓ ฟุต
                        รอด  ลำไม้ไผ่ที่สองท่อนวางอยู่บนหัวเสา ดังเช่นคาน ตามความยาวของหน้าเรือนกับหลังเรือน
                        ระแนง  ลำไม่ไผ่อื่น ๆ ที่ทอดอยู่บนหัวเสา จำนวน ๒ - ๓ ลำ ตามแนวยาวของตัวเรือนด้านข้าง และบนหัวเสาคู่กลาง ถ้าเรือนหลังนั้นพักอยู่บนเสาหกต้น
                        พรึง  ไม้ขัดแตะ ใช้เป็นรองพื้นหรือพื้นชั้นแรก
                        ฟาก  ไม้ไผ่ที่สับให้แบนและผูกเข้าด้วยกัน ใช้วางบนพื้นต่างกระเบื้องพื้นห้อง และใช้ขนาบเท่ากับฝาห้องที่ขัดแตะด้วยเหมือนกันแทนฝาไม้กระดาน
                        แม่ฝา ไม้ไผ่ขัดแตะหรือไม้กระดานที่ทำเป็นฝาเรือนด้านนอก
                        ฝา ขัดแตะอันเป็นเครื่องกั้นตัววเรือนทั่ว ๆ ไป
                        ลูกฝา  คือฝาเล็กฝาน้อย
                        ปากตู  คือประตูเรือน
                        หน้าต่าง เป็นคล้ายแผงกันลม ซึ่งยกขึ้นแล้วค้ำไว้ด้วยท่อนไม้ แล้วปล่อยให้ตกลงมาเมื่อต้องการปิดหน้าต่าง ไม่มีชนิดบานกระจกเลย
                        ขื่อ  แผนขัดแตะที่ใช้ดาดเป็นเพดานห้อง
                        ดั้ง  เสาสองต้นที่ตั้งรับแป
                        อกไก่  ลำไม้ไผ่ที่วางพาดบนหัวเสาทั้งสองต้น เป็นสันหลังคา
                        กลอน  ไม้ที่พาดบนแป วางลาดลงตามอกไก่ทั้งสองด้าน
                        จาก  ใบไม้ที่ใช้มุงหลังคา
                        กระเบื้อง  เรือนของคฤหัสถ์ ไม่ใช้มุงด้วยกระเบื้อง นอกจากเป็นตึกก่ออิฐถือปูนของชาวยุโรป ชาวจีนและแขกมัวร์เท่านั้น
                        แป ห้องกะได  ขึ้นกระได
                        ตง  ไม้ไผ่สองลำที่ประกอบเป็นกระไดทั้งสองด้าน
                    เครื่องเรือน  เสื่อกก  ที่นอน ตำแหน่งที่ปูเสื่อเพื่อนอนเมื่อไม่มีเตียงไม้
                        เตียงนอน เป็นเตียงไม้ ไม่มีกงพัด และไม่มีพนักหัวเตียง มีแต่ขาตั้งสี่หรือหกขา ไม่มีรอดตรึงในส่วนลึกของเตียงมีโครงตาข่ายสานด้วยกกเส้นใหญ่ที่ใช้บุเก้าอี้
                        แคร่  เป็นเตียงไม้ แต่ไม่มีขาตั้ง แคบมาก ใช้นอนคนเดียว มีแต่ราษฎรสามัญเท่านั้นที่นอนเตียงเดียวกันกับภรรยา และไม่ค่อยมีเตียงนอนกันมากนัก
                        ฟูกรองนอน  คือที่นอนยัดนุ่นจำพวกสำลี ไม่มีการทำที่นอนนวมเลย
                        ผ้าปูที่นอน  ไม่ใช้ผ้าผืนที่สองซึ่งใช้เป็นผ้าห่มเลย
                        ผ้าห่มนอน  เป็นผ้าฝ้ายธรรมดา
                        หมอน  ค่อนข้างยาว หมายถึงหมอนพิงด้วย จะไม่นั่งทับหมอนพิงเป็นอันขาด
                        ม่านกับที่นอน  เป็นม่านหรือพรมประดับผนัง ใช้กั้นหน้าที่นอน เพราะห้องไม่ปิดประตูกันเลย
                        ม่านกั้นฟากเรือน  เป็นผ้าม่านทำด้วยฝ้าย ฟากคือไม้แบน ๆ ผูกติดขนานขนาบใช้ต่างฝากระดาน
                        พรม  ปูพื้นรองเท้า
                        เจียม  เป็นของอย่างเดียวกับพรม
                        ตะลุ่ม  โต๊ะไม่มีขอบเชิงและไม่มีขาตั้ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บาตร และพ่อค้าเราเรียกว่า ถาด เมื่อชาวสยามบริโภคอาหารร่วมกัน ต่างคนต่างก็มีโต๊ะของตนเอง ไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะหรือผ้าเช็ดปาก แต่ใช้ไม้ขัดมันประกอบเป็นตัว
                        หีบลิ้น  หีบไม่มีลิ้นชัก
                        ถาด  จานทองแดง ตามปกติมักใช้ใส่ปลา (กับข้าว)
                        แม่ขัน  ขันสำหรับใส่น้ำ กาทองแดงสำหรับต้มน้ำร้อนชงชา
                        ขันน้ำน้อย  เป็นถ้วยก้นกลมเกลี้ยง ไม่มีขา
                        คนโท  หม้อน้ำ
                        คนที  ป้านดินเผาสำหรับใช้ชงชา
                        จอกน้อย  ถ้วยชาใบเล็ก ๆ
                        จอกใหญ่  ถ้วยชาใบใหญ่ขึ้นมา
                        ตะบวยทองกินน้ำ  ช้อนทองแดงเพื่อตักน้ำ นำเอากระโหลกมาใช้ทำเป็นตะบวยเหมือนกันโดยเจาะกระโหลกมะพร้าวให้เป็นรู
    ตรงกันแล้วเอาไม้สอดเข้าไปในรูทั้งสองนั้น ใช้ถือเป็นด้าม
                        ตะหวัก  ช้อนสำหรับหม้อ เป็นคำด่าที่รุนแรงมาก เสมอด้วยประณามว่าเป็นคนตะกละตะกลาม เอามือลงล้วงควักลงในหม้อ
    ทีเดียวโดยไม่ต้องรอให้ตักข้าวนั้นลงจาน มีแต่พวกทาสเท่านั้นที่ทำและจับต้องตะหวัก
                        ถ้วย ชามหรือจานกระเบื้อง
                        ชาม อ่างกระเบื้องสำหรับใส่ข้าว ชาวสยามใช้เครื่องกระเบื้องกันมาก เพราะมีอย่างชนิดหยาบ ๆ และราคาถูก
                        จาน  ภาชนะใบเล็ก ๆ ใช้รองใต้ถ้วยชา
                        หม้อข้าว  หม้อขนาดย่อมสำหรับใช้หุงข้าว
                        ช้อน  ใช้สำหรับตักขนมกวนที่ใส่มาในจานรองกระเบื้องใบเล็ก ๆ เพื่อกินกับน้ำชา ไม่มีส้อม ชาวสยามไม่ใช้เกลือในโต๊ะอาหารเลย
                        มีด  ชาวสยามมีมีดเล่มเล็ก ๆ กันคนละเล่ม สำหรับใช้ผ่าหมาก เขาใช้หัวแม่มือกดสันมีดและนำทางคมของมีดด้วยนิ้วชี้มือขวาซึ่งชี้ยื่นออกไปนั้น
                        มีดโกน  ทำด้วยทองแดง
                        ตีนเทียน  ใช้เทียนขี้ผึ้งสีเหลือง ไม่รู้จักทำขี้ผึ้งให้เป็นสีขาว เขามีขี้ผึ้งอยู่อุดมสมบูรณ์และโดยที่ไม่มีโรงฆ่าสัตว์จึงไม่มีไขใช้
                        มีดเหน็บ  เป็นมีดชนิดหนึ่ง ใหญ่กว่า ใช้พกติดตัวสำหรับทำธุระ และอาจใช้เป็นอาวุธได้
                        มีดตอก  มีดสำหรับจักไม้ (ตอก) ที่ใช้ผูกใบไม้ (จาก) มุงหลังคา
                        ครอบ  หีบทองคำหรือเงินใช้ใส่หมากกับพลู พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานหีบหมากให้แก่ขุนนางผู้ใหญ่บางคน หีบนี้ใหญ่มีฝาปิด และเบามาก ผู้ได้รับพระราชทานจะต้องนำติดตัวไปวางไว้ตรงหน้าของตนในเวลาเข้าเฝ้าและในงานพระราชพิธีต่าง ๆ
                        เตียบ  หีบอีกชนิดหนึ่ง ใช้ประโยชน์อย่างเดียวกัน แต่ไม่มีฝา และใช้อยู่กับบ้าน เป็นคล้ายจอกขนาดใหญ่ บางทีทำด้วยไม้ขัดมัน เชิงตีนสูงมากเท่าใด แสดงว่ามีเกียรติมากขึ้นเท่านั้น  ปกติใช้เป็นที่วางถุงเงิน หมากพลู เต้าปูนแดงกับมีด (เจียนหมาก)
                        กะโถน  ทุกคนจำเป็นต้องใช้ เพราะต้องบ้วน (น้ำหมาก) คราวละมาก ๆ อยู่เสมอ
                        เรือ  เรือแคบและยาว สำหรับขุนนางนั่งแต่ผู้เดียว
                        ครัว  เรือที่อยู่กันได้ทั้งครอบครัว
                        มุ้ง  มีผ้าชิ้นหนึ่งเป็นเพดานกับผ้าขาวบางอีกชิ้นหนึ่งอ้อมรอบเตียง ภิกษุมักใช้เพื่อมิให้ยุงรบกวน คฤหัสถ์ไม่ได้ใช้มุ้งกันเลย
                        เก้าอี้   มีแต่พระเจ้าแผ่นดินกับพระภิกษุเท่านั้น ที่ใช้เก้าอี้
                        หม้อน้ำมูตร   หม้อประจำห้องนอน มีแต่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้นที่ใช้  เพราะมีข้อห้ามไม่ให้ถ่ายน้ำมูตรลงบนพื้นดิน ในน้ำ หรือในไฟ
                    เครื่องแต่งกาย  ลอมพอก   หมวกทรงกรวยใช้ในงานพิธี ปกติใช้สีขาว แต่เวลาออกล่าสัตว์ หรือสงครามใช้สีแดง
                        ผ้านุ่ง  คือ ผ้าที่ใช้พันรอบเอว และต้นขา  พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอย่างเนื้อดี เรียกว่า ผ้าสมปัก  ผู้ใดจะใช้ผ้าอย่างนี้ไม่ได้ ถ้ามิใช่ของพระราชทาน
                        เสื้อขาว  เป็นเสื้อชั้นในผ้ามัสลิน อันเป็นเครื่องสวมห่มแท้  ๆ ของชาวสยาม
                        เช็ดหน้า  เจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ให้ทาสเชิญตามหลังไป และจะนำมาไว้กับตัว ก็ต่อเมื่อเข้าในวังหลวง แต่ก็ไม่กล้าที่จะใช้ต่อหน้าพระที่นั่ง
                        ผ้าห่ม  ใช้กันต่างเสื้อคลุมป้องกันความหนาว  หรือใช้ผ้าคลุมไหล่กับท่อนแขน
                        รัดสายยู  เข็มขัดที่เหน็บมีดเหน็บ  ใช้คาดทับเสื้อชั้นนอกทรงรัดรูป ยามออกสงคราม
                        ผ้าสไบ  ผ้าคล้องคอของสตรี
                        เสื้อเครื่อง  เสื้อชั้นนอกสวมใส่ภายใต้ เสื้อชั้นในผ้ามัสลิน
                        หมวก  ชาวสยามชอบหมวกสีต่าง ๆ ที่ทรงสูง  ปลายแหลม ปีกหมวกกว้าง ๑ นิ้ว
                    อาวุธ
                        ปืนนกสับ    ปืนกล้องใหญ่
                        ทวน   หอกแบบสยาม
                        หอก  หรือหอกแบบมัวร์  คล้ายใบดาบติดด้ามยาว
                        กริช   มีดเหน็บที่พระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานแด่ขุนนาง  ใช้เหน็บไว้ที่เข็มขัดเบื้องซ้าย แต่คล้อยมาข้างหน้ามาก
                        เกาทัณฑ์  โล่  หน้าไม้
                        แหลน  เป็นด้ามไม้ไผ่ปลายติดเหล็กแหลม
                        หลาว  แหลนไม้ไผ่ลนไฟให้แข็ง  ไม่ติดเหล็กแหลม
                        ไม้ตะบอง  คธา
                        ไม้เท้า
    ชื่อวันเดือน และปี
                    ๑. วัน  วันในภาษาสยาม หมายความว่า วัน ชื่อของวันต่าง ๆ คือ
                        วันของดวงอาทิตย์ หรือวันอาทิตย์  วันของดวงจันทร์ หรือวันจันทร  วันของดาวอังคาร หรือวันอังคาร   วันของดาวพุธ หรือวันพุธ  วันของดาวพฤหัสบดี  หรือวันพฤหัสบดี วันของดาวศุกร์ หรือวันศุกร์  วันของดาวเสาร์ หรือวันเสาร์
                    ๒. เดือน  เรียกนามเดือนตามลำดับคือ
                        เดือนอ้าย  หมายความว่า  เดือนที่หนึ่ง  เดือนยี่ หมายถึงเดือนที่สอง  เดือนสาม หมายถึง เดือนที่สาม ....... และเดือนสิบสอง หมายถึงเดือนที่สิบสอง
                    ๓. ปี   มีสิบสองปี คือ
                        ปีมะเมีย - นางม้าเล็ก  ปีมะแม - นางม้าใหญ่  ปีวอก - ลิง   ปีระกา - นกกาเหว่า  ปีจอ - แกะตัวผู้  ปีกุน- หมู  ปีชวด - กระต่าย  ปีฉลู - ตะกวด  ปีขาล - แม่ไก่  ปีเถาะ - แพะตัวผู้  ปีมะโรง - นางนกเป็ดทะเล  ปีมะเส็ง - งู
                        ส่วนใหญ่ของนามปีมาจากภาษาบาลี  โดยที่ชาวสยามใช้ปีมหาจักร จึงน่าจะมีตั้งหกสิบนาม เพื่อเรียกปีมหาจักรให้ครบ
    มรสุมกับน้ำขึ้นน้ำลงในอ่าวสยาม
                ในเดือนมีนาคม เมษายน กับพฤษภาคม  ลมทิศใต้พัดอยู่เหนือเมืองสยาม ท้องฟ้าพยับคลุ้ม ฝนเริ่มตกและค่อนข้างจะชุกแล้ว ในเดือนเมษายน ในเดือนมิถุนายน ฝนก็ยังตกอยู่เรื่อย ๆ และกระแสลมผันไปทางทิศตะวันตกคือ พัดไปสู่ทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงใต้  ในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน กระแสลมพัดอยู่ทางทิศตะวันตก หรือเกือบใกล้ ๆ ทิศตะวันตก และมักจะมีฝนตามมาด้วย น้ำท่วมลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ ๙ - ๑๐ ลี้  และมากกว่า ๑๕๐ ลี้ ทางด้านเหนือของอ่าว
                ในระยะเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคม กระแสน้ำทะเลขึ้นหนุนแรงมาก จนกระทั่งไปถึงกรุงสยาม (กรุงศรีอยุธยา)  และบางทีก็ขึ้นไปถึงเมืองละโว้ แล้วน้ำก็ลดลงภายใน ๒๔ ชั่วโมง  ตามระยะเวลาที่ท้นขึ้นไป  น้ำจะกลับจืดใหม่ที่หน้าเมืองบางกอก ก็อีกประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา แม้ว่าเมืองบางกอกจะอยู่ห่างจากปากน้ำถึง ๗ ลี้  แต่น้ำที่นั่นก็ยังมีรสกร่อยเล็กน้อยอยู่เสมอ
                ในเดือนตุลาคม กระแสลมพัดผ่านมาทางทิศตะวันตก และทิศเหนือ ฝนก็หยุดตก ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม สายลมพัดจากทิศเหนือกวาดน่านน้ำที่ท่วมแผ่นดินอยู่ให้ลงทะเลไปได้ในไม่กี่วัน  ตอนนี้กระแสน้ำขึ้นลงไหลอ่อนมาก  ทำให้น้ำในแม่น้ำมีรสจืดไปได้ไกล  (จากหน้าเมืองบางกอก)  ถึง ๒ - ๓ ลี้  และบางทีก็จืดไปได้ตั้งลี้ทางด้านใต้  ไม่ว่าในฤดูกาลไหน เมืองสยามมีน้ำขึ้นครั้งหนึ่ง และน้ำลงครั้งหนึ่งใน ๒๔ ชั่วโมง
                ในเดือนมกราคม กระแสลมผันไปทางทิศตะวันออก  และในเดือนกุมภาพันธ์   ก็พัดมาจากทิศตะวันออกกับทิศใต้
                ในฤดูที่กระแสลมตั้งทางทิศตะวันตก หรือพัดไปสู่ทิศตะวันตก จะมีเหตุการณ์ใหญ่โตเกิดขึ้นเสมอ กระแสลมในอ่าวจะรุนเรือต่าง ๆ อย่างรุนแรง ไปทางฝั่งตะวันออก อันเป็นเขตแดนของเมืองกัมพูชา และบังคับไม่ให้ตั้งลำกลับได้
                ดูเหมือนว่า ลมจากทิศใต้เป็นฝ่ายหนุนน้ำทะเลขึ้น และทรงอยู่ถึงหกเดือน ล้ำเข้าไปในแม่น้ำลำคลอง และลมจากทิศเหนือ เป็นฝ่ายตีกันไว้แทบถึงปากน้ำ มิให้น้ำทะเลหนุนขึ้นมาได้ในระยะเวลาเดือนหลังจากนั้น
    ลักษณะผลไม้ที่สำคัญ ๆ
                มะเดื่อของอินเดีย  ชาวสยามเรียกว่า กล้วยงวงช้าง  ไม่มีรสชาดอย่างมะเดื่อของเราเลย
                    แตงไทย  ในเมืองสยามก็ไม่ใช่แตงไทยแท้  แต่เป็นผลไม้ของต้นไม้ชนิดหนึ่ง รู้จักกันในหมู่เกาะของอเมริกาในชื่อว่า  มะละกอ

                    กล้วยหอม  ที่ชาวสยามเรียก  กล้วยงาช้าง  ก็เกือบจะเป็นอย่างเดียวกับมะเดื่อ นอกจากจะมีสีเขียวจัดกว่า และมีขนาดยาวกว่าเท่านั้น  และเป็นหลี่ยม  ผลไม้ชนิดนี้ออกเป็นเครือ อยู่ตอนบนของลำต้น
                    ผลฝรั่ง  ภาษาสยามเรียกว่า ลูกเขียบ มีขนาดเท่ากับผลแอบเปิ้ลขนาดเล็ก เปลือกสีเขียวอมเทา เช่นเดียวกีบผลสาลี่

                    ผลขนุน   รูปร่างเหมือนแต่งไทย  ขนาดใหญ่ที่ไม่สู้กลมนัก  เนื้ออยู่ภายใต้เปลือกสีเทา และปูดตะปุ่มตะป่ำ  เป็นหนัง หุ้มปกหนังสือ มีเมล็ดในเป็นอันมาก  ขนาดเกือบเท่าเท่าไข่นกพิราบ มีเปลือกบาง ๆ และเรียบหุ้ม เม็ดขนุนเมื่อเผาหรือต้มแล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกับเกาลัด  ยางขนุนมีสีเหลือง ฉ่ำและนุ่ม เหนียวเล็กน้อย
                    ผลมังคุด   เปลือกบางเนื้ออ่อน ภายในเป็นแต่เพียงคล้าย ๆ ครีมสีขาว รสชาดดีมาก

                    ผลทุเรียน  เป็นผลไม้ที่มีผู้ชบอบริโภคกันมากในชมพูทวีป  มีขนาดเท่า ๆ กับแตงไทยของเรา หุ้มด้วยเปลือกมีหนาม มีพูหลายพู เหมือนขนุน แต่ใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ ข้างในมีเมล็ด

                    ผลมะม่วง  มีรสชาดเหมือนผลพีชกับอบิค็อท รวมกัน มีผู้ชอบบริโภคกันมาก ชนาดใหญ่เท่าฝ่ามือเด็ก รูปร่างแบน ๆ และยาวรี ปลายแหลมทั้งหัววและท้าย ผิวกระเดียดไปข้างเหลือง  เนื้อติดแน่นอยู่กับเมล็ดในแบน ๆ
                    มะขาม  รสเปรี้ยว เป็นผลไม้อยู่ในฝัก  ต้นมะขามเป็นต้นไม้ใหญ่
                    อ้อย  มีอยู่มากในเมืองสยาม
                    พริกไทย   พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงสั่งให้ปลูกไว้ถึงหนึ่งแสนค้าง  เป็นต้นไม้ที่ต้องใช้ค้างเหมือนต้นองุ่นห้อยเป็นพวง เหมือนพวกลูกเกด

                    สับปะรด   มีเนื้อขาวเนื้อปนเนื้อแกนเล็กน้อย  เขาเชื่อกันว่าสับปะรดไม่เหมาะแก่การบริโภค ด้วยกล่าวกันว่าน้ำของมันนั้นกัดเหล็ก  ผลเมื่อสุกเป็นสีเหลือง  รูปร่างเหมือนลูกสนขนาดมหึมา  มีเปลือกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ ซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ มองดูเป็นรูปหน้าจั่ว ต้นสับปะรดสูงไม่เกิน ๓ ฟุต  กระจุกของผลสับปะรดเมื่อตัด และฝังดินแล้ว อาจเป็นต้นสับปะรดขึ้นมาใหม่ได้  แต่ละต้นมีกระจุกเดียว และหัวหนึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียว

                    มะพร้าว   เป็นผลไม้จำพวกผลนัท แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก  กะลานั้นห่อหุ้มมาโดยธรรมชาติ เปลือกหนา และเต็มไปด้วยเส้นใย ซึ่งอาจนำมาใช้ฟั่นเป็นเชือกได้  ภายในกะลามะพร้าวมีน้ำซึ่งมีรสอร่อยมาก



    • Update : 14/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch