หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประทีปแห่งเอเซีย
    ประทีปแห่งเอเซีย
    “โรจนากร”
    แปลเก็บความ จากคำโคลงภาษาอังกฤษ
    เรื่อง The Light of Asia โดย Sir Edwin Arnold
    พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๒
    โดยชมรมนักเรียนเก่าแอลเอสอี (LSE)
     
    จาก ผู้พิมพ์
    ในการพิมพ์ครั้งที่ ๕
    หนังสือเรื่อง “ประทีปแห่งเอเชีย” ที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ ในการพิมพ์ครั้งก่อน ๆ ใช้ชื่อเรื่องว่า “ประทีปแห่งชมพูทวีป” เป็นสำนวนแปลแบบเก็บความ โดยท่านผู้ใช้นามปากกา “โรจนากร” จากหนังสือคำโคลงภาษาอังกฤษ เรื่อง The Light of Asia ของ เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ นักปราชญ์นามอุโฆษชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของบรรดานิสิต นักศึกษาวิชาวรรณคดีอังกฤษ สำนวนการแปลของ “โรจนากร” นับได้ว่าเป็นสำนวนอมตะ แม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยมานานเกือบครึ่งศตวรรษ แต่ก็ยังคงความเป็นเลิศ มีความไพเราะเพราะพริ้งสำนวนกินใจ ใครได้อ่านแล้วก็อยากจะอ่านซ้ำหลายเที่ยว โดยไม่มีวันเบื่อ
    เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ประพันธ์ The Light of Asia โดยแปลจากภาษาฮินดีอีกทอดหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ และได้ตีพิมพ์แพร่หลายในอังกฤษ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ตลอดทั้งในอเมริกา ในประเทศฝรั่งเศส เลอ็อง สอร์ค นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยคำร้อยแก้ว
    ส่วนในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ เจ้าศักดิ์ประเสริฐ จำปาศักดิ์ บุตรเจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์ (ปัจจุบันนครจำปาศักดิ์ เป็นดินแดนในประเทศลาว) ได้แปลฉบับภาษาฝรั่งเศสของ เลอ็อง สอร์ค เป็นภาษาไทยด้วยคำร้อยแก้ว และได้ตีพิมพ์ในชื่อเรื่องว่า “ประทีปแห่งทวีปเอเชีย” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ หม่อมเจ้าดาราจรัสศรี เทวกุล ได้ทรงแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยด้วยบทประพันธ์กาพย์ฉันท์ขึ้นอีก และที่ “โรจนากร “ ระบุในคำนำของผู้แปลว่า ได้เก็บความเรื่องนี้จากฉบับของท่านผู้ใช้นามว่า “ภัตตรัตตา” นั้น “ภัตตรัตตา” ผู้นี้ น่าจะเป็น “หม่อมเจ้าดาราจรัสศรี เทวกุล” นั่นเอง
    ตามสถิติในต่างประเทศ หนังสือเรื่อง The Light of Asia เพียง พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ตีพิมพ์กว่า ๑๕๐ ครั้งไปแล้ว หลังจากนั้นมา ก็ยังได้ตีพิมพ์เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง มิได้ขาดไปจากตลาดหนังสือของโลก และตลาดหนังสือชั้นนำของเมืองไทยประเมินอย่างคร่าว ๆ ว่า ปัจจุบันคงตีพิมพ์ไปแล้วมากกว่า ๓๐๐ ครั้ง นั่นก็เป็นเครื่องวัดคุณค่าของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี
    สำหรับ “ประทีปแห่งเอเชีย” ฉบับแปลโดย “โรจนากร” นี้ ได้รับการตีพิมพ์ก่อนหน้านี้อย่างน้อย ๔ ครั้ง ครั้งนี้จึงนับว่าเป็นครั้งที่ ๕ และในการตีพิมพ์ครั้งนี้ ผู้จัดพิมพ์เห็นว่า คำนิยมและความนำ ซึ่งเขียนโดย พลโท กาจ กาจสงคราม ผู้จัดพิมพ์ในครั้งที่ ๓ มีสาระสะท้อนให้เห็นคุณค่าของหนังสือเรื่องนี้ได้อย่างวิเศษ จึงได้นำมาลงตีพิมพ์ในคราวนี้ด้วย
    ชมรมนักเรียนเก่า แอลเอสอี (LSE)
    ๒๕๓๑
     
    คำนิยม
    ของ
    พลโท กาจ กาจสงคราม
    ทุกท่านคงได้อ่านหนังสือทางศาสนามาหลายเล่มแล้ว และคงจะเกิดความรู้สึกว่า แต่ละเล่มเขียนไว้ดี อ่านแล้วบันดาล ให้ได้บุญทันตาเห็น ได้บังเกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา ได้มองเห็นความดีของพระพุทธเจ้าอย่างแจ่มแจ้ง แล้วก็ก่อให้เกิดความนึกคิดอยากทำความดีอย่างท่านบ้าง การที่เรารู้ว่าใครดี แล้วก็อยากทำดีตามนั้น จัดเป็นวิถีทางดีที่สุดที่จะทำให้เรา กลายเป็นคนดีได้สายหนึ่ง ที่ว่านี้ขอทำความเข้าใจด้วยว่า คนที่อาศัยโลกย่อมต้องเกาะอยู่กับโลก เผอิญบนโลกที่เราเกาะอยู่ทุกวันนี้ เป็นโลกโกหกพกลม ต่างก็จมอยู่กับสิ่งโสโครก เน่าหนอน แล้วก็ดัดแปลงตกแต่งพรางตาผู้อื่นไว้ คนหลายคนชอบหลอกตัวเอง ชอบปลุกใจตัวเองในด้านผิดพลาด และคนหลายคนมักจะเป็นคนยอขึ้น โดยมากมักมีความลุ่มหลง จนเกือบจะยอมตายอยู่กับความลุ่นหลง ที่พากันผูกขึ้นไว้ด้วยวิธีการอย่างโง่เขลาเหล่านั้น
    การที่พวกเราชาวโลกมีอาการยุ่งยากและเลวไปถึงเช่นนั้น ทางศาสนาก็ได้บอกไว้แล้วว่า เป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไม่ดีไว้มาก ๆ และสิ่งไม่ดีเหล่านั้นก็ย่อมตามมาสนอง การสนองของกรรมก็หาใช่เป็นสิ่งที่ได้คิดผิดทำผิดไว้แต่ชาติก่อนเท่านั้นก็หามิได้ หากแต่ได้ริทำริสร้างไว้ตั้งแต่รู้ภาษาคนมาทีเดียว ที่ว่านี้โปรดนึกถอยหลังดูตัวของตัวเองด้วยความเป็นธรรมเถิด ท่านจะเห็นจริงตามที่ว่านี้อย่างแน่ชัดทุกประการ ข้าพเจ้าเคยพูดกับท่านผู้สนใจมาหลายคนและหลายครั้งแล้วว่า การที่มนุษยชาติชอบผูกปมไว้สำหรับรัดคอตัวเองนั้น คงจะมิใช่เหตุอื่นไกล หากแต่เป็นเพราะโลกมนุษย์เป็นโลกที่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันหาความฉลาด แย่งกันสารพัดอย่าง แล้วก็ยังพากันแย่งความยุ่งยาก แย่งกันหาความทุกข์ ความเวทนามาใส่ตัวเอง กับยังมีกรรมที่ได้สร้างสรรค์ไว้ในชาติปางก่อนมาสนองในชาตินี้ด้วย คนทั้งหลายจึงได้พากันตกอยู่จมอยู่กับความไม่สู้ดีด้วยประการทั้งปวง นับตั้งแต่คลอดมา เห็นเดือนเห็นตะวันในวินาทีแรก ก็ได้เสวยความยากความลำบากมากมาตั้งแต่ต้นทีเดียว
    ความในประวัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้วิเศษและเป็นผู้อยู่เหนือคนทั้งหลายในโลกมนุษย์นั้น ปรากฏว่าพอประสูติแล้วได้ ๗ วัน พระพุทธมารดาก็ถึงแก่ทิวงคต ในลักษณะนี้มีบางคนเข้าใจไปว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จทางพระนาภีของพระพุทธมารดา อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาวบ้านได้เข้าใจกันไปว่า แม้แต่การประสูติของพระองค์ ก็ได้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์สะอาดยิ่งกว่าคนทั้งหลาย เป็นนิมิตมาแต่แรกประสูติ ประกอบกับโหรได้ถวายคำทำนายไว้ว่า พระองค์จะต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่นใดทั้งสิ้น ในที่สุด พระพุทธองค์ก็ได้อยู่ในฐานะเป็นเอกอัครมหาบุรุษผู้ล้ำเลิศ ที่ได้ทรงค้นพบสิ่งที่คนทั้งโลกค้นไม่พบ และได้เป็นต้นศาสดาจารย์ของพุทธบริษัทมาจนกระทั่งทุกวันนี้
    การค้นพบในสิ่งที่คนที่หลายค้นไม่พบ และได้รับสมญาว่า พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันมีฐานะที่อยู่เหนือมหาจักรพรรดิเป็นอย่างมาก จนถึงกับจะนำไปเปรียบกันมิได้เลยเช่นนี้ คงมิใช่อยู่เฉย ๆ ก็จะบันดาลดลให้เป็นไปอย่างที่เรียกว่าบุญบันดาลหามิได้ ท่านได้ทรงเสียสละสมบัติ และตำแหน่งรัชทายาทแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ตั้งพระทัยบำเพ็ญพรตอย่างจริงจัง ได้ทรงออกเรี่ยวออกแรงเพื่อค้นหาความจริงของโลก ปิ้มว่าพระวรกายจะแตกดับไป อีกทั้งได้ใช้เวลาศึกษานาน ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด เป็นระยะเวลาถึง ๖ ปี มิใช่วันสองวัน และคงจะมิใช่ตัวอย่างแห่งการอดอาหาร ๒๑ วัน อย่างที่คนที่หลายผู้ไม่รู้ ก็เห็นไปว่า การอด ๒๑ วัน เพื่อเสียสละเช่นนั้น เป็นการมหัศจรรย์เหลือเกิน แท้จริงพระพุทธเจ้าเคยอดในขณะที่ค้นความจริงอยู่ นั้นถึง ๔๙ วัน ด้วยอยากรู้อยากนำมาช่วยมนุษย์ที่กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่ในที่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง การกระทำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีลักษณะโลดโผน เต็มไปด้วยความเสียสละ แม้แต่พระชนม์ชีพ เป็นพฤติกรรมดีอย่างวิเศษ ยากยิ่งที่ผู้ใดจะกระทำได้ จากเวลาโน้นและต่อมาจนกระทั่งถึงเวลานี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาถึง ๒,๕๐๐ ปีเศษที่นานมากพอใช้แล้ว เมื่อยกคนจำพวกพระอริยเจ้า ๔ จำพวกที่เป็นผู้ได้ตรัสรู้และได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปแล้ว ก็ยังหามีใครสักคนเดียวไม่ ที่จะสามารถค้นสิ่งที่ยังไม่พบ แต่รู้ว่ามีนั้นให้พบได้ พระองค์จึงทรงเป็นบุคคลชั้นเอกอัครมหาบุรุษที่สูงสุดในโลก แต่พระองค์เดียว ไม่มีใครเสมอเหมือน
    การได้ฟัง การได้อ่านประวัติของพระพุทธเจ้าที่กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมเป็นผลดีที่จะได้ช่วยในทางจิตใจให้ฟูลอย ไม่ให้ จมอยู่กับสิ่งโสโครกบรรดาที่มีอยู่ในโลก เมื่อข้าพเจ้าได้มาพบพระพุทธประวัติตอนต้น ฉบับที่ชาวอัสดงคตแต่งขึ้น ก็ได้รู้เพิ่มขึ้นไปเป็นพิเศษว่า มีความลึกซึ้งดีกว่าที่เคยพบมานั้นอีกบ้าง ที่ว่าดีนั้น เพราะทำให้คนใจอ่อนอย่างข้าพเจ้าบังเกิดความปีติยินดี ในความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างขึ้นต้นไม้สุดยอด และก็มิได้เกิดความปีติยินดีที่จิตใจแต่แห่งเดียวเท่านั้น หากแต่ความปีติอันแรงกล้านั้น ได้ขับเอาน้ำตาไหลหลั่งออกมาคู่เคียงกับตัวหนังสือที่ขีดเขียนไว้นั้นด้วย เหมือนกับอาการของเด็กที่ร้องไห้ เมื่อหยิบขึ้นอ่านตั้งแต่ต้นจนจบถึง ๖-๗ ครั้ง ก็ไม่อาจทราบและอธิบายไม่ได้ว่า ความปีติอันแรงกล้าที่ได้ทำให้น้ำตาไหลหยดย้อยออกมาจากดวงตาทุกครั้งที่อ่านนั้น เกิดจากอะไรกันแน่ ทั้งนี้ในแง่หนึ่งต้องยอมรับว่า เป็นเพราะความซาบซึ้งในบทความชั้นเยี่ยมอันอยู่ในจำพวกดีวิเศษนี้เอง ซึ่งยังไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลย แม้บทความในเรื่องมหาชาติ ที่เทศน์แล้วมีคนร้องไห้ ก็ยังไม่ทำให้เกิดความปีติมาก มายเท่ากับบทประพันธ์ที่ว่านี้ และก็เป็นเพราะนิมิตอย่างมหัศจรรย์ที่กล่าวมานี้เอง ทำให้ต้องขออนุญาตพิมพ์ขึ้น เพื่อแจกจ่ายแก่พุทธศาสนิกชนผู้สนใจให้ได้รับไปอ่านบ้าง เป็นการเผื่อแผ่บทความอันดีมากให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และควรนับว่า ผู้ที่พยายามแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นบทความในภาษาไทยนั้น เป็นผู้มีสมรรถภาพชั้นดีมากด้วย มิฉะนั้นคงไม่อาจถอดความของฝรั่งมาเป็นของไทย จนได้คะแนนดีเลิศถึงปานนั้น ขอให้ท่านผู้แปลได้เกิดความภาคภูมิใจในความดีของท่านเป็นอย่างมากด้วย ในต่อไปนี้การอ่านจะพิสูจน์ให้เห็นด้วยความรู้สึกของท่านเอง
    ข้าพเจ้าขออุทิศบุญกุศลที่ได้ออกทรัพย์พิมพ์หนังสือ อันมีคุณสมบัติดีวิเศษนี้ ให้แก่บิดากับมารดาของข้าพเจ้า ผู้มีอุปการคุณอันยิ่งใหญ่อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้ล่วงลับไปจากโลกแล้ว หากท่านทั้งสองจะไปยุติอยู่ในภพใด ก็ขอให้พึงได้รับกุศลส่วนบุญตามเจตนารมณ์อันสูงสุดของข้าพเจ้านี้ด้วย เทอญ
    พลโท กาจ กาจสงกราม
    กองบัญชาการกองทัพบก วังสวนกุหลาบ พระนคร
    วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๙๒
     
    ความนำ
    ในการพิมพ์ครั้งที่สาม
    เมื่อได้จัดการพิมพ์ครั้งที่หนึ่งและที่สอง และได้แจกแก่ท่านผู้อยากได้ ที่ได้มีจดหมายขอไป อีกทั้งญาติมิตรบางคน ได้เคยขอไปแจกในการบุญ มีงานฌาปนกิจและงานบวชนาค เป็นต้น ได้แจกไปมาก หนังสือก็ได้หมดมือลง แต่ยังมีผู้ขอมาอีกมาก จดหมายขอแต่ละฉบับแจ้งว่า โดยมากไม่ได้ทราบประกาศบอกการให้หนังสือ หากแต่ได้พบเห็นและได้ยืมคนอื่นมาอ่าน ครั้นอ่านแล้วได้บังเกิดความเลื่อมใสปีติยินดีในความดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างที่ไม่มีอะไรจะพูดให้สมกับใจนึกได้ จึงอยากได้เป็นกรรมสิทธิ์ และปรากฏอีกด้วยว่า หนังสือเล่มนี้มีอานุภาพที่ได้บันดาลให้คนหนึ่ง ผู้ที่อ่านจบลง แล้วเกิดศรัทธาปสาทะอยากบวช แล้วก็ได้ตกลงใจบวช ในปีนี้มากคนด้วยเหมือนกัน พฤติการณ์นี้ทำให้รู้สึกเป็นที่พึงพอใจต่อผลทานที่ทำมานั้น ที่ได้แสดงให้ปรากฏอย่างชัดเจนว่า มีค่าประเสริฐเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นผลตอบแทนทางจิตใจของข้าพเจ้า อย่างที่จะหาค่าสิ่งอื่นใดมาเปรียบมิได้อีกเลย
    ข้าพเจ้าเห็นผู้หนึ่งที่อยากตรัสรู้ อยากเป็นผู้สำเร็จ อย่างพระพุทธเจ้า เหมือนกับท่านทั้งหลายนั้นเหมือนกัน หากแต่ข้าพเจ้ามีบาปกรรม ยังไม่อาจปฏิบัติกิจวัตรให้เหมือนกับนักพรตทั้งหลาย เพื่อเป็นการถางทางเดินไปยังที่หมายอันสำคัญมากในขณะนี้ได้ แต่ก็ได้ตั้งใจไว้บนประกายความอาบย้อมแห่งรัศมีของพระพุทธศาสนา ที่ได้ฉายแสงมาถึงจิตใจข้าพเจ้าบ้างแล้วว่า สักวันหนึ่งข้างหน้า จะเป็นในภพนี้ หรือในภพใดก็ตามเถิด ข้าพเจ้าจะต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปักได้กรุยไว้นั้นให้จงได้ เมื่อมีผู้อยากได้หนังสือที่ว่านี้ อันเป็นเสมือนการอยากได้ประทีปส่องทางเดินไปยังที่หมายอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ได้ทำให้ข้าพเจ้าเกิดมีกำลังใจขึ้นอีกมาก จึงได้บริจาคทรัพย์ พิมพ์เพิ่มขึ้นใหม่อีกเป็นครั้งที่สาม ผลแห่งความดีที่เกิดขึ้น หากจะเพิ่มพูนจากการพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง ก็ยังคงขออุทิศผลานิสงส์ส่วนบุญที่เกิดขึ้นมากจนคาดไม่ถึงนี้ ให้แก่บิดามารดา ผู้เป็น พรหมของข้าพเจ้า และเป็นผู้มีอุปการคุณอย่างเหลือล้นเป็นอเนกนานัปการ ดังคำอุทิศที่ได้กล่าวไว้ในบทต้นนั้นแล้ว แม้ว่าพรหมทั้งสองของข้าพเจ้าจะได้ล่วงลับไปจากโลกนานแล้ว ไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี แต่รู้สึกว่ามิ่งขวัญข้าพเจ้ายังหลงติดอยู่กับท่านทั้งสองเป็นเสมือนกับการถูกแบ่งภาค ข้าพเจ้าเคยละเมอฝันถึงบ่อยครั้งที่สุดว่า ท่านทั้งสองยังไม่ตายและยังคงมีชีวิตอยู่ ได้กรุณาปรานีแก่ข้าพเจ้า เหมือนอย่างตอนที่ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒-๓ ปี เสมอมา การพลีสิ่งมีค่าของข้าพเจ้าออกสักการบูชา อุทิศให้ผู้ทรงคุณทั้งสอง จึงได้มีความแน่ใจเป็นอย่างยิ่งว่า คงจะได้รับด้วยความภาคภูมิใจมากเป็นแน่แท้
    พลโท กาจ กาจสงคราม
    กองบัญชาการกองทัพบก วังสวนกุหลาบ พระนคร
    วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๙๒
     
    ประกาศ
    มีผู้สงสัยและพูดกันอย่างหนาหูว่า ผู้ให้หนังสือสารคดี ประทีปแห่งชมพูทวีป นั้น มีความปรารถนาอะไรบ้าง ขอแจ้งว่า ผู้ให้มีความปรารถนาอยู่ข้อเดียวที่สูงสุด ก็เพราะ อยากให้ผู้อ่านเป็นคนดี หนังสือนี้ถ้าใครได้อ่าน ก็จะมีจิตใจกลายเป็นสุภาพชนตามแบบอย่างของพระสิทธัตถราชกุมาร มหาบุรุษแห่งโลกตะวันออก ได้ไม่มากก็น้อย เมื่ออานุภาพแห่งการอ่านทำให้คนกลายเป็นคนดีขึ้นกว่าเก่าดังนี้ ย่อมเป็นสิ่งมีค่ามากจนจะหาอะไรมาเปรียบมิได้เลย ผู้ให้จึงกล้าออกเงินส่วนตัว พิมพ์แจกเฉพาะผู้อยากได้ ไม่มีอะไรแอบแฝงอยู่หลังฉากและไม่มีเจตนารมณ์อะไรไปมากกว่านี้อีก มีหนังสือพิมพ์บางฉบับ เก็บเอาไปเขียนให้เห็นไปในบ้านไม่ดีด้านชั่ว ตามวิสัยของผู้ที่ชอบครุ่นคิดแต่ความไม่ดีอยู่แล้วเป็นนิสัยสันดานว่า ข้าพเจ้าเอาเงินที่ไหนมาพิมพ์แจก จึงขอแจ้งเสียด้วยทีเดียวว่า ความจริงนั้นทรัพย์สินเงินทองคงไม่ใช่ของหายากนักดอก อย่างสุภาษิตที่นักปราชญ์แต่งไว้ว่า “ทรัพย์นี้มิไกล ใครมีปัญญาไว หาได้บ่นาน” เงินเป็นวัตถุที่คนในโลกตีราคามันขึ้นเอง พิมพ์ขึ้นเอง เมื่อใครมีปัญญาหาและตั้งใจหา ก็ต้องหาได้มีได้ เสมอเป็นธรรมดา
    ข้าพเจ้าไปอยู่ในประเทศจีนสองปี เอาเงินมาจากไหนกัน ทั้งที่การใช้จ่ายที่นั่นก็แพงกว่าที่กรุงเทพ ฯ ถึง ๑๐-๑๕ เท่า แล้วต้องเสียค่าเดินทางทั้งไปและกลับ เป็นเงินจำนวนมากมาย ข้าพเจ้ามีเงินติดตัวออกไปหลายหมื่น แต่กลับเข้ามา ก็มีเงินมาถึงหลายแสน กล่าวได้ว่าร่วมล้านกว่าบาททีเดียว อยู่ในประเทศจีนก็ไม่อาจหาเงินด้วยวิธีคดโกงและไม่อาจใช้ลูกไม้อะไรได้ ทั้งการอยู่ในจีนก็ยังมีงานต้องทำการติดต่อกับพันธมิตรมาก และใช้เงินมากเป็นประจำ แต่มันก็จำเป็นต้อง หา ต้องมีเงินไว้บ้าง มิฉะนั้นถ้าพันธมิตรแพ้ศึก ข้าพเจ้าจะกลับมาประเทศไทยไม่ได้ ถ้าไม่หาเงินไว้กับตัวบ้างแล้ว มิพากันอดตายอยู่ที่นั่นทั้งหมดหรือ
    จึงไม่น่าคิดอย่างคนที่หาสติไม่ค่อยได้ว่า ข้าพเจ้าไปคิดโกงของเขามาไม่รู้จักจบ เฉพาะครอบครัวข้าพเจ้าแล้ว บอกได้ว่า ไม่เคยอับจนในเรื่องเงินสำหรับใช้จ่ายเลยในชีวิต แม้แต่จะได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๘๐๐ - ๑,๒๐๐ บาท ก็ส่งลูกไปศึกษาในต่างประเทศด้วยทุนของตัวเองทุกคน ส่งติดต่อกันร่วม ๑๕ ปี และส่งไปศึกษาจนกระทั่งบัดนี้ บุตรชายหญิงของข้าพเจ้าต้องไปศึกษาอยู่ในต่างประเทศคนละหลายปี เพื่อประสงค์จะให้นำความรู้กลับมาทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ บางครั้งเคยส่งไปถึง ๒-๓ คนในคราวเดียวกันก็มี ค่าใช้จ่ายจำนวนมากนี้ ไม่เคยคดโกงได้เงินของใครที่ไหนมาเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง และเพื่อการศึกษาของลูก เรื่องเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อมีผู้กล่าวถึงข้าพเจ้าด้วยสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรแล้ว ก็ต้องขอชี้แจงตามความจริงบ้าง ขอได้โปรดเข้าใจตามที่กล่าวมานี้ด้วยโดยทั่วกัน
    พลโท กาจ กาจสงกราม
    กองบัญชาการกองทัพบก วังสวนกุหลาบ พระนคร
    วันที่ ๘ เมษายน ๒๔๙๒
     
    จาก ผู้แปล
    เรื่องประทีปแห่งชมพูทวีปนี้ ได้เก็บความจากหนังสือ The Light of Asia ของเซอร์ เอ็ดวิน อาโนลด์ ซึ่งรจนาขึ้นเป็นโคลงภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับพระพุทธประวัติ และ อุปนิสัย และพระพุทธปรีชาญาณของพระองค์ เป็นหนังสือซึ่งแพร่หลายมากในยุโรป ปรากฏว่าได้พิมพ์ขึ้นถึง ๑๐๐ กว่าครั้งแล้ว และความแพร่หลายนี้เอง ทำให้มีผู้แปลออกไปเป็นภาษาฝรั่งเศส และเมื่อปี ๒๔๘๐ นี้ ได้มีท่านผู้หนึ่ง ใช้นามปากกาว่า “ภัททรัตตา” มีอุตสาหะแปลออกมาเป็นกาพย์ฉันท์ไทย เพราะความรู้สึกซาบซึ้งในบทนิพนธ์อันนี้เป็นอันมาก ท่านบอกว่า ถึงกับอ่าน ๕ จบ
    ในการเก็บความลงมาเขียนใหม่นี้ ข้อความในเครื่องหมายคำพูดบางอันข้าพเจ้าขอ Quote จากบทประพันธ์ของท่าน “ภัททรัตตา” ด้วยความเคารพและชื่นชมในคำอันไพเราะนั้น ข้าพเจ้าขอแจ้งความจริงนี้แด่ท่านเจ้าของ และขอท่าน ได้รับความขอบคุณจากข้าพเจ้าในหน้าหนังสือนี้ด้วย
    “โรจนากร”
    บทที่ ๑
    พระสิทธัตถกุมาร
    วันหนึ่งในฤดูร้อน พญาหงส์สีขาวสะอาดตัวหนึ่งนำฝูงบินผ่านพระอุทยานของพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ บ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ สู่รัง ณ ยอดเขาหิมาลัยโพ้น ความขาวของฝูงหงส์ซึ่งทาบอยู่กับท้องฟ้าสีขาวนั้น เป็นประดุจทางช้างเผือก ยังความนิยมยินดีให้แก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก แต่พระเทวทัตกุมารมิเป็นเช่นนั้น น้ำพระทัยของเจ้าชายพระองค์น้อยนี้เป็นพาล มุ่งแต่จะทำลายเป็นที่ตั้ง พอทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์ เธอก็ทรงโก่งสายธนูขึ้นทันที ยกลูกศรขึ้นพาดสาย และน้าวหน่วงเต็มแรง ปล่อยศรวิ่งขึ้นไปเสียบอกพญาหงส์ ซึ่งกำลังร่อนร้องร่าเริงใจอยู่บนอากาศ นกที่น่าสงสารก็พลัดตกลงมาบนพื้นดิน ศรยังเสียบคาอกอยู่
    กษณะนั้น พระสิทธัตถกุมาร พระโอรสแห่งพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ กำลังประทับอยู่ในพระอุทยานเหมือนกัน พญาหงส์ถลาร่วงลงมาตรงพระพักตร์พอดี เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นเข้าก็บังเกิดความเวทนา ทรงอุ้มหงส์นั้นขึ้นจากพื้น ประคองกอดแต่เบา ๆ มิให้วิหคเคราะห์ร้ายนั้นตกใจ แล้วก็ทรงชักศรซึ่งเสียบเนื้ออยู่นั้นออกเสีย พลางชโลมแผลด้วยน้ำผึ้ง แล้วเอาใบไม้ผจงปิดปากแผลอย่างเบา ๆ แล้วก็ทอดถอนพระหฤทัย รำพึงถึงความทุกข์ของพญาหงส์อันมีกายปรากฏบาดแผลอันใหญ่นั้น
    พระกุมารนั้นก็ยังทรงพระเยาว์นัก พระชันษาของเธอน้อย ชอบที่จะแสวงสุขอย่างเด็กอื่น แต่เธอกลับคิดใคร่ครวญถึงความเจ็บปวดของพญาหงส์ อันความทุกข์ซึ่งสำแดงอยู่ในตัวนกนั้นเป็นอย่างไรกันหนอ เพื่อให้รู้ความจริงโดยตนเองอย่างแน่ชัด พระองค์ทรงหยิบลูกศรขึ้น แล้วก็แทงลงตรงข้อพระหัตถ์ พิษศรเสียวปลาบไปถึงพระหทัย และพระกุมารก็ทรงเข้าพระทัยในทันทีนั้นเองว่า ความเจ็บปวดของนกนั้นสาหัสเพียงไร เธอจึงทรงปลอบนกด้วยพระวาจาอ่อนหวาน กระทำพระองค์เป็นมิตรกับสัตว์ตัวน้อย เพื่อมิให้มันตื่นตกใจต่อไป พอดีพระเทวทัตกุมารผู้ยิงพญาหงส์ก็เสด็จมาถึง และจะแย่งนกนั้นไปให้ได้ พระสิทธัตถกุมารก็ไม่ทรงยอม ด้วยเหตุว่าพระเทวทัตเป็นผู้ทำลายหงส์ แต่พระองค์เป็นผู้ประทานชีวิต ถ้าหากปล่อยนกให้แก่เทวทัตผู้อนุชา นกจะต้องตายเป็นแน่แท้ พระองค์ประกาศว่า จะทรงสั่งสอนความเมตตาแก่โลก ถ้าหากว่าพระเทวทัตจะทรงคัดค้าน ก็ขอให้ทรงเรียกนักปราชญ์มาตัดสิน ในที่สุด เทพเจ้าซึ่งปลอมพระองค์มาเป็นนักปราชญ์ ก็ทรงตัดสินว่า “ผู้ใดกรุณาต่อสัตว์และเป็นผู้ช่วยเหลือสัตว์ ผู้นั้นเป็นเจ้าของ ด้วยเหตุนั้น ผู้ช่วยเหลือสัตว์เป็นผู้ให้ชีวิต แต่ผู้ทำลายชีวิตสัตว์ให้ดับล่วงไป ได้ชื่อว่าเป็นผู้เข่นฆ่า หาใช่เจ้าของสัตว์นั้นไม่” พระเทวทัตจึงแพ้ความ และพระสิทธัตถกุมารก็ได้พญาหงส์ไปเลี้ยงไว้ พระสิทธัตถกุมารนี้แหละ คือพระบรมศาสดาผู้ ประกาศศาสนาพุทธให้แก่ปวงชนทั้งปวง ให้เขาทั้งหลายได้พบเห็น และได้คงอยู่ในความสุขอันแท้จริง ความเป็นพระศาสดาผู้ตรัสรู้รอบด้าน ได้ปรากฏให้เห็นตั้งแต่พระชันษาน้อย ๆ เมื่อพระพุทธองค์ทรงจุติจากสวรรค์ มาเข้าพระครรภ์พระพุทธมารดา คือพระนางสิริมหามายาเทวี เป็นพระชาติสุดท้าย ซึ่งทรงสั่งสอนพระธรรมแก่ชาวโลกนั้น ได้บังเกิดรังสีส่องสว่างกระจ่างแจ้งขึ้นในยามค่ำคืนมืดสนิท เขาหินทั้งหลายส่งเสียงกัมปนาท ระลอกคลื่นในมหาสมุทรบรรเลงเพลงกล่อม และปวงบุปผชาตินานาพรรณ แย้มกลีบขยายชูช่ออรชรทั้ง ๆ ที่อรุโณทัยยังไม่ได้มาถึง พระพายพัดเย็นชุ่มฉ่ำ และสรรพสิ่งทั้งหลายดูเหมือนจะกระซิบบอกกันว่า ท่านทั้งหลาย ผู้ตายที่กำลังจะเกิด และผู้เกิดที่ตายไปแล้ว จงตื่นขึ้นและจงฟัง วันนี้พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาปฏิสนธิแล้ว จงรู้และจงมีหวังเถิด
    ในตอนเช้าวันนั้น พระโหราจารย์ได้ทูลถวายพระพร พระเจ้าสิริสุทโธทนะ พระพุทธบิดาว่า “พระโอรสของพระองค์ได้ทรงปฏิสนธิแล้ว และจะทรงเติบโตขึ้นเป็นบุรุษอันใหญ่ยิ่ง เป็นผู้ทรงปัญญายอด หากมิเป็นพระมหาจักรพรรดิ ครองทั่วทุกทวีป ก็จะทรงเป็นพระบรมศาสดา โปรดบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย และช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความโง่เขลาอันมืดมน”
    ครั้นพระพุทธมารดาทรงครรภ์ครบถ้วนทศมาส ก็ทรงประสูติพระโอรสใต้รุกขฉายาในป่าลุมพินีวัน เทพเจ้าทั้งหลาย เสด็จจากฟากฟ้าลงมาอัญเชิญพระวอทอง พ่อค้าชาวเมืองได้สดับข่าวก็เดินทางมาแต่ไกล เพื่อเอาของขวัญอันมีค่ามาถวายพระบรมราชกุมาร และในหมู่ชนทั้งหลาย ซึ่งเดินทางมาชมบุญบารมีนั้น มีฤๅษีตนหนึ่งทรงนามว่า อสิตฤๅษี ท่านผู้นี้ทรงบำเพ็ญพรตอยู่ใต้ต้นไม้ ได้สดับเสียงเทพยดาลงมาบอกว่า บัดนี้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาในโลกแล้ว ให้ไปชมพระบารมีเถิด ท่านจึงรีบร้อนมาในเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นเดินเข้ามาใกล้ พระพุทธมารดาก็ทรงวางพระกุมารลงแทบบาท พระดาบส พระฤๅษีเห็นพระโอรสก็ร้องห้ามว่า “อย่า อย่า พระนาง อย่าทรงวางพระโอรสลง” แล้วพระฤๅษีก็ก้มลงกระทำอภิวันทนาการพระบรมกุมารถึง ๘ ครั้ง กล่าวว่า พระองค์นี้แหละ คือพระพุทธเจ้าอย่างแน่แท้ ด้วยปรากฏมีรังสีกุหลาบจ้าจากพระวรกาย พระลักษณะ ๓๒ ประการ ของมหาบุรุษปรากฏอยู่ในพระองค์พร้อมสิ้น พระองค์นี้แหละ คือผกาของปวงชนอันจะบานเพียงครั้งเดียวในระยะอสงไขยปี เมื่อบานแล้วก็ส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วพิภพอบโลก ให้หอมหวานด้วยปัญญาปานมธุรส
    ครั้นพระชนม์ของพระบรมกุมาร ลุถึง ๗ วัน พระพุทธมารดาก็เสด็จสู่สวรรคาลัย ด้วยเหตุว่าพระนางเธอประสูติพระโอรสประเสริฐ เทพยดาเจ้าทั้งปวงทรงรักใคร่ มิยอมให้เสด็จทนทุกข์เวทนาอยู่ในโลกนี้สืบไป จึงรับเสด็จพระนางไปสถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั่วนิรันดร
    ส่วนพระราชโอรสนั้น เมื่อพระชนม์ได้ ๘ พรรษา พระพุทธบิดาก็ทรงหาพระวิศวามิตรฤๅษีมาสั่งสอนศิลปวิทยา แก่พระกุมาร พระวิศวามิตรรับพระราชโองการ พอถึงวันฤกษ์ดี เรียกกุมารมาสั่งสอน
    พระราชโอรสทรงยืนถือกระดานไม้จันทน์แดงขัดมันเป็นเงาวับ และมีริมขอบฝังพลอยอยู่ตรงหน้าพระอาจารย์ พระหัตถ์น้อย ๆ ผจงจับดินสอมั่น และพระเนตรอันสุกใสจับอยู่ที่พระอาจารย์ด้วยความเคารพและสนพระทัย
    พระฤๅษีบอกว่า “พระกุมารจงเขียนคัมภีร์นี้ลง” แล้ว ท่านก็ท่องคาถาตายัตรี ซึ่งยากลึกล้ำ ผู้สูงยิ่งด้วยปัญญาและความรอบรู้เท่านั้นจึงจะเขียนได้ พระกุมารทรงฟังแล้วก็เขียนลงบนกระดานอย่างถูกต้อง ใช่แต่ภาษาเดียวเท่านั้น เธอยังเขียนเป็นภาษาเทวนาครี ยะวา เดียรถีย์ และอื่น ๆ อีกเป็นหลายสิบภาษา จนพระอาจารย์ต้องร้องว่า พอแล้วพระเจ้าข้า แล้วท่านก็สอนให้นับเลขถึงสิบ แต่พระกุมารทรงนับต่อไปได้ ถึง โกฏิ อสงไขย นะหุต และนีนหุต พระอาจารย์ต้องทูลว่า พอแล้ว แล้วก็สอนดาราศาสตร์ พระโอรสตรัสเล่าให้ฟังสิ้น ถึงโคจรของจักรวาล ดวงดาวใหญ่น้อยเดินไปอย่างไร เหตุใดจึงเกิดมีคน สัตว์ พืชผล และแม่น้ำ ในมหาสมุทรนี้เกิดจากปรมาณูเป็นต้น น้ำในแม่น้ำต้องความร้อนละลายเป็นไอ ลอยไป แล้วตกลงมาเป็นฝน น้ำฝนทำให้เกิดมหาสมุทร และ มหาสมุทรก็ทำให้เกิดฝน ความหมุนเวียนอันเป็นธรรมคาของโลกนั้น มีอยู่ดังนี้
    พระฤๅษีจะสอนอะไร พระกุมารก็ทรงทราบสิ้น พระดาบสจึงก้มลงกราบพระกุมารแล้วทูลว่า
    “พระองค์เป็นศาสดาของอาจารย์ ข้าพเจ้าหาใช่ครูของพระองค์ไม่ ข้าพเจ้ามาถวายความรู้ กลับต้องมาเรียนจากพระองค์เสียแล้ว พระองค์ทรงรอบรู้ทั่วทุกสิ่งโดยมิต้องใช้หนังสือเลย
    อันพระกุมารแห่งศากยวงศ์นั้น จะเก่งเพียงความรู้อย่างเดียวก็หาไม่ แม้ในการวางพระองค์ และในการประลองศึกฝึกกำลังเยี่ยงบุรุษนักรบก็หาอาจมีใครเทียบไม่ แต่น้ำพระทัยของเธอนั้นเต็มไปด้วยเมตตามาแต่พระชนม์ยังน้อย ๆ ยามเมื่อทรงเล่นสนุกกับพระสหาย แม้กำลังมีชัยในการละเล่น หากได้ทรงเห็นพระสหายหดหู่พระทัย ก็ทรงสงสารและหย่อนพระกำลังลง ให้พระสหายได้เป็นผู้ชนะบ้าง พระสิทธัตถกุมารนั้นทรงมีพระอัธยาศัยดังนี้
    เมื่อทรงเจริญวัย พระทัยอันเมตตาก็แผ่กว้างขยายออกไปทุกที ประดุจต้นไม้ใหญ่ ซึ่งแตกใบกิ่งก้านไปจากเมล็ดพืชเพียงเม็ดเดียว ในวันหนึ่งพระพุทธบิดาได้ตรัสชวนพระกุมารไปทอดพระเนตรพิธีแรกนาขวัญ ชมความสดชื่นในท้องนาและการหว่านไถข้าวกล้าทั้งหลาย ซึ่งจะตกเป็นของพระกุมารทันทีที่พระพุทธบิดาเสด็จสู่สวรรคาลัย
    เวลานั้นต้นไม้กำลังออกดอกงามสะพรั่ง ชาวนากำลัง ไถนาอยู่ริมลำธารอันมีน้ำไหลรินระหว่างหมู่ต้นตาลรายเรียง เป็นวสันตฤดู หมู่นกเบิกบานแจ่มใสส่งเสียงเจื้อยแจ้ว แมลงเล็ก ๆ และสัตว์เลื้อยคลานต่างก็มีความสุขอยู่ทั่วหน้า จาก ไกล ๆ ได้ยินเสียงตีกลองใหญ่อันแสดงว่าพิธีอาวาหมงคลได้มีขึ้นในที่ใดที่หนึ่ง พระมหากษัตริย์และพระบรมราชโอรสได้ทอดพระเนตรธรรมชาติ และทรงสดับเสียงเหล่านี้ด้วยความสุขอย่างยิ่ง
    แต่ในท่ามกลางความชื่นบานเกษมสันต์หรรษานั้นเอง เจ้าชายพระองค์น้อย ได้ทรงมองซึ้งลงไป และทรงเห็นสิ่งซึ่งไม่มีใครได้เอาใจใส่มาแต่ก่อนว่า ในดอกกุหลาบอันสวยงามงามนั้นก็มีหนามอยู่ ในชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยความรื่นรมย์นั้นมีความทุกข์
    ดูเอาเถิด ชาวนานั้นต้องจับคันไถไปท่ามกลางสุริยะ แสงอันแผดจ้า ควายซึ่งลากคันไถนั้นเล่า ก็ต้องเดือดร้อนสาหัส เพื่ออะไรเล่า เพื่อการยังชีพไว้เท่านั้นเอง ดูไปบนอากาศนั้นเถิด พญาเหยี่ยวกำลังถลาไล่จับนกเล็กเป็นอาหาร นกเล็กเล่า ก็ไล่ต้อนฝูงผีเสื้อ ซึ่งบินหนีด้วยความตระหนกตกใจ จะดูไปในน้ำ การฆ่าและถูกฆ่าเพื่อยังชีวิต ก็มีให้เห็นประจักษ์แจ้ง เราฆ่าเขาเพื่อยังชีพ และเราก็ถูกฆ่าต่อไป เพื่อผู้อื่นได้ครองชีพไว้ ฆ่ากันมาตั้งแต่สัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ โลกอันดูงามแต่ภายนอกนี้ ภายในเต็มไปด้วยความทุกขเวทนาทั้งสิ้น อนิจจา
    พระกุมารทรงรำลึกดังนั้นแล้ว ก็มิอาจประทับดูความน่าสังเวชของสัตว์โลกอยู่ ณ ที่นั้นได้ จึงเสด็จไปประทับเสียใต้รุกขชมพู่ลำพังพระองค์เดียว เพื่อทรงใคร่ครวญถึงทุกข์โศกของโลก ทรงรำพึงไปในพระทัยว่า ทำอย่างไรดีหนอ เหล่าสัตว์โลกผู้น่าสงสารทั้งหลายจะพ้นเสียได้ ซึ่งทุกขเวทนาทั้งปวงนี้
    กษณะที่พระบรมโอรสทรงบำเพ็ญญาณรำลึกทางดับทุกข์ของสัตว์ใต้รุกขฉายานั้นเอง พระฤๅษี ๕ ตนเหาะผ่านมาทางอากาศ มาถึงต้นชมพู่ ก็มิอาจไปต่อไปได้ ต่างก็สนเท่ห์นัก มองลงมาเบื้องล่างเห็นพระมหาบุรุษประทับอยู่ มีพระรัศมีปรากฏจากพระวรกายเปล่งปลั่ง จึงรีบลงจากอากาศ ถวายนมัสการเปล่งเสียงสรรเสริญพระคุณ แล้วจึงพากันเหาะ ต่อไป
    บทที่ ๒
    ยโสธราเทวี
    ครั้นพระสิทธัตถะมีพระชนม์ได้ ๑๘ พรรษา พระพุทธบิดาก็ให้ทรงสร้างปราสาทอันวิจิตรตระการตาขึ้น ๓ องค์ สำหรับฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูดอกไม้หอม มีนามว่า จำปา กำลังออกดอก ปราสาทองค์ที่หนึ่งซึ่งมีนามว่า สุภะ นั้นสร้างด้วยไม้สักตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางซ้อนกัน และ ภายในกอปรด้วยไม้สนสลักเสลาเป็นลวดลายงามตา อันปราสาทองค์นี้มีไว้สำหรับประทับในฤดูหนาว เพราะเมื่อเสด็จเข้าไปแล้วความอบอุ่นจักบังเกิดขึ้นแด่พระองค์ ปราสาทองค์ที่สองนั้นมีนามว่า สุรมมะ สำหรับประทับในฤดูร้อนเพื่อผ่อนบรรเทาความร้อนอันโหดร้ายของธรรมชาติ องค์ปราสาทจึงก่อด้วยศิลาอ่อนขาวทั้งองค์ และปราสาทอีกองค์หนึ่งซึ่งมีไว้ สำหรับต้อนรับเวลาจำปาออกดอก และพืชผลทั้งหลายผลิใบ นั้น มีนามว่ารัมมะ อิฐเผาสีแดงฉาน ประกอบขึ้นเป็นพระ ปราสาทองค์นี้ และมีหลังคาทำด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินงาม
    บริเวณภายนอกพระปราสาททั้งสาม ก็ล้วนแล้วไปด้วยบุปผชาตินานาชนิด ชูช่อและส่งกลิ่นหอมระรวยรินอยู่ไม่ขาดสักทิวาวัน ถัดไปจากไม้ดอกก็มีไม้ดง ปลูกไว้รายเรียง ริมฝั่งน้ำอันไหลหลั่งถั่งแรง เสียงคะครึกครื้นมิได้ยั้งหยุด จะ เปรียบก็ประดุจพระโลหิตกษัตริย์หนุ่มอันสดสี ย่อมไหลแรง เร็วดี และไม่มีการถอยหลัง ดังนั้นความสุขสนุกสนานก็บังเกิดขึ้นทุกวันทุกเวลามิได้ขาด แต่ทว่า ยังมีหลายเวลา ซึ่งพระพักตร์ของพระสิทธัตถะหม่นหมองเหมือนพระสุริยะซึ่งต้องเมฆดำมาเป็นเงาบัง คราใดที่ทรงระลึกถึงความทุกข์อันแฝงอยู่ในสีกุหลาบของชีวิต ครานั้นพระพักตร์ของพระบรมโอรสก็ซีดสลดลงทันที
    การทั้งหมดนี้มิรอดพ้นความสังเกตของพระพุทธบิดาไปได้ พระองค์ทรงพระวิตกยิ่งนัก ด้วยหวาดหวั่นพระทัยว่า พระโอรสจะทรงหลีกทางโลกไปแสวงสุขในทางแคบ และโดดเดี่ยวเต็มไปด้วยความกันดาร เพื่อเสาะหาพระธรรมล้ำเลิศมาสั่งสอนมนุษย์เป็นแน่แท้ พระเจ้าสิริสุทโธทนะทรงเป็นกษัตริย์ ซึ่งรักมั่นและภาคภูมิในความเป็นขัตติยะยิ่งกว่าสิ่งใด อุดมคติของพระองค์คือการมีพระโอรสเป็นจักรพรรดิของยอดจักรพรรดิทั้งหลาย เพราะว่านั่นเป็นอำนาจสูงสุดและเป็นความสุขอย่างยิ่งยวด พระองค์มิทรงปรารถนาจะเห็นพระราชโอรสเป็นพระพุทธเจ้าผู้โปรดสัตว์เลยแม้แต่น้อย
    เมื่อเห็นพระสิทธัตถะทรงมีพระพักตร์หม่นหมอง เฝ้าวิตกวิจารณ์ถึงสุขทุกข์ของ มนุษย์ พระองค์ก็ทรงหวั่นไปว่าพระโอรสจะทรงสละทางโลกเสีย จึงทรงปรึกษาเหล่ามหาอำมาตย์หาทางป้องกันเสีย เหล่ามุขมนตรีกราบทูลว่า สิ่งที่จะผูกจิตมนุษย์ได้นั้นหาใช่โซ่ตรวนไม่ เส้นเกศาแห่งนางงามเท่านั้นจึงจะผูกจิตบุรุษได้ พระโอรสทรงเศร้าหมองดังนี้ เพราะยังมิได้ทรงอภิเษกสมรส ยังไม่ได้ทรงรู้จักความสุขยิ่งยอดอันเกิดจากความรัก ขอให้ทรงหานางผู้งามเลิศมาพระราชทานพระโอรสเถิด
    พระเจ้าสิริสุทโธทนะทรงเห็นว่า การเลือกชายาให้พระโอรสนั้นเป็นการมิชอบ เพราะว่าการที่พระองค์ทรงเลือกชายาให้พระโอรส “ก็เป็นเขาผู้อื่นเลือกรักให้สมสู่” ดูไม่เป็นการที่จะทำให้พระโอรสรู้จักรักจริงได้ จึงทรงตกลงว่าให้มีงานมโหฬารขึ้น แล้วให้นางงามทั้งหลายมาประชุมกัน และให้ทุกนางมารับของขวัญจากพระสิทธัตถะ พระองค์ต้องพระทัยนางใด ก็ให้อำมาตย์คอยสังเกตไว้ เมื่องานเสร็จลงแล้ว พระชนกจะทรงสู่ขอนางนั้นให้พระโอรส
    ไม่ช้า วันงานรื่นเริงในพระราชวังก็มาถึง เหล่ากัลยาณีทั้งหลายแต่งกายของตนอย่างวิจิตรเพริศแพร้ว หวีเส้นเกศาอันดำสนิทแล้วเกล้าเมาฬี แต้มขนตาด้วยน้ำยาอันเป็นเสน่ห์ละลานจิต มือเท้าน้อย ๆ นั้นย้อมด้วยชาดสีงาม ต่างสวมเครื่องประดับ ลูบไล้วิเลปนะอันมีกลิ่นหอมชวนจิตพิศวง แล้วต่างก็เยื้องกรายเข้าวังใน พอถึงเวลา ดรุณีแห่งกบิลพัสดุ์ ก็ค่อย ๆ เดินผ่านบัลลังก์พระโอรส ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่เป็นสง่าน่าเกรง พอนางนั้น ๆ ชม้อยชม้ายเนตรอันดำขำ ขึ้นสบเนตรพระกุมาร ต่างก็เกิดความประหวั่นกลัว ใจระรัวสั่น มิอาจเอื้อมยกตนขึ้นเป็นคู่เสน่หาแห่งพระองค์ได้ พระกุมารนั้นประทับสงบนิ่ง พระพักตร์อ่อนหวานกรุณาและดวงเนตรเพียบไปด้วยความปรานี แต่ก็หาอาจจะมีนางใดกล้าสบเนตรได้ ต่างรับของขวัญจากพระหัตถ์ด้วยมือสั่นระรัวแล้วห่อไหล่ ค้อมตัว เดินหลบหายเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่เพื่อนกันเสียโดยเร็ว ทุกนางมิอาจมีอาการสงบนิ่งอยู่ได้ เกิดประหวั่นพรั่นใจ กายสั่นระรัวด้วยกันทุกนาง
    และแล้ว นางสุดท้ายก็ได้ดำเนินมาตรงพระพักตร์ กัลยาณีโฉมงามดังอัปสรสวรรค์ อาการเยื้องกรายก็งามสง่าเหมือนพระลักษมี สองเนตรเทวีดำสนิท แล้วมีแววหวานบริสุทธิ์เหมือนตานางเมื่อเวลารัก เธอหยุดลงตรงพระพักตร์พระกุมาร พนมหัตถ์ขึ้นระหว่างอุระ ชูศอแล้วเงยพักตร์ขึ้นสบเนตรพระองค์ ยิ้มอย่างแจ่มใส พลางทูลถามไม่ลดเลี้ยวว่า “หม่อมฉันจะได้รับของขวัญไหมเพคะ”
    บุคคลซึ่งอยู่ใกล้ชิดในเวลานั้น ได้กราบทูลพระเจ้าสิริสุทโธทนะว่า
    “ทันทีที่พระโอรสทอดพระเนตรเห็นยอดกัลยาณียโสธรา ธิดาแห่งสุปปพุทธะ พระพักตร์ของพระองค์เปลี่ยนไปเห็นถนัด”
    พระกุมารทรงตอบว่า “ของขวัญนั้นหมดเสียแล้ว แต่ขอให้ภคินีผู้ทรงโฉมงามล้ำรับเอาสิ่งนี้ไป”
    ตรัสแล้วก็ทรงถอดสร้อยพระศอมรกตออกคาดเอวอันอรชร อันหุ้มไว้ด้วยกำมะหยี่ดำ พระเนตรสบเนตรนางด้วยความรักอันท่วมท้นมิอาจปกปิดไว้ได้
    เมื่อพระพุทธบิดาทรงทราบแน่ว่า พระโอรสผูกสมัครรักใคร่ยโสธราแล้ว ก็ทรงแต่งทูตให้ไปสู่ขอนางจากพระสุปปพุทธะผู้เป็นชนก แต่พระสุปปพุทธะตรัสตอบว่า ตามธรรมเนียมนางกษัตริย์ในศากยะตระกูลนั้น ผู้จะเป็นคู่ของนาง ต้องแสดงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในยุทธศิลปศาสตร์ อาจรบชนะผู้ท้าทั้งหลายให้ได้เสียก่อน พระองค์ทรงสั่งมากับทูตว่า
    “ลูกของเรานี้มีโอรสกษัตริย์ปองอยู่มากหลาย หากว่าพระโอรสของ กษัตริย์ท่านโก่งศรแกว่งดาบ และขี่ม้าได้ดีกว่าผู้ใด เธอก็จะได้นางไปเป็นชายา แต่เราสงสัยนัก พระสิทธัตถะหรือจะทำกิจของนักรบได้ เธอแก่วัดออกยังงั้น”
    พระเจ้าสิริสุทโธทนะก็เสียพระทัยที่พระโอรสจะไม่ได้นางผู้เป็นที่รัก แต่พระกุมารหนุ่มทูลว่า ให้ทรงจัดการประลองรบขึ้นเถิด พระองค์ได้ทรงฝึกฝนวิชาของบุรุษอยู่บ้างเหมือนกับพระญาติเหล่านั้น เมื่อพระองค์ทรงรักนางแล้ว หายอมเสียนางไปไม่
    ด้วยเหตุที่พระสิทธัตถะตรัสดังนี้ เจ็ดวันหลังจากนั้น ก็มีพิธีประลองกำลังครั้งใหญ่ ผู้ใดได้ชัยชนะ ผู้นั้นก็จะได้นางยโสธรา พระเทวทัตผู้ชำนาญทางศร พระอรชุนผู้เก่งทางขี่ม้า และพระนันทะผู้เชี่ยวชาญดาบ ก็ไปประชุมพร้อม พระสิทธัตถะนั้นทรงม้ากัณฐกะสีขาวผ่อง ซึ่งวิ่งระเริงร้องก้องกังวานเพราะความแปลกตาเข้ามาในสนามยุทธ์ พระโอรสกวาดพระเนตร ตรวจดูมหาชนทั่ว และเมื่อทอดพระเนตรเห็นยโสธราจอมขวัญ ก็เสด็จลงจากอัสดรกัณฐกะ และร้องประกาศว่า
    “ผู้ที่ทรงไว้ซึ่งความเลิศเท่านั้นจึงจะคู่ควรกับมุกดาเทวีผู้นี้ ขอให้เรามาพิสูจน์ฝีมือกันเดี๋ยวนี้”
    ทีแรกพระนันทะท้ายิงธนู โดยใช้เป้ากลองทองเหลือง วางในระยะไกลหกโกศ พระเทวทัตขอยิงในระยะแปดโกศ แต่พระสิทธัตถะขอให้เลยสิบโกศออกไป จนกระทั่งมองเห็นกลองเท่าหอยแครงเท่านั้นเอง พระนันทะยิงทะลุกลองของเธอ พระอรชุน พระเทวทัตก็ดุจกัน ฝูงชนโห่ร้องชมเชยขึ้นอึงมี่ จนนางยโสธราต้องยกพัสตราขึ้นคลุมเนตรด้วยความหวาดหวั่นว่า พระผู้เป็นที่รักจักพ่ายแพ้แก่คู่ต่อสู้
    พระสิทธัตถะทรงจับคันศรของพระญาติขึ้นน้าวสาย กำลังแรงทำให้ศรนั้นหักลงกับหัตถ์ ทั้ง ๆ ที่ว่าศรนั้นมีกลางคันอันหนา ชายชาตรีซึ่งมีกรแข็งแรงอย่างยิ่งเท่านั้นจึงจะทำให้โค้งได้ พระโอรสหนุ่มตรัสว่า “ศรนี้เป็นของเล่น คันศร ใหม่ที่แข็งแรงสมศักดิ์กษัตริย์ศากยะนั้นไม่มีหรือ ?”
    มีผู้ทูลตอบว่า มีศรชื่อสิงหหานุใหญ่เหลือและแข็งแรงมาก คันทำด้วยเหล็ก เก็บไว้ในโบสถ์หลายร้อยปีมาแล้ว ไม่ปรากฏว่าเป็นของใคร และหาเคยมีใครอาจใช้ได้ไม่ พระสิทธัตถะทรงสั่งให้ไปนำศรนั้นมาส่งให้พระอนุชาน้าวสายก่อน แต่หามีพระองค์ใดแข็งแรงพอที่จะโน้มปลายให้เข้าใกล้คันกว่าศอกหนึ่งได้ไม่ พระองค์จึงรับคันศรมาน้าวสายแล้วเสียบลูกศรลงที่ช่องเสียบ ยิงไปด้วยกำลังแรง ศรถลาวิ่งประดุจนกอินทรี เสียงสนั่นกังวานอากาศ จนผู้เจ็บไข้มิอาจมาในงานนั้นได้ ต้องลุกขึ้นถามกันว่า “เสียงอะไรนั่น” ลูกศรวิ่งถลาออกไปทะลุกลองอันวางไว้ไกลถึงสิบโกศกว่านั้น แล้วยังแล่นต่อไปอีกไม่หยุดยั้ง
    ต่อไปพระเทวทัตท้าใช้ดาบตัดต้นไม้ พระองค์เองทรงตัดต้นตาลหนาหกนิ้วด้วยการฟันเพียงครั้งเดียว พระอรชุน ตัดต้นไม้หนา ๗ นิ้ว และพระนันทะตัดต้นไม้ได้หนาถึง ๙ นิ้ว แต่พระสิทธัตถะทรงตัดต้นไม้มหึมาคู่หนึ่ง ด้วยการฟันเพียงครั้งเดียวเท่านั้น รอยดาบราบดีจนต้นไม้นั้นขาดจากโคนแล้วยังยืนตรงอยู่ ณ ที่เก่า ไม่ล้มลงไปได้
    คราวนี้ถึงคราวขี่ม้าแข่ง ม้ากัณฐกะของพระกุมารก็วิ่งได้รวดเร็วกว่าม้าของพระญาติทั้งสาม พระนันทะตรัสค้านว่า หาได้เป็นเพราะความเก่งของผู้ขับขี่ไม่ ม้ากัณฐกะนั้นฝีเท้าเร็วเอง ถ้าหากพระองค์ทรงขี่กัณฐกะก็อาจชนะได้เหมือนกัน ขอให้มาปราบม้าพยศแข่งกันดีกว่า
    เขาจึงได้นำม้าพยศกล้า กายสูงใหญ่ ดำมันสนิทเหมือนค่ำคืน ตาดุขวาง จมูกบานกว้างใหญ่ ผมยาวยุ่งเหยิงด้วยไม่ได้ตัดสาง มีโซ่ล่ามอยู่สามชั้น โกลนอานใดหามีไม่ เพราะมันพยศนัก ใครจะขึ้นหลังไม่ได้เลย
    กษัตริย์หนุ่มตรัสสั่งให้เอาโซ่ออก แล้วผลัดกันขึ้นหลัง ม้าดุโลดเต้นสลัดเอาพระเทวทัต และนันทะตกลงมาเจ็บปวด ได้ความอายเป็นอันมาก พระอรชุนขึ้นบังคับควบขับไปได้สักครู่ มันก็บันดาลโทสะ หันมาแว้งกัดขาอรชุนผู้แกล้ว ร่วงผลุนลงมา ผู้เลี้ยงม้าต้องรีบวิ่งไปเอาโซ่พันถึงสามชั้น ฝูงชนร้องว่า “ม้านี้บ้านัก ขอพระสิทธัตถะอย่าจับม้าผีนี้เลย”
    แต่พระกุมารทรงบอกเขาว่า ให้แก้สายโซ่ออกและให้ส่งผมม้ามา พระองค์ค่อย ๆ จับผมม้า ก้มลงกระซิบปลอบเบา ๆ วางหัตถ์ขวาลงบนตาทั้งสอง แล้วผจงลูบหน้าและลีข้างด้วยความปรานี ม้าซึ่งคึกคะนองเหนื่อยหอบอยู่ ก็มีอาการสงบนิ่ง ก้มหัวลงดุจคำนับ และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นหลัง ก็มีอาการสงบนิ่งประดุจมันมีความเคารพรักพระองค์ พระสิทธัตถะใช้พระชงฆ์แตะสองข้างม้าเบา ๆ แล้วมันก็วิ่งไปอย่างเรียบร้อย
    คนดูทั้งหลายต่างร้องว่า “พระสิทธัตถะทรงชนะแล้ว ใครอื่นอย่าขวนขวายต่อสู้อีกเลย”
    ดังนี้ยโสธรานงเยาว์ก็ทรงลุกจากที่ประทับ หยิบพวงโมกขรมาลา เสด็จดำเนินผ่านปวงขัตติยะและปวงชน ไปถึงที่ซึ่งพระโอรสเสด็จลงจากพาชี ก้มองค์ลงอัญชุลีแล้วทรงสวมพวงมาลัยรอบพระศอพระโอรสหนุ่ม พระองค์ทรงโอบนางไว้แนบพระอุระ แล้วก็จูงหัตถ์นางกลับมายังพระพลับพลา
    ไม่ช้าพิธีอภิเษกสมรสแห่งขัตติยะสองก็มีขึ้นอย่างมโหฬาร เพื่อจะผูกเสน่หาไว้ไม่ให้เหือดหาย และทรงละทิ้งโลกียสุขไปได้ พระบิดาจึงทรงสร้างมหาปราสาทรักขึ้นไว้ สำหรับพระโอรสหนุ่มและพระสุณิสา รอบบริเวณปราสาทนั้น มีเขาโรหิณีสีเขียวสด รอบเขาชุ่มไปด้วยธารน้ำใสสะอาดไหล ผ่านระริกเรื่อยจากต้นน้ำหิมาลัยไปสู่มหาสมุทร มีไม้ดอกไม้ผลสะพรั่งพร้อม และปราสาทนั้นก็อยู่ไกลจากฝูงชน ความสกปรกอันใด ไม่ให้เกิดมีขึ้นเป็นอันขาด ผู้รักษาปราสาทต้องปลิดดอกไม้ที่จะโรยทิ้งเสียก่อนที่มันจะเหี่ยวคาต้น ใบไม้ ซึ่งเหลืองตายต้องไม่ให้พระโอรสได้เห็นเลยเป็นอันขาด แม้นางสนมกำนัลผู้ขับฟ้อนบำเรอถวาย หากเกิดป่วยไข้หรือเป็นลมโดยปัจจุบัน นางนั้นจะต้องเนรเทศออกจากสถานแห่งบรมสุขนี้ บุคคลซึ่งแก่กายแล้วจะไม่ได้ปรากฏ เรื่องความทุกข์ของโลกภายนอกทั้งหลาย ใครอย่าได้นำมากล่าวเป็นอันขาด แม้จะประดิษฐ์ขึ้นเป็นเพลงร้องก็มิได้ พระบิดาวางโทษผู้กล่าวถึงความทุกข์ทั้งหลายไว้ว่าเป็นกบฏ พระโอรสจักได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง แต่ความรื่นรมย์และความสดชื่นเท่านั้น
    เมื่อสร้างความสุขทั้งมวลไว้ในมหาปราสาทอันมโหฬารนั้นแล้ว เพื่อจะกักโอรสไว้แต่ในที่คุมขังแห่งความรักและความสนุกเพลิดเพลิน พระองค์ทรงสร้างกำแพงใหญ่ล้อมรอบพระปราสาท ณ ที่ห่างไกล สร้างประตูใหญ่ซึ่งต้องใช้คนเปิดถึงร้อยคน เสียงเปิดประตูนั้นกังวานก้องไปทุกหนทุกแห่ง แล้วทรงสร้างกำแพงและประตูขึ้นอีกสองชั้นรวมเป็นสามด้วยกัน ลงสลักมั่นลั่นกุญแจและมีคนเฝ้าแข็งแรง พระบิดาสั่งแก่ยามว่า
    “อย่าให้ใครเข้าออกเป็นอันขาด แม้แต่ลูกเราก็มิได้ หากละเมิดคำสั่ง โทษเจ้าถึงตาย
    ประทีปแห่งเอเซีย ๐๒
    “โรจนากร”
    แปลเก็บความ จากคำโคลงภาษาอังกฤษ
    เรื่อง The Light of Asia โดย Sir Edwin Arnold
    พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๒
    โดยชมรมนักเรียนเก่าแอลเอสอี (LSE)
    บทที่ ๓
    เสียงครวญของสายพิณ
    ภายในมหาปราสาทแห่งความรักของพระสิทธัตถะนั้น เต็มไปด้วยความสงบสุขและรื่นรมย์ พระพุทธองค์ของเราไม่เคยรู้จักความทุกข์ เรื่องเดือดร้อนอันใดก็ไม่เคยได้ยิน เพราะพระบิดาตรัสสั่งไว้อย่างเข้มงวดหนักหนาว่า อย่าให้ผู้ใดเอ่ยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนอกกำแพงปราสาทนี้เลยเป็นอันขาด แม้กระนั้น ก็มีหลายครั้งที่พระบรมโอรสบรรทมหลับแล้วทรงสุบินว่า ได้เสด็จออกไปนอกปราสาท ทอดพระเนตรเห็นโลกอันกว้างใหญ่ บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงสะดุ้งผวาตื่น ออกโอษฐ์อุทานว่า
    “โลกของฉัน โลก-ฉันได้เห็น ได้ยินและได้รู้ทั้งหมด ฉันมาในโลกนี้แล้ว”
    และเมื่อนั้นพระนางยโสธราเทวี ซึ่งถวายการปรนนิบัติพัดวีอยู่ ก็จะประหวั่นจิตหวาดพระทัย และทูลถามว่า ประชวรเป็นอะไรไปหรือ พระสิทธัตถะก็จะทรงรู้สึกองค์และทรงปลอบโยนพระชายาให้หายตระหนกอกสั่น พระพักตร์ของพระองค์ซีดสลด น้ำพระเนตรไหลคลอพระนัยนา แต่ก็ทรงฝืนยิ้มและรับสั่งให้นางนาฏกาดีดพิณสีซอถวาย ผู้อื่นได้สดับเสียงซอนั้นก็ชื่นจิตเหมือนได้ยินเพียงคนสรวลระเริงใจ แต่องค์พระโอรสนั้นทรงแว่วว่า เสียงซอครวญสะอื้นไห้รำพันว่า
    “เรานี้คือเสียงของลมพายุ ซึ่งพัดไปด้วยความโหยหา ความสงบแห่งดวงจิต แต่ก็หามีเวลาสงบลงได้ไม่ ชีวิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกับลม ความสงบไม่มี จึงมีแต่ความครวญคร่ำ โหยหาและสะอื้นไห้
    เรามาจากไหน ไปที่ใด เกิดจากแหล่งใดไม่เคยทราบ เราก็เหมือนท่าน เราเป็นเพียงที่ว่าง ไม่มีอะไรยืนยง เรามีแต่ความทุกข์ไม่รู้จักหาย แต่พระองค์มีแต่ความสุขสำราญ ไม่รู้จักหมด แต่ความรักนั้นก็จะหมดลงสักวันหนึ่ง เพราะชีวิตก็เหมือนกันกับสายลม ไม่มีความยืนยงคงอยู่ตลอดไป
    พระโอรสแห่งมายา จงทราบเถิด ในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์แสนสาหัส เราได้ท่องเที่ยวไปรอบโลก ได้เห็นความทุกข์หลายอย่างต่าง ๆ กัน
    ชีวิตนี้คือความว่างเปล่า เราจะไขว่คว้าอะไรมาไว้เป็นของเราได้หรือ เราจะคว้าเมฆมาไว้ในหัตถ์และห้ามห้วงน้ำมิให้ไหลรินได้หรือ
    โอ้ -พระโอรสทรงตื่นเถิด อย่าบรรทมหลับอยู่เลย โลกกำลังเศร้านัก โลกกำลังจะจม โลกกำลังรอคอยพระองค์อยู่
    ขอพระทรงตื่นขึ้นและทรงช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์เถิด จงละเสียซึ่งอำนาจจักรพรรดิในประเทศ
    เราคือลมซึ่งพัดไปรอบโลก และเรามาครวญคราง ณ สายซอหิรัญนี้ ก็เพื่อหวังจะให้พระผู้หลับอยู่และไม่รู้จัก ได้รู้จักโลก เราหวังจะให้พระรู้ว่ากษณะนี้พระองค์ได้เล่นแต่เงางามเท่านั้น
    นับแต่นั้นมา พระหฤทัยของพระบรมโอรสก็มิอาจตั้งอยู่ในความรื่นเริงดังแต่ก่อนได้ เสียงซอก็กลายเป็นลมคราง นางระบำและการฟ้อนทั้งหลายล้วนแต่ทำให้เกิดความเหนื่อยหน่าย พระองค์กลับสนพระทัยในนิยายต่าง ๆ ซึ่งนางกำนัล นำมาเล่าถวาย ในคราวหยุดพักจากการฟ้อนรำ นางนั้นเล่าถึงสิ่งประหลาดต่าง ๆ เล่าถึงบุคคลผู้มีผิวขาว เล่าถึงดวงตะวันอันตกจมลงในมหาสมุทรในยามสนธยา พระทรงฟัง แล้วก็ซักถามไม่ได้หยุด โลกของเรานั้นใหญ่กว้างนักหรือ มนุษย์ผู้อื่นที่เหมือนเรานั้นยังมีอีกหรือ ถ้าเรารู้จักเขา เราจะช่วยเขาได้ไหม พระอาทิตย์นั้นขึ้นจากขอบฟ้าในเวลาเช้า และไปตกลงในมหาสมุทรยามอัสดง เราจะเป็นเหมือนพระอาทิตย์ ไปอยู่บนท้องฟ้า ดูแลคนให้ทั่วได้หรือ
    พระสิทธัตถะรู้สึกพระองค์ว่าทรงกลัดกลุ้มพระทัยเหมือนจะประชวรไข้อยู่ แล้วตรัสถามเขาถึงเรื่องม้ากายสิทธิ์อันเหาะได้รวดเร็วของเทวดาว่า มีจริงหรือ พระองค์ทรงปรารถนาม้านั้น เพื่อจะได้ขับขี่ไปดูโลกอันกว้างใหญ่ ทรงปรารถนาปีกของนกอินทรี อันจะพาพระองค์เหาะทะยานลิ่วออกไปยืนบนยอดเขาหิมาลัยอันสูงสุด แล้วมองดูว่าภายนอกพระทวารปราสาทนั้นมีอะไรอยู่บ้าง
    มีผู้ล่วงละเมิดพระบรมราชโองการพระบิดาเป็นคนแรก กราบทูลว่า ภายนอกนั้นมีเรือกสวนไร่นาป่าร้าง และมีโบสถ์ มีพระมหานครอันกว้างใหญ่ของพระเจ้าพิมพิสาร และในโลกนี้มีมนุษย์หลายอย่างต่าง ๆ กัน หลายสิบโกฏิเหลือจะพรรณนาได้
    พระโอรสรับสั่งว่า “ดีแล้ว ไปบอกฉันนะผู้สารถี ให้เทียมรถของเราไว้ พรุ่งนี้จะออกไปดูอะไรที่ไกล ๆ ออกไป”
    พระเจ้าสิริสุทโธทนะได้ทรงสดับอำมาตย์ทูลความปรารถนาของพระโอรส ก็ทรงว้าวุ่นพระทัยยิ่งนัก พระองค์ทรงตระหนักดีว่า ถึงเวลาแล้วที่พระโอรสจะได้ทรงรู้จักโลก แต่อีกพระทัยหนึ่งก็เกรงพระสิทธัตถะจะไปทอดพระเนตร เห็นความสกปรกและสิ่งโทมนัสพระทัยเข้า จึงทรงสั่งให้ป่าวประกาศราษฎรทุกคนว่า พระโอรสจะเสด็จเลียบพระนคร ให้ตกแต่งบ้านเรือนให้งามตา เอาบุปผานานาพรรณมาแต่งซุ้มประตู สิ่งที่จะทำให้หดหู่ใจให้เก็บซ่อนเสียจงสิ้น ในวันนั้น คนแก่ชราร่างร้าย คนเจ็บจวนตาย คนพิการง่อยเปลี้ยเสียขา อย่าปรากฏให้เห็น แม้กระทั่งการเผาศพซึ่งจำเป็นก็ของดไว้ก่อน ให้วันนั้นสิ้นไปแล้วจึงทำ
    ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระโอรสเสด็จทอดพระเนตรพระนคร ก็ทรงเห็นแต่สิ่งล้วนงามตา ชาวเมืองหญิงชายเด็กเล็กแต่งกายอย่างดีที่สุก มาหมอบเฝ้ารายเรียงถวายช่อดอกไม้และคารวะ ต่างยิ้มสรวลสันต์เบิกบานประหนึ่งว่าโลกนี้หาเคยมีคำว่าทุกข์ไม่ พระสิทธัตถะทรงพอพระทัยยิ่ง ตรัสว่า
    “โลกของเรานี้ งามจริงหนอ คนทั้งหลายก็ใจดี หนุ่มสาวเหล่านี้ก็ล้วนขยันในการงาน เขาช่างใจดีจริงหนอ ดูสิฉันยังไม่ทันทำอะไรให้เขาเลย เขาก็มาเอาใจใส่ในฉัน เด็ก ๆ เหล่านี้ก็รักฉัน เขาคงจะรู้ว่าฉันรักเขาเป็นแน่ เขารู้ได้อย่างไรหนอ ดีจริง ประหลาดจริง บ้านเมืองของเรานี้ช่างมีแต่คนยิ้มแย้มแจ่มใส ฉันนะ ขับรถออกนอกประตูเมืองสิ โลกนี้งามดีชวนให้ดู เราอยากเห็นทั้งหมด”
    พอรถทรงเจ้าชายหนุ่มผ่านไป ฝูงชนโห่ร้องด้วยความยินดี บ้างเอาดอกไม้พวงมาลามาถวาย บ้างก็เข้าไปลูบคลำวัว เอาขนมและถั่วไปให้วัวกิน ต่างคนมีความยินดีทั่วหน้า ที่ได้เห็นเจ้านายของตน
    ท่ามกลางความสวยงามและความโห่ร้องยินดีนั้นเอง ชายชราร่างเล็กคนหนึ่งคลานงุ่มง่ามออกมาจากกระต๊อบอันมีหลังคาโหว่และฝาทะลุของแก ร่างกายชายนั้นแสนจะสกปรก เครื่องนุ่งห่มสีซีดและเปื่อยขาด แค่พันกายก็เกือบจะมิมิด หลังงองุ้มจวนจะพับเป็นสองอยู่แล้ว เพราะต้องแบกภาระมานาน เนื้อหนังตกกระ ถูกแดดเผาดำเกรียมเหี่ยวย่นติดกระดูก จะหาเนื้อแต่สักน้อยก็แสนยาก ขอบตาแดงช้ำด้วยสนิมน้ำตาอันเกาะเป็นคราบมานานหนักหนา ลูกตามัวเป็นน้ำข้าว เมื่ออ้าปากก็ไม่มีฟัน ขากรรไกรสั่นอยู่งันงกประดุจเป็นไข้สันนิบาต แกถือไม้เท้าตัวสั่นรัวเดินหลังโค้งโก้งมาถึงกระบวนคนซึ่งยืน อยู่ หอบหายใจฮัก ๆ พลางร้องครางว่า
    “ได้โปรดสงสารคนยากจนเถิด หิวจะตายอยู่แล้ว”
    คนยืนอยู่ข้าง ๆ เห็นแกออกมาก็ตกใจ พากันฉุดแข้งขาลากแขนให้แกออกไปเสีย พลางบอกว่า
    “นั่นเจ้านาย เห็นไหม กลับไป กลับไปรังของแก”
    พระโอรสหันมาทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ตกพระทัย ทรงพิศวงยิ่งนัก ด้วยไม่เคยทรงเห็นคนแก่ชราอย่างนี้มาแต่ก่อน ทรงถามนายสารถีว่า
    “ฉันนะ นั้นตัวอะไรน่ะ ดู ๆ ก็คล้ายคน แต่ทำไมหลังงอโค้ง ตัวสั่นลำบากดังนั้น น่าสงสารเหลือเกิน เขาไม่มีอาหารกินหรือ กระดูกจึงได้โปนออกมาดังนั้น ทำไมเขาจึงร้องว่าเขาจะตาย มันแปลว่าอะไร ฉันนะ จงบอกให้เขาเข้ามาเถิด”
    นายฉันนะสารถีผู้มีใจซื่อ ทูลถามความเป็นจริงว่า
    “พระทูลกระหม่อมเจ้าข้า นี้คือคนเหมือนกัน และเมื่อแปดสิบปีก่อน เขายังแข็งแรงว่องไวสวยงามอยู่ นัยน์ยาก็ใสแจ๋วดี ดวงประทีปซึ่งเคยสุกใสในครั้งหนึ่งนั้น บัดนี้น้ำมันได้หมดเสียแล้ว ไส้ก็ไหม้ดำ ดวงชีวิตของเขายังเหลืออยู่น้อยหนึ่ง ไม่ช้าก็จะดับไปพระเจ้าข้า”
    พระโอรสรับสั่งถามว่า “ฉันนะ คนเราต้องเป็นดังนี้ทุกคนหรือ”
    “เมื่อมีอายุล่วงนานไปก็เป็นดังนี้ทุกคนพระเจ้าข้า”
    “ฉันก็เหมือนกันหรือ ฉันนะ ถ้ายโสธราอยู่ถึงแปดสิบปี ก็เป็นดังนี้หรือ ชาลินี คุงคา โคตมี หัสดาน้อย และ ใคร ๆ ก็เป็นดังนี้หรือ ฉันนะ”
    “พระเจ้าข้า เช่นนั้น” นายสารถีทูลสนองพระวาจา
    พระโอรสรับสั่งว่า “กลับรถเถอะ ฉันนะ พาฉันไปส่งบ้าน เราได้เห็นสิ่งซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีอยู่”
    พระโพธิสัตว์ มีพระพักตร์อันซีดเผือด พระทัยเศร้าหมองและหดหู่ รีบเสด็จเข้าวัง แล้วนิ่งขรึม ไม่แย้มสรวล และไม่เสวยกระยาหาร ไม่เหลียวดูเหล่านางรำที่ขับฟ้อนบำเรอ ให้เห็นที่สำราญหฤทัย ยโสธราเทวีเห็นพระสวามีหม่นหมอง และไม่เอื้อนโอษฐ์แต่ประการใด ก็หวาดหวั่นพระทัยนัก เกรงไปว่าพระองค์ไม่พอพระทัยในการปรนนิบัติของพระนาง จึงกันแสงไห้แล้วทูลถามว่า พระนางได้ทรงกระทำอันใดไม่เป็นที่พอพระทัยหรือ
    พระสิทธัตถะปลอบชายาว่า ที่พระองค์เศร้าเช่นนี้ หาใช่เพราะนางไม่ หากเพราะทรงคำนึงถึงว่า ความสุขทั้งหลายนั้น ที่แท้คือความทุกข์หนัก เพราะมันไม่อยู่ยืนนาน เวลาย่อมเข้ามาแทรกแซง ทำลายสิ่งสวยงามให้หมดสิ้นไป ร่างกายจะเต็มไปด้วยเส้นเอ็นระเกะระกะ หลังงอโค้ง และเนื้อก็เหี่ยวย่น เมื่อตรองถึงสิ่งนี้ พระองค์ก็มิอาจเป็นสุขอยู่ได้
    ในคืนวันนั้น พระบิดาทรงสุบินถึงสิ่งน่าหวาดหวั่น และซึ่งเข้าพระทัยไม่ได้อยู่เจ็ดประการ
    อันแรกซึ่งสุบินเห็นคือ ธงใหญ่ของพระอินทร์ถูกลมพัดขาดยับ และปลิวไปตกยังฝุ่นละออง ทันใดนั้นมีเงาเข้ามาหยิบเอาธงขาดออกไป
    อันที่สอง เห็นช้างสารใหญ่งาขาวสิบเชือก เดินสะเทือนเลื่อนลั่นมาจากทิศทักษิณ พระโอรสประทับมาบนคชสารใหญ่ตัวนำ และมีฝูงชนเดินตามมาเป็นแถว
    อันที่สาม ทรงเห็นราชรถเพลาตก ลากด้วยม้าวิเศษสี่ตัว และพระโอรสประทับอยู่ในรถนั้น
    อันที่สี่ มีจักรทองหมุนวนมาแต่ไกล กำกงฝังเพชรพลอยสุกใส มีอักษรจารึกในดุมกงของล้อ และเวลาที่หมุนไปก็มองดูโชติช่วง ประดุจแสงเพลิง เสียงดนตรีเสนาะกังวานออกจากคำจารึกนั้น
    อันที่ห้า คือกลองใหญ่มหึมาวางอยู่ระหว่างเมืองและขุนเขาต่าง ๆ พระโอรสถือตุ้มเหล็กใหญ่เสด็จมาตีกลอง เสียงสนั่น ก้องไปทั่วทุกทิศ
    อันที่หก เป็นหอใหญ่สูงโดดขึ้นไปถึงฟ้า พระสิทธัตถะยืนอยู่บนหอ สองหัตถ์โปรยแก้วมณีนพรัตน์ลงมาดังสายฝนให้แก่ปวงชนทั่วโลก ซึ่งเบียดเสียดกันเข้ามาเก็บแก้วมณี
    อันที่เจ็ด คือเสียงคนร้องโอดครวญแล้วมีคนหกคนเดินร้องไห้ออกไป
    พระเจ้าสิริสุทโธทนะทรงให้บรรดาโหราจารย์ทำนาย พระสุบินนี้ แต่หามีใครอาจทายถูกไม่ พอดีมีผู้เฒ่าคนหนึ่ง แต่งกายอย่างฤๅษีมาจากไหนไม่ปรากฏ รับอาสาทำนายพระสุบินถวาย ผู้ชรากราบทูลพระราชาว่า พระสุบินนี้ดียิ่งนัก สิ่งที่เห็นทั้งเจ็ดอย่างนั้นแหละคือความปีติใหญ่ยิ่ง ๗ ประการ ด้วยกัน
    อันที่หนึ่ง ธงพระอินทร์ขาดยับนั้นหมายความว่า ความเชื่อถืออย่างเก่าจะหมดไป
    อันที่สอง ช้างสารสิบเชือกนั้นหมายถึงทศพลญาณของพระบรมศาสดา
    อันที่สาม ม้า ๔ ซึ่งเทียมราชรถนั้นหมายถึงว่า จตุราริยลัจซึ่งจะนำพระโอรสให้พ้นความเศร้าหมองและสงสัยทั้งปวง
    อันที่สี่ ล้อหมุนคือพระธรรมจักรอันล้ำเลิศ และ
    อันที่ห้า กลองใหญ่ซึ่งพระโอรสทรงตี หมายความว่า คำสอนของพระองค์จะสะท้อนไปทั่วทั้งโลกสาม
    อันที่หก รัตนะมีค่าล้ำที่พระโอรสทรงโปรยปรายประทานปวงชนนั้น คือพระธรรมอันล้ำเลิศซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน และเป็นที่ต้องประสงค์ของมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย
    อันสุดท้าย หกคนที่ร้องไห้นั้น คืออาจารย์ของพระโอรสผู้ยิ่งกว่าตนเอง
    ผู้ชรานั้นทำนายถวายแล้วก็กราบบังคมลาหายไป พระเจ้าสิริสุทโธทนะให้อำมาตย์ไปตาม เพื่อพระราชทานรางวัล แต่หาตามพบไม่ เขากลับมากราบทูลว่า เมื่อไปถึงที่เทวาลัยซึ่งฤๅษีนั้นอยู่ ได้พบแต่นกเค้าแมวบินจากแท่นบูชาเท่านั้นเอง
    พระเจ้าสิริสุทโธทนะได้ทรงสดับคำทำนายก็ยิ่งทวีความหวาดหวั่นว่า พระโอรสจะเสด็จออกทรงผนวชเพื่อแสวงหาธรรมเสีย จึงรับสั่งให้เพิ่มจำนวนทหารยามประตูขึ้นอีก การดูแล ให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น
    แต่อนิจจา พระองค์จะทรงห้ามดวงตะวันมิให้ส่องแสง ห้ามได้หรือ ?
    พระโอรสหนุ่มขอพระราชทานอนุญาตเสด็จเลียบพระนครอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้ขอเสด็จอย่างเงียบ ๆ ปลอมพระองค์อย่างชนสามัญออกไป และขออย่าให้ราษฎรรู้ตัวก่อน เพราะทรงปรารถนาจะเห็นภาวะที่แท้จริงของราษฎร ทูลพระบิดาว่า
    “กลับมาคราวนี้ หม่อมฉันจะไม่ทูลขออีกต่อไป เพราะได้เห็นทุกอย่างสิ้นแล้ว ถ้าได้เห็นว่าคนเป็นสุขทั้งหมดก็จะสบายใจ แต่ถ้าได้เห็นคนเป็นทุกข์ หม่อมฉันก็คงได้ความฉลาดขึ้นบ้าง”
    พระบิดาไม่อาจขัดพระทัยพระโอรส จำต้องพระราชทานอนุญาต
    ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น โดยพระบรมราชโองการ ทหารยามต้องเปิดประตูให้พ่อค้าคนหนึ่งและเสมียนออกไป พระสิทธัตถะกับนายฉันนะนั่นเอง
    อันสภาพของชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นในครั้งนี้ ก็เป็นไปดังที่มันเป็นอยู่แต่เดิม ปราศจากการตบแต่งเพื่อลวงแต่อย่างใด
    ตามถนนเซ็งแซ่ไปด้วยศัพท์สำเนียงต่าง ๆ พ่อค้านั่งขัดสมาธิริมทาง ร้องขายเครื่องเทศและเสื้อผ้าอึงมี่ ผู้ซื้อก็ยืนต่อราคา เกี่ยงกัน ทะเลาะกันวุ่นวาย รถบดหินวิ่งมาและเสียงร้องตะโกนให้หลีกทาง คนหามแคร่เดินร้องเพลงมาอย่างสบายใจ มองไปอีกทางหนึ่ง ก็เห็นร้านชำขายของต่าง ๆ แมลงวันตอมอยู่วุ่น หญิงหนึ่งทูนไหน้ำเดินมาท่าทางทะมัดทะแมง มือหนึ่งอุ้มเด็กอ่อนตาดำ ๆ ช่างทอผ้าก็ชักเส้นด้าย กระตุกกระสวย ช่างทำเกราะเอาฆ้อนตีแผ่แผ่นเหล็กออกไปให้บาง บ้างก็เอาหอกดาบซุกเข้าไปในเตาไฟแดงฉาน ไอ ร้อนพุ่งมาปะทะ สุนัขวิ่งมาด้อม ๆ มอง ๆ หาอาหาร ทหารเดินผ่านไป เสียงดาบกระทบฝักดังกริ่ง ๆ พราหมณ์เดินหลีกเจ้าไพร่ศูทรไปอย่างถือตน หมองูนั่งเป่าปี่เสียงแหบโหย งูตัวใหญ่ตาลุก แผ่พังพานร่าน่าสะพรึงกลัว เจ้าสาวแต่งกายสีงาม นั่งคลุมหน้ามาในรถวิวาห์ หญิงหนึ่งถือเครื่องสักการะเข้าไปในเทวาลัย เพื่อขอบุตรจากเทพเจ้า พระโอรสทรงเพลินไปในการทอดพระเนตรสิ่งเหล่านี้ ด้วยไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน
    ทันใดนั้นเอง พระองค์ได้สดับเสียงครางข้างถนนว่า “ช่วยด้วย ช่วยด้วย จะตายก่อนถึงเรือนอยู่แล้ว” คนเจ็บเป็นกาฬโรคคนหนึ่งนอนจมฝุ่นอยู่ ร่างกายเต็มไปด้วยผื่นแดง เหงื่อเม็ดใหญ่เต็มหน้าผาก บิดตัวเครียด ๆ ชักไปมา ปากบูดเบี้ยว นัยน์ตาเหลือกถลน มองดูน่าเวทนา เขาพยายามลุกขึ้นยืน แต่ก็โงนเงนล้มคว่ำลงไปอีก ปากร้อง โอย โอย ด้วยความเจ็บปวด
    พระบรมโอรสทรงผละจากนายสารถี วิ่งเข้าไปประคองไว้ทันที พระหัตถ์ลูบร่างกายคนเจ็บเบา ๆ ด้วยความเวทนา ทรุดองค์ลงนั่ง แล้วยกศีรษะคนเจ็บวางบนพระชงฆ์ ปลอบโยนแล้วตรัสถามด้วยปรานีว่า
    “ภราดร เจ้าเป็นอะไรไปหรือ ?”
    เมื่อไม่ได้คำตอบ ก็ตรัสถามมหาดเล็กว่า “ฉันนะ คนผู้น่าสงสารนี้เป็นอะไร ?”
    นายฉันนะทูลสนองว่า “พระยุพราชพระจ้าข้า คนนี้ เขาเจ็บเป็นกาฬโรค แต่ก่อนเขาก็แข็งแรงอยู่ เลือดบริสุทธิ์ อย่างคนทั้งหลาย แต่บัดนี้โรคร้ายกินเขาแล้ว หัวใจเขาเพลียไป เต้นช้าและไม่เป็นจังหวะ เส้นประสาทของเขาก็ตึงเครียด เจียนจะขาด ทอดพระเนตรดูเขาสิ พระเจ้าข้า เขาชักใหญ่ ตาแดงดังไฟ หายใจแรง ประเดี๋ยวเถิด ประเดี๋ยวกาฬโรคทำลายเขาหมด เขาต้องตายอย่างทุเรศ ทรงวางเขาเสียเถิด พระองค์ ไม่ดีดอก โรคอาจติดต่อถึงพระองค์ได้”
    พระยุพราชหนุ่มหาอาจทอดทิ้งเขาได้ไม่ ทรงลูบคลำเขาต่อไป แล้วรับสั่งว่า “ฉันนะ คนอื่นก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกันหรือ ?”
    “พุทโธ่ ได้สิพระเจ้าข้า โรคร้ายมีหลายอย่าง กลาก เกลื้อน เหน็บชา อัมพาต สันนิบาต อหิวาต์ พยาธิ และ อื่น ๆ อีก สัตว์ทั้งหลายต้องเจ็บตามยถากรรมของตน”
    “โรคมันมาสู่คนอย่างไร ฉันนะ ? มันไม่มีตัวไม่ใช่ หรือ ?”
    มันมาเหมือนงูพิษพระเจ้าข้า มาเงียบ ๆ มาเร็ว เหมือนอสุนีบาต บางคนมันก็ทำลาย บางคนมันก็เว้น”
    “ถ้าอย่างนั้นมนุษย์ก็อยู่ด้วยความกลัว เวลาจะนอนใจเขาสั่นระริก หลับไม่สบายเลย เพราะว่าเขากลัวความเจ็บไข้ เจ็บแล้วก็พิการ และแก่อย่างนั้นหรือ ฉันนะ ?”
    “พระเจ้าข้า ดังนั้น”
    เมื่อเจ็บนาน ๆ และเมื่อชราลงมาก ๆ แล้ว เขาเป็นอย่างไรในที่สุด”
    “ตาย พระเจ้าข้า คนเราต้องตายทุกคน นั่นอย่างไร เล่าคนตาย ทอดพระเนตรสิพระเจ้าข้า”
    บุคคลหมู่หนึ่งเดินคร่ำครวญสะอื้นไห้มาสู่ริมแม่น้ำ คนหนึ่งถืออ่างดินใส่ถ่านสุกแดงแกว่งนำหน้ามา ถัดไปก็ญาติ โกนผมแสดงความทุกข์ ผ้าพันศีรษะไม่มี ปากเขาร้อง “รามะ-โอ รามะจุ่งโปรด” ถัดจากนั้นก็มีคนหามแคร่ไม้ ไผ่ ภายในมีผี ซากศพแข็งผอมแห้ง ขาเหยียดตึง สีข้างกลวง ซี่โครงขึ้นเป็นอัน ๆ ยิงฟันแหง กายนั้นชโลมด้วยขมิ้นและเหลือง เขานำไปยังจิตกาธานริมลำธาร แล้วก็จุดไฟขึ้นเผา ห

    • Update : 1/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch