หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน

     

    ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน .ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 14576 โดย : รักษา 03 มิ.. 48

    ตั้งใจให้ดี ตั้งใจให้เป็นหนึ่ง มีสติกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้าก็รู้ว่าจิตปกติอยู่ หายใจออกก็รู้ว่าจิตคือความรู้สึกนี่ เป็นปกติอยู่ นี่เรียกว่ารู้ตัว กายก็นั่งอยู่ตรงนี้ จิตก็มีความรู้สึกอยู่ภายใน มีสติประคอง ความรู้สึกอันนั้นไว้ อย่าให้มันคิดส่งส่ายไปข้างนอก นี่วิธีสำรวมจิตนะ ให้เข้าใจ

    เมื่อสำรวมจิตในเบื้องต้นนี่ไม่ได้ จิตจะเป็นสมาธิต่อไปไม่ได้เลย

    ดังนั้นให้รู้จักวิธีควบคุมจิต เราทุกคนได้ชื่อว่าเกิดมา อยู่ในห้วงแห่งกองทุกข์ ความทุกข์มันครอบงำอยู่ อย่าพากันนิ่งนอนใจ อย่าพากันเพลิดเพลินมัวเมาไปแต่ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสภายนอก ไม่ทวนกระแสจิต เข้ามาดูร่างกายดูจิตใจ มันก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าตนนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ไม่รู้จริงๆ นะ คนเรานะ ตนเป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ก็ไม่รู้ตัว

    รู้อยู่แต่ไม่รู้ หมายความว่ารู้ว่าเป็นทุกข์ แต่ไม่มีอุบายที่จะระงับทุกข์ได้ นั่นแหนะจึงเท่ากับว่าไม่รู้นั้นแหละ

    เมื่อผู้ใดมาภาวนา ทวนกระแสจิตเข้ามาภายใน มากำหนดรู้กายรู้จิตนี้อยู่ ก็ย่อมรู้จักทุกข์ เพราะร่างกายนี้มันแปรปรวนอยู่เรื่อยไป ไม่คงที่ แล้วจิตก็อาศัยอยู่ในร่างกายอันนี้ เมื่อร่างกายอันนี้มันแปรปรวนไป มันกระทบกระทั่งกับจิต จิตก็มีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไม่ ปกติ วุ่นวาย

    ถ้าจิตของท่านผู้รู้ทั้งหลายแล้ว ท่านไม่หวั่นไหว เพราะท่านรู้ว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อมันแปรปรวนไปก็เป็นเรื่องของมัน เราก็บังคับมันไม่ได้ หน้าที่ของจิตก็มีแต่กำหนดรู้เท่า ตามเป็นจริงอยู่เท่านั้นเอง เราจะไปบังคับให้มันเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้เลย ดังนั้นให้พึงพากันเข้าใจ

    อันพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสัตว์โลก จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็คือ พระประสงค์ที่จะให้ รู้จักทุกข์นั่นแหละ และก็ให้รู้เท่าทุกข์ ตามความเป็นจริง เพราะว่าทุกข์นี้เมื่อขันธ์ห้ามีอยู่ตราบใด ทุกข์ก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น เมื่อจิตยังอาศัยขันธ์ห้านี้อยู่ตราบใด ก็ต้องรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของขันธ์ห้าอยู่อย่างนั้น ดังนั้นเมื่อเวลาดวงจิตยังอาศัยขันธ์ห้านี้อยู่ เราก็ต้องทำความรู้เท่า ขันธ์ห้านี้ไปอยู่เสมอๆ ไป รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์

    ก็พูดตรงๆ ว่าเหตุที่จะให้เกิด ขันธ์ห้านี้ขึ้นมานี่ คือ ตัณหา ตัณหาความอยากในใจ ตัณหาอยากเกิดอีก อยากเป็นอย่างโน้น อยากเป็นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ภวตัณหา เมื่อมีความรักใคร่มาก ตัณหาก็อยากจะได้สิ่งที่ตนรัก ตนใคร่ นั่นท่านเรียกว่า กามตัณหา กามตัณหานี่สำหรับให้เกิดความดิ้นรน ทะเยอทะยานในปัจจุบันนี้แหละ ตาได้เห็นรูปสวยๆ ก็รักใคร่ชอบใจอยากจะได้ หูได้ฟังเสียงไพเราะเพราะพริ้งก็อยากจะฟังเรื่อยๆ ไป จมูกได้สูดกลิ่น ถ้ากลิ่นเหม็นไม่ชอบ ถ้ากลิ่นหอมชอบใจ ลิ้นได้รับรส อร่อยก็ชอบใจ ถ้าได้รับรสที่ไม่อร่อยก็ไม่พอใจ กายได้สัมผัส ถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ใจได้รับรู้อารมณ์ทั้งห้านั้น ก็ทำให้เกิดความชอบใจ บ้างไม่ชอบใจบ้าง นี่เรียกว่ากามตัณหา ความใคร่ในรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัส ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมอย่าให้มันเกิดความใคร่ขึ้นมาอย่างนั้น เพราะมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันไปรักไปใคร่ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้มาแล้วมันก็แปรปรวนไปแตกดับไป ความอาลัยเสียดาย ก็เศร้าโศกร้องไห้ร่ำไร ในสิ่งที่ได้มาแล้วมันไม่ยั่งยืน ของรักของชอบใจทั้งหลาย พลัดพรากจากไปก็เป็นทุกข์ เดือดร้อน เนี่ยมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็มักจะติด อยู่ในกามคุณนี้เอง

    ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรม อย่าไปถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องก่อให้เกิดทุกข์ เป็นเรื่องก่อให้เกิดทุกข์ทั้งกายทั้งใจ ก็เมื่อเกิดความรักความใคร่ อยากได้ขึ้นมาแล้วก็แสวงหา ถ้ามีได้ยินได้ฟัง ท่านกล่าวว่า เมื่อทำบุญให้ทานให้ของสวยๆ งามๆ ดอกไม้ก็สวยงาม ผ้านุ่งผ้าห่มก็สวยๆ งามๆ เมื่อให้ทานอย่างนี้เกิดไปชาติหน้าก็จะมีรูปสวย รูปงาม มีเสียงไพเราะเพราะพริ้ง อะไรต่างๆ หมู่นี้นะ เมื่อได้ยินอย่างนี้ก็อยาก อยากให้มีรูปสวยรูปงาม ก็ขวนขวายสิ่งเหล่านั้นมาทำบุญ ทำทาน นี่ท่านเรียกว่า กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกามทั้งหลาย มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อได้รูปอันนี้มาแล้ว รูปอันนี้จะสวยยังไง งามยังไง หรือขี้ร้ายอย่างไรก็ตาม มันก็ไม่เที่ยง ถึงเวลามันแปรปรวน มันก็แปรปรวนไป เป็นยังงั้น จิตที่อาศัยอยู่ในรูปอันนี้น่ะทนทุกข์ทรมาน

    แต่นี้ก็ยังชั่วนะ การที่จิตได้อาศัยร่างอันเป็นมนุษย์นี่ ความทุกข์ก็ยังไม่มหันต์ทุกข์เท่าไหร่ ถ้าจิตนี้ได้ไปอาศัยร่างของเปรต ร่างของสัตว์นรก เป็นอยู่เช่นนี้แล้วก็ ได้รับทุกข์ทนทรมานมากมาย ก็ให้พึงสันนิษฐานดู ถ้าเปรตที่ว่านั้นเราไม่เห็นตัวจริงมัน แต่ดูที่รูปร่างของมนุษย์ก็แล้วกัน รูปร่างของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ที่มีความวิบัติ มีโรคภัยอันร้ายแรงเบียดเบียน แล้วก็บกพร่อง เช่น ตาบอดข้างหนึ่ง เห็นแต่ข้างเดียวอย่างนี้นะ หูก็หนวก ฟังเสียงอะไรก็ไม่ชัด ร่างกายก็มีโรคอันร้ายแรงเบียดเบียนทนทุกข์ทรมาน อันนี้น่ะเรียกว่าจิตมาอาศัยในร่างอันที่บาปตกแต่งให้ มันก็ย่อมได้รับทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น

    ให้พากันดู เมื่อเห็นคนพิกลพิการต่างๆ อย่าไปหัวเราะ อย่าไปเยาะเย้ย ให้น้อมเข้ามาพิจารณา ดูตนของตน พิจารณาสอนตนน่ะ ร่างอันนั้นน่ะบาปตกแต่ง มันทำบาป มันเบียดเบียน บุคคลอื่นสัตว์อื่น มาแต่ชาติก่อนโน้น ไปทุบไปตีเขา ไปฟันไปแทงเขา ให้เจ็บให้ปวด ให้ถึงตาย ให้พิกล พิการไป ไอ้กรรมนั้นมันก็ติดสอยห้อยตามมา สนองเอา ทำให้ร่างกายพิกลพิการต่างๆ นี่มันเห็นประจักษ์ในปัจจุบันชาตินี้เอง

    ถ้าเราพูดถึงเรื่องที่เรามองไม่เห็นด้วยตา มันก็ไม่ค่อยจะเชื่อ ก็ดูเอาที่เรามองเห็นด้วยตาหนัง ๆ นี้หละ มันก็มีอยู่ดาษดื่น นี่หละบาปกรรมตกแต่ง

    ดังนั้นนะ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอน ให้ละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน ทรงสอนให้มีเมตตากรุณาต่อกันและกัน เช่นนั้น ถ้าสำรวมกายวาจาใจของตนให้ดี ไม่เบียดเบียน บุคคลอื่นและสัตว์อื่น และไม่เบียดเบียนตน ด้วยอย่างนี้ละก็ ถ้ายังมีเกิดอีกอยู่เกิดไปชาติใด ก็จะมีร่างกายสมบูรณ์ ไม่วิบัติขัดข้อง ไม่มีโรคภัยอันร้ายแรงเบียดเบียน แล้วก็จะมีโอกาสได้ บำเพ็ญกุศล คุณงามความดี ได้เต็มที่

    เราที่มารวมกันอยู่ในศาลาการเปรียญนี้แหละ ลองสังเกตดูซิต่างคนต่างก็มี ร่างกายอันดี มีกำลังเรี่ยวแรงดี สามารถประกอบกุศลจิตต่างๆ ได้ โดยเฉพาะไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนา เราก็นั่งได้ ฝึกจิตดวงนี้ให้เข้าถึงความสงบระงับ เราทำได้เพราะจิตนี้ได้อาศัยร่างกายอัน ไม่ทรุดโทรม จึงสามารถทำความเพียรได้เต็มที่ ถ้าหากว่าไปได้ร่างกายอันอ่อนแอ ทรุดโทรมดั่งที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมไม่มีโอกาสที่จะมาบำเพ็ญทางจิตใจได้อย่างนี้ จิตใจก็อ่อนแอไปตามร่างกาย เพราะใจไม่มีคุณธรรม มันก็อ่อนแอไปตามร่างกายนั่นแหละ เมื่อเป็นเช่นนี้มันก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นเอง หาความสบายไม่ได้

    ดังนั้นเมื่อรู้ว่า ตนเป็นผู้มีบุญคนหนึ่ง บุญกุศลได้นำดวงจิตนี้มา อาศัยร่างอันนี้เกิดในร่าง ของมนุษย์นี่ อย่างนี้นับเป็นวาสนานาบุญ สำหรับผู้ที่ยังสร้างบุญบารมียังไม่เต็ม เราก็ต้องอาศัยร่างอันนี้แหละ ได้สร้างบุญบารมีไป ผู้มีศรัทธาออกบวช ก็ได้บวชมาแล้วก็ตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติ ตามธรรมวินัยคำสอนพระพุทธเจ้า ให้เต็มความสามารถ

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติวินัยคือระเบียบ ข้อบังคับกายวาจาให้อยู่ในขอบเขต อันดีงาม ไม่ใช่เป็นเรื่องบีบคั้นให้เป็นทุกข์เดือดร้อนอะไร ไม่ใช่เลย พิจารณาดูให้ดี วินัยต่างๆ นั้นน่ะ ล้วนแต่เป็นข้อบังคับ ความประพฤติทาง กาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นคนซุกซน เกะกะระรานผู้อื่น ลองคิดดูซิ วินัยที่บัญญัติไว้นั่นน่ะ เมื่อเป็นผู้มีวินัยอย่างนั้นแล้ว ก็เป็นผู้มีความประพฤติ ทางกายวาจาเรียบร้อยดี ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของบุคคล ผู้ได้พบได้เห็น ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบัดนี้ เป็นประโยชน์แก่ตนคือตนไม่มีบาป ครอบงำจิตใจ แล้วก็ทำให้ผู้อื่นได้ทำบุญทำทาน ได้กราบได้ไหว้ เขาก็พลอยได้บุญได้กุศลไปด้วย นี่ให้มองเห็น ให้พากันมองดูให้มันเห็น

    การที่เราประพฤติธรรม ประพฤติวินัย คำสอนพระพุทธเจ้านี้นะ มันทำให้เป็นประโยชน์ทั้งตนและทั้งผู้อื่น อย่างนี้นับว่าชีวิต ไม่เป็นหมันทีเดียว เกิดมา ชาตินี้ อันโลกนี้น่ะ ที่มันอยู่ด้วยกันโดยความสงบระงับไม่ได้ ก็เพราะมันไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย อยู่กันตามอำนาจของกิเลส สุดแล้วแต่กิเลสมันจะจูงไปให้ ทำอย่างไร พูดอย่างไร เอ้าเช่น ความโกรธ เมื่อมันเกิดขึ้นในใจแล้ว ระงับไม่ได้มันก็แสดงกิริยากายอันหยาบคายออกมา ทุบคนอื่น ตีคนอื่น ทุบสัตว์อื่น ตีสัตว์อื่น ให้เจ็บให้ปวด ให้ล้ม ให้ตาย อย่างนี้แหละที่มันแสดงออกมา

    เมื่อบุคคลที่ไม่ฝึกตนนะ ไม่ฝึกจิตไม่ห้ามจิตของตน ไม่ยึดเอากุศลความดีเป็นที่พึ่ง ไปยึดเอาความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นที่พึ่ง กิเลสเหล่านี้มันก็ทำพิษ น่ะบัดนี้นะ ดลบันดาลให้ความประพฤติทางกาย วาจา เหลว ไหล ไป แล้วถึงได้เบียดเบียนกันอยู่อย่างนี้ มนุษย์โลกนี้ ก็เพราะขาดวินัย ไม่ยินดี ที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งนักบวชนั้นแหละ คฤหัสถ์อย่างนี้ สิกขาบทห้าประการนั้นนะ ล้วนแต่ห้ามไม่ให้เบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่นทั้งนั้นเลย พระองค์น่ะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่อ สัตว์โลก แต่สัตว์โลกไม่สนองตามพระประสงค์ของพระองค์ ส่วนมากนะไม่ยอม รับปฏิบัติตาม ไม่ยอมเว้นตาม

     

    โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

    แห่ง วัดอรัญบรรพต อ

    แสดงธรรมเทศนาที่วัด

    โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดสติปัฏฐาน ๔ กระทู้


    • Update : 28/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch