หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สามเณรเกี่ยว
    สามเณรเกี่ยว
    โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


    สามเณรเกี่ยวหรือสามเณรสัจกิจ มีประวัติค่อนข้างพิสดาร คือมารดาท่านถึงแก่กรรม ในขณะที่มีครรภ์แก่ สัปเหร่อเผาศพมารดาท่าน ขณะเอาขอเกี่ยวศพพลิกไปมา เพื่อให้ไฟไหม้ทั่วถึง เด็กน้อยในครรภ์ยังไม่ตาย กระเด็นออกมาจากกองฟอน

    ถ้าเป็นคนอื่นคงวิ่งหนีป่าราบ แต่เป็นสัปเหร่อ อุ้มเด็กน้อยขึ้นมา มีเลือดไหลเต็มหน้า เพราะขอไปเกี่ยวหางตัวเด็ก สัปเหร่อรู้ว่าเด็กน้อยยังมีชีวิตอยู่ จึงนำกลับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งชื่อตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า สังกิจ (แปลว่าเกี่ยว) ดังกล่าวแล้ว

    เณรน้อยมีบุญแต่ปางก่อนหากมี “กรรม” (บางอย่าง) บังเล็กน้อย จึงเกิดมาเป็นกำพร้า แต่ตอนนี้ก็มีบุญช่วยหนุนให้ได้ผู้อุปการะดุจพ่อแม่ที่แท้จริง ถึงจะยากจน แต่ก็ได้รับการเลี้ยงดู ทะนุถนอมมาด้วยความรักยิ่ง

    เมื่ออายุได้ 7 ขวบ เด็กน้อยได้ทราบเรื่องราวของตัวเองโดยบังเอิญ สลดใจในชะตากรรมของตัวเอง จึงคิดอยากบวชเป็นศิษย์พระสารีบุตร พระอัครสาวก ซึ่งคุ้นเคยกับครอบครัวดี

    พ่อแม่บุญธรรมก็ไม่ขัดข้อง จึงนำไปบวชเป็นศิษย์รับใช้พระเถระ (นัยว่าสมัยพุทธกาล พระเถระที่เมตตาเด็ก นำเด็กมาเลี้ยงให้บวชเรียน มีอยู่สองรูป คือ พระสารีบุตร และพระอานนท์) ว่ากันว่า สามเณรเกี่ยวบรรลุพระอรหัตขณะโกนศีรษะเตรียมบวช คงเพราะบุญแต่ปางก่อนสะสมมานั่นแหลครับ

    ขณะนั้น ภิกษุ 30 รูปมาทูลลาพระพุทธองค์ไปปฏิบัติธรรมในป่า พระพุทธองค์ทรงทราบล่วงหน้าว่า พวกเธอจะมีภัย ถูกโจรปล้น และสามเณรเกี่ยวสามารถช่วยได้ จึงรับสั่งให้พวกเธอไปลาพระสารีบุตรก่อนจะเดินทาง พวกเธอก็ไปลาพระเถระตามพุทธบัญชา

    พระเถระก็ทราบเช่นเดียวกับพระพุทธองค์ และทราบพุทธประสงค์จะให้สามเณรเกี่ยวไปด้วย จึงบอกพวกเธอให้พาสามเณรไปด้วย พระคุณเจ้าเหล่านั้นไม่อยากพาสามเณรไป กลัวเป็นภาระ พระสารีบุตรกล่าวว่า “พาสามเณรไปเถอะ ถึงคราวคับขันสามเณรจะช่วยได้”

    “ตัวกะเปี๊ยกจะช่วยอะไรได้ ผู้ใหญ่จะช่วยเณรน่ะไม่ว่า” หลายท่านคิดแย้งใจใจ แต่ไม่กล้าขัดพระเถระท่าน จำพาสามเณรไปด้วย

    พระคุณเจ้าไปพักอยู่ใกล้หมู่บ้านชายป่าแห่งหนึ่ง ชาวบ้านก็ดูแลด้วยอาหารบิณฑบาตไม่ขาดตกบกพร่อง มีชายทุคตะเข็ญใจคนหนึ่ง เซซังมาขออาศัยอยู่ด้วย ได้กินอาหารอย่างอิ่มหมีพีมัน จึงเปลี่ยนใจขออยู่รับใช้พระดีกว่า พระคุณเจ้าก็ไม่ขัดข้องให้แกอาศัยอยู่ได้

    เป็นเด็กวัยร่วงรับใช้พระสักระยะหนึ่ง คิดถึงลูกสาวขึ้นมา จึงลาพระคุณเจ้ากลับไปเยี่ยมลูกสาว บังเอิญต้องเดินผ่านดงซึ่งมีโจรชุกชุม พวกโจรได้บวงสรวงไว้ว่า ใครก็ตามถ้าเดินเข้ามาในป่านี้ จะถูกจับบูชายัญหมด บังเอิญชายทุคตะผ่านมาพอดี ก็เลยถูกจับเตรียมเข้าสู่พิธีบูชายัญ

    ชายทุคตะกลัวตาย จึงพูดกับพวกโจรว่า เขาเป็นคนยากไร้ อดๆ อยากๆ อาหารการกินก็ไม่ดี เนื้อและเลือดของเขา คงไม่เป็นที่ปรารถนาของเทพเจ้าดอก สู้พระคุณเจ้าที่วัดชายป่าโน้นไม่ได้ ได้กินแต่อาหารดีๆ อ้วนท้วนสมบูรณ์ เนื้อและเลือดของท่านเหล่านั้นคงอร่อยถูกปากเทพเจ้าของพวกท่านแน่นอน

    “ไอ้เบื๊อกนี้พูดเข้าที” หัวหน้าโจรพูด จึงให้แกพาไปวัดดังกล่าว ไปถึง เขาก็ตีระฆังให้สัญญาณ พระสงฆ์ที่กระจายไปนั่งสมาธิภาวนาตามสถานที่ต่างๆ ได้ยินเสียงระฆังนึกว่าเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้น จึงพากันมาประชุม เมื่อรู้อะไรเป็นอะไร ต่างก็เสนอตัวไปกับโจร

    สามเณรเกี่ยวกล่าวว่า “ผมขอไปดีกว่าครับ พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดอยู่ที่นี่เถอะ”

    “เณรเป็นเณรของพระสารีบุตรอัครสาวก ท่านฝากให้พวกเราดูแลเณร ถ้าเณรตามพวกโจรไป แล้วเป็นอะไรไป พวกเราไม่สามารถรับผิดชอบได้ดอก”

    “ท่านครับ พวกท่านลืมแล้วหรือ ก่อนพวกท่านจะมา พระอุปัชฌาย์ของผมพูดไว้อย่างไร ท่านพูดว่า ให้พาผมมาด้วย ผมจะสามารถช่วยท่านได้ยามคับขัน ใช่ไหมครับ แสดงว่า พระอุปัชฌาย์ท่านรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และรู้ว่าผมจะช่วยพวกท่านได้ ขอให้ผมไปเถอะครับ” สามเณรอ้อนวอน

    พวกพระจึงยอมมอบสามเณรไปกับพวกโจร ขณะทำพิธี หัวหน้าโจรเงื้อดาบฟันสามเณร ดาบบิดงอลงอย่างน่าอัศจรรย์ เขาดัดดาบให้ตรงแล้วแทงใหม่ คราวนี้หมายให้เสียบทะลุขั้วหัวใจเลย ปรากฏว่าดาบงอจนถึงโคน ดุจใบตาลก็มิปาน สร้างความตะลึงพรึงเพริดแก่พวกโจรทั้งหมด หัวหน้าโจรก้มลงกราบสามเณร ขออภัยโทษที่ล่วงเกิน ขอบวชเป็นศิษย์สามเณร ลูกน้องคนอื่นๆ ก็บวชตามด้วย

    อาจมีผู้สงสัยว่า สามเณรจะเป็นอุปัชฌาย์บวชคนอื่นได้อย่างไร ? ไม่น่ามีปัญหา อย่าลืมนะครับสามเณรที่ว่านี้เป็นสามเณรอรหันต์ และการบวชก็เป็นการบวชเณรเท่านั้น การบวชเณรนั้นเพียงแต่ผู้บวชให้ “สรณคมน์” (คือให้กล่าววาจาถึงพระรัตนตรัย) การบวชก็สำเร็จทันที ไม่ต้องมีพระคู่สวด ไม่ต้องมีพระอันดับ ก็เป็นองค์เณรได้แล้วครับ

    สามเณรเกี่ยวพาศิษย์ “โค่ง” หรือศิษย์หนวดกลับไปเยี่ยมพวกภิกษุที่วัดชายดง เพื่อให้พวกท่านเบาใจว่า สามเณรไม่เป็นอะไร แถมยังกลับใจพวกโจรได้อีกต่างหาก

    สามเณรอำลาภิกษุเหล่านั้น พาศิษย์ทั้งหลายไปหาพระอุปัชฌาย์ แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    พระพุทธองค์ตรัสปฏิสันถารกับสามเณรเกี่ยว และสามเณรอดีตโจรเหล่านั้นว่า

    “การกลับใจมาถือศีล แม้เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่าอยู่อย่างคนทุศีลตั้งร้อยปี”

    ครับ เด็กชายเกี่ยวกำพร้ามารดาบิดามาแต่เกิด ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่บุญธรรม โตมาก็ได้บวชเณร ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะมี “บุญเก่า” สนับสนุน เป็นเงื่อนไขให้ได้บรรลุผลสูงสุดนี้ เรื่องอย่างนี้พูดยาก บางท่านมีมาก บางท่านมีน้อย ไม่เหมือนกัน เพราะเหตุนี้ ท่านจึงบอกว่า “ปุพเพกตปุญญตา = ความมีบุญทำไว้มาก่อน เป็นมงคลสูงสุดอย่างหนึ่ง”


    หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
    คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
    วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10781

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch