หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เล่าขานตำนานแห่งกำเนิดอมตะจ้าวเวหา ‘พญาครุฑ’

    ครุฑตัวนี้ เป็นครุฑทองคำซึ่งติดอยู่หน้ากล่องของพระราชทานสมัยรัชการที่ 5

    เล่าขานตำนานแห่งกำเนิดอมตะจ้าวเวหา ‘พญาครุฑ’

    พญาครุฑกระพือปีกโถมเข้าสู้เปลวเพลิงอันร้อนแรง ไฟนั้นแผดเผาทำเอาจ้าวเวหาผละถอย ถึงอย่างไรต้องกระโจนเข้าต่อกรอุปสรรคนานา เพื่อปลดตรวนพันธนาการแห่งคำสาปที่แม่ถูกตรึงตอกให้เป็นข้ารับใช้มารดาพญานาคไม่รู้กี่ร้อยชาติ ทั้งที่ “พญาครุฑ” และ “พญานาค” ต่างมีสายเลือดเดียวกัน แต่คำสาปนั้นยิ่งโหมไฟแค้น ถึงขั้นว่าจุดจบของเรื่องต้องเป็นอริศัตรูกันทุกชาติไป...

    ด้วยความแค้นตามตำนานเริ่มตั้งแต่พญาครุฑยังมิทันลืมตาเห็นมารดา ประสาท ทองอร่าม หรือครูมืด ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย เล่าถึงบิดาของทั้งคู่เป็นฤษีชื่อ พระกัศยป มีอิทธิฤทธิ์สูงส่ง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฤษีมีหลายวรรณะ มีทั้งที่มีภรรยาได้และไม่ได้ ในรายของ พระฤษีกัศยป สามารถมีภรรยาได้ โดยภรรยาคู่หนึ่งเป็นพี่น้องกันชื่อว่า พระนางวินตา และพระนางกัทรุ

    เมื่อทั้งคู่ตั้งท้องพระฤษีกัศยปได้ให้ทั้งคู่ขอพรคนละข้อ ต่างฝ่ายต่างขอให้ลูกที่จะกำเนิดมามีฤทธิ์มากกว่าอีกฝ่าย หลังจากนั้น 500 ปีผ่านไป พระนางวินตา ตกไข่ออกมาก่อน หลังจากนั้นพระนางกัทรุ ก็ตกไข่และโชคดีกว่าเมื่อลูกฟักตัวออกจากไข่ก่อน กำเนิดเป็น พญานาค พระนางวินตา เห็นดังนั้นจึงทุบไข่ตนที่ยังไม่พักตัวเต็มที่ให้แตกออกเป็น พระอรุณ ที่มีร่างส่วนบนแต่ไม่มีต้นขา ถ้ามองให้ใกล้ตัวเหมือนเด็กที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอดแต่ต้องออกมาดูโลกก่อนกำหนด

    จุดเริ่มต้นคำสาปบังเกิดขึ้นเมื่อ พระอรุณ แค้นใจพระนางวินตาผู้เป็นแม่ ที่ทำให้เกิดมาไม่มีส่วนล่าง จึงสาปให้นางต้องเป็นทาสรับใช้พระนางกัทรุ มารดาของพญานาคในอีก 500 ปีถัดมา จนกว่าไข่ฟองที่ 2 ฟักตัวเป็นพญาครุฑมาช่วยแม่ให้พ้นจากคำสาป

    500 ปีถัดมา เมื่อพญาครุฑถือกำเนิดมีลำแสงปรากฏขึ้นทั่วพื้นพิภพ จนเหล่าเทวดาเลื่อมใสศรัทธาอิทธิฤทธิ์พญาครุฑ เป็นผู้มีความยิ่งใหญ่ ศีรษะจนถึงจะงอยปากดั่งนกอินทรี มีร่างกายเป็นคน มีปีกที่ความใหญ่ประมาณไม่ได้ กระพือปีกทีบินได้เป็นร้อยโยชน์ ความแรงลมปีกสามารถทำให้น้ำในมหานทีสีทันดรแกว่งเป็นเจ็ดชั้น ทะลุไปถึงชั้นพญานาคอาศัยอยู่

    การเป็นทาสรับใช้ของ พระนางวินตา และพระนางกัทรุหาได้จบลงแค่ตำนานเดียว ยังมีอีกตำนานเล่าว่า ทั้งคู่ทายถึงสีม้าของพระอาทิตย์ หากใครทายผิดต้องเป็นข้ารับใช้ตลอดไป พระนางวินตา ทายว่าสีขาว ส่วนพระนางกัทรุ ทายว่าสีดำ ซึ่งความเป็นจริงม้ามีลำตัวสีขาว แต่พอพระนางกัทรุ เห็นว่าจะแพ้ จึงให้พญานาคและบริวารแปลงกายเป็นขนม้าสีดำแทรกกลบขนสีขาว จนสุดท้ายมารดาของพญาครุฑต้องตกเป็นทาส

    แต่บางตำนานเล่าถึงการทายสีม้าของพระอาทิตย์ว่าเป็นสีแดง โดยพระนางกัทรุ ทายว่าเป็นสีดำ พอเห็นจะแพ้ก็ให้พญานาคพ่นพิษใส่ม้าให้กลายเป็นสีแดง

    ความกตัญญูของพญาครุฑ แม้มีอิทธิฤทธิ์มากแต่ด้วยคำสาปทำให้ต้องช่วยเหลือแม่อยู่เสมอครั้งหนึ่งพระนางกัทรุต้องการออกไปท่องเที่ยวนอกวิมานหิมพานต์ จำต้องข้ามมหานทีสีทันดร ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล มีเหล่าสัตว์ร้ายเต็มไปหมด นางจึงใช้ให้พระนางวินตา อุ้มตนข้ามไป เช่นเดียวกับพญาครุฑผู้เป็นบุตรต้องอุ้มพญานาคข้ามไปด้วย แต่ความกว้างใหญ่ไพศาลและแดดร้อนแรง ทำให้พญานาคที่อยู่แต่ในน้ำขาดความชุ่มชื่น จึงวิงวอนให้พระอาทิตย์บันดาลฝนลงมา

    เหตุดังนั้นพญาครุฑจึงหาวิธีช่วยแม่ให้พ้นคำสาปพบว่าต้องนำน้ำอมฤต ที่ผ่านพิธีกวนเกษียรสมุทร สรรพสัตว์ทั้งเทวดา –อสูร ต้องช่วยกันกวน โดยพญานาคเป็นสายโยง อสูรอยู่ด้านหน้า เหล่าเทวดาอยู่ด้านหลัง ระหว่างกวนน้ำมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีเกิดขึ้น และต้องกวนชั่วกัปชั่วกัลป์ เมื่อกวนเสร็จต้องนำน้ำมาแบ่งกันดื่มเพื่อความเป็นอมตะ ครั้นกวนเสร็จเทวดากลับบิดพลิ้วแบ่งให้แต่พวกตน จนยักษ์ราหูแอบไปขโมยน้ำอมฤตมาดื่ม ระหว่างนั้นพระ อาทิตย์กับพระจันทร์เห็นได้นำเรื่องไปฟ้องพระนารายณ์ จึงใช้จักรขว้างตัดร่างราหูเหลือครึ่งตัว พอราหูรู้ว่าใครนำเรื่องไปฟ้อง เลยจับพระจันทร์กับพระอาทิตย์กิน แต่ด้วยลำตัวมีแค่ครึ่งท่อน พอกินเข้าไปก็หลุดร่วงกลับมาในอากาศเช่นเดิม จนเป็นตำนานสุริยคราส

    ระหว่างเข้าไปชิงน้ำอมฤตของพญาครุฑ ได้ต่อกรกับพระนารายณ์อยู่นานแต่ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะ เมื่อพระนารายณ์รู้ว่าพญาครุฑต้องการนำน้ำวิเศษไปช่วยแม่หาใช่นำมาให้ตัวเอง จึงชื่นชมในความกตัญญูและมอบน้ำอมฤตให้เพื่อล้างคำสาปของมารดา แต่ก่อนจะจบลงพระนารายณ์ให้พรแก่พญาครุฑ 1 ข้อเพื่อตอบแทน พญาครุฑได้ขอให้พวกตนเป็นอริศัตรูและจับพญานาคกินเป็นอาหารตลอดไป

    ตำนานพญาครุฑมีความเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์ตรงที่ระหว่างพระนารายณ์สัญญาเป็นมิตรกับพญาครุฑ ได้ให้คำมั่นว่าพระนารายณ์เสด็จไปที่ใดต้องมีพญาครุฑเป็นพาหนะ ขณะเดียวกันหากพระนารายณ์อยู่ที่ใดต้องมีพญาครุฑอยู่ด้วย โดยเห็นได้จากทุกครั้งที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่แห่งใด พาหนะต้องมีรูปธงครุฑเสมอ หรือหากทรงประทับ ณ แห่งใด ต้องชักธงครุฑขึ้นเหนือปราสาท ด้วยยึดถือตามแบบโบราณที่พระมหากษัตริย์เสมือนสมมุติเทพปางของพระนารายณ์ เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขเหล่าอาณาประชาราษฎร์ ดั่งพระนารายณ์สิบปางเพื่อขจัดความวิบัติของโลก

    ครุฑในงานศิลปะ ในนิตยสารศิลปากร ฉบับพฤศจิกายน–ธันวาคม 2554 บทความเรื่อง “ครุฑในงานช่างไทย” โดย ธวัชชัย ปุณณลิมปกุล เล่าถึงพัฒนาการออกแบบอย่างสรุปได้ว่า ครุฑยุคแรกสมัยทวารวดีและศิลปะขอม มีทั้งหน้าเป็นคนและหน้าเป็นนก ลำตัวช่วงบนเป็นคน ช่วงไหล่เล็ก ท้องป่องนูน ช่วงขาสั้น ลักษณะแบบร่างกายเด็ก มีเท้าเป็นนกมีแขนเป็นคน มีปีกด้านหลัง บางตัวอาจมีลำตัวเป็นนกดูคล้ายนกฮูกเกล้าผมและมีมงกุฎเรียบง่าย

    ครุฑสมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา หน้าจะเป็นนก ปีกด้านหลังหายไปกลายเป็นปีกขนาดเล็ก ใต้แขนคล้ายขนห้อยอยู่มากกว่าปีก ส่วนท้องที่ป่องหายไป มีเอวคอดรับกับไหล่ที่ขยายใหญ่ขึ้น และเพิ่มกล้ามเนื้อหน้าอกดูสง่างาม พร้อมกับสวมเครื่องแบบสวยงาม

    สมัยอยุธยาตอนปลายมีปีกเสริมบริเวณตะโพกเพิ่มขึ้น สวมเครื่องประดับสวยงาม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นปีกที่ตะโพกจะยาวเรียวมากขึ้น แต่ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ปีกที่ตะโพกหายไป ปีกใต้แขนกลับขยายใหญ่ขึ้น มือหงายโค้งในท่ารำชิดเข้าหาศีรษะ ครุฑแบบนี้ใช้จนถึง พ.ศ. 2475 จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้แขนกางออกมากขึ้น ส่วนมือโค้งกางออกตามลำแขนห่างออกจากศีรษะเป็นรูปแบบที่นิยมใช้จนถึงปัจจุบัน.

    .............................................................................................................

    พิพิธภัณฑ์แห่งความรู้ ‘องค์ครุฑพระราชทาน’

    พิพิธภัณฑ์ครุฑในศูนย์ฝึกอบรมบางปู ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่จะทำการเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ได้รวบรวมองค์ครุฑพระราชทานของธนาคารนครหลวงไทย ที่ดำเนินงานมากว่า 70 ปี ซึ่งหลังจากผนึกกำลังธุรกิจรวมกับธนาคารธนชาต ได้นำมาเก็บเพื่อเป็นแหล่งความรู้ในสถานที่จัดแสดงนี้

    องค์ครุฑทุกองค์ที่จัดแสดงอัญเชิญลงจากธนาคารนครหลวงไทยทั่วประเทศ ด้วยฤกษ์ยามดีเวลาเดียวกัน และด้วยความเชื่อเรื่องตาครุฑเป็นสิ่งร้อนแรงต้องห้าม เมื่อมีการเคลื่อนย้ายครุฑทุกองค์จะต้องถูกปิดตาเพื่อส่งมายังพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันการจัดแสดงยังเน้นสภาพองค์ครุฑที่เป็นไปตามจริง มีทั้งองค์ครุฑที่เป็นไม้และไฟเบอร์กลาส องค์ที่เป็นไม้ต้องใช้เวลาทำความสะอาดกว่า 60 นาที โดยเอกลักษณ์และลวดลายแตกต่างกันไปตามสภาพท้องถิ่น เช่น องค์ครุฑจากธนาคารย่านเยาวราชมีลักษณะผสมผสานศิลปะแบบจีน หรือองค์ครุฑองค์แรกที่สาขาราชดำเนิน มีความอ่อนช้อยแม้ชำรุดตามสภาพปกติ ซึ่งในพิพิธภัณฑ์มีห้องจัดแสดงต้นกำเนิดแห่งพญาครุฑและพญานาค รวมถึงห้องแสดงแสง สี อย่างน่าสนใจ.


    • Update : 19/10/2556
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch