หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ไขความลับแห่งภาษา

    เคยสงสัยไหมคะว่า..เราสื่อสารทางภาษากันได้อย่างไร? จะว่าไปแล้วนั้น  ภาษาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทาง ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดแทบทั้งสิ้น ซึ่งเด็กเล็กสามารถแสดงออกได้เป็นอย่างดีเสียด้วย หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ สัปดาห์นี้จะมาไขข้อข้องใจคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยถึงพัฒนาการทางภาษาของลูกน้อยในช่วงต้นของอายุว่า..จะมีความผิดปกติหรือไม่
       
    จริง ๆ แล้ว พัฒนาการทางภาษาเริ่มขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย นอร์ท เวสเทิร์น ได้สรุปในงานวิจัยว่า ช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์นั้น คุณแม่ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นว่า ทารกในครรภ์จะเตะหรือขยับเขยื้อนไปมาเมื่อได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงดัง ซึ่งสอดคล้องกับหลักความคิดเกี่ยวกับพัฒนาการทางดนตรีที่เริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์ ในขณะที่นักวิจัยจากโคลัมเบีย เมดิคัล เซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก ค้นพบว่า อัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์มีแนวโน้มช้าลงเมื่อได้ยินเสียงคุณแม่พูดคำง่าย ๆ เช่น ว่าไงจ๊ะ..ลูก นักวิทยาศาสตร์จากฝรั่งเศสได้ให้แนวคิดที่สอดคล้องกันว่า ทารกในครรภ์มีความสามารถถึงขนาดที่จะจำได้ว่า คำว่า “ลูกว่าไงจ๊ะ” กับ “ว่าไงจ๊ะลูก” เป็นประโยคที่คล้าย ๆ กัน อีกทั้ง หลังจากคลอดแล้วตั้งแต่ 96 ชั่วโมงแรก เด็กทารกสามารถแยกแยะเสียงของแม่จากเสียงอื่น ๆ ได้ในทันที ซึ่งถ้าคุณแม่พูดในขณะที่กำลังให้นมด้วยแล้ว เด็กทารกจะมีแนวโน้มที่จะดูดนมได้คล่องแคล่วกระฉับกระเฉงมากขึ้น
       
    เด็กทารกสามารถเริ่มต้นวิเคราะห์และใช้คำในประโยครวมทั้งแยกแยะความหมายของคำในประโยคได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องนี้นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย วิสคอนซิน-เมดิสัน ได้ทำการทดสอบเด็กเล็กอายุ 8 เดือน โดยให้ฟังคำ 3 พยางค์ที่ไม่มีความหมาย เป็นเวลา 30 นาที แล้วนำคำ 3 พยางค์นั้นไปใส่รวมกับคำอื่น ๆ โดยให้ฟังจากเครื่องสังเคราะห์เสียง แล้วลองสังเกตปฏิกิริยาของเด็ก พบว่าเด็กสามารถแยกแยะคำ 3 พยางค์นั้นได้แทบจะทันที โดยแสดงการตบมือ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เด็กเล็กสามารถประมวลผลคำที่ถูกใช้บ่อย ๆ ได้ในเบื้องต้น
       
    ที่จริงแล้วเด็กส่วนใหญ่สามารถเล่นเสียงและเล่นคำ เช่น ออกเสียงคำว่า คู คา หรือแม้กระทั่งกรีดร้องได้ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นเด็กจะเริ่มใช้ลิ้นในการออกเสียงมากขึ้น เช่น เด็กจะเริ่มพูดคำว่า ปาป๊า มาม้า โดยที่ยังไม่แน่ใจในความหมาย ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่า การเล่นเสียงนี้เป็นการเชื่อมโยงที่ทำให้เกิดการพูดเป็นคำและเป็นประโยคต่อไป ในขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคนซัสได้กล่าวว่า การที่เด็กเล็ก ๆ ออกเสียงพยางค์แบบไม่ได้ศัพท์ เช่น อ่ะ ค่ะ คื่อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คิดได้ว่าเด็กกำลังพูดอยู่ จริง ๆ แล้วเป็นความคิดไปเองของคุณพ่อคุณแม่ เพราะแท้จริงแล้วเด็กกำลังต้องการเล่นกับรูปแบบของคำ โทนเสียง และการออกเสียงสูงต่ำเท่านั้น
       
    ส่วนนักวิทยาศาสตร์ด้านสติปัญญาจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที กล่าวว่า เด็กจะเริ่มเชื่อมโยงคำกับสิ่งต่าง ๆ แทนที่เด็กจะลองผิดลองถูกในการใช้คำได้ตั้งแต่ขวบปีแรก โดยจะใช้วิธีคาดเดาว่า สิ่งที่ตนเองพูดถึงนั้นคืออะไร เช่น เวลาพูดคำว่า “แมว” เด็กจะเหมารวมทันทีว่า แมวคือแมวทั้งตัว ไม่ใช่แค่หู หาง หรือ ขา รวมทั้งจะเรียกรวมสัตว์ที่มีลักษณะเหมือน ๆ กันว่า “แมว” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแมวสีขาว สีดำ หรือสีสวาด อีกทั้งแมวจะกลายเป็นคำทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นแมวตัวไหน ถ้าคนรอบข้างกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาโดยการพูดคำศัพท์รอบตัวให้มากขึ้น ในท้ายที่สุดเด็กที่อายุ 18 เดือนขึ้นไปจะเก็บคำไว้ในคลังศัพท์ส่วนตัวได้ถึงวันละ 10-12 คำ และจะมีมากถึง 2,000 คำเมื่ออายุครบ 2 ขวบ เด็กที่อายุประมาณ 24-30 เดือนนั้น จะมีพัฒนาการทางภาษาที่ได้จากการลอกเลียนคำต่าง ๆ แล้วนำมาผสมกัน จะใช้วิธีการบวกประธานกับกริยาเข้าด้วยกัน เช่น ฉันกิน นอกจากนั้นยังสามารถแยกแยะความแตกต่างของรูปแบบประโยคที่มีความคล้ายคลึงกันได้อีกด้วย เช่น สามารถบอกได้ว่า หมากัดคน มีความแตกต่างกับ คนกัดหมา เป็นต้น
       
    งานวิจัยล่าสุดโดยทีมนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วสัญชาตญาณในการใช้ภาษาของมนุษย์นั้นมีมาตั้งแต่กำเนิด แม้แต่เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาระดับรุนแรงยังสามารถเรียนรู้ที่จะสื่อสารได้ ยกเว้นในกรณีที่เด็กเป็นโรคตั้งแต่กำเนิดหรือในช่วงต้นของชีวิต เช่น ออทิสซึม การบกพร่องทางการได้ยิน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่ขัดขวางพัฒนาการทางภาษาทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางภาษาอย่างชัดเจน อีกประมาณร้อยละ 3-7 ของเด็กทั้งหมด เด็กเหล่านี้จะมีการแสดงออกทางการได้ยินและสติปัญญาเป็นปกติและจะไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วม แต่มักจะมีปัญหาด้านการพูดล่าช้า หรือเมื่อเริ่มพูดแล้วจะพูดเป็นคำตะกุกตะกัก และในท้ายที่สุดทำให้เกิดความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน งานวิจัยนี้ยังสรุปด้วยว่า จริง ๆ แล้ว ความบกพร่องทางการสื่อสารนั้นมาจากพันธุกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเจาะจงถึงยีนที่ทำให้เกิดโรคได้ในตอนนี้
         
    สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเด็กอาจมีพัฒนาการทางภาษาบกพร่องนั้น แบ่งได้ตามช่วงอายุสมาคมภาษาและการพูดของสหรัฐได้สรุปไว้คร่าว ๆ ว่า ในช่วงอายุ 0-3 เดือน เด็กไม่ออกเสียง คู หรือ คา ส่วนอายุ 4-6 เดือน เด็กไม่หันตามเสียงแปลกหรือเสียงเรียก เช่น เสียงของเล่น อายุ 7-12 เดือน เด็กไม่พูดคำที่ยังไม่เป็นคำ เช่น ตาตา ปาปา มามา อายุ 1-2 ขวบ เด็กไม่สามารถใช้ประโยคที่ประกอบด้วย 2 คำได้ เช่น ไปไหน ใครมา อายุ 2-3 ขวบ เด็กไม่สามารถประกอบประโยคด้วยคำ 3 คำ อีกทั้งไม่เข้าใจความหมายของคำว่า หยุด ไม่ รวมทั้งไม่หันตามเสียงรอบตัว อายุ 3-4 ขวบ เด็กไม่สามารถตอบคำถามง่าย ๆ เช่น ใครทำอะไร อยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ ได้ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มสังเกตว่าลูกน้อยอาจมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้านั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ได้แนะนำไว้ว่าในช่วงต้นของอายุ คุณพ่อคุณแม่ควรจะใช้วิธีการช่วยให้เซลล์สมองของเด็กเกิดการเชื่อมโยงระหว่างเสียงต่าง ๆ ทำได้โดย คุณแม่ควรที่จะพูดคำนั้นช้า ๆ พูดซ้ำ ๆ เน้นคำ และพูดอย่างชัดเจน จะช่วยให้เด็กเข้าใจว่าควรจะออกเสียงในลักษณะเช่นไร ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะช่วยให้เซลล์สมองด้านพัฒนาการทางภาษาและการพูดเกิดการเชื่อมโยงแล้ว ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านการอ่านในอนาคตอีกด้วย ในขณะเดียวกันเด็กที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป จะสามารถสังเกตรูปปากที่จะสอดคล้องกับเสียงได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะพูดในลักษณะตัวต่อตัว พร้อมกับให้ฟีดแบ็กที่ดีกลับไปด้วย เช่น ถ้าเด็กพูดว่า กะ กะ กะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะตอบว่า เก่งมากเลย เค้าเรียกว่าไก่ค่ะ
       
    ยิ่งคุณพ่อคุณแม่พูดกับเด็กมากขึ้นเท่าไหร่ พัฒนาการทางภาษาของเด็กก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น และยิ่งคุณพ่อคุณแม่มีคำศัพท์ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับช่วงอายุเสริมเข้าไปยิ่งมากเท่าไหร่ เด็กก็จะสามารถใช้คำได้ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องไม่ลืมว่า พูดกัน ในที่นี้หมายถึงพูดกันต่อหน้า ตัวต่อตัว ไม่รวมถึงการฟังจากโทรทัศน์หรือวิทยุ ซึ่งแทนที่จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา กลับกลายเป็นทำให้พัฒนาการถดถอยไปได้เช่นเดียวกัน.

    อ.ดร.ปรียาสิริ  มานะสันต์
    ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย
    คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


    • Update : 29/10/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch