หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประวัติของวัดอรุณราชวราราม -8
     

    Image
    มณฑปพระพุทธบาทจำลอง


    • มณฑปพระพุทธบาทจำลอง

    ตั้งอยู่ระหว่างพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๔ องค์ กับพระวิหารใหญ่
    ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ
    มีฐานทักษิณ ๒ ชั้น อยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารใหญ่
    ภายในมี รอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นหินสลักจากกวางตุ้ง

    สร้างในรัชกาลที่ ๓ หลังคาพระมณฑปเดิมเป็นยอดเกี้ยวแบบจีน
    ได้พังลงมาเมื่อปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ (พุทธศักราช ๒๔๓๘)
    สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงรับจัดการเงินและเรี่ยไรซ่อม
    มีพระประสงค์จะเปลี่ยนหลังคาเป็นยอดมงกุฎ ๔ เหลี่ยม
    แต่ทำยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อน
    และพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) ผู้ปฏิสังขรณ์ก็ถึงอนิจกรรม
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้
    พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ขณะเป็นพระราชโยธาเทพ ทำตามรูปเดิม
    แต่ในปัจจุบันหลังคาพระมณฑปเป็นของสร้างใหม่ ทำด้วยซีเมนต์
    สืบได้ความว่า หลังคาพระมณฑปที่ซ่อมใหม่นี้เป็นของทำขึ้น
    ในสมัย พระธรรมเจดีย์ (อุ่ม ธมฺมธโร) เป็นเจ้าอาวาส

    Image
    รอยพระพุทธบาทจำลอง

    Image
    มณฑปพระพุทธบาทจำลอง และพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ

    Image
    พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ


    • พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๔ องค์

    ตั้งอยู่ระหว่างพระระเบียงพระอุโบสถด้านใต้กับมณฑปพระพุทธบาทจำลอง
    ซึ่งเรียงเป็นแถวตรงจากทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก ห่างกันพอควร
    เป็นพระเจดีย์แบบเดียวกัน และมีขนาดเท่ากันทั้งหมดทั้ง ๔ องค์
    คือ เป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ
    ประดับกระเบื้องถ้วยและกระจกสีต่างๆ เป็นลวดลายดอกไม้และลายอื่นๆ งดงามมาก
    มีฐานทักษัณสำหรับขึ้นไปเดินรอบองค์พระเจดีย์ ๑ ชั้น มีบันไดขึ้นลงทางด้านเหนือ
    บริเวณพระเจดีย์ติดกับพระระเบียงพระอุโบสถปูด้วยแผ่นกระเบื้องหิน

    พระเจดีย์ทั้ง ๔ องค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ คราวปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
    ต่อมาปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ขณะที่ปฏิสังขรณ์พระปรางค์นั้น
    สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง
    สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
    สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
    และพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ
    ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมราชชินีนาถ,
    สมเด็จพระบรมราชเทวี, พระราชเทวี และพระอัครชายา โดยลำดับ
    ได้ทรงบริจาคเงินองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท เพื่อปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แต่ละองค์

    Image
    ซุ้มเสมายอดมณฑป


    • ซุ้มเสมายอดมณฑป

    องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งซึ่งส่งผลให้เสมามีความโดดเด่น
    และมีความงดงามมากยิ่งขึ้นนั่นคือ ‘ซุ้มเสมา’
    ซุ้มเสมาเป็นอีกรูปแบบสถาปัตยกรรมหนึ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม
    โดยสืบทอดแบบอย่างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
    เป็นแบบแผนที่ยังคงมีให้ศึกษามาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
    สำหรับซุ้มเสมาวัดอรุณราชวรารามนั้นเป็น
    ซุ้มเสมายอดมณฑป คือซุ้มเสมาที่ทำส่วนยอดซุ้ม
    ให้มีลักษณะคล้ายอย่างเรือนยอดพระมณฑปหรือบุษบก


    โดยรอบพระอุโบสถจะมี ‘ซุ้มเสมายอดมณฑป’ ทั้งหมด ๘ ซุ้ม
    ใบเสมาเป็นหินสลักลวดลายงดงาม มีใบเสมา ๒ ใบ เรียกว่าเสมาคู่
    ประดิษฐานอยู่ในซุ้มหินอ่อน ทำเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง
    ระหว่างช่องเสมามี สิงโตหิน ตั้งอยู่บนแท่นรอบพระอุโบสถ
    หน้าพระระเบียงมี ตุ๊กตาหินทหารจีน ตั้งเรียงเป็นแถวรอบพระอุโบสถ

    Image
    ซุ้มเสมายอดมณฑป และสิงโตหินจีนขนาดเล็ก


    • หอไตร

    มีหอไตร ๒ หอ อยู่ทางด้านหน้าของหมู่กุฏิคณะ ๑ ใกล้กับสระเล็กๆ
    และรั้วด้านตะวันตกของพระปรางค์ ๑ หลัง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา
    ทำเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วยเป็นชิ้นๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี
    กรอบหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ ลงรักปิดทอง

    และอีกหลังหนึ่งอยู่มุมด้านเหนือหน้าคณะ ๗ มีช่อฟ้า ใบระกา
    ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปต้นไม้
    คติเกี่ยวกับที่มีหอไตร ๒ หอ พระเถระผู้ใหญ่ในวัดนี้เล่าว่า
    เป็นเพราะวัดแห่งนี้แต่เดิมมีพระราชาคณะได้ ๒ รูป

    Image
    “พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ภายในโบสถ์น้อย


    • โบสถ์น้อย

    ตั้งอยู่หน้าพระปรางค์องค์ใหญ่ และใกล้กับวิหารน้อย (พระวิหารเล็ก)
    ภายในโบสถ์น้อย มีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย
    เป็นประธานของอาคาร ส่วนด้านหน้าองค์พระประธานนั้น
    ก่ออิฐเป็นลับแลกั้นอยู่เพื่อแบ่งสัดส่วนภายในพระอุโบสถ
    ทางด้านข้างของพระประธานเป็นที่ประดิษฐาน
    ศาล พระบรมรูป
    และพระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
    ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


    พระแท่นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า
    ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะสิ้นรัชกาล
    ได้ทรงผนวชและเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่โบสถ์
    บ้างก็ว่าทรงถูกพวกกบฏบังคับให้ผนวชและจับพระองค์กักขังไว้ที่โบสถ์
    พระแท่นนี้นับเป็นงานประณีตศิลป์ที่มีคุณค่ามาก
    แต่ตำแหน่งที่ตั้งของพระแท่นในปัจจุบันยังอยู่ในมุมที่ไม่เด่น

    Image
    ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ๖ หลัง ตั้งอยู่ที่เขื่อนบริเวณหน้าวัด


    • ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน

    มีศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ทั้งหมด ๖ หลัง ตั้งอยู่ที่เขื่อนบริเวณหน้าวัด
    ตรงมุมเหนือสุดที่ปากคลองวัดแจ้งหลัง ๑ ตรงกับประตูซุ้มยอดมงกุฎ ๓ หลัง
    ตรงกับต้นพระศรีมหาโพธิ์หลัง ๑ และตรงกับทางเข้าพระปรางค์ใหญ่อีกหลัง ๑

    ที่ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีนมี สะพาน ยื่นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เว้นแต่ด้านเหนือสุด
    ส่วนหลังที่ตรงกับทางเข้าพระปรางค์นั้น มีรูปจระเข้หินอยู่ด้านหน้าข้างละตัว
    ศาลาเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เหมือนกันหมด คือหลังคาเป็นรูปเก๋งจีน
    มียกพื้นสำหรับนั่งพักทำด้วยหินทรายสีเขียว โดยเฉพาะ ๓ หลังตรงประตูซุ้มยอดมงกุฎนั้น
    หลังเหนือและใต้มีแท่นหินสีเขียวตั้งอยู่ตรงกลาง เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับวางของ
    และหลังศาลาเก๋งจีน ๓ หลังนี้มีรูปกินรีแบบจีนทำด้วยหินทรายสีเขียวตั้งอยู่ ๒ ตัว

    Image
    ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน


    • ภูเขาจำลอง

    อยู่หน้าวัดทางด้านเหนือ หลังศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ๓ หลัง
    กล่าวกันว่า เดิมรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้สร้างภูเขาจำลองขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
    ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ โปรดให้นำมาไว้ที่วัดนี้
    ภูเขาจำลองนี้มีรั้วล้อมไว้เป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ
    มีตุ๊กตาจีน ๒ ตัวนั่งบนแท่นอยู่นอกรั้วด้านหน้า
    ตรงประตูเข้าทำเป็นรูปทหารเรือเฝ้าอยู่ ๒ คน

    • อนุสาวรีย์ธรรมเจดีย์

    อยู่ด้านใต้ของภูเขาจำลอง มีถนนที่ขึ้นจากศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน ๓ หลัง
    ไปพระอุโบสถคั่นกลาง อนุสาวรีย์แห่งนี้มีกำแพงเตี้ยๆ เป็นรั้วล้อมรอบ
    ภายในรั้วนอกจากจะมีโกศหินทรายสีเขียวแบบจีน
    ที่ใช้บรรจุ อัฐิของพระธรรมเจดีย์ (อุ่ม ธมฺมธโร)
    อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๙ แล้ว
    ยังมีประตู มีภูเขาจำลองเตี้ยๆ มีปราสาทแบบจีนเล็กๆ และ
    มีตุ๊กตาหินนอนอยู่ภายใน มีภาษาจีนกำกับซึ่งชาวจีนอ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว

    Image
    ตุ๊กตาหินจีนและสิงโตหินจีนขนาดเล็กจำนวนมากรอบๆ พระอุโบสถ


    • ตุ๊กตาหินจีน

    ตุ๊กตาหินจีนในวัดอรุณฯ นี้ ถือเป็นหนึ่งในสี่วัดที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่มากที่สุด
    แต่โดยมากแล้วจะเป็นตุ๊กตาหินขนาดเล็กเสียเป็นส่วนใหญ่
    โดยอีก ๓ วัด ที่มีตุ๊กตาหินจีนอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน ก็คือ วัดโพธิ์
    (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดราชโอรสาราม

    เฉพาะที่ลานพระระเบียงคดที่ล้อมรอบพระอุโบสถมีถึง ๓๐๔ ตัว
    (ไม่รวมตุ๊กตาหินจีนที่ประดับอยู่รอบๆ) ที่ตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมด
    นับตั้งแต่ระหว่างซุ้มเสมายอดมณฑปทั้ง ๘ ซุ้ม ก็มี สิงโตหินจีนตัวเล็ก
    ตั้งอยู่บนแท่นเรียงกัน เว้นไว้แต่ตรงช่องบันไดทางขึ้นพระอุโบสถเท่านั้น
    ตุ๊กตาหินจีนในวัดอรุณฯ นี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่าที่วัดโพธิ์
    นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบของงานสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีก
    ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้า ถะ เขามอ และเสามังกร เป็นต้น

    ตุ๊กตาหินจีนนั้นสันนิษฐานกันว่ามาโดยพวกที่แล่นเรือสำเภาจีน
    เข้ามาค้าขายได้นำเข้ามาด้วย ๒ จุดประสงค์คือ
    เพื่อนำมาเป็นราชบรรณาการแด่รัชกาลที่ ๕ และเพื่อถ่วงน้ำหนักเรือ
    ให้สามารถแล่นผ่านคลื่นผ่านลมพายุในทะเลมาได้โดยไม่ล่มเสียก่อน
    ซึ่งตุ๊กตาเหล่านี้ได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เครื่องอับเฉาเรือ”


    • Update : 21/9/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch