หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประวัติของวัดอรุณราชวราราม -3
     

    Image
    พระมณฑปทิศ พระปรางค์ใหญ่ พระปรางค์ทิศ และรูปครุฑจับนาค


    ครั้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์จนเสร็จสมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
    แม้จะมีการปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในสมัย รัชกาลที่ ๙ รัชกาลปัจจุบัน
    แต่ก็ยังคงความสวยงามในสภาพเดิมไว้ทุกประการ ตามที่รัชกาลที่ ๕
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ไว้ดังนี้

    พระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่ภายในรั้วล้อมทั้ง ๔ ด้าน
    คือด้านตะวันออก ตะวันตก เหนือ และใต้
    ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆ ทาด้วยน้ำปูนสีขาว
    ตอนบนเป็น
    รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาค
    อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒

    ทำด้วยเหล็ก ติดอยู่ตอนบนที่รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดงทุกช่อง
    แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพง
    ตอนล่างทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์ใหญ่นั้น
    มี เก๋งจีน แบบของเก่าเหลืออยู่อีก ๑ เก๋ง
    หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี
    และภาพสีเทาเขียนเป็นรูปดอกไม้ ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ แบบจีน
    ผนังของเก๋งจีนด้านในทาด้วยน้ำปูนสีขาว ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นภาพสีเกี่ยวกับนรก
    ในรัชกาล ๕ โปรดให้ลบออกเสียเพราะทรงพิจารณาเห็นว่าไม่งาม
    ส่วนรั้วด้านใต้ที่ติดกับกำแพงพระราชวังเดิมนั้น
    เป็นรั้วก่อด้วยอิฐถือปูนทึบตลอดทั้งด้าน

    Image
    รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูนเหมือนกำแพง

    Image
    ‘รูปครุฑจับนาค’ ทำด้วยเหล็ก ที่รั้วลูกกรงเหล็กทาสีแดง
    อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๒



    ลานพระปรางค์องค์ใหญ่ตั้งแต่รั้วถึงฐานพระปรางค์ปูด้วยกระเบื้องหิน
    มีท่อระบายน้ำจากพื้นลานลงไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
    แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้มีลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกัน
    เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับตั้งเครื่องบูชา หรือวางของ
    รอบๆ ฐานพระปรางค์มี ‘ตุ๊กตาหินแบบจีน’ เป็นรูปสัตว์ต่างๆ
    เช่น วัว ควาย ลิง สิงโต เป็นต้น กับ ‘รูปทหารจีน’ ตั้งไว้เป็นระยะๆ
    และบริเวณลานที่ตรงกับพระมณฑปทิศ
    มีราวเทียนและที่สำหรับปักธูปบูชาทั้ง ๔ พระมณฑป

    องค์พระปรางค์ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก
    โปรดให้เปลี่ยนเพียงรูปกินนรกินรี และแจกันปักดอกไม้ตามช่องต่างๆ
    เป็นซีเมนต์ครึ่งซีกติดกับผนังคูหาด้านใน แทนของเก่า
    ซึ่งสลักด้วยหินเป็นตัวๆ ตั้งไว้ เพราะถ้าจะทำใหม่ให้เหมือนเก่า
    จะต้องใช้เงินมาก ด้วยของเก่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
    ได้โปรดให้รื้อประตูเข้าพระปรางค์ใหญ่ออกหมดทั้ง ๙ ประตู
    แล้วสร้างขึ้นใหม่เพียง ๕ ประตู เป็นประตูซุ้มแบบ วัดราชประดิษฐ์ฯ

    Image
    ตุ๊กตาหินทหารจีนรอบๆ ฐานพระปรางค์องค์ใหญ่


    ซุ้มเหนือบานประตูทางเข้าพระปรางค์ทั้งด้านนอกและด้านในเป็นลายปูนปั้นลงสี
    ทำเป็น รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๕
    ติดอยู่ตรงด้านนอกและด้านใน คือที่รั้วด้านตะวันออกหน้าพระปรางค์มี ๓ ประตู
    ซุ้มเหนือบานประตูที่อยู่เหนือโบสถ์น้อยเป็น รูปครุฑจับนาค ประจำรัชกาลที่ ๒
    ประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น รูปพระเกี้ยว ประจำรัชกาลที่ ๕
    และประตูข้างใต้พระวิหารน้อยเป็น รูปพระมงกุฎ ประจำรัชกาลที่ ๔
    ส่วนที่รั้วทางด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มี ๒ ประตู
    ซุ้มเหนือบานประตูเหนือเก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในกลีบบัว ประจำรัชกาลที่ ๑
    ประตูใต้เก๋งจีนเป็น รูปอุณาโลมอยู่ในปราสาท ประจำรัชกาลที่ ๓

    องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก
    แต่ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ
    และยังคงแข็งแรงมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ได้นี้
    แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

    Image
    ซุ้มเหนือบานประตูกลางระหว่างโบสถ์น้อยและวิหารน้อยเป็น ‘รูปพระเกี้ยว’
    รูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์ในรัชกาลที่ ๕




    Image
    พระปรางค์ทิศ มีช่องรูปกินรีและกินนร และรูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน


    • พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ

    พระปรางค์ใหญ่ ล้อมรอบด้วย พระปรางค์ทิศและพระมณฑปทิศ
    พระปรางค์ทิศ เป็นพระปรางค์องค์เล็กๆ ตั้งอยู่บนมุมทักษิณชั้นล่าง
    ของพระปรางค์องค์ใหญ่ มีอยู่ ๔ ทิศ ทิศละองค์ คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
    ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้
    พระปรางค์ทิศทั้ง ๔ องค์มีขนาดและรูปทรงเหมือนกัน กล่าวคือ
    ตอนฐานของพระปรางค์ทิศแต่ละพระปรางค์มี ช่องรูปกินรีและกินนร
    สลับกันโดยรอบ ที่เชิงบาตรเหนือช่องมี รูปมารกับกระบี่แบกสลับกัน
    เหนือขึ้นไปเป็น ซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า และเหนือขึ้นไปอีก
    บนยอดพระปรางค์ทิศมี รูปครุฑจับนาคและเทพพนม อยู่เหนือซุ้มคูหา
    องค์พระปรางค์ทิศก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับถ้วยกระเบื้องเคลือบสีลวดลายต่างๆ
    แบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ และบนส่วนยอดสุดขององค์พระปรางค์ทิศ
    เป็น ‘ยอดนภศูล’ ปิดทอง แต่ไม่มีมงกุฎปิดทองครอบอีกชั้นหนึ่ง
    (มงกุฎปิดทองครอบยอดนภศูลจะมีเฉพาะพระปรางค์องค์ใหญ่เท่านั้น)

    ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    พระองค์ไม่ได้ทรงมีการปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนแปลงพระปรางค์ทิศแต่อย่างใด

    Image
    ซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้าของพระปรางค์ทิศ


    ส่วน พระมณฑปทิศ มีอยู่ ๔ ทิศ คือทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก
    และทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ ๒ ในระยะระหว่างพระปรางค์ทิศ
    ภายในองค์พระมณฑปทิศประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ
    แต่จะเป็นปางใดบ้างนั้น ไม่พบหลักฐาน เมื่อปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕
    ตามรายงานของ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)
    ชี้แจงว่า มีแต่ฐานพระพุทธรูป องค์พระพุทธรูปไม่มี
    ตอนฐานของพระมณฑปทิศแต่ละพระมณฑปมี ช่องรูปกินรีและกินนร
    และเหนือช่องมี รูปกุมภัณฑ์แบก ๒ พระมณฑป คือทิศเหนือกับทิศใต้
    มี รูปคนธรรพ์แบก ๒ พระมณฑป คือทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
    พระมณฑปก่อด้วยอิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีลวดลายต่างๆ
    แบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่และพระปรางค์ทิศ

    ในการปฏิสังขรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เหลืออยู่ในพระวิหารคด
    รอบพระปรางค์ของเก่าที่ถูกรื้อไปนั้น นำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในมณฑปทิศ

    Image
    ช่องรูปกินรี ที่ฐานของพระปรางค์ทิศ และพระมณฑปทิศ

    Image
    ช่องรูปกินรีและกินนร ที่ฐานของพระปรางค์ทิศ และพระมณฑปทิศ


    คือ พระมณฑปทิศเหนือ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ
    ทำเป็นรูปพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา ประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้รัง
    เบื้องพระพักตร์มีรูปพระมหาสัตว์หรือพระพุทธเจ้าแรกประสูติ
    ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว ยกพระพาหาข้างขวาขึ้นเหนือพระเศียร
    ชูนิ้วพระหัตถ์ขึ้น ๑ นิ้ว ประกาศว่าจะทรงเป็นมหาบุรุษผู้เลิศในโลกนี้
    และมีรูปเทวดา ๒ องค์ ประคองพระแท่นที่ประทับยืน
    พระพุทธรูปที่นำขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระมณฑปทิศเหนือนี้
    เป็นของทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะแต่เดิมไม่มี

    พระมณฑปทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้
    มีพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่กลาง และพระพุทธรูปรูปางมารวิชัยอยู่สองข้าง
    ประทับอยู่ใต้ร่มโพธิ์และร่มไทร

    พระมณฑปทิศใต้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเทศนาพระธรรมจักร
    มีพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์นั่งพนมมือฟังอยู่เฉพาะพระพักตร์
    สำหรับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี้ เป็นของทำขึ้นใหม่
    เพราะของเก่าแตกทำลายหมด และ

    พระมณฑปทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน
    มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่เหนือแท่นพระบรรทมใต้ต้นรังทั้งคู่
    และมีพระภิกษุสงฆ์พุทธสาวกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ข้างหลัง)

    Image
    สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นและงดงามของพระปรางค์องค์ใหญ่

    Image
    บันไดทางขึ้นไปสู่พระปรางค์องค์ใหญ่ ส่วนทางขวามือเป็นพระมณฑปทิศ

    Image
    พระมณฑปทิศ และพระปรางค์ใหญ่

    Image
    พระมณฑปทิศ มีรูปคนธรรพ์แบก ๒ พระมณฑป

    Image
    พระมณฑปทิศ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณชั้นที่ ๒ ในระยะระหว่างพระปรางค์ทิศ

    Image
    บันไดขึ้น-ลงพระปรางค์ใหญ่ และพระมณฑปทิศ


    • Update : 19/9/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch