หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    หลวงพ่อนวม พระนักขุดกรุแห่งรัตนโกสินทร์

    หลวงพ่อนวม พระนักขุดกรุแห่งรัตนโกสินทร์

     เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

               วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท เดิมมีนามว่า "วัดพระธาตุ" และมีนามเรียกอีกนามหนึ่งว่า "วัดหัวเมือง" สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ อยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์ เป็นที่สำคัญ ปัจจุบันมี พระครูศรีปริยัติอุเทศ หรือหลวงพ่อช้าง เป็นเจ้าอาวาส

                อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ทางวัดได้ขุดพิสูจน์กรุใต้ฐานพระภายในวิหาร โดยมีความเชื่อว่า พระชัยนาทมุนี  หรือ หลวงพ่อนวม สุตตเถระ อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร น่าจะนำพระเครื่องที่ขุดมาจากกรุวัดต่างๆ มาฝังไว้ในบริเวณดังกล่าว แต่เมื่อขุดลงไปไม่พบพระเครื่องใดๆ เลยสักองค์

                "นายอรรถภูมิ บุณยเกียรติ" หรือ "เสี่ยติ" ผู้อำนวยการสถาบันโบราณศิลป์ บอกว่า พระชัยนาทมุนี หรือหลวงพ่อนวม ถือว่าเป็นตำนานของพระนักขุดกรุแห่งยุครัตนโกสินทร์ก็ว่าได้ พระเครื่องและพระบูชาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี ของ จ.ชัยนาท ล้วนเป็นพระเครื่องที่หลวงพ่อนวมขุดมาจากกรุของวัดต่างๆ ในเขต จ.ชัยนาท และใกล้เคียง โดยท่านได้ขุดเมื่อครั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดชัยนาท

                อย่างไรก็ตาม มีคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ถึงเหตุผลที่หลวงพ่อนวมไปขุดพระจากกรุของวัดต่างๆ ว่า "ถ้าท่านไม่ขุด ชาวบ้านก็ขุดเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวหมด สู้ขุดรวบรวมมาเก็บที่วัดเสียเลยดีกว่า" ทั้งนี้ท่านได้นำพระที่ขุดได้มาฝังไว้ในบริเวณที่ต่างๆ ของวัด โดยช่วงที่วัดร้างราจากเจ้าอาวาสได้มีกลุ่มมิจฉาชีพไปลักลอบขุดพระที่หลวงพ่อนวมฝังไว้หลายครั้ง

                "เท่าที่ทราบในช่วงบั้นปลายชีวิตหลวงพ่อนวมถูกฟ้องร้องนับร้อยๆ คดี ซึ่งล้วนเกี่ยวกับการขุดกรุพระเครื่องทั้งสิ้น ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยอาจจะมองว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นไม่ถูกต้อง เกินวิสัยสงฆ์ แต่สิ่งที่ท่านทำในอดีตสามารถรักษามรดกของชาติไว้ได้ โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสำริด แบบศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ หากหลวงพ่อนวมไม่ขุดและได้เก็บไว้ ป่านนี้คงตกอยู่ในมือผู้สะสมพระเครื่อง หรือไม่ก็ถูกส่งออกไปต่างประเทศแล้ว" นายอรรถภูมิ กล่าว

                สำหรับประวัติของหลวงพ่อนวมนั้น ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๓๖ ณ หมู่ ๑ ต.เที่ยงแท้ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท โยมมารดาชื่อสุข โยมบิดาชื่อเปลี่ยน มาอยู่ ณ หมู่ ๑ ต.ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท  มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ เบื้องต้นได้รับการศึกษาจากพระ พออ่านออกเขียนได้ ทำเลขบวกลบ คูณ หารได้

                พ.ศ.๒๔๕๖ ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร เป็นทหารประจำการอยู่ ๒ ปี ก็ปลดออกจากประจำการ พ.ศ.๒๔๕๘ อุปสมบท ณ วัดโพธาราม (บ้านซ่อง) ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี (หรุ่น) ครั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ อ.สรรคบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

                พ.ศ.๒๔๖๒ ได้ย้ายไปศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม ประจำอยู่ ณ วัดระฆังโฆสิตาราม มีภาระธุระเป็นพิเศษ คือ เป็นพระพิธีธรรมสำหรับสวดในงานพิธีต่างๆ ทั้งในราชการและนอกราชการ และเป็นผู้ชำนาญในการเทศน์มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช

                ผลงานและสมณศักดิ์ที่ได้รับ พ.ศ.๒๔๖๗ ย้ายจากวัดระฆังโฆสิตาราม ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดฝาง ต.ชัยนาท จ.ชัยนาท พ.ศ.๒๔๗๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมในเจ้าคุณชัยนาทมุนี (หรุ่น) เจ้าคณะจังหวัด ตำแหน่งปลัด ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีวิชัยวัฒนาราม และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท พ.ศ.๒๔๘๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนามว่า พระครูบริรักษ์บรมธาตุ เจ้าคณะอำเภอเมืองชัยนาท

                พ.ศ.๒๔๙๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะประจำเขตอำเภอเมืองชัยนาท พ.ศ.๒๔๗๓ ย้ายจากวัดศรีวิชัยวัฒนาราม ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ พ.ศ.๒๔๙๕ ดำรงตำแหน่งสาธารณูปการจังหวัดชัยนาท เจ้าคณะจังหวัดชัยนาทอยู่ ณ วัดสมอ อ.สรรพยา พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีราชทินนามว่า พระชัยนาทมุนี ๒๗ กันยายน ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปนมัสการพระบรมธาตุฯ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงพระอารามจำนวน ๕,๐๐๐ บาท ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดพระบรมธาตุฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙ พระชัยนาทมุนี มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๖ สิริอายุ ๘๐

     


    มรดกหลวงพ่อนวม

     

                พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ตั้งขึ้นด้วยความสนใจของพระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทและอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งได้รวบรวมศิลปวัตถุ โบราณวัตถุที่พบ ในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียงมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานของวัดเป็นจำนวนมาก

                ทั้งนี้ พระชัยนาทมุนีได้ยินดีมอบศิลปวัตถุ โบราณวัตถุดังกล่าวให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของไทย ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานขึ้นในบริเวณใกล้กับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี เพื่อเป็นที่ระลึกแด่พระชัยนาทมุนี เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ เป็นต้นมา

                พระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ในพิพิธภัณฑ์ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสำริด แบบศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปองค์นี้เดิมถูกพอกปูน ต่อมาปูนกะเทาะออก จึงทราบว่าเป็นพระพุทธรูปสำริด กระเบื้องเชิงชาย หน้าเทวดา แบบศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ วัสดุดินเผา

                นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้และเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์และทวารวดี ประติมากรรม เครื่องถ้วยศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และศิลปะจีน ชั้นบนจัดแสดงพระพิมพ์ที่ได้จากการดำเนินการทางโบราณคดีในประเทศไทย ตั้งแต่พระพิมพ์ในศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะลพบุรี ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ศิลปะรัตนโกสินทร์ และพระพิมพ์ที่วัดต่างๆ จัดทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์


    • Update : 7/9/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch