หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-หลวงพ่อทองคำ-หลวงพ่อศิลา

    หลวงพ่อทองคำ-หลวงพ่อศิลา

               หลวงพ่อทองคำ และหลวงพ่อศิลา ผมได้ยินนามของท่านมานานแล้ว รวมทั้งเห็นป้ายชี้ทางไปวัดที่ท่านประดิษฐานอยู่ในเวลาที่ไปอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แต่ไม่เคยได้ไปแวะสักที จนเลขาฯประจำตัวของผมกับคณะเพื่อนครูโรงเรียนบดินทร์เดชา เขาได้ไปเที่ยวกันก่อนเอามาเล่าให้ผมฟังว่าไปนมัสการมาแล้ว เลยรอช้าไม่ได้แล้ว ถือโอกาสตอนไปเขาค้อแล้วเลยไปสุโขทัย ไปอำเภอทุ่งเสลี่ยม ไปนมัสการหลวงพ่อฯ
               อำเภอทุ่งเสลี่ยม เป็นอำเภอหนึ่งของสุโขทัย มารู้จักเส้นทางไปสุโขทัยเสียก่อน
                เส้นทางที่ ๑ กรุงเทพฯ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๓๕ ผ่าน อยุธยา อ่างทอง สิงหบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก (ควรแวะนมัสการพระพุทธชินราช อย่าผ่านเลยไป ) สุโขทัย
                เส้นทางที่ ๒ กรุงเทพฯ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย
               ทั้ง ๒ เส้นทางระยะทางใกล้เคียงกัน คือประมาณ ๔๓๐ กม.
                เส้นทางที่ ๓ คือเส้นทางที่ผมเดินทางไปคราวนี้ กรุงเทพฯ สระบุรี พุแค เพชรบูรณ์ เขาค้อ ลงจากเขาค้อทางถนนสาย ๒๑๙๖ ลงมาทางแคมป์สน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๑๒ สายหล่มสัก – พิษณุโลก - สุโขทัย รวมระยะทางประมาณ ๕๖๐กม. แต่ได้ไปนอนที่เขาค้อ ไปรับลมหนาวให้ชื่นใจเสียหนึ่งคืน อายุยืนไปอีก ๑ ปี
               หรือจะไปอีกเส้นก็ได้ อ้อมสนุกดี คือ เส้นทางไปผ่านนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๑๒ ไปสุโขทัย ระยะทางประมาณ ๕๐๐ กม.
               จากสุโขทัย จะไปไหว้พระ ก็ไปตามถนนสาย ๑๐๑ สายสุโขทัย – แพร่ จะผ่าน อำเภอศรีสำโรง อำเภอนี้ มีของดีหลายๆอย่างซ่อนตัวอยู่ เช่นมีตลาดสดชื่อ ตลาดสดสิริสุข ตลาดสดสีฟ้า น่าซื้อ ตัวตลาดยาวสัก ๑๐๐ เมตร เดินเข้าไปชมตลาดแล้วต้องยกให้กับความสะอาด กลิ่นสะอาดทั่วตลาด และมีแผงขายขนมโบราณหลายแห่ง เช่นมีขนมต้มขาว มีขนมทองหรือขนมวง ในกรุงเทพฯหากินไม่ได้แล้ว มีขนมถั่วแป๊บ ผมไปใกล้วันเทศกาลตักบาตรเทโว ข้าวต้มลูกโยนวางขายเต็มไปหมด รวมทั้งข้าวต้มผัดด้วย สุโขทัยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมปลาน้ำจืด จนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ปลาในวรรณคดี เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ตั้งอยู่ในสวนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ ริมถนนสายสุโขทัย - พิษณุโลก ในตลาดศรีสำโรงจึงมีปลานานาชนิด รวมทั้งปลาแดดเดียว พอจะซื้อแม่ค้าถามเลยว่าไปอีกกี่วัน เพราะหากถึง ๒ วันปลาแดดเดียวจะมีกลิ่น เลยอดชิม แต่มีปลาแดดเดียว ทอดใส่ถุงเอาไว้ขายถุงละ ๒๐ บาท อาหารสำเร็จรูปมีมากมายหลายเจ้า อาหารใส่ถุงขายถุงละ ๒๐ บาท ถุงใหญ่กินคนเดียวไม่หมด ผักสดก็สะอาดน่ากิน น่าซื้อไปหมด และ อำเภอนี้ยังมีก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยเจ้าอร่อยด้วย แต่ไม่มีโอกาสชิม ชาวศรีสำโรงท่านหนึ่งบอกว่าเศรษฐีสุโขทัยก็อยู่ในอำเภอนี้ ยังมีดีอีก ถั่วทอดที่อร่อยที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียวก็อยู่ใน อ.ศรีสำโรง มีหลายร้าน หากจะไปวัดหลวงพ่อทั้ง ๒ องค์ที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม ก็ไปได้จากศรีสำโรงตามถนนสาย ๑๐๕๖
               อำเภอสวรรคโลก เป็นต้นทางที่จะแยกไปไหว้พระที่ ทุ่งเสลี่ยม โดยไปตามถนน ๑๐๔๘ อำเภอนี้เป็นอำเภอใหญ่ เพราะเคยเป็นเมืองมาก่อน สถานที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสวรรควรนายก ตั้งอยู่หลังวัดสวรรคคาราม (วัดกลาง) โดยในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงแยกเป็น ๒ ส่วน ชั้นบนจัดแสดงประติมากรรม ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุ เป็นพระพุทธรูปในยุคสมัยต่างๆ ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องถ้วยสังคโลก เปิดให้ชมได้ทุกวันเว้น วันจันทร์ – อังคาร โทรติดต่อ ๐๕๕ ๖๔๑ ๕๗๑
               สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติ(ทุ่งแม่ระวิง ) มีสะพานไม้โบราณที่ข้ามอ่างน้ำเกาะกลางทุ่งแม่ระวิง สักการบูชาพระร่วง ณ วงเวียนประดิษฐานรูปพระร่วง สักการบูชาพระมหาโพธิสัตย์ เจ้าแม่กวนอิม และศาลปู่ก๊อก ชมวิวรอบเกาะ
               อำเภอทุ่งเสลี่ยม ห่างจากสวรรคโลก ๓๐ กม. ห่างจากสุโขทัย ๖๘ กม เป็นอำเภอที่เมื่อมาแล้วจะได้กลิ่นอายของเมืองเหนือ เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะย้ายมาจาก เมืองเถิน จ.ลำปาง ( เถินไปจากทุ่งเสลี่ยมได้ไปตามถนนสาย ๑๐๔๘ ) สำเนียง ภาษาพูด อาหารการกิน หรือรูปแบบของวัดวา อาราม ล้วนถอดแบบมาจากเมืองเหนือ อำเภอนี้เป็นที่ตั้งของวัดสำคัญ ๒ วัด ที่จะมานมัสการพระพุทธรูปทองคำและพระหลวงพ่อศิลา การเดินทางไปยังวัดทั้งสอง ตามป้ายบอกทางหรือถามชาวบ้านไปจะง่ายที่สุด
               วัดทุ่งเสลี่ยม ตามป้ายบอกทางเข้าวัด เลี้ยวซ้ายเข้าซอยทุ่งเสลี่ยม ๑๓ ไปถึงสามแยกถนนศรีเสลี่ยม แล้วเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๑๕๐ เมตรวัดจะอยู่ทางขวามือ
               วัดนี้สร้างเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ มีพื้นที่ประมาณ ๗ ไร่เศษ ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลง ปางนาคปรก หน้าตักกว้าง ๔๔ ซม. สลักจากหินทรายสีเทา สวมมงกุฎเทริดติ่งหูทั้งสองประดับด้วยตุ้มหูทรงกรวย ต้นแขนทั้งสองข้างประดับด้วยกำไล นั่งสมาธิบนฐาน ๓ ชั้นมีพญานาค ๗ เศียร ปรกอยู่เหนือเศียร เป็นศิลปะลพบุรีแบบบายน สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐ - ๑๘๐๐ ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำเจ้าราม ซึ่งเป็นถ้ำอยู่ในเขตติดต่อระหว่าง อ.ทุ่งเสลี่ยม และ อ.บ้านด่านลานหอย ซึ่งภายในถ้ำมีค้างคายมากมาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ ครูบาก๋วน จากวัดแม่ปะหลวง อ.เถิน จ.ลำปาง ได้รวบรวมผู้คนเดินทางไปยังถ้ำเจ้าราม เพื่ออัญเชิญพระพุทธรูปศิลาจากถ้ำเจ้าราม แต่พอเดินทางมาถึงที่ตั้งวัดทุ่งเสลี่ยมในปัจจุบัน ก็เกิดปาฏิหาริย์แสดงให้เห็น ชาวบ้านทุ่งเสลี่ยมจึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระพุทธรูปศิลานาคปรก ประดิษฐานไว้ ณ วัดทุ่งเสลี่ยม และเรียกว่า พระศิลา หรือ หลวงพ่อศิลา
               ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีกลุ่มคนร้ายมาโจรกรรมหลวงพ่อ ศิลาไปจากวัดทุ่งเสลี่ยม จนถึงเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีกลุ่มอนุรักษ์ชาวไทยในนครลอนดอนได้พบภาพพระพุทธรูปศิลาจากสถาบันการประมูลวัตถุโบราณ จึงแจ้งกลับมายังประเทศไทย แต่ไปติดตามทวงคืนได้ที่สหรัฐอเมริกา และด้วยการสนับสนุนการเงินของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์(ซี พี )ได้บริจาคเงินจำนวน ๕ล้านบาทเศษ ทำให้ติดตามเอาพระพุทธรูปกลับคืนมาได้เมื่อ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ คณะทำงานจึงน้อมเกล้านำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีกาญจนาภิเษก เมื่อ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ แต่พระองค์ทรงโปรดพระราชทานให้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ ณ วัดทุ่งเสลี่ยมดังเดิม ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในมณฑปของวัดที่สร้างขึ้นใหม่ มีวัตถุมงคลจำหน่าย
                วัดพิพัฒน์มงคล ประดิษฐานพระพุทธสุโขโพธิ์ทองและพระบรมสารีริกธาตุ(พระรากขวัญ ) วัดพิพัฒน์ไปจากสุโขทัยตามถนนสาย ๑๐๑ถึง อ.สวรรคโลก แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย ๑๐๔๘ ไปยังอ.ทุ่งเสลี่ยม ตามป้ายไปวัดพระทองคำ วัดนี้สร้างในพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นเมืองเก่า เป็นที่ตั้งของวัดร้างมาก่อน มาเจริญเพราะเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันคือ พระครูวรคุณประยุต หรือหลวงพ่อพิพัฒน์มงคล ( พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอ ) โดยหลวงพ่อพิพัฒน์มงคล บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ได้ ๑๒ ปี และศึกษาปฏิบัติธรรมที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน เมื่ออายุถึงปีบวชก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดพระดงฤาษี อ.เมือง จ.ลำพูน แล้วออกปฏิบัติธรรมทั้ง ๔ ภาค จนถึงปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับอาราธนาให้สร้างวัดพิพัฒน์มงคล ได้รักษาการเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก แต่มาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นรูปที่ ๔
               เมื่อจะสร้างวัดนั้น เกิดจากการอธิษฐานจิตที่จะสร้างสำนักปฏิบัติธรรม ในพื้นที่ที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน เมื่อสร้างได้ ๒ ปีก็ได้รับมอบหมายพระพุทธรูปมาจำนวนหนึ่งรวมทั้งพระพุทธรูปทองคำที่ยังไม่ทราบว่าเป็นทองคำ ต่อมารักดำที่ฉาบองค์พระไว้ได้กะเทาะออก จึงทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำ หลวงพ่อเจ้าอาวาสได้พัฒนาวัดไปอย่างมากมาย ใช้ปัจจัยร่วมร้อยล้านบาท สร้างเจดีย์จตุรังค์เจดีย์ สร้างรัตนอุโบสถ อุโบสถแก้ว มณฑปรอยพระบาท พุทธมณฑลจำลอง หอคำหลวง หอสมเด็จ สวนปฏิบัติธรรม สังฆวิหาร ศาลเจ้าแม่กวนอิม มณฑปพระพุทธบาท ฯ ลฯ
               พระพุทธสุโขโพธิ์ทอง (หลวงพ่อทองคำ ) เชื่อถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีเทวดารักษา สร้างด้วยทองคำเนื้อบริสุทธิ์หนัก ๙ กิโลกรัม อายุราว๕๐๐ ปี ศิลปะสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ในสุโขทัย แล้วถูกอัญเชิญไปเวียงจันทร์ จนถึงปีพ.ศ. ๒๔๗๓ ชาวท่าบ่อได้รับมอบจากเจ้าแขวงเวียงจันทร์นำมาบูชาไว้ที่บ้าน ประมาณ ๒๐ กว่าปี ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ คหบดีชาวลำพูน ได้รับมอบจากญาติชาวอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองลำพูนเป็นเวลา ๔๓ ปี “องค์พระได้ถูกฉาบด้วยรักดำปิดทับเอาไว้ “
               เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ หลวงพ่อพิพัฒน์มงคล ได้เดินธุดงค์มาทางอำเภอทุ่งเสลี่ยม และอธิษฐานจิตที่จะสร้างสำนักปฏิบัติธรรม ณ บริเวณที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน เมื่อสร้างไปได้ ๒ ปีก็ได้รับมอบถวายพระพุทธรูปมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งพระทองคำด้วย
               พระพุทธรูปทองคำองค์นี้ ประดิษฐานอยู่ในหอพระ และยังมีห้องชั้นในซึ่งท่านเจ้าอาวาสให้เข้าไปนมัสการได้ เก็บพระพุทธรูปโบราณไว้มากมายบอกว่าขุดได้จากใต้พื้นดินบริเวณที่สร้างวัดนี่แหละ และทางวัดเปิดให้เช่าบูชาได้ด้วย บางองค์มีราคาถึง ๑๕๐,๐๐๐ บาท เงินทีได้จากให้เช่าบูชาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาวัด
               อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อยู่ก่อนถึงตัวอำเภอศรีสัชนาลัย ตำบลเมืองเก่า บริเวณที่เรียกว่า แก่งหลวง ห่างจากตัวอำเภอลงมา ๑๑ กม. หากไปไหว้พระพุทธรูปศิลาและพระทอง ก่อนแล้วคิดจะไปอุทยานฯก็ไปได้จาก อ.ทุ่งเสลี่ยม โดยไปตามถนน สาย ๑๐๔๘ ( ถนนสายนี้ไปยัง อ.เถินได้ ) แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนสาย ๑๓๓๐ ไปเลี้ยวขวาอีกทีเข้าถนน ๑๒๙๔ ไปจนถึงเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยม ก็เลี้ยวซ้ายไปอุทยานฯ หากเลี้ยวขวาจะไปยัง วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียงหรือวัดพระปรางค์ แต่ไปตามถนนเส้นนี้จะอ้อมไป สู้ย้อนกลับออกมายังสวรรคโลกแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย ๑๐๑ จะสะดวกกว่า ระยะทางจากสุโขทัย ถึงอ.ศรีสัชนาลัย ๖๗ กม. แต่ไปไม่ทันถึงตัวอำเภอประมาณ กม.๖๔ ก็เลี้ยวซ้ายตามป้ายไป ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำยม แล้วเลี้ยวขวา ผ่านร้านอาหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัยเคยเป็นเมือเก่าที่เรียกกันว่า เมืองเชลียง เป็นเมืองที่คู่กับเมืองสุโขทัยในอดีต มีลำน้ำยมไหลผ่านกลางเมือง เมื่อมาจากสวรรคโลก พอข้ามสะพานข้ามลำน้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายก็จะไปยัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดคู่บ้าน คู่เมือง และหัวเมืองเอกก็มักจะมีวัดมหาธาตุ เช่น สุโขทัย ลพบุรี เป็นต้น วัดนี้เป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียง ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระปรางค์ ที่วัดมีสะพานข้ามลำน้ำยมสำหรับรถมอเตอร์ไซค์หรือคนเดิน สถานที่สำคัญ คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ วิหารใหญ่ พระพุทธรูปปางลีลา เจดีย์ทิศและซุ้มพระ กำแพงแก้ว ฐานเจดีย์ทรงกลม พระอัฏฐารส อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เริ่มขุดแต่ง บูรณะมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๒ และเรียบร้อย สวยงามจนประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ การไปชมเมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวขวา วันนี้แวะกินอาหารกลางวัน ฉู่ฉี่ปลาคัง แกงป่า ปลาทับทิมทอดกระเทียมพริกไทย ผัดผักรวม ไข่เจียวหมูสับยกให้เป็นอาหารประจำชาติ
               เลยร้านแก่งสัก ก็จะมาเข้าประตูทางเข้าอุทยานฯ นำรถเข้าไปได้เสียค่ารถเข้า ส่วนคนหากสูงวัยก็ไม่ต้องเสีย เมื่อเข้าไปในอุทยานแล้ว วิ่งรถชม ลงเนชม ลงถ่ายรูป วนไปตามลำดับ คือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานน้อย – ใหญ่ วัดนางพญา วัดเขาพนมเพลิง วัดเขาสุวรรณคีรี วัดชมชื่น ทุกวัดอยู่ในสภาพที่ตกแต่ง บูรณะงดงามแล้ว ข้อเสียคือป้ายลบเลือน และเวลาฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง ต้องแก้ไข
               ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก ( เตาทุเรียง ) วิ่งไปทางทิศเหนือ เลียบลำน้ำยม ออกประตูไปจะผ่านวัดเกาะน้อยป่ายาง วิ่งไปประมาณ ๕ กม.จะถึงศูนย์ฯต้องเสียค่าเข้าชม สุโขทัยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา แบบสังคโลก ที่มีชื่อเสียงมาก ถึงขั้นส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ บริเวณนี้ขุดพบเตาทุเรียงมากกว่า ๕๐๐ เตาที่ศูนย์คือเตาหมายเลข ๔๒และ ๖๑ ในตัวอาคารศูนย์จัดแสดงโบราณวัตถุ และเตาทุเรียง
               การแสดง แสง เสียง ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จะจัดแสดงทุกวันเสาร์ต้นเดือน ทุกเดือน ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ประตูทางเข้าอุทยานด้านข้าง ค่าเข้าชมคนละ ๕๐๐ บาท รวมอาหารพื้นเมืองชั้นดี เต็มอิ่ม ๑ มื้อ ประมาณ ๑๗.๐๐ ก็เปิดร้านอาหาร มีเสื่อยาวปูให้นั่งริมสระน้ำใหญ่ อาหารเท่าที่จำได้มี สาคูไส้หมู ขนมต้มแดง ต้มขาว ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ผัดไทย เส้นหมี่ผัดซ๊อส ข้าว แกงมัสหมั่น ข้าวคลุกกะปิ ขนมครก ไข่หวาน ผลไม้ ฯ อิ่มแล้วพาเดิน(หรือนั่งรถไปก่อนก็ได้ ) ไปยังเกาะกลางน้ำที่วัดสระศรี มีฉากหลังเป็นพระพุทธรูปจัดแสดงโดย นักเรียนนาฏศิลป์สุโขทัย เล่าเรื่องเมืองสุโขทัย เริ่มตั้งแต่สร้างอาณาจักรและประเพณีต่างๆเช่นลอยกระทง จุดเทียน เล่นไฟ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๓๐ นาที สวยงามมาก จบแล้วให้ถ่ายรูปกับนักแสดงได้ หากเราไปก่อนเวลามากๆก็จะมีเวลาชมอุทยานประวัตศาสตร์สุโขทัยด้วย
               ที่พัก ไปคราวนี้พักที่ รีสอร์ท ก่อนถึงสี่แยกตัวเมืองประมาณ ๑ กม. รีสอร์ทจะอยู่ทางซ้ายมือ หากฤดูฝนที่นาด้านข้างจะกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ และมีต้นสนเป็นฉากหลัง ปลูกเป็นบังกะโล สวย ไม่มีเตียง ยกพื้น ปูที่นอน หญ้าล้อมรอบบังกะโล แต่ดูเป็นธรรมชาติ ผมเลยตั้งชื่อให้เขาใหม่ บอกว่าชื่อ ทิวหญ้า นาทุ่ง จะเข้ากับสถานที่ ค่าที่พักคืนละ ๖๐๐ บาทไม่รวมอาหารเช้า แต่หน้ารีสอร์ท มีร้านอาหาร ไปสั่งอาหารกินได้ ราคาถูก อร่อยด้วย
               พระพุทธอุทยานสุโขทัย อยู่บริเวณติดกับศาลากลาง จำลองพระพุทธรูปที่เคยอยู่ในสุโขทัยแล้ว ถูกนำไปไว้ที่จังหวัดอื่น เช่น หลวงพ่อร่วง มาอยู่ที่วัดมหรรณพาราม ฯ
               ด้านหน้าของพุทธอุทยาน คือ ศาลพระแม่ย่า สิ่งศักดิสิทธ์ประจำเมือง ร้านอาหาร ร้านนี้ได้ประกาศณียบัตรของจังหวัด มีได้รับอยู่ ๘ ร้าน ค่อนข้างจะหายาก หากไป ๒๐ คนแถมคาราโอเกะ สถานที่ยอดเยี่ยม อาหารเลิศรส
               เส้นทาง หากมาจากพิษณุโลกวิ่งตรงเรื่อยมาในเมืองจะถึงสะพานข้ามแม่น้ำยม เลี้ยวซ้ายจะไปผ่าน ศาลแม่ย่า พุทธอุทยาน “ศาลากลางจังหวัด “แล้วเลี้ยวซ้าย จะไปบรรจบกับถนนสายหลังศาลากลาง ( หรือเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายหลังมาเลยก็ได้ )เมื่อบรรจบแล้ว เลี้ยวขวาไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ผ่านศาลจังหวัด ผ่านเรือนจำ สุดรั้วเรือนจำ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยรุ่งโรจน์ ร้าน จะอยู่ทางซ้ายมือ
                สะตอผัดกุ้ง สูตรอธิบดี(ไม่ทราบว่ากรมไหน )ผัดแบบใต้แท้ ไส่กะปิ
               ไก่คั่วเค็ม ขิงกรอบ สับปะรด ขิงหั่นฝอย ทอดกรอบ มะกรูดหอม
               ต้มยำเห็ดโคน ,เห็ดเผาะผัดกะเพา,เห็ดผัดน้ำมันหอย,เห็ดเผาะลวก
               ฉู่ฉี่พริกสดปลาเค้า, เก้งผัดเผ็ด สั่งสนุก เพราะอร่อยและราคาย่อมเยา

    ................................................



    • Update : 15/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch