หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    การเลี้ยงปลาบู่-1

     ปลาบู่ หรือบู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต  มีชื่อสามัญว่า  Sand Goby,     Marbled Sleepy Goby และชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyleotris  mamorata  Bleeker  ปลาบู่เป็ปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ    สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท  ได้แก่  ฮ่องกง  สิงคโปร์    มาเลเซีย  ฯลฯ

    เนื่องจากความต้องการปลาบู่ทรายจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นผลให้ปลาบู่ทรายมีราคาแพงขึ้น

                        อดีตการเลี้ยงปลาบู่ทรายนิยมเลี้ยงกันมากในกระชังแถบลุ่มน้ำและลำน้ำสาขาบริเวณภาคกลาง  ตั้งแต่จังหวัด นครสวรรค์  อุทัยธานี  เรื่อยมาจนถึงจังหวัดปทุมธานี   โดยมีปลาบู่ทรายขณะนี้มี  3  ประการ คือ

                     1. พันธุ์ปลาที่นับวันจะหายาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

                     2. ผู้เลี้ยงยังขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเพาะเลี้ยง

                     3. สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงปลา

     

    รูปร่างลักษณะ

                 ปลาบู่ทรายมีลักษณะลำตัวกลมยาว ความลึกลำตัวประมาณ 1 ใน 3.5 ของความยาวมาตรฐานของลำตัว ส่วนหัวยาวเป็น  1  ใน  2.8   ของความยาวมาตรฐานของลำตัว  หัวค่อนข้างโต  และด้านบนของหัวแบนราบหัวมีจุดสีดำประปรายปากกว้างใหญ่เปิดทางด้านบนตอนมุมปากเฉียงลงและยาวถึงระดับกึ่งกลางตา  ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบน  ทั้งขากรรไกรบนและล่างมีฟันแหลมซี่เล็ก ๆ ลักษณะฟันเป็นแบบฟันแถวเดียว ลูกตาลักษณะโปนกลมอยู่บนหัวถัดจากริมฝีปากบนครีบหูและครีบหาง มีลักษณะกลมมนใหญ่มีลวดลายดำสลับขาว มีก้านครีบอ่อนอยู่  15 - 16  ก้าน  ครีบหลัง  2  ครีบ ครีบอันหน้าสั้นเป็นหนาม  6  ก้าน เป็นก้านครีบสั้น และเป็นหนาม ครีบอันหลังเป็นก้านครีบอ่อน  11  ก้าน  ครีบท้องหรือครีบอกอยู่แนวเดียวกับครีบหูและมีก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ครีบอกของปลาบู่  ใน SubfamilyEleotrinae แยกจากกันอย่างสมบูรณ์  ซึ่งแตกต่างจากปลาบู่ชนิดอื่น     ในครอบครัว Gobiidae ซึ่งมีครีบท้องติดกันเป็นรูปจาน ครีบก้นอยู่ในแนวเดียวกับครีบหลัง อันที่สอง มีก้านครีบอ่อน 7 ก้าน  และมีความยาวครีบเท่ากับครีบหลังอันที่สอง  ส่วนของครีบมีลายสีน้ำตาลดำแดงสลับขาวเป็นแถบ ๆ  และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป ลำตัวมีเกล็ดแบบหนามคล้ายซี่หวีและมีแถบสีดำขวางลำตัว 4 แถบ ด้านท้องมีสีอ่อน สีตัวของปลาบู่ทรายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย  ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาขนาดกลางและเป็นปลาชนิดเดียวในครอบครัวนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปกติมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เคยพบยาวถึง 60 เซนติเมตร

     

    การแพร่กระจาย

             ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู  ได้แก่  บอร์เนียว  เกาะสุมาตรา  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  จีน ไทย  สำหรับในประเทศไทย พบปลาบู่ขยายพันธุ์ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง  และสาขาทั่วทุกภาคตามหนองบึง และ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เช่น  แม่น้ำเจ้าพระยา  ปากน้ำโพ  บึงบอระเพ็ด  แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำท่าจีน   อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์  จังหวัดขอนแก่น  อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา  อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์  จังหวัดอุตรดิตถ์  อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี  อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง  จังหวัดยะลา จังหวัดสุโขทัย  จังหวัดพิจิตร  จังหวัดพิษณุโลก และทะเลน้อย จังหวัดสงขลา

     

    แหล่งที่อยู่อาศัย

             ปลาบู่ทรายเป็นปลากินเนื้อที่ชอบอยู่นิ่ง ๆ  ตามดินอ่อน  พื้นทรายและ หลบซ่อนตามก้อนหิน  ตอไม้  เสาไม้  รากหญ้าหนา ๆ เพื่อรอให้เหยื่อผ่านมาแล้วเข้าโจมตีทันทีด้วยความรวดเร็ว  ปลาบู่ทรายพบทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยลูกปลาบู่ทรายชอบซ่อนตัวบริเวณรากพืชพันธุ์ไม้น้ำ พวกรากจอก รากผัก

     

    การสืบพันธุ์

                 1. ความแตกต่างลักษณะเพศ  การสังเกตลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาบู่เพศผู้และเพศเมีย  ดูได้จากอวัยวะเพศที่อยู่ใกล้รูทวาร  ปลาเพศผู้มีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กสามเหลี่ยมปลายแหลมส่วนตัวเมียมีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดใหญ่และป้านตอนปลายไม่แหลมแต่เป็นรูขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายถ้วยน้ำชาขนาดเล็ก  เมื่อพร้อมผสมพันธุ์ปลายอวัยวะเพศทั้งตัวผู้และเมียมีสีแดง   บางครั้งเห็นเส้นเลือดฝอยสีแดงที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศได้ชัดเจน

                 2. การเจริญพันธุ์และฤดูกาลวางไข่  ปลาบู่โตเต็มวัยเมื่อมีความยาวประมาณ  30  เซนติเมตรขึ้นไป ปลาบู่ที่สามารถขยายพันธุ์ได้มีขนาดตั้งแต่  8  เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับปลาเพศเมียที่มีรังไข่แก่ เต็มที่มีขนาดความยาวสุดปลายหาง  12.5  เซนติเมตร        น้ำหนัก  34  กรัม  และเพศผู้มีถุงน้ำเชื้อแก่เต็มที่มีความยาว  14.5  เซนติเมตร น้ำหนัก 44  กรัม  ปลาบู่จะเริ่มสร้างอวัยวะเพศภายในตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งในระยะแรกยังไม่สามารถแยกออกได้ว่าเป็นรังไข่หรือถุงน้ำเชื้อ   เมื่อถึงเดือนมีนาคมจึงจะแยกออกได้โดยรังไข่จะมีจุดสีขาวเล็ก ๆ  แล้วเจริญเป็นเม็ดไข่ต่อไป  แต่ถ้าเป็นถุงน้ำเชื้อก็จะเป็นสีขาวทึบขึ้นจากเดิม   รังไข่ที่แก่จัดมีสีเหลืองเข้ม  มีเม็ดไข่อยู่เต็มและมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง  ส่วนถุงน้ำเชื้อที่แก่จัดจะมีลักษณะเป็นลายมีรอยหยักเล็กน้อย และมีสีขาวทึบ  ปลาบู่สามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปียกเว้นในช่วงฤดูหนาว  ตลอดฤดูกาลวางไข่ปลาบู่สามารถวางไข่ได้ประมาณ  3  ครั้งต่อปี

                 3. พฤติกรรมการผสมพันธุ์และวางไข่  การผสมพันธุ์ปลาบู่ในธรรมชาติพบว่าปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่  ได้แก่  ตอไม้  เสาไม้  ทางมะพร้าว   ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว  หลังจากนั้นตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีพร้อมไล่ต้อนตัวเมียให้ไปที่รังที่เตรียมไว้เพื่อการวางไข่  การผสมพันธุ์ปลาบู่เริ่มตั้งแต่ตอนหัวค่ำจนถึงตอนเช้ามืด โดยผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา  คือ  ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาติดกับวัสดุแล้ว ตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม  โดยที่ไข่ปลาบู่จะติดกับตอไม้  เสาไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ปลาบู่สามารถวางไข่ติด และตัวผู้จะเฝ้าดูแลไข่ โดยใช้ครีบหูหรือครีบหางพัดโบก ไปมา  ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักเป็นตัวภายในเวลา  28  ชั่วโมง  ที่อุณหภูมิ  25 - 27  องศาเซลเซียส

                 4. ความดกของไข่  ปลาบู่เป็นปลาที่มีรังไข่แบบ  2  พู  ปลาบู่ที่มีขนาด ความยาว  15.2  เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่  1.6  กรัม และมีจำนวนไข่ประมาณ   6,800 ฟอง และปลาที่มีความยาว  21.5  เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่  4.7  กรัม   คิดเป็นไข่ประมาณ  36,200  ฟอง  วิวัฒนาการของไข่ปลาบู่ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.83  มิลลิเมตร  ความยาวของไข่ประมาณ  1.67  มิลลิเมตรเมื่อยึดติดกับวัสดุ   ลูกปลาบู่ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวหลุดออกจากเปลือกไข่จมลงสู่พื้นประมาณ 32   ชั่วโมง   ถึง 5 วัน แล้วลอยไปตามกระแสน้ำ ลูกปลาอายุ 2 วันหลังฟัก ลูกปลา   เริ่มกินอาหาร   เนื่องจากถุงไข่แดงยุบหมดและเห็นปากชัดเจน  มีการว่ายน้ำใน  ลักษณะแนวดิ่ง  คือ พุ่งขึ้นและจมลง มีความยาวเฉลี่ย  4  มิลลิเมตร อายุประมาณ   7  วัน  ลูกปลามีความยาวประมาณ  4.6  มิลลิเมตร  มีลายสี ดำเข้มที่บริเวณส่วนท้องด้านล่างไปจนถึงโคนครีบหางตอนล่าง อายุประมาณ   15  วัน  ลูกปลามีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น  5.05  มิลลิเมตร อายุประมาณ   20  วัน  ลูกปลามีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น  7.6  มิลลิเมตร อายุประมาณ   30  วัน  ลูกปลามีความยาวประมาณ   8 - 10   มิลลิเมตร    เกิดลายพาดขวางลำตัวคล้ายพ่อแม่  ส่วนเนื้อใสไม่มีลายและสามารถมองเห็นอวัยวะภายใน อายุประมาณ  37 - 45  วัน  ลูกปลามีลักษณะคล้ายพ่อแม่เพียงแต่มีขนาดเล็ก ส่วนที่เป็นเนื้อใสเปลี่ยนเป็นขุ่นสีน้ำตาลเหลือง

     

    การเพาะเลี้ยงปลาบู่

                 เดิมการเลี้ยงปลาบู่ใช้วิธีช้อนลูกปลาตามรากหญ้า  รากพันธุ์ไม้น้ำในลำคลองหนองบึง  ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  การใช้เครื่องมือจับปลาผิดประเภทและการทำการประมงเกินศักยภาพ  ทำให้ลูกปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง  แต่เนื่องจากความต้องการปลาบู่เพื่อการบริโภคและการส่งออกมีจำนวนสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงปลาบู่ ซึ่งกรมประมงได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

     

    การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ

             1. วิธีการฉีดฮอร์โมน

             2. วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ

                              สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานี   ได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่เป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ  โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งให้จำนวนรังไขได้มากกว่าวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม  และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีวิธีดำเนินการ ดังนี้

     

                 1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีผลทำให้อัตราการฟักและอัตรารอดตายสูงและได้ลูกปลาที่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะ

                      1.1 ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์  เพราะไข่ที่ได้มีอัตราฟักและอัตรารอดตายสูง

                      1.2 พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง  300 - 500  กรัม  แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป

                      1.3 เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ ๆ  ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลดูปราดเปรียว  และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ  ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ

                      1.4 เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้วรู้สึกตัวปลาลื่นแสดงว่าเป็นปลาที่มีสุขภาพดี

                      1.5 บริเวณนัยต์ตาไม่ขาวขุ่น

                      1.6 ไม่ใช่ปลาที่จับได้  โดยการใช้ไฟฟ้าช็อตเพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้ว ปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง

                      1.7 ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษา และป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์

                      1.8 บริเวณครีบอก  ครีบหู  ครีบหาง  และครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ

                      1.9 ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผลถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตามเพราะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามถึงตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์

     

                     2. การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์  การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ  ขนาดบ่อเพาะพันธุ์ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแล และจัดการกับพ่อแม่พันธุ์  สำหรับบ่อขนาด  800  ตารางเมตร  ปล่อยพ่อแม่พันธุ์  150  คู่  ให้ผลผลิตดีที่สุดลูกปลาวัยอ่อนเป็นศัตรูโดยตรงต่อไข่ปลาบู่  เนื่องจากลูกปลาเหล่านี้เข้ามากินไข่ปลาบู่ได้ถึงแม้ว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่คอยเฝ้ารังไข่อยู่ก็ตาม  อีกทั้งยังเป็นศัตรูทางอ้อม  คือ  ไปแย่งอาหารปลาบู่อีกด้วย สำหรับระดับน้ำในบ่อควรให้อยู่ช่วง  1.00 - 1.10  เมตร  แล้วทิ้งไว้  2 - 3วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อและควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อนปล่อยปลาเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนั้นมีความเหมาะสมแล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์

     

                     3. การเลี้ยงและดูแลพ่อแม่พันธุ์  การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ควรให้อาหารผสมซึ่งมีสูตรอาหารดังนี้

                                               ปลาเป็ด            94        เปอร์เซ็นต์

                                               รำละเอียด           5        เปอร์เซ็นต์

                                               วิตามินเกลือแร่     1       เปอร์เซ็นต์

                     อาหารผสมดังกล่าวให้ในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาทุกวันหรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาทุก 2 วัน เมื่อปลามีความคุ้นเคยกับสูตรอาหารดังกล่าวแล้ว ถ้าหากผู้เลี้ยงต้องการเปลี่ยนสูตรอาหารควรเปลี่ยนทีละน้อยโดยเพิ่มอาหารสูตรใหม่ในอาหารสูตรเดิมสำหรับมื้อแรกที่จะเปลี่ยนอาหาร ควรมีอัตราส่วนอาหารเดิมต่ออาหารใหม่ไม่เกิน 1:1 โดยน้ำหนักเนื่องจากปลาบู่จะไม่ยอมรับอาหารที่เปลี่ยนให้ใหม่ทันที นิสัยปลาบู่ชอบออกหากินตอนเย็นและในเวลากลางคืน ควรให้อาหารปลาบู่ตอนเย็น ส่วนการจัดการน้ำในบ่อควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละประมาณหนึ่งในสี่ของปริมาตรน้ำในบ่อ ซึ่งน้ำที่เข้าบ่อควรมีการกรองหลายชั้นเพื่อป้องกันศัตรูปลาทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามากับน้ำ พร้อมทั้งล้อมรั้วรอบ ๆ  บ่อพ่อแม่พันธุ์เพื่อป้องกันศัตรูปลาเข้าบ่อ  เช่น  ปลาช่อน  ปลาหมอ  งูกินปลา  ตะกวด  ฯลฯ  ไม่ให้เข้ามาทำร้ายพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้

     

                     4. การเพาะพันธุ์ปลาบู่  การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี  2  วิธี  คือ  การฉีดฮอร์โมนและการเลียนแบบธรรมชาติ  สำหรับวิธีหลังสามารถผลิตพันธุ์ปลาบู่ได้จำนวนมากและได้อัตราการรอดตายสูง

                     4.1 วิธีการฉีดฮอร์โมน  การเพาะพันธุ์ปลาบู่เริ่มครั้งแรกในปี  พ.ศ. 2515 โดยนำปลาบู่เพศผู้ที่มีน้ำหนัก  168 และ  170 กรัม  เพศเมีย  196  กรัม  และ202 กรัม มาทำการฉีดฮอร์โมนเพียงครั้งเดียวด้วยต่อมใต้สมองของปลาในขนาด 1,500  กรัม ร่วมกับคลอลิโอนิค  โกนาโดโทรปิน  (Chorionic Gonadotropin, C.G.0) จำนวน  250  หน่วยมาตรฐาน  (International  Unit,  I.U.)  ฉีดเข้าตัวปลาโดยเฉลี่ยตัวละ  62.5  หน่วยมาตรฐาน  หลังจากฉีดฮอร์โมนแล้วนำพ่อแม่พันธุ์ไปปล่อยลงในบ่อซีเมนต์ขนาด  2 x 3 ตารางเมตร  น้ำลึก  75  เซนติเมตร  และใช้ทางมะพร้าวเป็นวัสดุให้แม่ปลาบู่วางไข่ ปรากฏว่าแม่ปลาที่มีน้ำหนัก 202 กรัม วางไข่ประมาณ10,000 ฟอง มีอัตราการฟัก  90  เปอร์เซ็นต์

                      4.2 วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ  หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ได้ 3  วันแล้ว  ปักกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด  40 x 60  เซนติเมตรหรือวัสดุอื่นที่ง่ายต่อการโยกย้ายลำเลียง เช่น หลักไม้ ตอไม้  ฯลฯ  เพื่อให้ปลาบู่มาวางไข่ นำแผ่นกระเบื้องเหล่านี้ไปปักไว้เป็นจุด ๆ  รอบบ่อแต่ละจุดปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยมและหันด้านที่ขรุขระไว้ข้างใน  โดยปักด้านกว้างในดินก้นบ่อ  พร้อมทั้งทำเครื่องหมายปักหลักไม้ไว้แสดงบริเวณที่ปักกระเบื้องเพื่อสะดวกในการตรวจสอบและเก็บรังไข่  เมื่อปลาบู่มีความคุ้มเคยกับกระเบื้องแผ่นเรียบแล้ว ในตอนเย็นจนถึงตอนเช้ามืดปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มทำการวางไข่ผสมพันธุ์ที่กระเบื้องแผ่นเรียบ  ส่วนใหญ่ปลาบู่วางไข่ติดด้านในของกระโจมกระเบื้อง  รังไข่ปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นรูปวงรี  แต่จะมีบางครั้งเป็นรูปวงกลมลักษณะไข่ปลาบู่เป็นรูปหยดน้ำ สีใส ด้านแหลมของไข่มีกาวธรรมชาติติดอยู่ไว้ใช้ในการยึดไข่ให้ติดกับวัสดุ  ช่วงเช้าหรือเย็นของทุกวันให้ทำการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องและนำกระเบื้องที่มีรังไข่ปลาบู่ติดไปฟัก  การลำเลียงรังไข่ปลาบู่ควรให้แผ่นกระเบื้องที่มีไข่ปลาแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา  ข้อควรระวังในการเก็บรังไข่ขึ้นมาฟัก  คือ  เมื่อพบกระเบื้องที่มีรังไข่ติดอยู่แล้ว  ต้องนำขึ้นไปฟักทันที  เพระถ้านำกลับลงไปปักไว้ที่เดิมพ่อแม่ปลาบู่ที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ จะมากินไข่หมด ในกรณีกระเบื้องแผ่นเรียบที่ผ่านการใช้งานมานานควรทำความสะอาดโดยแช่แผ่นกระเบื้องในสารเคมีกำจัดเชื้อรา  ได้แก่ มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากธาตุสังกะสี ความเข้มข้น 2.4 พีพีเอ็ม ตลอดคืน    ก่อนนำไปปักเป็นกระโจมในบ่อดิน

     

                      5. การฟักไข่  การฟักไข่ปลาบู่ทำในตู้กระจกขนาดกว้าง  47  เซนติเมตร  ยาว  77  เซนติเมตร  ลึก  60  เซนติเมตร  โดยใส่น้ำลึก  47 - 50 เซนติเมตร  ก่อนนำรังไข่มาฟักต้องฆ่าเชื้อด้วย  มาลาไค้ท์กรีน  ชนิดปราศจากสังกะสี  ความเข้มข้น  1  พีพีเอ็ม  โดยวิธีจุ่ม  การฟักไข่ต้องให้อากาศตลอดเวลา ตู้กระจกขนาดดังกล่าว  1  ตู้ใช้ฟักรังไข่ปลาบู่  4  รัง  เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจนหนาแน่นตู้กระจกแล้วก็รวบรวมลูกปลาไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด  6  ตางรางเมตร เนื่องจากไข่ปลาฟักเป็นตัวไม่พร้อมกัน   จึงจำเป็นต้องคอยย้ายรังไข่ออกไปฟักในตู้กระจกอันเนื่องมาจากของเสียที่ไข่ปลาและลูกปลาขับถ่ายออกมาและการสลายตัวของไข่เสีย  โดยปกติไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ  3 - 5  วัน

     

    การอนุบาล

     การอนุบาลลูกปลาบู่แบ่งตามอายุของลูกปลาเป็น  3  ระยะคือ

          1)  การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก

          2)  การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่

          3)  การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่หรือในบ่อดิน

     

     1. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก  การอนุบาลช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญในการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่  การอนุบาลลูกปลาให้ได้อัตราการรอดตายต่ำหรือ สูงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ  4  ประการ คือ อัตราการปล่อย การจัดการน้ำในการอนุบาล การให้อากาศ ชนิดอาหารและการให้อาหาร

              1.1 อัตราการปล่อยลูกปลาบู่วัยอ่อน  ควรปล่อยอัตรา  20,000 ตัว ต่อ 6 ตารางเมตร หรือ ปริมาณ 3,300 ตัว/ตารางเมตร

              1.2 การจัดการน้ำในการอนุบาล   เนื่องจากลูกปลาบู่วัยอ่อนมีขนาดเล็กมากและบอบช้ำง่าย  ดังนั้น  การจัดการระบบน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ ลูกปลาบอบช้ำ  ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ลูกปลาบอบช้ำ   ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำโดยกรองผ่านผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำเฉลี่ย  20 - 25  เซนติเมตร  จนได้ระดับน้ำเฉลี่ย  40 - 45  เซนติเมตรจึงเริ่มถ่ายน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำทั้งหมดทุกวันจนลูกปลาอายุได้ 1 เดือน การเพิ่มระดับน้ำในระยะแรกควรเปิดน้ำเข้าช้า ๆ  อย่าเปิดน้ำรุนแรงเพราะลูกปลาในช่วงระยะนี้บอบบางมากและเพื่อไม่ให้ของเสียที่อยู่ก้นบ่อฟุ้งกระจายขึ้นเป็นอันตรายต่อลูกปลาวัยอ่อน  ส่วนการถ่ายเทน้ำในบ่อควรถ่ายน้ำออกโดยใช้วิธีกาลักน้ำผ่านกล่องกรองน้ำ  การสร้างกล่องกรองน้ำนี้ควรให้มีขนาดพอเหมาะกับบ่ออนุบาลเพื่อสะดวกในการทำงานและขนย้าย  กล่องกรองน้ำทำด้วยโครงไม้หรือท่อพีวีซีบุด้วยผ้าโอลอนแก้ว การถ่ายน้ำออกควรทำอย่างช้า  ๆ  เพราะลูกปลาบู่วัยอ่อนสู้แรงน้ำที่ดูดออกทิ้งไม่ได้  ลูกปลาจะไปติดตามแผงผ้ากรองตายได้ในช่วงท้ายของการอนุบาลประมาณ  1 - 2  อาทิตย์  สามารถเปลี่ยนผ้ากรองให้มีขนาดตาใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยจากเดิม โดยให้มีความสัมพันธ์กับขนาดลูกปลาบู่

                1.3 การให้อากาศ  การให้อากาศในบ่ออนุบาลสำหรับลูกปลาวัยอ่อนในช่วงครึ่งเดือนแรกจำเป็นต้องปล่อยให้อากาศผ่านหัวทรายอย่างช้า ๆ  และค่อย ๆ เพราะลูกปลาระยะนี้ยังไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่เคลื่อนตามแรงดันอากาศมาก ๆ  ได้

                1.4 ชนิดอาหารและการให้อาหาร  อาหารที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นอาหารธรรมชาติมีชีวิต  ยกเว้นระยะแรกที่ลูกปลาเพิ่งฟักจะให้อาหารไข่ระยะต่อมาให้โรติเฟอร์และไรแดง

     

                วิธีการเตรียมอาหารและการให้อาหารมีชีวิต

                        1.4.1  อาหารไข่  ตีไข่แดงและไข่ขาวให้เป็นเนื้อเดียวกัน   และใช้น้ำร้อนเติมลงไปขณะที่ตีไข่ในอัตราส่วนน้ำร้อน  150  ซีซีต่อไข่  1  ฟองนำอาหารไข่ไปกรองด้วยผ้าโอลอนแก้วแล้วกรองด้วยผ้ากรองแพลงก์ตอนขนาดตา  59  ไมครอน อีกครั้งหนึ่ง  นำไปอนุบาลลูกปลาช่วง  3  วันแรกของการอนุบาลในช่วงเช้า  กลางวันและเย็น ปริมาณที่ให้โดยเฉลี่ย 40 ซี.ซี. ต่อบ่อต่อครั้ง

                        1.4.2  โรติเฟอร์น้ำจืด   โรติเฟอร์เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กมีหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืด  ส่วนโรติเฟอร์น้ำจืดที่นำมาใช้อนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อน  คือ  Brachinonus  calyciflorus  ในการเพาะโรติเฟอร์นั้นต้องเพาะสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า  คลอเรลล่า  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำเขียว เพื่อให้เป็นอาหารของโรติเฟอร์

                                1. ใส่น้ำเขียวคลอเรลล่า ที่มีความหนาแน่นประมาณ 5 x 10 เซลล์/1 ซี.ซี.ประมาณ  2  ตัน ทิ้งไว้  2 - 3 วัน  ระหว่างนั้นต้องคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว เมื่อสีน้ำเข้มขึ้นให้เพิ่มระดับน้ำเป็น  40  เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยในปริมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยที่ใช้ในข้อ 2

                                2. ทิ้งไว้  2 - 3  วัน น้ำจะมีสีเขียวเข้มให้นำโรติเฟอร์ที่กรองจนเข้มข้นประมาณ  20  ลิตร  (ความหนาแน่น  3,621  ตัวต่อซี.ซี.)  มาใส่ในบ่อเพาะน้ำเขียวถ้าเป็นไปได้ควรมีการเพิ่มอากาศลงในบ่อเพาะ

                                3. เมื่อโรติเฟอร์ขยายตัวเต็มที่  น้ำจะเป็นสีชาและมีฟองอากาศลอยตามผิวน้ำมาก  ก็ให้การกรองโรติเฟอร์ไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงลูกปลาบู่วัยอ่อนด้วยผ้าแพลงก์ตอน  59  ไมครอน  หลังจากโรติเฟอร์เหลือจำนวนน้อยในบ่อให้ล้างบ่อและดำเนินการเพาะโรติเฟอร์ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ควรให้โรติเฟอร์น้ำจืดอนุบาลลูกปลาบู่ในตอนเช้า กลางวัน และเย็นมื้อละ  4 - 6  ลิตร/บ่อ/ครั้ง  สำหรับลูกปลาอายุ  2 - 12  วัน หลังจากนั้นค่อย ๆลดปริมาณให้โรติเฟอร์จนลูกปลาอายุได้  30 - 37  วัน


    • Update : 15/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch