หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    การเลี้ยงปลาสลิด
     

    ปลาสลิดเป็นปลาน้ำจืดในภาคพื้นเอเซีย พบมากแถบประเทศไทย เขมร เวียดนาม มลายู อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยมีชุกชุมและนิยมเลี้ยงกันมากในแถบบริเวณภาคกลางของประเทศและนิยมเลี้ยงในนาข้าวเป็นส่วนมาก

     

      รูปร่างลักษณะและนิสัย

    ปลาสลิดมีรูปร่างลักษณะคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่ขนาดโตกว่า มีลำตัวแบนข้าง มีครีบท้องยาวครีบเดียว สีของลำตัวมีวรรณะค่อนข้างเทาออกเขียว หรือมีสีคล้ำเป็นพื้นและมีริ้วดำพาดขวางตามลำตัวจากหัวถึงโคนหาง มีเกล็ดบนเส้นข้างตัวประมาณ 42-47 เกล็ด ปากเล็กยืดหดได้ ปลาสลิดซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มที่จะมีความยาวประมาณ 20 ซม.

     

    ปลาสลิดชอบอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ตามหนองและบึง มักชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผัก และสาหร่าย เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยกำบังตัว และก่อหวอดวางไข่ เนื่องจากปลาชนิดนี้โตเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอาหารพวกพืชซึ่งได้แก่ สาหร่ายตลอดจนพืชและสัตว์เล็ก ๆ จึงสามารถที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อและในนาข้าวได้เป็นอย่างดี

     

    การแพร่ขยายพันธุ์

    ลักษณะเพศ ปลาสลิดตัวผู้และตัวเมียแตกต่างกันอย่างมองเห็นได้ชัดคือ ปลาตัวผู้มีลำตัวยาวเรียว สันหลังและสันท้องเกือบเป็นเส้นตรงขนานกัน มีครีบหลังยาวจดหรือเลยโคนหาง มีสีตัวเข้มและสวยกว่าตัวเมียส่วนตัวเมียมีสันท้องยาวมนไม่ขนานกับสันหลัง และครีบหลังมักมนไม่ยาวจนถึงโคนหาง สีตัวจางกว่าตัวผู้ ในฤดูวางไข่ท้องจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง

     

    ฤดูวางไข่ ปลาสลิดสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่อมีอายุถึง 7 เดือน ขนาดโดยเฉลี่ยเมื่อเติบโตเต็มที่แล้วจะมีลำตัวยาวประมาณ 6-7 นิ้ว หนัก 130-140 กรัม      ฤดูวางไข่นั้นแตกต่างกันออกไปแล้วแต่แหล่งที่ใช้เลี้ยงปลา อย่างไรก็ตาม ปลาสลิดจะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนสิงหาคม หรือในฤดูฝน แม่ปลาตัวหนึ่ง ๆ จะสามารถวางไข่ได้หลายครั้งแต่ละครั้งจะได้ปริมาณ 4,000-10,000 ฟอง ลักษณะของไข่ปลาสลิดเป็นสีเหลือง

     

    บ่อเลี้ยงปลาสลิด

    บ่อที่จะใช้เลี้ยงปลาสลิด ต้องมีชานบ่อกว้างอย่างน้อย 1 เมตร สำหรับให้ปลาวางไข่ ผิดกับบ่อเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ซึ่งไม่ต้องมีชานบ่อ บ่อเลี้ยงปลาสลิดนี้ ขนาดเล็กที่สุดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 20 เมตร และลึก 1.50 เมตร ถ้าอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง มีทางระบายถ่ายเทน้ำได้สะดวกด้วยแล้ว นับว่าเป็นทำเลที่ดี

     

    การเตรียมบ่อ

    1. ใส่ปูนขาว บ่อดินซึ่งขุดใหม่โดยทั่วไปคุณภาพของดินมักจะเป็นกรด ควรใส่ปูนขาว (คุณสมบัติเป็นด่าง) ลงไปเพื่อแก้ความเป็นกรดของดินให้เจือจางลง โดยการโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ อัตราของปูนขาวควรใช้ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร เมื่อความเป็นกรดของดินลดลงไปแล้ว น้ำที่เข้ามาในบ่อใหม่ก็จะรักษาความเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อยไว้ได้ จัดว่าเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงปลา

     

    2. กำจัดสิ่งรก ถ้าเป็นบ่อเก่า ต้องกำจัดวัชพืชต่าง ๆ ให้หมด หากบ่อตื้นเขิน ต้องสูบน้ำออก แล้วลอกเลนและตบแต่งคันบ่อให้มั่นคงแข็งแรงตากบ่อนั้นให้แห้งประมาณ 1สัปดาห์ เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าและกำจัดเชื้อโรค

     

    สำหรับบ่อเก่าที่ไม่จำเป็นต้องลอกเลน หลังจากกำจัดพวกวัชพืชต่าง ๆ ออกแล้วใช้โล่ติ๊นสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร ทุบโล่ติ๊นให้ละเอียดแช่น้ำไว้สัก 1 หรือ 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลาย ๆ ครั้งจนหมดแล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ เพื่อกำจัดปลาและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เป็นศัตรูของปลา ศัตรูปลาที่ตายลอยขึ้นมานั้นต้องเก็บออกทิ้งให้หมด อย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อ บ่อที่ใส่โล่ติ๊นแล้วควรทิ้งไว้ประมาณ 7-8 วัน เพื่อให้โล่ติ๊นสลายตัวหมดเสียก่อน จึงค่อยนำพันธุ์ปลาสลิดปล่อยลงเลี้ยงต่อไป

     

    3. เตรียมเพาะตะไคร่น้ำ ตะไคร่น้ำเป็นอาหารธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับลูกปลาสลิดขนาดเล็กและใหญ่ ดังนั้นในบ่อปลาควรให้มีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยการใช้ปุ๋ยคอกโรยให้ทั่วบ่อในช่วงที่กำลังตากบ่ออยู่ ในอัตราส่วนปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 1 ไร่ แล้วไขน้ำเข้าบ่อสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตรจากก้นบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน ตะไคร่น้ำหรือที่เรียกว่าขี้แดดก็จะเกิดขึ้นในบ่อ จากนั้นจึงปล่อยน้ำเข้าบ่อตามระดับที่ต้องการถ้าเป็นบ่อใหม่ ภายหลังที่ใส่ปุ๋ยและปล่อยน้ำเข้ามาแล้ว ควรนำเชื้อตะไคร่น้ำ ซึ่งหาได้จากน้ำที่มีสีเขียวจัดโดยทั่วไป มาใส่ลงในบ่อเพื่อเร่งให้เกิดตะไคร่น้ำเร็วขึ้น

     

    4. ใส่พันธุ์ไม้น้ำในบ่อปลา ในบ่อปลาสลิดควรปลูกพันธุ์ไม้น้ำจำพวกผักบุ้ง แพงพวยและผักกระเฉด ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะกับนิสัยและความเป็นอยู่ของปลาสลิด การปลูกพันธุ์ไม้น้ำดังกล่าว ควรจะปลูกตามบริเวณชานบ่อที่มีน้ำตื่น ๆ พันธุ์ไม้น้ำเหล่านี้นอกจากจะเป็นอาหารของปลาสลิดและให้ร่มเงาแล้ว ยังเป็นที่สำหรับปลาใช้วางไข่ในฤดูฝนอีกด้วย

     

    5. ใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยในบ่อก็เพื่อให้บ่อปลามีอาหารธรรมชาติพวกพืชน้ำ และไรน้ำเล็ก ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่ ปุ๋ยคอก (มูลโค มูลกระบือ ที่ตากแห้ง) โรยตามริมบ่อในอัตราเนื้อที่ 160 ตารางเมตรต่อปุ๋ย 10 กิโลกรัม หรืออาจใช้ปุ๋ยหมักกองไว้ที่ริมบ่อด้านใดด้านหนึ่ง ปุ๋ยหมักนี้ใช้หญ้าสดที่ตายทิ้งกองอัดให้แน่น แล้วใส่ปุ๋ยคอกผสมลงไปด้วย เพื่อให้หญ้าสดสลายตัวเร็วเข้า ปุ๋ยเหล่านี้จะเป็นอาหารของพวกพืชน้ำและไรน้ำทำให้เจริญเติบโตเพื่อเป็นอาหารของปลาสลิดต่อไป

     

    6. ปล่อยปลาสลิดลงเลี้ยง เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยปลาลงบ่อควรเป็นเวลาเช้าตรู่หรือเวลาเย็น เพราะในเวลาดังกล่าวนั้นน้ำในบ่อมีอุณหภูมิไม่ร้อนจัด ทำให้ปลาที่ปล่อยลงไปใหม่ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย อัตราส่วนของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงในเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตร ควรใช้ปลาประมาณ 5-10 ตัว เป็นอย่างมาก

     

    การเพาะพันธุ์ปลาสลิด

    1. การคัดเลือกพันธุ์ปลาสลิด ปลาสลิดที่จะใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ควรเลือกตัวที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีแผล ครีบและหางไม่แตก ขนาดของปลาที่จะสามารถสืบพันธุ์ได้ ลำตัวจะต้องยาวกว่า 10 เซนติเมตรขึ้นไป แต่ไม่ควรมีขนาดยาวเกินกว่า 20 เซนติเมตร เพราะความปราดเปรียวของปลาที่มีขนาดโตจะน้อยลง อัตราส่วนปลาตัวผู้และตัวเมียที่จะปล่อยลงในบ่อนั้น ควรใช้ตัวเมีย 1 ตัว ต่อตัวผู้ 1 ตัว

     

    2. การจัดให้ปลาสลิดวางไข่ ปลาสลิดจะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนสิงหาคม หรือในฤดูฝน แม่ปลาตัวหนึ่งจะวางไข่ได้หลายครั้ง ประมาณคราวละ 4,000-10,000 ฟอง ดังนั้นการจัดบ่อเพาะเลี้ยงปลาสลิดจึงควรให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมจากการเพาะเลี้ยงพบว่า ถ้าได้จัดบ่อด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
    จะทำให้ลูกปลาสลิดมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้นอีกมาก

    (1) ระบายน้ำเข้าบ่อผ่านตะแกรงที่มีช่องตาขนาด 1 มิลลิเมตร จนท่วมชานบ่อโดยรอบให้มีระดับสูง 20-30 เซนติเมตร ปลาจะเข้าก่อหวอดวางไข่มากขึ้น ทั้งอาณาเขตบ่อก็จะกว้างขวางกว่าเดิม เป็นการเพิ่มที่วางไข่และที่เลี้ยงตัวของลูกปลามากขึ้น
    (2) สาดปุ๋ยคอกที่ตากจนแห้ง บนบริเวณชานบ่อที่ไขน้ำให้ท่วมขึ้นมาใหม่นั้น ตามอัตราที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นในเรื่องการใส่ปุ๋ย จะทำให้เกิดไรน้ำและช่วยทำให้ผักหญ้าบนชานบ่อเจริญงอกงาม

    (3) ปล่อยให้ผักหญ้าพันธุ์ไม้น้ำขึ้นรกในบริเวณชานบ่อหรือจะปลูกเพิ่มเติมได้ก็จะเป็นการดี เพราะพันธุ์ไม้น้ำซึ่งได้แก่ พวกผักบุ้ง แพงพวยและผักกระเฉด ปลาสลิดจะชอบใช้เป็นทำเลที่ก่อหวอดวางไข่ กิ่ง ใบและก้านของพันธุ์ไม้น้ำเหล่านี้ จะเป็นสิ่งสำคัญในการยึดเหนี่ยวหวอดมิให้ลมพัดกระจัดกระจายไป และเมื่อไข่ปลาฟักออกเป็นตัวแล้ว ก็จะเป็นที่ให้ลูกปลาได้อาศัยเลี้ยงตัวกำบังร่มเงาและหลบหลีกศัตรูได้เป็นอย่างดีจนกว่าจะแข็งแรงหลบหลีกลงน้ำลึกได้

     

    3. การวางไข่ ก่อนจะเริ่มวางไข่ ปลาสลิดตัวผู้จะเป็นฝ่ายตระเตรียมการ ขั้นแรกตัวผู้จะเลือกสถานที่ โดยการก่อหวอดไว้ในระหว่างต้นวัชพืชที่โปร่ง ๆ ไม่หนาทึบเกินไป เพราะปลาสลิดตัวเมียชอบวางไข่ในที่ร่มมากกว่ากลางแจ้ง

     

    เมื่อเตรียมหวอดเสร็จแล้ว ปลาก็จะเริ่มผสมพันธุ์กัน เวลาที่ปลาสลิดผสมพันธุ์กันนั้นมักเป็นเวลากลางวัน ยามที่มีแสงแดดอ่อน ๆ โดยปลาตัวผู้จะเริ่มไล่ต้อนปลาตัวเมียเข้าใต้บริเวณหวอด แล้วรัดท้องตัวเมียให้ไข่ออกมาพร้อมกับฉีดน้ำเชื้อออกผสมกับไข่ของตัวเมีย จากนั้นตัวผู้ก็จะอมไข่นี้ไปพ่นเข้าใต้หวอด ไข่จะลอยติดอยู่ในหวอด การผสมพันธุ์แต่ละครั้งแม่ปลาจะวางไข่จนกว่าจะหมดรุ่นของไข่แก่ในแต่ละคราว ลักษณะของไข่เป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ สีเหลือง

     

    หลังจากปลาผสมพันธุ์วางไข่แล้ว พ่อปลาจะทำหน้าที่ดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน และในขณะฟักไข่ ปลาตัวผู้จะไล่กัดปลาตัวเมียไม่ให้เข้าใกล้ปลาสลิด นอกจากเพาะให้ขยายพันธุ์ในบ่อดังกล่าว ยังใช้วิธีเพาะในภาชนะได้อีกด้วย ดังจะได้กล่าวให้ทราบต่อไปนี้ คือจากการที่ทดลองได้ผลมาแล้ว ใช้ถังไม้สักปากกว้าง 1.50 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 60 เซนติเมตร ใช้น้ำคลองที่สะอาดใส่ให้น้ำมีความลึกเพียง 40 เซนติเมตร วางไว้กลางแจ้งทำเป็นเพิงคลุมถังขนาด 2 ใน 4 ของถังเพื่อกำบังแดด ใส่ผักบุ้งลงในถังประมาณ 3 ใน 4 ของเนื้อที่ภายในถัง ปล่อยแม่ปลาที่กำลังมีไข่แก่ลงไป 10 ตัว ตัวผู้ 10 ตัว หลังจากปล่อยลงถังเพียง 4-6 วัน ปลาสลิดจะเริ่มก่อหวอดวางไข่ ไข่ปลาจะฟักเป็นตัวและเติบโตเช่นเดียวกับการเพาะฟักในบ่อดิน จากนั้นจึงช้อนพ่อปลาแม่ปลาออกเลี้ยงลูกปลาในถังนี้ไปก่อน โดยให้ไข่ผงหรือไรน้ำเป็นอาหารไปสัก 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นก็ควรให้รำผงละเอียดโปรยให้กินต่อไปจนกว่าลูกปลาจะโตมีขนาดยาวได้ 2 เซนติเมตร จึงค่อยย้ายลูกปลานั้นนำไปปล่อยลงบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ซึ่งได้เตรียมไว้แล้ว

     

     อนึ่ง นอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีวิธีเพาะลูกปลาสลิดอีกวิธีหนึ่งคือ ช้อนหวอดไข่จากบ่อเพาะเลี้ยงนำมาเพาะฟักในถังไม้สัก รอจนลูกปลาสลิดมีขนาดโต แล้วจึงปล่อยลงในบ่อ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกปลาสลิดมีชีวิตรอดอยู่ได้จำนวนมากกว่าที่จะปล่อยให้เจริญเติบโตในบ่อเพาะเลี้ยงเอง เพราะในบ่อย่อมมีศัตรูของปลาสลิดอยู่เสมอไม่มากก็น้อยเช่น แมลงในน้ำ กบ ปลา งู ฯลฯ ซึ่งอาจจะคอยทำลายไข่และลูกปลา แต่อย่างไรก็ดีการกระทำโดยวิธีช้อนรังไข่จากบ่อมาเพาะฟักในถังไม้นี้ ยังไม่ดีเท่ากับปล่อยพ่อปลาแม่ปลาลงผสมกันในถังไม้ดังกล่าวในตอนต้น เพราะการช้อนหวอดไข่มาเพาะฟักในถังนั้น อาจมีแมลงในน้ำและไข่ปลาบางชนิดติดปะปนมากับหวอดด้วย ซึ่งอาจเป็นศัตรูต่อลูกปลาสลิด ทำให้ลูกปลาสลิดรอดชีวิตน้อยลงกว่าวิธีแรก

     

    การเจริญเติบโต

    ไข่ปลาสลิดจะเริ่มฟักเป็นตัวภายในระยะ 24 ชั่วโมง โดยทยอยออกเป็นตัวเรื่อย ๆ ไข่จะออกเป็นตัวหมดภายใน 48 ชั่วโมง แต่ไข่บางฟองที่ไม่ได้รับการผสม จะมีลักษณะขุ่นเป็นราสีขาวไม่ออกเป็นตัว

     

    ลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ มีถุงอาหารติดอยู่ที่ห้อง ยังไม่กินอาหารจนกว่าพ้น 7 วันไปแล้ว เมื่อถุงอาหารยุบหมดจึงจะเริ่มกินอาหารต่าง ๆ และเมื่ออายุได้ 7 เดือน จะมีความยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไปซึ่งนับเป็นขนาดที่พร้อมจะสืบพันธุ์ได้ต่อไปอีก

     

    การให้อาหาร

    อาหารที่ปลาสลิดชอบกินก็คือ ตะไคร่น้ำ รำละเอียด หรือปลายข้าวโดยต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นแล้ว รวมทั้งแหนสด และปลวกตะไคร่น้ำและไรน้ำเป็นอาหารของลูกปลาในวัยอ่อนอายุตั้งแต่ 7 วัน ถึง 1 เดือน เมื่อปลามีอายุได้ 21 วันแล้ว ควรลองให้รำข้าวอย่างละเอียด ต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นละเอียดหรือแหนสด และปลวกบ้าง เพราะลูกปลาบางตัวเจริญเติบโตเร็วจนสามารถกินอาหารดังกล่าวได้

     

    สำหรับผักบุ้งที่ใช้ต้มปนกับรำนั้น ควรใช้ผัก 1 ส่วน รำ 2 ส่วนโดยต้มผักให้เปื่อยเสียก่อน แล้วจึงเอารำลงไปเคล้า ปั้นเป็นก้อน การให้อาหารควรให้เพียงวันละ 2 ครั้งในเวลาเช้า โดยจัดวางบนแป้นใต้ระดับน้ำ 1 คืบ ควรกะปริมาณอาหารให้ปลากินหมดพอดีในวันหนึ่ง ๆ ถ้าอาหารเหลือข้ามวันจะเกิดการบูดเน่า ทำให้เน่าเสีย แต่การที่จะกำหนดปริมาณอาหารให้แน่นอนลงไปเป็นการยากที่จะคำนวณได้ เพราะปลาย่อมเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน อาหารที่ให้แต่ละคราวจึงต้องคอยเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของปลา

     

    การให้อาหารแต่ละครั้ง ควรพยายามให้เป็นเวลา และควรให้อาหารในระหว่างที่อากาศยังไม่ร้อนคือ ในช่วงเช้าและเย็น ก่อนวางอาหารบนแป้นไม้ ควรดีดน้ำให้สัญญาณเสียก่อน ปลาจะได้เชื่องและมีความเคยชิน

     

    โรค

    ตามธรรมชาติปลาสลิดไม่ค่อยจะเป็นโรคร้ายแรง ทั้งยังไม่เคยปรากฏว่ามีโรคระบาดขึ้นในบ่อปลาสลิดเลย นอกจากน้ำในบ่อเกิดเสีย ซึ่งจะทำให้ปลาขึ้นลอยหัว เพราะออกซิเจนที่ละลายในน้ำไม่เพียงพอ ปลาจึงต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ ผู้เลี้ยงต้องรีบถ่ายน้ำเก่าออก แล้วระบายน้ำเข้าใหม่ หรือรีบย้ายปลาไปพักไว้บ่ออื่น อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในฤดูร้อนมักปรากฏเสมอว่า จะเกิดตัวเห็บน้ำเกาะติดตามตัวปลา ตัวเห็บน้ำนี้จะเกาะดูดเลือดของปลา ทำให้การเจริญเติบโตของปลาชะงัก หากเกิดมีเห็บน้ำขึ้นมาต้องรีบกำจัด โดยวิธีระบายน้ำสะอาดเข้าไปในบ่อให้มาก ๆ จะทำให้ตัวเห็บนี้หายไปได้

     

    อีกประการหนึ่ง ปลาที่จะนำมาเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ ถ้าพบว่ามีบาดแผลไม่สมควรปล่อยลงไปเลี้ยงรวมกันในบ่อ เพราะปลาที่เป็นแผลอาจกลายเป็นโรคและปล่อยเชื้อระบาดไปติดปลาตัวอื่น

     

    ศัตรูและการป้องกัน

    ศัตรูของปลาสลิดได้แก่

    1. พวกนกกินปลา เช่น นกกระเต็น นกยาง นกกาน้ำ และเหยี่ยว

    2. พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาไหล จะกินทั้งปลาสลิดขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนปลากริม ปลากัดปลาหัวตะกั่วจะกินไข่ของปลาสลิดและลูกปลาในวัยอ่อน

    3. สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เหี้ย งู เต่า ตะพาบน้ำ

    4. พวก กบ เขียด และนาก

     

    ปลาสลิดสามารถหลบหลีกศัตรูได้ดี แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อปลาสลิดไม่สามารถที่จะหลบหลีกศัตรูได้ดีเท่ากับอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติฉะนั้นจึงจำเป็นที่ผู้เลี้ยงจะต้องช่วยกันป้องกันและกำจัดศัตรูของปลาสลิดเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

     

    ในการป้องกันและกำจัดพวกสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อปลา เช่น พวกเหี้ย งู เต่า ตะพาบน้ำ รวมทั้งกบ เขียด และนาก ถ้าทำรั้วล้อมรอบบ่อได้ก็นับว่าเป็นวิธีการป้องกันซึ่งได้ผลดีเพียงพอแล้วสัตว์จำพวกนก ควรทำเพิงคลุมแป้นอาหารไว้ เพื่อป้องกันมิให้นกโฉบลงมากินปลาในขณะที่ปลาขึ้นมากินอาหารอยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่มต้องระวังพันธุ์ไม้น้ำที่จะนำมาปลูกในบ่อ เพราะอาจจะมีไข่ปลาที่เป็นศัตรูของปลาสลิดติดมาด้วยอีกอย่างหนึ่งคือท่อระบายน้ำ ต้องใช้ลวดตาข่ายที่มีช่องตาขนาดเล็กกรุเอาไว้ เป็นการป้องกันไม่ให้พวกศัตรูของปลาสลิดเข้าไปในบ่อเลี้ยงได้ และต้องหมั่นตรวจตะแกรงอยู่เสมอถ้าชำรุดต้องเปลี่ยนใหม่ทันที

     

    การจับ

    เมื่อมีความจำเป็นจะต้องจับปลาสลิดในวัยอ่อน เพื่อแยกไปเพาะเลี้ยง ควรใช้กระชอนตัก แล้วใช้ขันหรือถังตักลูกปลา ให้ติดทั้งน้ำและตัวปลาขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อมิให้ปลาชอกช้ำ ถ้าเป็นปลาที่โตแล้วควรใช้สวิงตาถี่ช้อน แล้วจึงใช้ขันตักขึ้นจากสวิงอีกขั้นหนึ่ง

     

    การจับปลาเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน จะต้องจับปลาที่มีขนาดยาวตั้งแต่ 10 ซม. ขึ้นไป ควรใช้ลอบยืนวางไว้ตามมุมบ่อ เพราะถ้าให้แหทอดหรือจ้องใช้สวิงตักตรงแป้นอาหาร ปลาก็จะเข็ดไม่กล้ามากินอาหารตามบริเวณนั้นอีกหลายวัน

     

    ส่วนการจับปลาให้หมดทั้งบ่อเพื่อจำหน่าย ควรจับในเดือนมีนาคมเพราะเป็นฤดูที่ปลาไม่ได้วางไข่ โดยใช้เฝือกล้อม แล้วใช่สวิงตักเอาจากเฝือกที่ล้อมไว้


    • Update : 15/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch