หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-วัดพระธาตุจอมแจ้ง
    วัดพระธาตุจอมแจ้ง

                ผมขอยืมชื่อวัดนี้มาตั้งเป็นชื่อเรื่องที่จะเขียนในวันนี้เพียงเพื่อได้รักษาประวัติไว้ว่าครั้งหนึ่งมีวัดชื่อ พระธาตุจอมแจ้ง แต่อยู่บนดอยน้อย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (ไม่ใช่วัดที่อยู่ จังหวัดแพร่ ทางแยกไปจากพระธาตุช่อแฮ) พระธาตุจอมแจ้งคงเหลือแต่องค์เจดีย์เล็ก ๆ และป้ายบอกว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๐ ได้พยายามค้นหาประวัติของวัดพระธาตุจอมแจ้งที่กล่าวถึงวัดนี้โดยตรงหาไม่ได้เลย แต่อยากนำมากล่าวไว้โดยค้นหามาจากหลายแห่งด้วยกัน แม้ว่าจะได้มานิดเดียวก็ยังดีที่ว่าจะทำให้นามของวัด พระธาตุจอมแจ้งได้ปรากฏขึ้นมาไม่สูญหายไป
                วัดพระธาตุจอมแจ้ง แห่งอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนี้ ตั้งอยู่บนดอยน้อย ใกล้กับพระธาตุจอมกิติ ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าอีกทีเพราะสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกัน เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับวัดพระธาตุจอมกิติ วัดพระธาตุจอมแจ้งซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงพระเจดีย์อยู่องค์เดียว อยู่ด้านหลังอุโบสถของวัดพระธาตุจอมกิติได้ใจความว่า พระเจ้าสุวรรณคำล้าน เจ้าเมืองเชียงแสนให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๐๓๐ ตรงกับรัชสมัยของพระยอดเชียงราย จากเรื่องที่มาเกี่ยวพันกันตรงนี้จึงจะต้องขอเล่าพระธาตุจอมกิติอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเคยเล่าไปแล้วแต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน เพราะคราวนี้มีพระธาตุจอมแจ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง และพระธาตุจอมแจ้งนี้ก็ได้บรรจุอัฐิธาตุไว้ด้วยเช่นกัน แต่คงไม่ใช่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ น่าจะเป็นพระอรหันต์ธาตุ
                พระธาตุจอมกิติ อยู่บนยอดดอยน้อย อำเภอเชียงแสน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร สิ่งสำคัญภายในวัดที่เก่าแก่คือ พระธาตุเจดีย์ หรือบรมธาตุเจดีย์ ฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทย์ย่อมุมเป็นเรือนธาตุ (ย่อมุมรองรับ) ซึ่งมีซุ้มทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปูนปั้นทั้ง ๔ ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังกลม ตำนานการสร้างพระธาตุจอมกิติค่อนข้างจะสับสนพอ ๆ กับตำนานเมืองเชียงแสน
                บางตำนานบอกว่า  เมืองเชียงแสนนั้นเกิดมาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังดำรงพระชนชีพ และเคยเสด็จมายังเชียงแสน พระราชทานเส้นเกศาให้ไว้ จึงสร้างพระธาตุขึ้นมา
                ตำนานต่อมาที่ค่อนข้างจะแน่นอนคือการสร้างพระธาตุจอมกิติโดยพระเจ้าพังคราช ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๔๘๑ เมื่อสร้างแล้วได้พระบรมธาตุมาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ บ้านเดิมอยู่ที่ประเทศมอญ ได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกา จนมีความรู้แตกฉานก็กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของตน ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร (เชียงแสน) เข้ามายังเชียงแสนในสมัยของพระเจ้าพังคราช ซึ่งยุคนี้พระเจ้าพรหมได้ทรงขับไล่ขอมไปสิ้นจากโยนกหมดแล้ว และพระเจ้าพรหมได้อัญเชิญพระเจ้าพังคราช ราชบิดากลับมาขึ้นครองเมืองเชียงแสน ส่วนพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ไปสร้างเมืองใหม่คือเมือง "ชัยปราการ" ที่ริมแม่น้ำกก เพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันการรุกรานของข้าศึก ซึ่งชัยปราการนี้จะเป็นเมืองหน้าด่านให้เชียงแสน จะสกัดการรุกรานของข้าศึกที่จะยกมาทางด้านทิศตะวันตกไว้ก่อน และได้ครองเมืองชัยปราการ
                ดังนั้นเมื่อพระพุทธโฆษาจารย์ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ในเชียงแสน พร้อมกับได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วยจำนวนถึง ๑๖ พระองค์ เป็นอัฐิธาตุ หน้าผากมีหลายขนาด พระเจ้าพังคราชจึงได้แบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่ ๑ องค์ ขนาดกลาง ๒ องค์ และขนาดเล็กอีก ๒ องค์ ให้กับพระยาเรือนแก้ว (เจ้าเมืองเชียงราย) ซึ่งได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ในเมืองเชียงราย ขอให้คำว่าหากจำไม่ผิดคือวัดจอมทอง
                พระเจ้าพังคราช นำพระโกศเงิน พระโกศทอง และพระโกศแก้ว รองรับพระบรมธาตุแล้วทรงมอบให้พระเจ้าพรหมมหาราช นำไปประดิษฐานไว้บนดอยน้อย หรือ จอมกิติ ซึ่งตามตำนานดั้งเดิมบอกว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาในสมัยพุทธกาลนั้น ได้พระราชทานพระเกศธาตุ ประดิษฐานไว้แล้ว
                พระเจ้าพรหมมหาราช ใช้ช่างก่อพระเจดีย์ขึ้น กว้าง ๓ วา สูง ๖ วา ๒ ศอก บนดอยจอมกิติ พระเจดีย์แล้วเสร็จในเดือน ๖ เพ็ญ วันจันทร์ พ.ศ.๑๔๘๓ และเรียกพระเจดีย์องค์นี้ว่า พระธาตุจอมกิติแต่ยังไม่มีวัดพระธาตุจอมกิติ วัดนี้มาเริ่มเกิดใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นี่เอง
                เมืองเชียงแสนนั้นเกิดเจริญรุ่งเรือง แล้วก็ร้าง หลายยุคหลายสมัย ตำนานการสร้างเมืองถึงเอาแน่กันไม่ค่อยจะได้ หากไม่ล้วงลึกแล้วก็จะบอกว่าพระธาตุจอมกิติสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๐ โดยเจ้าเมืองเชียงแสนนามว่า เจ้าสุวรรณคำล้าน ซึ่งน่าจะหมายถึงมาบูรณะองค์พระธาตุจอมกิติและสร้าง "วัดพระธาตุจอมแจ้ง" ผมเข้าใจตามนี้ แม้แต่เมืองเชียงแสน ตำนานที่สร้างหลังสุดคือสร้างโดยพระเจ้าแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์เชียงราย สร้างเมืองเชียงแสนเมื่อ พ.ศ.๑๘๗๑ แต่หากมองย้อนกลับไปถึงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชเมืองเชียงแสนก็มีอยู่แล้ว และเมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ยกทัพขึ้นไปตีเชียงแสน เมื่อตีได้แล้วถอยทัพไทยกลับก็ให้เผาเชียงแสนเสีย เพราะพม่าเข้ามายึดเป็นที่มั่นอยู่เป็นการประจำจึงเผาเสีย เชียงแสนมาฟื้นคืนชีพเป็นเมืองที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ นี่เอง
                ผมจึงขอสรุปของผมจากการอ่านตำนานหลายตำนาน ว่าวัดพระธาตุจอมแจ้งบนดอยน้อยนี้มีจริง และคงเกิดในสมัยที่เจ้าสุวรรณคำล้าน มาบูรณะพระธาตุจอมกิติแล้วก็สร้างวัดพระธาตุจอมแจ้งขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๐๓๐ ส่วนวัดพระธาตุจอมกิตินั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ พระครูสังวรสมาธิวัตร แห่งสำนักวิปัสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ ฯ ชาวเชียงแสนได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นมาที่เชิงดอยพระธาตุจอมกิติ และได้ย้ายขึ้นไปสร้างวัดอยู่บนเชิงพระธาตุ ในภายหลังจึงได้มีการสร้างบันไดขึ้น สร้างอุโบสถที่หันหน้าสู่แม่น้ำโขง สร้างซุ้มประตูโขงโยนก ๔ ซุ้มประตูประจำ ๔ ทิศ ส่วนที่เชิงดอยพระธาตุก็ยังมีพระพุทธรูปสำคัญองค์ใหญ่คือ พระพุทธรูปองค์หลวง หรือหลวงพ่อพุทธองค์โยนกมิ่งมงคลเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันยังประดิษฐานอยู่ในบริเวณบ่อน้ำทิพย์ สร้างขึ้นแทนพระเจ้าล้านตื้อที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง แต่เศียรงมขึ้นมาได้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เชียงแสน รวมทั้งปราสาทหลังเก่าที่เป็นสำนักสงฆ์ก็ยังคงอยู่ที่เชิงดอย ส่วนวัดพระธาตุจอมกิตินั้นได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี รวมทั้งการบูรณะองค์พระธาตุด้วย ซึ่งผมได้นำผ้าป่าไปทอดอยู่ ๒ ปีติดต่อกัน จนบูรณะสำเร็จ รวมทั้งการสร้างถังส่งน้ำสูบน้ำจากเชิงดอยไปสู่ถังสูงแล้วปล่อยน้ำไปทั่ววัดให้พระเณรใช้น้ำกันสะดวก ช่วยสร้างกุฏิให้หลวงพ่อ เพราะกุฏิเดิมเอียงจะตกเขาอยู่แล้ว ช่วยกันพัฒนาไฟฟ้าประดับองค์พระธาตุ ลานพระธาตุสร้างสุขาใหม่ให้เป็นแบบผสม ตั้งมูลนิธิพระธาตุจอมกิติเพื่อนำดอกผลมาพัฒนาวัดและองค์พระธาตุต่อไป แต่การตั้งมูลนิธินั้นยังไม่เรียบร้อย เพราะขนาดผมคอยระวังเรื่องเงินทองเพราะเป็นผู้หามาให้ หากเป็นมูลนิธิแล้วก็หมดห่วงเพราะมีกฎหมายคอยควบคุม แต่ตอนรออนุมัติให้จัดตั้งนี่แหละต้องระวัง คนที่ควรระวังก็คือคนที่ใกล้ชิดหลวงพ่อนั่นแหละ ผมยังเฝ้าดูให้จึงทำอะไรไม่ได้ เช่นไปแจ้งธนาคารจะนำชื่อผมออกจากสมุดผู้ฝากเงินมูลนิธิ ทางธนาคารออมสินเชียงแสนต้องโทรมาถามผมว่ายอมไหม ผมไม่รู้เรื่องมาก่อน ต้องขับรถขึ้นไปเชียงแสน จึงได้ความว่าทำกันโดยพลการ จับมือหลวงพ่อเซ็นให้เปลี่ยนเอาชื่อของผมออกไป แล้วเอาชื่อพวกเขาใส่แทน ซึ่งเป็นการส่อเจตนาต่อเงินมูลนิธิ ซึ่งเวลานี้มีมากถึงล้านบาทเศษแล้ว มารผจญมีมากและพวกนี้มักจะอยู่ใกล้พระเสียด้วย ต้องให้หลวงพ่อหรือชาวบ้านที่เป็นกรรมการวัดนั่นแหละคุมกันเอง ผมทำได้เพียงช่วยในการพัฒนา จบเป้าหมายแล้วผมก็ไปวัดอื่นต่อไป เมื่อจบจากการบูรณะวัดพระธาตุจอมกิติ ผมก็ไปทอดผ้าป่าวัดทองเลื่อน ทอดอยู่ ๒ ปี หอสวดมนต์เอนกประสงค์ก็เสร็จเรียบร้อย ใช้คำว่า เอนกประสงค์เพราะจะเป็นทั้งหอสวดมนต์ หอฉัน กฏิเจ้าอาวาส และพระลูกวัด ที่พักพิงของยุวชนเวลามาพักแรมทำกิจกรรมทางศาสนา เป็นศาลาการเปรียญให้ด้วยเพราะวัดทองเลื่อน อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ยังไม่มีศาลาการเปรียญ วัดยากจนมากและบูรณะเรื่องสุดท้ายให้แก่วัดทองเลื่อน คือกำลังเริ่มดำเนินการเปลี่ยนหลังคาที่อุโบสถที่เดิม เป็นหลังคาสังกะสีให้เป็นหลังคากระเบื้อง ทาสีอุโบสถเสียใหม่ สร้างแท่นรองรับเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อแดง พระพุทธรูปสำคัญของโบสถ์วัดทองเลื่อน ก็จะเสร็จเรียบร้อย หากท่านผู้ใดจะทำบุญในการเปลี่ยนหลังคาอุโบสถบริจาคมาที่ผมได้เลยครับ รับรองว่าทุกบาททุกสตางค์ไปวัดหมด ผมทำมานานหลายปีแล้ว คือหาปัจจัยให้และคุมจนกว่าจะจบภารกิจที่ตั้งไว้ จะทำติดต่อผม ๑๕๑ ถนนลาดพร้าว ๗๑ วังทองหลาง กรุงเทพ ฯ ๑๐๓๑๐ ส่วนในปี ๒๕๔๖ ซึ่งผมจบจากวัดทองเลื่อนแล้วก็จะไปสร้าง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ ๒ พระองค์ประทับอยู่ด้วยกัน โดยสร้างในบริเวณวัดวิชมัย ที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งวัดนี้ผมเคยได้เล่าให้ฟังแล้วว่าผมเป็นผู้เสนอแนะต่อนายตลอดกาลของผมว่า สมควรสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ เพื่อให้มาประดิษฐานบนเขาค้อ ยอดดอยที่เคยมีความขัดแย้งกัน และล้มตายด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย คือทหารไทย กับพวกก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
                ผมได้เล่าเรื่องของวัดพระธาตุจอมแจ้ง ซึ่งมีเรื่องให้เล่านิดเดียวแต่ไปเกี่ยวพันกับเรื่องของวัดพระธาตุจอมกิติ เลยเล่ากันยาวเลยทีเดียว สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในเชียงแสนผมเคยเล่าไปแล้วขอทบทวนไว้อีกที เอาฉบับย่อ
                ลำดับแรก ขอให้ไปยังพิพิธภัณฑ์เชียงแสนเสียก่อน จะได้ปูพื้นฐานเมืองเชียงแสนให้แก่ตนเอง
                ลำดับต่อไป วัดเจดีย์หลวง อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู ไปชมเจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา
               วัดป่าสัก อยู่บริเวณประตูเมืองเชียงแสนภายนอกเมือง เลยพิพิธภัณฑ์ออกไป สร้างโดยพระเจ้าแสนภู
               วัดพระเจ้าล้านทอง อยู่ในเขตเมืองกำแพงแสน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทองงั่ว พระพุทธรูปประธานมีน้ำหนักล้านทอง คือ ๑,๒๐๐ กิโลกรัม มีพระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปทองเหลือง เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ได้จากวัดทองทิพย์ วัดร้าง ซึ่งไม่ทราบแน่ว่าวัดร้างนั้นคือวัดพระเจ้าทองทิพย์ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงแสน ใช่หรือไม่ ผมเคยเล่าถึงพระเจ้าทองทิพย์ที่ อำเภอแม่สรวยไปแล้ว เล่าจากประวัติของวัด มาเจอเอาที่นี่อีกแห่งหนึ่ง คงต้องค้นคว้ากันต่อไป แต่น้ำหนักความเชื่อว่าพระเจ้าทองทิพย์องค์ที่แม่สรวย จะเป็นองค์ที่พระเจ้าไชยเชษฐานำมาเมื่อพระองค์มาจากล้านช้างจะมาครองเมืองเชียงใหม่
                วัดพระธาตุจอมกิติได้กล่าวรายละเอียดมาแล้ว
               วัดพระธาตุผาเงา ไปทางจะไปเชียงของ กิโลเมตรที่ ๔๘.๕ มีเจดีย์ประธานทรงระฆังเล็ก ตั้งอยู่บนก้อนหินใหญ่ มีพระบรมธาตุพุทธนิมิตรเจดีย์
                กำแพงเมือง ประตูเมืองเก่าแก่ มีถนนเลียบกำแพงเมือง วิ่งรถชมได้
                เลาะเลียบริมฝั่งโขง ไปออกสามเหลี่ยมทองคำ ต่อไปยังแม่สายได้
                อาหารร้านที่พาไปชิมวันนี้คือ ร้านชื่อเกี้ยวเซี่ยงไฮ้ เขาเขียนแบบนี้จริง ๆ เมื่อก่อนเห็นเขียนว่าเกี๊ยวเซี่ยงไฮ้ ผมไปเขียนถึงร้านของเขาคงสัก ๒ ปีมาแล้ว ร้านเขาก็ขยายใหญ่โต เรียกว่าย้ายจึงจะถูก จากที่ตั้งเดิมย้ายมาใกล้ ๆ กัน คือหากมาจากแม่จันวิ่งมาชนแม่โขงแล้วเลี้ยวซ้าย วิ่งผ่านหน้าอำเภอ และสถานีอนามัยมานิดหนึ่ง ร้านจะอยู่ซ้ายมือ ขวามือคือแม่น้ำโขง ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นตลาดแผงลอยที่มีอาหารขาย เป็นท่าทีแอปเปิล สาลี่และผลไม้จากจีนขึ้นมาขายกันเต็มไปหมด ขายทั้งส่งและขายทั้งปลีก
                ร้านเกี๊ยวเซี่ยงไฮ้ กลายเป็นร้านอาหารตามสั่งไปแล้ว มีโทรศัพท์ ๐๕๓ ๖๕๐๙๘๓
                เร่เข้าไปดูที่ซึ้งนึ่งอาหารเสียก่อนแล้วชี้เอา หมูตุ๋นยูนนาน ไข่พะโล้ หมูพะโล้ ปีกไก่พะโล้ มันฝรั่งกินกับหัวไชเท้า
                ขาหมูพะโล้ก็อร่อยนัก ลองสั่งมาชิมดู
                เต้าหู้หมิง รสชาติแปลดี
                ซี่โครงหมูตุ๋น ไก่ตุ๋นยาจีน สั่งมาซดโถเดียวก็พอแล้ว แสนจะคล่องคอ
                ผัดยอดถั่วลันเตา เกี๊ยวซ่าเซี่ยงไฮ้
                "ไก่สับทั้งกระดูก" เอามาผัดพริกแห้ง จานนี้อร่อยมากเพราะถูกลิ้นคนไทย ได้รสเผ็ดนิด ๆ ผัดแห้ง ๆ ของดั้งเดิม ที่ต้องสั่งเช่นกันคือ ก๋วยเตี๋ยวหม้อดิน เกี๊ยวน้ำ ลูกชิ้นปลา บะหมี่
                ทีนี้มารายการอาหารแปลก ที่ต้องนำร้านนี้มาเขียนคือ "ก้อนหินผัดมะแอว" หรือ ก้อนหินผัดเซ่งจี๋หมู เขาเอากะละมังมา ๑ ใบ ใส่น้ำมันร้อนจัดมาด้วย และในกะละมังจะเดือดร้อนฉ่าเลยทีเดียว พอน้ำมันหยุดเดือดก็พอดีเซ่งจี๋สุก  และต้องเอาตะเกียบคีบกินทันที อย่าไปรอจนเย็นจะดูดน้ำมันที่ทอดเข้าไปมากจะเลี่ยน ต้องคีบกันกันตอนร้อน ๆ นี่แหละ ร้อนรสชาติดี ชิ้นแรกระวังหน่อยก็แล้วกันจะเกิดการ "กลืนไม่เข้า คายไม่ออก" ถือว่าแปลกและอร่อย เคยเจอแต่เขาเอาหินร้อนมาตั้งแล้วยกอาหารสด เช่น หมู ปลา ฯ มาแล้วนำไปวางบนหิ้งร้อน กลับสองทีก็สุกแล้ว เช่นที่นิวซีแลนด์ ที่สิงคโปร์ เมืองไทยแถว ๆ สุริวงศ์ก็มี แต่นี่เอาน้ำมันร้อนกับหินร้อนมาผัดกับเซ่งจี๋หมู หากเซ่งจี๋หมดเปลี่ยนเป็นไก่คงได้
                จานสุดท้ายความจริงสั่งก่อน คือขนมจีบ ร้านนี้เขาจะจับจีบเมื่อสั่งเท่านั้น พอสั่งเขาก็จีบขนมจีบแล้วนึ่งทันทีจึงมาช้าหน่อย จัดการชิมอาหารจานอื่นเสียก่อนจะได้ไม่โมโหเพราะรอนาน
                ของหวาน เดินข้ามฟากไปซื้อเอามาไว้ก่อน คือผลไม้ทั้งหลาย แอปเปิลฟูจิ แอปเปิลฉินกว๊านลูกสีเหลือง สาลี่น้ำผึ้ง สาลี่หอม โลละ ๖๐ สาลี่หวาน แอปเปิลหวาน แอปเปิลกรอบ ฯ ซื้อขนกลับมาจนกินไม่ทันนั่นแหละ


    • Update : 11/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch