หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    การปลูกกล้วย-3
    การค้ำกล้วย

    ต้นกล้วยหลังตกเครือแล้ว จะมีการหักกลางต้น (หักคอ) ได้ง่าย เมื่อกล้วยใกล้จะแก่ ทั้งนี้เพราะน้ำหนักผลมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกล้วยหอมทอง ซึ่งจะมีการหักล้มได้ง่ายมาก เพื่อป้องกันการเสียหายจากหักล้ม เกษตรกรควรใช้ไม้ค้ำกล้วยหลังตกเครือแล้ว ด้วยไม้รวกที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้วประมาณ 1 เดือน โดยดำเนินการดังนี้

    การค้ำกล้วย

    1. นำไม้รวกมาเสี้ยมปลายด้านที่จะใช้ปักลงดินทั้ง 2 อัน แล้วผูกเชือกปลายไม้ทั้งสองอันนี้ โดยให้เหลือส่วนปลายไม้ด้านบนอันละ 30 เซนติเมตร เพื่อทำหน้าที่รับน้ำหนักต้นกล้วย จากนั้นให้ถ่างไม้ทั้งสองไขว้กันเป็นลักษณะคีม แล้วนำไปค้ำต้นกล้วยบริเวณที่ต่ำลงมาจากตำแหน่งเครือกล้วยประมาณ 30-50 เซนติเมตร

    นอกจากใช้ไม้รวกแล้ว เกษตรกรอาจใช้ไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นไม้ง่ามอยู่แล้วแทนก็ได้

    โรคและแมลงศัตรูกล้วยที่สำคัญ

    โรคกล้วย

    1. โรคตายพราย เกิดจากเชื้อรา มักจะเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป โดยจะเห็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ก่อน ต่อมาปลายใบหรือขอบใบจะเริ่มเหลือง และขยายออกไปอย่างรวดเร็วจนเหลืองทั่วใบ ใบอ่อนจะมีอาการเหลืองไหม้หรือตายนึ่งและบิดเป็นคลื่น ใบกล้วยจะหักพับบริเวณโคนก้านใบ ใบยอดจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก ต่อมาก็ตายไปเช่นกัน กล้วยที่ตกเครือแล้วจะเหี่ยว ผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ หรือแก่ก่อนกำหนด เนื้อฟ่ามจืด บางครั้งพบใบกล้วยหักพับที่โคนใบโดยไม่แสดงอาการใบเหลือง หรือเหลืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าตัดลำต้นตามขวางจะพบว่าเนื้อในของกาบใบบางส่วนเป็นสีน้ำตาลแดง และอาจมีเส้นใยของเชื้อราให้เห็นบ้าง

    โรคตายพราย

    การป้องกันและกำจัด

    1. โรคนี้เป็นมากกับกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทอง ควรปลูกกล้วยไข่หรือกล้วยหักมุกแทน
    2. ในพื้นที่ปลูกอย่าให้มีน้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้กล้วยเจริญได้ไม่เต็มที่ ทำให้อ่อนแอเป็นโรคง่าย โดยเฉพาะดินที่เป็นกรด จะต้องใช้ปูนขาวปรับสภาพดินให้เป็นกลางเสียก่อน
    3. ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคด้วยการเผาทิ้ง
    4. ใส่ปุ๋ยที่มีแร่ธาตุฟอสเฟตและโปแตสเซี่ยมสูง และไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนมาก
    5. คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากแหล่งที่ไม่มีโรคนี้หรืออย่างน้อยจากกอที่ไม่เป็นโรค

    2. โรคเหี่ยวของกล้วย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะพบอาการเหี่ยวบนใบอ่อน ๆ ของกล้วย และมีอาการหักตรงก้านใบ อาการเหี่ยวจะระบาดอย่างรวดเร็ว หน่อกล้วยที่กำลังจะแตกยอดมีสีดำ ยอดบิดและแคระแกร็นและจะตายในที่สุด แสดงอาการคล้ายโรคตายพราย แต่เมื่อตัดดูลักษณะภายในลำต้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลแดง พบบริเวณไส้กลางต้นและจะขยายไปยังกาบ ก้านใบ และไปยังเครือกล้วย ผล หน่อ ตา กล้วยจะเหลืองและตายในที่สุด ภายในจะพบเนื้อเยื่อเน่าตายเห็นเป็นช่องว่าง เมื่อตัดกล้วยอ่อนที่เป็นโรคแช่น้ำในน้ำ จะพบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุเป็นน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาผลจะเน่าดำ

    โรคเหี่ยว

    การป้องกันและกำจัด ใช้หน่อกล้วยที่ไม่มีโรคทำพันธุ์ ระวังไม่ให้เกิดผลกับลำต้นกล้วย แช่หน่อกล้วยที่ถูกตัดแต่งในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนปลูก

    3. โรคใบจุดของกล้วย เกิดจากเชื้อหลายชนิด แต่ละชนิดแสดงอาการบนใบแตกต่างกัน ดังนี้

    3.1 ลักษณะอาการเป็นขีดสีน้ำตาลแดงสั้น ๆ ขนานไปกับเส้นใบ บางครั้งกระจายไปทั่วทั้งใบและขยายไปทางกว้าง ทำให้เกิดอาการใบจุด และแผลลามติดต่อกันทำให้เกิดอาการใบไหม้ โดยมากเกิดจากริมใบเข้าไป แผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม พบทุกระยะการเจริญเติบโต โดยมากเป็นกับกล้วยน้ำว้า ทำให้จำนวนหวีน้อยลง ขนาดผลเล็กลง

    การป้องกันและกำจัด ตัดใบกล้วยที่เป็นโรคนำไปเผาไฟทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีคอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ ผสมสารจับใบฉีดพ่น 2-3 ครั้งต่อเดือน หรือใช้สารเคมีแมนโคเซบ หรือเบนโนมิลผสมไวท์ออยย์ฉีดพ่น

    3.2 ลักษณะอาการใบจุดรูปไข่สีน้ำตาล มักเกิดกับกล้วยไข่ บนใบจะเห็นแผลมีลักษณะรูปไข่สีน้ำตาล ตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อนปนเทาถัดเข้ามามีเส้นวงสีน้ำตาลเข้ม และมีวงสีเหลืองล้อมรอบแผลอีกชั้นหนึ่ง การแผ่ขยายของแผลจะเป็นไปตามความยาวของเส้นใบ

    การป้องกันและกำจัด ตัดใบที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วเผาทำลายทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ หรือแคปแทน

    3.3 ลักษณะอาการใบจุดกลมรี ทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ แผลมีสีน้ำตาล ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยบริเวณสีเหลือง ตรงกลางแผลมีส่วนสปอร์ของเชื้อราสีดำเกิดเรียงเป็นวงมักเป็นกับกล้วยน้ำว้า

    โรคใบจุด

    การป้องกันและกำจัด ให้ตัดใบกล้วยที่เหี่ยวแห้งคาต้นไปเผาไฟทิ้ง และฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ

    โรคยอดม้วน เกิดจากเชื้อไวรัส แมลงพาหะได้แก่ แมลงประเภทปากดูดทุกชนิด ได้แก่ เพลี้ยต่าง ๆ เชื้อโรคจะแพร่กระจายติดไป กับหน่อหรือส่วนขยายพันธุ์ต่าง ๆ อาการที่พบคือ ในระยะแรก ๆ จะปรากฎรอยขีดสีเขียว และจุดเล็ก ๆ ตามเส้นใบ และก้านใบ ใบถัด ๆ ไปจะมีขนาดเล็กลง สีเหลือง ใบม้วนที่ปลาย เมื่อโรคนี้ระบาดมากขึ้น ต้นกล้วยจะแคระแกร็น ใบขึ้นรวมกันเป็นกระจุก ดอกและปลีของต้นที่เป็นโรคจะเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ เมื่อเกือบจะโผล่จะพองโตขึ้น บางคราวเมื่อโผล่ออกมาที่ยอด ทำให้ยอดปริ เครือเล็ก จนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถ้าต้นกล้วยเป็นโรคทุก ๆ หน่อที่เกิดมาก็จะเป็นโรคด้วย

    การป้องกันและกำจัด ทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นที่เป็นโรคหรือกอที่สงสัยจะเป็นโรค โดยสังเกตจากอาการดังกล่าวข้างต้น

    แมลงศัตรูกล้วย

    แมลงศัตรูกล้วยที่สำคัญ ได้แก่

    1. ด้วงงวงไชเหง้า ด้วงชนิดนี้ในระยะที่เป็นหนอนทำความเสียหายแก่ต้นกล้วยมากที่สุด ตัวแก่ก็ทำความเสียหายเหมือนกันแต่น้อยกว่า ตัวหนอนเจาะกัดกินไชชอนอยู่ภายในเหง้ากล้วย ซึ่งโดยมากกินอยู่ใต้ระดับดินโคนต้น ซึ่งไม่สามารถมองเห็นการทำลายหรือร่องรอยได้ชัด การทำลายของหนอนทำให้ระบบการส่งน้ำ และอาหารจากพื้นดินขึ้นไปเลี้ยงลำต้นขาดตอนชะงักไป เมื่อเป็นมาก ๆ หรือแม้มีหนอนเพียง 5 ตัว ในเหง้าหนึ่ง ๆ เท่านั้น ก็สามารถไชชอน ทำให้กล้วยตายได้ พบการทำลายได้ทุกระยะ ตั้งแต่หน่อไปจนถึงต้นแก่ ภายหลังตัดเครือแล้ว ตัวหนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเข้าเป็นดักแด้จนเป็นตัวแก่ จะออกมาอยู่นอกเหง้า แถวโคนต้นในระดับชิดผิวดิน หรือต่ำกว่าเล็กน้อย หรือรอผสมพันธุ์กันต่อไป

    การป้องกันและกำจัด ทำความสะอาดสวน อย่าปล่อยให้รกรุงรัง โดยเฉพาะเศษชิ้นส่วนของลำต้นกล้วย กาบกล้วย ซึ่งเน่าเปื่อยชื้นแฉะแถวโคนต้น เป็นที่วางไข่ของตัวเมีย หรืออาจใช้วิธีตัดต้นกล้วยเป็นท่อน ๆ วางสุมเป็นจุด ๆ ในสวน เพื่อล่อให้แมลงมาวางไข่ ประมาณ 7 วันต่อครั้ง ให้เปิดตรวจดูในเวลากลางวัน ถ้าพบตัวอ่อนหรือตัวแก่ให้ทำลาย โดยการใช้สารฆ่าแมลง เช่น เฮ็พตาคลอร์ผสมตามสูตรที่ระบุในฉลากยาราดส่วนโคนต้นและบริเวณดินรอบโคนต้น สำหรับหน่อพันธุ์ควรเลือกหน่อที่แข็งแรงไม่มีโรคแมลงติดอยู่ และแช่ในน้ำยาดีลดริน 25% ในอัตราส่วนผสมคือ น้ำยา 1 ส่วน ต่อน้ำ 50 ส่วน แล้วแช่หน่อพันธุ์ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนนำไปปลูก

    2. ด้วงงวงเจาะต้น หรือด้วงงวงไชกาบกล้วย ด้วงชนิดนี้เป็นศัตรูที่มีการทำลายรุนแรงพอ ๆ กับด้วงงวงไชเหง้า ตัวหนอนจะไชทำลายต้นที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปถึงประมาณกลางต้น โดยไชต้นเป็นรูแล้วชอนเข้าไปถึงไส้กลางต้น มองเห็นข้างนอกเป็นรอยรอบต้นพรุนไปทั่ว มักชอบทำลายต้นกล้วยที่โตแล้ว หรือใกล้จะออกปลี หรือกำลังตกเครืออยู่ จะทำให้เครือหักพับกลางต้นหรือเหี่ยวเฉายืนตาย ขนาดด้วงเจาะลำต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าด้วงงวงไชเหง้า

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงงวงไชเหง้า

    3. หนอนม้วนใบ ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวสีน้ำตาลปนเทา บนหลังปีกมีสีเหลืองแต้ม 2-3 จุด โดยตัวหนอนจะกัดกินจากริมใบให้แหว่งเข้ามาเป็นทางยาว และม้วนใบซ่อนในตัวหลอดอยู่จนกระทั่งเข้าดักแด้ และมีแป้งขาว ๆ หุ้มตัวด้วย ถ้าถูกหนอนทำลายมาก ๆ จะทำให้ใบขาดวิ่นใช้ประโยชน์ไม่ได้

    การป้องกันและกำจัด จับตัวหนอนมาทำลายทิ้ง หรือโดยการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงจำพวกเมทธิลพาราไธออน เช่น พาราเทล ที.เอ็น.ฟอส พาราท็อป ฯลฯ โดยใช้ตามอัตราส่วนที่แจ้งในฉลากยา และควรผสมสารจับใบลงไปด้วย

    4. ตั๊กแตนผี ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ ชอบกัดกินใบ

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

    5. หนอนกระทู้ ตัวแก่เป็นผีเสื้อขนาดเล็ก ปีกบนสีน้ำตาลปนเทา ส่วนปีกล่างสีขาว ตัวแก่หากินในเวลากลางคืน ส่วนตัวอ่อนชอบกัดกินใบตองอ่อนที่ยังไม่คลี่ หรือคลี่แล้วใหม่ ๆ โดยจะกัดเป็นรอยแหว่งไปตามขอบใบเป็นทาง รอยกัดแทะตรงกลางใบที่ทะลุเป็นรูกลม ๆ โตตามขนาดและวัยของหนอน ใบกล้วยที่ออกใหม่หรือหน่อกล้วยโคนต้นหรือหน่อที่นำมาปลูก พอใบใหม่แตกมักจะมีหนอนกระทู้ตัวเล็ก ๆ เข้ากัดกินใต้ผิว เมื่อตัวหนอนโตแล้วก็สามารถกินได้ทั้งบนใบและใต้ใบ

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

    6. หนอนร่าน ตัวแก่เป็นผีเสื้อกลางวันสีน้ำตาล มีพิษตามตัวถูกเข้าจะคัน กัดกินใบขณะที่กำลังจะกลายจากสีตองอ่อนเป็นสีเขียวแก่คือ มีสีจัดขึ้น นอกจากกินใบกล้วยแล้ว ยังพบว่ากินใบมะพร้าวด้วย

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับหนอนม้วนใบ

    7. มวนร่างแห ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบกล้วย ใบตองตรงที่มวนพวกนี้อาศัยอยู่สีจะไม่เขียวสดคือ จะค่อย ๆ เหี่ยวเหลืองซีด และที่สุดก็จะแห้งเป็นแห่ง ๆ ไป ถ้าตรวจดูด้านใต้ใบจะเห็นเป็นจุดดำ ๆ ทั่ว ๆ ไป นั่นคือมูลของมวนที่ถ่ายออกมาติดอยู่และมีคราบของตัวอ่อนลอกทิ้งไว้

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงงวงไชกาบกล้วย

    8. ด้วงเต่าแดง ตัวแก่ชอบกัดกินใบตองยอดอ่อนที่ยังม้วนกลมอยู่ ยังไม่คลี่ออกหรือคลี่ออกแล้วใหม่ ๆ ยังไม่เขียว ทำให้ใบมีรอยตำหนิเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ทะลุล้างไม่ทะลุบ้างทั่วทั้งใบ เห็นได้ชัดเมื่อคลี่ออกตอนเขียวจัดแล้ว

    การป้องกันและกำจัด รักษาความสะอาดสวนกล้วยอย่าให้เป็นที่อาศัยของแมลงได้ และอาจจะใช้เฮ็พตาคลอร์ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่แจ้งไว้ในฉลากพ่นที่ยอดกล้วยหรือตามใบตองอ่อนให้ทั่ว

    9. หนอนปลอก ตัวแก่เป็นผีเสื้อขนาดเล็กมีสีน้ำตาลอ่อนตัวอ่อนเป็นตัวหนอน ชอบกัดกินใบเอามาทำปลอกหุ้มตัว ตัวเล็กพบกัดกินบนใบตองโดยมีปลอกหุ้มตัวชี้ไปข้างหลัง พอโตขึ้นก็จะทำปลอกใหญ่ขึ้นมักเกาะห้อยท้ายปลอกลง ชอบกัดกินอยู่ใต้ใบ

    การป้องกันและกำจัด เช่นเดียวกับด้วงเต่าแดง

    10. แมลงวันผลไม้ หรือ "แมลงวันทอง" เป็นแมลงศัตรูของผลไม้ที่มีความสำคัญในการผลิตผลไม้เป็นการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพราะจะทำความเสียหายกับผลไม้ที่เริ่มสุก โดยตัวเมียชอบวางไข่กับผลกล้วยที่ใกล้สุก หรือมีรอยแผล หนอนที่ออกจากไข่จะไชชอนเนื้อกล้วย ให้เกิดความเสียหายเน่าเหม็น ช่วงเวลาที่ระบาดมากได้แก่ราว ๆ เดือนเมษายน-มิถุนายน ของทุกปี

    การป้องกันและกำจัด ใช้เหยื่อพิษ ซึ่งเป็นสารเคมีผสมประกอบด้วยสารเคมีที่มีชื่อทางการค้าว่า "นาสิมาน" จำนวน 200 ซี.ซี. ผสมกับมาลา-ไธออน 83% จำนวน 70 ซี.ซี. และน้ำ 5 ลิตร อาจผสมสารจับใบเล็กน้อยฉีดพ่นในช่วงเช้า ด้านที่มีร่มเงา และฉีดพ่นที่ใบแก่ ห้ามฉีดพ่นที่ใบอ่อนและยอดอ่อน ให้ฉีดพ่นต้นละ 50-100 ซี.ซี.

    ข้อแนะนำเพิ่มเติม ในการใช้เหยื่อพิษนี้ ควรมีการสำรวจปริมาณการระบาดของแมลงวันทองในสวนเสียก่อน โดยใช้กับดักใส่สารล่อ เมทธิล ยูจินอล (methyl eugenol) แล้วตรวจนับทุก ๆ 7 วัน ถ้าพบปริมาณแมลงวันทองประมาณ 10 ตัวต่อกับดัก 1 อัน ให้ฉีดพ่นเหยื่อพิษ (นาสิมาน + มาลาไธออน + น้ำ) 7 วันต่อครั้ง แต่ถ้าพบปริมาณแมลงวันทองมากกว่านี้ให้ฉีดพ่นทุก ๆ 4-5 วัน ในฤดูฝนควรผสมสารจับใบลงไปด้วย จำนวน 5-10 ซี.ซี.

    นอกจากนี้ยังมีพืชที่แมลงวันทองชอบไปตอมเป็นจำนวนมากได้แก่ หวี ใบกล้วย กระเพา ซึ่งเป็นการง่ายในการกำจัดโดย สารเคมีฉีดพ่นเพื่อลดปริมาณของแมลงวันทองได้

    11. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูดชนิดหนึ่ง ลำตัวขนาด 2x3 มิลลิเมตร ลำตัวปกคลุมด้วยผงสีขาว ชอบเกาะกันอยู่เป็นกลุ่มก้อน อาการเข้าทำลาย มักพบตามผิวกาบใบ และคอยอด หากมีการทำลายมากทำให้ผลกล้วยมีขนาดเล็กลง ผลผลิตลดลง

    การป้องกันและกำจัด ควรทำความสะอาดต้นกล้วย หรือพ่นด้วยสารเคมี เช่น เซฟวิน-เอส 85 25 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบเพนโนไธออน 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

    การเก็บเกี่ยว

    ปกติแล้วกล้วยจะแก่โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน หลังจากเริ่มออกดอก การเก็บเกี่ยวจะเก็บเกี่ยวความแก่ 80-100 % ทั้งนี้แล้วแต่ความต้องการของตลาด

    ลักษณะของผลที่นิยมเก็บเกี่ยวนั้น จะมีลักษณะผลกลมและเห็นเหลี่ยมเล็กน้อย ถึงผลกลมไม่มีเหลี่ยมเลย

    การตัดเครือกล้วยให้ใช้มือที่ถนัดมากที่สุดจับมีด และมืออีกข้างหนึ่งจับที่ปลายเครือ แล้วใช้มีดยาวซึ่งคมตัดก้านเครือ (งวง) เหนือกล้วยหวีแรก ประมาณ 20 เซนติเมตร ในสวนที่เป็นแบบยกร่องจะล้างน้ำไปเลย ช่วยให้น้ำยางไม่เปื้อนผลกล้วย แล้วนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม การผึ่งควรตั้งให้ปลายเครืออยู่ด้านบนโดยวางพิงกันไว้

    การตัดเครือกล้วย

    การจัดการผลกล้วยหลังเก็บเกี่ยว

    1. ทำการชำแหละหวีกล้วยเป็นหวี ๆ แล้วบรรจุหีบห่อส่งตลาดปลายทาง เพื่อนำไปบ่มขายในตลาดผู้บริโภคต่อไป ช่วงขณะชำแหละหวีกล้วยต้องระวังน้ำยางกล้วยจะเปื้อนผลกล้วยจะดูไม่สวยงาม อาจชำแหละลงในน้ำแล้วผึ่งให้แห้ง หรือเป่าด้วยพัดลม

     การแต่งหวี


    2. การคัดคุณภาพและการคัดขนาด หลังชำแหละกล้วยเป็นหวี ๆ แล้ว ก็อาจจะพบกล้วยบางหวีหรือบางผลมีตำหนิ หรือถูกโรคแมลงทำลายก็ให้คัดแยกออก ขณะเดียวกันให้ทำการคัดขนาดหวี และผลกล้วยไปในคราวเดียวกันเลย ตามขนาดใหญ่ กลาง เล็ก

    การคัดคุณภาพ

    3. บรรจุหีบห่อลงในกล่อง หรือเข่งที่บุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบตองสดก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้กล้วยผิวช้ำหรือดำได้ ขณะบรรจุจะมีการนับจำนวนผลไว้แล้ว กรณีจำหน่ายแบบนับผล แต่ถ้าจำหน่ายเป็นกิโลกรัมก็ทำการชั่งน้ำหนักแต่กล่องหรือเข่ง แล้วเขียนบอกขนาดและน้ำหนักไว้เลยด้วยป้ายกระดาษแข็ง

    การบรรจุกล้วยลงกล่อง

    นอกจากบรรจุภาชนะแล้ว ในบางท้องที่อาจใช้วิธีบรรจุบนกระบะรถยนต์บรรทุก หรือตู้รถไฟแบบห้องเย็น โดยการเรียงหวีกล้วยคว่ำลงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ

    การชำแหละและทำความสะอาดด้วยน้ำยา

    การบ่มกล้วย

             เป็นวิธีที่ทำให้กล้วยที่ตัดมานั้นสุกและเข้าสีสม่ำเสมอกัน สะดวกในการจัดจำหน่าย ในประเทศไทยนิยมบ่มกันได้แก่ กล้วยไข่ และกล้วยหอมทอง โดยเรียงกล้วยในเข่งที่กรุด้วยกระดาษโดยรอบ หรือใส่กล้วยลงในโอ่งแล้วใส่ถ่านแก๊ซแคลเซี่ยมคาร์ไบด์ ที่ทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ ห่อด้วยกระดาษ จะทำให้กล้วยสุกภายใน 1-3 วัน

    นอกจากนี้แล้วยังมีการใช้สารละลายเอทธีลีน เช่น อีเธล (Ethel) ความเข้มข้น 500-1000 ppm พ่นที่ผลกล้วยแล้วหุ้มด้วยถุงพลาสติก 1 วัน แล้วเปิดออกผึ่งไว้ให้อากาศถ่ายเท กล้วยจะสุกภายใน 1-3 วัน สิ่งที่ควรคำนึงในการบ่มนั้น ภาชนะที่ใช้บ่มต้องสะอาด อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 12-17 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90%

    การลำเลียงผลผลิต


    การชะลอการสุก

          ในการส่งกล้วยไปจำหน่ายในตลาดปลายทางที่ค่อนข้างไกล หรือตลาดต่างประเทศที่ต้องการกล้วยดิบ ในกล้วยหอมทองมีปัญหา เพราะสุกง่าย แม้ไม่ต้องบ่ม การทำให้กล้วยสุกช้า โดยใช้อุณหภูมิต่ำในการขนส่งก็จะช่วยชะลอการสุกได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้รวมถึงการใช้สารละลายโปแตสเซี่ยมเปอร์มังกาเนต (ด่างทับทิม) ใส่ลงไปในกล่องก็สามารถชะลอการสุกได้อีกวิธีหนึ่งด้วย

    การบรรทุกกล้วยลงเรือ


    • Update : 6/8/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch