หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เที่ยวทั่วไทย-แม่แจ่ม (๒)

    แม่แจ่ม (๒)

                ผมพาเดินทางมาถึง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่แล้ว แม่แจ่มเป็นอำเภอเล็กๆที่สงบเงียบเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่จะไปยังยอดดอยอินทนนท์ ไปแม่แจ่มแล้วเลยไปเที่ยวยอดดอยอินทนนท์ได้เลย แต่ต้องพักที่แม่แจ่มสัก ๓ คืน บอกที่พักที่ผมพัก ๒ คืนไว้อีกที เพราะเขาขึ้นป้ายว่าเขาเป็นรีสอร์ทแบบ B&B คือสไตล์ของอังกฤษหรือที่นิวซีแลนด์เป็นบ้านที่คนสูงอายุที่ลูกหลานเขาแยกไปตั้งครอบครัวใหม่แล้ว อยู่กัน ๒ คน ตา ยายก็แบ่งห้องจัดให้แขกพักพร้อมบริการอาหารเช้า เจ้าของบ้านก็ได้สตางค์ ได้เพื่อนคุย แขกมาพักก็ได้นอนบ้านที่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวบ้านจริงๆ ที่เฮือนแรม ต่อบ้านออกไปจากบ้านใหญ่ เป็นห้องพักที่มีระเบียงนั่งเล่นร่วมกันมีเพียง ๔ ห้อง รอบบ้านสวนสวย ต้นไม้ร่มรื่น ยามเช้าหมอกลงจับ สายๆหมอกจึงจะหมดไป ผมยังติดใจอยู่ทั้งที่พัก อาหารเช้า และเจ้าของบ้านที่มีความเป็นกันเองโทร๐๕๓ ๘๒๘๓๙๘,๐๘๑ ๙๙๒๓๒๔๒ หากห้องเต็มเขาจะเปิดห้องบนบ้านหลังใหญ่เพิ่มได้อีก ๒ ห้อง
                ถือบ้านพักเป็นจุดอ้าง บอกที่หมายที่จะเดินทางต่อไปซึ่งอยู่ริมถนนสาย ๑๐๘๘
                วัดป่าแดด ตอนมาจากออบหลวงก็จะมาผ่านวัดป่าแดดก่อนถึง รีสอร์ทประมาณ ๑.๕ กม. หากไปจากรีสอร์ทก็เลี้ยวซ้ายไป ๑.๕ กม. ทางลงวัดป่าแดดจะอยู่ทางขวามือ เป็นทางลงแคบๆและถนนค่อนข้างชัน เมื่อลงไปถึงลานวัดแล้ว จะเห็นอุโบสถหลังเล็กอยู่ทางขวามือ ขนาด ๖ หน้าต่าง วัดนี้สร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๒๐ โบสถ์เป็นไม้ทั้งหลัง พื้นเป็นไม้แผ่นใหญ่ๆและหนา ประตู ไม้ทั้งแผ่น หนา หนัก เสาเป็นไม้ทั้งต้น ในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในเรื่องพุทธประวัติ และชาดกต่างๆเป็นฝีมือช่างชาวไทยใหญ่ เห็นได้จากภาพวิฑูรบัณฑิตอยู่ในซุ้มปราสาท การแต่งกายจะแต่งแบบคนชั้นสูงของชาวไทยใหญ่ หญิงสาวในภาพจะนุ่งซิ่นตีนจก
                วัดยางหลวง ทางลงวัดยางหลวงจะถึงก่อนวัดป่าแดดประมาณ ๒๐ เมตรทางลงชันน้อยกว่า แต่ลงแล้วยังไม่เข้าบริเวณวัด ต้องวิ่งผ่านประตูหมู่บ้าน “บ้านยางหลวง “เป็นหมู่บ้านใหญ่ ปลูกบ้านผสมผสานกันทั้งบ้านแบบใหม่และบ้านแบบเก่าที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง บ้านนี้เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม เพื่อการท่องเที่ยว ส่วนวัดยางหลวงอยู่กลางหมู่บ้าน เป็นวัดที่มีทั้งโบสถ์และวิหาร โบสถ์หลังเล็กกว่าวิหาร บูรณะคร้งสุดท้ายเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๖ พระประธาน เป็นหลวงพ่อปากแดง ส่วนวิหารหลังโตกว่าอยู่ติดกับโบสถ์มรพระประธานองค์ใหญ่ พื้นไม้ แผ่นโตๆหนา แต่ไม่ขัดมัน กู่ปราสาทหรือกิจกูฏ สูงประมาณ ๒ เมตรสร้างโดยได้รับอิทธิพลแบบพุกามจากพม่าผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน ชื่อวัดยางหลวง ตั้งตามชื่อเผ่าพันธุ์ที่ร่วมแรง ร่วมใจกันสร้างวัดนี้ขึ้นมาคือพวกเผ่าพันธุ์”ยาง “ หรือกะเหรี่ยง สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๔
                ชมวัดป่าแดด วัดยางหลวงแล้ววิ่งย้อนกลับมาผ่านหน้ารีสอร์ทไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตรจะชนสามแยก เลี้ยวซ้าย ผ่านร้านอาหารเล็กๆเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเลี้ยวซ้ายมาแล้วก็จะข้ามสะพาน ทางขวามือเชิงสะพานมีร้านอาหารชื่อ ผมจะพามากินมื้อเที่ยง อร่อยพอใช้ได้ เส้นทางนี้จะไปผ่านหน้าอำเภอ เรียกว่าจะไปไหนก็จะมาผ่านหน้าอำเภอ ถึงหน้าอำเภอเลี้ยวซ้ายก็จะไปตลาดสด เป็นตลาดติดตลอดวัน แต่ตอนเย็นจะมีอาหารสำเร็จรูปจำหน่ายในราคาแสนถูก แถมอร่อยด้วย รีสอร์ทไม่มีห้องอาหาร คงมีแต่มื้อเช้าที่ร่วมอยู่ในค่าห้อง มื้ออื่นต้องหากินเอง มื้อเที่ยงชิมที่แล้วสมพร แต่มื้อเย็นทั้ง ๒ มื้อที่พักแม่แจ่ม พึ่งอาหารสำเร็จรูปจากตลาดสดทั้ง ๒ มื้อ ตอนนี้ไปวัดก่อน
                วัดพุทธเอ้น วัดสำคัญและน่าจะมีอยู่เพียงวัดเดียวในเมืองเชียงใหม่ที่มีสิมหรือโบสถ์อยู่กลางสระน้ำ เส้นทางไปวัดพุทธเอ้น วิ่งผ่านตลาดแล้วข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่แจ่ม ไปนสามแยก หากเลี้ยวซ้ายจะไปยังบ้านท้องฝาย ให้เลี้ยวขวาเลียบไปตามริมแม่น้ำแม่แจ่มจนถึงสามแยก หากเลี้ยวซ้ายไปบ้านบนนาใหม่ ไปอ่างเก็บน้ำฯ ตรงมุมสามแยกมีป้ายบอกไปวัดพุทธเอ้น ให้ตรงไปประมาณ ๑.๕ กม.จะถึงวัดพุทธเอ้นโดยจะผ่าน บ้านพร้าวหนุ่ม วัดพร้าวหนุ่ม ถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านพุทธเอ้น วัดพุทธเอ้นอยู่ตรงทางแยก ยกป้ายวัดไว้สวย ให้สังเกตว่า แม่แจ่มแจะเป็นอำเภอเล็กๆแต่จะมีวัดมาก และหมู่บ้านจะใหญ่ บางหมู่บ้านมี ๒ -๓ วัด โรงเรียนกับวัดมีแทบทุกหมู่บ้าน และเป็นวัดสวยๆด้วย วัดพุทธเอ้นมีสถานที่สำคัญ คือ อุโบสถกลางน้ำ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุกว่าสองร้อยปีมาแล้ว และเป็นโบสถ์หลังเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่อยู่กลางสระน้ำ แต่ผมว่าน่าจะเป็นหลังเดียวในประเทศไทยที่อยู่กลางน้ำ เพราะเท่าที่เคยเห็นมีแต่หอไตรอยู่กลางน้ำ กลางสระน้ำมีมากหลายวัด แต่โบสถ์กลางน้ำไม่เคยเห็น โบสถ์วัดพุทธเอ้น ก่อสร้างด้วยไม้ทั้หลัง หลังคามุงด้วยเกล็ดไม้ หน้าบันแกะสลักเป็นลายพรรณพฤกษา เชิงชายเป็นรูปมกรคายน้ำทั้งสี่ด้าน สิมน้ำหลังนี้ใช้เป็นที่บวชพระ มีน้ำเป็นเขตขัณฑสีมา หรือ อุทกสีมา เป็นเขตบริสุทธิ์ ชาวล้านนาได้รับอิทธิพลจากลังกา ตัวโบสถ์หลังเล็กนิดเดียว ในสระปลูกบัวชูช่อดอกไสว เป็นโบสถ์ที่ยังใช้บวชพระอยู่ แต่ประตูโบสถ์ปิดสนิท ใส่กุญแจ เลยไม่ทราบว่าพระประธานงามแค่ไหน โบสถ์หรือวิหารส่วนมากที่ชมมาในแม่แจ่ม ประตูจะปิดสนิททั้งนั้น แต่ไม่ใส่กลอน หรือกุญแจ เอามือผลักก็เปิดเข้าไปนมัสการ เข้าไปชมในโบสถ์ได้ทุกวัด มีแต่วัดพุทธเอ้นเพียงวัดเดียวที่ปิดสนิทและใส่กุญแจ จะแอบมองทางช่องก็กลัวจะหล่นลงน้ำไป เลยไม่รู้กันว่าภายในเป็นอย่างไร นอกจากสิมน้ำแล้ว วัดยังมีหอไตร มีศาลาหลังเล็กๆวางหม้อน้ำต้น หม้อดินใส่น้ำสะอาด มีกระบวยวางไว้ให้ตักดื่มกินได้ ซึ่งหาดูได้ยากไม่ว่าตามวัด หรือจามบ้านคนที่จะมีศาลาและตั้งหม้อน้ำดื่มไว้บริจาค สมัยที่ผมเรียนที่ลำปางเมื่อกว่า๖๐ ปีมาแล้ว ตามบ้านริมถนนจะมีศาลาเล็กๆตั้งหม้อดินใส่น้ำ วางกระบวยไว้ให้คนเดินผ่านดื่ม กินได้ สมัยนี้ตามบ้านอย่าไปหาเสียให้ยากเลย ถึงมีก็คงไม่มีใครกล้าดื่ม เพราะความสะอาดไม่พอ เห็นที่วัดพุทธเอ้นแล้วก็ดีใจที่ยังมีเหลืออยู่
                นอกจากนี้วัดพุทธเอ้นยังมี พระเจดีย์ มีกลองสะบัดไชย และ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบ่อน้ำนี้มีตำนานเล่าไว้ว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เสด็จมาประทับ ณ ที่นี้และโปรดให้พระอานนท์นำน้ำมาถวาย เมื่อเสวยแล้วก็บ้วนน้ำทิ้ง ตรงที่บ้วนนั้นกลายเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีน้ำไหลผุดออกมาตลอดปี ไม่มีวันเหือดแห้ง ชาวบ้านจะเอาปีป ไม่ใช่ขวดมารองน้ำเอาไปดื่มกิน ผมไม่มีแม้กระทั่งขวดเลยอดได้น้ำศักดิ์สิทธิ์มา ไปคราวหน้า(ตั้งใจจะไปปลายฝน ก่อนหมดฝน ) จะเอาปีปติดรถไปรองมาเลย
                วัดกองกาน ไปนมัสการพระเจ้าตนหลวง เป็นวัดสำคัญยิ่งของชาวแม่แจ่ม เพราะมีพระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองของแม่แจ่ม เส้นทาง ไปทางเดียวกับไปวัดพุทธเอ้น ตรงผ่านวัดพุทธเอ้นไปประมาณ ๔.๕ กม. ผ่านบ้านนางแล บ้านต้นตาล มองเห็ทิวเขาอยู่ไกลๆเป็นเขาที่กลางเขาไม่มีไม้ใหญ่ ไปมีป่าบนยอดเขา วิ่งไปจนเข้าบ้านกองกาน ตำบลแม่ศึก วัดกองกานอยู่ตรงหัวมุมเข้าหมู่บ้าน บ้านกองกานเป็นหมู่บ้านใหญ่ บ้านส่วนมากเป็นบ้านสมัยใหม่แสดงถึงฐานะที่ดีองชาวบ้าน ส่วนบ้านแบบเก่าเป็นบ้านไม้แบบเสาเป็นไม้ทั้งต้น ชาวบ้านมีอาชีพหลักเกษตรกรรม ทำไร่ฟักทอง กะหล่ำปลี พอเก็บเกี่ยวแล้วก็ปลูกพืชอื่นหมุนเวียนต่อไป ( ผิดกับพวกบนเขาที่อากาศหนาวกว่าปลูกกล่ำปลีซ้ำได้ ) เช่นกระเทียม หอมใหญ่เป็นต้น และชาวบ้านในแม่แจ่มพร้อมใจกันไม่ส่งพืชผักไปชายนอกหมู่บ้าน ซึ่งจะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางและกดราคามากด้วย ให้พ่อค้าวิ่งรถมารับซื้อไปเอง จึงขายได้ราคาดีดังนั้นการขับรถมาแม่แจ่มจะสวนกับรถกระบะที่ต่อด้านข้างบรรทุกพืชผักวิ่งสวนทางตลอดเวลา
                ที่หน้าวัดกองกาน มีศาลาเปิดโล่ง เป็นที่รวมของชาวบ้านที่ว่างงานแล้วจะมารวมกันทำผ้านวม ไว้ขายผมซื้อมา ๑ผืนราคาเพียงผืนละ ๒๓๐ บาท เห็นแล้วประทัใจมากในการร่วมแรง ร่วมใจของชาวบ้านและรายได้จะแจกจ่ายไปทุกครัวเรือน
                ภายในวัด ในอุโบสถมี พระเจ้าตนหลวง เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน อ.แม่แจ่ม เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
                วิหาร เป็นวิหารไม้เก่าแก่ มีหน้าบันและปั้นลมเป็นลายแกะสลักไม้ มีความงดงามน่าชม ปั้นลมและหางหงส์เป็นรูปมกรคายนาค และมุงด้วยไม้เกล็ดแบบโบราณและภายในวิหารยังมี ภาพจิตรกรรม เขียนเล่าประวัติของหมู่บ้านตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน ๑๒ ภาพ
               ก่อนไปเที่ยวบนเขาสูง หมู่บ้านที่อยู่บนเขาและเขาบอกว่ามีโรงเรียนที่รับนักเรียนซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาส ก็คือชาวเขานั่นแหละ ชื่อโรงเรียนเซ็นโยเซพ ผมจะไปชมโรงเรียนที่เขาบอกว่าสร้างด้วยเงินเป็นร้อยล้านและสวยนัก ตอนนี้หิวข้าวแล้วไปกินข้าวมื้อกลางวันกับผมก่อนที่ร้าน ทบทวนเส้นทางอีกที จากรีสอร์ท เลี้ยวขวามาชนสามแยก เลี้ยวซ้ายข้ามสะพาน ร้านอยู่ทางขวามือ เชิงสะพาน
                เป็นร้านอาหารตามสั่ง แต่ก๋วยเตี๋ยวก็มีทั้งหมู และเนื้อ แต่อาหารปลา กินไม่ลง เพราะเขาเลี้ยงปลาทับทิมไว้ในบ่อข้างๆโต๊ะที่นั่งกินอาหาร แหวกว่ายให้เห็นกันชัดๆเลยทีเดียว ตัวโตๆทั้งนั้น ความจริงน่ากิน แต่ปลาตัวที่ถึงฆาตจะตายเมื่อเราชี้ จึงไม่สั่งอาหารปลาทั้งที่รายการแนะนำของร้านมี ปลาทับทิมนึ่งซีอิ้ว ปลาลวกจิ้ม ปลากระเทียมพริกไทย ปลาราดน้ำตก ที่สั่งมาชิม คือ
                หมูผัดพริก ใช้พริกยักษ์ ๓ สี ผัดสีรวมกันสวย ไม่เผ็ด พริกสดมาก หวานกรอบ
                ผัดผักรวม ผักหลายชนิด บร๊อคโกลี่ ถั่วลันเตา แครอต กล่ำปลี ความสดของผัก ทำให้ชูรส และแม่แจ่มเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ปลูกกล่ำปลีส่งไปจำหน่ายทั่วทิศ หมุนเวียนปลูกตลอดปี เพราะน้ำดี อากาศเย็นทำให้ปลูกได้งาม และปลูกได้ตลอดปี
                เกาเหลาลูกชิ้นหมู สั่งตามชาวบ้านที่เขามานั่ง ไม่สั่งก๋วยเตี๋ยว ก็สั่งข้าวเปล่าและเกาเหลาอีกหนึ่งชาม ชามโต ยกมาร้อนๆซดสนุก เกาเหลาเนื้อสด เนื้อเปื่อยก็มีให้ชิม
                อิ่มแล้วไปเที่ยวต่อ ไปบ้านท้องฝายก่อน ไปแล้วก็ไม่ติดใจ บ้านท้องฝาย ผ่านหน้าตลาด ข้ามสะพาข้ามแม่น้ำแจ่ม ถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายวิ่งเลาะริมแม่น้ำไปหน่อยเดียวก็เข้าหมู่บ้าน บ้านนี้ประชาสัมพันธ์ป้ายหมู่บ้านไกลเป็นร้อย กม. ใครไปไม่ถูกก็แย่ละ แต่ไปแล้วไม่ประทับใจหรือผมเข้าผิดร้านก็ไม่ทราบ เป็นหมู่บ้านผ้าฝ้าย และผ้าตีนจก หมู่บ้านที่มีผ้าซิ่นตีนจกที่มีชื่อเสียง มาก่อน คือ ต.ท่าผา ต.กองแขก ต.ช่างเคิ่ง ซึ่งแต่ละบ้านมักจะมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน และบางบ้านก็มีผ้าตีนจกไว้จำหน่าย ซิ่นตีนจกราคาจะแพงมาก เพราะทำยากซิ่นตีนจกแม่แจ่มมีชื่อเสียงมาก เป็นศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ การประดิษฐลวดลายด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆที่พุ่งสลับกันเพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ โดยใช้ไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ
                ผมเข้าร้านที่เวลาไปจะอยู่ทางขวามือ เป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านนี้ เข้าไปแล้วไม่ประทับใจ เพราะกลุ่มเจ้าของร้าน ๕ -๖ คนนั่งคุยกันเฉยเลย ไม่สนใจลูกค้า เลยซื้อไม่สนุก เพราะไม่รู้จะถามใคร ผมก็ไม่ค่อยนิยมซื้ออยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องเสียเงินมาก
                โรงเรียนเซ็นโยเซฟ ฟังเจ้าของรีสอร์ทเล่าให้ฟังแล้วก็อยากไปชม โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนยอดเขา เพื่อให้โอกาสแก่เด็กที่ด้อยโอกาส แต่เขาก็ไม่ได้บอกทางให้ละเอียดว่าไปอย่างไร ไปกี่ กม. แต่ผมถือว่ามีปากนำทาง แต่ไปเข้าจริงๆปากก็นำทางไม่ได้ เพราะไม่มีคน ไม่มีหมู่บ้านให้ถาม ป้ายสักป้ายก็ไม่มีบอก ขึ้นไป ๒๐ กม.แล้วจึงพบป้ายชื่อหมู่บ้านต่างๆที่ยังไปได้อีกหลายหมู่บ้าน ลงท้ายผมไม่ได้เห็นโรงเรียนเซ็นโยเซฟ ได้เห็นแต่ “อบต.”ของตำบลที่ตั้งของโรงเรียน ซึ่งใหญ่โตไม่น่าเชื่อว่าบนเขาสูงขนาดนี้จะมี อบต.ใหญ่โตแบบนี้
                เส้นทางไปโรงเรียนเซ็นโยเซฟ วิ่งผ่านหน้าตลาดสด ข้ามสะพาน ถึงสามแยกเลี้ยวขวา ตรงไปตามทางที่จะไปวัดพุทธเอ้น ผ่านวัดน้อย บ้านบนนาใหม่ บ้านบนนา รถวิ่งขึ้นเขาตลอด ทางไม่คดโค้งมากนัก ดีใจคิดว่าคงวิ่งสบาย รออีกเดี๋ยวจะรู้สึก ที่บอกว่าจะเอาปากนำทางก็ไม่ได้ เพราะพอเลยหมู่บ้านบนนา บ้านแม่กั๋ง ไปแล้ว จะหาหมู่บ้านไม่ได้อีกเลย หาป้ายสักป้ายก็ไม่มี มีแต่รถมอเตอร์ไซค์ รถบรรทุกกล่ำปลี วิ่งสวนทางลงมาและวิ่งกันเร็วด้วย เพราะเขาชำนาญทาง และมักจะกินทาง ส่วนผมเป็นรถเก๋ง ต้องวิ่งชิดซ้ายเข้าไว้ เพราะยิ่งขึ้นไป ทางยิ่งคดโค้งมากขึ้น และทางแคบมากด้วย แดดส่องไม่สม่ำเสมอ เข้าร่มแดดสัก ๔๐ – ๕๐ เมตรก็ออกแดดอีก ทำให้ตาพร่า วิ่งไปประมาณชั่วโมงเศษๆ มองเห็นอาคารหลังใหญ่อยู่เชิงเขาดีใจ นึกว่าคงจะถึงโรงเรียนเซ็นโยเซฟแล้ว ไปถึงเข้าจริงๆปรากฏว่ามีทางแยกขวา ตรงไปคือ อาคารของ อบต.ปางหินฝน และตรงทางแยกมีป้ายบอกระยะทางไปหมู่บ้านข้างหน้า จะไปโรงเรียนเซ็นโยเซพจะต้องไปอีกประมาณ ๔ กม.เศษแต่เนื่องจากเส้นทางตอนใกล้จะถึง อบต.ปางหินฝน ทางถล่มหลายแห่ง และทางเสียมาก มารู้ทีหลังวาเลย อบต.ขึ้นไปแล้วถนนซ่อมดีหมดแล้ว และเมื่อมาถึง อบต.เย็นแล้วด้วย ผมกลัวขับรถกลับมามืดกลางทาง เลยตัดสินใจไปแค่ อบต.ปางหินฝน และตั้งใจว่าหากยังมีแรงปีหน้าจะไปชมให้ได้ โรงเรียนอะไรลงทุนตั้งร้อยล้าน และสร้างเหมือนรีสอร์ท รับเด็กด้อยโอกาส ไม่เสียค่าเล่าเรียน ตกลง”กลับ “ โดยไม่ได้เห็นโรงเรียน ระหว่างทางที่ไม่มีหมู่บ้านมี ๒ แห่งที่เป็นสำนักงาน แต่มองดูเหมือนไม่มีคน คือ สำนักวิจัยต้นน้ำแม่แจ่ม และ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนภูเขา “ แม่ฟ้าหลวง “
                มื้อเย็น ๒ วันผมฝากท้องเอาไว้กับอาหารที่ตลาดสด หันหน้าเข้าหาตลาด มีถนนทางซ้ายมือ มีแม่ค้าตั้งโต๊ะขายอาหารพื้นเมือง ตักใส่ถุงเอาไว้ น่ากิน ชาวบ้านรุมซื้อกันทีเดียวและยังมีประเภทแม่ค้าซื้อใส่ถุงใหญ่ เพื่อรับไปขายตามบ้านในมื้อเย็นอีก เล็งแล้วอร่อยแน่นอน แต่กว่าจะลงไปซื้อได้ ชาวบ้านก็เหมาเกือบหมด ได้แต่น้ำพริกหนุ่ม กับแกงโฮ๊ะมา อีกวันไม่ได้ซื้อ จากนั้นเดินผ่านตลาดซึ่งต้องเรียกว่าตลาดโชห่วย เพราะมีของขายสารพัดชนิด สากกะเบือ ยันเรือรบว่างั้นเถอะ ทลุไปออกทางด้วนขวาของตลาด มีแม่ค้าตั้งโต๊ะขายอาหารพื้นเมืองสำเร็จรูป คราวนี้มีหลายเจ้า หลายโต๊ะ เห็นแม่ค้าเจ้าหนึ่งคนรุมเต็ม ส่งเลขาฯแหวกเข้าไปซื้อได้ข้าวนึ่งมา ๕ บาท อยากซื้อสัก ๒ บาทด้วยซ้ำไป เพราะซื้อ ๕ บาทกิน ๒ คนไม่หมด แต่ ๒ บาทเขาไม่ขาย ซื้อได้หมูทอด ไก่ทอด หมูทอดนั้นอร่อยมาก น้ำพริกหนุ่มซื้อวันแรก ถุงละ ๕ บาท วันหลังซื้อเจ้าข้างซ้ายตลาด แกงโฮ๊ะถุงละ ๕บาท ทำไมขายกันถูกดีเหลือเกิน อร่อยๆทั้งนั้น หันกลับไปดูเจ้าอยู่ข้างหลังบ้าง ขายคล้ายๆกันแต่ไม่มีคนซื้อ เลยอุดหนุนไข่ปิ้งมา ๒ ไม้ มาชิมแล้วถึงรู้ว่าฝีมือไข่ปิ้งยังระดับนี้ เฉลี่ยแล้ว ๒ วันน่าจะหมดสตางค์ไปแค่มื้อละไม่เกิน ๕๐ บาท อิ่มจนลุกไม่ขึ้น เพราะต้องกลับมากินในห้องพัก เขาไม่ห้าม ต้องจัดโต๊ะกับพื้นห้อง นั่งขัดสมาธิกินอาหารพื้นเมือง ตอนอิ่มจึงต้องออกแรงจึงจะลุกขึ้นมาได้ มาเกี่ยงกันตอนล้างชาม เพราะผมเดินทาง ผมมีจาน ชามพลาสติคและช้อนส้อมพร้อมที่จะตั้งโต๊ะกินอาหารในห้องพักได้

    ................................................



    • Update : 27/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch