หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ความจริง ตายแล้วไม่สูญ และ ตายแล้วไปไหน
    ความจริง “ตายแล้วไม่สูญ” และ “ตายแล้วไปไหน”


    ....ความจริง “ตายแล้วไม่สูญ” และ “ตายแล้วไปไหน” นี้ไม่น่าจะเป็นที่ข้องใจของท่านเลย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างละเอียดว่า เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ทางที่ไปก็มี ๕ สายคือ

    ๑) อบายภูมิ ได้แก่เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย และเป็นสัตว์เดรัจฉาน
    ๒) เกิดเป็นมนุษย์
    ๓) เกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าอยู่บนสวรรค์
    ๔) เกิดเป็นพรหม
    ๕) ไปพระนิพพาน

    ท่านที่ตายแล้วจะไปเกิดที่ใด พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกเหตุที่จะไปเกิดไว้ครบถ้วนตามกฎของกรรมคือการกระทำ ได้แก่ความประพฤติดีหรือชั่วในสมัยที่เกิดเป็นมนุษย์นี้เอง กฎของกรรมหรือความประพฤติดีหรือชั่วที่จะพาไปเกิดในที่ใดที่หนึ่ง ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ๕ ทางนั้น ท่านว่าไว้อย่างนี้

    แดนเกิดสายที่หนึ่ง ที่เรียกว่า อบายภูมิ
    แดนเกิดสายที่หนึ่ง ที่เรียกว่า อบายภูมิ มีนรกเป็นต้นนั้น เป็นผลจากความประพฤติชั่ว คือก่อกรรมทำเข็ญในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ ท่านจัดกฎใหญ่ๆ ไว้ ๕ ประการคือ
    ๑) เป็นคนมีใจโหดร้าย ชอบข่มเหงรังแก เบียดเบียนคนและสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อนโดยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความดี หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๑
    ๒) มือไว ชอบลักขโมยของที่เจ้าของยังไม่อนุญาต หรือฉ้อโกงเอาทรัพย์สินของคนอื่นด้วยเล่ห์กลโกง หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๒
    ๓) ใจเร็ว ได้แก่มีจิตใจไม่เคารพในความรักของคนอื่น ชอบลอบทำชู้ บุตร ภรรยาและธิดา สามี ของคนอื่นด้วยความมัวเมาในกามคุณ หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๓
    ๔) พูดปด ได้แก่พูดไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อหวังทำลายประโยชน์ของผู้อื่นโดยเจตนา หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๔
    ๕) ชอบทำตนให้เป็นคนหมดสติ ด้วยการย้อมใจให้หมดความรู้สึกในการรับผิดชอบด้วยนํ้าเมา หมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๕

    กรรม คือความประพฤติในกฎ ๕ ประการนี้ ท่านว่าตายจากความเป็นคนแล้วไปสู่อบายภูมิมีตกนรกเป็นต้น


    แดนเกิดสายที่สอง คือเกิดเป็นมนุษย์
    แดนเกิดสายที่สอง คือเกิดเป็นมนุษย์ ท่านว่าคนที่ตายแล้วจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ต้องมีกรรมบถ ๑๐ หรือที่รู้กันง่ายๆ ก็คือ เป็นคนมีศีล ๕ ประจำได้แก่
    ๑) เป็นคนมีเมตตาปรานี ไม่รังแกข่มเหง ทำร้ายใครไม่ว่าคนหรือสัตว์ มีความรัก เมตตาปรานีคนและสัตว์เสมอด้วยรักตนเอง
    ๒) ไม่มือไว คือเคารพสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ไม่ยอมถือเอาทรัพย์สินของใครมาเป็นของตน ในเมื่อเจ้าของไม่อนุญาตด้วยความเต็มใจ
    ๓) ไม่ใจเร็ว ละเมิดความรักในบุตร ธิดา ภรรยา สามีของบุคคลอื่น
    ๔) ไม่เป็นคนไร้สัจจะ พูดแต่เรื่องที่เป็นสาระตรงต่อความเป็นจริง
    ๕) ทำตนให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คือเป็นคนมีอารมณ์รับรู้ความดีความชั่วตามกฎของกรรม ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยด้วยน้ำเมาต่างๆ
    ท่านที่ทรงความดี ๕ อย่างนี้ได้ ท่านว่าตายจากความเป็นคนแล้ว มีสิทธิ์กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ได้

    แดนเกิดสายที่สาม ได้แก่สวรรค์
    แดนเกิดสายที่สาม ได้แก่สวรรค์ อาการที่ทำให้คนเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ ท่านบรรยายไว้มาก แต่เมื่อสรุปกล่าวโดยย่อมี ๒ อย่างคือ
    ๑) เป็นคนมีความละอายต่อความชั่ว ไม่ยอมทำชั่วในที่ทุกสถาน
    ๒) เกรงผลของชั่ว จะทำให้เกิดความเดือดร้อน
    เหตุ ๒ ประการนี้ เป็นผลทำให้ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้า

    แดนเกิดสายที่สี่ ได้แก่พรหมโลก
    แดนเกิดสายที่สี่ ได้แก่พรหมโลก พรหมกับเทวดามีดินแดนที่เกิดเป็นคนละแดนกัน พรหมท่านว่าศักดิ์ศรีดีกว่าเทวดาและมีชั้นภูมิสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า มีความสุขดีกว่า ความสวยสดงดงามก็ดีกว่าเทวดา แต่พรหมไม่มีเพศคือไม่มีเพศหญิงเพศชาย ทั้งนี้เพราะพรหมไม่มีการครองคู่ อยู่โดดเดี่ยวอย่างพระสงฆ์ตามวัดคือไม่มีภรรยาสามี ท่านว่ามีความสุขสงบสงัด ท่านที่จะเป็นพรหมได้ท่านว่าต้องเป็นนักกรรมฐานและมีอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย อารมณ์จิตเป็นฌานที่เรียกว่า เข้าฌานตาย

    แดนเกิดสายที่ห้า ได้แก่พระนิพพาน
    แดนเกิดสายที่ห้า ได้แก่พระนิพพาน แดนนี้เป็นเขตที่รู้เรื่องกันยากมาก เพราะนักปราชญ์สมัยนี้ถือว่า “นิพพานสูญ” กันเป็นประเพณีไปแล้ว ขอบอกไว้ย่อๆ ว่า คนที่จะถึงพระนิพพานได้นั้นต้องมีความบริสุทธิ์ ๑๐ อย่างคือ
    ๑) ไม่เมาในตนเองหรือวัตถุต่างๆ ที่คิดว่าเป็นสมบัติของตน รู้สึกเสมอว่าจะต้องตายและพลัดพรากจากของรักของชอบใจแน่นอน ไม่มีอะไรที่จะมาห้ามความตายและความพลัดพรากได้ ทำจิตใจเป็นปกติเมื่อความตายมาถึงหรือเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก
    ๒) ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าสิ่งที่มีชีวิตต้องทำลายตนเองลงในเมื่อกาลเวลามาถึง ไม่มีอะไรทรงสภาพเป็นปกติอยู่ได้ ใครทำความดี ความดีก็คุ้มครองให้มีความสุขใจ ใครทำชั่ว ความชั่วจะบันดาลความเดือดร้อนให้ แม้ผู้อื่นยังไม่ลงโทษ ตนเองก็มีความหวาดสะดุ้งเป็นปกติ
    ๓) รักษาศีลมั่นคง ดำรงจิตอยู่ในศีลเป็นปกติ
    ๔) ทำลายความใคร่ในกามารมณ์ให้สิ้นไปจากใจ ด้วยอำนาจความรู้ถึงความจริง รู้ว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ภัยอันตรายที่มีขึ้นแก่ตนเพราะอาศัยความรักเป็นเหตุ
    ๕) มีจิตใจเต็มไปด้วยความเมตตาปรานี ไม่โกรธไม่จองล้างจองผลาญคิดทำอันตรายใคร ไม่ว่าใครจะแสดงอาการอย่างไร จิตก็ไม่คลายจากความเมตตา ๖) ไม่มัวเมาในรูปฌาน โดยคิดว่าการที่ตนทรงรูปฌานได้นี้ เป็นผู้ถึงที่สุดของความดี เมาฌานจนไม่สนใจความดีที่ตนยังไม่ได้
    ๗) ไม่มัวเมาในอรูปฌาน โดยคิดว่าความดีเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นทางสิ้นทุกข์
    ๘) มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่คิดถึงเรื่องอารมณ์เหลวไหล มีจิตใจเต็มไปด้วยความหวังดี ไม่ว่าต่อคนหรือสัตว์ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่
    ๙) ไม่ถือตน ทะนงตน ว่าดีเลิศประเสริฐกว่าใคร มีอารมณ์ใจเป็นปกติ เห็นคน สัตว์ ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของธรรมดาที่จะต้องตายจะต้องสลายไป และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวเมื่อเข้าสังคมสมาคมใดๆ มีอาการเป็นเสมือนว่าสังคมนั้น สมาคมนั้นๆ เป็นกลุ่มของคนที่ต้องตาย ไม่ทำตัวใหญ่หรือเล็กจนน่าเกลียด ทำตนพอเหมาะพอสมควรแก่สมาคมนั้นๆ เรื่องของเขา เขาจะดีจะชั่วก็ตัวของเขา เราช่วยได้เราก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็เฉยไว้ ไม่สนใจที่จะไปเบ่งบารมีทับใคร
    ๑๐) ตัดความรักความพอใจในโลกีย์วิสัยให้หมด งดอารมณ์อยากดีอยากเด่น ทำอารมณ์เป็นพระพุทธในพระอุโบสถ พระพุทธท่านยิ้มเสมอ ท่านที่จะถึงพระนิพพานต้องยิ้มได้อย่างพระพุทธ ใครจะดีจะชั่วก็ยิ้ม เพราะเห็นเป็นของธรรมดามันหนีไม่ได้ไล่ไม่พ้น เมื่อยังมีตัวตนเป็นคนมันก็ต้องพบอาการอย่างนี้อยู่ ก็สบายใจ ความตายจะมาถึงก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย มีอารมณ์ใจปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ผูกพันทรัพย์สินหรือสัตว์หรือบุคคลอื่น เท่านี้ก็ไปพระนิพพานได้


    • Update : 26/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch