หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    อบรมกรรมฐาน - โพชฌงค์โดยสรุป
    โพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ หรือสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมเป็นทางปฏิบัติเพื่อปัญญาโดยมีสตินำ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ และพึงใช้ปฏิบัติในการทำกรรมฐานได้ทุกอย่าง ดังเช่นที่ได้แสดงมาแล้ว ปฏิบัติอบรมโพชฌงค์อันประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แม้ในกรรมฐานข้ออื่นก็ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้เป็นตัวอย่างหลายข้อหลายประการ เช่น ให้ปฏิบัติโพชฌงค์ในการทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้ปฏิบัติโพชฌงค์ในการทำกายคตาสติ สติที่ไปในกาย ปฏิบัติโพชฌงค์ในการทำอัฐิกสัญญา ความกำหนดหมายว่าอัฐิ คือกระดูก ดั่งนี้เป็นต้น
           
           หลักของโพชฌงค์ในการปฏิบัติกรรมฐาน
           
           ในขั้นต้นนี้ ก็พึงทราบหลักของโพชฌงค์ในการปฏิบัติ กรรมฐานทั้งปวงนี้ไว้เพียงสามข้อก่อน ก็คือ
           หนึ่ง ทำสติ คือความระลึกได้หรือความระลึกรู้
           สอง ธรรมวิจย วิจัยธรรม เลือกเฟ้นธรรม ก็คือเลือกเฟ้นธรรมในจิต
           สาม วิริยะ ความเพียรในการละ และในการอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น
           
           การทำสติ
           
           ในการปฏิบัติทำกรรมฐานทั้งปวง ก็จะต้องมีข้อหนึ่งมาก่อน คือจะต้องมีสติ ความระลึกได้หรือความระลึกรู้ ในการทำสติข้อนี้ก็คือระลึกถึงกรรมฐานข้อที่จะปฏิบัติ เช่นจะทำอานาปานสติก็ต้องระลึกได้ถึงว่า คือการที่ทำสติ กำหนดลมหายใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก และก็นำสติมากำหนดลมหายใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกที่ตนเอง ให้สติกำหนดอยู่ คือให้พบลมหายใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกย่อมกระทบที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน ก็ตั้งสติกำหนดดูก็จะพบลมหายใจ คือพบความกระทบแห่งลมที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน ดั่งนี้คือสติ
           
           การเลือกเฟ้นธรรม
           
           เมื่อใช้สติดังกล่าวก็ใช้ธรรมวิจัย คือความเลือกเฟ้นธรรมอันหมายความว่า เมื่อสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก สติพบลมหายใจ จิตก็พบลมหายใจ ดั่งนี้ก็ให้รู้ว่าเป็นสติในลมหายใจ ถ้ามีนิวรณ์เข้ามาอันดึงจิตออกไปจากลมหายใจ ก็ให้รู้ว่านั่นเป็นนิวรณ์ที่เข้ามาดึงจิตออกไป และเมื่อนิวรณ์ดึงจิตออกไปได้ ก็หมายความว่าสติพลัดตกจากลมหายใจที่ตั้งไว้นั้น สติก็เตลิดไปกับนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดั่งนี้ก็ให้รู้ว่านั่นเป็นนิวรณ์ เมื่อนำจิตกลับเข้ามาตั้งไว้ที่ลมหายใจใหม่ ก็ให้รู้ว่านั่นเป็นสติ นิวรณ์เข้ามาอีกก็ให้รู้ว่านั่นเป็นนิวรณ์ ดั่งนี้เป็นธรรมวิจัย การเลือกเฟ้นธรรม ก็คืออะไรโผล่เข้ามาที่จิตก็ให้รู้ และก็เหมือนอย่างว่าแยกประเภทได้หรือเหมือนอย่างว่าจัดเข้าเป็นกองๆ ได้ว่า นี่เป็นหมวดสติ นี่เป็นหมวดนิวรณ์
           
           ความเพียรในการละ
           
           ธรรมวิจัยนี้ถ้ามาช้า นิวรณ์ก็จะดึงจิตออกไปได้มาก แต่ว่าถ้ามาเร็ว นิวรณ์ก็จะไม่อาจดึงจิตออกไปได้นาน เพราะว่าเมื่อมีธรรมวิจัยอันเป็นความรู้ที่จัดหมวด จัดกอง จัดประเภทของสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิต ดั่งนี้ได้ทันที วิริยะข้อสามก็จะมา ก็คือว่าจะละนิวรณ์และอบรมทำสติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น พูดอีกอย่างว่าจะละฝ่ายอกุศล จะอบรมฝ่ายกุศลให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นในจิต ดั่งนี้เป็นวิริยะคือความเพียรที่มีอาการที่เข้มแข็งในอันที่จะละอกุศล ในอันที่จะทำกุศลให้บังเกิดขึ้นภายในจิต การละและทำกุศลให้เกิดขึ้นภายในจิตสืบต่อจากธรรมวิจัย และธรรมวิจัยก็สืบต่อจากสติ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้อานาปานสติ คือสติที่กำหนดลมหายใจเข้าออก จิตก็จะอยู่กับลม สติก็จะอยู่กับลม รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก พบลมทั้งจิตทั้งสติด้วยกัน และเมื่อเป็นดั่งนี้โพชฌงค์ข้อต่อไปก็มาเอง คือ ปีติ ความดูดดื่ม ความอิ่ม ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ สมาธิ ความที่จิตตั้งมั่น และอุเบกขา ความเพ่งเข้ามาที่จิตเป็นสมาธินั้น
           
           อันปีติคือความดูดดื่ม ความอิ่มเอิบนี้ ปฏิบัติกรรมฐานข้อไหน ก็ดูดดื่มในกรรมฐานข้อนั้น ปฏิบัติในกรรมฐานข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ดูดดื่มอานาปานสติ จิตดูดดื่มอานาปานสติ อิ่มเอิบอยู่กับอานาปานสติ ดั่งนี้คือปีติ เป็นปีติในกรรมฐาน เมื่อมีปีติในกรรมฐาน คือดื่มกรรมฐานเข้าไป ดั่งนี้ก็ได้ปัสสัทธิคือความสงบ สงบกายสงบจิต เมื่อกายจิตสงบ จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตั้งมั่นขึ้นมาเองโดยไม่ต้องไปบังคับ และเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดังนี้ จะให้ฟุ้งซ่านออกไปก็ไม่ฟุ้งไม่ซ่าน จะตั้งสงบ และเมื่อเป็นดั่งนี้อุเบกขาก็มา คือความที่เข้าไปเพ่ง เข้ามาดูจิตที่เป็นสมาธินั้น ไม่เพ่งออกไป แต่เพ่งเข้ามาที่จิตเป็นสมาธินั้น ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขา ก็แปลว่า ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา อีกสี่ข้อนี้ก็มาโดยลำดับ ความสำคัญจึงอยู่ที่สติข้อที่หนึ่ง ธรรมวิจัยข้อที่สองกับวิริยะข้อที่สาม
           
           ในการทำกรรมฐานทุกข้อก็เป็นเหมือนเช่นนี้ แม้ในพรหมวิหารสี่ที่แสดงมาแล้ว ก็ใช้สติ ใช้ธรรมวิจัย ใช้วิริยะ อบรมเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ได้ปีติ คือว่าดื่ม เมตตาเข้ามา ดื่มกรุณา ดื่มมุทิตา ดื่มอุเบกขา จิตดื่มเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเข้ามา ดูดดื่มเข้ามา จิตก็อิ่ม เอิบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา ที่เป็นโพชฌงค์อันเป็นในพรหมวิหารทั้งสี่
           
           การทำกายคตาสติ
           
           แม้ในกรรมฐานข้ออื่นก็เป็นเหมือนเช่นนี้ ดังเช่นในการทำกายคตาสติ สติที่เป็นไปในกายก็จะต้องใช้สติ ใช้ธรรมวิจัย ใช้วิริยะดังกล่าว ทำสติระลึกถึงผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น และก็มีธรรมวิจัย เลือกเฟ้นธรรม นิวรณ์เข้ามาก็รู้ว่านี่เป็นนิวรณ์ นิวรณ์ไม่เข้ามา สติกำหนดอยู่ก็รู้ว่านี่เป็นสติ ดั่งนี้เป็นธรรมวิจัย วิริยะก็เข้ามาคือคอยละนิวรณ์และคอยทำสติให้ตั้งอยู่และให้เจริญขึ้น ดั่งนี้ก็ได้ปีติ คือความที่จิตดูดดื่ม อิ่มเอิบไปในสติที่กำหนดไปในกายนี้ และก็ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขา
           
           ในการทำกายคตาสตินี้ท่านสอนไว้ด้วยว่า เมื่อสติกำหนดกายไปทีละข้อ ข้อไหนปรากฏชัดก็ให้ถือเอาข้อนั้นเพียงข้อเดียว เช่นเมื่อกำหนดผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก กระดูกปรากฏชัด จะเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งหรือกำหนดกระดูกทั้งหมดที่เป็นโครงร่างโครงกระดูกก็ได้ ก็ให้กำหนดอันนั้น ก็เป็นอัฐิกสัญญา ความกำหนดหมายในกระดูก ดั่งนี้ก็ใช้สติใช้ธรรมวิจัย ใช้วิริยะดังกล่าว ก็จะได้ปีติ ความดูดดื่มอิ่มเอิบในอัฐิกสัญญา ก็จะได้ปัสสัทธิความสงบกายสงบจิต ได้สมาธิได้อุเบกขาอันเป็นโพชฌงค์ดังกล่าว
           
           (อ่านต่อฉบับหน้า)
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


    • Update : 26/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch