หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย-ล้านนา
    คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ




    เนื่องในวันดิถีขึ้นปีใหม่ 2554 สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดกิจกรรม "ฤกษ์ดีปีใหม่ ไหว้พระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน"

    อัญเชิญพระพุทธรูปอันเป็นมงคลพิเศษแต่โบราณ ซึ่งเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รวมพระพุทธรูปสำคัญ 9 พระองค์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสกราบสักการบูชาอย่างใกล้ชิด เพื่อความเป็นสิริมงคลทั่วกัน ณ หอพระวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 2-9 มกราคม 2554

    พระพุทธรูปสำคัญ 9 พระองค์นั้น 'พระพุทธสิหิงค์' ถือเป็นพระพุทธรูปที่ชาวไทยรู้จักคุ้นชื่อเป็นอย่างดี

    พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย-ล้านนา ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 วัสดุหล่อด้วยสำริด กะไหล่ทอง ขนาดสูง 47 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร

    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงนำมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2338 เพื่อประดิษฐานที่หอพระวังหน้าที่ประทับของพระองค์ คือ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์

    ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีการปรับปรุงพระที่นั่งองค์นี้แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์

    พระพุทธสิหิงค์ สร้างขึ้นตามตำนานที่ยังปรากฏอยู่ในนิทานพระพุทธสิหิงค์ที่แต่งเป็นภาษาบาลีโดยพระโพธิรังสี พระภิกษุชาวเชียง ใหม่ในระหว่าง พ.ศ.1945-1985 ตำนานกล่าวไว้ว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ลังกา ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 ให้มีลักษณะใกล้เคียงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากที่สุด จนกระทั่งในสมัยสุโขทัย พระพุทธศาสนาจากลังกาได้เข้ามาเผยแผ่และเป็นที่นิยมนับถือ

    พ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์สุโขทัย ทรงทราบถึงลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงให้พระยานครศรีธรรมราช แต่งทูตอัญเชิญพระราชสาส์นทูลขอพระพุทธสิหิงค์มาจากพระเจ้ากรุงลังกา ซึ่งก็ได้ตามพระราชประสงค์ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่สุโขทัย และได้กราบไหว้บูชากันสืบเนื่องมา

    กระทั่งกรุงสุโขทัยได้เสื่อมอำนาจลง พระพุทธสิหิงค์ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ หลายครั้ง จนเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ได้ยกทัพไปเชียงใหม่ และได้นำพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

    พระพุทธสิหิงค์ หล่อขึ้นด้วยสำริดกะไหล่ทอง ประทับนั่งขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนหน้าตักแสดงปางสมาธิ ครองจีวรห่มเฉียงบางแนบพระวรกาย มีสังฆาฏิพาดอยู่บนพระอังสาซ้ายแบนยาวจรดพระนาภี ชายสังฆาฏิเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระอุระกว้าง บั้นพระองค์คอดกิ่ว ได้สัดส่วน งดงาม พระพักตร์กลม แย้มพระสรวลเล็กน้อย

    พระเนตรหลุบลงต่ำเมื่อมองแล้วทำให้เกิดความสงบ ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระรัศมีมีลักษณะคล้ายเปลวเพลิง ประทับอยู่บนฐานบัวหงาย 3 ชั้น ที่รองรับด้วยฐานสิงห์ที่น่าจะทำเพิ่มเติมขึ้นในภายหลังอีกชั้นหนึ่ง

    แม้ตำนานจะกล่าวถึงพระพุทธสิหิงค์ ว่ามีความเก่าแก่และเคารพนับถือสืบเนื่องมายาวนานตั้งแต่ พ.ศ.700 แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่นั้นทำให้สันนิษฐานได้ว่า พระพุทธสิหิงค์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนั้น น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่ปั้น-หล่อขึ้น ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 ในรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา ซึ่งมีความแตกต่างจากพุทธศิลปะลังกาอย่างชัดเจน

    นอกจากนี้ ยังปรากฏพระพุทธสิหิงค์องค์อื่นๆ ที่น่าจะสร้างขึ้น ตามคติความเชื่อหรือตำนานเดียวกัน เช่น พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานในวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ และพระพุทธสิหิงค์ ในหอพระพุทธสิหิงค์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น

    จึงเชื่อได้ว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยอ้างอิงตำนานที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาในประเทศไทย

    การมีพระพุทธสิหิงค์ไว้เคารพบูชา ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาได้เป็นที่เคารพบูชาในดินแดนแถบนั้น

    ดังข้อความของพระโพธิรังสี กล่าวไว้ว่า "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีป ชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ ชีพอยู่"

    • Update : 2/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch