หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    มองเป็นเห็นธรรม - อิทธิบาทธรรม นำความสำเร็จสู่ชีวิต
    “นักเรียนกราบ”.... “กราบนมัสการหลวงพ่อครับ/ค่ะ”
           
           “ขอความเจริญสุขสวัสดีจงมีกับเธอทุกๆคน ขออนุโมทนาในกุศลกิจของคณะนักเรียนที่เมื่อ ๑๐ นาฬิกาได้มาถวายการต้อนรับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จเป็นประธานคณะพระนัดดา - ปนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระองค์ท่าน ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดถวายสังฆทานอุทิศ พระราชกุศลถวาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทมหาอานันทมหิดลเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ด้วย”
           
           “ทำไมถึงเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลในวันนี้ครับ?”
           
           “เพราะวันที่ ๒๐ กันยายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในรัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๘”
           
           “ทำไมต้องมาทำที่วัดราชบพิธคะ ?”
           
           “เพราะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเป็นวัดแรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ และทรงสถาปนาให้เป็นวัดประจำรัชกาลด้วย นอกจากนี้ที่ฐานพระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถนี้ ได้บรรจุพระบรมอัฐิรัชกาล ที่ ๑-๔, พระบรมราชสรีรางคารในรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๗ และของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ฉัตรสีขาว ๙ ชั้นเหนือพระพุทธอังคีรส เป็นฉัตรกั้นพระบรมโกศในรัชกาล ที่ ๕ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้นำมาถวายไว้ในพระอุโบสถ ฉัตรนี้เมื่อซ่อมแซมครั้งสุดท้าย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานยกฉัตร”
           
           “ไม่มีประวัติเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๘ เลยนี่ครับ”
           
           “การบำเพ็ญกุศลถวายรัชกาลที่ ๘ นั้นเป็นพระดำริในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงริเริ่มถวายสังฆทานเป็นการส่วนพระองค์ในวันนี้”
           
           “ นักเรียนลองนั่งนิ่งๆ เพ่งพินิจไปที่พระพุทธอังคีรส ดูซิว่าเป็นอย่างไร ?”
           
           “ท่านยิ้มให้ผมครับ / ท่านยิ้มให้หนูค่ะ”
           
           “พระพุทธอังคีรสนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้จัดสร้างขึ้นเพื่อนำไปประดิษฐาน ณ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในการนี้ ได้นำทองจากเครื่องทรงของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงในพระราชพิธีโสกันต์มาหลอมกาไหล่องค์พระ เมื่อรัชกาลที่ ๕ จะสร้างพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ทูลให้อัญเชิญพระพุทธอังคีรสมาเป็นพระประธาน เพราะมีความสัมพันธ์กับพระองค์ด้วย รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้ดำเนินการตามที่สมเด็จฯ พระราชอุปัชฌาย์ทูลแนะนำ”
           
           “ความงดงามของวัดราชบพิธ เกิดจากพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งทำพระอารามนี้ถวายเป็นพุทธบูชา พระองค์ทรงอาราธนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร แต่ครั้งยังทรงเป็นหม่อมเจ้าพระ จากวัดโสมนัสวิหารมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดราชบพิธ นอกจากนี้ทรงให้ก่อสร้างสุสานหลวง เพื่อบรรจุพระสรีรางคารของพระโอรส-พระธิดา และพระนัดดา ที่สืบสายในพระองค์ด้วย”
           
           “ทำไมรัชกาลที่ ๕ ทรงเก่งจังคะ?”
           
           “พระองค์ทรงเจริญธรรมอันนำให้ประสบความสำเร็จ คือ อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ๑. ฉันทะ ความพอใจในการศึกษา ๒. วิริยะ ความเพียรในการศึกษา ๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ในสิ่งที่ศึกษา ๔. วิมังสา ความหมั่นทบทวนสิ่งที่ศึกษาให้เกิดความกระจ่างชัด เมื่อพระองค์ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ ในการศึกษาเล่าเรียน ทำให้พระองค์ทรงเป็นพหูสูตบัณฑิต ทรงมีความรู้ในการบริหารประเทศให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้”
           
           “พระองค์ทรงเรียนอะไรบ้างครับ ?”
           
           “พระองค์ทรงเรียนภาษาไทยจากครูชาวไทย ภาษาอังกฤษจากครูฝรั่ง วิชาที่เกี่ยวกับการปกครองทรงได้รับการอบรมจากรัชกาลที่ ๔ คงจะมีอีกหลายวิชาที่หลวงพ่อนึกไม่ออกขณะนี้”
           
           “พวกผมจะทำตามอย่างพระองค์ได้ไหมครับ ?”
           
           “ได้ซิ ถ้าพวกเธอนำอิทธิบาท ๔ มาใช้ในการศึกษาเล่าเรียน พวกเธอก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนรัชกาลที่ ๕ ได้ นักเรียนเคยไปวัดเบญจมบพิตรไหม?”
           
           “เคยครับ/ค่ะ”
           
           “วัดเบญจมบพิตรที่งดงามเป็นความภูมิใจของประเทศไทย เกิดจากความคิดออกแบบอันวิจิตรของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ที่ทูลถวายให้รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพิจารณา แล้วทรงโปรดให้สร้างวัดเบญจมบพิตรตามแบบนั้น เจ้าฟ้าพระองค์นี้ทรงเริ่มต้นงานศิลปินด้วยอิทธิบาทธรรมในการเสด็จไปเรียนรู้จากครูช่างฝีมือดีที่เขียนจิตกรรมเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดพระแก้ว พวกเธอเคยไปดูภาพรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้วบ้างไหม ?”
           
           “เคยครับ/ค่ะ”
           
           “รัชกาลที่ ๕ ทรงปกครองประเทศไทยให้มีความเจริญ ยั่งยืนมาถึงปัจจุบันได้ เพราะพระองค์ทรงมีกัลยาณมิตร ช่วยเหลือในการบริหารราชการแผ่นดิน ท่านเหล่านั้นล้วน เป็นผู้มีอิทธิบาทธรรมในการศึกษาเล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้าน จึงทำให้สามารถรับสนองงานในความรับผิดชอบที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง อันส่งผลให้พระราชนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน สัมฤทธิผลตามพระราชปรารภทุกประการ พวกเธอรู้ไหมในตอนที่รัชกาล ที่ ๕ ขึ้นครองราชสมบัตินั้นพระองค์ยังทรงอยู่ในกาลแห่งเยาวชนเช่นพวกเธอ “
           
           “ไม่รู้ครับ/ค่ะ”
           
           “เมื่อรัชกาลที่ ๔ สวรรคต รัชกาลที่ ๕ เพิ่งมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ทั้งยังทรงประชวรหนักอยู่ ความทุกข์ในพระราชหฤทัยครานั้นคงจะมีมากโข พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนแปรความทุกข์นั้นให้เป็นแรงผลักดันในอิทธิบาทธรรม จึงทำให้พระองค์สามารถรับภาระบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากที่ทรงผนวชได้ทันที ตลอด ๔๒ ปีในรัชสมัยของพระองค์ จึงตราตรึงประทับจิตของพสกนิกรที่เล่าขานสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันมิรู้หาย พระองค์สถิตเป็นพระปิยมหาราชของคนไทยเสมอมา พระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต ก็เกิดจากกำลังศรัทธาของมหาชนในครั้งนั้นได้ระดมเงินจัดสร้างขึ้น เพื่อถวายแด่พระองค์ ในบัดนี้ได้กลายเป็นพระราชอนุสรณ์สถานของผู้เคารพนับถือพระองค์ที่มากราบไหว้บูชาอยู่เสมอ”
           
           “รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงมีปัญหาวัยรุ่นบ้างหรือครับในครั้ง นั้น ?”
           
           “คิดว่าไม่มีนะ เพราะพระองค์ทรงเจริญอิทธิบาทธรรม ในการศึกษาอย่างจริงจัง ดังกล่าวมาแล้ว”
           
           “รัชกาลที่ ๘ ไม่ทรงมีปัญหาวัยรุ่นบ้างหรือคะ “
           
           “คิดว่าไม่มีเหมือนกันนะ ตามพระราชประวัติทรงมีอิทธิบาทธรรมในการศึกษา พระองค์ทรงมุ่งศึกษาให้สำเร็จ เพื่อจักได้ทรงบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ”
           
           “แล้วคนเดี๋ยวนี้ไม่มีใครเจริญอิทธิบาทธรรมเหมือนทั้งสองพระองค์หรือครับ?”
           
           “มี.. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงเจริญอิทธิบาทธรรมในการศึกษา จึงทำให้พระองค์ทรงมีโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกคน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทรงเป็นพระปนัดดาในรัชกาลที่ ๕ ทุกพระองค์ทรงเจริญอิทธิบาทธรรมในการศึกษา ทำให้ทุกพระองค์ทรงสนองงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้อย่างดียิ่ง ดังที่นักเรียนได้ทราบจากสื่อสารมวลชนมาแล้ว”
           
           “ทำไมเขาจึงว่าเยาวชนไทยมีปัญหาล่ะครับ ?”
           
           “คนไทยเรามีนิสัยชอบนำส่วนน้อยมาเป็นส่วนมาก เยาวชนคือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง ๑๔-๑๘ ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงมหาวิทยาลัยปี ๑ นักเรียนที่มีอิทธิบาทธรรมในการศึกษา ย่อมไม่มีปัญหาทางพฤติกรรมอันก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม เพราะมุ่งแสวงหาความสำเร็จในการศึกษา นักเรียนที่ไม่มีอิทธิบาทธรรมในการศึกษา ย่อมก่อปัญหาทางพฤติกรรมที่นำให้เกิดปัญหาทางสังคม ไปตามอำนาจกิเลสที่ครอบครองใจอยู่ในขณะนั้น กิเลสที่ครองใจคนเราโดยปกติก็คือความโลภ อยากได้ในสิ่งต่างๆ ความโกรธ ความไม่พอใจเมื่อได้สิ่งที่ต้องการ ความหลง ความไม่รู้จักความจริงของสิ่งนั้นๆ
           
           คนที่มีอิทธิบาทธรรมในการศึกษาก็มีกิเลสเหล่านี้เหมือนกัน แต่กิเลสเหล่านี้ถูกผลักดันให้มีอำนาจในการแสวงหาความรู้เป็นเบื้องต้น เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในหลักพุทธศาสนาก็ดี หรือหลักวิชาอื่นก็ดี ก็จะย้อนมาพิจารณาตนเองไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสเหล่านี้ มีิจิตใจยินดีในการศึกษาเล่าเรียนด้วยอิทธิบาทธรรม นำตนไปสู่ความสำเร็จในการศึกษา แล้วแสวงหาอาชีพที่เหมาะสมกับตน ทำตนให้ประสบความสำเร็จในชีวิตต่อไป นักเรียนว่าคนที่มีอิทธิบาทธรรมในการศึกษาในโรงเรียนมีมากหรือมีน้อย?”
           
           “มีมากครับ/ค่ะ”
           
           “ดังนั้น ปัญหาเยาวชนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเป็นปัญหาของกลุ่มนักเรียนที่ไม่มีอิทธิบาทธรรมในการศึกษา และกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ชอบทำตนให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลสที่ครอบงำให้ทำแต่สิ่งที่ไม่ดีงาม เช่น หนีเรียนไปเที่ยว หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จนตั้งครรภ์ขึ้น ทุกปัญหาล้วนทำลายโอกาสทางการศึกษาและอนาคตของเยาวชนคนนั้นๆ พวกเธอคิดว่าปัญหาเยาวชน เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุจากครอบครัวใช่ไหม?”
           
           “ไม่ใช่ครับ/ค่ะ”
           
           “เกิดจากโรงเรียน ครู และเพื่อน ใช่ไหม?”
           
           “ไม่แน่ใจครับ” “อาจจะใช่นะคะ” “ไม่ใช่ครับ/ค่ะ”
           
           “มีคำตอบที่ต่างกัน พวกที่คิดว่าใช่ คงจะหมายถึงเยาวชนที่มีปัญหานั้นคบแต่เพื่อนที่มีปัญหาเช่นเดียวกันใช่ไหม?”
           
           “ค่ะ”
           
           “พวกที่คิดว่าครูมีอคติ ลำเอียง ไม่เป็นธรรม เลยทำให้เยาวชนบางคนมีปัญหาใช่ไหม?”
           
           “ค่ะ/ ครับ”
           
           “พวกที่ไม่แน่ใจนี่ ก็คงคิดว่าโรงเรียน ครู เพื่อน คงไม่ใช่สาเหตุปัญหาทั้งหมดใช่หรือเปล่า?”
           
           “ครับ”
           
           “พวกที่บอกว่าไม่ใช่นี่ คิดว่าเยาวชนเหล่านั้นเป็นคนสร้างปัญหาเองใช่ไหม?”
           
           “ครับ/ค่ะ”
           
           “ทุกคำตอบถูกหมด เพราะคนที่ตอบไม่ใช่เยาวชนคนมีปัญหา ดังนั้น สาเหตุแห่งปัญหาจึงเป็นการคาดคะเนเอา คำตอบนี้ถ้าถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็จะตอบว่าเยาวชนคนที่มีปัญหา เป็นคนสร้างปัญหาเอง ไม่ขยันเรียน รักสนุก หนีเที่ยว คบเพื่อนไม่ดี ล้วนแต่เขาทำเองหมด จะโทษพ่อแม่ว่าไม่มีเวลาอบรมสั่งสอน หรือเพราะครอบครัวแตกแยก หรือครูมีอคติ เพื่อนกลั่นแกล้งทำร้าย ล้วนไม่ใช่สาเหตุสำคัญ คนจะดีจะชั่ว ก็ตัวเป็นคนทำ ตัวเป็นคนกำหนด ไม่มีใครจะไปบงการชีวิตของตนได้ นอกจากตนเอง
           ดังนั้น ปัญหาเยาวชนที่กำลังเป็นที่โจษขานในสังคมขณะนี้ จึงเป็นเรื่องของเยาวชนเหล่านั้นที่สร้างขึ้น และปริมาณของเยาวชนที่มีปัญหาเมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชน ที่ไม่มีปัญหา ถือว่าอยู่ในอัตราส่วนที่น้อยมาก ไม่ควรจะนำเอาคนที่มีปัญหาส่วนน้อยมากล่าวว่าเยาวชนไทยมีปัญหา พวกเธอที่เป็นนักเรียนอยู่ในวัยเยาวชน ก็ควรจะตระหนักถึงความรักความอบอุ่นที่ได้รับจากพ่อแม่ ความเมตตาเอ็นดูจากครูอาจารย์ ไมตรีจิตที่เปี่ยมด้วยมิตรภาพจากเพื่อนที่ดี แล้วพึงทำตนเองให้เป็นคนมีอิทธิบาทธรรมในการศึกษา ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เธอก็จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ลูกที่ดีของพ่อแม่ นักเรียนที่ดีของครู อาจารย์ มิตรที่ดีของเพื่อน และเยาวชน ที่ดีของสังคม ทำกันได้ไหม?”
           
           “ได้ครับ/ค่ะ”
           
           “วันนี้เป็นวันดี เป็นวันมงคลที่พวกเธอทั้งหลายได้มากราบพระพุทธอังคีรส ที่เป็นเสมือนตัวแทนพระพุทธเจ้า ได้สดับพระสัจธรรมของพระพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อผู้เป็นพระสงฆ์สาวก นำมาพรรณนา จัดว่าเธอได้รับพระรัตนตรัย อันเป็นมงคลอย่างยิ่งมาสู่ชีวิต ดังนั้น ควรที่เธอทั้งหลายจักได้น้อมนำอิทธิบาทธรรมไปประพฤติปฏิบัติในการศึกษาเล่าเรียน และการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จที่มุ่งหวัง เธอแต่ละคนสามารถทำสำเร็จได้ตามธรรมที่กล่าวมานี้ เมื่อร่วมกันหลายๆ คน ก็จะทำให้เกิดการร่วมแรงแข็งขัน ในการป้องกันไม่ให้อำนาจความชั่วร้ายที่น่ารังเกียจมาครอบงำจิตใจ นำให้แต่ละคนมีส่วนช่วยกันพัฒนาตนเองและหมู่คณะให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะแต่ละคนล้วนใฝ่หาสันติ คือความเป็นอยู่ที่สงบสบายใจกันทุกครั้ง
           
           การร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ เป็นคำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ เป็นคุณประโยชน์และพันธสัญญาที่เยาวชนทุกคนพึงมีในตน และเป็นคุณลักษณะของเยาวชนไทยที่ชาวโลกได้รู้จักตลอดไป
           
           วันนี้ได้ปรารภธรรมมาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอความเจริญในธรรมจงมีกับพวกเธอทุกคนตลอดไป เจริญพร”
           
           “นักเรียนกราบ”.... “กราบนมัสการลาหลวงพ่อครับ/ค่ะ”
           
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 118 กันยายน 2553 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


    • Update : 11/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch