หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    อบรมกรรมฐาน - อุปมานุสสติขั้นศีล
    ความสงบ
           
           “ความสงบ” ใช้คำว่า “สันติ” ก็มี “อุปสมะ” ดั่งที่ใช้ในที่นี้ก็มี เป็นข้อที่ทุกคนสมควรที่จะระลึกถึง และความระลึกถึงนั้นก็พึงระลึกถึงความสงบ หรือความสงบระงับที่ได้ที่ถึง หรือว่าที่พึงได้พึงถึงโดยไม่ยาก หรือที่อาจจะได้จะถึง กับความสงบที่เป็นจุดหมายอันจะพึงบรรลุต่อไปในภายหน้า ความสงบประการแรกที่ได้ที่ถึงนั้นพึงพิจารณาตรวจดูว่า เคยได้พบกับสันติความสงบ หรือ อุปสมะ ความสงบระงับของตนมาอย่างใดบ้าง เพราะทุกคนก็จะต้องเคยพบกันมาแล้วไม่น้อยก็มาก ฉะนั้น จะได้กล่าวนำเพื่อเป็นทางที่จะตรวจตราดูด้วยตนเองจากง่ายไปหายาก จากภายนอกเข้ามาหาภายใน
           
           ความสงบอันเกี่ยวแก่สถานที่ก็เช่นป่า โคนไม้ เรือนว่าง หรือว่าที่สงบแห่งใดแห่งหนึ่งอันเป็นที่ซึ่งปราศจากเสียงรบกวนทั้งหลาย ปราศจากบุคคลและสิ่งรบกวนทั้งหลาย สถานที่ดังกล่าวนี้เรียกว่าที่อันสงบสงัด ทุกคนย่อมจะต้องเคยพบเคยไปสู่สถานที่สงบสงัดนี้ และเมื่อไปก็ย่อมจะพบความสงบในสถานที่นั้นซึ่งอาจจะชอบบ้างไม่ชอบบ้าง หรือว่าชอบในบางคราวไม่ชอบในบางคราว แต่แม้เช่นนั้นก็ควรพิจารณาดูว่าได้อะไรในที่อันสงบนั้น
           
           ประการแรกย่อมจะได้ความสงบปราศจากเสียงรบกวนเป็นต้นดังที่กล่าวมา จะทำให้รู้สึกสงบ และความรู้สึกสงบนี้ ผู้ที่ไม่เคย อาจจะเกิดความกลัวต่อความสงบนั้นก็ได้ หรืออาจจะไม่ชอบต่อความสงบนั้น แต่ว่าถ้าได้พิจารณาตรวจตราดูให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว และเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกลียดหรือน่ารังเกียจ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าความสงบนั้นเป็นของดี ชีวิตแม้โดยปกติก็ต้องอาศัยความสงบอยู่เป็นอันมาก ความพักผ่อนย่อมต้องการที่อันสงบ ต้องการความสงบ การเรียน การทำงาน ก็ต้องการที่อันสงบ ต้องการความสงบ การทำงานละเอียด ก็ต้องการความสงบมาก
           
           ถ้าขาดความสงบขาดที่สงบเสียอย่างเดียวแล้วจะเรียนก็ไม่ได้ จะทำงานอันใดที่ละเอียดประณีตก็ทำไม่ได้ จะพักผ่อนก็ไม่ได้ และยิ่งในเวลาที่ต้องการพักจริงๆ เช่นเวลาที่ต้องการหลับก็ต้องการที่สงบและความสงบเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ที่สงบหรือว่าความสงบนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องอาศัยอยู่ทุกวันในชีวิตทุกๆ วัน ของบุคคล ยิ่งในการปฏิบัติธรรมทางจิตก็ยิ่งต้องการที่อันสงบสงัด ต้องการความสงบสงัดเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ที่อันสงบสงัด ความสงัด จึงเป็นสิ่งที่ปรารถนาต้องการ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ทุกคนต้องอาศัย แม้ดังที่กล่าวมานี้เกี่ยวกับสถานที่
           
           คราวนี้เกี่ยวกับจิตใจเอง แม้จิตใจนี้เองตลอดจนถึงร่างกายก็ต้องการที่อันสงบ ต้องการความสงบ เพราะว่าจิตใจนี้ไม่สามารถที่จะอยู่กับความวุ่นวายได้ทั้งวันทั้งคืน แม้ว่าความวุ่นวายนั้นจะเป็นสิ่งที่นึกว่าน่าชอบ เช่นว่าเป็น การละเล่นเต้นรำ เป็นเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่า แม้ที่บางคนจะชอบอย่างนั้นชอบอย่างนี้ แต่ก็ฟังอยู่ได้เล่นสนุกอยู่ได้ในเวลาที่จำกัด ไม่สามารถที่จะเล่นจะฟังจะสนุกอยู่ทั้งวันทั้งคืนได้
           
           และเมื่อร่างกายและจิตใจต้องการความสงบแล้วก็ไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ต้องการความสงบจากสิ่งเหล่านั้น จิตใจย่อมต้องการความสงบดังกล่าวนี้อยู่เป็นอันมากในวันหนึ่งๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่าเรียนศึกษา ในการทำงานในการปฏิบัติธรรมก็ต้องการความสงบใจตามภูมิตามชั้นของการงานที่กระทำนั้น และยิ่งในเวลาที่จะหลับนอนจิตใจจะกังวลอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หาได้ไม่ เพราะถ้าจิตใจมีกังวล มีห่วงใย มีอาลัย มีวิตกตรึกนึกคิดวุ่นวายอยู่แล้ว ก็ทำให้นอนไม่ได้ เพราะจะนอนก็นอนไม่หลับ จึงจำเป็นที่จะต้องพักกังวลอาลัยพักวิตกคือความตรึกนึกคิดในเรื่องทั้งหลายเสียให้หมดสิ้น ใจปล่อยจากอารมณ์ที่วิตกกังวลนั้น จิตใจปล่อยเมื่อใดความหลับก็มาเมื่อนั้น นับว่าเป็นการพักผ่อนที่ร่างกาย ต้องการอยู่เป็นประจำ ใจเองจึงต้องการความสงบ ร่างกายเองก็ต้องการความสงบอยู่เป็นอันมาก นี้นับว่าเป็นความสงบที่เป็นสามัญทั่วไป ซึ่งทุกคนควรมีอนุสสติคือระลึกถึง อันเกี่ยวแก่สถานที่ อันเกี่ยวแก่ที่ร่างกายและจิตใจต้องการแม้ดั่งที่กล่าวนี้ ระลึกให้จำได้ว่าลักษณะที่เป็นความสงบนั้นเป็นอย่างไร เป็นความเงียบเป็นความปราศจากกังวล ปราศจากอาลัย ปราศจากวิตกนึกคิดฟุ้งซ่าน แต่เป็นความว่างเป็นความปล่อยเป็นความวาง ซึ่งลักษณะ เหล่านี้เป็นลักษณะที่จะทำให้จิตใจมีความสุข มีอิสระเป็นใหญ่จากเครื่องวิตกกังวลทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเสรีเรียกว่ามีอำนาจของตนเอง ไม่ต้องถูกบีบบังคับ ไม่ต้องถูกชักจูง ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่ต้องเดือดร้อน เป็นลักษณะเรียกว่าสงบ อันเป็นสำรวม หรือว่าสงบระงับ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เอง นับได้ว่าเป็นลักษณะของความสุขอย่างหนึ่งที่ชีวิตนี้ต้องการ ที่ร่างกายต้องการ ที่จิตใจต้องการ
           
                 
           (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 119 ตุลาคม 2553 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


    • Update : 11/7/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch