หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    การปลูกพืชผักโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ-2

    การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ

          การฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติในไร่-นา ที่ผ่านการใช้สารเคมีในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างมาก และเป็นเวลานาน ให้กลับคืนมาตามหลักการทั้ง 3 ข้อ เป็นเรื่องที่เกษตรกรสามารถทำได้ โดยใช้เวลาแต่ในปีแรก ๆ จะประสบปัญหาโรคและแมลงรบกวนบ้าง เนื่องจากดินที่เริ่มถูกปรับปรุงยังไม่มีความอุดมสมบูรณ์ดีพอ และมีสารปนเปื้อนอยู่มาก ทำให้พืชยังไม่สามารถเติบโตและแข็งแรงได้อย่างเต็มที่ ทำให้อ่อนแอต่อการทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช

          อีกทั้งศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูพืชก็ยังน้อยอยู่ จึงทำให้เกษตรกรประสบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน และผลผลิตต่ำในระยะ 1-3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นไป ถ้ามีการจัดการดี จะทำให้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชลดลง พร้อมทั้งผลผลิตก็จะสูงขึ้น การเพาะปลูกพืชก็ง่ายขึ้น การใช้ปุ๋ยธรรมชาติก็ลดลง รวมทั้งการป้องกันกำจัดศัตรูพืชก็ใช้ปัจจัยน้อยลง ซึ่งก็หมายถึงต้นทุนการผลิตลดลง แต่ผลผลิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่ยั่งยืน

          ดังนั้นหากเกษตรกรประสบปัญหาศัตรูพืช สามารถป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งมีหลายแนวทางให้เลือกใช้ หรืออาจนำหลาย ๆ แนวทางมาผสมผสานกันก็ได้ ตามความเหมาะสม ศัตรูพืชแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได้ 3 ประเภทคือ วัชพืช โรคพืช และแมลงศัตรูพืช ซึ่งจะสามารถป้องกันและกำจัดได้ดังแนวทางต่อไปนี้

    การป้องกันและกำจัดวัชพืช

          1. ใช้วิธีการถอน ใช้จอบถาง ใช้วิธีการไถพรวน

          2. ใช้วัสดุคลุมดิน ซึ่งเป็นการปกคลุมผิวดิน ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดินอีกด้วย โดยส่วนใหญ่มักใช้วัสดุตามธรรมชาติ ได้แก่ เศษซากพืชหรือวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร เช่น ฟางข้าว ตอซังพืช หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ต้นถั่ว ขุยมะพร้าว กากอ้อย แกลบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพลาสติกที่ผลิตขึ้นสำหรับการคลุมดินโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน

          3. ปลูกพืชคลุมดิน เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินในสวนไม้ผล การปลูกพืชต่าง ๆ เช่น ผัก ไม้ดอก สมุนไพร แซมในสวนไม้ผล เป็นต้น

    การป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

          1. การป้องกันและกำจัดโดยวิธีกล (mechanical control) เช่น การใช้มือจับแมลงมาทำลาย การใช้มุ้งตาข่าย การใช้กับดักแสงไฟ การใช้กับดักกาวเหนียว เป็นต้น

          2. การป้องกันและกำจัดโดยวิธีเขตกรรม (cultural control) เช่น

             2.1 การดูแลรักษาแปลงให้สะอาด

             2.2 การหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการปลูกพืช

             2.3 การเก็บเกี่ยวพืชเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายของโรคและแมลง

             2.4 การใช้ระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชแซม

             2.5 การจัดการให้น้ำ

             2.6 การใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของพืชเพื่อลดการทำลายของโรคและแมลง

          3. การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี (biological control) คือ การใช้ประโยชน์จากแมลงศัตรูธรรมชาติ คือ

             3.1 ตัวเบียน (parasite) ส่วนใหญ่หมายถึง แมลงเบียน (parasitic insects) ที่อาศัยแมลงศัตรูพืชเพื่อการดำรงชีวิต และการสืบพันธุ์ ซึ่งทำให้แมลงศัตรูพืชตายในระหว่างการเจริญเติบโต

             3.2 ตัวห้ำ ได้แก่ สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตโดยการกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิต ตัวห้ำพวกนี้ได้แก่

                   สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ สัตว์ปีก เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กิ้งก่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ

                   ตัวห้ำส่วนใหญ่ที่มีความสำคัญในการควบคุมแมลงและไรศัตรูพืช ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมงมุม ไรตัวห้ำ และตัวห้ำส่วนใหญ่ ได้แก่ แมลงห้ำ (predatory insects) ซึ่งมีมากชนิด และมีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

             3.3 เชื้อโรค ส่วนใหญ่หมายถึงจุลินทรีย์ที่ทำให้แมลงศัตรูพืชเป็นโรคตาย เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา โปรโตซัว ไส้เดือนฝอยทำลายแมลงศัตรูพืช

          4. การป้องกันโดยใช้พันธุ์พืชต้านทาน (host plant resistance)

          5. การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชโดยใช้สมุนไพรต่าง ๆ

    ตัวอย่างการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

          1. การใช้น้ำสกัดสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น การใช้สะเดา ข่าว และตะไคร้หอม ซึ่งทำได้โดยใช้สะเดา (ใช้ส่วนของเมล็ดแก่) ข่า (ใช้ส่วนของหัวข่าแก่) ตะไคร้หอม (ใช้ส่วนของใบสีเขียวเข้ม) อย่างละ 2 กิโลกรัม โขลกหรือตำแล้วแช่น้ำ 20 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง โดยไว้ในที่ร่ม กรองเอากากออก น้ำยาที่ได้จะเข้มข้น ควรเจือจางด้วยน้ำประมาณ 8 เท่า (ควรเติบสารจับใบซึ่งจะใช้น้ำสบู่ 3 ช้อนแกงต่อน้ำยาที่ผสมแล้ว 20 ลิตร เพื่อให้น้ำยาเกาะติดใบและตัวแมลงได้ดีขึ้น) สูตรนี้ใช้ฉีดป้องกันและกำจัดหนอนและแมลงต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับแมลงทุกชนิด เช่น แมลงปีกแข็ง พวกด้วงเต่าแดง จะใช้ไม่ค่อยได้ผล แต่น้ำสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าจะใช้ได้ผลดีกับแมลงปีกแข็งดังกล่าว

               ยังมีพืชสมุนไพรอีกมากมายหลายชนิดที่สามารถใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ เช่น ขมิ้น โล่ติ๊น พริกขี้หนู สาบเสือ ยาสูบ ฯลฯ ซึ่งเราสามารถนำมาทดลองใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชได้โดยนำไปฉีดพ่นในช่วงที่มีหนอนมาก ควรฉีดพ่นทุก ๆ 3 วัน แต่อย่างไรก็ตามควรตรวจดูแมลงทุก ๆ เช้า ถ้าพบก็ให้ใช้มือรีบกำจัดก่อน เช่น กลุ่มของไข่แมลง กลุ่มของตัวหนอน เป็นต้น ในการใช้สารสกัดสมุนไพรอาจจำเป็นต้องใช้บ่อยครั้งในช่วงแรก ๆ ของการทำเกษตรธรรมชาติมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารสกัดสมุนไพรในการควบคุมแมลงศัตรูพืช หรืออาจใช้น้อยมากก็สามารถปลูกพืชได้ผลดีเช่นกัน

               สารจับใบที่ได้จากน้ำสบู่ สามารถทำได้โดยใช้สบู่ซันไลท์ 1 ก้อน หั่นเป็นฝอย ๆ เติมน้ำอุ่น 1 ลิตร คนให้ละลาย น้ำสบู่นี้จะใช้เติมในน้ำสมุนไพรได้ทุกสูตรซึ่งเป็นสารจับใบ เพื่อให้น้ำยาเกาะติดใบและตัวแมลงได้ดีขึ้น อัตราที่ใช้คือ ใช้น้ำสบู่ 3 ช้อนแกง ต่อน้ำสมุนไพรที่ผสมแล้ว 20 ลิตร

          2. การใช้สารสกัดสมุนไพรป้องกันและกำจัดโรคพืช เช่น การใช้ว่านหางจระเข้ กระเทียม อย่างละ 200 กรัม บดแล้วกรองเอากากออก เติมน้ำให้ครบ 20 ลิตร เติมน้ำส้มสายชู 100 มิลลิลิตร และเติมน้ำสบู่ดังกล่าวมาแล้วด้วย ใช้ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน เพื่อป้องกันโรคราแป้งของพืชตระกูลแตงได้ จากผลการทดลองพบว่ากระเทียมมีผลต่อการป้องกันโรคราแป้งบนใบแคนตาลูปได้มาก และว่านหางจระเข้มีผลต่อการป้องกันโรคนี้ได้ปานกลาง (T. Sittirungsun and H. Horita, 1999)

          3. การนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น เปลือกไข่นำมาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วเผา และนำมาทุบให้พอละเอียด นำไปโรยรอบ ๆ ต้นพืช ช่วยป้องกันหนอนกระทู้ได้ เป็นต้น

          4. การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง จากผลการทดลองพบว่า การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช จะช่วยลดแมลงศัตรูพืชได้มากในระยะแรกของการทำเกษตรธรรมชาติ เพราะในช่วงนั้นมีแมลงศัตรูธรรมชาติ หรือตัวห้ำตัวเบียนอยู่น้อย แต่ถ้าทำเกษตรธรรมชาติไประยะหนึ่ง และมีแมลงศัตรูธรรมชาติมากพอ ก็ไม่มีความจำเป็นในการใช้กับดักกาวเหนียวอีก ก็สามารถปลูกพืชได้ผลดี นอกจากนี้กับดักกาวเหนียวยังเหมาะสำหรับการปลูกพืชผักกางมุ้ง หรือปลูกใน Green House รวมทั้งแปลงเกษตรทั่วไปที่เกษตรกรต้องการลดการใช้สารเคมีอีกด้วย (T. Sekine and T.Sittirungsun, 2000)

          ในปัจจุบันมีเกษตรชาวสวนผลไม้นำเอากาวเหนียวสีเหลืองนี้ ไปทารอบโคนต้นผลไม้เพื่อป้องกันมด ซึ่งจะมีผลต่อการป้องกันพวกเพลี้ยต่าง ๆ ได้ผลดี เช่น เกษตรกรชาวสวนทุเรียนแถบภาคตะวันออก เป็นต้น

    ข้อเสนอแนะในการป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช

          ในการทำเกษตรธรรมชาติในระยะแรก ๆ หรือระยะเพิ่งปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรธรรมชาตินั้น เกษตรกรอาจประสบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช เกษตรกรควรแก้ปัญหานี้โดยวิธีการป้องกันและกำจัดวิธีต่าง ๆ ผสมผสานกันไป โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และเมื่อทำเกษตรธรรมชาติไปสักระยะหนึ่ง ดินจะดีขึ้น การเจริญเติบโตของต้นพืชก็จะดีขึ้น ทำให้ต้นพืชแข็งแรง และนอกจากนี้ยังมีแมลงศัตรูธรรมชาติมากขึ้น แมลงศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ก็จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้โดยธรรมชาติ

    แนวทางการปรับเปลี่ยนมาสู่เกษตรธรรมชาติ

          การปรับเปลี่ยนมาสู่เกษตรธรรมชาติ เกษตรกรอาจทดลองเลือกพื้นบางส่วนทำเกษตรธรรมชาติ โดยเลิกใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน และเมื่อได้เรียนรู้และทำได้ดีแล้วก็ค่อย ๆ ขยายพื้นที่ออกไป หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ทำการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในพื้นที่ทั้งหมดโดยค่อย ๆ ลดทีละน้อย และในที่สุดก็สามารถทำเกษตรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างเต็มรูปแบบ

    เทคนิคการผลิตผัก

          ในการเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ ให้ได้ผลผลิตดึและมีคุณภาพดีนั้น นอกจากหลักเกษตรธรรมชาติที่กล่าวมาแล้ว เราจำเป็นต้องเรียนรู้ลักษณะและความต้องการของพืชชนิดนั้น ๆ ด้วย ซึ่งจะไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ แต่จะอ่านได้จากหนังสือเกี่ยวกับผัก ไม้ดอก ไม้ผลแต่ละชนิด ซึ่งจะช่วยให้การเพาะปลูกพืชผักได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

    เราได้อะไรจากการทำเกษตรธรรมชาติ

          ถ้าเราทำเกษตรธรรมชาติ เราได้รายได้เป็นตัวเงินจากการขายผลผลิต และได้รายได้ที่ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นรายได้ในรูปต่าง ๆ เช่น อาหารที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัว เกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาล ในด้านสิ่งแวดล้อม วิธีการเกษตรธรรมชาติจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน รัฐบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหามลพิษต่าง ๆ เกษตรธรรมชาติเป็นรูปแบบหนึ่งที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริคือ การอุ้มชูตนเองได้ พออยู่พอกิน ผลิตของกินเอง ให้ใช้สิ่งที่ผลิต ที่ปลูก เกื้อกูลกัน มีเหลือแบ่งปัน มีความพอเพียงกับตนเองกับครอบครัวและชุมชน


    • Update : 29/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch