หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา /6
    พระไตรปิฎกยุคจารึกเป็นลายลักษณ์
    ถือเป็นหลักของชาติ จึงคงอยู่ได้ด้วยดี


    ต่อมาถึง พ.ศ. ใกล้ ๕๐๐ จึงได้เริ่มมีการใช้วิธีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลาน พอถึงยุคจารึกลงในใบลานนี้แหละ กลายเป็นยุคที่จะมีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย เพราะคนเริ่มประมาทว่า เออ เรามีใบลาน มีหนังสือที่จารึกไว้แล้ว อยากรู้ก็ไปเปิดดูและตรวจสอบได้ง่าย เราไม่ต้องจำให้มาก ไปๆ มาๆ การสวดสาธยายพระไตรปิฎกก็เหลืออยู่แค่สวดมนต์ อย่างทำวัตรสวดมนต์ที่เราเห็นๆ กันอยู่ คนก็จำพุทธพจน์ได้น้อยลงๆ เหลือน้อยลงไปทุกที

    นอกจากนั้น ในการคัดลอกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า “จาร” เวลาคัดลอกกันทีหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะมีการตกหล่นหรือผิดเพี้ยน เช่นตัว จ เป็น ว หรือตัว ว เป็น จ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการคัดลอกในระดับที่เป็นทางการใหญ่ของคณะสงฆ์ทั้งหมด หรือเป็นระดับของประเทศชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศ จะถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ จะต้องมีพระไตรปิฎกฉบับหลวงเป็นของราชการ เป็นของแผ่นดิน เป็นของประเทศชาติ รักษาไว้เป็นหลักของกลาง แล้วมาคัดลอกต่อๆ กันไป

    นานๆ จึงต้องมีการมาประชุมกันระดับชาติ แล้วก็เอามาตรวจสอบกัน เอามาทานกัน ตรงไหนตกหล่น ผิดพลาดไป ก็ทำเชิงอรรถไว้ คือถือเรื่องความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะนี้คือองค์แทนที่แท้ของพระพุทธเจ้าที่เป็นพระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา

    จะเห็นว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศ ถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นหลักสำคัญยิ่ง เวลานำพระพุทธศาสนาไปประเทศต่างๆ ก็คือจะต้องนำพระไตรปิฎกไป อย่างพระเจ้าอโนรธามังช่อ ที่เป็นมหาราชของพุกาม ผู้เป็นต้นความยิ่งใหญ่ของพม่า ที่ปราบมอญลงได้ ตอนนั้นมอญนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรือพระเจ้าอโนรธามังช่อไปปราบมอญได้แล้ว หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็นำเอาพระไตรปิฎกจากมอญไปยังพุกาม

    พระภิกษุทั้งหลายเดินทางไปมาระหว่างประเทศในสมัยโบราณ ก็เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก คัดลอกพระไตรปิฎก และอรรถกถา พระเจ้าแผ่นดินไทยแต่ละยุค เวลาสร้างบ้านเมืองใหม่ ก็ทรงถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นการสำคัญ เช่น เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ถูกพม่าเผา พระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมประเทศชาติได้ ทรงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี พอตั้งเมืองหลวงเสร็จ ก็จัดการเรื่องคณะสงฆ์

    หาพระภิกษุที่น่าเคารพนับถือมาสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช พอจัดเรื่องเฉพาะหน้าเสร็จแล้ว ภาระใหญ่อันสำคัญที่พระองค์ทรงกระทำ ก็คือให้รวบรวมพระไตรปิฎก เพราะว่าอยุธยาถูกเผา พระคัมภีร์ถูกไฟไหม้ไปแล้ว ก็โปรดให้ไปรวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมือง ทั้งเมืองเหนือ เมืองใต้ เอามาเลือกคัดจัดตั้งเป็นสมบัติกลางไว้ที่เมืองหลวง เพื่อเป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป

    พอมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ สมัยกรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน พอเริ่มตั้งกรุง เมื่อจัดบ้านเมืองพอเข้าที่ สิ่งที่พระองค์ทรงรีบทำ คือเรื่องของพระไตรปิฎก ถึงกับมีการสังคายนาของกรุงเทพฯ ขึ้นมา ครั้นสังคายนาเสร็จเรียบร้อย สอบทานได้พระไตรปิฎก มาเป็นหลัก ก็จัดตั้งเป็นฉบับหลวงของแผ่นดิน จึงเป็นที่รู้กันว่า การรักษาพระไตรปิฎกเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

    ในยุคทรงจำด้วยปาก การรักษาพระไตรปิฎกก็คือ ท่องพร้อมกัน สวดพร้อมกัน มาสอบทานกันด้วยวาจาอยู่เสมอ ต่อมาในยุคที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็คือเอาคัมภีร์ที่จารึกไว้ทั้งหลาย มาเทียบเคียงสอบทานกันอยู่เสมอ การสอบทานกันนี้ เป็นความหมายของการสังคายนาในยุคหลัง ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า พระไตรปิฎกของเราที่เป็นบาลี จะไปอยู่ในพม่า ไปเป็นของสิงหลอยู่ในลังกา ไปอยู่ในประเทศไทย หรือไปอยู่ในประเทศไหน

    แม้แต่ฝรั่งเอาไปคัดลอก เป็นฉบับอักษรโรมัน ก็เหมือนกันหมด เนื้อหาอย่างเดียวกัน จะมีแปลกไปก็เพราะพิมพ์ผิดนิดๆ หน่อยๆ อย่างของเรามีอยู่แห่งหนึ่ง ตกหล่นไป ยาวหน่อย สักครึ่งค่อนหน้า ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว หมายความว่า พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทเรานี้ ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลกันไปแสนนานเป็นพันปี ก็ยังเหมือนกัน เนื้อหาอย่างเดียวกัน

    แสดงถึงการที่ท่านให้ความสำคัญยิ่งนักกับการรักษา ในเวลาที่เรามีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน เพื่อดูว่ามีข้อความถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ เพียงว่า อักษร จ เป็น ว เราก็จะทำเชิงอรรถไว้ว่า ตรงนี้ฉบับของเราเป็นอย่างนี้ ฉบับพม่าหรือฉบับไหนเป็นอย่างนั้น

    อย่างชื่อ พระอัญญาโกณฑัญญะ มีการผิดเพี้ยนกันไปนิดหน่อย ฉบับของเราเป็น อัญญาโกณฑัญญะ ฉบับอักษรโรมันของ Pali Text Society เป็น อัญญาตโกณฑัญญะ เป็นต้น ความแตกต่างแม้แต่นิดเดียว เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ

    ต้องเข้าใจให้ชัด
    แค่ไหนใช่ แค่ไหนไม่ใช่สังคายนา


    การสังคายนานั้นต้องให้รู้ว่าเป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์เอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป

    การสังคายนา ก็คือ การมาทบทวนซักซ้อมตรวจสอบคัมภีร์ให้ตรงตามของเดิม และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาทบทวนตัวเอง ให้มาซักซ้อมกับที่ประชุม ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติของตน ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้

    บางคนเข้าใจผิดว่า ในการสังคายนานี้ ผู้ที่เข้าร่วมสังคายนา จะไปปรับไปแต่งไปทำอะไรกับพระไตรปิฎก ดีไม่ดีอาจจะถึงกับเข้าใจว่ามาแต่งพระไตรปิฎกกันใหม่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปไกล แสดงว่าไม่รู้จักการสังคายนา และไม่รู้เรื่องอะไรเลย

    เพราะฉะนั้น จะต้องย้ำกันว่า การสังคายนาพระไตรปิฎก ก็คือ การมาทบทวนตรวจสอบซักซ้อมกันในการที่จะรักษาพระไตรปิฎกของเดิมที่ท่านสังคายนาไว้ ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อ ๓ เดือน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ของเดิมนั้นเป็นอย่างไร ก็ให้คงอยู่อย่างนั้น อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อะไรที่คลาดเคลื่อน ใครทรงจำผิดไป ก็ให้มาปรับเข้ากับของเดิมของแท้นี้เสีย

    เพราะว่าเมื่อเรารักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือเราจะต้องรักษาคำตรัสของพระองค์ของเดิมไว้ให้ได้ ถ้าคำสอนคำตรัสเดิมหมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มี เช่น คำของพระสารีบุตรที่ได้แสดงวิธีสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้นั้น ก็เป็นพระสูตรอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อ สังคีติสูตร

    แต่ธรรมะที่พระสารีบุตรนำมาสังคายนาไว้ในสังคีติสูตรนั้น ก็คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นั่นเอง นอกจากนั้นก็มีคำสนทนากับผู้อื่น ซึ่งมีคำของผู้อื่นรวมอยู่ด้วยในนั้น หลักคำสอนอะไรเก่าๆ ก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ทรงนำมาเล่าให้นับถือปฏิบัติกันต่อไป ก็มาอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย อย่าง เรื่องชาดก เฉพาะส่วนที่เป็นตัวคำสอนแท้ๆ

    คัมภีร์ที่นิพนธ์แม้หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่า พระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป ท่านก็เรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อวินิจฉัยความเชื่อถือ หรือการสั่งสอนที่ผิดพลาดเหล่านั้น

    แต่การวินิจฉัยนั้นก็เป็นเพียงว่า ท่านมาเชื่อมโยงโดยยกเอาคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่โน้น ที่นี่ ในเรื่องเดียวกันนั้น มารวมกันไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร เพื่อจะวินิจฉัยความเชื่อหรือคำสอนของผู้ที่เชื่อผิดพลาดไปนั้น อย่างนี้ก็กลายเป็นคัมภีร์ใหม่ แต่แท้จริงก็เป็นการนำเอาพุทธพจน์ในเรื่องนั้นๆ มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราวหรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน

    แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนี้เป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน เป็นของส่วนรวมที่พระสงฆ์ทั้งหมด โดยเฉพาะท่านที่เป็นครูอาจารย์และพระเถระที่รับผิดชอบการพระศาสนา ต่างก็คอยจับตา คอยระแวดระวัง ถือเป็นสำคัญ ฉะนั้นใครจะไปเที่ยวใส่เติมอะไรลงไปไม่ได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับกันอย่างแน่นอน และไม่ใช่ประเทศเดียวรักษาไว้ หลายๆ ประเทศต่างก็มีแล้วก็ต้อง คอยทานเทียบกัน หมั่นตรวจสอบไม่ให้คลาดเคลื่อนกันไป

    รวมความก็คือให้จำไว้เลยว่าประเทศพุทธศาสนาเถรวาท ทั้งหมด มีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด แม้จะต่างกันในตัวอักษร เช่น จ เป็น ว บ้าง บางแห่ง หรือตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที ความสำนึกตระหนักมั่นนี้ อย่าว่าแต่ต่างประเทศเลย แม้แต่ประเทศไทยเรา ต่อไปถ้าไม่เห็นความสำคัญ เราเองก็อาจจะทำให้เลือนลางคลาดเคลื่อน

    เวลาแปลคำว่า สังคายนา เป็นภาษาอังกฤษ เรามักไปเทียบกับภาษาฝรั่ง เช่น Council อย่างของศาสนาคริสต์ เขามี Vatican Council เป็นต้น เราก็แปลว่าเป็นการสังคายนา อันนั้นเป็นการแปลเพียงเทียบในบางแง่ความหมาย ซึ่งที่จริงไม่เหมือนกันเลย

    การประชุม Council ของศาสนาคริสต์นั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการมาตกลงกันกำหนดหลักความเชื่อ และแม้แต่การวางนโยบายในการเผยแผ่ศาสนาของเขา แต่การสังคายนาในพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้า ไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติม จะมาทำให้ตกหล่นก็ไม่ได้ ต่อเติมก็ไม่ได้ ต้องรักษาไว้ให้แม่นยำที่สุด เราเพียงมาตรวจทาน มาซักซ้อม ทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม

    เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆ ของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่เป็น อาจริยวาท/อาจารยวาท เดี๋ยวนี้ก็รู้กันหมดแล้วว่าเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง ไม่รักษาคำสอนเดิมแท้ๆ ไว้ ก็เลยคลาดเคลื่อนหรือหาย คัมภีร์ส่วนมากก็สาบสูญไป

    เขาก็เลยมายอมรับกันว่า คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่จะหาได้ครบสมบูรณ์ที่สุด ก็ต้องมาดูในพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาเถรวาทของเรานี้ เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล คือนักปราชญ์ วงวิชาการทั่วโลก จะเป็นมหายาน หรือเถรวาท หรือเป็นวัชรยาน ก็รู้กันทั้งนั้น


    • Update : 16/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch