หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา /2
    รักษาพระไตรปิฎก
    ทำให้พุทธบริษัทมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระพุทธศาสนา


    ก่อนจะปรินิพพานพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายทั้งปวง คือพระภิกษุ ทั้งเถระ ทั้งมัชฌิมะ ทั้งนวกะ ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ถือพรหมจรรย์ และที่เป็นผู้ครองเรือนทั้งหมด ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ คือ

    ๑. ต้องเป็นผู้

    ก) มีความรู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี และ
    ข) ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ตรง เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ

    ๒. นอกจากรู้เข้าใจเอง และปฏิบัติได้ดีแล้ว ยังสามารถบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย

    ๓. เมื่อมีปรัปวาทเกิดขึ้น คือ คำจ้วงจาบสอนคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ก็สามารถชี้แจงแก้ไขได้ด้วย

    ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถอย่างนี้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น มารก็มากราบทูลว่า เวลานี้พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติพร้อมอย่างที่พระองค์ได้ตรัสเหมือนกับเป็นเงื่อนไขไว้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น จึงทรงรับที่จะปรินิพพาน โดยทรงปลงพระชนมายุสังขาร

    พุทธดำรัสนี้ ก็เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร ซึ่งก็ตอบได้เลยว่า ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทที่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมาแล้ว เริ่มด้วยรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือถูกต้องตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

    พระธรรมวินัยนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยก็อยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจะเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ ก็โดยมีพระไตรปิฎก และเรียนรู้เข้าใจพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกนี้แหละ เป็นอันว่า ในแง่นี้พระไตรปิฎกก็เป็นหลักของพุทธบริษัท ต้องอยู่คู่กับพุทธบริษัท โดยเป็นฐานให้แก่พุทธบริษัท ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงพระศาสนา


    รักษาพระไตรปิฎกไว้เป็นฐานของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

    อีกแง่หนึ่ง ขอให้มองว่าพระพุทธศาสนานี้คืออะไรบ้าง เราพูดกันว่า พระพุทธศาสนานี้ ตัวแท้ตัวจริงถ้าสรุปง่ายๆ ก็เป็น ๓ ดังที่เรียกว่าเป็นสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ พระศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

    ปริยัติ ก็คือ พุทธพจน์ที่เรานำมาเล่าเรียนศึกษา พุทธพจน์ที่เราจะเล่าเรียนนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พุทธพจน์ก็ไม่สามารถมาถึงเราได้ การที่ท่านสังคายนา ก็คือนำพุทธพจน์มารวมไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกนี่เอง พุทธพจน์ที่รวบรวมไว้เหล่านี้นี่แหละ เป็นปริยัติที่เราเล่าเรียน

    ปริยัติเป็นผลจากปฏิเวธ และเป็นฐานของการปฏิบัติ

    ที่ว่า ปริยัติเป็นผลมาจากปฏิเวธนั้น หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเวธ คือทรงบรรลุผลการปฏิบัติของพระองค์แล้ว จึงทรงนำประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์นั้น มาเรียบเรียงร้อยกรองสั่งสอนพวกเรา คือทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยไว้ คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน

    ปริยัติที่เป็นผลจากปฏิเวธนั้น หมายถึงปฏิเวธของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือ ผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเท่านั้น ไม่เอาผลการปฏิบัติของโยคี ฤาษี ดาบส นักพรต ชีไพร อาจารย์ เจ้าลัทธิ หรือศาสดาอื่นใด

    ที่ว่า ปริยัติเป็นฐานของการปฏิบัติ ก็คือ ถ้าไม่ได้เล่าเรียนปริยัติ ไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติก็เขว ก็ผิด ก็เฉไฉ ออกนอกพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิด ก็ได้ผลที่ผิด หลอกตัวเองด้วยสิ่งที่พบซึ่งตนหลงเข้าใจผิด ปฏิเวธก็เกิดขึ้นไม่ได้

    ถ้าไม่มีปริยัติเป็นฐาน ปฏิบัติและปฏิเวธก็พลาดหมด เป็นอันว่าเหลวไปด้วยกัน พูดง่ายๆ ว่า จากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า ก็มาเป็นปริยัติของเรา แล้วเราก็ปฏิบัติตามปริยัตินั้น เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็บรรลุปฏิเวธอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไปพระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ยังคงอยู่

    ปริยัติ ที่มาจากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า และเป็นฐานแห่งการปฏิบัติของพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนี้แหละ ฉะนั้น มองในแง่นี้ก็ได้ความหมายว่า ถ้าเราจะรักษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไว้ ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกนั่นเอง

    ตกลงว่า ในความหมายที่จัดแบ่งตัวพระศาสนาเป็นสัทธรรม ๓ หรือบางทีแยกเป็นศาสนา ๒ คือ ปริยัติศาสนา กับปฏิบัติศาสนา นั้น รวมความก็อยู่ที่พระไตรปิฎกเป็นฐาน จึงต้องรักษาพระไตรปิฎกไว้ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกได้ ก็รักษาพระพุทธศาสนาได้


    รักษาพระไตรปิฎกไว้ได้ พระรัตนตรัยจึงจะยังปรากฏอยู่

    แม้แต่จะมองในแง่พระรัตนตรัย เราก็เห็นว่าพระไตรปิฎกนี้เป็นที่รักษาพระรัตนตรัยอีกเช่นกัน เราบอกว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหลักแห่งความเชื่อหรือหลักแห่งศรัทธา

    ๑. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้า แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เราก็มีพุทธพจน์ตรัสไว้อย่างที่ได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมวินัยก็อยู่ในพระไตรปิฎก แสดงว่า พระศาสดาของเรายังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ และอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ดังที่บอกแล้วว่าพระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้า

    ๒. พระไตรปิฎกทำหน้าที่ของพระธรรม เรารู้จักพระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จากพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยนั้น เราเรียกสั้นๆ ว่า พระธรรม เวลาเราจะแสดงอะไรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม เราก็เอาพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นเครื่องหมายของพระธรรม เพราะพระธรรมอยู่ในพระไตรปิฎก

    ๓. พระไตรปิฎกเป็นที่รองรับพระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นเกิดจากพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก หมายความว่า พระภิกษุทั้งหลายที่รวมเป็นภิกขุสังฆะคือภิกษุสงฆ์นั้น บวชขึ้นมา และอยู่ได้ด้วยพระวินัย

    วินัยปิฎกเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ กติกา คือ พุทธบัญญัติที่รักษาไว้ซึ่งภิกขุสังฆะ สงฆ์อยู่ได้ด้วยวินัย วินัยนั้นเป็นที่ก่อกำเนิดและเป็นที่ดำรงไว้ซึ่งสังฆะ และสังฆะนั้นก็ทำหน้าที่เป็นผู้ที่จะรักษาสืบทอดพระศาสนา สังฆะจึงผูกพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับพระไตรปิฎก

    รวมความว่า พระรัตนตรัย ต้องอาศัยพระไตรปิฎกเป็นที่ปรากฏตัวแก่ประชาชนชาวโลก เริ่มตั้งแต่พุทธศาสนิกชนเป็นต้นไป พระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นที่ปรากฏของพระรัตนตรัย ดังนั้น การธำรงพระไตรปิฎกจึงเป็นการธำรงไว้ซึ่งพระรัตนตรัย ซึ่งก็คือการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา


    • Update : 16/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch