หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    จิตสำนึกของสังคมไทย/6
    ใฝ่สูง คืออะไร ใฝ่สูงก็คือใฝ่ธรรม ใฝ่ธรรมเป็นอย่างไร ก็คือความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่ชีวิต ให้แก่สังคม อยากจะทำให้สังคมมีความสงบสุข มีสันติภาพ มีความเจริญก้าวหน้า มีความดีงามทั้งหลาย

    เด็กของเรามีไหมความใฝ่สูงอันนี้ ไม่มี ถ้ามี ก็หายากอย่างยิ่ง เพราะสังคมของเราสอนเขาให้มีแต่ความใฝ่ประโยชน์ส่วนตัว ต้องการให้ตัวยิ่งใหญ่ ให้หาลาภ ให้แย่งชิงผลประโยชน์กัน ให้ร่ำรวยที่สุด แล้วเราก็เข้าใจว่าอย่างนี้แหละเป็นความใฝ่สูง

    เมื่อเอาความใฝ่ต่ำเป็นใฝ่สูงเสียแล้ว มันก็หลงผิด ทิฏฐิก็ผิด มันจะไปดีได้อย่างไร แล้วความใฝ่สูงที่แท้จริงก็เลยถูกมองข้ามไป จนมองกันไม่เห็น

    "มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง" มีเมื่อไร คนไทยจะเป็นชาวพุทธได้อย่างดี

    ชาวพุทธจะต้อง มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง นี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาใช่หรือเปล่า ขอให้พิจารณาดู

    พระพุทธศาสนาสอนให้เรามองกว้าง มองกว้างอย่างไร คือไม่มองอยู่แค่ตัวเอง ไม่มองแค่สังคมของเรา แต่ให้มองทั้งโลก ให้มีปัญญามองเห็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยในสรรพสิ่ง ในธรรมชาติทั้งหมด

    เรามองว่า ธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นระบบแห่งปัจจัยสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้มีความสัมพันธ์ พึ่งพาอิงอาศัยและส่งผลกระทบต่อกันทั้งสิ้น และให้มีเมตตากรุณา ดำเนินชีวิตและบำเพ็ญกิจต่างๆ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลโลก

    มองกว้างนั้น ถ้ายังมองออกไปไม่ถึงทั้งโลกหรือถึงอารยธรรมของมนุษยชาติ ก็ขอให้มีจิตสำนึกทางสังคม ในระดับประเทศชาติของตัวเองก่อน เป็นการค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ พัฒนากันไป ขยายทัศนะออกไป ไม่ใช่มองอยู่แค่ตัวเอง และผลประโยชน์ของตัว หรือเอาแต่กลุ่มแต่พวกของตัว แล้วก็กระทบกันไป กระแทกกันมา อยู่แค่นั้น

    จิตสำนึกทางสังคมนั้น ตอนแรกเอาแค่ให้มีความรักบ้านเมือง มีความซาบซึ้งภูมิใจในความดีงามของชุมชนหรือสังคมของตน ซึ่งจะแสดงออกมาในจิตใจ เช่น เมื่อเห็นคนต่างประเทศเข้ามาในบ้านเมืองของตน ก็คิดนึกว่า ถ้าคนต่างชาติเหล่านั้นเดินทางไปในประเทศของเรา ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด

    ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามในบ้านเมืองของเรา

    และประชาชนที่อยู่ดีมีสุขมีน้ำใจ เขาก็คงจะชื่นชม

    แม้แต่ไม่เห็นคนต่างชาติเหล่านั้น แต่ตนเองเดินทางไปในบ้านเมืองของตัว มองเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ทัศนียภาพในธรรมชาติแวดล้อมที่ยังคงอยู่ในสภาพอันดี และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี แล้วเกิดความรู้สึกชื่นใจ อยากให้คนต่างบ้านต่างเมืองมาเห็น และนึกว่าถ้าเขามาเห็นแล้ว เขาก็จะชื่นชม เมื่อนึกไป และทำให้เป็นไปจริงได้อย่างนี้แล้ว ก็เกิดความปีติ เอิบอิ่มปลาบปลื้มใจ ภูมิใจในประเทศชาติบ้านเมือง

    ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ถ้ามีขึ้นเกิดขึ้นเสมอๆ ก็จะชักนำจิตใจและความคิดไปในทางที่ดีงาม และสร้างสรรค์ จะทำให้ชีวิตและสังคมเจริญพัฒนาไปในทางที่ดีงามถูกต้อง สำหรับมนุษย์ปุถุชน ได้แค่นี้ก็นับว่าดีนักหนาแล้ว

    พระพุทธศาสนาสอนให้ คิดไกลไปข้างหน้า จนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด ให้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน โดยมีปัญญาสืบค้นหยั่งรู้เหตุปัจจัยยาวไกลในอดีต และมีความไม่ประมาทที่จะป้องกันความเสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยให้พร้อมที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามในอนาคต บนฐานแห่งชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน ที่จัดการกับปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยการพัฒนาตนก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ให้ชีวิตงอกงามสมบูรณ์จนถึงพระนิพพาน นี่คือคิดไกลอย่างยิ่ง

    ใฝ่สูง ก็คือใฝ่ธรรม มุ่งแสวงหาความรู้ความเข้าใจให้เข้าถึงความจริงแท้ ปรารถนาจะสร้างสรรค์ความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่สังคม ให้ชีวิตและสังคมบรรลุความดีงามประเสริฐเลิศด้วยธรรม ให้โลกก้าวพ้นการเบียดเบียน ขึ้นสู่สันติสุข เหมือนดังพระโพธิสัตว์ที่ตั้งปณิธาน ใฝ่ปรารถนาโพธิญาณ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งหวังบรมธรรม อย่างนี้จึงจะเรียกว่าใฝ่สูง

    ความใฝ่สูง คือใฝ่ธรรม ที่เป็นหลักการใหญ่ประจำใจของคนทั้งสังคม คือ การถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพธรรม บูชาธรรม

    คนในสังคมนี้จะต้องเชิดชูบูชาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ยึดเอาธรรม คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามนั้นเป็นบรรทัดฐาน

    ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความใฝ่ธรรมได้อย่างนี้ ก็ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นสังคมที่มีอุดมธรรม ถ้าคนไทยมีอุดมธรรมแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เลวร้ายทั้งหลายจะหมดไป และความเจริญพัฒนาที่แท้อันพึงปรารถนาจะตามมาอย่างแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเราจะต้องสอนกันให้ถูกต้อง แต่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้องเสียก่อน ต้องมองกว้าง คิดไกล และ ใฝ่สูง ในความหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

    อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องนำมาย้ำกัน นี่คือปัญหาสังคมไทยที่จะต้องแก้ไข และคือเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้

    เมื่อรู้ว่าสังคมไทยเป็นอย่างนี้ และควรจะทำให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างนั้นแล้ว

    เราจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร

    ขอสรุปความที่กล่าวมาเสียก่อนว่า เวลานี้สังคมไทยเรามีความสับสน และพร่ามัวมาก ต่างคนต่างไปคนละทิศละทาง

    แม้แต่ที่บอกว่านับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องพูดว่า นับถือไปอย่างนั้นเอง นับถือเพียงถ้อยคำที่พร่ำแต่วาจา วาจาก็พร่ำไปว่าฉันนับถือพระพุทธศาสนา แต่เอาจริงแล้วเป็นการนับถือที่ไม่แท้ไม่จริง เอาอะไรก็ไม่รู้มานับถือ

    ความพร่าความมัวความสับสนนี้เกิดจากการที่ไม่มีอะไรเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต และไม่มีอะไรเป็นจุดหมายรวมของชาติของสังคมใช่หรือเปล่า

    เราขาดอุดมการณ์ที่จะเป็นที่รวมแห่งความคิดจิตใจ เราขาดอุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมและของชาติ

    เลิกเสียที ความสับสนพร่ามัว และความขลาดกลัวที่เหลวไหล

    แน่วแน่ ชัดเจน มั่นใจ คือทางออกอันเดียวของสังคมไทย

    อุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมนี้มีความสำคัญมาก เวลานี้เรามีอุดมธรรมนั้นหรือเปล่า เราพูดกันว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ๆ บอกว่านี้เป็นอุดมการณ์ของเรา แต่เรามีความชัดเจนในอุดมการณ์นี้หรือเปล่า

    ความจริง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยังไม่ใช่อุดมการณ์สูงสุด อุดมการณ์สูงสุดจะต้องเป็นหนึ่งเดียว หมายความว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้น จะต้องอิงอยู่บนอุดมการณ์สูงสุดนั้นอีกทีหนึ่ง และนั่นคืออุดมธรรม อุดมธรรมนั้นจะเป็นแกนร้อยชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทั้งสามให้เป็นหนึ่งเดียวอีกทีหนึ่ง จะเป็นสามอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ชัดเจน มันพร่า

    ฉะนั้น ต้องถือว่าสิ่งนี้คนไทยขาดมาก คือการขาดอุดมการณ์สูงสุด ขาดอุดมการณ์ที่เป็นศูนย์รวมแห่งความคิดจิตใจที่เป็นหนึ่งเดียว และให้เป็นหนึ่งเดียว คือขาดอุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมหรือของชาติไทย

    เราพูดว่า พุทธศาสนานี้คนไทยส่วนใหญ่นับถือ เป็นศาสนาของคนไทย หรือเป็นศาสนาประจำชาติ แต่หลายคนจะแย้งว่า คนไทยนับถือพุทธศาสนา แต่ทำไมประเทศไทยจึงเป็นอย่างนี้ คือเต็มไปด้วยปัญหาอย่างที่พูดมาเมื่อกี้นี้ ที่ว่าสังคมของเราเด่นในการมีปัญหาที่ต่ำทรามของโลก คนไทยมีชื่อเป็นอันดับต้นๆ ในเรื่องที่เป็นความต่ำทรามเหล่านั้น แล้วประเทศไทยเรานับถือพุทธ ทำไมประเทศไทยจึงเป็นอย่างนี้เล่า

    หลายคนจะมาติเตียนพุทธศาสนา คล้ายๆ จะให้พระพุทธศาสนารับผิดชอบ เป็นทำนองว่า เพราะนับถือพุทธศาสนาคนไทยจึงแย่ คนไทยจึงตกต่ำ ถ้าแค่นับถือกันธรรมดายังแย่อย่างนี้ ยิ่งไปบัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติเข้าด้วยจะมิยิ่งแย่ใหญ่หรือ คนไทยนับถือพุทธศาสนา ขนาดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญยังต่ำทรามขนาดนี้แล้ว

    ถ้าบัญญัติจะขนาดไหน

    ถ้าจะมาติเตียนกันอย่างนี้ ก็จะต้องให้ใช้ปัญญาพิจารณากันสักหน่อย ขอถามสัก ๓ อย่างว่า

    ๑. คนไทยนับถือพุทธศาสนากันจริงหรือเปล่า หรือเป็นอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือนับถือเพียงถ้อยคำ พร่ำแต่วาจา ขอให้สำรวจกันให้จริง

    ๒. คนไทยรู้พุทธศาสนากันจริงหรือเปล่า ขอให้สำรวจดูซิว่า คนไทยรู้พุทธศาสนาแค่ไหน คนไทยทั่วไปตอบว่าอะไรเป็นพุทธศาสนา

    ๓. คนไทยมีความตั้งใจจริงไหมที่จะเอาพุทธศาสนามาใช้ในการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์สังคม และได้เอามาใช้หรือเปล่า

    ถ้าได้ทำตามนี้แล้วสิ เราจึงจะบอกว่าพระพุทธศาสนาจะต้องรับผิดชอบ ถ้าคนไทยนับถือพุทธศาสนาจริง รู้พุทธศาสนา และได้มีความตั้งใจที่จะนำเอาพระพุทธศาสนามาใช้ในการแก้ปัญหาสังคมและสร้างสรรค์ประเทศชาติ ถ้าได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วคนไทยยังแย่ จึงมีความชอบธรรมที่จะพูดว่าพุทธศาสนาทำให้ประเทศไทยต่ำทรามอย่างนี้ และเราจะยอมรับ แต่ขอให้ตอบคำถาม ๓ ข้อนี้ให้ได้เสียก่อน

    เพราะฉะนั้น จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ถ้าจะให้พุทธศาสนารับผิดชอบที่ว่าประเทศไทยนี้นับถือพุทธศาสนาแล้วเจริญหรือเสื่อม พุทธศาสนาจะต้องเป็นอุดมการณ์ของชาติ แล้วคนไทยได้ทำอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าได้ทำอย่างนั้นแล้วไม่สำเร็จ ค่อยว่ากัน

    เพราะฉะนั้น ตอนนี้จึงมีปัญหาว่า ในท่ามกลางความพร่ามัวของสังคมไทย ที่คนไทยกระจัดกระจายสับสน ไม่มีอะไรชัดเจน ไม่มีจุดรวมใจ ไม่มีเป้าหมายสูงสุด อย่างที่เป็นอยู่นี้ เราจะเอาอย่างไร เราจะปล่อยสังคมไทยให้โทรมและทรามอยู่อย่างนี้ เราจะอยู่กันไปวันๆ ต่างคนต่างหาผลประโยชน์ของตัวไปคนละทิศละทาง ปล่อยให้ปัญหาร้ายๆ ทั้งหลายโหมกระพือรุมล้อมเข้ามาอย่างนี้หรือ หรือจะพยายามแก้ไข อันนี้คือคำถาม

    และถ้าจะแก้ไข เห็นด้วยไหมที่จะต้องมีแนวทางในการแก้ไขอย่างที่กล่าวมานั้น คือจะต้องมีจุดหมายสูงสุดเป็นที่รวมใจ หรือมีสิ่งที่ยึดเป็นอุดมการณ์อย่างที่กล่าวมา แล้วเอาสิ่งนี้มาเป็นแกนให้แก่อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่เราพูดถึงกันอย่างพร่ามัวนั้นอีกชั้นหนึ่ง ถ้าไม่มีแกนอันนี้ แม้แต่อุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็จะตื้อ ไม่แจ่มจ้า

    เวลานี้ใครตอบได้ว่ามีความชัดเจนในเรื่องนี้

    หรือพูดกันไปอย่างนั้นเอง


    • Update : 15/6/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch