หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒/9
    คำสั่งรัฐบาลฝรั่งเศสในการเจรจาสงบศึก
                เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ได้ไปแจ้งแก่ ม.เดอ แวลล์ ว่า รัฐบาลไทยยอมรับคำขาดลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม และข้อรับประกันเพิ่มเติม ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม แล้ว ม.เดอ แวลล์ จึงได้มีโทรเลขสั่งการไปยัง ม.ปาวี เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม มีความว่า
                ".....รัฐบาลไทยยอมรับข้อรับประกันเพิ่มเติมที่ฝรั่งเศสเรียกร้องไปตามบันทึก ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม กรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ ก็คงจะได้แจ้งแก่ตัวท่านเองว่า รัฐบาลไทยยอมรับแล้ว เมื่อท่านได้แลกเปลี่ยนสาส์นเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการยอมรับคำขาด และข้อรับประกันเพิ่มเติมกับกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ เป็นการถูกต้องแล้ว ให้ท่านแจ้งแก่ นายพลเรือฮูมานน์ให้เลิกการปิดอ่าว และให้คงยึดปากน้ำและเมืองจันทบุรีไว้ตามเดิม..... อนุญาตให้ไปประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ได้ ม.เลอมีร์เดอวิเลร์ส จะมาถึงที่นั่นในไม่ช้า....."
                ม.เดอ แวลล์ได้มีโทรเลขด่วนไปยัง ม.เลอมีร์ เดอริเลร์ส ที่กำลังเดินทางไปถึงเมืองเอเดน มีความว่า
                "ประเทศไทยได้ยอมรับคำขาด รวมทั้งได้ยอมรับข้อประกันเพิ่มเติม ขอให้ท่านตรงไปที่กรุงเทพ ฯ โดยเรือลำใดลำหนึ่งของเรา...ที่ท่านจะต้องจัดการทำความตกลงกับรัฐบาลไทย คือ ตามธรรมดาจะต้องคัดเขียนข้อความในคำขาดที่ฝ่ายไทยได้รับแล้วลงเป็นสัญญา เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องเพิ่มเติมข้อความที่ท่านเห็นสมควรสำหรับจะให้เป็นเครื่องประกันความสัมพันธ์ ในระหว่างเรากับไทย ซึ่งมีมาแล้วด้วยดี และให้พยายามสอดส่องถึงความยากอันจะพึงมีมาในวันข้างหน้าด้วย"
                วันที่ ๘ สิงหาคม ม.ปาวี ได้โดยสารเรือ อาลูแอตต์ (Alouette) เข้าไปประจำอยู่ ณ สถานฑูตฝรั่งเศสตามเดิม
                วันที่ ๙ สิงหาคม กองเรือฝรั่งเศสทั้งหมดเดินทางกลับไปไซ่ง่อน คงเหลือแต่เรือ อาลูแอตต์ คงอยู่ที่สถานฑูตฝรั่งเศส ส่วนเรือลูแตง คงประจำอยู่กับกองทหารฝรั่งเศสที่ยึดจันทบุรี เรือปาแปง (Papin) ไปรับ ม.เลอมีร์เดอวิเลร์สที่สิงคโปร์ ม.เลอมีร์ เดอวิเลร์ส เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๑๖ สิงหาคม และได้เข้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม เวลาบ่าย
    ฝรั่งเศสเลิกปิดอ่าวไทย
                ประกาศเลิกปิดอ่าวไทยมีความว่า
                "ข้าพเจ้า นายพลเรือตรี ฮูมานน์ ผู้บัญชาการกองเรือฝรั่งเศสในอ่าวไทย ผู้ลงนามข้างท้าย โดยอาศัยอำนาจที่ข้าพเจ้ามีอยู่ ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
                การปิดอ่าวฝั่ง และเมืองท่าประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่..... ได้เลิกแล้วตั้งแต่ วันที่ ๓ สิงหาคม ค.ศ.๑๘๙๓ เวลา ๑๒.๐๐ น."
    สัญญาสงบศึก

                หนังสือสัญญา ทำเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ระหว่างรัฐบาลแห่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
                สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามกับประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มีความปรารถนาจะระงับข้อพิพาทต่าง ๆ..... ระหว่างประเทศทั้งสอง และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี..... จึงได้แต่งตั้งผู้มีอำนาจเต็มทั้งสองฝ่าย
                ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์ ฯ..... เสนาบดีว่าการต่างประเทศ
                ฝ่ายประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ม.ชาร์ลส์ มารี เลอมีร์เดอ วิเลร์ส..... อัครราชฑูตผู้มีอำนาจเต็มชั้นที่หนึ่ง และสมาชิกรัฐสภา
                .....ได้ตกลงกันทำสัญญาเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
                    ข้อ ๑  รัฐลาลสยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น
                    ข้อ ๒  รัฐบาลสยามจะไม่มีเรือใหญ่น้อยติดอาวุธไว้ใช้ หรือให้เดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ภายในเขตที่ระบุไว้ในสัญญาข้อต่อไป
                    ข้อ ๓  รัฐบาลสยาม จะไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัสมี ๒๕ กิโลเมตร
                    ข้อ ๔  ภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ นั้น กำลังตำรวจจะมีไว้ตามธรรมเนียมการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ และมีจำนวนได้เพียงเท่าที่จำเป็น กับจะไม่จัดตั้งกองทหารประจำการหรือไม่ประจำการใด ๆ ไว้ ณ ที่นั้นเลย
                    ข้อ ๕  รัฐบาลสยามรับรองว่า จะเปิดการเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสด้วยเรื่องระเบียบการศุลกากร และการค้าภายในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ภายในกำหนด ๖ เดือนเป็นอย่างช้า และให้มีการแก้ไขสัญญา ปี ค.ศ.๑๘๕๖ ด้วย รัฐบาลสยามจะไม่เก็บภาษีใด ๆ ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ จนกว่าจะได้มีการตกลงกันในข้อนี้ และรัฐบาลฝรั่งเศสจะได้กระทำการตอบแทนเช่นเดียวกันแก่นานาสินค้าที่ผลิตได้ในเขตดังกล่าวนี้
                    ข้อ ๖  ความเจริญแห่งการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือตั้งท่าเรือ และจอดทำที่ไว้ฟืนและด่านบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลสยามรับรองว่าเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสร้องขอมาแล้ว ก็จะให้ความสดวกทั้งปวงเท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับการนี้
                    ข้อ ๗  บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรีในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ ๓ ในเมื่อหนังสือเดินทางที่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสให้ไว้ ส่วนราษฎรที่อยู่ในเขตดังกล่าวนี้ ก็จะได้รับสิทธิด้วยเช่นกัน
                    ข้อ ๘  รัฐบาลฝรั่งเศสสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะตั้งกงสุล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ เท่าที่เห็นสมควร เพื่อรักษาประโยชน์ของคนในปกครอง เช่นที่โคราช และที่เมืองน่าน เป็นต้น
                    ข้อ ๙  ในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น ที่จะใช้เป็นหลัก
                    ข้อ ๑๐  สัญญาฉบับนี้จะต้องได้รับสัตยาบันภายในสี่เดือน เป็นอย่างช้า นับแต่วันที่ได้ลงนาม
    อนุสัญญาต่อท้ายสัญญาสงบศึก
                    อนุสัญญาทำเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒ ผนวกต่อท้ายหนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยาม กับกรุงฝรั่งเศส
                    ผู้ที่มีอำนาจเต็มในการทำหนังสือสัญญาทั้งสองฝ่าย ได้ตกลงกันทำหนังสือสัญญาฉบับนี้ไว้ เพื่อเป็นมาตรการ และวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาสงบศึกที่ได้ลงนามในวันนี้ และตามคำขาดที่ได้ยอมรับเมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม ที่แล้วมา
                    ข้อ ๑  กองทหารกองสุดท้ายของไทย บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จะต้องถอนออกไปอย่างช้าที่สุดในหนึ่งเดือนนับจากวันที่ ๕ กันยายน
                    ข้อ ๒  บรรดาป้อมปราการที่อยู่ในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้นั้นจะต้องรื้อถอนให้หมดสิ้น
                    ข้อ ๓  ผู้เป็นตัวการก่อเหตุร้ายที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วนนั้น เจ้าพนักงานฝ่ายสยาม จะต้องนำตัวมาพิจารณาลงโทษ ผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสคนหนึ่งจะมาทำการพิจารณาพิพากษาด้วย และจะดูแลการปฏิบัติในการลงโทษที่พิพากษาไว้ รัฐบาลฝรั่งเศสคงสงวนไว้ ซึ่งสิทธิที่จะเห็นชอบด้วย เมื่อการลงโทษนั้นสมควรแก่รูปคดี และถ้าไม่เห็นชอบด้วยแล้ว จะได้ร้องขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นโดยศาลผสม ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้จัดการตั้งตุลาการ
                    ข้อ ๔  รัฐบาลสยามจะต้องส่งมอบบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศส คนญวน คนลาว ที่อยู่ทางฝั่งซ้าย รวมทั้งคนเขมรที่จับกุมเอาไว้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ตามที่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ จะได้กำหนด หรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานฝรั่งเศสประจำพรมแดน รัฐบาลสยามจะไม่ทำการขัดขวางการเดินทางกลับถิ่นเดิมของผู้คนที่เคยอยู่ทางฝั่งซ้าย
                    ข้อ ๕  ผู้แทนเสนาบดีว่าการต่างประเทศคนใดคนหนึ่ง จะต้องนำบางเบียนแห่งทุ่งเชียงคำ และพรรคพวกของเขา พร้อมทั้งเครื่องอาวุธและธงฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายสยามยึดคร่าไว้นั้น มาส่งมอบให้สถานฑูตฝรั่งเศส
                    ข้อ ๖ รัฐบาลฝรั่งเศสจะคงยึดครองเมืองจันทบุรีไว้ จนกว่ารัฐบาลสยามจะได้ปฏิบัติตามนัยแห่งอนุสัญญานี้แล้ว เช่นการถอนทหารกลับมาเสร็จสิ้นแล้ว และมีความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นแล้ว ทางฝั่งซ้ายและในเขตที่ระบุไว้ในข้อ ๓ แห่งสัญญาที่ได้ลงนามกันในวันนี้
    บันทึกวาจาต่อท้ายอนุสัญญา ที่ผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายสยาม ได้ลงนามเมื่อ วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๒
                พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถถอนกองทหารที่อยู่ห่างไกลมาก ให้พ้นกำหนดในวันที่ ๕ ตุลาคมได้ เพราะมีสิ่งที่จะทำไปไม่ได้เกี่ยวกับการขนย้ายสิ่งของ ม.เลอมีร์ เดอวิเลร์ส ตอบว่า ควรที่รัฐบาลสยามจะขอระยะเวลาเสียใหม่ โดยแจ้งตำบลที่ตั้งกองทหาร และระยะเวลาอย่างมากที่ต้องใช้ ก็คงจะได้รับการผ่อนผันโดยแน่นอน ตามความจำเป็นที่ควรขยายระยะเวลานั้นออกไปอีก
                พระเจ้าน้องยาเธอ รับสั่งถามว่า วิธีดำเนินการตามความในข้อ ๒ นั้น จะต้องรื้อป้อมปราการโบราณที่ไม่ใช้แล้ว และไม่เกี่ยวกับราชการทหารมานานปีแล้ว และมีคุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ แต่อย่างเดียวเท่านั้น เช่นกำแพงบ้านเจ้าเมืองพระตะบอง ฯลฯ นั้นด้วยหรือ
                ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า ป้อมปราการนั้นหมายถึงการก่อสร้างทางทหารสำหรับใช้ในการป้องกัน และมิได้หมายถึงกำแพงเมือง ซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
                พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า ศาลอุธรณ์ตามที่กล่าวในข้อ ๓ นั้น จะตั้งอยู่ใน ณ ที่ใด
                ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า จะตั้งที่กรุงเทพ ฯ
                พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า คำว่า "ผสม" นั้น หมายความว่าอย่างไร
                ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า หมายถึงศาลผสม ฝรั่งเศส - ไทย
                พระเจ้าน้องยาเธอทรงตั้งข้อสังเกตว่า วิธีดำเนินการเช่นนี้ จะมิเป็นเหตุให้คนในบังคับสยามขาดจากอำนาจศาล ตามธรรมเนียมของเขาไปหรือ
                ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า ประเทศสยามเป็นประเทศที่มีอำนาจพิพากษาคดีความ และการมีศาลผสมนั้น ก็ได้มีมาแล้วมิใช่เพิ่งคิดทำขึ้นใหม่
                ตามความในข้อ ๕  แห่งอนุสัญญานั้น พระเจ้าน้องยาเธอทรงแจ้งให้ทราบว่า บางเบียนคงจะเข้าไปในดินแดนฝรั่งเศสแล้ว และด้วยเหตุนี้ จะไม่สามารถนำตัวข้าราชการผู้นี้มามอบให้แก่ราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ได้
                ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า หากบางเบียนคงอยู่ในแดนฝรั่งเศส ความข้อนี้ก็เป็นอันตกไปเอง การที่ยังรักษาความข้อนี้ไว้ ก็เพราะยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลสยาม ควรจะจัดการให้ข้าราชการผู้นี้ กลับคืนไปสู่แดนฝรั่งเศส ฉะนั้นจึงควรมีหนังสือแจ้งไปให้ทราบว่า บางเบียนได้ออกจากแดนสยามที่ตำบลใด เพื่อที่จะสามารถทราบตำบลที่อยู่ของเขา ความในข้อนี้นำมาใช้กับล่าม และทหารญวนด้วย
                ในกรณีที่บางเบียน และบรรดาคนในบังคับฝรั่งเศสอื่น ๆ ยังตกค้างอยู่ในแดนสยาม ความในข้อ ๔ นี้คงบังคับใช้ด้วย
                ตามความในข้อ ๖  พระเจ้าน้องยาเธอ ฯ รับสั่งขอคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า "ความสงบเรียบร้อย" ผู้มีอำนาจเต็มตอบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสขอสงวนความข้อนี้ไว้โดยเห็นว่าอาจมีความยุ่งยากหรือการจลาจลที่คนไทยจะไปก่อเหตุขึ้น
                พระเจ้าน้องยาเธอ ทรงเกรงว่า ความในข้อนี้จะเป็นเหตุให้ยกขึ้นกล่าวอ้างได้เสมอว่า ยังไม่มีความสงบเรียบร้อย โดยคนไทยเป็นผู้ไปก่อเหตุขึ้น
                ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส กล่าวว่าสัญญาและอนุสัญญาสงบศึกนั้น กระทำไปด้วยความเชื่อถือต่อกัน และหลักการนี้ครอบคลุมงานของผู้มีอำนาจเต็ม หากจะมีการโต้แย้ง ไม่ถือหลักการนี้แล้วการเจรจาปรองดองกันก็จะมีขึ้นไม่ได้เลย
                พระเจ้าน้องยาเธอรับสั่งถามว่า จะเชื่อถือได้อย่างไรว่าเมืองจันทบุรีจะเลิกถูกยึดครอง ในเมื่อได้ถอนทหารไทยกลับมาหมดแล้ว
                ม.เลอมีร์ เดอ วิเลร์ส ตอบในทำนองปฏิเสธ อ้างว่าก่อนอื่นรัฐบาลฝรั่งเศสจะต้องมั่นใจว่า รัฐบาลสยามให้ปฏิบัติแล้วซึ่งวิธีดำเนินการตามคำขาดด้วยความสุจริต
                พระเจ้าน้องยาเธอทรงถามว่า จะพิสูจน์ความสุจริตของรัฐบาลสยามได้อย่างไร เพื่อให้มีการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี
                ม.เลอ มีร์ เดอ วิเลร์ส ตอบว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่มีความประสงค์จะเอาเมืองจันทบุรีไว้ และถือว่าประโยชน์อันแท้จริงของฝรั่งเศสนั้นคือรับถอนทหารกลับไปโดยด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และนอกจากนี้แล้วก็คือปัญหาของการเชื่อถือต่อกัน
    ไทยเสียดินแดนฝั่งขวา แม่น้ำโขง


    1  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๐ (ร.ศ.๘๖)
    2  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ (ร.ศ.๑๐๗)
    3  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒)
    4  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ (ร.ศ.๑๒๓)
    5  ตกไปเป็นของฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ (ร.ศ.๑๒๖)

                ไทยได้ปฏิบัติตามคำบังคับต่าง ๆ ครบถ้วนทุกประการแล้ว แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมออกจากจันทบุรีจนเวลาล่วงไป ๑๐ ปี ฝรั่งเศสก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะออกไปจากจันทบุรี ฝ่ายไทยจึงต้องขอแลกเปลี่ยนกับฝรั่งเศส  ทำให้เกิดมีสัญญากับฝรั่งเศสขึ้นอีกสองฉบับ คืออนุสัญญา ลงวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๕ และอนุสัญญา ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๖

    • Update : 28/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch