หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/162

    ๕๑๖๓. หญ้าขัด  เป็นชื่อเรียกไม้พุ่มหลายชนิด สูง ๕๐ - ๑๒๐ ซม. กิ่งกลม รูปดาว ใบเดี่ยวเรียงเวียนรูปรี ถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกสีเหลืองอ่อน หรือสีเนื้อ ค่อนข้างขาว ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้ง แยกเป็นเลี้ยงผลรูปครึ่งทรงกลม
                        หญ้าขัด มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เกือบทุกส่วนใช้เป็นยาได้ รากใช้ขับเสมหะ ขับเลือด และรก แก้โรคไขข้อ โรคกระเพาะอาหาร ดีพิการ โรคปอด ปวดมดลูก แก้ไข้ แก้คลื่นเหียนอาเจียน สารสะกัดด้วยแอลกอฮอล์ ของหญ้าขัดมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในคน ใบตำพอกแก้บวม ขับปัสสาวะ แก้ไข้ เปลือกต้นให้ใยขาว และเหนียว ใช้ทำเชือกป่าน และทำกระสอบ          ๒๘/๑๘๐๓๖
                ๕๑๖๔. หญ้าถอดปล้อง  เป็นไม้ประเภทไม้ล้มลุก อายุหลายปีขึ้นเป็นกอสูงถึง ๑ เมตร หากอยู่ในน้ำลึกจะมีไหลยาว ๔ - ๖ เมตร และลอยน้ำ ลำต้นเป็นข้อและปล้อง มีรากออกตามข้อที่โคนภายในลำต้น ใบเดี่ยวเรียงสลับ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง แบบช่อแยกแขนง ผลรูปรี
                        หญ้าถอดปล้อง ใช้ทั้งต้นเป็นอาหารสัตว์ เดิมในชนบทบางแห่งใช้ไส้ภายในลำต้น ทำเป็นไส้ตะเกียง ปัจจุบันใช้ประดิษฐเป็นของประดับ หรือของเล่นต่าง ๆ          ๒๘/๑๘๐๔๘
                ๕๑๖๕. หนวดพราหมณ์   เป็นกล้วยไม้เจริญทางยอดขึ้นอิงอาศัยตามคบไม้ และกิ่งไม้ของไม้ต้นหลายชนิด มักขึ้นเป็นกระจุก ตั้งแต่ ๒ - ๓ ต้น จนถึงหลายสิบต้น ใบเป็นเส้นอวบกลมและยาว เรียงสลับซ้อนกันและห้อยลง ช่อดอกออกใกล้โคนต้น  เป็นช่อตั้งหรือเอน ดอกสีชมพู หรือชมพูอมม่วง เรียงเวียนรอบแกนช่อ ค่อนข้างแน่น ดอกบานทน และมีกลิ่นหอม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ         ๒๘/๑๘๐๔๙
                ๕๑๖๖. หนองคาย  จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขต ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแนวเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทย กับประเทศลาว ทิศใต้ติดต่อกับ จ.นครพนม จ.สกลนคร และ จ.อุดรธานี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.เลย มีพื้นที่ ๗,๓๓๒ ตร.กม.
                         ลักษณะภูมิประเทศ  ทางตอนเหนือ และตะวันออกของจังหวัด เป็นที่ราบชายฝั้งแม่น้ำโขง โดยตลอดมีความยาวของลำน้ำ ๓๒๙ กม. ถัดจากที่ราบชายฝั่งเข้ามาภายใน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลอนลาด และเนินเขาเตี้ย ๆ บริเวณที่เป็นภูเขา มีอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของจังหวัด ซึ่งมีทิวเขาภูพาน ทอดยาวผ่านจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ทางตอนใต้ของจังหวัดมีแม่น้ำสงคราม ไหลไปตามเส้นแบ่งเขต ระหว่าง จ.หนองคาย กับ จ.สกลนคร
                         ด้านประวัติศาสตร์  บริเวณที่ตั้งของ จ.หนองคาย มีเมืองโบราณหลายแห่ง ที่ขึ้นกับอาณาจักรล้านช้าง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองเวียงคุก อยู่บริเวณ อ.เมืองหนองคาย ติดต่อกับ อ.ท่าบ่อ เมืองลาหนอง อยู่บริเวณ อ.เมืองหนองคาย เมืองปากห้วย อยู่ที่ อ.โพนพิสัย และเมืองพานพร้าว อยู่ที่ อ.ศรีเชียงใหม่ ในสมัยธนบุรี ไทยได้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ เมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านช้างที่อยู่ทางฝั่างขวาของแม่น้ำโขง จึงตกเป็นของไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ กองทัพไทยยกไปตีเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง ในการทำศึกครั้งนั้นกองทัพไทยได้ยกกำลังมาตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายบกหวาน ซึ่งอยู่ติดกับหนองน้ำเรียกกันว่า บึงค่าย หรือหนองค่าย เสร็จศึกแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่แห่งนั้นเรียกชื่อว่า เมืองหนองค่าย ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็น เมืองหนองคาย
                        เมื่อกองทัพไทยยกกำลังไปปราบฮ่อรวมสองครั้งในปี พ.ศ.๒๔๑๘ และ พ.ศ.๒๔๒๘ เมื่อปราบฮ่อได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อไว้ที่เมืองหนองคาย
                        จ.หนองคาย มีปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดคือ บั้งไฟพญานาค มีลักษณะเป็นลูกไฟพุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงสู่อากาศสูง ๓๐ - ๕๐ เมตร บางลูกอาจสูงถึง ๑๐๐ เมตร แล้วหายวับไป ลูกไฟมีขนาดเล็กใหญ่ ตั้งแต่นิ้วหัวแม่มือจนถึงผลส้ม มีลักษณะเหมือนพลุที่พุ่งขึ้นมาจากน้ำ แต่ไม่มีเสียง ไม่มีเปลวเหมือนลูกไฟทั่ว ๆ ไป และไม่มีควัน มีสีแดงอมชมพู ไปถึงสีเขียวมรกต และเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาของทุก ๆ ปีเท่านั้น          ๒๘/๑๘๐๕๒
                ๕๑๖๗. หนองบัวลำภู  จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.อุดรธานี ทิศใต้ติดต่อกับ จ.ขอนแก่น ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.เลย มีพื้นที่ ๓,๘๕๙ ตร.กม.
                         ลักษณะภูมิประเทศ  ส่วนใหญ่เป็นแอ่งที่ราบ ซึ่งมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ทางด้านตะวันออกของจังหวัดมีทิวเขาภูพาน เป็นแนวแบ่งเขตกับ จ.อุดรธานี โดยตลอดจากเหนือไปใต้ ทางด้านทิศใต้มีลำน้ำพองเป็นเส้นแบ่งเขตกับ จ.ขอนแก่น โดยมีเขื่อนอุบลรัตน์สร้างกั้นลำน้ำนี้ ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ ๔๑๐ ตร.กม.
                         ด้านประวัติศาสตร์   จ.หนองบัวลำภู  เคยเป็นเมืองโบราณมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เป็นหลายชื่อตามพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์คือ เมื่อมีการตั้งเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ.๒๐๒๖ มีชื่อว่า เมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน ต่อมาเมืองนี้ได้ร้างไปสองครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๒๓๐๒ เสนาบดีเมืองล้านช้างสองคนคือ พระวอ และพระตา ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานขี้นใหม่ ได้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน แทนเมืองร้างที่มีอยู่เดิม และไม่ขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ ทางเวียงจันทน์ส่งกำลังมาปราบปรามหลายครั้ง และยึดเมืองนี้ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ และถูกเผาทำลาย พระวอได้มีหนังสือทูลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ขอพึ่งพระบรมเดชานุภาพในการส่งกองทัพไปปราบฝ่ายเวียงจันทน์ ในที่สุดก็ตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑
                        ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดระเบียบการปกครองหัวเมือง ทางลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์ ฯ ซึ่งมีผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น กมุทธาสัยบริรมย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหนอง
    บัวลำภู โดยให้ขึ้นกับบริเวณบ้านหมากแข้ง ของมณฑลอุดร ในปีต่อมาได้รวมเมืองต่าง ๆ ในบริเวณบ้านหมากแข้ง ตั้งขึ้นเป็นเมืองอุดรธานี เมืองหนองบัวลำภูจึงกลายเป็น อ.หนองบัวลำภูขึ้นกับเมืองอุดรธานี ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น จ.
    อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้แยก จ.อุดรธานี ออกเป็นสองจังหวัด และจัดตั้ง จ.หนองบัวลำภู ขึ้นโดยให้แยก อ.หนองบัวลำภู อ.นากลาง อ.โนนสัง อ.ศรีบุญเรือง และ อ.สุวรรณคูหา ออกจาก จ.อุดรธานี รวมตั้งขึ้นเป็น จ.หนองบัวลำภู      ๒๘/๑๘๐๕๗
                ๕๑๖๘. หนองแส  เป็นชื่อเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ.๑๑๙๒ - ๑๗๙๖) ปัจจุบันคือ เมืองต้าหลี ในมณฑลหยุนหนานของประเทศจีน ตั้งอยู่ริมหนองแส หรือทะเลสาบเอ๋อรไห่ (ทะเลสาบรูปใบหู)
                        เมืองหนองแส ไม่ได้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อพระเจ้าสินุโล (พ.ศ.๑๑๙๒ - ๑๒๑๗) ผู้สถาปนาเจ้าเมืองแส และเรียกอาณาจักรว่า ต้าหมง เมืองหลวงอยู่ที่เว่ยซาน (ปัจจุบันคือ เมืองหนองฮั่ว ในมณฑลหยุนหนาน) ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองหนองแส ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ.๑๒๗๑ - ๑๒๙๑) กษัตริย์องค์ที่สี่ของราชวงศ์สินุโล และเป็นผู้ทำการรวบรวมเจ้าทั้งหกเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นอาณาจักรที่มีเขตแดนกว้างใหญ่ขึ้นมา และเปลี่ยนชื่อเป็นน่านเจ้า แปลว่า เจ้าทางใต้ ถึงปี พ.ศ.๑๒๘๓ ได้ทรงย้ายเมืองหลวงขึ้นไปทางเหนือที่เมืองไท่เหอ หรือต้าทอ อยู่ที่บริเวณทะเลสาบหนองแส ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
                        ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าอี้โหมวเสิน (พ.ศ.๑๓๒๒ - ๑๓๔๑) รัชกาลที่หก แห่งราชวงศ์สินุโล ได้ย้ายเมืองหลวงไปเมืองหนองแส บริเวณตอนกลาง
    ด้านตะวันตกของทะเลสาบหนองแส พร้อมกับเปลี่ยนชื่ออาณาจักรว่า ต้าหลี
                        เมืองหนองแสอยู่ในชัยภูมิที่ดีมาก มีพื้นที่ประมาณ ๓๖๐ ตร.กม. ด้านตะวันออกเป็นหนองแส ด้านตะวันตกเป็นภูเขาฉางซาน ทำให้ยากแก่การโจมตีของข้าศึก โดยจะเข้าได้เฉพาะทางเหนือและทางใต้แนวภูเขาต่อกับทะเลสาบเท่านั้น
                        ราชวงศ์สินุโลปกครองน่านเจ้าราวสองศตวรรษครึ่ง หลังจากนั้นได้มีราชวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นชนชาติจีนปกครองน่านเจ้าต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๑๗๙๖ จึงถูกแม่ทัพกุบไลข่านพิชิตลงได้ เป็นการสิ้นสุดสงครามเป็นเมืองหลวง ของอาณาจักรน่านเจ้า
                        เมืองหนองแส ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ต้าหลี่ เป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ที่สำคัญทางด้านตะวันตกของมณฑลหยุนหนาน         ๒๘/๑๘๐๖๐
                ๕๑๖๙. หนอน  หมายถึง ลูกอ่อนของแมลงซึ่งมีลำตัวยาวยืดหดได้ เคลื่อนไหวโดยคืบคลานไป อาจมีขา หรือไม่มีขา สำหรับยึดเกาะได้
                        การเรียกชื่อหนอน ของแมลงอาจแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
                            ๑. ชื่อตามตัวเต็มวัย มักจะเป็นชื่อโดยรวม เช่น หนอนแมลงวัน หนอนแมลงหวี่ หนอนผีเสื้อ
                            ๒. ชื่อตามลักษณะท่าทาง เช่น หนอนคืบ หนอนดีด
                            ๓. ชื่อตามลักษณะรูปร่าง หรือนิสัยเฉพาะของตัวหนอน เช่น หนอนบุ้ง หนอนร่าน หนอนหอย หนอนปลอก หนอนใย หนอนม้วนใบ
                            ๔. ชื่อตามลักษณะการทำลายพืช  เช่น หนอนกระทู้ หนอนเจาะลำต้น  หนอนชอนใบ
                            ๕. ชื่อเรียกเฉพาะชนิด เช่น หนอนผีเสื้อยักษ์ หนอนแมลงค่อมทอง หนอนกระทู้ดำ บุ้งปกขาว หนอนชอนใบส้ม หนอนเจาะสมอฝ้าย
                            นักคีฎวิทยา แบ่งลักษณะของหนอนแมลงออกเป็นสามประเภท โดยใช้ขาเป็นเกณฑ์ ดังนี้
                                ก. หนอนประเภทไร้ขา  ในกลุ่มหนอนเหล่านี้ ยังแบ่งย่อยออกเป็นสามแบบ โดยถือการเจริญเติบโตของหัวเป็นเกณฑ์ หนอนที่มีหัวกะโหลกสมบูรณ์ หนอนที่มีหัวกะโหลกถึงสมบูรณ์ และหนอนไร้กะโหลก
                                ข. หนอนประเภทมีขาจริง  มีลำตัวยาว มีหัวกะโหลกเจริญดี มีขาจริงเกิดขึ้น ที่บริเวณอก หกขา แบ่งเป็นสองแบบคือ หนอนแบบตัวสามง่าม และหนอนแบบหนอนด้วงแรด
                                ค. หนอนประเภทมีขาจริงและขาเทียม  มีลำตัวยาว แบ่งเป็นปล้องค่อนข้างชัดเจน มีกะโหลกหัวเจริญดี มีปากแบบกัดกิน แบ่งออกได้เป็นสามแบบคือ หนอนเปลือยปกคลุมด้วยขนประปราย หนอนมีผนังลำตัวอูดเป็นติ่ง เป็นหนาม และหนอนประเภทมีขนปกคลุมตามลำตัวหนาแน่น ซึ่งมักเรียกว่า บุ้ง         ๒๘/๑๘๐๖๓
                ๕๑๗๐. หนอนตายหยาก  เป็นชื่อพรรณไม้สองชนิด เป็นพืชที่ชาวบ้านรู้จัก และนำมาใช้ประโยชน์นานแล้ว ทั้งด้านเป็นพืชสมุนไพร ใช้ในทางปศุสัตว์ และใช้ในทางเกษตรกรรม พืชที่มีชื่อนี้มีอยู่หลายชนิด โดยมากมักเรียก ไม้ล้มลุกที่มีรากรูปกระสวย ออกรวมกันเป็นกระจุก กระจุกละหลายสิบราก มีใบรูปไข่ปลายแหลม เส้นใบออกจากโคนใบ ขนานกับขอบใบขึ้นไปหลายเส้น เป็นไม้เถาล้มลุก อายุหลายปี ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ซอกใบ ผลแบบแห้งแตก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีเมล็ดจำนวนมาก
                        มีการนำหนอนตายหยาก มาใช้ประโยชน์หลายด้านด้วยกัน แพทย์ตามชนบทใช้รากต้ม กินแก้โรคผิวหนังผื่นคัน ใช้รากต้มรวมกับยาฉุน รมหัวริดสีดวง ทำให้ฝ่อได้ ใช้รากทุบให้ละเอียดผสมกับน้ำใช้ฟอกล้างผม เพื่อฆ่าเหา ใช้รากทุบให้แตกใส่ไว้ในปากไหปลาร้า ทำให้หนอนที่ขึ้นอยูในไหตายได้ ใช้เป็นยาฆ่าหนอนแมลงวัน ที่มาชอนไชตามบาดแผลของสัตว์พวกโค กระบือ โดยใช้รากตำผสมกับน้ำ แล้วนำมาหยอดตามแผล ทำให้หนอนตายได้ นำรากหนอนตายหยาก ผสมกับน้ำ นำมาฉีดพ่นพืชผัก เพื่อกำจัดศัตรูพืช           ๒๘/๑๘๐๗๓
                ๕๑๗๑. หน่อไม้ฝรั่ง  เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นอยู่ใต้ดิน แทงหน่อแตกช่อเป็นพุ่มสูง ๑๕๐ - ๒๐๐ ซม.  อายุยืนนานปี อาจถึง ๕๐ ปี
                        หน่อไม้ฝรั่ง มีสารสำคัญเรียกว่า แอสเปอราจิน มีคุณสมบัติในการขับปัสสาวะ          ๒๘/๑๘๐๗๗
                ๕๑๗๒. หนังใหญ่  เป็นมหรสพชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยโบราณ แสดงเฉพาะในงานพระราชพิธีสำคัญ ตัวหนังใหญ่ทำด้วยหนังวัวที่ฉลุฉลัก ลวดลายเป็นรูปตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ มีขนาดสูง ตั้งแต่ ๑ - ๒ เมตร
                        เมื่อมีหนังตะลุง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเข้ามาเผยแพร่ จึงเรียกหนังที่มีมาแต่เดิมว่า หนังใหญ่ ตามปรกติหนังใหญ่ทำจากหนังวัว เมื่อทำเป็นตัวหนังเสร็จแล้ว จะมีความโปร่งแสงเรียกว่า หนังแก้ว เวลาเชิดแผ่นหนังทาบบนจอ ผ้าขาวจะแลเห็นลวดลายสวยงาม
                        นอกจากหนังใหญ่ทั่ว ๆ ไปที่ใช้หนังวัวฉลุฉลักแลัว ยังมีหนังเจ้าสามตัวเรียกว่า หนังครู คือ ฤาษี พระอิศวร และพระนารายณ์ ใช้เชิดตอนเบิกหน้าพาทย์สามตระ เป็นการไหว้ครูก่อนเริ่มแสดงหนังใหญ่ หนังตัวฤาษีใช้หนังเสือ หรือหนังหมีฉลุฉลัก ส่วนหนังตัวพระอิศวรและพระนารายณ์ ใช้หนังวัวที่เสือกัดตาย ออกลูกตาย หรือถูกฟ้าผ่าตาย เรียกว่า โคตายพราย
                        แผ่นหนังใหญ่ ที่ฉลุฉลักเป็นรูปต่าง ๆ ของตัวละคร เรื่องรามเกียรติ์เหล่านี้ จะต้องระบายสีให้ถูกต้องตามพงศ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อทำตัวหนังเสร็จแล้ว จะต้องมีไม้สองอัน เรียกว่า ไม้ตับ หรือไม้คาบตัวหนัง ทำด้วยไม้ไผ่สองอัน คาบตัวหนังทางด้านซ้าย และด้านขวา เหลือไม้ตับลงมาใต้ตัวหนังประมาณ ๕๐ ซม. สำหรับให้คนเชิดจับนำตัวหนังออกเชิด
                        หนังใหญ่ ที่ทำเสร็จแล้ว จะมีลักษณะแตกต่างกันอยู่หกประเภทคือ
                            ๑. หนังเฝ้า หรือหนังไหว้ เป็นหนังภาพเดี่ยวหน้าเสี้ยว (หันด้านข้าง) นั่งคุกเข่าพนมมือ ใช้เชิดในตอนเข้าเฝ้า มีขนาดเล็ก สูงประมาณหนึ่งเมตร
                            ๒. หนังคเนจร หรือหนังเดิน เป็นหนังภาพเดียว หน้าเสี้ยว ทำท่าเดิน มีพญานาครองรับอยู่ที่ใต้เท้า ใช้ในตอนเดิน
                            ๓. หนังง่า เป็นหนังภาพเดี่ยว หน้าเสี้ยวทำท่าเหาะ หนังง่ายังมีลักษณะผิดแผกออกไปอีกสองอย่างคือ ตัวหนังทำท่าโก่งศรเรียกว่า หนังโก่ง ถ้าทำท่าแผลงศรเรียกว่า หนังแผลง หนังง่าใช้ในตอนเหาะ ตอนโก่งศร และแผลงศร
                            ๔. หนังเมือง หรือหนังปราสาท เป็นหนังภาพเดี่ยว หรือหลายตัวอยู่ในผืนเดียวกัน ต้องมีภาพปราสาท ราชวัง ศาลา หรือตัวอาคารประกอบในหนังสือประเภทนี้หนังเมืองใช้ในตอนทศกัณฐ์นั่งเมืองว่าราชการ หรือพญายักษ์ตนใดตนหนึ่งออกว่าราชการ ถ้าเป็นภาพพระรามอยู่ในพลับพลาเรียกว่า หนังพลับพลา ถ้าตัวในเรื่องทำท่าเล้าโลมกันเรียกว่า หนังปราสาทโลม ถ้ามีบทพูดกันเรียกว่า หนังปราสาทพูด หนังเมืองมีขนาดใหญ่ประมาณ ๑.๕ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร
                            ๕. หนังจับ เป็นหนังที่มีภาพตั้งแต่สองตัวขึ้นไปทำท่ารบกัน หนังจับมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับหนังเมือง
                            ๖. หนังเบ็ดเตล็ด เป็นหนังที่ไม่อยู่ในห้าประเภทที่กล่าวแล้ว มีหนังภาพลูกศร ภาพราชรถ ภาพต้นไม้ และหนังตัวตลก จึงมีหนังภาพลิงขาวมัดลิงดำ ซึ่งบางทีก็เรียกว่าหนังเตียว
                        เรื่องที่ใช้แสดงหนังใหญ่คือเรื่องรามเกียรติ์ แม้จะมีเรื่องอื่นบ้างแต่ก็ไม่เป็นที่นิยม หนังใหญ่แสดงบนพื้นดิน โดยมีจอผ้าขาวยาวประมาณ ๑๖ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร ปักเสาสูงสี่ต้น เรียงกันห่าง ๆ ปลายเสาปักธงและหางนกยูง ด้านหลังจอปลูกร้านเล็ก ๆ ด้านละร้าน ปูแผ่นสังกะสีสำหรับกองไต้ หรือกะลามะพร้าวจุดไฟส่องสว่างไปที่จอ เมื่อมีตะเกียงแมงดาจึงเปลี่ยนมาใช้ตะเกียงแมงดาแทน ปัจจุบันใช้ไฟฟ้า แต่สู้แสงไฟจากกะลามะพร้าว และไต้ไม่ได้ เพราะเวลาไฟลุกจะมีประกายวูบวาบสูงต่ำ ทำให้แลเห็นลวดลาย ตัวหนังใหญ่ที่ทาบจอผ้าขาวมีชีวิตชีวาขึ้น
                        คนเชิดหนังใหญ่ ต้องมีประมาณ ๘ - ๑๐ คน หนังใหญ่บางตัวต้องใช้คนเชิดหลายคน จะต้องใช้ลำตัว และแขนขาเป็นสำคัญ
                        คนพากย์ - เจรจา ควรมีไม่น้อยกว่า ๒ - ๔ คน จะได้เจรจาโต้ตอบกันทันท่วงที
                        ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นวงปี่พาทย์ จะเป็นแบบใดก็ได้ตามฐานะของงาน แต่ในวงปี่พาทย์จะต้องมีเครื่องดนตรีพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกสามอย่างคือปี่กลาง กลองติ๋ว และโกร่ง
                        การแสดงหนังใหญ่ในตอนกลางวันเรียกหนังกลางวัน มักแสดงเรื่องรามสูร เมขลา เป็นการแสดงอวดความสวยงามของตัวหนัง ผู้เชิดหนังจะออกมาเชิดทางหน้าจอ ถ้าเป็นการแสดงกลางคืน จะมีการพากย์สามาตรไหว้ครูเสียก่อน แล้วแสดงชุดจับลิงหัวดำ จากนั้นจึงแสดงเรื่องตามที่กำหนด จนกระทั่งหยุดพักการแสดงตอนต้น ซึ่งเป็นเรื่องราวการทำศึกของพระรามกับพญาขร ทูตและตรีเศียร พอถึงพญาขรล้มก็หหยุดพักการแสดงเรียกว่า ขรล้ม หรือล้มขร ต่อจากนั้นก็จะพักนอน ในตอนนี้เรียกว่า หนังยับ พอใกล้รุ่งจึงแสดงอีกชุดหนึ่งจนถึงสว่างเรียกว่า เล่นหนังยังรุ่ง
                        ในสมัยโบราณ มีผู้คิดเอาการแสดงโขนเข้าไปแทรกในระหว่างการเชิดหนังใหญ่อยู่หลายตอนเรียกว่า หนังติดตัวโขน เป็นวิวัฒนาการของการแสดงโขน ที่แสดงทางหน้าจอผ้าขาวเรียกว่า โขนหน้าจอ         ๒๘/๑๘๐๘๕
                ๕๑๗๓. หนาม, หอย  เป็นชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวหลายชนิด มีลักษณะที่สำคัญคือ เปลือกบิดเป็นเกลียว ยอดแหลม ตามเปลือกมีหนาม
                        หอยหนามอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล  ตั้งแต่ชายฝั่งที่น้ำท่วมถึงป่าชายเลนจนถึงในทะเลบริเวณ  ที่มีแพงปะการังและแหล่งหญ้าทะเล
                        หอยหนามในทะเลไทยมีหลายชนิดเช่น หอยหนามเล็ก หอยหวี หอยงก้างปลา หอยหนามใหญ่ หอยเงาะ หอยหน้ายักษ์ หอยหนามดำ หอยหนามดอกไม้         ๒๘/๑๘๐๙๔
                ๕๑๗๔. หนามแดง  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้มีหนามสามชนิดต่างสกุลและต่างวงศ์กัน หนามแดงที่ในภาคกลางเรียก มะนาวไม่รู้โห่ เป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลี้อย หรือเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑ - ๓ เมตร ทุกส่วนมียางขาว แตกกิ่งก้านสาขามาก มีหนามแหลมแข็งตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือช่อกระจุกแยกแขนงเกิดที่ยอดหรือตามชอกใบ กลีบดอกสีแดงหรือสีชมพูเข้ม ปลายแยกเป็นหัวแฉกสีขาว ผลแบบนี้มีเนื้อรูปกลมรี เนื้อผลบริโภคได้ มีรสเปรี้ยว หนามแดงชอบขึ้นในที่แล้ง แดดจัด มีดอกผลเกือบตลอดปี
                        แกนใช้เป็นสมุนไพรช่วยบำรุงไขมัน ทำให้เส้นเอ็นของคนผอมแข็งแรง เป็นยาบำรุงกำลัง ใบสดต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง แก้ปวดหู แก้ไข้ แก้เจ็บปาก และคอ ผลสุก และดิบรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน แก้ท้องเสีย รากสดต้มน้ำดื่มขับพยาธิ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ตำให้ละเอียดผสมเหล้าทา หรือพอกรักษาบาดแผล และแก้คัน         ๒๘/๑๘๐๙๗
                ๕๑๗๕. หนามพรหม  เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทย พบขี้นตามที่แห้งแล้งทุกภาคของประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้คล้ายหนามแดงมาก เป็นไม้พุ่มเตี้ยหรือมีกิ่งทอดเอนไปตามพื้นดิน แตกกิ่งหนาแน่นไม่เป็นระเบียบ มีหนามแหลมแข็งออกตามข้อ ใบเดี่ยวออกตรงข้าม มีรูปร่างได้หลายแบบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ยอด หรือตามชอกใบ กลีบดอกสีขาว ผลรูปรีหรือเกือบกลม
                        ประโยชน์คือแก่นบำรุงมันในร่างกาย บำรุงกำลัง ทำให้ร่างงกายแข็งแรงอดทนขึ้น         ๒๘/๑๘๑๐๑
                ๕๑๗๖. หนามวัวซัง  เป็นไม้พุ่มงอเลี้อย สูง ๒ - ๔ เมตร กิ่งก้านแข็ง คดไปมา มีหนามโค้ง ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปรีรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อแบบกึ่งช่อซีร่ม ออกตามยอดหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลับดอกสีขาว ผลกลม ออกดอกและผลตลอดปี ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ขับน้ำเหลืองเสีย บำรุงและแก้โรคผิวหนัง         ๒๘/๑๘๑๐๒


    <---------------------------ข้างล่างต่อไปนี้ยังไม่ได้แก้ไข-------------------------------------------------------->

     

                ๕๑๗๗. หน้าวัว  เป็นชื่อไม้ล้มลุก มีทั้งหมดกว่า ๗๐๐ ชนิด เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่มีเนื้อไม้ อายุยืน ลำต้นอาจตั้งตรง หรือเลื้อยเกาะพืชอื่นได้ ปล้องมีขนาดยาวต่างกัน ใบมีรูปร่างแตกต่างกันมากมาย มีดอกสมบูรณ์เพศ ดอกขนาดเล็ก มีรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด อัดแน่นอยู่ในช่อดอก ที่เรียกว่า ปลี สีดอกเปลี่ยนไปเมื่อดอกพร้อมผสม โคนช่อดอกมีใบประดับที่เรียกว่า จานรองดอก ติดอยู่มีรูปร่างและสีแตกต่างกันไป ผลจะใช้เวลาในการพัฒนา ๓ - ๖ เดือน ผลมีขนาดเล็ก
                    หน้าวัว  ปลูกเป็นไม้ตัดดอก และไม้ดอกกระถางกันมาก เจริญได้ดีทุกภาคของประเทศไทย ต้งการแสงที่มีความเข้มเพียงร้อยละ ๒๐ - ๒๕ ของแสงแดด            ๒๘/๑๘๑๐๓
                ๕๑๗๘. หนุมาน  เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นทหารเอกของพระราม และมีฤทธิ์มาก ชาวฮินดูในอินเดียนับถือหนุมานเป็นเทพเจ้า ลักษณะของหนุมานในรามเกียรติ์ แตกต่างไปจากหนุมาน ในรามายณะหลายประการ
                    ในรามเกียรติ์ หนุมานเป็นลิงเผือกเพศผู้ มารดาชื่อ นางสวาหะ พระอิศวรได้แบ่งกำลัง และมอบเทพอาวุธสามอย่าง ให้พระพายนำไปซัดเข้าปากนางสวาหะ ได้แก่ คทาเพชร ซึ่งกลายเป็นสันหลังตลอดหาง ทำให้หนุมานเหาะได้  ตรีเพชรเป็นร่างกาย มือและเท้า จักรแก้ว เป็นศีรษะ ในการสู้รบกับศัตรู สามารถชักเอาตรีเพชรออกจากอกมารบได้ พระอิศวรมอบหมายให้พระพายเป็นบิดา คอยดูแลหนุมาน ดังนั้น เมื่อหนุมานต้องศาสตราวุธ พอพระพายโชยมาก็จะฟื้น นอกจากนี้ พระอิศวรยังให้คาถาแปลงกาย หายตัว และคงกระพันให้แก่หนุมาน
                    หนุมาน ได้รับใช้พระราม มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ หนุมานได้เสียกับสตรีถึงหกนางด้วยกันคือ นางบุษมาลี ซึ่งช่วยบอกทางไปลงกา นางเบญกาย ซึ่งพระรามให้นำไปส่งยังลงกา นางสุวรรณมัจฉา ซึ่งทศกัณฐ์สั่งให้มาขัดขวางการจองถนน ไปลงกา นางวานริน ซึ่งช่วยชี้ที่ซ่อนของวิรุฬจำบัง ให้หนุมานตามไปสังหาร นางมณโฑ โดยการแปลงเป็นทศกัณฐืเข้าไปหา เพื่อให้นางมีสามีสามคน จึงไม่สามารถหุงน้ำทิพย์ได้ และนางสุวรรณกันยุมา ชายาเอกของอินทรชิต ซึ่งทศกัณฐ์ยกให้หนุมาน ที่ทำทีมาสวามิภักดิ์ หนุมานมีบุตรกับเบญกายคือ อสุรผัด และกับนางสุวรรณมัจฉา คือ มัจฉานุ
                    เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระรามทรงแต่งตั้งหนุมานเป็น พระยาอนุชิต และยกอยุธยาให้ครองกึ่งหนึ่ง แต่หนุมานถวายราชสมบัติคืนแก่พระราม ด้วยคิดว่า
                        "กูเป็นทหารมาร่วมอาสน์     พระนารายณ์ธิราชหาควรไม่"
                       พระรามจึงแผลงศรไปเพื่อสร้างเมืองใหม่ให้หนุมาน ในที่สุด ก็โปรดให้พระวิษณุกรรม สร้างเมืองให้หนุมานให้ชื่อว่า นพบุรี            ๒๘/๑๘๑๐๖
                ๕๑๗๙. หมอก  เป็นกลุ่มละอองน้ำขนาดเล็กมาก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศใกล้พื้นดิน หมอกเกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำ เมื่ออุณหภูมิของอากาศมีค่าเท่า หรือเกือบเท่าอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ หมอกกับเมฆจึงต่างกันแต่เพียงว่า หมอกมีฐานติดอยู่พื้นดิน ส่วนฐานเมฆอยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป
                    โดยทั่วไป ในประเทศไทยมีหมอกในฤดูหนาว ส่วนมากเกิดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณเทือกเขาจะมีหมอกเกิดขึ้นได้มากที่สุด และมีอยู่ได้นานกว่าบริเวณที่ราบ                  ๒๘/๑๘๑๑๐
                ๕๑๘๐. หม้อแกงลิง, ต้น   เป็นไม้เถาขนาดเล็ก เถายาวได้ถึง ๕ เมตร เรียวเหนียวแข็ง  คล้ายเส้นลวด ใบเดี่ยวเรียงเวียน ออกเป็นกระจุกบริเวณโคนลำต้น แผ่นใบรูปขนานถึงรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามกับใบ ใกล้ยอดช่อ ดอกส่วนใหญ่ออกเป็นคู่ตามแกนช่อสีน้ำตาล อมแดง
                    หม้อแกงลิง ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ส่วนมากนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ                 ๒๘/๑๘๑๑๓
                ๕๑๘๑. หม่อน, ต้น  เป็นไม้ยืนต้น ที่มีอายุยืน สูง ๑๐ - ๒๐ เมตร ใบเดี่ยว ดอกมีทั้งเพศผู้ และเพศเมีย แยกอยู่คนละต้น ใบหม่อนเป็นอาหารที่สำคัญ และดีที่สุดของหนอนไหม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีคุณสมบัติในการปรับระดับความดันโลหิต และลดอาการอักเสบในสมอง ของผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง
                    ในประเทศไทย มีหม่อนหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ไทยที่เกษตรกรปลูกมาดั้งเดิม เช่น หม่อนน้อย ไผ่ ส้ม ตาดำ ตาแดง คุณไพ่
                    ปัจจุบันใบหม่อน ผลหม่อน รากหม่อน และกิ่งหม่อน สามารถนำมาใช้เป็นทั้งสมุนไพร และเครื่องสำอาง เช่น ใบใช้ทำชาหม่อน ผลแปรรูปเป็นเหล้าผลไม้ น้ำคั้นผลหม่อนใช้ทำแยม ย้อมสีเส้นไหม กิ่งหรือเปลือก ต้นหม่อนใช้สกัดสารเพื่อทำเครื่องสำอาง และใช้ในการแพทย์             ๒๘/๑๘๑๑๖
                ๕๑๘๒. หมัด  เป็นแมลงขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มวัยไม่มีปีก ปากเป็นแบบเจาะดูด ขาสามคู่ติดอยู่ทางด้านล่างของอก แต่ละปล้อง ขาใหญ่มาก เมื่อเทียบกับลำตัว
                    หมัด เป็นแมลงที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยดูดเลือดสัตว์เลือดอุ่น กินเป็นอาหาร มักวางไข่ตามตัวสัตว์ ตัวอ่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนสีขาว ตัวหนอนไม่ดูดเลือด แต่กินเศษวัสดุอินทรีย์สารต่างๆ  ที่มีอยู่ตามตัวสัตว์ หรือขยะมูลฝอยในรัง เจริญเติบโตได้โดยลอกคราบสองครั้ง ก่อนจะเข้าดักแด้ หนอนหมัดถักใยมีเศษวัสดุต่าง ๆ ติดอยู่หุ้มตัว ก่อนกลายร่างเป็นดักแด้ เมื่อเป็นตัวโตเต็มวัยแล้ว หมัดจะอยู่โดยปราศจากอาหารชั่วระยะหนึ่ง แต่จะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวได้ง่าย โดยแรงสั่นสะเทือนของพื้น อันเกิดจากการเคลื่อนไหวของสัตว์ ที่เป็นอาหาร  จึงอาจพบหมัดเป็นจำนวนมาก กระโดดเข้าหาสัตว์และแทรกตัวไปซ่อนอยู่ตามขนสัตว์ได้ง่าย วงจรชีวิตของหมัดโดยทั่วไป คือ ๓ - ๖ อาทิตย์
                    หมัดมีจำนวนรวมทั่วโลก ประมาณ ๑,๗๕๐ ชนิด ชนิดที่คนไทยรู้จักได้แก่ หมัดคน หมัดหมู หมัดสุนัข หมัดแมว หมัดไก่            ๒๘/๑๘๑๑๘


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch