หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/160
    ๕๑๑๕. สุนทรียศาสตร์  มีคำนิยามว่า "ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความงาม และสิ่งที่งามในธรรมชาติ หรืองานศิลปะ"  แบ่งออกเป็นหกสาขา ได้แก่ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปวิจารณ์ ทฤษฎีศิลปะ จิตวิทยาศิลปะ สังคมวิทยาศิลปะ ปรัชญาศิลปะ
                        องค์ประกอบของศิลปะ มีสี่อย่างคือ
                            ๑. สื่อ ได้แก่ สิงที่ศิลปินนำมาใช้เพื่อถ่ายทอด การสร้างสรรของตนให้ประจักษ์แก่ผู้อื่น
                            ๒. เนื้อหา ได้แก่ เรื่องราวที่ศิลปินแสดงออกมา โดยใช้สื่อที่เหมาะสะม
                            ๓. สุนทรียธาตุ มีสามอย่างคือ ความงาม ความแปลกหู แปลกตา และความน่าทึ่ง
                            ๔. ธาตุศิลปิน ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด และชีวิตจิตใจ รวมทั้งความหลัง และความใฝ่ฝันของศิลปิน  ที่แฝงอยู่ในศิลปกรรม ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา        ๒๘/๑๗๘๑๕
                ๕๑๑๖. สุพรรณบุรี  จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.อุทัยธานี และ จ.ชัยนาท ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.สิงหบุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.นครปฐม ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ ๕,๓๕๘ ตร.กม.
                         ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และที่ราบลอนลาด มีภูเขาตั้งอยู่เป็นบางบริเวณ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด อาจแบ่งลักษณะภูมิประเทศ ของ จ.สุพรรณบุรี ออกได้เป็นสามเขตใหญ่ ๆ คือ
                            ๑. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ  อยู่ทางซีกตะวันออกของจังหวัด มีแม่น้ำสุพรรณบุรี ไหลจาก จ.ชัยนาท เข้ามาทางตอนเหนือ ไหลไปทางใต้ เข้าไปในเขต จ.นครปฐม
                            ๒. เขตที่ราบลอนลาด  บริเวณที่อยู่ห่างจากแม่น้ำสุพรรณบุรี ไปทางตอนกลาง และทางด้านตะวันตกของจังหวัด พื้นที่ค่อย ๆ ลาดชันสูงขึ้น เป็นลักษณะที่เรียกว่า ที่ราบลอนลาด มีเนินเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วไป
                            ๓. เขตทิวเขา  อยู่ใน อ.ด่านช้าง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด เป็นแนวของทิวเขา ซึ่งแบ่งเขต จ.สุพรรณบุรี กับ จ.อุทัยธานี และ จ.กาญจนบุรี ทิวเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาถนนธงชัยกลาง ที่ทอดยาวต่อเนื่องจากภาคเหนือ เข้ามาในภาคตะวันตก และสิ้นสุดทิวเขาที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
                         ด้านประวัติศาสตร์ จ.สุพรรรบุรี มีแหล่งโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่แสดงว่าเคยเจริญเติบโต มาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยได้พบซากเมืองโบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำจระเข้สามพัน ในเขต อ.อู่ทอง ปัจจุบัน ตัวเมืองเป็นรูปรี กว้าง ๙๐๐ เมตร ยาว ๑,๗๕๐ เมตร  มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ภายในตัวเมืองและบริเวณใกล้เมือง ได้พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี หลายอย่าง
                         หลังสมัยทวารวดี เมืองโบราณอู่ทอง คงจะเสื่อมโทรมลงและทิ้งร้างไป โดยปรากฎชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เข้ามาแทนที่ ทั้งในสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาตอนต้น เมืองสุพรรณภูมิ มีมาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี
                        ที่ตั้งของเมืองสุพรรณภูมิ หรือเมืองสุพรรณบุรีโบราณ ยังคงปรากฎร่องรอยให้เห็นชัดเจน บนฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ในเขต อ.เมือง ฯ บริเวณผังเมือง แสดงว่ามีเมืองสองเมือง ซ้อนทับกันอยู่ เมืองที่เก่ากว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑,๙๐๐ เมตร ยาว ๓,๖๐๐ เมตร มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ ส่วนเมืองที่ใหม่กว่า มีขนาดเล็กลง และตั้งอยู่เฉพาะบนฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเท่านั้น มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๙๒๐ เมตร ยาว ๓,๐๐๐ เมตร
                        เนื่องจากที่ตั้งของเมือง อยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า เมื่อจะยกมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา จากทางด้านกาญจนบุรี ทำให้เมืองสุพรรณบุรี มีความสำคัญมาก ทางด้านยุทธศาสตร์ การศึกครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสงครามยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวร ฯ กับสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี ที่ ต.ทุ่งหนองสาหร่าย เขตเมืองสุพรรณบุรี ภายหลังเสร็จศึกแล้ว สมเด็จพระนเรศวร ฯ โปรดให้ก่อพระเจดีย์ฐานสวมศพ พระมหาอุปราชาไว้ ณ ตระพังตรุ
                        เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองสุพรรณบุรี คงจะถูกทิ้งร้างไป จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมืองสุพรรณบุรี จึงเริ่มมีผู้คนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น และได้รับการยกฐานะเป็นเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ            ๒๘/๑๗๘๒๑
                ๕๑๑๗. สุพรรณหงส์ หรือสุวรรณหงส์   เป็นชื่อเรือพระที่นั่ง ลำหนึ่งในกระบวนเรือพระราชพิธี หรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา
                        เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบันประกอบพิธีลงน้ำเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ น้ำหนัก ๑๕.๖ ตัน กว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๔๔.๗๐ เมตร ลึก ๐.๙๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร ฝีพาย ห้าสิบนาย นายท้ายสองนาย นายเรือสองนาย ใช้พายทอง พายในท่านกบิน
                        นอกจากความงดงามในศิลปกรรม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นมรดกโลก ที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะ ในการต่อเรือของชาวไทยโบราณ ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง
                        ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้องค์การเรือโลก แห่งสหราชอาณาจักร มอบรางวัลเรือโลกแก่ เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕        ๒๘/๑๗๘๒๗
                ๕๑๑๘. สุมนะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สี่ ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์         ๒๘/๑๗๘๓๑
                ๕๑๑๙. สุเมธะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งนับเป็นพระองค์ที่สิบเอ็ด ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์       ๒๘/๑๗๘๓๓
               ๕๑๒๐. สุรนารี, ท้าว  ท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม  เป็นวีรสตรีไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ผู้สร้างวีรกรรมขับไล่กองทัพลาว ที่บุกรุกเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมา เมื่อคราวเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ก่อกบฎในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้สำเร็จ
                        ท้าวสุรนารี เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๕ เมื่อเจริญวัยได้สมรสกับเจ้าพระยามหิศราธิบดี (ทองคำ)  เมื่อครั้งยังดำรงฐานันดรเป็น พระยาสุรเดชวิเศษฤทธิ์ ฯ ปลัดเมืองนครราชสีมา
                        ในช่วงเวลาที่มีเหตุ เจ้าเมือง หลวงยกกระบัตร และพระยาปลัดเมือง ไปราชการที่เมืองขุขันธ์ คงเหลือแต่กรมการชั้นผู้น้อย และพระยาพรหมยกกระบัตร อยู่รักษาเมืองแทน ทหารลาวได้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองนครราชสีมา เอาไปเวียงจันทน์ แต่คุณหญิงโมเป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี จึงออกอุบายเพื่อถ่วงเวลาให้การเดินทางช้าลง ด้วยหวังว่า กองทัพเมืองหลวงจะมาช่วยทัน เมื่อเดินทางมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย คุณหญิงโม และชาวเมืองนครราชสีมา ได้มอมสุราทหารที่ควบคุม และช่วยกันฆ่าฟันทหารลาวตายเกือบหมด เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าว ได้ส่งกองทัพมาปราบแต่พ่ายแพ้ แก่ฝ่ายคุณหญิงโม
                        ภายหลังสงครามคุณหญิงโม ได้รับพระราชทานความดีความชอบ โดยได้รับโปรดเกล้า ฯ  ให้เป็นท้าวสุรนารี ส่วนพระยาปลัดเมือง ผู้เป็นสามีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิศราธิบดี         ๒๘/๑๗๘๓๕
                ๕๑๒๑. สุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต), จอมพล มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยา  เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และเป็นต้นสกุล แสง - ชูโต
                        เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ได้รับการศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้น ในสำนักพระวิเชียรมุนี วัดพิชยญาติการาม จนอายุ ๑๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อลาสิกขาแล้ว เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นมหาดเล็กวิเศษ สังกัดเวรฤทธิ์
                        เมื่อมีการจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นายเจิมได้เป็น หลวงศีลยุทธสรการ ผู้บังคับกองร้อยที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๔๑๔  ท่านได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ อย่างก้าวหน้าตลอดมา กล่าวคือ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศ และบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยเอก จมื่นสราภัยสฤษดิการ ตำแหน่งราชองครักษ์
                        ในปี พ.ศ.๒๔๒๑  ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอุปทูต เดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อเจรจาเรื่องที่ จอร์จ นอกซ์ กงสุลอังกฤษ จะนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในการนี้ท่านได้มีโอกาสดูงานด้านทหารบก ทหารเรือ และวิธีการทำเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก เวรฤทธิ์
                        ในปี พ.ศ.๒๔๒๓ ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ช่วยกันจัดการกรมทหารหน้า และเป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้าด้วย ท่านได้ปรับปรุงระเบียบการปกครอง การแต่งกาย และการฝึกแบบตะวันตก ขึ้นในกรมทหารหน้า และในปี พ.ศ.๒๔๒๕  ได้จัดสร้างโรงทหารหน้าขึ้นใหม่ บนที่ดินที่เป็นฉางหลวงเก่า โดยสร้างเป็นตึกสามชั้น เพื่อบรรจุทหารให้ได้ถึงหนึ่งกองพลน้อย ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหม
                        การยกทัพไปปราบฮ่อ ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ท่านได้เป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อ ที่แขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก ท่านได้เกลี้ยกล่อมให้พวกฮ่อ ยอมจำนนเป็นผลสำเร็จ พวกฮ่อได้ขอสวามิภักดิ์ เมื่อท่านเดินทางถึงกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๓๐  ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี สังกัดกรมยุทธนาธิการ ที่โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นกรมกลาง รับผิดชอบการดำเนินงาน และบังคับบัญชากรมทหารบก และกรมทหารเรือ
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ยกฐานะกรมยุทธนาธิการ เป็นกระทรวงยุทธนาธิการ ท่านได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ท่านได้ลาออกจากราชการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจากของบประมาณค่าเครื่องแต่งตัวทหาร และขออาวุธเพิ่ม แต่ที่ประชุมเสนาบดีคัดค้าน ในปีเดียวกัน ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
                        ท่านได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ.๒๔๔๐ มียศเป็น นายพลโท และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้มีเกียรติยศเท่าเสนาบดี และองคมนตรี ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกบการค้าไม้กระยาเลย ได้ก่อตั้งบริษัทป่าไม้ศรีราชาทุน จำกัด และได้รับสัมปทานให้ทำป่าไม้กระยาเลย
                        ในปี พ.ศ.๒๔๔๕  เกิดกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ ขึ้น พวกยึดได้เมืองแพร่แล้วคิดที่จะยึดเมืองลำปาง แต่ตีเมืองไม่สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพ ยกขึ้นไปปราบกบฎ ท่านทำการได้สำเร็จเรียบร้อย มีการลงโทษเจ้านายเมืองแพร่ ด้วยการปลดออกแล้วให้ข้าราชการ จากส่วนกลางไปดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด
                        เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ โดยไม่มีบุตร ธิดา        ๒๘/๑๗๘๓๙
                ๕๑๒๒. สุราษฎร์ธานี  จังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ชุมพร ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จดทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.กระบี่ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ ต.พังงา ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ระนอง มีพื้นที่ ๑๒,๘๙๑ ตร.กม.  จัดเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุด ในบรรดา ๑๔ จังหวัด ของภาคใต้
                         ลักษณะภูมิประเทศ  ประกอบด้วยสี่ส่วนใหญ่ ๆ คือ บริเวณทิวเขาทางด้านตะวันตก บริเวณทิวเขาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่ราบตอนกลาง กับบริเวณชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
                            ๑. บริเวณทิวเขาด้านตะวันตก  มีทิวเขาทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากเหนือไปใต้แบ่งเขต จ.สุราษฎร์ธานี จ.ระนอง จ.พังงา และ จ.กระบี่ ทิวเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาภูเก็ต เป็นบริเวณต้นน้ำของลำน้ำสายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น คลองไชยา คลองท่าฉาง คลองสก คลองพระแสง
                            ๒. บริเวณทิวเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้  มีทิวเขาทอดยาวไปตามเส้นแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง ทิวเขานี้เป็นส่วนหนึ่ง ของทิวเขานครศรีธรรมราช
                            ๓. บริเวณที่ราบตอนกลาง  เป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านคือ แม่น้ำตาปี มีแควไหลมาบรรจบหลายสาย สายยาวที่สุดคือ แม่น้ำพุมดวง
                            ๔. บริเวณฝั่งทะเลและหมู่เกาะ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  จ.สุราษฎร์ธานี มีชายฝั่งทะเลยาว ๑๖๕ กม. มีอ่าวบ้านดอนเป็นอ่าวขนาดใหญ่ อยู่ในเขต อ.บ้านฉาง อ.เมือง ฯ  และ อ.กาญจนดิษฐ์  นอกชายฝั่งออกไปมีเกาะ และหมู่เกาะต่าง ๆ ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ เกาะสมุย มีพื้นที่ ๒๕๓ ตร.กม. นับเป็นเกาะใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากภูเก็ต เกาะพงัน มีพื้นที่ ๑๒๓ ตร.กม.  ตั้งอยู่เหนือเกาะสมุย เกาะเต่ามีพื้นที่ ๑๙ ตร.กม. และหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งประกอบด้วย เกาะต่าง ๆ ประมาณ ๔๐ เกาะ ตั้งอยู่ระหว่างเกาะสมุย กับเกาะพงัน กับชายฝั่งของผืนแผ่นดินไทย
                             ด้านประวัติศาสตร์  พบว่ามีชุมชนโบราณเกิดขึ้น บริเวณอ่าวบ้านดอน มาตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ห้า ต่อมาชุมชนได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นเมือง เมืองสำคัญที่สุดคือ เมืองไชยา เจริญรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ในฐานะเป็นเมืองสำคัญ เมืองหนึ่งของอาณาจักร หรือแคว้นศรีวิชัย โบราณสถาน และโบราณวัตถุ สมัยศรีวิชัย ที่ชึ้นชื่อมากคือ พระบรมธาตุไชยา และโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สร้างพุทธศตวรรษที่สิบสี่
                            ตอนปลายพุทธศตวรรษที่สิบแปด เมืองไชยาคงเสื่อมอำนาจลงแล้ว เพราะไม่มีชื่อปรากฎในรายชื่อหัวเมือง ในคาบสมุทรมลายูสิบสองเมือง ที่อยู่ใต้อำนาจของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า เมืองสิบสองนักษัตร
                            ชื่อเมืองไชยา ปรากฎอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ.๑๙๙๘ กล่าวถึง เมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ในบริเวณคาบสมุทรมลายูไว้สี่เมืองคือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา และเมืองชุมพร ฯ
                            ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา เป็นเมืองสุราษฎร์ธานี และได้เปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวง เป็นแม่น้ำตาปี          ๒๘/๑๗๘๕๒
                ๕๑๒๓.  สุรินทร์   จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.ศรีสะเกษ ทิศใต้ ติดต่อกับ ประเทศกัมพูชา โดยมีทิวเขาพนมดงรัก เป็นแนวเส้นแบ่งเขตแดน ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.บุรีรัมย์ มีพื้นที่ ๘,๑๒๔ ตร.กม.        ๒๘/๑๗๘๕๗
                     ลักษณะภูมิประเทศ  แบ่งออกได้เป็นสามเขตใหญ่ ๆ คือ เขตทางตอนเหนือสุด เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล และเขตทางตอนใต้สุด เป็นบริเวณทิวเขาพนมดงรัก ระหว่างเขตทั้งสองเป็นที่ราบลอนลาด ซึ่งค่อย ๆ ลาดต่ำจากทางใต้ ขึ้นไปทางเหนือ
                        แม่น้ำมูล เฉพาะส่วนที่ไหลผ่าน จ.สุรินทร์ ยาว ๑๖๗ กม. โดยไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ผ่านตอนเหนือของจังหวัด บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ราบลุ่ม มักมีน้ำท่วมในฤดูฝน มีลำน้ำอื่น ๆ ที่ไหลลงแม่น้ำมูล ในเขต จ.สุรินทร์ รวมสามสายคือ ลำชี ห้วยทับทัน และลำพลับพลา
                        ทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ในสี่จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี มีความยาวประมาณ ๖๓๕ กม.  เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขต จ.สุรินทร์ ยาว ๑๒๖ กม.  อยู่ในเขตกิ่ง อ.พนมดงรัก อ.กาบเชิง อ.สังขละ และอ.บัวเชด ทิวเขานี้เกิดจากการยกตัวของพื้นแผ่นดินตะแคง สูงขึ้นด้านหนึ่ง โดยมีด้านที่ลาดชันมาก อยู่ในเขตของประเทศกัมพูชา และด้านที่ลาดชัดน้อยอยู่ในเขตประเทศไทย มีลักษณะเป็นสันเขาเตี้ย ๆ มีความสูงเพียง ๗๔๐ เมตร
                        บริเวณส่วนใหญ่ของจังหวัด มีภูมิประเทศที่เป็นลอนลาด มีเนินเขาและภูเขาเตี้ย ๆ แทรกอยู่เป็นบางตอน โดยพื้นที่จะค่อย ๆ ลาดต่ำ จากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ ในความสูงประมาณ ๑๒๕ - ๒๕๐ เมตร  จากระดับน้ำทะเล
                         ด้านประวัติศาสตร์  จ.สุรินทร์ เคยเป็นที่อยู่ของชุมชนโบราณ มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี มาจนถึงเมื่อขอมเข้ามามีอำนาจปกครองดินแดน ในอีสานตอนใต้ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ได้พบร่องรอยแหล่งชุมชนโบราณ เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ใน จ.สุรินทร์ หลายแห่งมีปราสาท ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของขอม ได้แผ่เข้ามาในบริเวณนี้ อย่างกว้างขวาง ก่อนการตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้น ในตอนปลายของพุทธศตวรรษที่สิบเก้า
                        ในสมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (เจ้าสามพระยา)  กษัตริย์องค์ที่เจ็ด ของกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองนครธม ของเขมรได้ในปี พ.ศ.๑๙๗๔  ทำให้หัวเมืองในอีสานตอนล่าง พ้นจากอำนาจของเขมร มาอยู่ใต้อำนาจของไทย แต่ให้ชุมชนในท้องถิ่นปกครองกันเอง ชนพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นพวกข่า ส่วย และเขมร ปะปนกัน ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า เขมรป่าดง
                        รัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกหมู่บ้านชาวส่วย ขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ รวมสี่เมืองคือ เมืองประทายสมันต์ เมืองสังฆะ เมืองรัตนบุรี และเมืองขุขันธ์  อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนชื่อ เมืองประทายสมันต์เป็น เมืองสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ และให้เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
                        เนื่องจาก จ.สุรินทร์ เคยอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง และวัฒนธรรมของเขมร มาเป็นเวลาช้านานก่อนสมัยอยุธยา จึงมีโบราณสถานที่เรียกว่า ปราสาท อยู่มากกว่าสามสิบแห่ง ที่สำคัญได้แก่
                            ๑. ปราสาทบ้านพลวง  อยู่ที่ ต.กังแอน อ.ปราสาท เป็นปราสาทศิลาแลง มีกรอบประตูทำด้วยหินทราย สลักเป็นภาพต่าง ๆ สวยงาม ฝีมือปราณีต สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
                            ๒. ปราสาทศีขรภูมิ  อยู่ที่ ต.ระแงว อ.ศรีขรภูมิ ประกอบด้วยปราสาทอิฐ จำนวนห้าหลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีปราสาทขนาดเล็กประจำอยู่ทั้งสี่มุม มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด
                            ๓. ปราสาทตาเมือนธม  อยู่ที่ ต.ตาเมียง กิ่ง อ.พนมดงรัก ประกอบด้วยปราสาทหินทรายสามหลัง ปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ปราสาทอีกสองหลัง อยู่ขนาบด้านซ้ายและด้านขวา สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗           ๒๘/๑๗๘๕๗
                ๕๑๒๔. สุริยวงศ์  เป็นคำเรียกวงศ์กษัตริย์โบราณ ในวรรณคดีไทย เอามาจากคำสูรยวงศ์ ในวรรณคดีสันสกฤต แปลว่า ตระกูล หรือวงศ์ที่สืบเนื่องมาจากสูรยเทพ หรือพระอาทิตย์ คู่กับจันทวงศ์ หรือวงศ์พระจันทร์  ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่ กรุงหัสติมาปุระ ริมฝั่งแม่น้ำยมนา รายนามกษัตริย์สุริยวงศ์ทุกองค์ มีอยู่ในคัมภีร์วิษณุปุราณะ ซึ่งลำดับสุริยวงศ์ไว้สองสายคือ สายกษัตริย์ที่ครองเมืองอโยธยา กับสายกษัตริย์ที่ครองเมืองมิถิลา ปฐมกษัตริย์สุริยวงศ์คือ อิกษวากุ (บาลีเรียก โอกากะ) เป็นหลานของพระอาทิตย์ โดยเรียงลำดับ ดังนี้ สูรยะ - มนูไววัสวัต - อิกษวากุ และ จาก อิกษวากุ สุริยวงศ์ ก็แยกออกเป็นสองสายคือ โอรสองค์ใหญ่ของอิกษวากุ ชื่อ วิกุกษี ได้ครองเมืองอโยธยา เรียกกันว่า กษัตริย์อโยธยา ส่วนโอรสองค์เล็กของอิกษวากุ ชื่อ นิมิ ไปครองกรุงมิถิลา เรียกว่า กษัตริย์มิถิลา
                        ถึงแม้ว่า กษัตริย์สุริยวงศ์ทั้งสองสาย จะสิ้นสูญไปนานแล้ว แต่ในปัจจุบันเจ้านายทั้งหลาย ในแคว้นราชปูต และราณะ (ผู้ครองนคร) แห่งอุทัยปุระ ก็ยังถือว่า ตนอยู่ในสุริยวงศ์ ในขณะที่ผู้ครองแคว้นคุทช์ และแคว้นสินธ์ ก็อ้างว่าตนมากจาก จันทรวงศ์ เช่นเดียวกัน        ๒๘/๑๗๘๖๒
                ๕๑๒๕. สุริยาศน์อมรินทร์, สมเด็จพระที่นั่ง  (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐)  มีอีกพระนามว่า พระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย พระองค์ที่สามสิบสาม แห่งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองมีปัญหามาก และจากการรุกรานของพม่า ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
                        พระองค์มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี)  เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)  แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๑๐)   มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กรมขุนเสนาพิทักษ์) และพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอุทุมพร (กรมขุนพรพินิต) ต่อมาคือ พระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ.๒๓๐๑)
                        สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี "โฉดเขลา หาสติปัญญา และความเพียรมิได้ ถ้าเป็นพระมหาอุปราช บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติฉิบหาย" และทรงเห็นว่า เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม จึงโปรดให้เป็นพระมหาอุปราช และโปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผนวช
                    เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประชวร เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ลอบลาผนวช และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๓๐๑ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร แต่พระองค์ทรงเกรงพระทัย และเผอิญพระองค์มีพระชนมายุครบบวช ดังนั้น หลังจากครองราชย์ได้เดือนเศษ จึงเสด็จออกผนวช และเสด็จไปประทับที่วัดประดู่โรงธรรม (วัดประดู่ทรงธรรม)  เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่สาม
                        ในเวลาเก้าปี ที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้น มีปัญหาเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก จนเป็นเหตุนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
                        ความคิดในการแย่งชิงราชสมบัติมีอยู่ตลอดเวลา ขุนนางแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่ง จงรักภักดีต่อพระองค์ อีกกลุ่มหนึ่ง จงรักภักดีต่อพระเจ้าอุทุมพร
                        ความเสื่อมของระบบการป้องกันประเทศ เป็นอีกปัญหาหนึ่งเพราะการไม่มีสงครามภายนอกเป็นเวลานาน และการกบฎภายใน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทำให้การควบคุมหัวเมือง และการควบคุมกำลังคน หรือไพร่พลไม่มีประสิทธิภาพ ไพร่หลวงซึ่งเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ได้รับความเดือดร้อน มากกว่าไพร่สม ซึ่งเป็นคนของมูลนาย มีการหลยหนีเข้าป่า จนทางราชการต้องลดเวลาการเข้าเดือนของไพร่หลวง จากเดิมหกเดือน เหลือสี่เดือน ต่อปี
                        ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจ ปรากฎว่าพระองค์ และขุนนางหลายคน ต้องเป็นหนี้บริษัท อินเดียตะวันออก ของฮนลันดา จนนำไปสู่การปิดสถานีการค้าของ บริษัทอินเดียตะวันออก ของฮอลันดา ที่พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๒๓๐๘
                        ในส่วนปัญหาจากภายนอกคือ การรุกรานของพม่า พระเจ้าอลองพญา ยกกองทัพมาโจมตีไทยในปี พ.ศ.๒๓๐๓ โดยยกกองทัพมาตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเป็นของไทย ทัพพม่ามีกำลัง ๓๐,๐๐๐ คน ทัพพม่ารุกมาเรื่อย ๆ ได้เมืองกุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ขุนนาง และราษฎร ได้พากันไปกราบทูลขอให้ พระเจ้าอุทุมพรทรงแก้ไขสถานการณ์ จัดการป้องกันกรุงศรีอยุธยา และส่งกองทัพไปต้านทัพพม่า แต่ไม่สามารถต้านได้
                        พระเจ้าอลองพญา ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกปืนใหญ่ยิงเอง แตกระเบิดใส่ จนประชวรหนัก จึงให้ยกทัพกลับ และสวรรคตระหว่างทาง พระเจ้ามังระได้ครองราชย์ต่อมา
                        ในปี พ.ศ.๒๓๐๖ พม่ายกทัพมาตีไทย ทั้งจากทางเหนือ และทางใต้ โดยได้ส่งกองทัพไปตีหัวเมืองล้านนา ในปีต่อมาได้ส่ง เนเมียวสีหบดีคุมกำลังไปเสริมอีก สามารถตีเชียงใหม่ หลวงพระบาง และในปี พ.ศ.๒๓๐๗ ได้ให้มังมหานรธายกทัพไปทวาย มะริด ตะนาวศรี พระเจ้ามังระเห็นว่า ทัพพม่ารบชนะไทยง่าย จึงให้กองทัพทั้งสองตีกระหนาบ เข้ามาบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยา โดยทางเหนือ กองทัพเนเมียวสีหบดียกลงมา ในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๐๘ ตีได้เมืองต่าง ๆ คือ ตาก กำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ อ่างทอง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ส่งกองทัพไปต่อต้าน แต่ไม่เป็นผล มีการต่อต้านที่สำคัญ จากการรวมตัวของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งรบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้ง ทำให้กองทัพของเนเมียวสีหบดีหยุดชะงักไปห้าเดือน กว่าจะยกมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๐๘ ในเวลาใกล้เคียงกับกองทัพของเนเมียวสีหบดี
                        กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๐๘ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นเวลาสิบสี่เดือนนั้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก มีราษฎรบางส่วนหลบหนีไปสวามิภักดิ์พม่า พระยาวชิรปราการ (สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรหมดหวังในการป้องกันกรุง จึงตีแหวกวงล้อมพม่าไปทางหัวเมืองตะวันออก
                        ฝ่ายไทยไปเจรจาสงบศึก และยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่แม่ทัพพม่าไม่ยินยอมขอทำสงครามต่อไป ให้ได้ชัยชนะเด็ดขาด พม่าเข้ากรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ จับผู้คนประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนเป็นเชลย ยึดทรัพย์สมบัติกลับไปพม่า        ๒๘/๑๗๘๖๘
                ๕๑๒๖. สุริยปราคา  ตามศัพท์แปลว่า "เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์" หมายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้กับดวงอาทิตย์ ชาวบ้านเรียกว่าสุริยคราส แปลว่า กินดวงอาทิตย์ เพราะคนโบราณเชื่อว่า มียักษ์ชื่อ ราหู คอยจับดวงอาทิตย์กิน
                        สุริยคราสเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน เพราะดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปอยู่ระหว่าง ดวงอาทิตย์กับโลก เงาของดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นมีสองลักษณะคือ เงามืด และเงามัว เงามืดมีปลายแหลม ส่วนเงามัวปลายบาน ถ้าเงามัวของดวงจันทร์สัมผัสโลกที่ใด ที่นั่นจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังไม่หมด จึงเห็นดวงอาทิตย์เป็นเสี้ยว เรียกว่า สุริยปราคาบางส่วน ถ้าเงามืดทอดไปถึงผิวโลกแห่งใด คนบนโลก ณ ที่นั้นจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิคย์ได้หมดดวงเรียกว่า สุริยปราคาเต็มดวง แต่ถ้าดวงจันทร์อยู่ห่างโลกมากขึ้น เงามืดของดวงจันทร์ยาวไปถึงโลกด้วยเงามัวสวย ที่ต่อจากปลายเงามืดเท่านั้นที่สัมผัสผิวโลก คนบนโลกที่อยู่ภายใต้เงามัวส่วนนี้ จะเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นรูปวงแหวนสีดำ จึงเรียกว่า สุริยปราคาวงแหวน
                        จำนวนการเกิดสุริยปราคา และจันทรปราคาในหนึ่งปีมีมากที่สุดเจ็ดครั้ง สุริยปราคาเต็มดวงจะเกิดอย่างมาก ไม่เกินเจ็ดนาทีแปดวินาที และเกิดในไทย เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๘        ๒๖/๑๗๘๗๖
                ๕๑๒๗. สุริโยทัย, สมเด็จพระ  เป็นวีรสตรีสำคัญของไทย ที่ยอมสละพระชนม์ชีพ เพื่อปกป้องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และอิสระภาพของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งพม่า ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑
                        สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็น อัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระมหากษัตริย์องค์ที่สิบหก แห่งกรุงศรีอยุธยา
                        พระมหาจักรพรรดิ์ได้เสด็จยกทัพหลวงไปที่ทุ่งภูเขาทอง พร้อมสมเด็จพระศรีสุริโยทัพ ซึ่งทรงแต่พระองค์อย่างพระมหาอุปราช กองทัพหลวงปะทะกับกองทัพหน้าของพม่า ซึ่งมีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพ พระมหาจักรพรรดิ์ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียที ช้างพระเจ้าแปรวิ่งตามมา สมเด็จพระศรีสุริโยทัพทรงไสช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์เข้าขัดขวาง
    พระเจ้าแปรจึงฟันสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวร และพระมหินทรเข้าช่วย จนพระเจ้าแปรถอยทัพออกไป ทัพไทยอัญเชิญพระศพ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยกลับเข้าพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์พระราชทานเพลิงศพ ที่สวนหลวงติดกับวัดสบสวรรค์ และต่อมาทรงสร้างวัด และพระเจดีย์ขึ้น ซึ่งเรียกว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย
                        สมเด็จพระศรีสุริโยทัยมีพระราชโอรส และพระราชธิดาสี่พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร  พระวิสุทธิกษัตริ์และพระเทพกษัตริย์ มีพระราชนัดดาสำคัญสองพระองค์ที่ประสูติ แต่พระวิสุทธิ์กษัตริย์ และต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๔๘) และสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.๒๑๔๘ - ๒๑๕๓)           ๒๘/๑๗๘๘๓
                ๕๑๒๘. สุลต่าน  มาจากภาษาอาหรับแปลว่า ชัยชนะ ใช้ในความหมายว่า ผู้ปกครอง หรือกษัตริย์ นิยมใช้กับผู้ปกครองที่เป็นมุสลิม ตำแหน่งสุลต่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุลต่านแห่งจักรวรรดิ์ออตโตมัน
                        เดิมชาวอาหรับมีแต่ตำแหน่งชีค ซึ่งมักแปลว่า หัวหน้าเผ่า ตำแหน่งเอมี  หรืออามีร์ ซึ่งเทียบกับเจ้าชาย หรือผู้ปกครองอาณาจักรเล็ก ๆ ต่อมาชาวอาหรับได้รับคำสอนจาก นบีมุฮัมมัดก็ยอมรับศาสนาอิสลาม เมื่อนบีมุฮัมมัดล่วงลับไป ก็มีผู้ปกครองชาวมุสลิมสืบต่อเรียกว่า คอลีฟะฮ์ แปลว่า ผู้สืบต่อ หมายถึง ผู้สืบต่อจากนบีมุฮัมมัด คอลีฟะฮ์มีอำนาจปกครองทั้งในด้านอาณาจักร และศาสนจักร สี่คนแรกได้มาจากการสืบตำแหน่งทางเชื้อสายคือ คอลิฟะฮ์วงศ์อุมัยยะ และวงศ์อัปบาซียะ ตามลำดับ คอลีฟะฮ์ดังกล่าว เป็นตำแหน่งผู้ปกครองจักรวรรดิ์อยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๘๐๑ เมื่อจักรวรรดิ์อาหรับล่มสลาย
                        ก่อนที่จักรวรรดิ์อาหรับจะสิ้นสุดลงนั้น ดินแดนในจักรวรรดิ์เริ่มแตกแยก ผู้นำมุสลิมซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ในดินแดนต่าง ๆ โดยไม่ยอมขึ้นอยู่กับจักรวรรดิ์อาหรับ จะเรียกตนเองว่า สุลต่าน อันเป็นตำแหน่งผู้ปกครองที่ได้มาจากชัยชนะ ในการรบต่อสู้  เช่น สุลต่านมะหมูด แห่งคอชนี (พ.ศ.๑๕๔๐ - ๑๕๗๓) บริเวณซึ่งปัจจุบันคือ อัฟกานิสสถาน สุลต่านแห่งราชวงศ์เซลจูก ซึ่งมาจากอนาโตเลีย ในเอเชียน้อย แล้วรุกเข้ามาโจมตีจักรวรรดิ์อาหรับที่อ่อนแอ ในบริเวณดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพวกคริสต์ศาสนิกชน อันเป็นเหตุให้เกิดสงครามครูเสดระหว่างปี พ.ศ.๑๖๔๒ - ๑๘๓๔ ผู้นำมุสลิมซอลาหุดดิน หรือซาลาดิน ซึ่งนำชาวมุสลิมเข้าต่อสู้กับพวกครูเสดในพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด ก็ได้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน ครองอาณาจักรอียิปต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๑๘ และใช้อียิปต์เป็นที่มั่นสู้รบกับพวกครูเสด มีชัยชนะหลายครั้ง จนพวกครูเสดต้องยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกในปี พ.ศ.๑๗๓๔ แต่เมื่อสุลต่านซาลาดินสิ้นพระชนม์ พวกครูเสดก็เริ่มทำสงครามอีก เชื้อสายซาลาตินสู้รบกันเอง อาณาจักรอียิปต์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสุลต่าน ราชวงศ์มัมลูก ต่อมากองทัพชาวมองโกลได้ยกทัพมาตีกรุงแบกแดด ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอาหรับแตกในปี พ.ศ.๑๘๑๑ ทำให้คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซียะ แห่งจักรวรรดิ์อาหรับสิ้นอำนาจ สุลต่านราชวงศ์มัมลูก จึงแต่งตั้งตนเองเป็นทั้งสุลต่าน และคอลีฟะฮ์ โดยถือว่าสืบทอดตำแหน่งคอลยีฟะฮ์ มาจากจักรวรรดิ์อาหรับซึ่งล่มสลายแล้ว
                        ในบริเวณตะวันออกกลาง ก็มีผู้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน เช่น สุลต่านติมูร์ (พ.ศ.๑๘๗๔ - ๑๙๔๗) ส่วนในอินเดีย เหนือช่วง พ.ศ.๑๗๕๔ - ๒๐๖๙ ก็มีสุลต่านหลายราชวงศ์ครองสืบต่อกัน โดยมีกรุงเดลลีเป็นเมืองหลวง
                        ตำแหน่งสุลต่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุลต่านแห่งจักรวรรดิ์ออตโตมัน ซึ่งเริ่มก่อตัวราวปี พ.ศ.๑๘๔๓ และขยายอำนาจกว้างขวางขึ้นเมื่อสุลต่านเมห์เมตที่สอง ตีได้กรุงคอนสแตนติโนเบิลในปี พ.ศ.๑๙๙๖ และได้รับสมญาว่า เมห์เมตผู้พิชิต ต่อมาอาณาจักรออตโตมันขยายอาณาเขตออกไปถึงสามทวีปได้แก่ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เมื่อสุลต่านเซริมรบชนะอียิปต์ในปี พ.ศ.๒๐๖๐ สุลต่าน - คอลีฟะฮ์ มูตาวักกิน แห่งราชวงศ์มัมลูกซึ่งครองอียิปต์ ขณะนั้นก็ได้ถวายตำแหน่งคอลีฟะฮ์แก่สุลต่านเซลิม แต่สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน ก็ยังมิได้สนใจเรียกตนเองเป็น คอลีฟะฮ์ จนกระทั่งจักรวรรดิ์ออตโตมันสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ตำแหน่งสุลต่านจึงถูกยุบไปในปี พ.ศ.๒๔๖๕ และตำแหน่งคอลีฟะฮ์ถูกยุบไปในปี พ.ศ.๒๔๗๗ โดยยคำสั่งของประธานาธิบดีเดมาล อะตาเติร์ก แห่งสาธารณรัฐตุรกี
                        ในทางทฤษฎีตำแหน่งสุลต่านต่าง ๆ จากตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ตรงที่สุลต่านไม่มีอำนาจทางด้านศาสนา เช่น คอลีฟะฮ์ ในบางกรณีคอลีฟะฮ์เป็นผู้แต่งตั้งสุลต่าน แต่ในทางปฏิบัติสุลต่านมีอำนาจเช่นเดียวกับกษัตริย์ ชาวมุสลิมในอาณาจักรของสุลต่าน เอ่ยนามสุลต่านในการนมาซ (ละหมาด) ทุกครั้ง
                        มีข้อยกเว้นในเปอร์เซียหรืออิหร่าน ซึ่งตำแหน่งสุลต่านเทียบเท่าข้าหลวงเท่านั้น ชาวเปอร์เซียเรียกผู้ปกครองว่า ชาห์ เรียกจักรวรรดิ์ว่า ชาห์อินชาห์ ราชวงศ์มุกัล ซึ่งครองอินเดียระหว่างปี พ.ศ.๒๐๖๙ - ๒๔๐๑ นั้น เรียกตัวเองแบบเปอร์เซียว่า ชาห์ ส่วนมุสลิมในแหลมมลายู เรียกผู้ปกครองว่า ออตโตมัน
                ปัจจุบันตำแหน่งสุลต่านยังใช้อยู่ในบางรัฐของประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และบางประเทศในตะวันออกกลาง        ๒๘/๑๗๘๘๗
                ๕๑๒๙. สุวรรณสาม  เป็นพระนามของพระโพธิสัตว์  ในพระชาติที่สามในทศชาติ เป็นบุตรของดาบสชื่อ ทุกูลบัณฑิต กับดาบสินีชื่อ ปาริกา เมื่อสุวรรณสามอายุได้สิบหกปี บิดามารดาถูกพิษงูจนตาบอด สุวรรณสามก็ปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดา ต่อมาวันหนึ่งพระเจ้ากบิลยักษ์ กษัตริย์แห่งเมืองพาราณสี ออกป่าล่าสัตว์ เห็นฝูงสัตว์เดินห้อมล้อมสุวรรณสามอยู่อย่างน่าอัศจรรย์ จึงประสงค์จะทราบว่าเป็นใคร เทวดาหรือนาค จึงเอาลูกศรอาบยาพิษยิงไปถูกสุวรรณสาม สุวรรณสามประครองสติถามออกไปว่าใครเป็นผู้ยิง พระเจ้ากบิลยักษ์ยอมรับว่า พระองค์เป็นผู้ยิง แล้วถามความเป็นมาของสุวรรณสาม เมื่อทราบความแล้ว  ก็รับว่าพระองค์จะเป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดาของสุวรรณสาม แทนสุวรรณสาม เมื่อพ่อแม่ของสุวรรณสามทราบเรื่อง ก็ให้พามาพบลูกแล้วช่วยกันอธิษฐานจิต อ้างเอาความดี กตัญญูกตเวทีและสัมมาปฏิบัติ ตลอดมาของผู้เป็นบุตร ทำให้สุวรรณสามฟื้นกายหายจากบาดเจ็บ ตาของดาบสทั้งสองหายบอด เป็นปรกติ
                        พระเจ้ากบิลยักษ์ ตรัสว่าพระองค์หลงงมงายมานานแล้ว สุวรรณสามทำให้พระองค์มีความสว่างไสว จึงขอให้สุวรรณสามเป็นสรณะ สุวรรณสามถวายพระพรให้พระเจ้ากบิลยักษ์สำเร็จพระประสงค์ และถวายโอวาทความว่า "ขอพระองค์ประพฤติชอบในพระชนก และพระชนนี มิตร อำมาตย์ ไพร่พล ชาวบ้าน ชาวนิคม ชาวเมือง ชาวชนบท สมณพราหมณ์ ตลอดจนสรรพสัตว์ เมื่อทรงประพฤติชอบเช่นนี้แล้ว จะเสด็จไปเกิดในสวรรค์"
                        สุวรรณสามเลี้ยงดูบิดามารดา จนท่านทั้งสองสิ้นชีพไป ส่วนตนเองก็บำเพ็ญญาณสมาบัติจนสำเร็จ เมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดเป็นพรหม ในพรหมโลกร่วมกับบิดามารดา ที่มาเกิดอยู่ก่อน
                        ในชาตินี้เป็นพระโพธิสัตว์สุวรรณสามนี้ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีเป็นบารมีนำ        ๒๘/๑๗๘๙๐
                ๕๑๓๐. สุเอซ, คลอง  เป็นทางน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อใช้เดินเรือ ระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียนกับทะเลแดง ผ่านคอคอดสุเอซ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมทวีปยุโรปกับทวีปเอเซีย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอียิปต์ คลองนี้มีความยาว ๑๗๑ กม. ตั้งต้นจากเมืองพอร์ตซาอิด บนฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ถึงเมืองสุเอซ บนอ่าวสุเอซตอนเหนือสุดของทะเลแดง
                        คลองสุเอซ เป็นคลองสำคัญมาก ในการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ เนื่องจากสมารถย่นระยะทางเดินเรือ ระหว่างทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ กับทวีปเอเชีย โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา เช่น การเดินเรือจากประเทศอังกฤษ ไปยังประเทศอินเดีย โดยผ่านคลองนี้จะย่นระยะทางได้มากกว่า ๖,๐๐๐ กม. และการเดินเรือจากสหรัฐอเมริกา ไปยังอ่าวเปอร์เซีย จะย่นระยะทางได้ประมาณ ๕,๕๐๐ กม.
                        การขุดคลองสุเอซ เพื่อใช้เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียน กับทะเลแดงได้เคยมีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ มีหลักฐานว่า เมื่อ ๒,๐๐๐ ปี ก่อนกษัตริย์ของอียิปต์ได้ให้ขุดคลอง เชื่อมแม่น้ำไนล์กับทะเลแดง เรือจากทะเลเมดิเตอเรเนียนสามารถแล่นตามลำแม่น้ำไนล์ ไปออกยังทะเลแดงได้ ต่อมาคลองนี้ตื้นเขิน จึงเลิกใช้ไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่สิบสาม
                        ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จักรพรรดิ์นโปเลียน โบนาปาร์ต ของฝรั่งเศส ได้เสด็จมาที่อียิปต์ และสนพระทัย ที่จะให้มีการขุดคลองเชื่อมทะเลเมดิเตอเรเนียน กับทะเลแดง แต่ไม่ได้มีการดำเนินงานดังกล่าว เรื่องวิศวกรเชื่อว่า ระดับน้ำในทะเลเมดิเตอเรเนียน ต่ำกว่าในทะเลแดงประมาณ ๑๐ เมตร หากมีการขุดคลองก็จะเดินเรือได้ลำบาก แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ระดับน้ำในทะเลทั้งสองแห่ง ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดนัก
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๗ เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซป วิศวกรและนักการทูต ชาวฝรั่งเศส ได้เจรจากับ มูฮัมมัด ซาอิด ปาชา อุปราชของอียิปต์ ขอจัดตั้งบริษัทเพื่อขุดคลองสุเอซ ได้รับสัมปทานให้ดำเนินการได้เป็นเวลา ๙๙ ปี นับตั้งแต่เมื่อเริ่มเปิดใช้คลอง ในการจัดตั้งบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ในตอนแรกมีเพียงสองชาติคือ ฝรั่งเศส กับอิยิปต์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๘ รัฐบาลอังกฤษได้รับซื้อหุ้นจากอุปราชอิยิปต์ไว้ทั้งหมด จึงได้เข้าบริหารกิจการของบริษัทร่วมกับฝรั่งเศส  แทนที่อิยิปต์
                        การดำเนินการขุดคลองเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๐๒ ใช้เวลาสิบปีครึ่ง จึงแล้วเสร็จเปิดใช้คลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ ในตอนแรกที่ขุดคลองสุเอซ มีความลึกมากที่สุดเพียง ๘ เมตร มีความกว้างที่ก้นคลอง ๒๒ เมตร ความกว้างบนพื้นฝั่งคลอง ๗๐ เมตร ต่อมาภายหลังจึงได้มีการขุดขยายคลองให้ลึก และกว้างมากขึ้นอีกหลายครั้ง เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ แล่นผ่านเข้าออกได้สะดวก รวมทั้งมีช่องทางให้เรือแล่นสวนกันได้ในบางจุด
                        หลังจากเปิดใช้คลองในปี พ.ศ.๒๔๑๒ แล้ว มีเรือนานาชาติใช้บริการของคลองเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และเพื่อเป็นการประกันสิทธิในการใช้คลอง ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในปี พ.ศ.๒๔๓๑ กำหนดให้เรือของทุกชาติ สามารถใช้คลองนี้ไม่ว่าในยามสงบ หรือยามสงคราม แต่ในทางปฎิบัติไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างแท้จริง ดังในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษประกาศห้ามเรือของชนชาติศัตรู แล่นผ่านคลองสุเอซ และในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ เมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับ กับอิสราเอล ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๔๙๒  อิยิปต์ได้ถือโอกาสออกประกาศห้ามเรือของอิสราเอล หรือเรือบรรทุกสินค้าของอิสราเอล แล่นผ่านคลองสุเอซ
                        ในปี พ.ศ.๒๔๙๙  ประธานาธิบดี กามัล อับเดล นัสเซอร์ ของอิยิปต์ได้ประกาศยึดคลองสุเอซเป็นของรัฐ โดยอ้างว่า เพื่อนำรายได้ที่จะเก็บจากค่าธรรมเนียม การใช้คลองไปใช้เป็นทุน ในการสร้างเขื่อนไฮห์อัสวาน ในอิยิปต์ ทำให้เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประท้วง อิยิปต์ ก็ประกาศกฎอัยการศึก ในบริเวณคลองสุเอซ พร้อมกับส่งกองกำลังเข้าควบคุมกิจการของคลอง อิสราเอลถือโอกาสส่งกองกำลัง บุกเข้าไปในคาบสมุทรไซนาย ของอิยิปต์ และมุ่งหน้าไปที่บริเวณเขตคลอง ในเวลาไล่เลี่ยกัน อังกฤษและฝรั่งเศส ก็ยกพลขึ้นบกที่เมืองพอร์ตซาอิด อ้างว่าเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย อิยิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือ กีดขวางคลองไม่ให้เรือผ่าน
                        จากการเข้าแทรกแซงขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ทำให้อังกฤษ และฝรั่งเศส ต้องยอมถอนกองกำลังออกจากคลองสุเอซ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ หลังจากนั้น องค์การสหประชาชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยกู้เรือ ที่อิยิปต์จมปิดขวางคลองไว้ และอิยิปต์ได้ยินยอมให้เปิดใช้คลองได้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๐๐  เมื่ออิสราเอลยอมถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนาย แล้ว
                        บริษัทคลองสุเอซ ไม่สามารถแย่งชิงกรรมสิทธิ์กลับคืนมาได้ ในที่สุดธนาคารโลก ได้เจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทได้ทำสัญญากับรัฐบาลอิยิปต์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ โดยรัฐบาลอิยิปต์จ่ายเงินชดเชย ให้บริษัทเป็นจำนวน ๒๘.๓ ล้านปอนด์อิยิปต์ หรือ ๘๑.๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                        อิยิปต์ ได้ลงทุนปรับปรุงคลอง โดยกู้เงินจากธนาคารโลก และธนาคารเอกชนรวมเก้าแห่ง ส่วนใหญ่เป็นธนาคารในสหรัฐอเมริกา มาใช้ขุดขยายคลอง ให้ลึกและกว้างมากขึ้น ปัจจุบันคลองสุเอซ มีความลึกเฉลี่ย ๒๐ เมตร ความกว้างที่ก้นคลอง ๑๐๙ เมตร ความกว้างที่พื้นผิวน้ำ ๒๘๐ เมตร เรือเดินทะเลรวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ สามารถแล่นผ่านได้สะดวก ตลอดแนวลำคลอง
                        เนื่องจากอิยิปต์ ไม่ยอมให้เรือของอิสราเอล หรือเรือของชนชาติอื่นที่บรรทุกสินค้าของอิสราเอลผ่าน คลองนี้อยู่เช่นเดิม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ อีกครั้งหนึ่ง อิสราเอลส่งกำลังบุกเข้าไปถึงด้านตะวันออกของคลองสุเอซ อิยิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือขวางคลอง เกิดวิกฤตการณ์ครั้งที่สอง เป็นระยะเวลาถึงแปดปี  จากปี พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๑๘  หลังจากอิยิปต์และอิสราเอลทำข้อตกลงสันติภาพต่อกัน ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว อิยิปต์ก็ยอมให้เรืออิสราเอลใช้คลองสุเอซได้โดยเสรี        ๒๘/๑๗๘๙๖

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch