หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/129
    ๔๓๙๙. เมฆ  เป็นปรากฎการณ์ของไอน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวให้มองเห็นเป็นรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ลอยอยู่ในอากาศ เมฆมีลักษณะปรากฎเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ขึ้นอยู่กับกระแสอากาศเปลี่ยนแปลงไปในแนวตั้งหรือแนวนอน บางครั้งเป็นก้อน บางครั้งเป็นแผ่น แต่เมฆในระดับสูงมากๆ มักจะเป็นฝ้าหรือเป็นฝอย ปรกติแล้วเมฆเป็นสีขาวหรือเสี้ยว เหลืองอ่อน แต่จะเห็นเป็นสีดำคล้ำขั้น ถ้าเมฆหนาทึบหรือมีเมฆเบื้องบนบังแดดไว้ เมฆในระดับหนึ่ง ๆ มักจะมีฐานราบเคลื่อนที่ไปได้ตามทิศทางของลม
                    เมฆเรียกชื่อกันทั่วไปตามลักษณะที่มองเห็นได้เป็นสี่ประเภท คือ
                        ๑.เมฆฝอย ลอยอยู่ในระดับสูงจากพื้นดินมากมองเห็นเป็นริ้ว ถ้าเมฆประเภทนี้หนาขึ้นก็จะเห็นเป็นฝ้าหรือแผ่นบาง ๆ แสงอาทิตย์ในมุมสูง ส่องผ่านจะเกิดแสงหักเหทำให้เห็นเป็นวงแสง "อาทิตย์ทรงกรด" แต่แสงอาทิตย์ในมุมต่ำใกล้เวลาดวงอาทิตย์ตกดิน อาจทำให้เห็นเมฆปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ผีตากผ้าอ้อม
                        ๒.เมฆแผ่น ลอยแผ่ติดต่อหรือต่อเนื่องออกไปในแนวนอน ถ้าลอยอยู่ใกล้พื้นดินจะมีลักษณะคล้ายหมอกหรือกึ่งหมอกเมฆ แสดงว่ามีอากาศชื้น เมฆที่เกิดใกล้ชิดพื้นดินเรียกว่า หมอก
                        ๓.เมฆก้อน ลอยอยู่ในระดับต่ำมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนกลุ่มก้อนสำลีและมักจะมีรูปขยายขึ้นไปในแนวตั้ง ถ้าเป็นก้อนใหญ่ก็จะมีความหนาทึบขึ้น ถ้ามียอดสูงขึ้นมากก็มีโอกาสที่ไอน้ำจะรวมตัวเป็นฝนได้มากขึ้น และขนาดเม็ดฝนใหญ่ขึ้น
                        ๔.เมฆฝน ลอยแผ่ขยายในระดับต่ำและหนาทึบขึ้นไปเบื้องบนจนสีมืดคล้ำสีเทาแก่หรือสีดำ มักจะทำให้ฝนตกจะปรากฎเมื่อมีลักษณะอากาศไม่ดี
                    เมฆเกิดขึ้นได้จากการกลั่นตัวของไอน้ำที่มองไม่เห็นในอากาศ ถ้าอากาศเย็นลงจะมีความสามารถรับไอน้ำได้ลดลง และเมื่อเย็นจัดลงไปอีก จนถึงสถานะอิ่มไอน้ำก็พร้อมที่จะกลั่นตัว รวมไอน้ำเป็นสภาพของเหลวคือ ละอองน้ำให้เป็นเมฆได้ ปรากฎการณ์ธรรมชาติเช่นนี้เกิดขึ้นได้เมื่ออากาศส่วนหนึ่งต้องลอยขึ้น และลดอุณหภูมิลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้เกิดการกลั่นตัวได้ก็คือ อนุภาคกลั่นตัว ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น แต่ดูดน้ำได้ในบรรยากาศ เช่น อนุภาคเกลือทะเล และอนุภาคของสารเคมีจากฝุ่นเถ้าธุลีจากโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ อนุภาคเหล่านี้เป็นพาหะที่ไอน้ำจะยึดเหนี่ยว และรวมตัวให้เป็นละอองน้ำ มีขนาดใหญ่ขึ้น ได้พร้อมกับการคายความร้อนแฝง เฉลี่ยออกมาให้อากาศโดยรอบ เรียกว่า การควบแน่น คือการกลั่นตัวนั่นเอง         ๒๓/๑๔๙๔๒
                ๔๔๐๐. เมฆทูต  เป็นชื่อของวรรณกรรมสำคัญในภาษาสันสกฤตเรื่องหนึ่งรจนาโดยกาลิทาส กวีและนักแต่งบทละครเอกของอินเดีย
                    เนื้อหาของเมฆทูตมีอยู่ว่า มียักษ์ (อมนุษย์) ตนหนึ่งประกอบกรรมทำผิดโดยลืมหน้าที่เจ้านายคือท้าวกุเวรโกรธ จึงเนรเทศจากนครอลกาบนเขาไกรลาสในเทือกเขาหิมาลัยให้ไปอยู่บนเขารามคีรี ณ ป่าสินชัยทางทิศใต้มีกำหนดหนึ่งปี โดยยักษ์ต้องพรากจากภริยาไปแต่ผู้เดียว
                    เมื่อกาลเวลาล่วงไป พอเข้าฤดูฝน ยักษ์ก็คิดถึงภริยาของตน เมื่อเห็นเมฆก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งกำลังลอยไปทางทิศเหนือ อันเป็นที่ตั้งของนครอลกา จึงเอ่ยปากขอร้อง ให้เมฆก้อนนั้นช่วยทำหน้าที่เป็นทูต นำข่าวความเศร้าโศกของตน ไปบอกให้ภริยาทราบ อันเป็นเหตุให้กาพย์เรื่องนี้ได้เกิดขึ้น
                    เมฆทูตเป็นขัณฑกาพย์ ซึ่งหมายถึงกาพย์ย่อยคู่กับมหากาพย์ คำฉันท์ที่ใช้มีความหมายว่า ลีลาแห่งการย่างเยื้องหรือก้าวไปช้า ๆ เมฆพูดประกอบด้วยฉันท์ หรือโศลกจำนวน ๑๑๕ บท แต่ละบทมีสี่บาท เมฆทูตแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคต้นบรรยายถึงทัศนียภาพ ที่ก้อนเมฆจะได้ประสบพบเห็นระหว่างทาง ที่ล่องลอยจากภูเขาคีรีไปยังยอดเขาไกรลาส ภาคปลายพรรณาถึงความงามของนครอลกา และสภาพอันผ่ายผอมโศกาดูรของภริยา         ๒๓/๑๔๙๔๖
                ๔๔๐๑. เม็ง - ชาติ  เม็งเป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในภาคเหนือ เชื่อกันว่าเม็งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ซึ่งได้สืบทอดมาถึงคนภาคเหนือในสมัยหลัง ปัจจุบันยังมีชนกลุ่มเม็งอาศัยในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เม็งกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการประวัติความเป็นมาวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อของตนที่แตกต่างไปจากกลุ่มชนอื่น ๆ ในภาคเหนือ
                    คำว่า เม็ง เป็นคำที่ชาวภาคเหนือ หรือล้านนาเรียกชนชาติในตระกูลมอญ เขมร จากหลักฐานศิลาจารึก และศิลปกรรมที่ขุดพบ สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางของมอญโบราณ หรือเม็งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ซึ่งพบศิลาจารึกอักษรมอญที่นครปฐม ราชบุรี อู่ทอง และลพบุรี ความเจริญของเม็ง หรือมอญแบบทวารวดีได้ขยายตัวไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ได้พบศิลาจารึกมอญที่เมืองฟ้าแดดสูงยาว จ.กาฬิสนธุ์ และที่หริภุญชัย หรือลำพูน มีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาครามเจริญของเม็ง หรือมอญย้ายไปมีศูนย์กลางที่เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖
                    เม็งจากวรรณกรรมท้าวฮุง หรือท้าวเจือง ฉบับประเทศลาวขุนเจือง เป็นวีรบุรุษของชนหลายเผ่า เช่น ลาว อีสาน ล้านน่าและเชียงตุง เชื่อว่า ขุนเจืองมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๑๖๒๕ - ๑๗๐๕ ในวรรณกรรมเรื่องนี้เขียนถึงคนเม็งว่า เม็ง มอญ และขอม เป็นชนเผ่าเดียวกัน
                    อาจกล่าวได้ว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พวกเมงคบุตร ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำปิง ได้มีความสัมพันธ์ผสมผสานกับชนกุล่มอื่น คือ ละโว้ และลัวะ พร้อมกับพัฒนาวัฒนธรรมของตนเป็นแบบหริภุญชัย โดยได้รับอิทธิพลจากทวารวดีที่ละโว้ หรือภาคกลาง อาณาจักรทวารวดีนั้น เป็นอาณาจักรของคนที่พูดภาษามอญโบราณ ในภาคกลางได้ขยายอำนาจ หรือวัฒนธรรมของตนขึ้นไปถึงพวกเม็งที่หริภุญชัย และต่อมาได้ขยายลงมาถึงลุ่มแม่น้ำวังใน จ.ลำปางด้วย
                    จากการพบศิลปะสกุลหริภุญชัย หรือมอญที่พบในเมืองหริภุญชัย และเมืองบริวารได้แก่ เวียงเถาะ อ.จอมทอง เวียงท่ากาบ อ.สันป่าตองและเวียงมะโน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พบศิลปะวัตถุ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ ศิลาจารึกภาษามอญที่เหมือนกับที่พบในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะศิลาจารึกภาษามอญโบราณ ที่พบนั้นมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับศิลาจารึกที่เมืองพุกาม สมัยพระเจ้าครรชิตประมาณปี พ.ศ.๑๖๒๘ - ๑๖๕๕ แสดงว่าเม็ง หรือมอญที่อาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสัมพันธ์กับมอญที่อยู่ในพม่าตอนใต้
                     อักษรเม็งหรือมอญโบราณได้พัฒนามาสู่อักษรพื้นเมืองในภาคเหนือคือ อักษรธรรมล้านนา ปฏิทินของเม็งได้นำมาใช้ร่วมกับปฏิทินของล้านนา ในการจดบันทึกทั้งศิลาจารึก และใบลาน           ๒๓/๑๔๙๔๘
               ๔๔๐๒. เม่งจื้อ  เป็นนักปราชญ์จีนที่มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งเกิด เมื่อปี พ.ศ.๑๗๑ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔ เป็นชาวแคว้นฉี ซึ่งอยู่ใกล้กับแคว้นหลู่ อันเป็นบ้านเกิดของขงจื้อ นับว่าเป็นทายาทผู้ยิ่งใหญ่ของขงจื้อ
                    เม่งจื้อ มีลักษณะอย่างเดียวกับขงจื้อ คือ คำสอนของท่านตั้งอยู่ในบนหลักการของมนุษยธรรม และท่านได้เพิ่มความยุติธรรม ระเบียบแบบแผนหรือหน้าที่เข้าไว้ด้วย  ๒๓/๑๔๙๕๙
                ๔๔๐๓. เม็งราย - พญา  พญาเม็งราย (พ.ศ.๑๗๘๒ - ๑๘๕๔) มีพระนามที่ถูกต้องว่า พญามังราย พระองค์เป็นกษัตริย์ไทยฝ่ายเหนือ ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรล้านนา ขึ้นเป็นปึกแผ่นสมัยเดียวกับพ่อขุนรมคำแหง ฯ ผู้ทรงสร้างอาณาจักรสุโขทัยขึ้น
                    พญาเม็งรายเป็นโอรสของลาวเม็งแก่งหิรัญนครเงินยางเชียงราวขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑๕ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๘ พระองค์มีพระประสงค์ ที่จะสร้างอาณาจักรใหญ่ โดยรวบรวมเมืองที่เป็นอิสระต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เริ่มจากหัวเมืองฝ่ายเหนือก่อน แล้วจึงขยายลงมาทางหัวเมืองฝ่ายใต้ และทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองเชียงราย (พ.ศ.๑๘๐๕)  เป็นเมืองหลวงใหม่ เมืองฝาง (พ.ศ.๑๘๑๖)  เมืองชะแว ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูน (พ.ศ.๑๘๒๖)  เวียงกุมกาม (พ.ศ.๑๘๒๙)  และเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.๑๘๓๙)
                    อาณาเขตของล้านนา สมัยของพระองค์ทางทิศเหนือถึงเชียงรุ่ง เชียงตุง ทางทิศตะวันออกถึงแม่น้ำโขง แต่ไม่รวมพะเยา แพร่และน่าน ทิศใต้ถึงลำปาง ทิศตะวันตกถึงพุกาม พระองค์ทรงปกครองโดยอาศัยกฎหมายชื่อว่า ผังรายศาสตร์
                    ราชวงศ์เม็งรายครอบครองอาณาจักรล้านนาไทยเป็นเอกราชอยู่ และขยายอาณาเขตลงมาถึงพะเยา ตาก น่าน แพร่ สวรรคโลกและสุโขทัยจนถึงปี พ.ศ.๒๑๐๑ จึงถูกพม่าตีแตก หลังจากนั้นล้านนาไทยก็เป็นเมืองขึ้นของพม่าบ้าง เป็นเอกราชบ้างและเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาบ้าง รวมเป็นเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี จึงได้ร่วมมือกับไทย ทางใต้ขับไล่พม่าออกไป และมารวมเป็นประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน         ๒๓/๑๔๙๖๗
                ๔๔๐๔. เมตไตรย  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล นับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า และองค์สุดท้ายของภัทรกัปนี้
                พระศากยโคดมพุทธเจ้า ตรัสพยากรณ์ไว้ในจักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค แห่งพระสุตตันตปิฎก        ๒๓/๑๔๙๗๑
                ๔๔๐๕. เมทิลแอลกอฮอล์  มีอีกชื่อว่า เมทานอล มีลักษณะเป็นของเหลวใสปราศจากสีเป็นสารพิษ จุดไฟติดให้เปลวไปสว่างเรือง เป็นสารที่มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรม โดยใช้เป็นตัวทำละลาย เช่น ละลายเซลแล็ก แลกเกอร์ ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีย้อม เครื่องหอม ฟอร์มาลดีไฮด์ สารผสมกันมิให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์แข็งตัวในฤดูหนาวใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับสังเคราะห์สารอื่นได้มากมายและยังใช้เป็นเชื้อเพลิง
    ได้ด้วย         ๒๓/๑๔๙๗๑
                ๔๔๐๖. เม่น  เป็นสัตว์ในวงศ์ที่มีลักษณะพิเศษ คือ มีขนที่ธรรมชาติดัดแปลงให้เป็นหนามแข็ง ปลายแหลม หลุดง่าย ใช้ป้องกันตัว เมื่อเม่นถูกสัตว์ไล่กัด ก็จะพองขนหนามแข็งออก พร้อมทั้งวิ่งไประยะหนึ่ง แล้วหยุดกระทันหัน ทำให้สัตว์ที่วิ่งไล่ตามหยุดไม่ทันก็จะชนโดนขนหนามแข็งและถูกตำได้
                    เม่นชอบกินหน่อไม้ รากไม้ หัวเผือก หัวมัน เปลือกไม้และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นมีฟันแทะที่แข็งมาก จึงสามารถกัดแทะกระดูกและงาช้างกินเป็นอาหารเสริมได้ เม่นชอบนอนในโพรงดิน         ๒๓/๑๔๙๘๐
                ๔๔๐๗. เมนเดลีเวียน  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๑ เป็นธาตุกัมมัมตรังสีไม่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติ เป็นธาตุที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น คณะผู้สร้างธาตุนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘         ๒๓/๑๔๙๘๑
                ๔๔๐๘. เมนทอล  มีอีกชื่อหนึ่งว่า การบูรเปปเปอร์มินต์ เป็นาารประกอบอินทรีย์ลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นแรง หอมเย็น เมื่อสูดดมจะให้ครามรู้สึกเย็นซ่า บริเวณเยื่อเมือกของจมูกและลำคอ กลิ่นและรสคล้ายกลิ่น และรสของพืชเปปเปอร์มินต์ สเปียร์มินต์และพืชอื่น ๆ ในสกุลเมนทา พืชสกุลนี้มีชื่อสามัญเรียกกันว่ามินต์ เท่าที่พบมีมากกว่า ๒๕ ชนิด สะระแหน่ก็จัดอยู่ในสกุลนี้ พืชในสกุลนี้สร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นได้โดยวิธีการชีวิเคมีอันสลับซับซ้อน น้ำมันหอมระเหยที่พืชสกุลนี้สร้างขึ้นมานั้นเรียกกันว่า น้ำมันมินต์ ซึ่งประกอบด้วยสารต่าง ๆ มากมายประมาณ ๔๐ ชนิด แต่องค์ประกอบส่วนใหญ่คือ เมนทอล
                    ปัจจุบันเรานำเมนทอลไปใช้ประโยชน์ได้สามกรณี คือ
                        ๑. ใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น ทำยาหม่อง ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดท้อง ปาล์มต่าง ๆ น้ำมันท่านวด ยาทาแก้คัน ยาแก้หวัด ยาประเภทสูดดมต่าง ๆ
                        ๒. ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ เช่น ครีม แป้งหอม สบู่หอม โลชั่น แชมพู
                        ๓. ใช้เป็นสารปรุงรสและกลิ่น เช่น ลูกอม ยาสีฟัน หมากฝรั่ง บุหรี่         ๒๓/๑๔๙๘๓
                ๔๔๐๙. เม่นทะเล  เป็นสัตว์ทะเลที่มักจะถูกเรียกว่า หอยเม่น เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะทั่วไปมีรูปกลมคล้ายผลส้มหรือเป็นรูปไข่ อวัยวะภายในถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็ง หนามที่คลุมตัวมีสองชนิด คือ นามใหญ่ และหนามเล็ก บางชนิดที่ปลายหนามมีถุงน้ำพิษ ด้านล่างของลำตัวยังมีหลอดตีน ซึ่งเป็นหลอดกลมยาวยืดหดได้ใช้เคลื่อนที่ ปากของเม่นทะเลอยู่ทางด้านล่าง ช่องทวารอยู่ด้านบนตรงข้ามกับช่องปาก
                    เม่นทะเลมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามพื้นทราบ ซอกหินและปะการังลงไปถึงใต้ท้องทะเลระดับลึก ๆ            ๒๓/๑๔๙๘๖
                ๔๔๑๐. เมรัย  (ดูสุรา - ลำดับที่...)         ๒๓/๑๔๙๘๘
                ๔๔๑๑. เมรุ   เป็นคำบาลีมีบทนิยามว่า "ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งพระอินทร์อยู่ ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอดมีรั้วล้อมรอบราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมรุ"
                    เมรุที่เป็นชื่อภูเขาเป็นแนวความคิดความคติพราหมณ์ผสมกับคติทางพระพุทธศาสนา
                    ส่วนเมรุที่เป็นที่เผาศพ ลักษณะส่วนใหญ่มักยกพื้นสูง สัณฐานสี่เหลี่ยม มีหลังคาเครื่องยอดกลุ่ม ประดับตกแต่งให้วิจตรงดงาม ประเพณีนิยมครั้งแรก ใช้เฉพาะเจ้านายเรียกว่า พระเมรุ ถ้าใช้กับพระมหากษัตริย์และพระมเหสีหรือพระบรมราชชนนีเรียกว่า "พระเมรุมาศ"
                    ในสมัยก่อนตัวเมรุสร้างด้วยไม้ใช้เพียงคราวเดียวแล้วรื้อจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการสร้างเมรุถาวรก่ออิฐก่อปูน เรียกว่า เมรุปูน         ๒๓/๑๔๙๘๘
                ๔๔๑๒. เมโสโปเตเมีย  คือ อาณาบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งได้รับยกย่องว่า เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง คำว่า เมโสโปเตเมีย เป็นภาษากรีกแปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ ได้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช ความหมายแต่แรกนั้นหมายถึง บริเวณระหว่างแม่น้ำไทกริส ซึ่งอยู่ทางตะวันออกกับแม่น้ำยูเฟรติสซึ่งอยู่ทางตะวันตก แม่น้ำทั้งสองนั้นมีต้นน้ำอยู่ทางภูเขาด้านเหนือ และไหลลงทะเลทางใต้ที่อ่าวเปอร์เซีย ต่อมาได้หมายรวมบริเวณใกล้เคียงด้วยคือ ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำไทกริส ออกไปจนถึงเทือกเขาซากรอส และเคยไปทางทิศตะวันตก ของแม่น้ำยูเฟรตีส ถึงบริเวณที่ราบสูง และทะเลทราบซีเรีย
                    ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณส่วนทางใต้ของเมโสโปรเตเมียเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า บาปิโลเนีย ส่วนทางเหนือเรียกว่า อัสสิเรีย บริเวณครึ่งหนึ่งทางด้านใต้ ของบาปิโลเนียเรียกว่า ซูเมอร์ ครึ่งหนึ่งของทางเหนือของบาปิโลเนียเรียกว่า อัคคัด
                    ในแง่ภูมิศาสตร์เมโสโปเตเมียจะครอบคลุมส่วนใหญ่ของประเทศอิรักปัจจุบันจากการศึกษาค้นคว้าทางธรณีวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดีและศาสตร์สาขาอื่น ๆ มีผลสรุปว่า เมโสโปเตเมียเป็นแหล่งการเพาะปลูกตั้งแต่ราว ๘,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราชแถบเชิงเขาซากรอสและยังเป็นแหล่งเริ่มต้นการตั้งชุมชนอย่างถาวรที่เก่าแก่ที่สุดราว ๕,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช
                    ระหว่าง ๔,๕๐๐ - ๓,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชแถบตอนเหนือของเมโสโปเตเมียได้แก่ ที่ฮัสซุนาและที่ฮาลัฟ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของฮัสซูนา มีการเริ่มใช้ทองแดง มีการทำถนนปูด้วยหิน การก่อสร้างอาคารด้วยอิฐและการสร้างหลังคารูปโดม การก่อเตาเผาถ้วยชาม ผลิตถ้วยชามที่มีลวดลายสวยงาม ขณะเดียวกัน ทางทิศใต้ของเมโสโปเตเมีย เมื่อราว ๔,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ได้มีการตั้งชุมชนทางเกษตรที่อุไบด์ ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเออร์ ชุมชนนี้ได้ขยายตัวออกไปทางทิศเหนือ และทิศใต้คือ ไปถึงตอนเหนือของซีเรีย และฝั่งทะเลตะวันออกของซาอุดีอาราเบียตามลำดับ
                    ราว ๓,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชความเจริญที่สำคัญที่สุดของแถบเมโสโปเตเมียได้แก่ การก่อสร้างเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีอาคารมั่นคงถาวร เช่น โบสถ์วิหารของศาสนา และการคิดประดิษฐ์ตัวอักษร แหล่งของความเจริญอยู่ที่เมืองอุรุก ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด ส่วนการประดิษฐ์ตัวอักษร เริ่มจากการเขียนภาพบนแผ่นดินเหนียว ซึ่งนับเป็นต้นเค้าของตัวอักษรคูนิฟอร์มของพวกซูเมเรียน และบาปิโลเนียนในภายหลัง
                    พวกซูเมเรียนเป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งตน และขยายอาณาจักรครอบครองแถบเมโสโปเตเมีย มีความเจริญสูงสุดราว ๒,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช บริเวณที่เป็นแคว้นซูเมอร์ของซูเมเรียน อยู่ทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมียมีเมืองสำคัญคือ เมืองอุรุก และเมืองคิช
                    พวกอัคคาเดียนเป็นชุมชนที่ตั้งตนทางตอนเหนือของแคว้นซูเมอร์ในบริเวณที่เรียกว่าแคว้นอัคคัดราว ๑,๙๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกอัคคาเดียนได้เข้ายึดอำนาจ และปกครองเมืองต่าง ๆ ของพวกชูเมเรียนแต่คงอยู่เพียงหนึ่งศตวรรษเศษ ต่อมาพวกซูเมเรียนกลับพื้นคืนอำนาจขึ้นมาใหม่ โดยมีศูนย์สำคัญอยู่ที่เมืองเออร์
                    การตั้งอาณาจักรบาปิโลเนียได้ปรากฎขึ้นที่ตอนกลางระหว่างซูเมอร์กับอัคคัดกษัตริย์องค์สำคัญคือ พระเจ้าฮัมมูราบี (๑๒๔๙ - ๑๒๐๗ ปีก่อนพ.ศ.) ได้รวบร่วมประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายที่เป็นลายลักษณะอักษรที่สมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดได้ให้จารึกไว้บนแท่งหินสูงประมาณ ๒.๔๐เมตรดัวยอักษรยูนิฟอร์มนครหลวงของอาณาจักรนี้คือบาปิโลน
                    อาณาจักรบาปิโลนได้เสื่อม และสลายลงเมื่อ ๑๐๕๒ ปีก่อน พ.ศ.จากการบุกรุกของพวกฮิตไคต์จากอะนาโตเลีย จากนั้นพวกแคสไซต์จากแถบภูเขาซากรอส ได้เข้าบุกรุก และครอบครองบาปิโลนอยู่ราว ๔๐๐ ปี
                    ราว ๑๐๗ ปี ก่อนพ.ศ. พวกอัสซีเรียน สามารถรวมตัวและจัดตั้งอาณาจักรขึ้นบริเวณตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย มีอาณาเขตกว้างขวางจุดบริเวณเอเซียไมเนอร์ ตลอดมาถึงชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน ต่อมาได้ขยายอำนาจไปถึงอียิปต์ ตีได้อียิปต์ เมื่อ ๑๒๘ ปีก่อน พ.ศ.
                    ความเสื่อมของพวกฮัสซีเรียนปรากฎขึ้น เพราะถูกโจมตีจากพวกมีดส์ ซึ่งมาจากอิหร่าน ร่วมกับพวกบาปิโลเนียนใหม่ ที่เรียกกันว่า พวกคัลเดียน ยึดนครนิเนเวอหืได้ เมื่อ ๗๘ ปีก่อน พ.ศ. พวกคัลเดียนได้ขยายอาณาเขตไปถึงนครเยรูซาเล็ม เข้าทำลายนครแห่งนี้ เมื่อ ๔๓ ปีก่อน พ.ศ. เผาวิหารโซโลมอน จับกุมชาวยิวไปคุมขังที่บาปิโลน
                    จักรวรรดิ์บาปิโลเนียนใหม่ได้เสื่อม และสิ้นสุดในปี พ.ศ.๔ เมื่อพระเจ้าไซรัสที่ ๒ แห่งเปอร์เซียเข้ายึดทรงบาปิโลนได้ พวกเปอร์เซียครองอำนาจอยู่ได้สองศตวรรษ พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งมาเซดอนก็ยาตราทัพเข้าบุกอาณาจักรเปอร์เซียได้ชัยชนะต่อพระเจ้าดาริอสที่ ๓ ของเปอร์เซีย เป็นผลให้วัฒนธรรมกรีก แพร่หลายเข้ามายังเมโสโปเตเมีย
                    กลุ่มชนที่เข้ามายังเมโสโปเตเมียภายหลังพวกกรีกคือ พวกพาร์เทียนจากตะวันออกของอิหร่าน ราวปี พ.ศ.๔๐๒
                    อำนาจเหนือเมโสเปเตเมียได้เปลี่ยนจากพวกพาร์เนียนไปยังพวกซัสซาเนียน เมื่อปี พ.ศ.๗๖๗ และยั่งยืนต่อมาราวสี่ศตวรรษ ระหว่างนี้เมโสโปเตเมีย ยังคงเป็นแหล่งของความร่ำรวย และเป็นแหล่งของการเผยแพร่คริสต์ศาสนา ถึงแม้พวกซัสซาเนียนมิได้นับถือคริสต์ศาสนา แต่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ก็ตาม
                    เมื่อศาสนาอิสลามเริ่มแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แถบแหลมอาระเบียแล้วก็ได้ขยายเข้ามายังเมโสโปเตเมีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๑๗๗ ครั้งถึงปี พ.ศ.๑๑๘๔ ทั่วอาณาบริเวณเมโสโปเตเมีย ก็ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของมุสลิมอาหรับ จากนั้นมาประวัติศาสตร์ของเมโสโปเตเมียก็คือ ประวัติศาสตร์ของประเทศอิรักนั่นเอง          หน้า ๑๔๙๙๙
                ๔๔๑๓. เม่า - แมลง  เป็นปลวกที่อยู่ในวรรณะผสมพันธุ์อันเป็นระยะที่มีปีกทั้งตัวผู้และตัวเมีย (ดูปลวก - ลำดับที่ ๓๓๙๘)         ๒๓/๑๕๐๐๗
                ๔๔๑๔. เมารยะ โมริยะ  เป็นนามเรียกกษัตริย์พวกหนึ่งในอินเดียสมัยพุทธกาล และเป็นชื่อราชวงศ์สำคัญราชวงศ์หนึ่งของอินเดียภายหลังพุทธกาล
                    คัมภีร์ปราณะกล่าวว่า พระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งราชวงศ์เมารยะ ในเวลาต่อมาเป็นโอรสของนางมุรา  สนมองค์หนึ่ง ซึ่งมีเชื้อสายศุทร ของกษัตริย์นันทะองค์สุดท้าย แห่งกรุงปาฏีลบุตร เพราะเหตุที่สืบเชื้อสายมาจากนางมุรา พระเจ้าจันทรคุปต์จึงได้ชื่อว่าเป็น "โมริยะ หรือ เมารยะด้วย
                    ประมาณปี พ.ศ.๒๐๐ พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์แห่งมะเซดอนได้นำกองทัพรุกรานผ่านเปอร์เซียเอเซียกลาง เข้ามาจนถึงภาคเหนือของอินเดียได้ตีเมืองต่าง ๆ ในอินเดียตอนเหนือไว้ได้มากมาย ในสมัยนั้นพระราชบิดาของจันทรคุปต์ ถูกปลงพระชนม์ที่ชายแดนโมริยนคร พระมารดาซึ่งกำลังทรงครรภ์ ได้อพยพหนีภัยเข้ามาอยู่ในเมืองปาฏลีบุตร และได้คลอดบุตรที่นั่น ต่อมามีชาวเมืองดักศิลาคนหนึ่งชื่อ จาณักยะ ได้รับจันทรคุปต์ไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม แล้วพาไปศึกษาศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ที่เมืองตักศิลาเวลานั้น ดินแดนในอินเดียทางตะวันตก รวมทั้งเมืองตักศิลา ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์แล้ว  จาณักยะกับจันทรคุปต์ จึงได้คิดอ่านกอบกู้เอกราช โดยซ่องสุมผู้คนไว้มากมาย แล้วส่งไปเป็นกองโจร ออกรังควานกองทัพพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์อยู่ตลอดเวลา เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์แล้ว จันทรคุปต์ก็ประกาศเข็งแมือง และดำเนินการอำนาจกรีกให้พ้นไปจากอินเดียตะวันตก จนเป็นผลสำเร็จ โดยโจมตีเมืองปัญจาปก่อน แล้วจึงยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ แถบลุ่มน้ำคงคาได้สำเร็จ และตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในเขตปัญจาปแล้วยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับอาณาจักรมคธก่อน แล้วจึงเข้าตีเมืองปาฏลีบุตรได้ จับกษัตริย์นันทะได้ จึงตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองปาฏลีบุตร เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ และได้แผ่อาณาเขตเข้าไปถึงอัฟกานิสถาน และบาลูชิสถาน แล้วได้สร้างสันติภาพถาวรกับพวกกรีก โดยได้อภิเษกกับธิดาของซีลิวกุสเจ้าเมืองกรีก พระเจ้าจันทรคุปต์ครองราชย์อยู่ได้ ๒๔ พรรษาก็มอบราชสมบัติให้พระราชโอรสพระนามว่า พินทุสาร และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓
                    พระเจ้าพินทุสารได้แผ่อำนาจไปจนถึงไมซอร์ทางภาคใต้ พระองค์มีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์มาก ต่างจากพระราชบิดา ที่เลื่อมใสในศาสนาเชนองค์หนึ่ง ของพระองค์พระนามว่า ธรรมมามีพระราชโอรสสององค์คือ เจ้าชายอโศกกับเจ้าชายติสสะเจ้าชายอโศก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราช ปกครองแคว้นอวันตี ซึ่งมีเมืองอุชเชนีเป็นเมืองหลวง เมื่อพระเจ้าพินทุสารสวรรคต พระองค์ได้ยึดราชสมบัติ ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๗๑
                    ในคัมภีรมหาวงศ์กล่าวว่า พระเจ้าอโศกสั่งให้ประหารชีวิตพระเชษฐา และพระอนุชาต่างพระมารดาทั้งหมดรวม ๙๙ องค์ เหลือแต่เจ้าชายติสสะ ซึ่งพระองค์แต่งตั้งให้เป็นอุปราช แต่ต่อมาได้ออกผนวช และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
                    ในระยะแรก ๆ ที่ขึ้นครองราชย์พระเจ้าอโศกมิได้สนพระทัยในเรื่องศาสนา เลยมุ่งแต่จะแผ่อำนาจอย่างเดียว สามารถขยายอาณาจักรไปเกือบทั่วดินแดน ที่เรียกว่า อินเดีย ปัจจุบันนี้ยกเว้นดินแดนภาคใต้ที่อยู่ในปกครองของพวกทมิฬ ทางเหนือได้แผ่อาณาจักรไปจดภาคใต้ของอาณาจักรซีเรีย ซึ่งอยู่ในปกครองของกรีก เอเชียตะวันตก แคชเมียร์ เนปาล เบงกอลภาคเหนือ และภาคตะวันออก การทำสงครามโดยไม่ปราณีศัตรูทำให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า จัณฑาโศก แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย
                    ครั้งหลังสุดเมื่อพระองค์ทรงพิชิตแคว้นกสิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ และมีอำนาจมากแคว้นหนึ่งทางภาคใต้ของอินเดีย ได้แล้วทรงรู้สึกสลดใจมาก เพราะในสงครามครั้งนั้นได้มีผู้คนล้มตายกว่าแสนคน เป็นจำนวนมากยิ่งกว่าครั้งใด ๆ จึงทรงคิดจะหันมาเผยแผ่ธรรมานุภาพแทน จึงทรงสอบถามหาความรู้ เกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ ได้พบนิโครชสามเณร จึงให้อาราธนาไปสนทนาสอบถามธรรมสามเณรนิโครธ เป็นโอรสของเจ้าชายสุมนะพระราชโอรสองค์หนึ่ง ของพระเจ้าพินทุสาร และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เทศนาเรื่องความไม่ประมาท พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสมากทรงประกาศรับไตรสรฌาคมนี้นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาเลิกนับถือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพระราชธิดานับถือมาก่อน
                    เมื่อพระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา แล้วก็บำเพ็ญตนเป็นอุบาสกที่ดีให้เป็นแบบอย่างของประชาชน ทรงผนวชอยู่ระยะหนึ่ง ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สาม เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ แล้วส่งพระเถระออกประกาศพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมเก้าสายด้วยกัน พระองค์ได้เสด็จธรรมยาตราไปนมัสการสถานที่สำคัญ ๆ ของพระพุทธศาสนาและรับสั่งให้สร้างเสาศิลา และแผ่นศิลาจารึกคำสอนของพระพุทธเจ้า และคำแนะนำของพระองค์ให้ประชาชนตั้งอยู่ในธรรมไว้ทั่วทุกหนทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไปถึง ทำให้พระองค์ได้รับสมญานามใหม่ว่า ธรรมาโศก แปลว่าอโศกผู้ทรงธรรม และอโศกเทวานัมปิยทัสสี แปลว่าอโศกผู้เป็นที่รักของทวยเทพ พระองค์ทรงครองราชย์อยู่ ๓๗ พรราา สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๓๐๘ พระราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบต่อมา กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาล้วนแต่ทรงอ่อนแอ และได้ถูกแม่ทัพใหญ่ชื่อ ปุษยมิตร ยึดอำนาจแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ศุงดงขึ้น         ๒๓/๑๕๐๐๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch