หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/128
     ๔๓๗๑. ม่าเหมี่ยว  (ดู ชมพู่ ลำดับที่ ๑๖๓๕)          ๒๓/๑๔๘๕๒
                ๔๓๗๒. มิตรภาพ  เป็นชื่อของทางหลวงแผ่นดินสายสระบุรี - นครราชสีมา ตั้งต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ (พหลโยธิน) ที่ กม.๑๐๗.๓๐๐ ต.ปากข้าวสาร อ.เมือง ฯ จ.สระบุรี ถึง อ.เมือง ฯ จ.นครราชสีมา ยาว ๑๔๗ กม. สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ เสร็จปี พ.ศ.๒๕๐๑ ปัจจุบันคือ ตอนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ ทางหลวงแผ่นดินสายพิษณุโลก - หล่มสัก ตั้งต้นต่อจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๒ (ตอนสุโขทัย - พิษณุโลก)  ตรง กม. ที่ ๕๗.๗๗๑ ต.บ้านคลอง อ.เมือง ฯ จ.พิษณุโลก ไปสุดที่ กม.๑๓๐.๕๓๙ ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์  ระยะทาง ๑๒๔.๙ กม. เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๐๐ เสร็จปี พ.ศ.๒๕๐๔ ปัจจุบันคือ ตอนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑          ๒๓ /๑๔๘๕๒
                ๔๓๗๓. มินดง - พระเจ้า  เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงและความสามารถมากที่สุดองค์หนึ่งของราชวงศ์อลองพญา ของพม่าครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๖ - ๒๔๒๑ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่ การฑูตที่ชาญฉลาดลึกซึ้ง ในการติดต่อกับอังกฤษ และการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก          ๒๓/๑๔๘๕๓
                ๔๓๗๔. มิ้ม - ผึ้ง  เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ผึ่งมิ้ม (ดู ผึ้ง - ลำดับที่ ๓๖๗๑)            ๒๓/๑๔๘๖๖
                ๔๓๗๕. มิลักขะ  เป็นชื่อเรียกชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดีย มีชื่อเรียกอีกสองชื่อว่า ดราวิเดียน หรือดราวิด มีรูปร่างเตี้ย ผิวดำ จมูกกว้าง อาศัยอยู่ในอินเดียมาแต่เดิม ก่อนที่พวกอารยันจะเข้ามาตั้งตัวเป็นใหญ่ ปกครองเมื่อประมาณ ๙๕๐ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกอารยันได้รุกรานพวกมิลักขะ จากทางเหนือทำให้พวกนี้ต้องถอยร่นลงมาทางใต้ และบางส่วนข้ามไปยังเกาะศรีลังกา
                    จากการขุดค้นพบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ทำให้ทราบว่าอารยธรรมของอินเดียนั้น มีมาก่อนพวกอารยันจะนำความเจริญเข้ามาสู่อินเดีย พวกมิลักขะเป็นผู้สร้างอารยธรรมที่ทำให้อินเดีย มีความเจริญอย่างสูง มาตั้งแต่ช่วงประมาณ ๒,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช
                    คณะผู้ขุดค้นโบราณวัตถุของสมามคมโบราณคดีอังกฤษในอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๓๗๙ (ต้นฉบับ พ.ศ.๑๓๗๙)  ค้นพบได้ซากเมืองฮาร์รัปปา ในแคว้นปัญจาบ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๐ (ต้นฉบับ พ.ศ.๑๓๘๐)  ค้นพบซากเมืองโมเหนโจ ทาโร ในแคว้นสินธุ บริเวณที่เป็นความเจริญของอารยธรรมนี้ อยู่บนแม่น้ำสินธุ และมีอาณาเขตกว้างขวางมากคือ ครอบคลุมพื้นที่จากตะวันตกไปตะวันออกถึง ๑,๕๐๐ กม. แสดงว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่า อารยธรรมที่รุ่งเรืองในสมัยเดียวกัน อันได้แก่ อารยธรรมอียิปต์ และอารยธรรมเมโสโปเตเมีย          ๒๓ /๑๔๘๖๖
                ๔๓๗๖. มิลินทปัญหา - คัมภีร์  เป็นคัมภีร์เก่าแก่และสำคัญคัมภีร์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่า รจนาขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๔ - ๕ เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสนทนาธรรม ระหว่างพระเจ้ามิลินท์ กับพระนาคเสน โดยพระเจ้ามิลินท์เป็นผู้ถาม และพระนาคเสนเป็นผู้ตอบ
                    ศาตราจารย์ ริส เดวิด ผู้แปลมิลินทปัญหา เป็นภาษาอังกฤษ เป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ กล่าวว่า มิลินทปัญหา แต่งขึ้นทางอินเดียภาคเหนือ ราวแรกตั้งคริสต์ศักราช ในเวลาที่พระพุทธศาสนายังไม่เกิดแยกกัน เป็นนิกายมหายาน ข้างฝ่ายเหนือ และนิกายเถรวาทข้างฝ่ายใต้ และเดิมคงแต่งเป็นภาาาสันสกฤต หรือภาษาปรากฤต เช่นเดียวกับคัมภีร์อื่น ๆ ที่รจนาขึ้นในอินเดียภาคเหนือ แต่ฉบับเดิมสูญหายไปแล้ว ฉบับที่ปรากฎสืบมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นฉบับที่ชาวลังกาได้แปลเป็นภาษาบาลีไว้
                    ริด เดวิดส์ ได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า เมื่อประมวลหลักฐานต่าง ๆ จากชื่อสถานที่สำคัญและแม่น้ำสำคัญที่กล่าวถึงในคัมภีร์นี้แล้ว ก็พอสรุปได้ว่า ผู้รจนาคัมภีร์นี้อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย หรือในแคว้นปัญจาป ของอินเดียปัจจุบัน และกล่าวอีกว่า มิลินทปัญหา รจนาขึ้นภายหลังคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก ที่แต่งโดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ในคราวกำลังสังคายนาครั้งที่สาม เพราะเมื่อเปรียบเทียบคัมภีร์ทั้งสองดูแล้ว จะเห็นว่าข้อความในมิลินทปัญหา หลายตอนมาจากคัมภีร์กถาวัตถุ
                    พระเจ้ามิลินท์ หรือพระยามิลินท์ เป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ครองสาคลนคร ในแคว้นปัญจาป ปัจจุบัน ประสูติที่เมืองอาเล็กซานเดรีย ทางเป็นกษัตริย์ที่เป็นนักปราชญ์ มีความรอบรู้ในด้านศาสนา และปรัชญา ทั้งตะวันตกและตะวันออก อย่างหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ แผ่อำนาจมาถึงตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำคงคา เดิมพระองค์มิได้ทางเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และยังพยายามขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาอีกด้วย พระองค์ได้ประกาศท้าโต้วาทะ กับบรรดาพราหมณ์และคฤหัสถ์  ผู้เป็นปราชญ์ในลัทธิศาสนาต่าง ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดสู้ได้
                    คณะสงฆ์ในสมัยนั้น จึงได้เลือกพระนาคเสน ซึ่งเป็นพระเถระผู้สามารถรูปหนึ่ง มาสนทนาเรื่องศาสนาและปรัชญา กับพระเจ้ามิลินท์ พระนาคเสนเกิดที่กชิงคลคาม  ใกล้ภูเขาหิมาลัย ได้ศึกษาศิลปวิทยาตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ ศึกษาเล่าเรียนได้รวดเร็วมาก มีความรอบรู้ทั้งไตรเพท และศิลปศาสตร์อื่น ๆ แต่มีความรู้สึกว่า วิชาการต่าง ๆ ที่เล่าเรียนมาทั้งหมด ไม่มีสาระอะไรมากนัก ต่อมาได้พบกับพระโรหณเถระ จึงถามท่านว่า ท่านรู้วิชาคือ มนตร์อันสูงสุดในโลกหรือไม่ ท่านตอบว่า รู้แต่จะบอกให้เฉพาะผู้ที่บวชเท่านั้น  พระนาคเสนจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร แล้วต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ได้ศึกษาอภิธรรมก่อน จนมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ต่อมาพระโรหณเถระ ได้ส่งพระนครเสนไปอยู่กับพระอัสสคุตเถระ เพื่อศึกษาความรู้เพิ่มเติม ต่อมาพระอัสสคุตเถระได้ส่งพระนาคเสนไปอยู่ในสำนักของพระพุทธรักขิตเถระ ณ อโศการาม เมืองปาฎลีบุตร เพื่อศึกษาพระพุทธวจนะ ให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น และได้ปฎิบัติสมณธรรม จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมทั้งปฎิสัมภิทาสี คือ ปัญญาแตกฉานในเหตุในผล ในนิรุกติศาสตร์ และในปฎิภาณไหวพริบ
                    เมื่อพระนาคเสน ได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็กลับไปถิ่นเดิม และทางคณะสงฆ์ได้พาท่านไปยังสาคลนคร เพื่อโต้ตอบปัญหากับพระยามิลินท์ เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงทราบว่า ยังมีพระเถระผู้ฉลาดมีสติปัญญาคือ พระนาคเสน จึงเสด็จไปหาและได้มีการสนทนาโต้ตอบปัญหาต่าง ๆ ระหว่างกันอยู่เป็นเวลาหลายวัน ผลปรากฎว่า พระเจ้ามิลินท์สู้ไม่ได้ จึงยอมแพ้ และเลื่อมใสในพระนาคเสนมาก ถึงกับทรงสร้างมิลินทวิหารถวาย
                    พระเจ้ามิลินท์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดมาก ได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายไปในอาณาบริเวณตั้งแต่ภูเขาฮินดูกูษ จนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ทรงมีความยุติธรรมอย่างยอดเยี่ยม และทรงเป็นที่รักของประชาชนทุกชั้นวรรณะ ในเหรียญกษาปณ์ที่มีรูปพระองค์นั้น มีตราธรรมจักรอยู่ด้วย ต่อมาพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสละราชสมบัติ ออกผนวชเป็นภิกษุ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์          ๒๓/๑๔๘๗๕
                ๔๓๗๗. มิสซา  มาจากคำว่า ละติน ซึ่งแปลว่า ถูกส่งไปแล้ว มิสซาเป็นพิธีกรรมของชาวคริสต์นิกายคาทอลิกโดยเฉพาะ นิกายอื่น ๆ นิยมใช้ว่า ศีลมหาสนิท หรืออาหารค่ำมื้อสุดท้าย เป็นการระลึกถึงการบริโภคอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู กับสาวกทั้งสิบสองคน ในวันพฤหัสบดีก่อนจะถูกจับตัวไปในตอนดึกวันเดียวกัน และถูกกล่าวโทษถึงขั้นถูกตัดสินประหารชีวิต ด้วยวิธีตรึงกางเขนในวันศุกร์เวลาบ่ายสามโมง ตามคัมภีร์ไบเบิล มีกล่าวไว้ว่า ระหว่างที่บริโภคอาหารกันอยู่ พระเยซูได้หยิบขนมปังมาถือก้อนหนึ่ง อธิษฐานและบิออกแจกจ่ายให้สาวก พลางกล่าวว่า "จงรับไปแบ่งกันกินให้ทั่วกันเถิด เพราะนี่คือ กายของเรา และได้จับจอกเหล้าองุ่นมาถือแล้วกล่าวว่า จงรับไปแบ่งกันกินให้ทั่วหน้าเถิด เพราะนี่คือโลหิตของเรา ที่จะหลั่งออกเพื่อไถ่บาปมนุษย์ " แล้วเสริมว่า" จงทำเช่นเดียวกันนี้เพื่อระลึกถึงเรา"
                    พิธีกรรมนี้ ในระยะเริ่มแรกชาวคริสต์คงได้ปฎิบัติกันในรูปของความรัก ความเสียสละต่อกันโดยพยายามเลียนแบบ การเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ให้ใกล้เคียงที่สุด เพื่อระลึกและรับส่วนแบ่งจากบุญบารมีของพระเยซู โดยเลี้ยงกันจริง ๆ ในเวลาค่ำ ใครมีทรัพย์สิ่งของมากก็บริจาคมาก มีน้อยก็บริจาคน้อย ใครขัดสนก็ได้รับการช่วยเหลือ ทุกคนร่วมชุมนุมกันในฐานะเสมอกัน จากนั้น ประธานของที่ประชุมก็หยิบขนมปัง และเหล้าองุ่นขึ้นเสก และแจกจ่ายกันกิน และดื่มกันทั่วหน้า นำส่วนที่เหลือไปฝากแก่ผู้ที่ไม่ได้มา
                    ต่อมาเริ่มมีการปฎิบัติผิดเจตนาดั้งเดิมคือ ถือโอกาสมาดื่มฟรีกินฟรี นักบุญเปาโลจึงเตือนให้คิดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ ศีลมหาสนิท เมื่อเป็นเช่นนี้ การชุมนุมเพียงแต่เพื่อเสกศีล และรับศีลมหาสนิท ก็จะสั้นเกินไป จึงได้มีพิธีเตรียมตัวเตรียมใจ โดยการสวดมนตร์ ร้องเพลง อ่านคัมภีร์ และเทศน์ บางคนที่รู้สึกว่า ยังไม่พร้อมที่จะรับศีลมหาสนิท แต่ก็อยากร่วมชุมนุมจึงขอร่วมพิธีมิสซา โดยไม่รับศีลมหาสนิท มิสซาจึงปรากฎแยกออกจากการรับศีลมหาสนิท          ๒๓/๑๔๘๘๑
                ๔๓๗๘. มีเทน  เป็นแก๊ส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ เบากว่าอากาศจุดไฟติด ให้เปลวไฟสีชัด สว่างเรือง ให้ความร้อนสูง ผลที่ได้จากการเผาไหม้คือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
                    ในธรรมชาติ แก๊สมีเทน มีปรากฎอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ เช่น มีอยู่ประมาณร้อยละ ๗๕ ในแก๊สธรรมชาติ ตามหนองน้ำ บึง คลอง ที่มีซากพืชทับถมเน่าเปื่อยอยู่ที่ก้นท้องน้ำ แบคทีเรียที่ไม่ใช้อากาศ จะทำให้ซากพืชดังกล่าวย่อยสลายตัว ให้กาสมีเทนเกิดขึ้น เมื่อแก๊สนี้ลอยขึ้นสู่อากาศจนมีปริมาณพอเหมาะ ก็จะมีปฎิกิริยาเคมีกับแก๊สออกซิเจนในอากาศ ทำให้แก๊สมีเทนติดไฟ ให้แสงเรืองวูบวาบ ลอยไปมา เห็นได้ชัดในเวลากลางคืนเดือนมืด ชาวบ้านเรียกกันว่า ผีกระสือ
                    แก๊สชีวภาพมีองค์ประกอบเป็นแก๊สมีเทน ประมาณร้อยละ ๕๔ - ๗๐ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณร้อยละ ๒๗ - ๔๕ นอกนั้นเป็นแก๊สอื่น ๆ ปะปนอยู่ด้วย           ๒๓/๑๔๘๘๘
                ๔๓๗๙. มีนบุรี  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอ เคยเป็นเมืองตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ โดยรวมอำเภอสี่อำเภอ ในทุ่งแสนแสบ คือ อ.คลองสามวา อ.แสนแสบ อ.เจียรดับ และ อ.หนองจอก ยกขึ้นเป็นเมืองตั้งใหม่ รวมอยู่ในมณฑลกรุงเทพ ฯ ชื่อ เมืองมีนบุรี ต่อมายุบเป็นอำเภอ ขึ้น จ.พระนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เปลี่ยนเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖          ๒๓/๑๔๘๙๑
                ๔๓๘๐. มือเสือ ๑ - หอย  เป็นหอยสองฝาขนาดใหญ่ มีแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ในแถบมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
                หอยมือเสือ ที่แพร่กระจายอยู่ในน่านน้ำทั่วโลก มีสองสกุล หกชนิด ชนิดที่ใหญ่ที่สุดมีรายงานว่า เปลือกยาวถึง ๑.๓๗ เมตร หนักประมาณ ๓๐๐ กก.
                หอยมือเสือ มีเปลือกหนาและหนัก สีขาวหรือเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นลอน เหมือนกระเบื้องลูกฟูก ตัวหอยยึดติดกับเปลือกด้วยกล้ามเนื้อ ที่บริเวณกลางลำตัว กล้ามเนื้อนี้ยังทำหน้าที่ดึงเปลือกให้ปิดเข้าหากัน เมื่อถูกรบกวน          ๒๓/๑๔๘๙๒
                ๔๓๘๑. มือเสือ ๒ - มัน  (ดู มัน - ลำดับที่ ๔๓๔๑)           ๒๓/๑๔๘๙๔
                ๔๓๘๒. มุก - หอย  เป็นหอยสองฝา ที่อาศัยอยู่ในทะเล สามารถสร้างไข่มุกที่มีคุณภาพดี เปลือกมีลักษณะค่อนข้างกลมแบน ด้านนอกเป็นสีเทา สีน้ำตาลหรือสีม่วงเข้ม แล้วแต่ชนิด ด้านในมีสีเหลือบเป็นมันวาว เหมือนสีมุก ตัวหอยยึดติดกับเปลือกด้วยกล้ามเนื้อ ที่อยู่บริเวณกลางลำตัว อวัยวะภายในมีแผ่นเนื้อเยื่อบางปกคลุม เหงือกใหญ่โค้งไปตามเปลือก ทำหน้าที่หายใจ และกรองอาหาร ตีนมีขนาดเล็ก ยื่นออกไปทางด้านหน้าใช้ในการเคลื่อนที่
                    หอยมุก มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น หอยมุกจาน หอยมุกญี่ปุ่น เปลือกของหอยมุกยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้ประดับตกแต่งของใช้และเครื่องเรือน เรียกกันว่า เครื่องมุก หรือใช้ประดับบานประตูโบสถ์ และวิหารของวัด
                    ไข่มุก เกิดขึ้นเนื่องจากมีวัตถุจากภายนอก พลัดเข้าไปติดอยู่ในตัวหอยโดยบังเอิญ ติดแน่นจนหอยไม่สามารถขจัดออกไปจากตัวได้ หอยจึงผลิตน้ำเมือกออกมาเคลือบ ในน้ำเมือกมีสารพวกหินปูนที่อยู่ในรูปอาราโกไนต์ ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่หอย นำไปสร้างเปลือก น้ำเมือกจะเคลือบสิ่งแปลกปลอม ดังกล่าวเป็นชั้น ๆ จนแข็งตัวและหนาขึ้นตามลำดับ กลายเป็นมุกอยู่ในตัวหอย มีชั้นมุกหนาเกิดเป็นสีรุ้ง แวววาว
                    ไข่มุก เป็นเครื่องประดับที่สวยงามและมีค่า เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย            ๒๓ / ๑๔๘๙๔
                ๔๓๘๓. มุกดา หรือมุกดาหาร  เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง มีสีหมอกจัด ทางวิชาการคือ มูนสโตน ในตำรานพรัตน์ของไทย มุกดาเป็นรัตนชาติ ในอันดับที่เจ็ด "มุกดาหาร หมอกมัว"
                    คำว่า มุกดาหาร ในตำรานพรัตน์แต่เดิมหมายถึง ไข่มุก คำไทยที่ใช้เรียกมุกดาหาร อีกคำหนึ่งคือ จันทรกานต์ และมีอีกชื่อว่า มณีจักร
                ทางวิชาการ มูนสโตน  เป็นเพลล์สปาร์ ชนิดออร์โทเคลล์  หรือ อะดูลาเรีย ไร้สีโปร่งแสง จนเกือบโปร่งใสสมบูรณ์ เมื่อสะท้อนแสงออกสีอมฟ้า หรือสีน้ำเงิน เหลือบน้ำนม หรืออาจมีเหลือบอย่างมุก คล้ายปรากฎการณ์ทางแสงแบบโอปอล์           ๒๓/๑๔๘๙๗
                ๔๓๘๔. มุกดาหาร  จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นครพนม ทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง และประเทศลาว ทิศใต้จด จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันตก จด จ.กาฬสินธ์ ระยะทางตามถนน (ทางหลวงแผ่นดิน) ห่างจากกรุงเทพ ฯ ๖๔๗ กม. ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ด้านทิศใต้และทิศตะวันตก มีทิวเขาภูพาน ป่าไม้และดงทึบ ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบสลับป่า และมีแม่น้ำโขงเป็นเขตกั้นแดนกับประเทศลาว มีลำน้ำสำคัญหลายสาย
                    จ.มุกดาหาร เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า เจ้ากินรี เจ้าเมืองโพสิน ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก ให้ชื่อเมืองว่า มุกดาหาร มีฐานะเป็นเมืองขึ้นการปกครองกับมณฑลอุดร ต่อมาได้ยุบเมืองมุกดาหารลงเป็นอำเภอขึ้น จ.นครพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ถึง พ.ศ.๒๕๒๕ ยกฐานะเป็นจังหวัด โดยให้แยก อ.มุกดาหาร อ.คำชะอี อ.ดอนตาล อ.นิคมคำสร้อย กิ่ง อ.ดงหลวง กิ่ง อ.หว้านใหญ่ ออกจากการปกครองของ จ.นครพนม           ๒๓/๑๔๙๐๕
                ๔๓๘๕. มุข  เป็นส่วนหนึ่งของเรือน หรือสถานที่ที่ยื่นเด่นออกมาจากส่วนใหญ่ทางด้านหน้า มุขสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยในตอนเริ่มแรก ต่อมาเปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการ สถานที่ราชการที่สร้างใหม่ นิยมสร้างแบบมีมุขด้วย การมีมุขก็เพื้อให้มีพื้นที่สำหรับใช้สอยในการขึ้นลง เป็นโถงรับแขก เป็นท้องพระโรงสำหรับวัง และเป็นที่ขึ้นลงรถในร่ม มุขจะมีหนึ่ง - สองชั้นตามลักษณะของเรือนส่วนใหญ่ หรือมีชั้นเดียวสำหรับเรือสองชั้นก็มี มุขที่มีสองชั้นนั้น ชั้นบนจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือเป็นห้องพระ          ๒๓/๑๔๙๐๗
                ๔๓๘๖. มุจลินท์  เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ต้นจิก ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ คราวหนึ่งได้เสด็จไปประทับเสวยวิมุติสุข ณ ใต้ต้นมุจลินท์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์เจ็ดวัน ในช่วงนั้นได้มีฝนตกพรำตลอดทั้งเจ็ดวัน พญานาคตนหนึ่งได้ออกจากนาคพิภพ มาทำขนดล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้าไว้เจ็ดชั้น แล้วแผ่พังพานคลุมเบื้องพระเศียรเหมือนกับเศวตฉัตรกันฝนให้แก่พระพุทธเจ้า ทำให้พญานาคตนนั้นได้ชื่อว่า พญามุจลินท์ ด้วย          ๒๓/๑๔๙๑๐
                ๔๓๘๗. มุตกิจ  โรคระดูขาว หรือโรคตกขาว เป็นคำใช้เรียกสิ่งที่ถูกขับออกจากช่องคลอด ที่ไม่ใช่เลือด ภาวะนี้พบได้ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยทางนรีเวชวิทยา เป็นภาวะที่ไม่ค่อยรุนแรง          ๒๓/๑๔๙๑๐
                ๔๓๘๘. มุตฆาต  โรคปัสสาวะ ช้ำเลือดช้ำหนอง จะพบได้ในภาวะที่บุคคลนั้นมีความผิดปรกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น การอักเสบ เวลาผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บเสียวมาก ถ่ายปัสสาวะออกมาด้วยความยากลำบาก มีน้ำปัสสาวะออกมาครั้งละเล็กละน้อย รู้สึกว่าถ่ายออกไม่หมด และอยายถ่ายอยู่ตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่ได้พักผ่อน          ๒๓/๑๔๙๑๓
                ๔๓๘๙. มุสิลม  (ดู อิสลาม - ลำดับที่ ...)           ๒๓/๑๔๙๑๔
                ๔๓๙๐. มูก  (ดู น้ำมูก - ลำดับที่ ๒๘๙๘)          ๒๓/๑๔๙๑๔
                ๔๓๙๑. มูกเลือด  มีบทนิยามว่า "โรคที่มีมูกและเลือดในลำไส้ ติดออกมากับอุจจาระ" ในแง่ของคำ เป็นคำเฉพาะที่ใช้เรียกน้ำคัดหลั่งภายนอก ซึ่งมีมูกปนกับเลือด และต้องถูกขับออกมาจากอวัยวะที่สำคัญของร่างกายสองแห่ง ได้แก่ ทวารหนัก กับช่องคลอด เท่านั้น           ๒๓/๑๔๙๑๔
                ๔๓๙๒. มูเซอ  เป็นชาวเผ่าหนึ่งในตระกูลภาษาจีน - ทิเบต สาขาทิเบต - พม่า เรียกตนเองว่า ลาฮู มีถิ่นที่อยู่กระจัดกระจายอยู่ทางทิศตะวันตกของยูนนาน ประเทศจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ประเทศพม่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว มูเซอจำนวนหนึ่งอพยพไปอาศัยอยู่ในเกาะไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ทางภาคเหนือของไทยมีมูเซอ อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.นครสวรรค์ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ลำพูน รวมประมาณ ๓,๙๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๒๗)  มูเซอส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปตามจารีตประเพณีดั้งเดิม
                    ชาวเขาเผ่ามูเซอ มีสาขาย่อยอยู่ ๒๓ สาขา แต่ละสาขามีการแต่งกายและสำเนียงการพูดเพี้ยนกัน แต่ละสาขาก็มีถิ่นที่อยู่ในที่ต่าง ๆ กัน กล่าวคือ ประเทศไทยมีมูเซอแดง ดำ  ดำ(เชเล)  กู่ เล๊า ชีบาแก๊ว ชีบาหลา จ้าบ้า เวหยะ ขาว พู้บีลี ชีนะแก้ว และไกสี ในประเทศพม่ามีมูเซอแดง ดำ (เชเล)  ดำ กู่เล้า เวหยะ ชิบาแก้ว บ่อฟ๊ะ มุยคิ่น และฮู่ลี้ ประเทศลาวมี มูเซอพู หรือมูเซอขาว พู้บีลี และอ้าบ๊า ประเทศจีนมี มูเซอดำ ไกชี ค้าคา อะแล้ นะแพ ป่าน่าย ล่าฮู้ จ่อแม้ หน่าเมี้ยว และอะดองก๋า
                    มูเซอ มักตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างอิสระ นิยมตั้งหมู่บ้านบนภูเขาระหว่างความสูง ๕๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มักอยู่ในชนบทที่อยู่ห่างไกลคมนาคม มีการเลือกสมาชิกในหมู่บ้านขึ้นเป็นหัวหน้าเรียกว่า " คะเช่พ้า " หรือเจ้าของหมู่บ้าน มูเซอเชื่อว่าผีฟ้า "หงื่อซา" เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และยังมีระดับรอง ๆ ลงมา นอกจากผีบนฟ้า ผีบนดินแล้ว ยังมีผีหมู่บ้าน ผีบ้าน ผีบรรพบุรุษและผีญาติ ในหมู่บ้านมูเซอแดง จะมีกลุ่มผู้นำทางศาสนาอยู่หนึ่งกลุ่ม ประกอบด้วย "ตูบู" หรือคนไทยพื้นราบเรียกว่า "ป่าจอง" เป็นหัวหน้า
                    มูเซอ มีกฎหมายจารีตประเพณีที่จดจำสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ ข้อบังคับมักจะมีผลใช้บังคับแก่ผู้กระทำผิดของสมาชิกหมู่บ้าน และเกิดขึ้นในหมู่บ้าน มูเซอมีข้อห้ามมิให้มีการแต่งงานระหว่างญาติที่ใกล้ชิด ที่สืบทอดสายเลือดจากบรรพบุรุษเดียวกัน ภายในสามชั่วอายุคน อีกทั้งมีการป้องกัน และห้ามมิให้พี่น้องของสามี แต่งงานกับพี่หรือน้องภรรยา
                    สังคมมูเซอ แบบดั้งเดิมมีความบากบั่นต่อสู้ เพื่อให้ได้มาของอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยของชาวมูเซอสามารถสร้างเสร็จภายในหนึ่งวัน ภายในบ้านและบริเวณบ้าน ถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่กระทำผิดประเพณีจะถูกปรับไหม ค่าปรับไหมจะแบ่งให้ผู้เสียหายส่วนหนึ่ง ให้แก่ชาวบ้านส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะเป็นค่าประกอบพิธีกรรม ขออภัยโทษต่อผีผู้คุ้มครองบ้านและหมู่บ้าน โดยทั่วไปชาวเขาเผ่านี้ รักสงบแต่จะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง เมื่อคิดว่าถูกรังแก          ๒๓/๑๔๙๑๗
                ๔๓๙๓.  มูรธาภิเษก   เป็นชื่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้รดพระเศียร ในพระราชพิธีราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ เรียกว่า น้ำมูรธาภิเษก ในคำว่า สรงน้ำมูรธาภิเษก หรือสรงมูรธาภิเษก แปลว่า การยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ
                    ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อถือกันมาว่า น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น ได้แก่ น้ำในแม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์ และแม่น้ำที่นับเนื่องในแม่น้ำคงคา ซึ่งเรียกรวมว่า สัปตสินธวะ ได้แก่ แม่น้ำเจ็ดสายที่ไหลแยกออกจากแม่น้ำคงคา ตั้งแต่แรกเกิดแม่น้ำคงคาคือ ยมุนา สรัสวดี โคธาวรี นัมมทา สินธุ และกาเวรี แต่คติทางไทยซึ่งถือตามคัมภีร์เวสสันดรชาดก ถือว่าแม่น้ำที่ไหลแยกจากแม่น้ำคงคามีสี่สายคือ ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ เมื่อรวมกับแม่น้ำคงคา จึงเป็นห้าสายเรียกว่า ปัญจมหานที
                    น้ำสรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้น เจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ และน้ำเบญจสุทธคงคา ในแม่น้ำสำคัญทั้งห้าของราชอาณาจักรไทย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ ต.ท่าชัย แขวง จ.เพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี ตักที่ ต.ดาวดึงส์ แขวง จ.สมุทรสงคราม แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ ต.บางแก้ว แขวง จ.อ่างทอง แม่น้ำป่าสัก ตักที่ ต.ท่าราบ แขวง จ.สระบุรี แม่น้ำบางปะกง ตักที่ ต.บึงพระอาจารย์  แขวง จ.นครนายก และน้ำสี่สระ คือ สระเกศ สระแก้ว สระคงคา สระยมุนา แขวง ต.สุพรรณบุรี ซึ่งเคยแต่งเป็นน้ำสรงมูรธาภิเษก สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชมาแต่โบราณกาล นอกจากนี้ ยังเจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรม ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร และปนด้วย น้ำพระพุทธปริต ที่พระสงฆ์ราชาคณะหนึ่งรูป พระครูปริตรสี่รูป พระสงฆ์ราชาคณะรามัญหนึ่งรูป พระครูปริตรรามัญสี่รูป รวมสิบรูป เจริญพระพุทธมนต์เสกทำน้ำพระพุทธปริตร          ๒๓/๑๔๙๒๓
                ๔๓๙๔. มูล - แม่น้ำ  ยอดเขาเกิดจากเขาละมั่ง ใน จ.นครราชสีมา ไหลลงทางทิศตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน
                แม่น้ำที่เป็นแควและไหลลงแม่น้ำมูลคือ ลำพระเพลิง ลำตะคอง แม่น้ำชี ห้วยขะยุง ลำโคมใหญ่ และลำโคมน้อย
                แม่น้ำมูลไหลไปบรจบแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียมตรงสุดทิวเขาพนมดงรัก ยาว ๗๕๐ กม. มีเขื่อนพิมายกั้นแม่น้ำที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พื้นที่ทางฝั่งซ้ายจาก อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ไปถึง อ.ราศีไศล จ.ศรีษะเกษ ขึ้นไปเป็นทุ่งกว้างใหญ่ เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้      ๒๓/๑๔๙๒๗
                ๔๓๙๕. มูลนิธิ   มีบทนิยามว่า "ทรัพย์สินอันจัดไว้เป็นแผนกเพื่อบำเพ็ญทาน การวิทยาศาสตร์ วรรณคดี หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ และไม่ได้ค้ากำไร ; สถาบันที่มีวัตถุประสงค์ดังว่ามานี้ "
                    ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิ ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานที่ปรากฎเชื่อกันว่า เกิดขึ้นนานมาแล้ว โดยเริ่มจากผู้มีอันจะกินได้ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ต่อมาในยุคกลางความช่วยเหลือนั้นยิ่งเด่นชัด คนร่ำรวยซึ่งมักได้แก่ นักบวช ข้าราชการ และพ่อค้าวานิช บริจาคทรัพย์สินสร้างโบสถ์ ขณะเดียวกันก็ช่วยค้ำจุนโรงเรียน สถานพยาบาล และโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าด้วย
                    ในประเทศไทยมูลนิธิเพิ่งมีบทบาท เมื่อประมาณ ๘๐ ปี ที่ผ่านมานี้ ในตอนนั้นเป็นเพียงกลุ่ม หรือคณะบุคคลที่ร่วมมือกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ต่อมารัฐบาลเห็นความสำคัญจึงได้ตราบทควบคุม และการให้อำนาจไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๙๖ มาตรา ๘๑ - ๙๗          ๒๓/๑๔๙๒๙
                ๔๓๙๖. มูลบทบรรพกิจ   เป็นชื่อแบบเรียนภาษาไทย ผู้แต่งคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)  แต่งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๔ แล้วนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีห้าตอนคือ  มูลบทบรรพกิจ วาหะนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน และพิศาลการันต์ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ลงพิมพ์ในโรงพิมพ์หลวง สองพันฉบับ เพื่อไว้เป็นแบบให้กุลบุตรศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย เป็นเครื่องเรืองปัญญาให้ได้ความฉลาด รู้ใช้อักษร และไม้เอก โท ให้ถูกถ้วนชำนาญชัดเจน กว้างขวางเป็นคุณแก่ราชการสืบไป
                    คำว่า มูลบท ได้ใช้เรียกเป็นชื่อย่อของตำราเรียนทั้งห้าตอนนี้ ในเนื้อเรื่องแต่ละตอน จะมีเนื้อความสอนวิธีอ่าน และเขียนหนังสือไทย
                     ตอนที่หนึ่ง  ใช้ชื่อว่า มูลบทบรรพกิจ มีเนื้อความว่าด้วยการผสมอักษรคือ การผสมพยัญชนะกับสระ ซึ่งเรียกว่า คำสะกด แม่ ก.กา ผู้แต่งได้คัดกาพย์เรื่อง ไชยสุริยา ของพระสุนทรโวหาร (ภู่) ที่แต่งไว้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  มาเป็นบทอ่านเทียบ ทุกคำเป็นการผสมพยัญชนะกับสระเท่านั้น เมื่อมีการผสมแบบนี้เรียกว่า แม่ ก.กา แต่ถ้ามีตัวสะกดตั้งแต่แม่ กก จนถึงแม่เกย ก็จะมีคำอ่านเทียบเป็นแม่เป็นหมวดไปอีกจนจบเรื่องพระไชยสุริยา
                     ตอนที่สอง  ว่าด้วยอักษรนำ
                     ตอนที่สาม  อักษรประโยค ว่าด้วยอักษรควบและการใช้บุรพบท กับ แก่ แต่ ต่อ
                     ตอนที่สี่  สังโยคพิธาน และไวพจน์พิจารณ์ว่าด้วยคำบาลีสันสกฤตและคำพ้อง
                     ตอนที่ห้า พิศาลการันต์ ว่าด้วยการใช้การันต์และการใช้วรรณยุกต์ ตรี จัตวา และไม้ไต่คู้         ๒๓/๑๔๙๓๗
                ๔๓๙๗. เม็ก - ต้น  เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๓ - ๔ เมตร ลำต้นคดงอ ใบเรียงตรงกันข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ในระนาบเดียวกัน ใบรูปไข่แกมรูปหอก ดอกขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ มากดอกตามปลายกิ่ง ผลกลมรีสุกสีขาว ใบอ่อนกินได้         ๒๓/ ๑๔๙๓๘
               ๔๓๙๘. เมกกะ  เป็นเมืองสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของศาสนาอิสลาม ในสมัยโบราณเรียกว่า บักกะฮ์ และบางครั้งคัมภีร์กุรอานเรียกเมืองนี้ว่า อุมมุลกุรอ หมายถึง ตำบลใหญ่ และอัลบะละดุลอะมีน หมายถึงเมืองที่สงบปลอดภัย
                    เมกกะ ตั้งอยู่ในหุบเขาอินเดียแคว้นหิญาซ ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ห่างจากทะเลแดง ทางด้านตะวันออกประมาณ ๑๑๓ กม. บริเวณเมืองเป็นหุบเขาทะเลทราบมีภูเขาหินสูง ๖๐ - ๑๕๐ เมตร อยู่รายรอบ เวลาฝนตกน้ำไหลหลากผ่านทางบริเวณตัวเมือง ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ปรากฎในประวัติศาสตร์ว่า กะอุบะฮุ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองได้พังลง และได้ก่อสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง
                    เมกกะเป็นเมืองโบราณสร้างขึ้นมาในสมัยอิบรอฮีม (อับราฮาม) กับอิสมาอีล ประมาณปี พ.ศ.๓๔๗ โดยที่อิบราฮิมได้นำภริยาชื่อ ฮาญัร และบุตรชื่อ อิสมาอีล ซึ่งยังเป็นทารกจากแคว้นปาเลสไตน์ มาอยู่ที่หุบเขาที่แห้งแล้ง ไม่มีพืชพรรณธัญญาหาร จากนั้นอิบรอฮีมก็เดินทางกลับปล่อยให้ภริยา และบุตรอยู่ที่นั่นแต่ลำพัง โดยบอกว่าเป็นคำสั่งของพระเป็นเจ้า เมื่อน้ำดื่มที่นำติดตัวมาหมด นางฮาญัรก็วิ่งหาแหล่งน้ำ และขึ้นไปบนเนินเขา เพื่อจะได้มองเห็นกองคาราวาน เดินทางผ่านมาจะได้ขอแบ่งปันน้ำดื่ม แต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด ในขณะที่นางวิ่งหาน้ำอยู่อย่างกระวนกระวายนั้น นางได้พบตาน้ำพุที่ใกล้ ๆ กับที่นางพักอยู่ ตาน้ำพุนี้ได้ชื่อว่า ซำซำ เป็นน้ำแร่รสค่อนข้างกร่อย ต่อมามีลักษณะเป็นบ่อ มีมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมีน้ำที่หุบเขาแห่งนั้นก็ปรากฎว่า มีกองคาราวานเดินทางผ่านมา แวะพักอาศัยเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
                    สถานที่สำคัญในนครเมกกะได้แก่ กะอฺบะฮฺ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม กะอฺบะฮฺ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง ๑๕ เมตร กว้าง ๑๐.๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร มีลักษณะเป็นห้องโถง มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดจากประตูไปในมุมเดียวกันมีหินดำที่เรียกว่า หะญะรุลอัสวัค วางอยู่ที่ผนังระดับสูงจากพื้น ๑.๕๐ เมตร หินดำนี้มีขนาดเส็นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ ซม. ผู้ไปบำเพ็ญอัจญ หรืออุมเราะฮฺ จะต้องจบหรือสัมผัสหินดำนี้ในขณะวนรอบ (เฏาะวาฟ) กะอฺบะฮฺ แต่ละรอบ ผนัง กะอฺบะฮฺ ทั้งสี่ด้านด้วยผ้ามานสีดำจะเปิดให้เห็นตัวอาคารเฉพาะที่ประตูเท่านั้น
                    กะอฺบะฮฺ เป็น กิมละฮฺ ของมุสลิมทั่วโลก หมายถึง ทิศที่มุสลิมต้องหินหน้าไปในเวลานมาซ และเป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญอัจญ์
                    มัสญิดหะฐอม เป็นลักษณะอาคารทรงแปดเหลี่ยมบริเวณกว้างล้อมรอบกะอฺบะฮฺ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางเวลานมาซผู้ทำนมาซจะหันหน้าเข้าสู่กะอฺบะฮฺ เป็นจุดเดียวกัน
                    ประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวถึงผู้สร้างกะอฺบะฮฺ คนแรกคือ อาดัม ซึ่งคัมภีร์กุรอานระบุว่าเป็นอาคารหลังแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติต่อมาอิบรอฮีมกับอีสมาอีล อิบรอฮีม เมื่อนำภริยา และบุตรมาไว้ ณ ที่ดังกล่าวแล้วก็ได้มาเยี่ยมหลายครั้ง ต่อมาได้รับคำสั่งจากอัลลอร์ให้สร้าง กะอฺบะฮฺ ขึ้น และเรียกร้องเชิญชวนให้มนุษยชาติ ไปบำเพ็ญฮัจญ์ กะอฺบะฮฺ จึงเป็นจุดศูนย์กลางของการบำเพ็ญฮัจญ์จนถึงปัจจุบัน
                    บริเวณหวงห้ามของนครเมกกะ หรือ หะร็อมมักกะฮฺ หมายถึง บริเวณรอบ ๆ นครเมกกะที่ห้ามการกระทำนั้นในสถานที่ทั่วไป เช่น ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามล่าสัตว์ ห้ามต่อสู้กันนอกจากเพื่อป้องกันตัว และห้ามผู้ที่ไม่ศรัทธาเข้าไปในบริเวณนั้น ขอบเขตบริเวณหวงห้ามรอบ ๆ นครเมกกะมีรัศมีไม่เท่ากัน เช่นในทิศทางไปเมืองมะดีนะฮฺ ประมาณ ๕ กม. ทิศทางด้านประเทศอิรัก ประมาณ ๑๑ กม. ด้านฏออิฟ ประมาณ ๑๑ กม. ด้านญิอ์รอนะฮ์ ประมาณ ๑๔.๕ กม. และด้านเมืองท่าญิดคะ ประมาณ ๑๖ กม.         ๒๓/๑๔๙๓๙

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch