หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/126

    ๔๓๐๖. มะริด  เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า มีอาณาเขตทิศตะวันออกจดประเทศไทยตอนใต้ โดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดน ทิศตะวันตกจดมหาสมุทรอินเดีย ทิศเหนือจุดเมืองทะวาย
                    มะริด เป็นเมืองเก่าอยู่บนฝั่งทะเลอันดามันเคยเป็นดินแดนที่อยู่ในอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐) มะริดเป็นเมืองท่าของเมืองตะนาวศรี มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศทางหัวเมืองตะวันตก
                    หลังสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ พม่าให้ยกภาษีอากร และผลประโยชน์เมืองมะริดให้แก่พม่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงมีพระบัญชาให้ข้าราชการผู้ใหญ่ (ที่ต้องโทษขั้นอุกฤษฎ์ในระหว่างสงครามยุทธหัตถี) เป็นแม่ทัพนายกองคุมทัพไปตีเมืองทะวาย และเมืองตะนาวศรี (รวมเมืองมะริด) เป็นการแก้ตัวได้ชัยชนะ เมืองทะวาย และเมืองตะนาวศรี (รวมเมืองมะริด)  ก็กลับมาเป็นของอยุธยาอีก
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)  เมืองมะริดคงเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรือง และเป็นที่ต้องการของบริษัท อินเดียตะวันออกของอังกฤษ ประกอบกันขณะนั้นบริษัทนี้มีกรณีพิพาทกับไทยเรื่องการละเมิดสิทธิผูกขาดการค้าของบริษัท บริษัทจึงส่งเรือปั่นสองลำไปยังเมืองมะริด พร้อมกับคำสั่งให้ยึดเมืองนั้น และให้จับเรือไทย และชาวอังกฤษที่รับราชการกับไทยด้วย ฝ่ายพระยาตะนาวศรีเห็นว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยจึงทำการต่อสู้ การประกาศสงครามกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงถือว่า กรุงศรีอยุธยาไม่ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลอังกฤษ แต่ประกาศสงครามกับบริษัท ฯ เท่านั้น
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ พม่ายังคงปกครองเมืองมะริดอยู่และเมื่อพม่าทำสงครามกับอังกฤษครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๖๙)  และยุติลงด้วยสนธิสัญญายันดาโม ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เมืองมะริดได้เปลี่ยนไปอยู่ในการปกครองของอังกฤษ ต่อมาเมื่อพม่าได้รับเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ เมืองมะริดก็กลับไปเป็นของพม่า         ๒๓/๑๔๖๕๖
                ๔๓๐๗. มะรุม  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบประกอบแบบสามชั้นใบย่อย ๖ - ๙ คู่ ขนาดเล็ก ออกตรงข้ามกัน รูปไข่หรือไข่ กลีบดอกสีขาวออกเป็นช่อแผ่กว้าง กลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง ผลเป็นฝักสีเขียวกลมยาว ห้อยลงมีร่องตามยาวรอบฝักเก้าร่อง เมล็ดกลมปีกกว้าง
                    ฝักอ่อนบริโภคเป็นอาหารได้ นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร คือ รากต้นกับน้ำใช้อมกลั้วคอ ล้างแผลดื่มเพื่อขับปัสสาวะ ใช้ภายนอกเป็นยาถูนวด ทำให้เลือกมาเลี้ยงผิวหนังใช้แต่งกลิ่นอาหาร เปลือกลำต้นสด ๆ ใช้อมข้างแก้มถอนพิษสุราได้ และยังเป็นยาขับลมในลำไส้ ใบอุดมด้วยวิตามินเอ และซีใช้แก้โรคลักปิดลักเปิด ทำเป็นยาพอกแผลได้ ดอกเป็นยาบำรุงขับน้ำตา และขับปัสสาวะได้ เมล็ดแก่ให้น้ำมันใช้เป็นยาแก้หอบ แก้บวม บำรุงไฟธาตุ น้ำมันจากเมล็ดใช้หล่อลื่นเครื่องจักร         ๒๓/๑๔๖๖๑
                ๔๓๐๘. มะเร็ง  เป็นเซลล์เนื้อร้ายที่เจริญเติบโตผิดปรกติแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ที่ดี อยู่โดยรอบสามารถบุกรุกทำลายอวัยวะที่มันอาศัยอยู่ และสามารถกระจายเข้าสู่หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง เมื่อมะเร็งไปก่อตัวในอวัยวะดังกล่าว ก็จะเจริญเติบโตและทำลายอวัยวะที่มันไปอาศัยอยู่ใหม่ ทำให้อวัยวะสูญเสียหน้าที่ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
                    เนื่องจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง การป้องกันจึงกระทำได้ยาก การป้องกันที่ทำได้คือ การหลีกเลี่ยงละเว้น หรือลดสิ่งที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดมะเร็ง         ๒๓/๑๔๖๖๒
                ๔๓๐๙. มะละกอ  เป็นพืชที่มีลำต้นจัดเป็นพวกไม้เนื้ออ่อน ลำต้นเดี่ยวภายใจกลวง ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นเป็นลำชะลูดใบเรียงตัวแบบเกลียว ใบมีขนาดใหญ่ประกอบด้วย ก้านใบที่ยาวและกลวง เป็นพืชที่มีทั้งดอกตัวผู้ ดอกตัวเมียและดอกสมบูรณ์เพศแยกกันอยู่คนละต้น หรืออาจจะอยู่บนต้นเดียวกันก็ได้
                    โดยทั่วไปผลมะละกอมีขนาดยาว ๗ - ๓๐ ซม. น้ำหนัก ๑ - ๒ กก.  ขนาดของผลนี้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และชนิดของดอกที่ผลพัฒนาขึ้นมา โดยปรกติผลมะละกอมีเปลือกเรียบสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มเมื่อสุก เนื้อมะละกอจะมีส้มหรือสีแดงส้ม รสหวาน         ๒๓/๑๔๖๖๖
                ๔๓๑๐. มะละกา  เป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมะลายู มีอาณาเขตทิศเหนือจดรัฐเนกรีเซมมิลัน ทิศตะวันออกจดรัฐยะโฮร์ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดช่องแคบมะละกา
                    มะละกาเป็นเมืองสำคัญทางการค้ามาแต่สมัยโบราณ และเคยเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาก่อน ดังปรากฎในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนหนึ่งว่า "ฝ่ายกระษัตร์ ได้แต่ถวายดอกไม้ทองเงินทั้งนั้น ๒๐ เมือง คือ ...เมืองฝ่ายใต้ เมืองอุยองตะหนะ เมืองมลากา เมืองมลายู เมืองวรวารี..."
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้แต่งกองทัพไปตีเมืองมะละกาครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ เมืองมะละกาเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทอง ในตำนานของโปร์ตุเกสว่าไทยได้ยกกองทัพไปตีเมืองมะละกาเมื่อก่อนโปร์ตุเกสไปถึง
                    เมืองมะละกาเดิมเป็นหมู่บ้านของชาวมลายูเผ่าชาวเล ซึ่งมีอาชีพทำประมง และเป็นโจรสลัดคอยรังควานการเดินเรือในช่องแคบมะละกา ต่อมาเมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๔๔ ชาวชวาจำนวนหนึ่ง มีเจ้าชายปรเมศวร เป็นหัวหน้าได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่เมืองคูมาสิกคือ สิงคโปร์ปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในอาณาจักรมัชปาหิต ในชวาภาคตะวันออก ขณะนั้นเจ้าผู้ครองเมืองตูมาสิกยอกสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรไทย เจ้าชายประเมศวรได้ฆ่าเจ้าผู้ครองเมืองนั้น แล้วยึดอำนาจไว้ได้ ราวปี พ.ศ.๑๙๔๕ ราชาแห่งเมืองปาหัง ซึ่งยอมขึ้นกับอาณาจักรไทย ได้ยกกองทัพไปโจมตีเจ้าชายปรเมศวร จึงพาบริวารหนีไปอยู่ที่หมู่บ้านชาวเล และได้สร้างหมู่บ้านนั้นขึ้นเป็นเมืองชื่อ เมืองมะละกา โดยได้รับความร่วมมือจากพวกโจรสลัด และชาวมลายูที่อพยพมาจากเมืองปาเล็มมังในเกาะสุมาตรา เมืองมะละกาได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นศูนย์การค้าทางทะเล
                    เมื่อทูตจีนไปเยือนเมืองมะละการาวปี พ.ศ.๑๙๔๖ เจ้าชายปรเมศวร จึงถือโอกาสขอให้พระเจ้ากรุงจีนแห่งราชวงศ์เหม็ง รับรองเอกราชของเมืองมะละกา ต่อมาราวปี พ.ศ.๑๙๔๘ เจ้าชายปรเมศวร ได้ส่งทูตไปเจริญทางไมตรีกับจีน พระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์เหม็งองค์ที่สาม พระนามยุงโล ทรงรับรองว่าเจ้าชายปรเมศวร เป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองมะละกา
                    ราวปี พ.ศ.๑๙๕๒ แม่ทัพเช็งโห ซึ่งคุมกองทัพเรือของจีนไปเยือนเมืองมะละกา และยืนยันว่าเจ้าชายปรเมศวรมีอำนาจอธิปไตยปกครองเมืองมะละกา  แต่กรุงศรีอยุธยายังถือว่า เมืองมะละกาเป็นเมืองประเทศราชของไทยอยู่
                    ขณะนั้นสุมาตราได้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธผสมพราหมณ์ เป็นศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวอินเดีย และชาวอาหรับนำมา เจ้าชายปรเมศวร จึงได้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธผสมพราหมณ์ มาเป็นศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนนามมาคติทางศาสนานั้นว่า เมกิตอีสกานเดอร์ ชาห์ และได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง พระธิดาแก่งสุลาต่านรัฐปาไช ที่เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอิสลามไม่นาน ขณะนั้นเจ้าชายปรเมศวรมีพระชนม์ ๗๒ พรรษาแล้ว และสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๙๘๗ รายาอิบราฮินผู้เป็นโอรสก็สืบราชสมบัติต่อมา ทรงใช้พระนามว่า ศรีปรเมศวร ชาห์ ซึ่งเป็นพระนามผสมระหว่างคติศาสนาฮินดู กับอิสลาม พระองค์ถูกพวกทมิฬที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีรายากาซิมพระเชษฐาต่างมารดาเป็นหัวหน้าเข้ายึดอำนาจและปลงพระชนม์
                    รายากาซิมขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ (ราว พ.ศ.๑๙๘๙) ใช้พระนามว่ามุซัฟฟา ชาห์ พระเจ้ากรุงจีนทรงรับรองยุศสุลต่านของพระองค์ นับแต่นั้นมาจึงออกพระนามพระองค์ว่า มุซัฟฟาร์ ชาห์ และเป็นสุลต่านองค์แรกของมะละกา และไม่ยอมขึ้นกับไทย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จต้องถอยกลับ ฝ่ายมะละกายกกำลังไปปราบเมืองปาหัวและเมืองปาไซได้ด้วย ทำให้มะละกาเป็นอาณาจักรหนึ่งของแหลมมลายู
                    ต่อมาเมืองสุลต่านมุซัฟฟาร ชาห์ สิ้นพระชนม์ สุลต่านมันสุร์ ชาห์ ผู้เป็นโอรสได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมะละกา เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๐๐ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเคร่งครัดมาก ได้สั่งให้ทำลายวัตถุเคารพของศาสนาเดิม คือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เสียสิ้น และได้แผ่อำนาจเข้าไปปกครองเมืองปาหัง แคมปาร์และอินทรคีร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๐๒ ทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้ออกญาจักรียกทัพบกมาทางเมืองปาหังเข้าตีเมืองมะละกาแต่ไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับ ต่อมาให้ออกญาเดโชยกกำลังทางเรือไปตีเมืองมะละกาอีก ตั้งล้อมอยู่นานแต่ตีไม่ได้ต้องถอยทัพกลับ มะละกาจึงยกทัพไปตีเอาเมืองปาหังกลับคืนมาได้ แล้วแต่งทูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย ฝ่ายไทยซึ่งกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับเชียงใหม่ก็ยอมเป็นไมตรีด้วย แต่ต่อมากองทัพไทยจากเมืองนครศรีธรรมราชยกออกไปทางเมืองกลันตันเข้าตีเอาปาหังคืนแต่ไม่สำเร็จ จนโปร์ตุเกสเข้ายึดครองมะละกา
                    ในช่วงสองสุลต่านนี้ มะละกามีอำนาจปกครองรัฐต่าง ๆ คือ ไทรบุรี ตรังกานุ ปาหัง ยะโฮร์ แจมยี, แคมปาร์ อินทรคีรี หมู่เกาะคาริมอนและเกาะชินตัง เมื่อสุลต่านมันสุร์ ชาห์สิ้นพระชนม์ โอรสคือ สุลต่านอาลาอุดดิน รายัต ชาห์ (พ.ศ.๒๐๒๐ - ๒๐๓๐)  และสุลต่านมาหมุด (พ.ศ.๒๐๓๑ - ๒๐๕๔)  อมุชาของสุลต่านอาลาอุดดิน ในสมัยสุลต่านมาหมุด มะละกาเจริญมั่งคั่งถึงที่สุดได้ทำสงครามกับไทยอีกครั้งจนปี พ.ศ.๒๐๕๔ มะละกาก็ตกเป็นของโปร์ตุเกส และโปร์ตุเกสได้เปิดสัมพันธไมตรีกับไทย
                    โปร์ตุเกสได้ดำเนินการให้มะละกาเป็นเมืองที่เข้มแข็งมั่นคง โดยสร้างให้เป็นเมืองป้อมปราการ เพื่อควบคุมเส้นทางเดินเรือไปยังหมู่เกาะโมลุกกะ สร้างเมืองมะละกาให้เจริญขึ้นเป็นตลาดเครื่องเทศ ทำให้ชาวอาแจ ชาวยะโฮร์ ชาวอังกฤษและชาวฮอลันดิพยายามแย่งชิงผลประโยชน์ต่าง ๆ ของฮอลันดา ในที่สุดในปี พ.ศ.๒๑๘๒ ฮอลันดา ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองปัตตาเลียได้ใช้กำลังทาหรโค่นอำนาจของโปร์ตุเกสที่เมืองมะละกา รวมเวลาที่โปร์ตุเกสปกครองมะละกา ๑๓๐ ปี
                    ฮอลันดาปกครองมะละกา มาถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗ ก็ต้องทำสนธิสัญญาโอนมะละกาให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกเปลี่ยนกับเมืองเบนคูเลนในเกาะสุมาตรา และเมืองปันตัมในเกาะชวา รวมเวลาที่ฮอลันดาปกครองมะละกาถึง ๑๘๓ ปี
                    อังกฤษได้รวมเกาะปีนังเมืองมะละกา และเกาะสิงคโปร์ เข้าเป็นสเตรตเซตเทิลเมนท์ขึ้นต่อผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย จนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ จึงได้โอนไปขึ้นกับกระทรวงอาณานิคมอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่สหพันธรัฐมลายา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นประเทศมาเลเซีย มะละกาจึงเป็นรัฐหนึ่งของมาเลซีย มาจนถึงปัจจุบัน         ๒๓/๑๔๖๗๐
                ๔๓๑๑. มะลิ  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก บางครั้งกิ่งอาจเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ รูปไข่หรือกลม ดอกสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมมากออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ปลายยอด ผลกลมสีดำ
                มะลิปลูกเป็นไม้ประดับประจำบ้าน เด็ดดอกมาลอยน้ำดื่มและล้างหน้า ร้อยพวงมาลัยบูชาพระ หรือทำเครื่องมงคลต่าง ๆ ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ต้นมะลิเป็นยาขับเสมหะ และขับเลือด รากฝนกินแก้ร้อนใน แก้เสียดท้อง แก้พิษงู ใบสดผสมกับกะลามะพร้าวรักษาแผลพุพอง และฝีดาาให้แห้งเร็วขึ้น ดอกสดแช่น้ำเมาน้ำเป็นกระสายยา แก้ไขตัวร้อน แก้โรคตาเจ็บ ดอกมีน้ำมันหอมระเหยมากกลับเอาน้ำมันหอมได้         ๒๓/๑๔๖๘๑
                ๔๓๑๒. มะแว้ง  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กแตกกิ่งก้านสาขามากตามลำต้นกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลรูปกลม เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีแดง ผลใช้บริโภคเป็นผักมีรสขมเป็นยา ขับลมช่วยบำบัดโรคเบาหวาน ช่วยให้น้ำตับอ่อนเดินสะดวอก ผลสุกเป็นยาแก้ไอได้ดี รากเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ         ๒๓/๑๔๖๘๓
                ๔๓๑๓. มะหวด  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางเรือนยอดหนาแน่น ใบประกอบมีใบย่อย ๔ - ๖ คู่ ดอกสีขาวแกมเขียวกลิ่นหอมออกเป็นช่อ ผลเมื่อยังอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงออกดำ เนื้อบางอุ้มน้ำ รสหวานปนฝาดเล็กน้อย
                    เนื้อไม้ใช้ทำครก สาก กระเดื่อง รากรักษาไข้ แก้พิษฝีภายใน ดับพิษร้อนตำพอกศีรษะ แก้ไข้ พอกรักษาโรคผิวหนังผื่นคัน เมล็ดต้มกินแก้ไข้ซางเด็ก แก้ไอกรน รักษาโรคหอบ         ๒๓/๑๔๖๘๔
                ๔๓๑๔. มะหะหมัด หรือมูฮัมมัด อิบนิ อับดุลเลาะห์ คือนามของศาสดาของศาสนาอิสลาม เกิดที่นครเมกกะ เมื่อปี พ.ศ.๑๑๑๓ เป็นชนเผ่ากุเรช ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวอาหรับ เพราะมีความผูกพันกับสถาบันศาสนาสั่งคุม และปกครองของชาวอาหรับมาโดยตลอด มะหะหมัดกำพร้าบิดาตั้งแต่เกิด และกำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเด็ก ต้องอยู่กับปู่ชื่ออับดุลดอลิบ ซึ่งให้การอบรมบ่มนิสัยอย่างดี เมื่อโตขึ้นได้นำไปฝากเข้าทำงานเป็นลูกจ้างกับนางคอดีเจาะห์ เศรษฐีนีม่ายแห่งนครเมกกะ ทำให้ธุรกิจการค้าของนางเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้นางไว้ใจ และขอแต่งงานด้วย ขณะนั้นนางอายุได้ ๔๐ ปี และมะหะหมัดอายุได้ ๒๕ ปี
                    ช่วงก่อนการได้รับบัญชาจากพระเจ้า ให้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลามมะหะหมัด มักใช้เวลาปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งชื่อถ้ำฮีร้อ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อปฏิบัติตามหลักคำสอนของอีบรงฮิน อันเป็นรากฐานแห่งวิถีชีวิตแบบอิสลามในระยะต่อมา มะหะหมัดได้รับบัญชาจากพระเจ้า ให้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลาม
                    เมื่ออายุราว ๔๐ ปี และได้เริ่มเผยแพร่ศาสนาที่นครเมกกะเป็นครั้งแรกใช้เวลาถึงสิบสองปี จึงทำให้ชาวเมกกะเข้าใจ และยอมรับศาสนาอิสลาม โดยเน้นความสำนึกความเชื่อ และศรัทธาต่อพระเจ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต และสรรพสิ่งทั้งปวง และเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต ที่รวมถึงหลักจริยธรรมที่ทุกคนพึงนำมาปฏิบัติ ต่อจากนั้นมูหะหมัดได้เดินทางไปยังเมืองมะดืนะห์ ใช้เวลาสิบปีในการเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวเมืองนั้น โดยเน้นถึงปัญหาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเป็นสำคัญ ในปี พ.ศ.๑๑๗๕ มะหะหมัดได้ล่วงลับลง ณ นครมะดีนะห์ เมื่ออายุราว ๖๒ ปี รวมระยะเวลาในการเผยแพร่ศาสนา ๒๒ ปี
                    หลักคำสอนและแนวความคิดที่มะหะหมัดใช้เผยแพร่ศาสนาสรุปได้ดังนี้
                            ๑. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ได้ปลูกฝังให้มุสลิมได้มีสำนึกว่าบ่อเกิดแห่งชีวิต และสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นมาจากพระเจ้า พระเจ้าเป็นผู้สร้างธรรมชาติกฎธรรมชาติ และอยู่เหนือกฎธรรมชาติ มีหลักสามประการที่มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่น และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ หลักความศรัทธาหกประการ หลักปฏิบัติห้าประการและมีหลักประจำใจด้วย
                    หลักความศรัทธาหกประการ ได้แก่ ความศรัทธาต่อสิ่งสูงสุดคือ อัลเลาะห์ไม่หลงไหลในตนเอง มีใจกว้างพร้อมที่จะยอมรับความจริง มีความปรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ขยันหมั่นเพียรในการใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม
                    หลักปฏิบัติห้าประการคือ
                            ๑. ให้พร้อมที่จะอุทิศตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ
                            ๒. กล้าที่จะประกาศทำแต่ความดีละเว้นความชั่ว
                            ๓. รู้จักรักษาเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ส่วนตน และส่วนรวมโดยการนฆาซวันละห้าครั้ง
                            ๔. ฝึกให้รู้จักความหิวโหย โดยการถือศีลอดปีละราว ๓๐ วัน
                            ๕. รู้จักสละทรัพย์โดยการจ่ายภาษีรายได้ราวร้อยละ ๒ - ๕ ต่อปี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนรวม
                            นอกจากนี้คือการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา ณ นครเมกกะปีละครั้ง
                        ๒. ความสำคัญระหว่างบุคคลต่อบุคคล ให้มนุษย์ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหวังดีต่อกัน ห้ามเกลียดชังและอิจฉาริษยาผู้อื่น ความช่วยเหลือนั้นไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ฐานะทางสังคม และวัฒนธรรม
                        ๓. แนวคิดทางเศรษฐกิจ ให้ทุกคนได้มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน หรือทรัพย์สินตามความสามารถของแต่ละบุคคล ที่ที่ร่ำรวยจะต้องแบ่งปันให้กับผู้ที่ทุกข์ยาก โดยการจ่ายภาษีรายได้ราวร้อยละ ๒.๕ ต่อปี และต้องพร้อมที่จะบริจาค หรือให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ ห้ามการหาความร่ำรวย โดยการออกเงินกู้ กักตุนสิ้นค้าไว้เก็งกำไร หรือใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจทำให้ผู้อื่นล้มละลาย
                        ๔. แนวคิดทางการเมืองและการปกครอง ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่มุสลิมจะต้องมีผู้นำทางการเมือง ซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า ผู้นำต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชาติอิสลาม การบริหารประเทศจะต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย (แบบอิสลาม)
                        ๕. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้ม ให้มนุษย์ใช้สติปัญญา และความสามารถในการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง และส่วนรวม
                        ๖. การให้ความสำคัญด้านการศึกษา ให้มุสลิมทุกคนขยันศึกษาหาความรู้ตลอดชีวิต โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นความรู้ทางศาสนาแต่ฝ่ายเดียว
                        ๗. การให้ความสำคัญต่อสถานภาพของสตรีในสังคมมุสลิม สตรีมีสิทธิอันชอบธรรมในการแบ่งมรดก และการขอหย่าร้างที่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของศาสนาอิสลาม
                        ๘. แนวคิดด้านสงคราม และสันติภาพ ได้สร้างอุดมการณ์อิสลาม ปลูกฝังให้มุสลิมมีความสำนึกว่าสัมติภาพคือ สิ่งแสดงคุณค่าแห่งความเป็นมนุาย์ จึงประณามการทำสงคราม และเรียกร้องให้แก้ปัญหา โดยสันติวิธีแต่ถ้ามีการรุกรานจากศัตรูนอกประเทศก็ให้มีการตอบโต้เท่าที่จำเป็น โดยห้ามใช้กำลังอาวุธทำร้ายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด และห้ามทำความเสียหาย หรือเผาผลาญทรัพย์สิน หรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมบัติของฝ่ายตรงข้ามด้วย
                        ๙. แนวคิดด้านกฎหมาย ให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้กับบุคคลทุกระดับ
                        ๑๐. แนวคิดด้านสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา มะหะหมัดประณามการบังคับให้ผู้ใดผู้หนึ่งยอมรับนับถือศาสนาโดยใช้กำลังบังคับ         ๒๓/๑๔๖๘๕
                ๔๓๑๕. มะหาด  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางกิ่งอ่อน ใบรูปรีหรือรูปไข่ ดอกออกเป็นกลุ่ม ดอกตัวผู้สีเหลืองรูปขอบขนานหรือกลม ผลเนื้อนุ่มรูปกลมกึ่งเป็นพู ผิวเรียบหรือขรุขระ สีส้ม หรือแดงอมส้ม เมล็ดรูปขอบขนาน
                    ผลใช้บริโภคได้เป้นยาขับพยาธิตัวตืด เปลือกลำต้นใช้เป็นยาสมานเนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างเส้นใยใช้ทำเชือก         ๒๓/๑๔๖๘๒
                ๔๓๑๖. มะอึก  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ตามลำต้นกิ่งก้านมีขนสั้นตั้งตรงปกคลุม และบางที่มีหนาม ใบใหญ่มีขนหนาแน่น ดอกสีขาวออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลกลมเมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลือง  หรือส้มมีขนสั้นปกคลุม ผลสุกรสเปรี้ยวพอควรใช้ปรุงรสอาหาร มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร รากเป็นยากัดเสมหะ แก้ไข้ แก้ปวด แก้ไอ พอกแก้คัน ใบเป็นยาพอก ผลเป็นยากัดเสมหะ เมล็ดเมื่อเผาแล้วสูดดมควันแก้ปวดฟัน         ๒๓/๑๔๖๘๓
                ๔๓๑๗. มะฮอกกานี  เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีเรือนยอดหนาแน่นใบเขียวเข้มดกหนาทึบ ใบประกอบ มีใบย่อย ๓ - ๖ คู่ ออกตรงข้ามกันใบรูปรี ดอกขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียวจาง ๆ ออกเป็นช่อกระจายตามง่ามใบ ผลใหญ่แข็งรูปไข่รูปทรงกระบอก เมล็ดมีปีกบางกว้าง รสขม
                    เปลือกมีรสฝาดเป็นยาสมาน ยาแก้ไข้ เจริญอาหาร เป็นยาแก้ไข้จับสั่น         ๒๓/๑๔๖๘๔
                ๔๓๑๘. มักกะสัน เป็นชื่อเสียงท่าสำคัญในภาคใต้ของเกาะเซลีเบส ประเทศอินโดนีเซีย เกาะเซลีเบสมีชื่อภาษาอินโดนีเซียว่าสุลาเวสี ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของเกาะบอร์เนียว โดยมีช่องแคบมักกะสันกั้นอยู่
                    ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๙ - ๒๒๑๐ ชาวมักกะสันถูกชาวฮอลันดารุกรานอย่างหนัก จึงอพยพหลบภัยไปอยู่แถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออกมลายู และส่วนหนึ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ปากคลองตะเคียน จ.พระนครศรีอยุธยา
                    ชาวมักกะสันมีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว นิสัยกล้าหาญ ดุร้าย เหน็บกริช บางทีใช้หอกซีด และลูกดอกอาบยาพิษ จึงมีคำเรียกในภาษาไทย ยักษ์มักกะสัน
                    เมื่อราวปี พ.ศ.๒๒๒๘ ชาวมักกะสันได้ก่อการขบถทั้งที่อยุธยา และที่บางกอก เนื่องจากไม่พอใจที่ทางราชการไทยให้อำนาจแก่ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ทำให้พวกคริสต์ขัดขวางผลประโยชน์ของพวกมุสลิม แต่ทางราชการไทยได้ปราบปรามขบถมักกะสันลงได้อย่างรวดเร็ว         ๒๓/ ๑๔๖๘๕

                ๔๓๑๙. มักยาร์  เป็นชนเผ่าฟินองเกรีย ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในที่ราบของเอเชียกลาง และอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนทวีปยุโรปตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศฮังการี ดินแดนแห่งนี้มีชนเผ่าเซลด์ และเผ่าสลาฟ ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน ต่อมาได้ถูกยึดครองโดยชาวโรมัน ชนเผ่าเยอรมัน พวกฮั่น และพวกอะวาร์ตามลำดับ
                    เมื่อราวปี พ.ศ๑๔๓๘ ชนเผ่ามักยาร์ได้รวบรวมกำลังตั้งรัฐฮังการีขึ้นมีนายอาร์ปีด เป็นหัวหน้า ต่อมา เซนต์ สตีแฟน ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกมักยาร์ สืบเชื้อสายจากอาร์ปีด ได้ยกฐานะของตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อาร์ปัด เซนต์ สตีเฟนได้เผยแพร่คริสต์ศาสนา ในปี พ.ศ.๑๘๔๔ ราชวงศ์อาร์ปัดสิ้นสุดลง เนื่องจากขาดเจ้านายที่จะสืบราชสมบัติต่อไป ฮังการีจึงเปลี่ยนไปอยู่ใต้การปกครองของเจ้านายต่างประเทศ
                    หลังปี พ.ศ.๒๓๕๘ ชาวฮังการี ซึ่งนิยมเรียกตัวเองว่า มักยาร์ พยายามฟื้นฟู
                    ฐานะประเทศของตนในการนำของคอสสุท และก่อการปฎิวัติต่อสู้พระจักรพรรดิ์ออสเตรียในปี พ.ศ.๒๓๙๑ - ๒๓๙๒ แต่ปราชัย ได้มีการเจรจาประนีประนอมกัน จนบรรลุผลสำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๑๐ เปลี่ยนฐานะฮังการีเป็นราชอาณาจักรตามเดิม โดยยอมรับว่าจักรพรรดิ์ออสเตรเลียเป็นกษัตริย์ของตนด้วย จักรวรรดิ์ออสเตรีย เปลี่ยนชื่อเป็นจักรวรรดิ์ออสเตรีย - ฮังการี ต่อมาเมื่อพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ออสเตรีย - อังการี จึงแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือ ออสเตรีย กับฮังการี
                    ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๖ กองทัพฮังการีเข้าร่วมกับกองทัพนาซีบุกรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ แต่แพ้สงคราม และกลายเป็นสาธารณรัฐปกครอง ตามระบอบคอมมิวนิสต์          ๒๓/๑๔๖๘๖
                ๔๓๒๐. มังกยอชวา  นามพระมหาอุปราชาโอรสพระเจ้านันทบุเรง ในปี พ.ศ.๒๑๓๓ พระเจ้านันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์แขวงเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้เคลื่อนทัพหลวงไปถึงเมืองสุพรรณบุรี ซุ่มซ่อนสองข้างทางบริเวณริมแม่น้ำท่าคอย ซึ่งอยู่เลยเมืองสุพรรณบุรี ไปทางเมืองกาญจนบุรีเล็กน้อย เมื่อพม่ารุกเข้ามาจึงถูกกองทัพไทยโจมตีเสียหายหนักแตกถอยกลับไป พระมหาอุปราชาถูกภาคทัณฑ์ให้ทำการรบแก้ตัวใหม่
                    ถึงปีพ.ศ.๒๑๓๕ พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ประกอบด้วย กองทัพกรุงหงสาวดี กองทัพเมืองแปรและกองทัพเมืองตองอู ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ถูกเกณฑ์ให้ทำหน้าที่รวบรวมเสบียงอาหารในแคว้นล้านนา ลำเลียงลงมาทางเรือ
                    สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกกองทัพออกไปต่อสู้ข้าศึกทางเมืองสุพรรณบุรี ครั้นถึงเดือนยี่ แรมสองค่ำ ปี พ.ศ.๒๑๓๕ พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี ทรงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระอังสาขวาของพระมหาอุปราชา ขาดสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง กองทัพพม่าจึงเชิญพระศพพระมหาอุปราชากลับไปกรุงหงสาวดี กองทัพไทยติดตามไปทันกองระวังหลังของพม่าที่เมืองกาญจนบุรี และตีข้าศึกแตกพ่ายไปยึดได้ช้างม้าเครื่องศัตราวุธของข้าศึกได้เป็นอันมาก          หน้า ๑๔๖๘๙
                ๔๓๒๑. มังกร ๑ - ดาว  พจนานุกรม ฯ ให้ความหมายว่า "ชื่อดาวในราศีที่ ๑๐ ใน ๑๒ ราศี" ดาวมังกรเป็นกลุ่มดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในแถบที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ผ่านแถบดังกล่าวเรียกว่า แถบจักรราศี ซึ่งมีกลุ่มดาวสำคัญ ๑๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีชื่อที่สัมพันธ์กับชื่อเดือนต่าง ๆ คือ กลุ่มดาวแกะหรือเมษ สัมพันธ์กับเดือนเมษายน กลุ่มดาวแพะทะเลหรือมกร สัมพันธ์เดือนมกราคม และกลุ่มดาวปลาหรือมีน สัมพันธ์กับเดือนมีนาคม
                    กลุ่มดาวมังกรเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ในซีกฟ้าด้านใต้ประกอบด้วยดาวฤกษ์หลายดวงที่เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านโค้ง ดาวแต่ละดวงปรากฎสว่างน้อย แต่พอมองเห็น ถ้านับเฉพาะดวงที่มีความสว่างอยู่อันดับสี่และดีกว่าจะมีดาวอยู่เจ็ดดวง
                    ดวงอาทิตย์จะผ่านเข้าเขตกลุ่มดาวมังกรประมาณวันที่ ๒๑ มกราคมและจะปรากฎเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกช้า ๆ จนออกจากเขตกลุ่มดาวมังกรประมาณวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ระหว่างนี้จะมองไม่เห็นกลุ่มดาวมังกร เพราะจะตกลับขอบฟ้าพร้อม ๆ กับดวงอาทิตย์          หน้า ๑๔๖๙๓
                ๔๓๒๒. มังกร ๒ - ปลา  เป็นปลาทะเลมีอยู่สอง-สามสกุล แต่ละสกุลก็อยู่ต่างวงศ์กันไป
                                ๑. สกุลแรกที่รู้จักดีในน่านน้ำไทยมีอยู่สามชนิด ในบางท้องถิ่นอาจมีชื่อเรียกต่าง ๆ ออกไป เช่น ปลายอดจาก ปลาหลด และปลาเบี้ยว ลักษณะรูปร่างลำตัวยาวปากคล้ายงูไม่มีเกล็ด จะงอยปากเล็กเรียวแหลม ปากกว้าง ไม่มีครีบท้องสีลำตัวตอนบนเป็นสีเทาอมเหลือง และสีจะซีดจางลง บริเวณด้านท้องสีขาวนวลพบในท้องทะเลที่พื้นหน้าดินเป็นโคลนเหลวชอบขุดรูอยู่เป็นพวกปลากินเนื้อมีนิสัยดุร้าย บางชนิดโตเต็มที่ยาวถึง ๒ เมตร
                                ๒. สกุลที่สอง มีหลายชนิด โดยมากคนทั่วไปเรียกว่า ปลาสิงห์โต ลักษณะรูปร่างลำตัวสั้นแบนข้างเล็กน้อย บนหัวมีสันกระดูก ซึ่งมีหนามแหลมสั้น ๆ บนสันนั้นด้วย บริเวณหน้าขอบตา และตาจะมีหนวดขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง ครีบหลังมีก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อน ครีบก้นมีก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อน ก้านครีบหูยาว สีของตัวปลาเป็นสีชมพูเข้ม ความงามของริ้วลาย และสีสันเป็นที่ดึงดูดสายตาผู้พบเห็นเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาตู้          หน้า ๑๔๖๙๕
                ๔๓๒๓. มังกุ  เป็นชื่อเรือชนิดหนึ่งของไทยที่ใช้เป็นยานพาหนะสำหรับเดินทาง หรือบรรทุกสินค้า และสิ่งของต่าง ๆ ล่องไปทางน้ำไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในย่านภาคกลาง
                    มังกุเป็นเรือชนิดต่อขนาดใหญ่ยาว ๒๐ - ๒๘ เมตร ใกล้เคียงกับความยาวของเรือโขมดยา ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกัน ทำด้วยไม้กระดานขนาดยาว และหน้ากว้างนำมาประกอบคุมกันขึ้นเป็นลำเรือ โดยใช้กงเป็นโครงสร้าง กำกับเปลือกเรือให้คุมกันอย่ได้และมั่นคง ส่วนหัวและท้ายของเรือมังกุต่อไม้โขนให้งอนเชิดสูงขึ้น ปลายโขนเรือฟันให้เว้าลงไปคล้ายหน้ากาบกล้วยสองรอย เนื้อไม้ที่คงเหลืออยู่จะมีลักษณะคล้ายเส้าปลายแหลมสามเส้า ส่วนท้ายเรือมักทำโขนเชิดสูงกว่าส่วนหัวเรือ โขนหัวเรือ และท้ายเรือ ยังต่อไม้กราบทั้งคู่ แล่นขึ้นไปรับกับส่วนโขนดังกล่าว และที่ด้านหลังโขนเรือทั้งสองข้าง ยังทำไม้เป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่าจับปิ้ง
                    เรือมังกุเป็นเรือพาย เรือมังกุที่ใช้ในราชการมักมีขนาดลำเรือยาวใช้ข้าราชการเป็นฝีพายโดยนั่งเป็นคู่ ๆ บนกระทงเรือ มีจำนวน ๔๐ - ๕๐ คน          ๒๓/๑๔๖๙๙
                ๔๓๒๔. มังคุด  เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตรง ยางสีเหลือง ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ มีขนาดต่าง ๆ กันรูปรีหรือขอบขนาน ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ที่ใกล้ปลายกิ่ง สีเขียวอ่อน ผลกลมขนาดผลส้มผิวเรียบ เปลือกหนา เมื่ออ่อนสีเขียวอ่อน เปลี่ยนเป็นม่วงสีแดง หรือม่วงดำเมื่อสุก เมล็ดใหญ่แบนล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อสีขาวอุ้มน้ำ รสหวานอมเปรี้ยวบริโภคเป็นผลไม้เปลือกผลมีรสฝาด เป็นยาสมานแผล และใช้ล้างแผลแทบต่างทับทิม แก้ท้องเสียเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับลำไส้ เปลือกของผลนี้ผสมกับลูกสมอไทยให้สีดำใช้ย้อมผ้าได้          ๒๓/๑๔๗๐๒


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch