หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/124
    เล่ม ๒๓  มอ - แม่แรง     ลำดับที่ ๔๒๕๐ - ๔๕๒๐    ๒๓/ ๑๔๕๒๙ - ๑๕๑๙๐
               ๔๒๕๐. มอ ๑ เป็นชื่อเรียกเรือประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยก่อนใช้เป็นพาหนะเดินทางไปตามแม่น้ำลำคลองในย่านภาคกลาง และแถบหัวเมืองเหนือตอนล่าง เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ตะเคียนทั้งต้น นำมาถากโกลนให้เป็น"มาด" คือ รูปเรืออย่างหยาบ เมื่อแต่งแล้วจะเป็นรูปลักษณะคล้ายฝักนุ่นผ่าซีก มีไม้เหลี่ยมวางพาดขวางแคมเรือ ตอนที่ถัดหัวและท้ายเรือเข้ามาเล็กน้อย เรียกว่า หูกระต่าย สำหรับคล้องเชือกหรือล่ามโซ่กับหลักกันเรือลอย แคมเรือทั้งสองข้างเสริมกราบด้วยกระดานสูงข้างละหนึ่งศอกเรียกว่า ข้างกระดาน กราบนี้ยึดติดกับกงข้าง ซึ่งวางขึ้นเป็นคู่ ๆ อยู่ด้านข้างในท้องเรือ ข้างบนใส่ประทุนสานด้วยไม้ไผ่เป็นโครงแล้ว กรุด้วยใบจากอ่อน ตอนท้ายเรือมักมีแผง หรือกระแชงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงครุ่ม ยกขึ้นมุงต่อออกไปจากท้ายประทุน ในเรือมักปูกระดานเป็นพื้นตลอดลำติดหลักแจวไว้ที่ตอนหัว และท้ายเรือ เรือมอแต่ละลำ มีขนาดยาวประมาณ ๕ - ๗ วา ปากกว้างประมาณหนึ่งวา
                   เรือมอ ปรกติใช้บรรทุกสินค้าที่เป็นของกิน ของใช้จากตัวเมืองไปขายตามชนบท ขากลับจะซื้อสินค้าพื้นเมืองมาขาย จึงเปรียบเหมือนร้านชำลอยน้ำ       ๒๓/๑๔๕๒๙
                ๔๒๕๑. มอ ๒ - เขา นักเล่นก่อเขามอ แต่ก่อนเรียก ภูเขาจำลอง ที่ก่อเลียนแบบภูเขาจริงว่า "เขามอ" คำว่า "มอ" มาจากคำว่า "ถมอ" ในภาษาเขมรซึ่งแปลว่า ก้อนหิน
                    ความนิยมเล่นก่อเขามอ และตกแต่งประดับเหย้าเรือนด้วยเขามอ ได้รับความนิยมสืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์
                    เขามอ เป็นเครื่องเล่นคู่กันมากับไม้ดัด จึงมีการนำไม้ดัดมาปลูกแซมแอบเขามอ ประเภทก่อลงในกระถางในอ่าง        ๒๓/๑๔๕๓๔
                ๔๒๕๒. มอง  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ประเภทอวนชนิดหนึ่ง มีใช้ในจังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมากมีขนาดยาวราว ๒๐๐ เมตร ลึกราว ๑.๗๐ เมตร คราวบนมีทุ่นลอย ทำด้วยไม้ไผ่ คราวล่าง มีลูกถ่วง ทำด้วยดินเหนียวเผาแข็ง เป็นรูปวงแหวนเรียกว่า ลูกมอง
                    วิธีใช้ จะใช้คนสองคน คนหนึ่งจับชายมองยืนประจำที่ อีกคนหนึ่งจับชายมองด้านที่เหลือ แล้วลากไปในน้ำเป็นรูปครึ่งวงกลม มาบรรจบกับคนยืนประจำที่แล้ว ทั้งสองคนก็เดินลากมองเข้าหาฝั่ง เพื่อจับปลาต่อไป         ๒๓/๑๔๕๔๗
                ๔๒๕๓. มองโกล  เป็นชนพวกเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโอนอน และเครูเลน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศมองโกเลีย พวกมองโกลเริ่มขยายอำนาจในสมัยเจงกิสข่าน ด้วยความสามารถของประมุข ความสามารถในการขี่ม้าใช้อาวุธบนหลังม้า การจู่โจมข้าศึก และการติดต่อสื่อสาร ทำให้พวกมองโกลขยายอำนาจออกไปกว้างใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีมา จากมหาสมุทรแปซิฟิกถึงทะเลเมดิเตอเรเนียน ในขณะที่มีประชากรไม่เกิน ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน แต่สามารถปกครองจักรวรรดิ์ ที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน ได้ในเวลาไม่ถึงศตวรรษ ทั้งทำให้การติดต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป มีความสะดวกและปลอดภัย
                    นามเดิมของ เจงกิสข่าน คือ เตมูจิน (พ.ศ.๑๗๑๐ - ๑๗๗๐)  เป็นบุตรของหัวหน้าเผ่ามองโกลเผ่าหนึ่ง เตมูจินสร้างสมอำนาจโดยสร้างความจงรักภักดีส่วนตัว ซึ่งเป้นเรื่องสำคัญของพวกมองโกล และความสามารถในการรบ เนื่องจากพวกมองโกลรบกันเกือบตลอดเวลา เตมูจินได้รับเลือกจากหัวหน้าเผ่ามองโกลทั้งหลาย ให้เป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ.๑๗๔๙ และได้ตำแหน่ง เจงกิสข่าน และว่า จักรพรรดิราช
                    กองทัพมองโกลได้พิชิตเผ่า และอาณาจักรต่าง ๆ จากแมนจูเรีย ถึงทะเลดำ และพิชิตจีนตอนเหนือจนผ่านกำแพงเมืองจีนลงมา เจงกิสข่านสวรรคตในระหว่างการโจมตีอาณาจักรเซียตะวันตก อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.๑๗๗๐ แม้กระนั้นในปีถัดมา ผู้ปกครองของเซียตะวันตก ก็ต้องยอมจำนน
                    เจงกิสข่าน แบ่งจักรวรรดิ์ออกเป็นสี่ส่วน ให้กับโอรสที่เกิดกับมเหสีใหญ่ทั้งสี่ ตามประเพณีของพวกมองโกล ต่อมาโอรสและนัดดา ยังขยายอาณาเขตแดนออกไปอีก ในช่วงที่กว้างใหญ่ที่สุด เขตแดนทั้งสี่คือ
                            ๑. แคว้นข่าน ของมหาข่าน ในเอเชียตะวันออก
                            ๒. แคว้นข่าน แห่งจะฆะได ในเอเชียกลาง
                            ๓. แคว้นข่าน แห่งเปอร์เซีย หรืออิลข่าน ในเปอร์เซีย
                            ๔. แคว้นข่าน แห่งคิพจัก ในรัสเซีย
                    ทั้งสี่แคว้นถือว่า ข่านแห่งแคว้นมหาข่าน เป็นประมุขสูงสุด และในระยะแรกถือว่าอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกัน จากนครหลวงคาราโกรัม แต่ต่อมาต่างตั้งตนเป็นอิสระ และหมดอำนาจลงไปในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และ ๒๑
                    โอรสและนัดดา ของเจงกิสข่านได้ขยายเขตแดนของจักรวรรดิ์มองโกล ให้กว้างใหญ่ต่อไป มหาข่านออกได พิชิตพวกจีนทางตอนเหนือของจีนลงได้ และกุบไล นัดดาของเจงกิสข่านพิชิตอาณาจักรน่านเจ้า ในปี พ.ศ.๑๗๙๖
                    ในสมัยกุบไลข่าน (พ.ศ.๑๘๐๓ - ๑๘๓๗)  พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรมองโกล จากคาราโกรัม ลงมาที่ต้าตู (มหานครหลวง)  ในปี พ.ศ.๑๘๑๔  พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์แบบจีนขึ้นมาคือ ราชวงศ์หยวนแปลว่า การเริ่มต้นครั้งแรก หรือต้นกำเนิด กุบไลข่านพิชิตราชวงศ์ซ่ง ได้ในปี พ.ศ.๑๘๒๒ ทำให้จักรวรรดิ์จีนอยู่ภายใต้อำนาจของมองโกล โดยสมบูรณ์
                    กุบไลข่าน ได้ขยายอำนาจมองโกลออกไป ในปี พ.ศ.๑๘๑๗ และ ๑๘๒๔  ได้ส่งกองทัพเรือไปตีญี่ปุ่น แต่ไม่สำเร็จทั้งสองครั้ง ส่งกองทัพไปตีอาณาจักรพุกามของพม่า โจมตีเวียดนาม และส่งกองทัพเรือไปโจมตีชวา นอกจากนี้ ยังส่งทูตไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ส่งทูตพร้อมบรรณาการไปถวายพระองค์
                    เมื่อกุบไลข่าน สวรรคตนัดดาของพระองค์คือ ติมุร์ หรือจักรพรรดิ์เฉินจง (พ.ศ.๑๘๓๗ - ๑๘๕๐)  ได้ครองราชย์ต่อมา หลังจากนั้นได้มีจักรพรรดิ์ปกครองต่อมาอีกแปดองค์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๕๐ - ๑๘๗๖  อำนาจของมองโกลได้เสื่องลงอย่างรวดเร็ว จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายคือ ซุ่นตี่ เกิดกบฎชาวนาขึ้นหลายครั้ง มีการเกณฑ์ราษฎร ๑๕๐,๐๐๐ คน มาขุดลอกแม่น้ำเหลือง ราษฎรทุกข์ยาก มีเสียงเรียกร้องให้ก่อการกบฎ แพร่ขยายออกไปในที่สุด ได้มีผู้นำสามารถโค่นราชวงศ์หงวนคือ จู หยวนจาง หรือจักรพรรดิ์หงอู่ ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง ในปี พ.ศ.๑๙๑๑       ๒๓/๑๔๕๕๐
                ๔๒๕๔. มองโกเลีย - ประเทศ  ก่อนนี้เรียกว่า มองโกเลียนอก ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง ด้านตะวันออก ทางเหนือติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ ติดต่อกับประเทศจีน มีพื้นที่ ๑,๕๖๔,๖๖๐ ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ อูลานบาตอร์
                    ในบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๔๙)  ได้กล่าวถึงพวกมองโกลว่า เป็นนักรบที่เร่ร่อนไปในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของทะเลสาบไบคาล
                    พวกมองโกล ซึ่งมีเจงกิสข่าน เป็นผู้นำสามารถรวมตัวกันได้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๑๗๔๘  เจงกิสข่านและข่านองค์ต่อ ๆ มาได้นำจักรวรรดิ์มองโกล ไปสู่ความมีอำนาจทางทหาร มองโกลได้เข้ายึดครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย และยุโรปตะวันออก ทำให้ดินแดนส่วนต่าง ๆ ภายใต้การยึดครองของมองโกล ได้ติดต่อกันทางการค้า รวมทั้งการติดต่อกันโดยตรงระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกเป็นครั้งแรกด้วย จักรวรรดิ์มองโกลเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสุดยอด ในรัชสมัยของกุบไลข่าน (พ.ศ.๑๗๕๙ - ๑๘๓๗)  หลังจาก กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ จักรวรรดิ์มองโกลก็เริ่มเสื่อมลง จีนสมัยราชวงศ์เหม็ง สามารถขับไล่พวกมองโกลออกไปในปี พ.ศ.๑๙๑๑ และดินแดนของพวกมองโกลในตะวันออกใกล้ ถูกพวกออตโตมานเตอร์ก ยึดครอง ทางยุโรปอำนาจของพวกมองโกลก็สิ้นสุดลงด้วย ในปี พ.ศ.๒๐๒๓
                    ในปี พ.ศ.๒๑๘๗ พวกแมนจู ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแมนจูเรีย ได้เข้าปกครองจีนโดยการยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์เหม็งได้ และตั้งราชวงศ์เช็งขึ้น พวกแมนจูได้รับความช่วยเหลือจากพวกมองโกล กลุ่มที่อาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลทรายโกบี ซึ่งต่อมาดินแดนส่วนนี้เรียกว่า มองโกเลียใน ยังพวกคาลคา ซึ่งเป็นพวกมองโกลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทะเลทรายโกบี ที่เรียกว่า มองโกเลียนอก พวกคาลคาได้ทำสงครามกับพวก แมนจูเรียหลายครั้ง ในที่สุดก็ยอมรับอำนาจการปกครองของแมนจู แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการปกครองท้องถิ่นของตัวเองไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นต้นมา จีนพยายามที่จะเพิ่มอำนาจการปกครองมองโกเลีย ให้มั่นคงกว่าเดิม และพยายามที่จะปกครองมองโกเลีย ในฐานะอาณานิคมเป็นเหตุให้มองโกเลีย หันไปพึ่งรัสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ญี่ปุ่นกับรัสเซียได้ทำสัญญาลับต่อกัน มีใจความว่า ญี่ปุ่นยอมรับว่ามองโกเลียนอก เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียยอมรับฐานะของญี่ปุ่นในมองโกเลียใน
                    ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เกิดการปฎิวัติในจีน พวกมองโกลในมองโกเลียนอก จึงขับไล่จีนออกไป และประกาศเอกราช ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ได้ทำสนธิสัญญากับรัสเซีย ให้มองโกเลียนอกเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซีย และรัสเซียยอมรับว่า มองโกเลียนอก เป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ เกิดการปฎิวัติในรัสเซีย ญี่ปุ่นจึงเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในมองโกเลียนอก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๒ จีนได้เข้ามาปกครองมองโกเลียนอกอีกครั้งหนึ่ง มองโกเลียนอกจึงกลับไปพึ่งพารัสเซียอีก ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๔ กองทัพมองโกล และรัสเซีย ยึดอำนาจจากจีนได้ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้น มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่สุดถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗ มองโกเลียได้เปลี่ยนการปกครองเป็น ระบอบสังคมนิยม
                   สภาพทางภูมิศาสตร์  พื้นที่ส่วนใหญ่ของมองโกเลีย เป็นที่ราบสูง ความสูงเฉลี่ย ๙๐๐ - ๑,๘๐๐ เมตร รอบ ๆ ที่ราบสูงเป็นภูเขาและที่สูง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมองโกเลีย เป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายโกบี      ๒๓/๑๔๕๕๗
                ๔๒๕๕.  มองคร่อ  เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่งในห้าอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นโรคอันตรายในพระพุทธศาสนา หมอชีวกโกมารภัจได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า กุลบุตรที่เป็นโรคใดโรคหนึ่งในห้าโรค ได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝีเรื้อรัง โรคกลาก โรคมองคร่อ และโรคลมบ้าหมู ไม่สมควรอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ
                มีบทนิยามคำ มองคร่อ ไว้ว่า " โรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะคั่งอยู่มากกว่าปรกติ ในส่วนที่พองทำให้มีอาการไอเรื้อรัง จะไอหนักในเวลาเช้ามืด ห้ามผู้เป็นโรคนี้บวชเป็นภิกษุ"      ๒๓/๑๔๕๖๕
                ๔๒๕๖. มอญ  หรือที่เรียกว่า รามัญ ตะเลง และ เปกวน (หมายถึง ชาวเมืองพะโค หรือหงสาวดี)  เป็นชนชาติเผ่าพันธุ์หนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก ภาษามอญมีความเกี่ยวข้องกับภาษาเขมร และภาษาท้องถิ่นของเวียดนาม ซึ่งอยู่ในเครืออานัมไมต์ และมีความสัมพันธ์ห่าง ๆ กับภาษาอินโดนิเซีย
                    พวกมอญ เรียกตนเองว่า รมัน ซึ่งเพี้ยนมาเป็น มอญ แต่พม่าเรียกพวกนี้ว่า ตะเลง ซึ่งมาจากคำว่า ตลิงคานะ อันหมายถึง แคว้นหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของวัฒนธรรม ผสมระหว่างฮินดูกับพระพุทธศาสนา
                    พงศาวดารพม่า กล่าวว่า มอญเป็นชนชาติแรก ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสต์กาล
                    มอญตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนใต้ค่อนไปทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง และมีอาณาเขตแผ่ขยายลงไปทางใต้ ถึงเมืองทะวาย มีศูนย์กลางการเมือง และวัฒนธรรมอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ที่นั้นมีอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนาคือ ทวารวดี ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา นครหลวงซึ่งเป็นที่รู้จักแห่งแรกคือ นครปฐม ซึ่งได้พบจารึกภาษามอญ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณปี พ.ศ.๑๑๔๓ นอกจากนครปฐมแล้วยังมีเมืองอื่น ๆ ที่รวมอยู่ในอาณาจักรนี้ด้วย ดังที่ได้พบศิลาจารึกเป็นภาษามอญโบราณเขียนด้วยอักษรปัลลวะของพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้แก่จารึกวัดพระมหาธาตุ จ.นครราชศรีธรรมราช จารึกวัดโพธิ์ร้าง จ.นครปฐม จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จ.ลพบุรี จารึกถ้ำพระนารายณ์ จ.สระบุรี จารึกเมืองบึงคอกช้าง จ.อุทัยธานี และจารึกที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ซึ่งเป็นภาษามอญโบราณใช้รูปอักษรหลังปัลลวะเช่น จารึกเสาแปดเหลี่ยม จ.ลพบุรี จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา จ.ขอนแก่น จารึกพระพิมพ์เผานาดูล จ.มหาสารคาม จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดด และจารึกวัดโพธิชัยเสนาราม จ.กาฬสินธุ์ จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล จ.นครสวรรค์ และที่ จ.ชัยภูมิ
                    พงศาวดารมอญกล่าวว่า อาณาจักรสะเทิน สร้างก่อนปี พ.ศ.๒๔๑ โดยพระราชโอรสสององค์ของพระเจ้าติสสะ ผู้ครองแคว้นหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้นำบริวารลงเรือสำเภาล่องมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ จึงตั้งรกรากที่นั่น ให้สร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณอ่าวเมาะตะมะ ตั้งชื่อเมืองว่าสะเทิมหรือสุธรรมวดี อาณาจักรสะเทิมมีกษัตริย์ปกครอง ๕๙ พระองค์
                    ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่สามถึงต้นพุทธศตวรรษที่สี่ พระเจ้าอโศก ฯ แห่งอินเดียได้ส่งพระโสณะ และพระอุตระมาประกาศพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ซึ่งมอญอ้างว่าเมืองสะเทิมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรนี้
                    อาณาจักรสะเทิมเจริญรุ่งเรืองมาก รับอารยธรรมอินเดียมาใช้ที่สำคัญคือ อักษรศาสตร์และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมา จึงทำให้มอญมีบทบาทมากที่สุด ในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียให้แก่ชนชาติอื่น ๆ ในเอเซียอาคเนย์
                    ในปี พ.ศ.๑๓๗๕ พวกน่านเจ้าเข้ารุกรานทางตอนเหนือของพม่า และได้ทำสงครามกับอาณาจักรพยุหรือปยุ พวกน่านเจ้าได้กวาดต้อนชาวพยุ ไปเป็นเชลยศึกเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลือได้ลี้ภัยลงมาทางใต้และมาสร้างเมืองพุกาม
                    มอญได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่คือเมืองหงสาวดีหรือพะโค เมื่อปี พ.ศ.๑๓๖๘
                    ช่วงปี พ.ศ.๑๖๐๐ - ๑๘๓๐ หงสาวดีอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม พระเจ้าอโนรธามังช่อ (พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐)  เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พุกาม และเป็นผู้ตีสะเทิมได้ ในปี พ.ศ.๑๕๘๗ พม่าได้รับการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิชาการต่าง ๆ จากมอญ รวมทั้งรับเอาตัวอักษรมอญไปดัดแปลงเป็นตัวอักษรพม่าเป็นครั้งแรก ศิลาจารึกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าครรชิต กษัตรย์องค์ที่สามของราชวงศ์พุกาม (พ.ศ.๑๖๒๐ - ๑๖๒๗)  ส่วนใหญ่เป็นภาษามอญ
                    ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรมอญ ที่ได้รับการรับรองเป็นทางการเริ่มในรัชสมัยพระเจ้าฟ้ารั่ว (พ.ศ.๑๘๓๐ - ๑๘๔๙)  ในปี พ.ศ.๑๘๓๐ มองโกลยกทัพมาตีพม่าได้ ทำให้มอญเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าฟ้ารั่วได้สถาปนาอาณาจักรมอญอิสระขึ้น มีเมืองเมาะตะมะ เป็นราชธานี และสถาปนาราชวงศ์เจ้าฟ้ารั่วขึ้น หรือที่เรียกกันว่าราชวงศ์หงสาววดีบ้างหรือราชวงศ์ไทยใหญ่บ้าง - ตะเลงบ้าง ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ได้โปรดให้พระมอญชื่อพระสารีบุตร แปลคัมภีร์พระธรรมศาสนา ที่ได้เค้ามาจากอินเดียเป็นภาษามอญ และให้แปลเป็นภาษาพม่าด้วย ซึ่งไทยได้รับคัมภีร์นี้มาเป็นต้นแบบของกฎหมายไทย ราชวงศ์ฟ้ารั่วปกครองมอญมาจนถึงปี พ.ศ.๒๐๘๒ มีกษัตริย์ปกครองรวม ๑๘ องค์ ที่สำคัญมีดังนี้
                                ๑. พญาอู่ หรือพระเจ้าพินยาอุ (พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๒๘) พระองค์โปรด ฯ ให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่หงสาวดีตามเดิม
                                ๒. พระเจ้าราชาธิราช (พ.ศ.๑๙๒๘ - ๑๙๖๘) ทรงมีอานุภาพมาก ได้แบ่งอาณาจักรมอญออกเป็น ๓๒ มณฑล ทรงรบรับขับเคี่ยวกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง (บินคยอง ) แห่งอังวะเป็นสงครามยาวนานถึงสิบปี มีชาวโปร์ตุเกสเข้ามาติดต่อค้าขายกับมอญ และช่วยมอญสร้างกำแพงเมืองและป้อมคูที่เมืองสิเรียม ซึ่งเป็นเมืองท่า
                    ต่อมาพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งราชวงศ์ตองอู (พ.ศ.๒๐๗๔ - ๒๐๘๔) ได้ยกกองทัพมาตีมอญได้ในปี พ.ศ.๒๐๘๒ แล้วย้ายราชธานีมาตองอู มาอยู่ที่หงสาวดี
                    ในปี พ.ศ.๒๑๔๑ เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองอังวะ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง ก่อการจลาจลขึ้น เจ้าเมืองตองอูไปชวนพระเจ้ายะไข่ให้ร่วมมือด้วย พวกยะไข่เผาเมืองหงสาวดี และกวาดต้อนชาววมอญกลับไปยะไข่หลายพันครอบครัว และมอบให้ทหารชาวโปร์ตุเกสควบคุมเมืองสิเรียมไว้ ต่อมากำลังทัพโปร์ตุเกสช่วยมอญขับไล่มหาอุปราชแห่งยะไข่ไปได้ แต่ในที่สุดกษัตริย์พม่าก็ตีเมืองสิเรียมได้ มอญจึงต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีก ถึงปี พ.ศ.๒๑๗๘ พม่าย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ที่กรุงอังวะ พวกมอญได้ก่อการจลาจลครั้งใหญ่อีก แต่ก็ถูกพม่าปราบได้ จึงพากันอพยพเข้าไทยเป็นจำนวนมาก
                    ในปี พ.ศ.๒๒๐๔ รัชสมัยพระเจ้าแปร (ปเย) กษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งราชวงศ์ตองอู พม่าเกณฑ์ชาวมอญจาก ๓๒ เมือง ซึ่งขึ้นนกับเมาะตะมะ ไปช่วยรบป้องกันกรุงอังวะ จากการรุกรานของชาวจีนซึ่งอพยพมาจากยูนนาน มีมอญกลุ่มหนึ่งประมาณห้าพันคน เผาเมืองเมาะตะมะแล้วหลบหนีพม่ามาพึ่งไทย โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนารายณ์ ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามโคกบ้าง คลองคูจามบ้าง ใกล้วัดตองปุบ้าง
                    ในปี พ.ศ.๒๒๘๓ ไทยใหญ่ก่อการกบฎแล้วสมทบกับชาวมอญ ที่เมืองหงสาวดีซึ่งมีสมิงทอพุทธเกติ เป็นผู้นำ เข้ายึดเมืองสิเรียม และเมืองเมาะตะมะไว้ได้ แล้วยึดได้พม่าตอนล่าง เมืองแปร ตองอู แล้วรุกขึ้นไปตามลำแม่น้ำอิรวดี มุ่งไปสู่เมืองอังวะ แต่ถูกพม่าต้านไว้ สมิงทอสละราชสมบัติ พญากาละตั้งตนเป็นกษัตริย์แทน นำกองทัพมอญรุกขึ้นไปทางเหนือ จนเลยกรุงอังวะตีเมืองอังวะได้ ในปี พ.ศ.๒๒๙๓
                    หัวหน้าหมู่บ้านมุกโชโบชื่อ อลองเซย่า ได้ซ่องสุมผู้คนรบชนะมอญ แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าอลองพญา ราวปี พ.ศ.๒๒๙๘ ตีได้เมืองแปร เข้ายึดเมืองสิเรียมได้ในปี พ.ศ.๒๒๙๙ และตีเมืองหงสาวดีได้ในปี พ.ศ.๒๓๐๐ สามารถปราบปรามอาณาจักรมอญได้ราบคาบ ได้ฆ่าฟันชาวมอญชนิดทำลายล้างเผ่าพันธุ์ พวกมอญได้หนีไปทางตะวันตก และหนีเข้าไทย ทำให้ไม่มีมอญอยู่ในหงสาวดีถึง ๑๘๐ ปี พม่าสามารถรวมมอญเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างเด็ดขาด
                    ตามประวัติศาสตร์ มอญอาศัยอยู่ในประเทศพม่า และประเทศไทยเท่านั้น มีการอพยพครั้งสำคัญของชาวมอญ เข้ามาในประเทศไทยถึงเจ็ดครั้ง ในสมัยอยุธยาสี่ครั้ง สมัยรัตนโกสินทร์สามครั้ง ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบริเวณภาคกลางเป็นส่วนใหญ่
                ๔๒๕๗. มอญ - เขมร - ภาษา  เป็นกลุ่มภาษาของชนหลายชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภาษาย่อยกลุ่มหนึ่ง ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มภาษามุนดา กลุ่มภาษานิโคบาร์ และกลุ่มภาษามอญ - เขมร
                    ลักษณะทั่วไปเป็นภาษาคำติดต่อ แต่ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาษาคำโดดคือ ภาษาจีน และภาษาไทย ทำให้มีลักษณะใกล้ภาษาคำโดดมากขึ้น เป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ เป็นภาษาที่สร้างคำด้วยการติดต่อคำ การประกอบคำเข้าเป็นวลีและประโยคเป็นลักษณะ ประธาน - กิริยา - กรรม ส่วนขยายของแต่ละส่วนอยู่ข้างหลัง ยกเว้นส่วนขยายของกิริยา ซึ่งจะปรากฎหลังกรรมได้ ภาษาเขมรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยมาก
                     ชนชาติมอญมีตัวอักษรใช้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด นับเป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีตัวอักษรใช้ ชนชาติเขมรมีอักษรปรากฎหลักฐานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบสอง และตัวอักษรของสองชนชาตินี้ได้เป็นต้นเค้า ของตัวอักษรของชาติอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ตัวอักษรไทย ตัวอักษรล้านนา ตัวอักษรธรรม ตัวอักษรพม่า        ๒๓ /๑๔๕๙๐
                ๔๒๕๘. มอด  เป็นแมลงที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เจาะกินเข้าไปในวัสดุต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นรูพรุนอยู่ทั่วไป มอดส่วนใหญ่เป็นแมลงปีกแข็ง จะมีพวกหนอนผีเสื้อเป็นส่วนน้อย มอดมีอยู่มากมายหลายชนิด ที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่
                                ๑. มอด ประเภทเจาะเมล็ดพืช  หรือวัสดุที่เก็บไว้ในโรงเก็บ มีมอดข้าวสาร มอดข้าวเปลือก มอดถั่ว มอดยาสูบ มอดแป้ง  มอดผ้า
                                ๒. มอด ประเภทเจาะเนื้อไม้สด มีมอดไม้สัก
                                ๓. มอด ประเภทเจาะเนื้อไม้แห้ง มีมอดไม้ไผ่ มอดไม้แห้ง        ๒๓ / ๑๔๕๙๘
                ๔๒๕๙. มอร์ฟีน  เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทอัลคาลอยด์ ที่สำคัญสารหนึ่งซึ่งมีอยู่ในฝิ่นดิบ มีรสขม ลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี ในทางการแพทย์ใช้มอร์ฟีน ในรูปของเกลือซัลเฟต ไฮโดรคลอไรด์ แอซิเทต หรือทาร์เทรต ใช้เป็นยาระงับความปวด และทำให้หลับลึก
                    มอร์ฟีน เป็นยาเสพติดให้โทษ แรงกว่าฝิ่น ๘ - ๑๐ เท่า จัดเป็นยาเสพติดประเภทกดประสาท เช่นเดียวกับฝิ่น และเฮโรอีน มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง มอร์ฟีนออกฤทธิ์กดศูนย์การหายใจในสมอง ทำให้หายใจช้าและตื้น เป็นผลข้างเคียงที่สำคัญ และอันตรายมาก         ๒๓/๑๔๖๐๔
                ๔๒๖๐. มะกรูด  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒ - ๑๒ เมตร ลำต้นคดงอ แตกกิ่งเป็นพุ่ม ใบเป็นชนิดใบประกอบเรียงสลับกัน มีต่อมน้ำมันกลิ่นหอมฉุน คล้ายใบส้มโอ ดอกมีน้อย สีขาว หรือสีชมพูอ่อน ออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามง่ามใบตอนบน และปลายกิ่ง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลค่อนข้างกลมสีเขียวเข้ม ขนาดผลเท่าผลส้มจีน ผิวย่นขรุขระ กลิ่นหอมฉุน เนื้อในสีขาว รสค่อนข้างเปรี้ยว ใบและผลใช้ปรุงอาหาร         ๒๓/๑๔๖๐๗

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch