หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/123
    ๔๒๔๐. มหาสุรสิงหนาท  เป็นสร้อยพระนามของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เรียกอีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ พระองค์มีพระนามเดิมว่า บุญมา พระบิดาชื่อ พระพินิจอักษร (ทองดี) พระมารดาชื่อ ดาวเรือง เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ในปี พ.ศ.๒๓๐๒ บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าเอกทัต ต่อมาได้เลื่อนเป็น นายสุดจินดา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๖
                        ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้เสียแก่ข้าศึก นายสุดจินดา (บุญมา) ได้ปรึกษากับเพื่อนชายอีกสามคน หนีออกจากวงล้อมของข้าศึก ไปหาหลวงยกระบัตร (ทองด้วง) พี่ชายที่เมืองราชบุรี จากนั้นได้เดินทางไปร่วมกู้บ้านเมืองกับพระยาตาก และได้แวะรับเอามารดาของพระยาตาก ที่บ้านแหลม เมืองสมุทรสงคราม ไปให้พระยาตาก ด้วย พระยาตากรับนายสุดจินดาให้เข้ารับราชการด้วย และแต่งตั้งขึ้นเป็น พระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจในขวา ศักดินา ๒,๐๐๐
                        พระมหามนตรี ร่วมกู้แผ่นดินมากับพระยาตาก จนยึดกรุงศรีอยุธยาได้แล้วสถาปนาเมืองธนบุรี เป็นราชธานีในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ พระมหามนตรี ออกไปรับ หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) จากเมืองราชบุรี เข้ามารับราชการอยู่กับพระยาตากด้วย ซึ่งก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ พระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจขวา
                        พระมหามนตรี (บุญมา)  เกิดมาเป็นนักรบกู้แผ่นดิน และรบชนะเกือบทุกครั้ง จนแม่ทัพพม่ายอมเรียกท่านว่า "พระยาเสือ" ท่านได้ออกศึกในราชการสงคราม ที่มิได้หยุดพักเลย ตลอดเวลา ๓๕ ปี ระหว่างรับราชการอยู่สองแผ่นดินคือ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ๑๖ ครั้ง และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ๘ ครั้ง
                        ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ ได้ร่วมกับ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ตี ก๊กเจ้าพิมาย ที่เมืองนครราชสีมา เสร็จศึกครั้งนี้ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ได้เลื่อนเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระมหามนตรี (บุญมา) ได้เลื่อนเป็น พระยาอนุชิตราชา
                        พ.ศ.๒๓๑๓ ร่วมกับกองทัพหลวงตี ก๊กเจ้าพระยาฝาง ได้หัวเมืองเหนือส่วนกลางทั้งหมด พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ซึ่งได้เลื่อนเป็น พระยายมราช อยู่ก่อน ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช และโปรดเกล้า ฯ เลื่อน พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง) เป็น พระยายมราช ซึ่งต่อมาไม่ช้าก็ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาจักรี
                        พ.ศ.๒๓๒๐ ตีทัพเจ้าอิน แห่งนครจำปาศักดิ์  ได้เมืองจำปาศักดิ์กับเมืองทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือได้อีกหลายเมือง เสร็จศึกคราวนี้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ได้เลื่อนเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
                        พ.ศ.๒๓๒๑  ร่วมกับ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตีกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ล้อมอยู่สี่เดือน จึงตีได้ และได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร (พระแก้วมรกต) กับพระบาง จากเวียงจันทน์ ลงมาด้วย
                        พ.ศ.๒๓๒๓  ปราบจลาจลในกรุงกัมพูชา ร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พอเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี ต้องยกทัพกลับมาปราบจลาจล
                        เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช (วังหน้า)
                        พ.ศ.๒๓๒๘ พระองค์ทรงทำสงครามเก้าทัพ เอาชนะข้าศึกได้ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และพระปรีชาสามารถ แล้ขับไล่พม่าออกจากหัวเมืองปักษ์ใต้ จากนั้นได้เลยไปปราบหัวเมืองปัตตานี ที่เอาใจออกห่าง ทำให้เมืองกลันตันและเมืองตรังกานู อ่อนน้อมขอขึ้นกับกรุงเทพ ฯ ด้วย
                        พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา
               ๔๒๔๑. มหาหงส์  เป็นพืชล้มลุก ข้ามฤดูคล้ายขิงข่า มีเหง้าอยู่ในดิน ตั้งต้นขึ้นสูง ๑ - ๑.๕ เมตร ใบมีกาบใบหุ้มลำต้น และมักมีหน่องอกขึ้นด้านข้าง ใบเกลี้ยง ยาวปลายแหลม เรียงสลับกันสองข้าง ถึงฤดูฝนดอกจะออกที่ยอด ปลายยอดโป่งออกเป็นรูปไข่ มีกาบหุ้มดอกเรียงสลับกัน กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม บานเกือบตลอดปี        ๒๒/ ๑๔๔๔๒
                ๔๒๔๒. มหาหิงค์  เป็นยางไม้มีสีขาวแกมเทา สีเหลืองด้าน หรือสีน้ำตาลอมแดง ได้จากการกรีด และรากของต้นมหาหิงค์ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกไม่เกิน ๓ เมตร ลำต้นสีเขียวเกลี้ยง ใบเป็นฝอย เมื่อออกดอกแล้ว มักสลัดใบ ดอกสีเหลืองอ่อน รากและเหง้ากลมยาวเรียว สีน้ำตาล เนื้อในสีขาวจะให้ยางเมื่ออายุได้ประมาณห้าปี
                        มหาหิงค์ มีน้ำมันหอม น้ำมัน ยางกาว และชัน รวมตัวกันอยู่ บางส่วนของน้ำมันนี้มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงได้ มหาหิงค์มีกลิ่นฉุน ร้อน และเผ็ดร้อน และขม มีสรรพคุณเป็นยา ใช้เป็นยาขับลมผาย แก้อาการเกร็ง แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เสียดท้อง ขับประจำเดือน แก้อาการทางประสาท ชนิดฮิสทีเรีย ใช้เป็นยาภายนอกทาแก้กลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย       ๒๒/ ๑๔๔๔๓
                ๔๒๔๓. มหิดล ๑  เป็นอักษรพยางค์ต้นของพระนาม ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชโอรสองค์ที่เจ็ด ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาวิชาทหารเรือ ที่ประเทศเยอรมัน เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เสด็จกลับมารับราชการ ได้รับพระราชทานยศ นายพันเอก ทหารบก และนายนาวาเอก ทหารเรือ
                        ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการแพทย์ เพื่อประชาชนเป็นเอนกประการ พระองค์ทรงประชวรสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวง
                        พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว สังวาลย์ (สกุลเดิม ชูกระมล) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ (รัชกาลที่ ๘ ที่ ๙ ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศ เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ) มีพระราชโอรส พระราชธิดา สามพระองค์คือ
                            ๑. หม่อมเจ้าหญิง กัลยาณิวัฒนา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
                            ๒. หม่อมเจ้าชาย อานันทมหิดล (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่แปด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙)
                            ๓. พระองค์เจ้าชาย ภูมิพลอดุยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ เสด็จเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีประกาศพระราชทานนามสกุล  ตาม พ.ร.บ.นามสกุล พ.ศ.๒๔๕๘
                        สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ นามสกุล มหิดล ณ อยุธยา
                        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงประกาศสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศ พระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗
                        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศ เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓       ๒๒/ ๑๔๔๔๖
                ๔๒๔๔. มหิดล ๒ มหาวิทยาลัย  มีต้นกำเนิดจากโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้ขยายกิจการจนสามารถเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ มีชื่อว่า โรงแพทยกร และได้รับพระราชทานนามเป็นราชแพทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะแพทยศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น คณะแพทยศาสตร์จึงโอนเข้ามาเป็นคณะหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยนี้คือ คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล      ๒๒/๑๔๔๕๑
                ๔๒๔๕. มหินทรเถระ - พระ  เป็นโอรสพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นพระเชษฐาของพระสังฆมิตตาเถรี ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ ท่านได้บรรลุพระอรหันต์ ในวันอุปสมบทนั้น
                        ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลาสามพรรษา และต้องรับภาระควบคุมดูแลสั่งสอน บรรดาศิษย์ของพระอุปัชฌาย์เป็นเวลาถึงเจ็ดปี เมื่อท่านผนวชได้สิบสองพรรษาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าสมณทูตสายหนึ่ง ในเก้าสายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกา นับว่าเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาได้เข้าไปสู่ลังกา
                        พระมหินทรเถระ พร้อมกับพระเถระอีกสี่รูป ได้ไปยังลังกาและได้พบพระเจ้าเทวานัมปิยติส กษัตริย์ลังกาผู้เป็นพระสหายกับพระเจ้าอโศก ฯ ท่านเทศนา จุฬหัตถิปโทปมสูตร ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อย่างแจ่มแจ้ง และได้อธิบายถึงวิธีเข้ามานับถือพระพุทธศาสนา และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระสูตรนี้ได้รวมคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้าไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าเทวานัมปิยติส พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะทันที
                        เมื่อพระพุทธศาสนาสามารถหยั่งรากลงสู่ลังกาทวีปแล้ว ชาวสิงหลเป็นจำนวนมาก ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ทำให้สังฆมณฑลเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น พระมหินทรเถระจึงได้ทูลพระเจ้าเทวานัมปิยติส ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก สังคายนาพระธรรมวินัย แล้วท่านได้นัดประชุมพระภิกษุสงฆ์ ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ๒,๘๐๐ รูป ทำสังคายนาที่ถูปาราม เมืองอนุราชปุระ เมื่อราวปี พ.ศ.๓๑๘ กระทำอยู่สิบเดือนจึงสำเร็จ นับเป็นการสังคายนาครั้งที่สี่ และเป็นครั้งแรกของประเทศลังกา      ๒๒/๑๔๔๕๓
                ๔๒๔๖. มหินทราธิราช - พระ  เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระองค์ได้โดยเสด็จพระราชบิดา ในการศึกสงครามกับพม่า มาตั้งแต่ต้นรัชกาลคือ ในปี พ.ศ.๒๐๑๙ ที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ยกทัพพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๐๖ คราวสงครามช้างเผือก พระมหาจักรพรรดิ์ทรงยอมทำไมตรีกับพระเจ้าบุเรงนอง แต่พระเจ้าบุเรงนองทรงยุยงพระมหาธรรมราชา พระราชบุตรเขยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และครองเมืองพิษณุโลกอยู่นั้น ให้แข็งข้อต่อกรุงศรีอยุธยา และหันไปฝักฝ่ายกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ดังปรากฎในกรณีที่พระองค์แจ้งให้กองทัพพม่า ยกมาชิงพระเทพกษัตริย์ไปยังกรุงหงสาวดี ในระหว่างที่เสด็จไปเวียงจันทน์  เพื่อเข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกเป็น พระอัครมเหสีของ พระเจ้าไชยเชษฐา แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ตามที่ได้กราบทูลขอมา เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงเสด็จออกทรงผนวช และยกราชสมบัติให้แก่พระมหินทราธิราช
                        สมเด็จพระมหินทราธิราชได้ทรงคบคิดกับพระเจ้าไชยเชษฐา ที่จะจับพระมหาธรรมราชา แต่พระมหาธรรมราชาได้เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองเสียก่อน พระเจ้าบุเรงนองจึงสถาปนาพระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าฟ้าสองแคว สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงทราบเรื่อง จึงได้กราบทูลขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงลาผนวช กลับมาครองราชย์ใหม่ แล้วเสด็จไปเมืองพิษณุโลก พร้อมสมเด็จพระมหินทราธิราช เพื่อรับพระวิสุทธิกษัตริย์และพระราชนัดดา มายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองเห็นเป็นโอกาส จึงได้กรีฑาทัพ โดยรวมทหารจากประเทศราชทั้งปวง เข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑
                        สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และพระมหินทร ได้ช่วยกันป้องกันรักษาพระนครไว้อย่างเต็มความสามารถ ระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงประชวร และเสด็จสวรรคต
                        พระเจ้าบุเรงนอง ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ห้าเดือน ก็ยังตีเอาพระนครไม่ได้ ประกอบกับฤดูฝนกำลังย่างเข้ามา พระองค์จึงใช้วิธีเกลี้ยกล่อม ให้พระยาจักรีทรยศต่อเมืองไทย โดยรับอาสาเป็นไส้ศึกให้พม่า จัดการให้การป้องกันพระนครอ่อนแอลง เมื่อพม่าเข้าโจมตีพระนครในตอนกลางคืน เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่ข้าศึก
                        เมื่อสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าบุเรงนองก็หาเรื่องเอาผิดพระยาจักรี แล้วให้ประหารชีวิต เนื่องจากชิงชังว่าเป็นคนทรยศต่อชาติบ้านเมืองของตนเอง
                        หลังกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พระเจ้าบุเรงนองเสด็จยกทัพกลับไปทางเมืองกำแพงเพชร สมเด็จพระมหินทราธิราชก็โดยเสด็จ ครั้นถึงแดนเมืองแครง สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงพระประชวร เสด็จสวรรคต         ๒๒/๑๔๔๕๘
                ๔๒๔๗. มโหระทึก - กลอง  เป็นกลองโลหะชนิดหนึ่ง ส่วนมากทำด้วยโลหะผสม ระหว่างทองแดงกับดีบุก มีขนาดต่าง ๆ รูปทรงกระบอก แต่คอดตรงกลาง ทำให้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นตัวกลอง อีกส่วนหนึ่งเป็นฐานกลอง ส่วนตัวกลองมีหน้ากลองเป็นแผ่นเรียบ ส่วนฐานกลองเป็นรูปกรวย กลวง มีหูหล่อติดกับตัวกลอง สำหรับร้อยเชือกหาม หรือแขวนกับหลัก ซึ่งปักตรึงกับฐานแน่นหนา ตีด้วยไม้สองอัน รัวให้เป็นเสียงกังวาน
                        นักวิชาการด้านโบราณคดี ส่วนมากลงความเห็นว่า กลองมโหรทึกทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยโลหะตอนปลาย หรือประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๙๐๐ ปี มาแล้ว ตรงกับสมัยสำริดช่วงสุดท้ายของเวียดนาม ซึ่งเรียกกันว่า สมัยวัฒนธรรมดองซอน การทำกลองประเภทนี้ มีสืบเนื่องกันต่อมา แม้ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้ ก็พบว่าชนบางเผ่าในสหภาพพม่า ก็ยังทำกลองมโหระทึกอยู่
                        ความมุ่งหมาย ในการทำกลองมโหระทึก พอสรุปได้ดังนี้
                            ๑. ใช้ตีในงานพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีขอฝน รักษาคนไข้ ขับไล่ภูติผี และในพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย
                            ๒. ใช้ประโคมเป็นดนตรี
                            ๓. ใช้ตีเป็นสัญญาณเมื่อมีศึก หรือตีเมื่อออกไปทำศึก
                            ๔. ใช้เป็นของรางวัล หรือเครื่องบรรณาการ
                            ๕. ใช้เป็นสิ่งแสดงว่า ผู้มีกลองชนิดนี้ เป็นที่เคารพยกย่องของเพื่อนบ้าน หรือเป็นคนมั่งมี
                        ในประเทศไทย มีหลักฐานทางวรรณคดีที่กล่าวถึงการใช้กลองมโหระทึก ว่าใช้ประโคมเป็นดนตรี และใช้ตีในพระราชพิธีต่าง ๆ        ๒๒/๑๔๔๖๒
                ๔๒๔๘. มโหรี  เป็นชื่อวงดนตรีที่มีเครื่องผสมทั้งดีด สี ตี เป่า เป็นวงดนตรีที่บรรเลงเฉพาะ เพื่อขับกล่อมให้เกิดความรื่นรมย์ ไม่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมหรสพใด ๆ เดิมมโหรีวงหนึ่ง มีสี่คน คือ คนเสียง สำหรับขับร้องลำนำ และตีกรับพวง ให้จังหวะ คนสีซอสามสาย คนดีดกระจับปี่ และคนตีโทน
                        ตอนปลายสมัยอยุธยา มีคนเป่าขลุ่ย และคนตีรำมะนา เพิ่มขึ้นอีกสองคน ต่อมาราวในรัชกาลที่หนึ่ง ได้เพิ่มระนาดไม้ กับระนาดแก้ว ขึ้นอีกสองสิ่ง วงมโหรีจึงมีแปดคนด้วยกัน และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในรัชกาลที่สาม กับรัชกาลที่สี่
                        ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า มาจนถึงปัจจุบันได้จัดวงมโหรี โดยมีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงแบบแผนอยู่สามขนาด ดังนี้
                         วงมโหรีวงเล็ก  ประกอบด้วย
                            -  ซอสามสายหนึ่งคัน ทำหน้าที่คลอเสียงคนร้อง และบรรเลงดำเนินทำนองร่วมในวง
                            -  ซอด้วงหนึ่งคัน เดินทำนองโดยเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
                            - ซออู้หนึ่งคัน  ดำเนิทำนองเป็นเชิง หยอกล้อยั่วเย้า ไปกับทำนองเพลง
                            -  จะเข้ หนึ่งตัว ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง รัวบ้าง และเว้นห่างบ้าง
                            - ขลุ่ยเพียงออ หนึ่งเลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
                            - ระนาดเอก หนึ่งราง ดำเนินทำนองเก็บบ้าง กรอบ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
                            - ฆ้องวง หนึ่งวง ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง
                            - โทน  หนึ่งลูก รำมะนา หนึ่งลูก ตีสอดสลับกัน ควบคุมจังหวะหน้าทับ
                            - ฉิ่ง หนึ่งคู่ ควบคุมจังหวะย่อย แบ่งให้รู้จังหวะหนักเบา
                         วงมโหรีเครื่องคู่  ประกอบด้วย ซอสามสาย หนึ่งคัน ซอสามสายหลิบ หนึ่งคัน ซอด้วง สองคัน ซออู้ สองคัน จะเข้ สองตัว ขล่ยเพียงออ หนึ่งเลา ขลุ่ยหลิบ หนึ่งเลา ระนาดเอก หนึ่งราง ระนาดทุ้ม หนึ่งราง ฆ้องวง (มโหรี) หนึ่งวง ฆ้องวงเล็ก หนึ่งวง โทน หนึ่งลูก รำมะนา หนึ่งลูก ฉิ่ง หนึ่งคู่
                            - วงมโหรีเครื่องใหญ่  ประกอบด้วย เครื่องดนตรีทุกอย่าง มีจำนวนเท่ากับวงมโหรีเครื่องคู่ หากแต่เพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองอย่างคือ
                            - ระนาดเอกทอง หนึ่งราง วิธีดำเนินทำนองเหมือนระนาดเอก แต่มิได้เป็นผู้นำวง
                            - ระนาดทุ้มทอง หนึ่งราง ดำเนินทำนองคล้ายระนาดเอก แต่เดินทำนองห่าง
                          ส่วนฉาบ และโหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เมื่อเห็นสมควรจะนำมาผสมด้วย ก็เพิ่มเติมได้ ทั้งสามวง       ๒๒/ ๑๔๔๗๔
                ๔๒๔๙. มโหสถ  เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ลำดับที่ห้า ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ทรงเน้นการบำเพ็ญปัญญาบารมี เป็นสำคัญ จนได้รับยกย่องว่าเป็นยอดมหาบัณฑิต ผู้มีปัญญา
                        มโหสถ เป็นบุตรของเศรษฐีสิริวัตรกะ กับนางสุมนาเทวี แห่งหมู่บ้านปราจีน ยวมัชฌคาม แคว้นวิเทหรัฐ เมื่อท่านถือกำเนิด พระเจ้าวิเทหราช กษัตริย์แห่งมิถิลานคร แคว้นวิเทหรัฐ ได้สุบินนิมิตน่าพิศวง จึงตรัสเล่าให้มหาบัณฑิตสี่คน ซึ่งเป็นปุโรหิตาจารย์ฟัง ได้รับคำทำนายว่า พระองค์จะได้บัณฑิตคนที่ห้า ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญา และปรีชาญาณอันสูงส่ง ที่จะเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร แต่วัยเยาว์และจะเป็นที่เคารพบูชา ทั้งมนุษย์และเทพยดา ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน
                        ครั้นเวลาผ่านไปเจ็ดปี พระเจ้าวิเทหราชจึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ แยกย้ายออกไปค้นหาบัณฑิตคนที่ห้าจนพบ มโหสถรับราชการด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ยามบ้านเมืองเกิดศึกสงครามก็ใช้สติปัญญา อันหลักแหลมแก้ไขสถานการณ์ไว้ได้ มิถิลานคร จึงไม่ต้องตกอยู่ในครอบครองของพระเจ้าจุลนี แห่งปัญจาลนคร และทำให้พระเจ้าจุลนี กลับมาเป็นมิตร
                        พระเจ้าจุลนี ขอให้มโหสถมารับราชการกับพระองค์ แต่มโหสถยืนยันว่า ตราบใดที่พระเจ้าวิเทหราชยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็จะไม่ขออยู่กับพระราชาองค์อื่น ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสวรรคต มโหสถจึงได้ไปรับราชการกับพระเจ้าจุลนี ตามที่ได้ให้คำปฎิญาณไว้
                       ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่ในราชสำนักพระเจ้าจุลนี มโหสถก็ได้ใช้ปัญญาอันล้ำเลิศ แก้ไขเรื่องทุกข์ร้อนต่าง ๆ ของชาวปัญจาลนคร ได้สำเร็จตลอดมา จนได้รับยกย่องว่า เป็นยอดมหาบัณฑิต        ๒๒/ ๑๔๔๗๘

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch