หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/122
    ๔๒๒๖. มหายาน  เป็นชื่อลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาจริยาวาท คู่กับลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ซึ่งเรียกชื่อว่า หินยาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เถรวาท
                        พระพุทธศาสนามหายานแยกออกจากกลุ่มพระพุทธศาสนาดั้งเดิม ตามแนวความคิดใหม่ของกลุ่มพระภิกษุชาววัชชี เมื่อก่อนการสังคายนาครั้งที่สอง ภายหลังพุทธปรินิพพานราว ๑๐๐ ปี ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ก็คือ พระพุทธดำรัสแก่พระสงฆ์สาวก ก่อนพุทธปรินิพพานได้แก่ เรื่องมหาปเทศสี่ หรือหลักธรรมเรื่องให้พิจารณาความควร และไม่ควรของการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก
                        อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัย ซึ่งมีพระพุทธานุญาตไว้ว่า "ในกาลต่อไปหากภิกษุสงฆ์มีความจำนงจะถอดถอนสิกขาบทเล็กน้อย อันใดอันหนึ่ง ตามควรแก่กาละเทศะ ที่จะพึงปฏิบัติก็ให้ทำได้ อาศัยพระพุทธานุญาตินี้ ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ในหลักธรรม และความมีศีลาจารวัตรแตกต่างกันออกไป
                        ปัจจัยหลักข้างต้นเป็นเหตุให้เกิดแนวความคิดใหม่ในกลุ่มของภิกษุชาววัชชี คือร่วมกันแก้ไขพุทธบัญญัติละเมิดพระวินัยสิบข้อ มีการฉันอาหารในเวลาวิกาล จับต้องเงินทอง ดื่มเครื่องดองของเมา เป็นต้น เป็นเหตุให้พระเถระผู้ใหญ่ คือ พระยสกาชาวเมืองปาฐาร่วมประชุมสงฆ์ยกขึ้น สัมมนาพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี เพื่อระงับอธิกรณ์ แต่กลุ่มภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับผิด ได้แยกพวกออกไปประกาศสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นใหม่เป็นมหาสังคีติ ประกาศเรียกชื่อพวกตนเองว่า มหาสังฆิกะ คือกลุ่มใหญ่ หรือพวกมากใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลักจารึกคัมภีร์ กลายเป็นต้นเหตุใหญ่ มีแนวความคิดแตกแยกออกไปอีกกว่าสิบกลุ่ม นิกายกลายเป็นพระพุทธศาสนอย่างใหม่คือ มหายานแปลความหมายว่า พาหนะใหญ่สามารถขนสรรพสัตว์ให้ออกจากกองทุกข์ได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
                        พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในภายหลังเป็นสาเหตุแปรเปลี่ยนหลักพระธรรมวินัย ดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าแพร่หลายออกไป โดยได้รับอุปการะจากกษัตริย์ ผู้ทรงอำนาจของชมพู ทวีปอีกหลายองค์ เช่น พระราชากนิษกะแห่งบุรุษปุระ จึงเป็นผลให้นานาทรรศนะแพร่หลายออกไป มีหลักปฏิบัติสำคัญที่พึ่งกำหนด เปรียบเทียบได้โดยสังเขป คือ
                    เรื่องพระพุทธเจ้าของฝ่ายมหายาน
                            ก. กำหนดว่าเมื่อเกิดโลกอันเป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์มีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งพระนาม อาทิพุทธ เป็นสยัมราทรงเกิดเอง เป็นมาพร้อมกับโลก ด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธ ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าอื่นคือ พระธยานิพุทธ ห้าพระองค์ได้แก่ พระไวโรจนะ พระอักโษภยะ พระรัตนสมภพ พระอมิตาภะ และพระอโฆสิทธิ และมีพระธยานิโพธิสัตว์อีกห้าองค์ คือ พระสมันตะภัทร พระวัชรปาณี พระรัตนปาณี ปัทมปาณี หรือพระอวโลกิเตศวร และพระวิศวปาณี พระธยานิพุทธ และธยานิโพธิสัตว์ เหล่านี้เกิดมาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ และรักษาพระศาสนาด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเช่นเดียวกัน
                            ข. พระพุทธเจ้ามีสองประเภทคือ พระมานุสสพุทธได้แก่ พระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติเป็นมนุษย์ เช่น พระสมณโคตมประเภทหนึ่ง และพระธยานิพุทธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าที่เกิดจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้าอีกประเภท หนึ่ง
                            ค. พระพุทธเจ้า (ผู้ตรัสรู้) มีมากมายเหลือจะนับได้เหมือนจำนวนทรายในแม่น้ำคงคา ทรงอุบัติมาแล้วในอดีตอันหาที่สุดมิได้ (ปรากฎมีกว่าล้านองค์อ้างบทสวดสัมพุทธเธ)
                            ง พระพุทธเจ้า (มานุสสพุทธ) มีพระสมณโคตมเป็นต้นมีพระกายสามคือ ธรรมกาย ได้แก่ ภาระหรือสารัตถะแห่งการตรัสรู้กล่าวโดยสังเขปคือ พระธรรมที่ตรัสรู้ สัมโภคกาย กล่าวโดยสังเขปได้แก่ พระธรรมที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ หรือการบำเพ็ญธรรมของพระโพธิสัตว์ เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน นิรมานกาย คือร่างกายของมนุษย์ธรรมดา ประกอบด้วย ขันธ์ห้า ตกอยู่ในอำนาจการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่ร่างนั้นสามารถเนรมิตเป็นรูปใดรูปหนึ่งได้ด้วยอำนาจฌานของพระมานุสสพุทธ
                    เรื่องของพระธรรม  มีแนวความคิดแตกต่างหนักเบากว่ากันเป็นส่วนสำคัญ คือ ฝ่ายมหายานเห็นว่า
                            ก. พระธรรมสำคัญกว่าพระพุทธ โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระธรรมว่า มีฐานะสูงกว่าพระองค์ทรงเคารพพระธรรม และทรงยกพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์
                            ข.พระธรรมสำคัญกว่าพระวินัย หลักการของฝ่ายมหายาน มีว่าพระธรรมมีอยู่คู่กับโลก เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบพระธรรมแล้ว ทรงสอนให้พุทธสาวก ปฏิบัติตามพระธรรม ขณะใดที่พุทธสาวกมิได้ปฏิบัติธรรม ตามธรรมก็ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นเป็นข้อห้าม มหายานเน้นหนักว่าคนใด หรือกลุ่มใดปฏิบัติตมพระธรรมแล้ว ชนเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยสุขสงบเสมอไป ความไม่มีวินัยในกลุ่มชนมาจากเหตุอันเดียวคือ ปราศจากธรรม
                            ค. พระธรรมที่เป็นอาทิธรรม ฝ่ายมหายานอ้างเรื่องเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ตั้งพระเมตตาเป็นปุเรจาริก ใคร่จะทรงแสดงธรรมที่ตรัสรู้แก่มหาชน แต่เมื่อทรงพิจารณาถึงความลุ่มลึกของพระธรรมอันยากที่ผู้อื่น จะรู้ตามได้ก็ทรงท้อพระทัย แต่เมื่อทรงใช้พระปัญญาพิจารณาเห็นว่า มนุษย์มีปัญญาสี่ระดับเหมือนดอกบัวสี่เหล่า จึงทรงตัดสินพระทัยสั่งสอนนิกรชน พระพุทธจริยาดังกล่าวนี้ เมตตาคุณจึงเป็นอาทิธรรมคือ ธรรมแม่บทมี ปัญญาคุณเป็นธรรมคู่ประกอบเป็นกำลัง ยังพระวิสุทธิคุณให้ปรากฎ
                            สำหรับเรื่องของพระสงฆ์ คำว่า พระสงฆ์ ไม่นิยมเรียกในฝ่ายมหายาน เพราะไม่ต้องรับพิธีกรรม เช่น ฝ่ายเถรวาท ไม่มีการปฎิบัติตามภาวะของพระภิกษุ เหมือนฝ่ายเถรวาท จึงควรเรียกอย่างได้เพียงนักบวช นักบวชฝ่ายมหายานแตกต่างจากเถรวาทอย่างมกา อีกประการหนึ่งคือ นักบวชมีครอบครัวได้ อันมีมูลเหตุมาจาก
                            ก. การบำเพ็ญโพธิสัตว์จริยา ฝ่ายมหายานกำหนดว่า ผู้ปฎิบัติธรรมจะต้องบำเพ็ญโพธิสัตว์ธรรมคือ มี เมตตา (พรหมวิหาร) เป็น อัปปมัญญา คอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ก่อน จึงช่วยเหลือตนเอง โพธิสัตว์จะอยู่ในเพศใด วัยใดก็ได้ ถ้าอยู่ในเพศฆราวาส บำเพ็ญบารมีหก ส่วนพระโพธิสัตว์ที่ออกบวชบำเพ็ญบารมีสิบ (ดู โพธิสัตว์ - ลำดับที่...) ความเชื่อนี้ ทำให้เกิดหลักคำสอน เกี่ยวกับโพธิสัตว์ฝ่ายหญิง ซึ่งถือเป็นศักติของโพธิสัตว์ฝ่ายชายขึ้นในนิกายพุทธตันตระ (พุทธผสมฮินดู)
                            ข. ในประวัติศาสตร์จีน แผ่นดินพระเจ้าเหยาซิว (พ.ศ.๙๓๖ - ๙๕๘) บัณฑิตคนหนึ่งชื่อ กุมารชีพ (พ.ศ.๘๘๗ - ๙๕๖ ตระกูลพราหมณ์ เกิดในเอเชียกลางแคว้นกุจา หรือกษะ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ออกบวชศึกษาธรรมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ มีชื่อเสียงมาก จักรพรรดิ์จีนต้องการตั้งไว้เป็นกำลัง มีสาสน์ขอไปยังผู้ครองแคว้นในเอเชียกลางไม่สำเร็จ จึงส่งกองทัพเข้าตีได้ตัว กุมารชีพมายังเมืองชางอาน ท่านตั้งหน้าเรียนภาษาจีนจนแตกฉาน แปลพระคัมภีร์มหายาน จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนไว้มากกว่านักบวชชมพูทวีปรูปใด ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีน ครั้น กุมารชีพล่วงเข้าวัยชรา จักรพรรดิ์จีนเกรงว่า ต่อไปจะหาผู้ปัญญาเป็นกำลังของแผ่นดินและพระศาสนาไม่ได้ จึงได้ใช้อุบายให้ท่านมีลูกไว้สืบเชื้อสาย จึงให้ส่งน้ำเมาเข้าไปในกุฎิ พร้อมหญิงสาวสวยถึงสิบคน ในที่สุดกุมารชีพต้องล่วงศีล แต่ไม่ยอมเปลื้องผ้ากาสาวพัตร
                            นักบวชจีนในชั้นต้น และนักบวชมหายานส่วนใหญ่ ในภายหลังได้ตัวอย่างจากกุมารชีพ ทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้
                            ค. เรื่องเกิดจากตัวอย่างในประเทศจีนอีกเรื่องหนึ่งมีว่า ในสมัยแผ่นดินราชวงศ์ถัง ที่วัดเส้าหลิน อารามหลวงในนครลกเอี๋ยง เป็นสำนักศูนย์กลางของ "เซน" ซึ่งเป็นที่มาของยุทธจักรกำลังภายใน ในสมัยราชวงศ์นี้ มีการขบถแย่งชิงราชสมบัติอยู่หลายคราว แต่ละคราวจักรพรรดิ์จีนได้ใช้กำลังของนักบวช วัดเส้าหลิน ซึ่งยอมเสียสละพระวินัยมาใช้ชีวิตเหมือนผู้ครองเรือน เข้าปราบขบถเมื่อเสร็จงานแล้ว ก็กลับไปบำเพ็ญสมณธรรมตามเดิม จักรพรรดิ์จีนจึงสนองคุณด้วยการอนุญาตให้ใช้ชีวิตอย่างฆราวาสได้
                            ฆ. เมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จากประเทศจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นก็ได้ตัวอย่างของจีน มาเป็นแนวทางปฎิบัติ ทั้งส่วนที่เป็นหลักปฎิบัติโดยตรง และส่วนที่มองเห็นสัจธรรม ในหลักการที่ว่า การปฎิบัติธรรมสำคัญกว่า มีผลกว่าการทนรักษาพระวินัย โดยปราศจากธรรม
                            ง. ทางมาของนักบวชมีครอบครัว อาจมีความเป็นไปได้จากการผสมระหว่างหลักการ "ธรรมสำคัญกว่าวินัย" กับคำสอนของเจ้าชายโชโตกุ (พ.ศ.๑๑๓๙ - ๑๑๗๒) มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ผู้ประกาศรัฐธรรมนูญสันติภาพไว้ ๑๗ มาตรา ความในธรรมนูญให้บูชาพระรัตนตรัย มีคำสอนแบบฉบับของการปฎิบัติธรรม ปฎิเสธการแยกกลุ่มระหว่างเถรวาท กับมหายาน ให้มารวมเป็น "เอกยาน" มีธรรมกายเป็นหลักยืน ไม่มีการแบ่งแยกการปฎิบัติธรรม ระหว่างนักบวชกับผู้ครองเรือน ไม่ต้องเพศ นิกาย
                            จ. ต่อมามีวิวัฒนาการเป็นทางมาของนักบวช มีครอบครัวได้ ซึ่ง โฮเนน โชนิน ผู้ตั้งนิกายโยโดชินชู หรือนิกายสุขาวดี ปฎิรูปหลักปฎิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมาศิษย์ของโฮเนน คือ ชินรัน  ประกาศหลักปฎิบัติขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ฮิโซอิโซกุ แปลว่า ไม่มี นักบวชไม่มีผู้ครองเรือน มีแต่ผู้ปฎิบัติธรรม ชินรัน โชนิน มีครอบครัวเหมือนผู้ครองเรือนทั่วไป คำสอนและการปฎิบัติของชินรัน มีผู้พอใจ เพราะง่ายต่อการปฎิบัติ กลุ่มของชินรัน เป็นกลุ่มมหายานที่แพร่หลายที่สุด ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน
                            ฉ. เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคฟื้นฟูระบบจักรพรรดิ์ในสมัยเมจิ (พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๕๕) จักรพรรดิ์ทรงประกาศรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ให้เสรีภาพการนับถือศาสนา ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา
                         เรื่องปฎิญญา  (โพธิสัตว์จริยา) ของโพธิสัตว์ ก่อนบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ไม่มีฝ่ายเถรวาท แต่มีเป็นหลักปฎิบัติในฝ่ายมหายาน ผู้บำเพ็ญธรรม กล่าวปฎิญญา หรือตั้งปณิธานต่อหน้าอาจารย์แล้ว ลงมือบำเพ็ญบารมีเป็น โพธิสัตว์จริยาฐานแรกแห่งการปฎิบัติธรรม ของพระโพธิสัตว์
                         เรื่องการตรัสรู้ธรรม  ดำเนินตามหลักโพธิสัตว์มรรค ของนาคารชุน นักปราชญ์ผู้ใหญ่ฝ่ายลัทธิมาธยามิกะ ได้วางหลักแห่งการทำตนให้หลุดพ้นไว้ดังนี้
                                ๑.  ดำเนินตามมรรคแปด
                                ๒.  ดำเนินตามหลักฌานสมาบัติ (หลักของนิกายเซน) เพื่อค้นหาความจริงตามพระธรรม
                                ๓.  ส่งจิตให้เข้าสู่ความลึกลับของจักรวาลชีวิต ฯลฯ ตามหลักของนิกายมนตรยาน
                                ๔.  ดำเนินตามหลักศรัทธายังประโยชน์ให้สำเร็จคือ ศรัทธาในพระพรของพระพุทธเจ้า ตามหลักของนิกายโยโดชินชู (นิกายสุขาวดี หรือนิกายชิน (นิกายศรัทธา)
                ๔๒๒๗. มหายุค  (ดู จตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๘๐)        ๒๒/ ๑๔๓๘๖
                ๔๒๒๘. มหาราช ๑   อำเภอ ขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
                    อำเภอนี้ สมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในท้องที่แขวงขุนนคร เมื่อตั้งกรุงเทพ ฯ ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวา แล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนคร เป็นแขวงนครใหญ่ และแขวงนครน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ จึงแบ่งแขวงนครใหญ่ ข้างเหนือ เป็น อ.นครใหญ่ เขตข้างใต้เป็น อ.นครใน ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อ อ.นครใหญ่ เป็น อ.มหาราช ตามชื่อดตำบลซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอ          ๒๒/๑๔๓๘๗
                ๔๒๒๙. มหาราช ๒  เป็นชื่อกัณฑ์ที่สิบเอ็ดของเรื่อง มหาชาติ ว่าด้วยเรื่องตั้งแต่พราหมณ์ชูชก พาสองกุมารไปถึงนครสีพี พระเจ้าสญชัยทรงไถ่สองกุมาร พระชาลีเล่าความทุกข์ยากของพระเวสสันดร และพระนางมัทรี พระเจ้าสญชัยให้เตรียมทัพจะไปรับพระเวสสันดร และพระนางมัทรี ยังเขาวงกต กลับคืนสู่นครสีพี       ๒๒/ ๑๔๓๘๗
                ๔๒๓๐. มหาราชครู - พระ  ในสมัยโบราณพระมหาราชครู เป็นตำแหน่งประธานคณะพราหมณ์ ผู้มีหน้าที่ประกอบพระราชพิธีในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ เป็นที่ปรึกษาราชการและทำหน้าที่ตุลาการลูกขุน ณ ศาลหลวง มีศักดินา ๑๐,๐๐๐        ๒๒/ ๑๔๓๙๐
                ๔๒๓๑. มหาวงศ์  เป็นหนังสือพงศาวดารลังกา แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีตลอดเรื่อง มีผู้แต่งหลายคน แบ่งออกเป็น ร้อยเอ็ดปริเฉท และรวมเนื้อหาเป็นตอนใหญ่ได้หกตอน
                         ตอนที่หนึ่ง  ตั้งแต่ปริเฉทที่ ๑ - ๓๘ กล่าวถึงเรื่องตั้งแต่มนุษย์คนแรก ไปอยู่เมืองลังกา และต่อสู้กับยักษ์จนถึงประวัติพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์สาวกกำลังทำสังคายนาสามครั้งแล้ว พระมหินทรเถระไปประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในลังกาทวีป ในรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ จนถึงรัชสมัยพระเจ้ามหาเสนะ (พ.ศ.๘๐๔)
                          ตอนที่หก  ตั้งแต่ปริเฉทที่ ๙๙ - ๑๐๑ กล่าวถึงการสิ้นราชวงศ์กษัตริย์สิงหล เป็นเรื่องสุดท้าย แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘
                         หนังสือมหาวงศ์นี้ แปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย         ๒๒/ ๑๔๔๙๓
                ๔๒๓๒. มหาวิทยาลัย  แปลโดยรูปศัพท์ว่า ที่อยู่ของวิชาการ หรือความรู้อันยิ่งใหญ่ ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันทางวิชาการที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาระดับสูงสุดของประเทศ
                        แนวคิดและการจัดตั้งสำนักศึกษาชั้นสูง ซึ่งเทียบได้กับระดับอุดมศึกษานั้น เริ่มขึ้นจากโลกตะวันตก ตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน เมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว คือ อะแคเดมี ของพลาโต และไลซีอัม ของอริสโตเติล สำนักศึกษาในยุคนั้น มุ่งพัฒนาสความเรื่องปัญญา และคุณธรรม ของผู้เรียนจึงเน้นการให้ความรู้ประเภทปรัชญา ตรรกศาสตร์ ภาษา และกฎหมาย ให้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับกลุ่มเฉพาะ ให้เป็นอภิชนเพื่อเตรียมทำหน้าที่ปกครองประเทศ
                        ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่  ๑๗ ได้มีการรวมกลุ่มนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักศึกษาเข้าด้วยกัน ตามเมืองใหญ่ ๆ ในบางประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาวิชาที่สนใจ และเห็นประโยชน์ จึงนับเป็นการเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยอย่างถาวร ในฐานะเป็นศูนย์รวมความรู้ ความคิดทางวิชาการ ควบคู่ไปกับการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพชั้นสูงด้วย
                        ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ เป็นต้นมา บทบาทความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย และการใช้เทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางวิชาการแขนงต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของชีวิตและสังคม ได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จากประเทศตะวันตกได้แพร่หลาย และมีอิทธิพลต่อระบบมหาวิทยาลัยของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
                        สำหรับประเทศไทย แนวคิดและการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณร้อยปี มานี้เองคือ
                        ช่วงระยะเวลาก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง ขึ้นหลังปี พ.ศ.๒๔๗๕ และในปี พ.ศ.๒๔๘๖ มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
                        หลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
                        หลังปี พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นต้นมา มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.๒๔๑๔)  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พ.ศ.๒๕๒๑)
                        ในปี พ.ศ.๒๕๒๘  ได้มีการยกฐานะวิทยาลัยเอกชนขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยสี่แห่งคือ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์         ๒๒/ ๑๔๓๙๕
                ๔๒๓๓. มหาวีระ  (ดู เชน - ลำดับที่ ๑๗๗๖)          ๒๒/ ๑๔๔๐๕
                ๔๒๓๔. มหาสงกรานต์   (ดู สงกรานต์ - ลำดับที่....)        ๒๒/ ๑๔๔๐๕
                ๔๒๓๕. มหาสติปัฎฐานสูตร  เป็นพระสูตรที่เก้า ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเรื่อง การตั้งสติอย่างยิ่งใหญ่ ในการกำหนดพิจารณาอารมณ์แห่งกัมมัฎฐาน สี่อย่าง เรียกว่า สติปัฎฐานสี่
                        พระพุทธเจ้าตรัสแสดงสติปัฎฐานสี่ว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางดำเนินทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อระงับความโศกเศร้า และความคร่ำครวญ เพื่อดับทุกข์ และโทรมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม (คือ อริยมรรค) เพื่อเห็นแจ้งพระนิพพาน ทางดำเนินทางเดียวนี้คือ สติปัฎฐานสี่"
                        พระพุทธองค์ทรงจำแนกทางดำเนินทางเดียว ตามอารมณ์สี่อย่างคือ กาย เวทนา จิต ธรรม ดังนี้
                            ๑.  กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณากายในกาย
                            ๒.  เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนา
                            ๓.  จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตในจิต
                            ๔.  ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน  การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมในธรรม      ๒๒/ ๑๔๔๐๕
                ๔๒๓๖. มหาสมัยสูตร  เป็นพระสูตรที่เจ็ดในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยการประชุมใหญ่ของพวกยักษ์ เทวดา และพรหม ในสิบโลกธาตุ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ วัตถุประสงค์ของการประชุมคือ เพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และชมปฎิปทาของพระภิกษุจำนวนห้าร้อยรูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ ที่ตามเสด็จมาพัก ณ ป่ามหาวัน
                        ความในมหาสมัยสูตร ตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้เข้าประชุมได้อภิวาทพระบรมศาสดาแล้ว เทพจากสวรรค์ชั้นสุทธาวาสสี่องค์ ได้กล่าวคาถาองค์ละบท จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกพระภิกษุเหล่านั้นว่า มีเทวดาจำนวนมากจากสิบโลกธาตุ มาประชุมใหญ่กัน และตรัสแนะนำว่าเป็นใครมาจากไหน
                        มหาสมัยสูตรนี้ เป็นคาถาภาษาบาลีแบบปัฐยาวัตร ถือเป็นพระพุทธมนต์ที่บริบูรณ์ทั้งอรรถ และพยัญชนะเป็นที่เจริญจิต เจริญใจและเป็นมงคลแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ในสมัยโบราณเมื่อมีการประชุมใหญ่ เพื่อทำพิธีมงคลทุกครั้ง นิยมอาราธนาพระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์มหาสมัยสูตร       ๒๒/๑๔๔๑๒
                ๔๒๓๗. มหาสมุทร  คือ พื้นผิวน้ำเค็มขนาดมหึมา แผ่ตามผิวโลกถึงสามในสี่ส่วน ความจริงพื้นมหาสมุทรเป็นผืนน้ำผืนเดียว ที่ติดต่อถึงกันหมด โดยที่ซีกโลกเหนือ มีส่วนพื้นน้ำร้อยละ ๖๑ และซีกโลกใต้มีพื้นน้ำร้อยละ ๘๑ แต่เราเรียกชื่อส่วนต่าง ๆ ของห้วงน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ว่า มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรอาร์กติก
                        ท้องทะเล และมหาสมุทร มีความจุประมาณ ๑,๓๖๐ ล้านลูกบาศก์ กิโลเมตร และมีพื้นผิวประมาณ ๓๖๑ ล้านตารางกิโลเมตร ท้องทะเลมีความลึกเฉลี่ย ๓,๗๙๐ เมตร ตำแหน่งลึกที่สุดของมหาสมุทรอยู่ที่ มาเรียนาเทรนซ ระหว่างเกาะกวม กับเกาะแย็ป ลึกประมาณ ๑๐,๘๕๐ เมตร
                        สัณฐานของพื้นท้องมหาสมุทร  อาจแบ่งออกได้เป็นสามประเภทใหญ่ และแต่ละประเภทประกอบด้วยภูมิประเทศย่อย ๆ ออกไป ดังนี้
                            ๑. ขอบทวีป  เริ่มจากบริเวณไหล่ทวีป ที่เป็นชายหาด และเปลี่ยนระดับตามลักษณะน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งค่อย ๆ ลาดเอียงยื่นออกไปจากฝั่ง ถึงระดับความลึกประมาณ ๑๘๐ เมตร ถ้าชายฝั่งเป็นภูเขา ไหล่ทวีปจะแคบ ถัดจากไหล่ทวีปลงไป เป็นลาดทวีป ซึ่งมีความลึกสูงสุดที่ระดับ ๔,๐๐๐ เมตร และถัดจากนี้ลงไปเรียกว่า ลาดตีนทวีป ซึ่งมีความลึกต่างกัน ส่วนที่สูงเหนือผิวน้ำ เรียกว่า เกาะ ส่วนที่ลึกเรียกว่า ร่องลึกบาดาล
                            ๒. พื้นท้องทะเล  ประกอบด้วยพื้นราบขั้นบาดาล ภูเขาใต้น้ำและภูเขายอดราบ ที่ราบสูงใต้ทะเล และหมู่เกาะรูปโค้ง พื้นราบขั้นบาดาล มีขนาดแผ่กว้างในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนในแปซิฟิกมีน้อย ที่ราบใต้ทะเลเหล่านี้ ต่อเนื่องกันด้วยหุบเขาผาชัน ใต้ทะเล หรือร่องลึกที่รับตะกอนจากตัวทวีป ท้องมหาสมุทรแปซิฟิก เต็มไปด้วยภูเขาใต้น้ำ อันเกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ
                            ๓. สันเขาใต้น้ำกลางสมุทร  ประกอบด้วย สันเขาเหลื่อมซ้อนกัน มีทั้งหุบเขาทรุดใต้น้ำ และหุบเขาใต้น้ำ
                        สมบัติของน้ำทะเล  น้ำทะเลประกอบด้วย สารละลายอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ ได้แก่ เกลือแร่ต่าง ๆ และแก๊ส ที่ละลายน้ำได้
                        อุณหภูมิของผิวน้ำทะเล แตกต่างกันไปตามแนวเส้นรุ้ง ฤดูกาลและปัจจัยอื่นอีกมาก อุณหภูมิของน้ำทะเลลึก ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และกลางวันกับกลางคืน มหาสมุทรเป็นแหล่งเก็บความร้อนมหาศาล จึงเป็นตัวควบคุมปริมาณความร้อน ในบรรยากาศด้วย  ลดความรุนแรงของอากาศ และรักษาระดับสมดุลของอุณหภูมิด้วย
                        กระแสน้ำ คลื่น และน้ำขึ้นลง  เกิดจากอิทธิพลของแรงสามประการคือ แรงที่เกิดจากพลังความร้อนของดวงอาทิตย์ แรงที่เกิดจากการหมุนของโลก และแรงที่เกิดจากลมประจำ และลักษณะชายฝั่งของแต่ละทวีป
                        สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร  เริ่มวงจรกันด้วยพืชน้ำขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ล่องลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำ เพราะจำเป็นต้องใช้แสงแดด เพื่อการดำรงชีวิต และขยายจำนวนพืชเหล่านี้ จะเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนที่ใหญ่กว่าจะกินสัตว์เล็กเป็นอาหาร จากระดับผิวน้ำจนถึงความลึกประมาณ ๒๐๐ เมตร ซึ่งยังพอจะมีแสงส่องถึง จึงถูกจัดเป็นระดับที่พืช และสัตว์ทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่       ๒๒/ ๑๔๔๑๔
                ๔๒๓๘. มหาสารคาม  จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กาฬสินธุ์ ทิศตะวันออก จด จ.ร้อยเอ็ด ทิศใต้ จด จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ทิศตะวันตก จด จ.ขอนแก่น และ จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทางเหนือมีภูเขาและป่าทึบ เรียกว่า ดงแม่เผด หรือดงเปรต  อยู่ในเขต อ.กันทรวิชัย
                        จ.มหาสารคาม ตั้งขึ้นในรัชกาลที่สี่ โดยโปรดให้ยกบ้านลาดกุด นางใย ในแขวงเมืองร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นเมืองมหาสารคาม ตั้งที่ว่าการที่ หนองกระทุ่ม ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ จึงย้ายไปตั้งที่ ต.ตลาด อ.ตลาด คือ อ.เมือง ฯ ในปัจจุบัน มีสิ่งสำคัญคือ ลำน้ำชี ลำน้ำเตา ลำน้ำห้องวอก ลำน้ำเสียว มีพระพุทธรูปโบราณ มีปรางค์กู่
                        จ.มหาสารคาม มีสิบอำเภอ คือ อ.เมือง ฯ อ.กันทรวิชัย อ.แกดำ อ.โกสุมพิสัย อ.เชียงยืน อ.นาเชือก อ.นาดูน อ.บรบือ อ.พยัคฆภูมิพิสัย และ อ.วาปีปทุม       ๒๒/ ๑๔๔๒๘
                ๔๒๓๙. มหาสาวก - พระ  มีบทนิยามว่า "พระสาวกชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธเจ้าแปดสิบองค์ ซึ่งรวมพระอัครสาวกทั้งสององค์เข้าไว้ด้วย" ที่เรียกว่า พระมหาสาวกนั้น ท่านกำหนดเอาผู้ที่มีความเลื่อมใส สมัครใจเข้าบวชถือเพศ เป็นภิกษุได้รับอนุญาตให้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ขีณาสพ พร้อมทั้งคุณธรรม มีปฎิสัมภิทา เป็นต้น และได้รับเอตทัคคะ คือ ย่อมเยี่ยมกว่าพระสาวกองค์อื่น ๆ  เป็นเฉพาะตามคุณธรรมของแต่ละองค์ เป็นส่วนใหญ่ พระมหาสาวกดังกล่าวมีนามปรากฎ ตามคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาเถรคาถา ดังต่อไปนี้
                        พระอัญญาโทณฑัญญะ พระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ พระยศเถระ พระอุรุเวลกัสสปปเถระ พระมหากัสสปเถระ พระมหากัจจายนเถระ พระโมฆราชเถระ พระวัปปเถระ พระภัททิยเถระ พระมหานามเถระ พระอัสสชิเถระ พระวิมลเถระ  พระปุณณธิเถระ พระภควัมปติเถระ พระคยากัสสปเถระ พระอชิตเถระ พระปุณณกเถระ พระเมตตคูเถระ พระโธตกเถระ พระอุปสิวเถระ พระนันทเถระ พระเหมกเถระ พระโตเทยยเถระ พระกัปปเถระ พระธตุกัณณีเถระ พระภัทราวุธเถระ พระอุทยเถระ พระโปสาลเถระ พระปิงศัยเถระ พระราชเถระ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ พระกาฬุทายีเถระ พระนันทศากยเถระ พระราหุลเถระ พระอุบาลีเถระ พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร) พระอนุรุทธเถระ พระอานนทเถระ พระภัคคุเถระ พระกิมพิลเถระ พระโสณโกฬิวิสเถระ พระรัฐบาลเถระ พระบิณโฑภารทวาชเถระ พระมหาปันถกเถระ พระจูฬปันถกเถระ พระโสณกุฎิกัณณเถระ พระลกุณฎกภัททิยเถระ พระสุภูติเถระ พระกังขาเรวตเถระ พระวักกลิเถระ พระกุณฑธานเถระ พระวังคีสเถระ พระปิลันทวัจฉเถระ พระกุมารกัสสปเถระ พระมหาโกฎิฐิตเถระ พระโสภิตเถระ พระมหากัปปินเถระ พระสาคตเถระ พระอุปเสนเถระ พระขทิรวนิยเรวตเถระ พระสิวลีเถระ พระพาหิยทารุจิริยเถระ พระพากุลเถระ พระทัพพมัลลบุตรเถระ พระอุปวาณเถระ พระเมฑิยเถระ พระนาคิตเถระ พระจุนทเถระ พระยโสชเถระ พระสภิยเถระ พระเสลเถระ พระปุณณเถระ (พระมหาปรันตปเถระ) พระองคุลิมาลเถระ       ๒๒/ ๑๔๔๒๙

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch