หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/119
     ๔๑๕๖. มณฑล  เป็นเขตท้องที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่รวมหัวเมือง (จังหวัด) หลาย ๆ หัวเมืองเข้าเป็นเขตปกครองอันเดียวกัน
                        มณฑลเป็นเขตการปกครองที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในรัชกาลที่ห้า ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปฏิรูปราชการบริหารส่วนภูมิภาค โดยมีการปรับปรุงเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก จัดตั้งเป็นมณฑลขึ้นแทน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๗ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๙
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้จัดตั้งมณฑลพิษณุโลกกับมณฑลปราจีนบุรีขึ้น ทั้งได้ปรับปรุงมณฑลนครราชสีมาให้เป็นไปตามระเบียบใหม่ และในปลายปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อได้โอนราชการฝ่ายพลเรือนในหัวเมืองทั้งปวงที่เคยขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ มาขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียวแล้ว ได้มีการรวบรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้จัดตั้งมณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขการจัดระเบียบมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก โดยเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลภูเก็ตเป็นมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพรขึ้นใหม่ และได้จัดระเบียบมณฑลเขมร ให้เป็นไปตามรูปมณฑลเทศาภิบาล
                        ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมลายูฝ่ายตะวันออก จัดตั้งเป็นมณฑลไทรบุรี
                        ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลจันทบุรี และมณฑลปัตตานี
                        เมื่อเสร็จการจัดระเบียบแล้ว มณฑลเทศาภิบาลมีรวม ๒๐ มณฑล ต่อมายุบเลิกไปสองมณฑลคือ มณฑลบูรพา และมณฑลไทรบุรี เมื่อมีการยกดินแดนให้แก่ประเทศฝรั่งเศส และประเทศอังกฤษ
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการบริหารใหม่ทั้งหมด โดยเลิกมณฑล และให้จังหวัดเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด        ๒๒/ ๑๔๐๔๖
                ๔๑๕๗. มณฑา - นาง  เป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งในละครนอกเรื่องสังข์ทอง นางมณฑาเป็นมเหสีท้าวสามล เป็นพระมารดานางรจนา และพระธิดาอื่นอีกหกองค์ เมื่อพระธิดาทั้งเจ็ดเจริญวัย ท้าวสามลและนางมณฑา ก็จัดให้พิธีเลือกคู่ นางรจนาธิดาองค์สุดท้องเลือกได้เจ้าเงาะ พระบิดาจึงขับไล่ให้ไปอยู่ที่ปลายนากับเจ้าเงาะ ต่อมาท้าวสามลคิดจะกำจัดเจ้าเงาะ (ด้วยการหาปลาและหาเนื้อแข่งกับหกเขย - เพิ่มเติม) แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดมีศึกมาติดเมือง (พระอินทร์แปลงมาเพื่อช่วยเงาะ - เพิ่มเติม) หกเขยสู้ไม่ได้ นางมณฑาต้องออกไปอ้อนวอนเจ้าเงาะให้ออกไปตีคลี (พนัน - เพิ่มเติม) กับพระอินทร์ ผลที่สุดเจ้าเงาะต้องถอดรูป (และออกไปตีคลีชนะ - เพิ่มเติม)
                        นางมณฑามีบทบาทเป็นภริยาที่ดี เป็นผู้ให้สติสามี และทำหน้าที่แม่ที่ดี      ๒๒/ ๑๔๐๕๔
                ๔๑๕๘. มณีปุระ  เป็นชื่อแคว้นหนึ่งในประเทศอินเดียปัจจุบัน  เดิมเป็นรัฐอิสระมาแต่โบราณมีประวัติความเป็นมา ย้อนหลังขึ้นไปกว่าพันปี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
                        มณีปุระ เป็นดินแดนที่ล้อมรอบไปด้วยทิวเขาสูง ตั้งอยู่สุดพรหมแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ติดกับประเทศพม่า อยู่ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงใต้ พรหมแดนด้านทิศตะวันตก และทิศเหนืออยู่ติดกับแคว้นอัสสัม อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๒,๖๐๐ ฟุต ลักษณะเป็นที่ราบสูงมีหุบเขามากมาย ทิวเขามณีปุระเป็นประดุจกำแพงกั้นรัฐนี้กับประเทศพม่า
                        พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชนชาวมองโกลสาขาหนึ่ง ภาษาที่ใช้จัดอยู่ในตระกูลทิเบต - พม่า นอกจากนั้นเป็นชนชาวเขาเผ่านาคะและเผ่ากุคิ - ชิน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู มีนับถือศาสนาอิสลามร้อยละห้า
                        ในปี พ.ศ.๒๓๕๖ พม่าส่งกองทัพไปรุกราน และได้ชัยชนะ ราชาแห่งมณีปุระขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ พม่าจำยอมรับรองฐานะของแคว้นมณีปุระ ว่าเป็นเอกราชตามเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ราชาแห่งมณะปุระเกิดวิวาทกับพระอนุชา ผู้ว่าราชการอังกฤษประจำแคว้นอัสสัมเข้าไปไกล่เกลี่ย และถูกฆ่าตาย กองทัพอังกฤษจึงเคลื่อนเข้าไปในแคว้นมณีปุระ และปราบปรามจนเหตุการณ์สงบลง แล้วตั้งราชกุมารองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์  ในความควบคุมทางการเมืองของอังกฤษมาจน ถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกกุกิได้ก่อการปฎิวัติขึ้น เพื่อแบ่งการปกครองเป็นสามส่วน แต่เหตุการณ์ก็ยุติลง
                        ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยึดประเทศพม่าได้แล้วก็ได้รุกเข้าไปในแคว้นมณีปุระ ชนเผ่านาคะและเผ่ากุกิ ได้ช่วยทหารอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่นจนสิ้นสงคราม มณีปุระถูกผนวกเข้าเป็นแค้วนหนึ่งของประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ อินเดียได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่มาปกครอง  มณีปุระได้รับสิทธิให้ส่งผู้แทนจำนวนสามคน เข้าร่วมในรัฐสภาของประเทศอินเดีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ มณีปุระได้รับสิทธิให้เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ๓๐ คน และสมาชิกที่รัฐบาลแต่งตั้งอีกสองคน เพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในแว่นแคว้น     ๒๒/๑๔๐๕๔
                ๔๑๕๙. มณีพิชัย - พระ  เป็นชื่อตัวละครเอกฝ่ายชายในบทละครนอกเรื่อง มณีพิชัย พระมณีพิชัยเป็นโอรสของท้าวพิชัยนุราชกับนางจันทร เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม พระมณีพิชัยได้ออกไปประพาสป่า และได้พบกับนางยอพระกลิ่น (ดูยอพระกลิ่น - ลำดับที่...) นางจันทรไม่พอใจจะรับนางเป็นลูกสะใภ้ และอยากจะให้พระมณีพิชัย ได้กับธิดาของพระเจ้ากรุงจีน จึงออกอุบายหาว่านางยอพระกลิ่นกินแมว จึงเป็นผีกระสือต้องเอาใส่หีบไปทิ้งนอกวัง พระอินทรทราบว่านางตกทุกข์ได้ยาก จึงลงมาช่วยและแปลงนางให้เป็นพราหมณ์หนุ่ม เรื่องดำเนินต่อไปอีกหลายเหตุการณ์ในที่สุดทั้งสองก็ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป        ๒๒/ ๑๔๐๕๗
                ๔๑๖๐. มณีเมขลา  เป็นชื่อเทพธิดาองค์หนึ่งในวรรณคดีบาลีมีเรื่องราวปรากฎในนิยายชาดกสองเรื่อง คือ มหาชนกชาดก และสังขชาดก นางมณีเมขลาได้รับคำสั่งจากท้าวจตุโลกบาล ให้ทำหน้าที่ตรวจตราดูแลท้องทะเล คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเรืออับปาง
                      วรรณคดีบาลีอันเป็นที่มาแห่งเรื่องนางมณีเมขลามิได้กล่าวไว้ ณ ที่ใดว่า นางถือดวงแก้ว หรือมีสายรัดเอวประดับด้วยแก้วมณี (ตามคำแปลว่า "ผู้มีสายรัดเอวประดับด้วยแก้วมณีต่าง ๆ") ตามความเชื่อถือของไทยแต่โบราณ และหลักฐานในเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หนึ่งแสดงว่า  นางมณีเมขลาถือดวงแก้วอันเป็นมณีวิเศษ อยู่ดวงหนึ่งแสงแก้วมณีคือแสงฟ้าแลบ แสงแก้วของนางทำให้อสูรตนหนึ่งชื่อรามสูร อยากได้จึงเข้ายื้อแย่งแต่นางหลบหลีกไปได้ และชูดวงแก้วล่อไปมาทำให้รามสูรโกรธ จึงขว้างขวานเพชรอาวุธคู่กายไปยังนางหวังจะฆ่านางเสีย แต่นางก็ไม่เป็นอันตรายเพราะแก้ววิเศษคุ้มครองอยู่        ๒๒/ ๑๔๐๕๘
                ๔๑๖๑. มด  เป็นแมลงพวกหนึ่ง มีลักษณะที่สำคัญคือ บริเวณส่วนท้องคอดกิ่ว  บริเวณที่ติดกับอกทางด้านหลัง ของส่วนท้องปล้องที่หนึ่ง หรือในมดบางชนิดที่รวมไปถึงปล้องที่สอง มีลักษณะเป็นโหนกสูงขึ้น
                        มดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเช่นเดียวกับปลวก มีชีวิตแบบสังคม โดยทำรังอยู่ดัวยกัน รังหนึ่ง ๆ เป็นร้อยเป็นพัน หรือหลายหมื่นหลายแสนตัว ไม่มีชนิดใดอยู่โดดเดี่ยวประกอบด้วยวรรณะคือขนาดรูปร่างลักษณะและเพศต่างกัน กล่าวคือ มดตัวเมียเป็นแม่รัง ตัวผู้เป็นพ่อรัง และมดงานอันเป็นมดตัวเมียที่เป็นหมันทำหน้าที่สร้างรัง เลี้ยงรังและเฝ้ารัง ในแต่ละวรรณะก็อาจจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไปอีก
                      มดมีวงจรชีวิตในลักษณะที่พ่อรัง และแม่รังที่มีปีกจะบินออกจากรัง และผสมพันธุ์กันเมื่อถึงเวลา ซึ่งในระยะเช่นนี้ มดอาจจะมีการผสมต่างพันธุ์กันก็ได้ เมื่อผสมแล้วมดตัวผู้มักจะตาย มดตัวเมียซึ่งจะสร้างรังใหม่ก็จะหาที่พักพิงที่มิดชิด และสลัดปีกทิ้งรอจนไข่แก่ก็จะวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน แม่รังก็จะให้อาหารเลี้ยงลูกอ่อนจนกระทั่งเข้าดักแด้ และออกมาเป็นตัวโตเต็มที่ ซึ่งจะเป็นมดงานที่เลี้ยงดูแม่ต่อไป        ๒๒/ ๑๔๐๖๒
                ๔๑๖๒. มดลูก  เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ สตรีมีผนังเป็นกล้ามเนื้อหนา รูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมเอายอดลง หรือคล้ายผลชมพู่อยู่หลังต่อกับกระเพาะปัสสาวะ   และอยู่หน้าต่อกับทวารหนัก มีขนาดแตกต่างกันไปตามวัย มดลูกมีหน้าที่ทำให้เกิดเลือดประจำเดือน เป็นทางผ่านของตัวอสุจิขึ้นไปพบกับไข่  เตรียมรองรับไข่ที่ผสมแล้ว ให้ฝังตัวเจริญเติบโตจนครบกำหนดคลอด และเป็นอวัยวะที่ขับให้เด็กคลอดทางช่องคลอด
                    ระหว่างมีครรภ์ตัวมดลูกขยายโตขึ้นได้มากกมาย หลังจากคลอดบุตร  มดลูกก็จะหดตัวเล็กลงทันที แต่ก็ยังใหญ่กว่าขนาดปกติ หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ หดตัวลงอย่างช้า ๆ เรียกว่า มดลูกเข้าอู่จนถึงปลายสัปดาห์ที่หกหลังคลอด มดลูกจึงมีขนาดกลับมาเท่าปรกติ        ๒๒/ ๑๔๐๖๖
                ๔๑๖๓. มธุปายาส  (ดูปายาส - ลำดับที่ ๓๕๓๘)        ๒๒/ ๑๔๐๖๙
                ๔๑๖๔. มนังคศิลา  เป็นชื่อของพระแท่นที่พ่อขุนรามคำแหง โปรด ฯ  ให้สร้างขึ้นไว้ที่กลางดงตาลแห่งหนึ่ง ในกำแพงกรุงสุโขทัย
                        พ่อขุนรามคำแหง ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นหัวหน้าอบรมเจ้านายข้าราชการ  ตลอดจนอาณาประชาราษฎรให้มีความรู้ ในการปกครองบ้านเมืองและตั้งอยู่ในศีลธรรม ครั้นถึงวันธรรมสวนะพระองค์ทรงนิมนต์พระสงฆ์ ซึ่งทรงคุณวุฒิในพระพุทธศาสนาขึ้นนั่งบนพระแท่นมนังคศิลา เพื่อแสดงธรรมแก่ราษฎรในวันอื่นพระองค์เองเสด็จขึ้นประทับ บนพระแทนเพื่อว่าราชการบ้านเมือง
                        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระองค์ทรงพบพระแท่นนี้เมื่อปีพ.ศ.๒๓๗๖ และโปรด ฯ ให้ชะลอมาไว้ที่วัดราชาธิวาส และเมื่อพระองค์ได้เสร็จขึ้นครองราชย์แล้วก็โปรด ฯ ให้นำพระแท่นนี้ไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม        ๒๒/ ๑๔๐๖๙
                ๔๑๖๕. มนุษยธรรม  มีบทนิยามว่า "คุณธรรมที่มนุษย์ในสังคมที่ปฏิบัติต่อกันเช่นความเมตตากรุณา" มนุษยธรรม จึงหมายถึงคุณธรรมที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกับสัตว์อื่น ๆ
                        หลักมนุษยธรรมในพระพุทธศาสนาได้แก่ เบญจศีล - เบญจธรรม
                        ขงจื้อได้กล่าวถึงมนุษยธรรมไว้ว่า "มนุษยธรรม ก็คือคุณธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์จริง ๆ "และบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีมนุษยธรรม นั้น จะต้องสามารถปฏิบัติคุณธรรมห้าประการ คือ ความสุภาพอ่อนโยน ความไม่เห็นแก่ตัว การศรัทธาที่ดีงาม ความขยันและความเมตตากรุณา
                        เม่งจื้อ (ประมาณ พ.ศ.๑๔๑ - ๒๕๔) นักปราชญ์ที่สำคัญอีกคนหนึ่งของจีนได้กล่าวถึงมนุษยธรรมไว้ว่า ความรู้สึกเมตตากรุณาเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดมนุษยธรรม และมนุษยธรรมนี้เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งในการปกครองบ้านเมือง ๒๒/ ๑๔๐๗๒
                ๔๑๖๖. มนุษยศาสตร์  เป็นชื่อของความรู้หรือวิชาการสาขาหนึ่งในจำนวนวิชาการสาขาใหญ่สี่สาขา ซึ่งรวมกันเป็นหลักสูตรการศึกษาปัจจุบันในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั่วไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอันได้แก่ สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
                        คำว่า มุนษยศาสตร์ในความหมายดั้งเดิมหมายถึง การศึกษาทางวรรณคดีคลาสสิกของกรีก และโรมันเท่านั้น และในกาลต่อมาได้ขยายความให้กว้างออกไปโดยแยกออกเป็นความรู้ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความนึกคิดของมนุษย์ และวัฒนธรรมในชนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้นในปัจจุบันวิชามนุษยศาสตร์ จึงประกอบด้วย กลุ่มความรู้ย่อย ๆ หลายกลุ่มได้แก่ กลุ่มทางภาษา วรรณคดีและวรรรกรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปรัชญา ดนตรี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม การละคร นาฎศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มวิชาดังกล่าวยังแยกออกเป็นวิชาย่อย ๆ อีกมาก        ๒๒/ ๑๔๐๗๖
                ๔๑๖๗. มนู - พระ  เป็นนามสมมุติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างมนุษยชาติความคติของชาวฮินดูโบราณ ชาวฮินดูนับถือมนูว่า เป็นผู้ปกครองโลกด้วยมีรวมทั้งหมด ๑๔ องค์ ช่วงเวลาขององค์หนึ่ง ๆ เรียกว่า "เมนวันดร" เป็นเวลายาวนานกว่าสี่ล้านปี องค์แรกชื่อว่า พระสยายมภูวะ ถือว่าเป็นผู้ออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ตราบเท่าวันนี้
                        ยุคที่กำลังเป็นอยู่นี้เป็นยุคของมนูองค์ที่เจ็ด เมื่อสิ้นยุคขององค์ที่สิบสี่แล้ว โลกจะถึงกาลอวสาน มอดไหม้ไปกับไฟประลัยกัลป์
                        คัมภีร์พระเวทยกย่องมนูว่าเป็นต้นพิธีบูชายัญ โดยพระเจ้าประทานไฟแก่เขา เพื่อการบูชา มีเรื่องเล่าว่า ปลาตัวหนึ่งชื่อมนูมีบุญคุณต่อมันได้บอกให้มนูทราบว่า น้ำจะท่วมโลก มนุษย์จะตายหมดทั้งโลกให้มนูสร้างเรือไว้ใช้ เมื่ออุทกภัยมาถึงมนูจึงสร้างเรือใหญ่ขึ้นลำหนึ่ง พอน้ำท่วมโลก มนูได้ผูกเรือไว้กับครีบหลังของปลาตัวนั้น ปลานั้นได้จูงเรือพามนูไปพำนักอยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่งโดยปลอดภัย มนุษย์ก็ถูกน้ำท่วมตายหมดทั้งโลก มนูจึงได้ทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าขอให้ประทานมนุษย์แก่โลก มนูได้เทนมเปรี้ยว และเนยลงในมหานที หลังจากนั้นหนึ่งปี ได้เกิดมีสตรีคนหนึ่งเรียกว่า บุตรสาวมนู ชายหญิงคู่นี้เองเป็นผู้สร้างมนุษยชาติขึ้นมาใหม่ในโลก
                        ในคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่าปลาตัวนั้นก็คือ พระพรหม ซึ่งคัมภีร์ปุราณะ กล่าวว่า พระวิษณุแบ่งภาคมาเกิด มนูตามคัมภีร์พระเวท จึงมีลักษณะคล้ายกับโนอา ในคัมภีร์เยเนซิสของศาสนาคริสต์ ซึ่งกล่าวถึงน้ำท่วมโลก ท่วมสรรพสิ่งที่มีชีวิตตายหมด เว้นแต่ครอบครัวของโนอา กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่โนอาเลือกรับใส่เรือไว้สืบเผ่าพันธุ์
                        มนูปรากฎในกฎหมายเก่าของไทยในชื่อว่า "มนูสาร" หรือ มโนสาร ไทยถือว่าเป็นผู้แต่งกฎหมาย คำมนูตามตำรากฎหมายไทยก็ถือคติตามชาวฮินดู        ๒๒/ ๑๔๐๗๙
                ๔๑๖๘. มนูธรรมศาสตร์  เป็นชื่อกฎหมายฉบับหนึ่งของฮินดู ซึ่งเชื่อกันว่าเทพเจ้าที่มีบาปว่า มนู เป็นผู้แต่งเรียกว่ามนูสัมฤติ มีมานับพันปี จนสืบสาวหาเค้าเงื่อนที่แท้จริงไม่ได้ เป็นกฎหมายที่แสดงหลักความยุติธรรม ที่มีชื่อเสียงที่สุด ในบรรดาประมวลกฎหมายฮินดูที่เรียกว่า มานวธรรมศาสตร์ และเป็นกฎหมายที่เป็นแบบอย่างของกฎหมายโบราณ ทั้งหลายในแหลมอินโดจีน ตลอดถึงอินโดนีเชีย
                        กฎหมายฉบับนี้เห็นกันว่าแต่งขึ้นหลังพุทธกาล ประมาณปี พ.ศ.๓๕๐  เป็นตำรากฎหมายที่สืบเนื่องมาจาก ตำรากฎหมายอื่นหลายฉบับที่มีมาก่อน
                        เนื้อหาของมนูธรรมศาสตร์ และของตำราฉบับอื่นที่กล่าวมานั้นมิได้มีบทบัญญัติอันเป็นกฎหมาย แต่ประกอบด้วย หลักธรรมในศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ถึงกับถือกันว่า การศึกษากฎหมายมนูธรรมศาสตร์ เป็นการศึกษาคัมภีร์พระเวท ส่วนหนึ่งคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ จึงเริ่มด้วยตำนานกำเนิดของโลกเยี่ยงตำนานทางศาสนาทั้งหลาย แบ่งเป็นสิบสองบรรพ มีตัวกฎหมายที่แท้จริงคือ กฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่งอยู่เพียงสองบรรพ        ๒๒/ ๑๔๐๘๑
                ๔๑๖๙. มโนภาพ  การกำหนดความหมายของคำนี้ยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ มีผู้ให้ความหมายของมโนภาพไว้อย่างง่าย ๆ ว่าเป็นความคิดรวบยอมเกี่ยวกับสิ่งของเหตุการณ์ หรือความคิดตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล
                        มโนภาพของคนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ แต่เกิดจากการเรียนรู้ในสังคม การเรียนรู้มโนภาพของคนนั้นพบว่าภาษามีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนั้นพัฒนาการของบุคคลก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้มโนภาพด้วยเช่นกัน
                        มโนภาพมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมมนุษย์ เนื่องจากสามารถนำมาใช้ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ต่างกัน ในการสื่อสารให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และยังเป็นสื่อที่แสดงถึงความคิดความเข้าใจของบุคคลในสังคมอีกด้วย         ๒๒/ ๑๔๐๘๗
                ๔๑๗๐. มโนรมย์  อำเภอขึ้น จ.ชัยนาท ภูมิประเทศตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งเป็นที่ทำไร่ผัก และไร่ล้มลุกที่ห่างฝั่งทางตะวันออกเป็นที่ราบ ทำนาได้ทั่ว ๆ ไปทางตะวันตกเป็นที่ลุ่มลึก ทำนาได้บ้าง
                        อ.โนรมย์ เดิมเป็นเมืองสมัยอยุธยาปรากฎชื่อในพระราชพงศาวดาร เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๕ ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าฉนวน ภายหลังยุบเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ แล้วย้ายที่ว่าการมาตั้งที่ ต.คุ้งสำเภา ตรงข้ามปากแม่น้ำสะแกกรัง        ๒๒/ ๑๔๐๙๔
                ๔๑๗๑. มโนราห์ - นาง  เป็นชื่อนางเอกในเรื่องสุธนชาดก อยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งมักจะเรียกกันว่า คัมภีร์ชาดกนอกนิบาต เพราะมิได้อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์ปัญญาสชาดกนี้กล่าวกันว่า พระเถระชาวล้านนา ได้ให้บรรดาศิษย์ของท่านแต่งขึ้นไว้เป็นภาษาบาลี ในนครเชียงใหม่ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๐๐
                        ที่ระเบียงปูชนียสถานบุโรพุทโธในประเทศอินโดนีเชีย มีแผ่นภาพศิลาจำหลักเรื่องสุธนมโนราห์ แต่ดำเนินเรื่องตามสุธนาวตานในคัมภีร์ทิวยาวทาน
                        เนื้อเรื่องของนางมโนราห์ในสุธนชาดกนี้แพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแทบทุกประเทศ และนำไปปรับปรุงแสดงให้ประชาชนชมก็มาก โดยเฉพาะประเทศไทยภาคกลาง ได้มีบทละครเรื่องมโนราห์ฉบับกรุงเก่าปรากฎอยู่ แต่งเป็นกลอนแบบที่จะต้องร้องตามทำนองละครที่เรียกว่า "ชาตรี"
                        ส่วนในภาคใต้ของไทยกล่าวว่า เรื่องมโนราห์เป็นเรื่องแรกที่แสดงเป็นละคร และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จึงเรียกการแสดงนี้ว่า "มโนราห์" ถือว่าเป็นมหรสพสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยภาคใต้        ๒๒/ ๑๔๐๙๔
                ๔๑๗๒. มโนราห์ ๒  มีบทนิยามว่า  "ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้มีแม่บทท่าร่ายรำ อย่างเดียวกับละครชาตรี โนราก็ว่าเขียนว่ามโนราห์ก็มี
                        คำว่า มโนราห์เป็นคำที่คนภาคใต้รู้จัก และใช้เรียกกันในชั้นหลัง แต่เดิมเรียกว่า ชาตรี ต่อมาเมื่อรับเอาเรื่องนางมโนราห์ในสุธนชาดกมาแสดงและคนนิยมมาก จนเรียกการแสดงนี้ว่า มโนราห์ แต่บางที่เรียกควบกันว่า มโนราห์ชาตรี
                        คำว่า ชาตรี มีความหมายตรงกับละครเร่ คือ เที่ยงรำเที่ยงร่อนไปตามที่ต่าง ๆ เดิมไม่มีเวทีหรือโรงอย่างทุกวันนี้
                        แม่บทท่ารำของมโนราห์ชาตรีมีสิบสองท่า แล้วขยายเป็นท่าแม่ลายต่าง ๆ อีกมากมายตามวิวัฒนาการทางศิลปะ ในตำราฟ้อนรำฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มีบทกลอนแสดงแม่บทท่ารำไว้ถึง ๖๘ ท่า  ซึ่งมโนราห์ชาตรีของภาคใต้ ยังใช้รำอยู่จนบัดนี้        ๒๒/ ๑๔๑๐๓
                ๔๑๗๓. มโนสาร  เป็นนามสมมติของปราชญคนหนึ่ง ซึ่งโบราณถือว่า เป็นผู้แต่งคัมภีร์กฎหมายชื่อพระธรรมศาสตร์ ปรากฎอยู่ในกฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา        ๒๒/ ๑๔๑๑๖
                ๔๑๗๔. มโนสาเร่ - คดี  เป็นชื่อคดีจำพวกหนึ่งซึ่งไม่ค่อยสำคัญบ้างก็เรียกคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทางแพ่งเป็นคดีที่มีฐานทรัพย์น้อย ส่วนในทางอาญาเป็นคดีมีโทษต่ำ
                        ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับเก่า ร.ศ.๑๑๕ และฉบับ ร.ศ.๑๒๗  ผู้บัญญัติกำหนดทุนทรัพย์ สำหรับคดีมโนสาเร่ไว้ ไม่เกิน ๒๐๐ บาท ส่วนคดีอาญากำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน        ๒๒/ ๑๔๑๑๘
                ๔๑๗๕. มนังการ  มาจากคำบาลีแปลว่า "ความถือว่าเป็นของเรา"  ในภาษาบาลีนั้น คำมนังการ มีกล่าวถึงในที่ใดจะมีคำอหังการซึ่งแปลว่า "ความถือว่าเป็นเรา" และคำว่านามานุสัย ซึ่งแปลว่า "ความถือตัวเป็นกิเลสนอนเนื่องในสันดานอยู่ในสันดาน" รวมอยู่ด้วย
                        ในทางพระพุทธศาสนาอหังการ มนังการ และนามานุสัย คือ ตัณหา มานะและทิฐะ ซึ่งมีอยู่ร่วมกัน อหังการคือตัวทิฐิได้แก่สัสตทิฐิที่มีความเห็นว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน  เราเขาหรือวัตถุทานและกิเลสกามเป็นของเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น มนังการ คือ ตัวตัณหาได้แก่ ภวตัณหาที่มีความเป็นไปในภพหรือความติดภพ ติดชาติของตน หรือความอยากมีอยากเป็น และอยากเกิดไม่มีที่สิ้นสุด นามานุสัย คือตัวมนะ ได้แก่ มานสังโยชน์อันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มีลักษณะเย่อหยิ่งถือตัว และมีหน้าที่ผูกจิตของสัตว์ไว้        ๒๒/ ๑๔๑๒๓
                ๔๑๗๖. มยุรฉัตร  เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศในกระบวนแห่พระราชพิธีโสกันต์ พระราชโอรส พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้า รูปลักษณะเป็นพุ่มแต่งด้วยขนนางนกยูง ยอดมีฉัตรสามชั้นฉลุลายพุ่ม และฉัตรสูง ๑๓ ซม. มีคันโลหะหุ้มทองคำต่อเป็นด้ามสำหรับถือยาวประมาณ ๔๘ ซม. เยาวกุมารีราชสกุลที่ไว้จุก เป็นผู้ถือเชิญเข้ากระบวนพระอิสริยยศแห่จากพระตำหนักฝ่ายใน ออกไปยังเขาไกรลาสและเมื่อพระราชโอรส พระราชธิดาได้เข้าพระราชพิธีลงสรงโสกันต์แล้ว กระบวนแห่ตอนนี้ผู้เชิญพุ่มมยุรฉัตรต้นไม้ทอง พุ่มต้นไม้เงินจะเปลี่ยนเป็นกุสสตรีผู้ใหญ่
                        ตำแหน่งในริ้วกระบวนพระอิสริยยศมยุรฉัตร จัดอยู่หน้าพระที่นั่งราชยานที่พระราชโอรส พระราชธิดาประทับแห่ไปเข้าพระราชพิธีโสกันต์          ๒๒/๑๔๑๒๙
                ๔๑๗๗. มรกต  เป็นพลอยสีเขียวมีราคา หรือรัตนชาติมีค่าสูงชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยากมากเป็นหนึ่งในนพรัตน์ มรกตจัดเป็นพลอยประจำเดือนเกิด คือเดือนพฤษภาคม     มรกตบางตัวอย่างมีสีอ่อนจางไป จนกระทั่งออกขาวอมเขียว ปรกติไม่จัดเป็นรัตนชาติเฉพาะที่มีสีเขียวเข้ม หรือสีเขียวใบหญ้าเท่านั้นที่มีราคาแพงที่สุด
    และนิยมกันมากที่สุด
                        การเจียระไนมรกต จะเจียระไนแบบเหลี่ยมชั้น จึงเป็นแบบเฉพาะของมรกต ที่ได้รับการเจียระไน และมักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า เหลี่ยมมรกต ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีแปดด้านเป็นชั้นบนสามชั้น ชั้นล่างสามชั้น        ๒๒/ ๑๔๑๓๐
                ๔๑๗๘. มรดก  ความหมายทั่วไปคือสิ่งซึ่งตกทอด อาจเป็นทรัพย์สินคุณค่าทางสังคมแม้แต่หนี้สินหรือความรับผิดก็ได้
                        ความหมายเฉพาะมรดก หมายถึง ทรัพย์สิน และความรับผิดชอบของบุคคล ซึ่งมีอยู่เวลาตาย และตกทอดแก่ทายาท หรือผู้รับมรดก ถ้าไม่มีผู้รับก็ให้ตกแก่แผ่นดิน ตามหลักทรัพย์สินที่จะตกทอดเป็นมรดกนั้นต้องเป็นของเอกชน ส่วนการตกทอดอย่างไรนั้น ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละสังคมในประเทศไทย มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะเรียกว่า กฎหมายมรดก
                        กฎหมายว่าด้วยมรดกนั้น ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา ผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้แก่ ลูกหลานของผู้ตายเหมือนสมัยนี้ ถ้าไม่มีลูกหลานจึงให้ตกได้แก่ผู้มีบุญคุณ  น่าสังเกตว่าการกำหนดตัวผู้มีสิทธิรับมรดก ของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ทิ้งหลักกฎหมายโรมันเลย
                        การรับมรดกตามกฎหมายไทยมีมาแต่โบราณกาล ปรากฏในกฎหมายตั้งแต่สมัยพระเจ้ามังรายแห่งลานนา และสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย การแบ่งปันมรดกในสมัยลานนานั้นคือ เอาคำสั่งของผู้ตายเป็นสำคัญ ถ้าผู้ตายไม่ได้สั่งไวัจึงให้มรดกได้แก่ลูกเมียของผู้ตาย
                        มรดกตามกฎหมายระบบใหม่ตามแบบตะวันตก ซึ่งไทยได้จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า ลักษณะมรดกบัญญัติไว้ในบรรพ ๖ หรือตอนที่ ๖ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์        ๒๒/ ๑๔๑๓๗
                ๔๑๗๙. มรรค  มีบทนิยามว่า "ทาง เหตุ ใช้คู่กับผลว่าเป็นเหตุเป็นผลในทางพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม คู่กับผลมีสี่ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค"
                        มรรคเป็นทางของจิตให้ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญจิตดำเนินไปสู่พระนิพพาน  หรือทางของจิตซึ่งจะยังผู้ปฏิบัติให้เข้าถึง ความเป็นพระอริยบุคคลเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติ ได้ถึงความดับทุกข์ โดยดำเนินไปตามทางที่จะไปสู่พระนิพพาน  หรือทางที่จะให้เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น
                        กล่าวโดยองค์ธรรมทางนั้นได้แก่มรรคมีองค์แปดที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าทางสายกลาง คือ สัมมาทิฐิ  ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สับมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ การตั้งความเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิความตั้งใจชอบ
                        มรรค นอกจากแปลว่าทางและเหตุ ยังมีแปลว่า "เป็นเครื่องไปสู่พระนิพพาน" "เป็นธรรมอันผู้ต้องการพระนิพพานพึงแสวงหา" "เป็นธรรมอันฆ่ากิเลส"
                        "มรรคได้ชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีเครื่องหมาย เพราะกำหนดรู้สังขารโดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วออกจากสังขาร หรือไม่มีรูปนิมิต ราคะนิมิต เป็นต้น" "มรรคๆ ได้ชื่อว่า เป็นธรรมไม่มีที่ตั้ง ว่างเปล่า โล่งเตียน เพราะว่างเปล่าปราศจากสังขารและราคะ เป็นต้น แและเพราะนิพพานอันว่างเปล่า ไม่มีเครื่องหมาย และไม่มีที่ตั้งเป็นอารมณ์"    ๒๒/ ๑๔๑๔๙
                ๔๑๘๐. มรสุม - ลม  เป็นชื่อเรียกชนิดของลมตามศัพท์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับซึ่งแปลว่าฤดู ปัจจุบันคำว่ามรสุมหมายถึงลมประจำฤดู ซึ่งบริเวณที่มรสุมพัดปกคลุมอยู่ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลในเขตร้อน และบริเวณใกล้เคียงจากทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก มาทางฝั่งตะวันออก  ปกคลุมบริเวณมหาสมุทรอินเดียทะเลอาระเบียน ประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีน ตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก                 สาเหตุพื้นฐานของการเกิดมรสุม เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิประจำปี ระหว่างพื้นดินของทวีปกับพื้นน้ำของมหาสมุทร ทำให้เกิดความแตกต่างของความเกิดอากาศที่ปกคลุมพื้นดิน และพื้นน้ำมวลอาการจะเคลื่อนตัวจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ และมีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง และมีความกดอากาศต่ำกว่า การเคลื่อนตัวของมวลอากาศนี้  ก่อให้เกิดการพัดของกระแสลมคล้ายลักษณะการเกิดลมบก ลมทะเล ด้วยเหตุนี้จึงแบ่งมรสุมออกได้เป็นสองชนิด คือ
                         ๑. มรสุมในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ สาเหตุที่เกิดมรสุมนี้เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมีนาคม ผืนแผ่นดินในบริเวณตอนเหนือของเขตร้อน และบริเวณใกล้เคียงของซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิลดลง และมีความกดอากาศสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลทรายสะฮาราในเอเชียกลาง และในไซบีเรียทั้งควาากดอากาศสูงขึ้น และแผ่มวลอากาศลงมาทางใต้เข้าสู่บริเวณเขตร้อน และบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรในซีกโลกใต้ ซึ่งมีอุณหภูมิสูง เนื่องจากได้รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงอยู่ ทำให้เกิดบริเวณความกดอากาศต่ำที่เห็นได้ชัดเจน ในทะเลทรายกาลาฮารีของทวีปแอฟริกา ในมหาสมุทรอินเดียในตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน ดังนั้นจึงเกิดกระแสลมพัดจากซีกโลกเหนือ ลงมาทางใต้เรียกกันว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
                          ๒. มรสุมในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ สาเหตุที่เกิดมรสุมนี้เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน ผืนแผ่นดินในบริเวณเขตร้อนของซีกโลกเหนือ และบริเวณใกล้เคียง มีอุณหภูมิสูงขึ้น  เนื่องจากได้รับรังสีความร้อน จากดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงอยู่ ทำให้เกิดเป็นบริเวณความกดอากาศต่ำที่เห็นได้ชัดเจน  ในทะเลทรายสะฮารา ในเอเชียกลางในปากีสถาน และอินเดียตอนเหนือ และในประเทศจีนตอนใต้ มวลอากาศในบริเวณดังกล่าวข้างต้นนี้จะลอยตัวขึ้น และถูกแทนที่โดยมวลอากาศที่พัดมาจากบริเวณเขตร้อน และบริเวณใกล้เคียงเส้นศูนย์สูตรในซีกโลกใต้ ซึ่งมีอุณหภูมต่ำ และมีความกดอากาศสูงที่เห็นได้ชัดเจน ในทะเลทรายกาลาฮารี ในมหาสมุทรอินเดีย ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และในทวีปออสเตรเลีย ดังนั้น จึงเกิดกระแสลมพัดจากซีกโลกใต้ขึ้นไปทางเหนือ  ทำให้เกิดเป็นมรสุมในฤดูร้อน ของซีกโลกเหนือเรียกกันว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
                        มรสุมจะมีอิทธิพลปรากฎเด่นชัดมากที่สุดในทวีปเอเชียบริเวณประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ พม่า ไทย และคาบสมุทรอินโดจีน เพราะมีความแตกต่างในภูมิประเทศที่เป็นผืนแผ่นดิน และพื้นน้ำอย่างชัดเจน         ๒๒/ ๑๔๑๖๑
                ๔๑๘๑. มฤคทายวัน ๑  เป็นชื่อสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา อยู่ชานเมืองพาราณสี รัฐอุตรประเทศ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ กม. ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาสายบาลีเรียกชื่อเต็มว่า อิสิปตนมิคทายวัน ปัจจุบันเรียกกันว่า สารนาถ
                        เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จพุทธดำเนินจากโพธิมณฑล จนถึงมฤคทายวันเป็นระยะ ๑๘ โยชน์ (โยชน์ละ ๔๐๐ เส้น เท่ากับ ๒๘๘ กม.) ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อธัมมจักกัปวัตนสูตร โปรดเบญจวัคคีย์ เป็นครั้งแรกเป็นการพระพุทธศาสนา ณ ที่นี้เป็นครั้งแรก และเป็นที่มาแห่งวันอาสาฬหบูชา
                        เมื่อทรงแสดงพระธรรมจักรจบลง พราหมณ์โกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขออุปสมบท และพระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้พระโกณทัญญะ จึงเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา ส่วนเบญจวัคคีย์ที่เหลือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอบรมสั่งสอนในวันต่อมา ก็ได้วงตาเห็นธรรมวันละรูป แล้วทูลขออุปสมบทเป็น พระภิกษุตามลำดับจนครบทั้งห้ารูป จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อ อนัตตลักขณสูตร โปรดพระภิกษุเบญจวัคคีย์พร้อมกัน เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระภิกษุเบญจวัคคีย์ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งห้ารูป
                        ในระหว่างที่พระพุทธเจ้า กับพระอรหันตสาวกห้ารูปพักจำพรรษาอยู่ ณ มฤคทายวัน มีบุตรเศรษฐีาชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อยศ เกิดเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาสมาพบพระพุทธเจ้าในคืนวันหนึ่ง เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อ อนุปุพพิกถาห้า (ว่าด้วยเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกบวชจากกามตามลำดับ) ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้วันรุ่งขึ้นบิดามารดา และภริยาของพระยศออกตามหาพระยศมาพบพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาชื่ออนุปุพพิกกถา ทั้งสามท่านได้ดวงตาเห็นธรรม ทูลขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นคณะแรก พระยศได้ฟังพระธรรมเทศนาอยู่ด้วยแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อมามีสหายของพระยศจำนวน ๕๔ คน มาหาพระยศเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุทั้งหมด รวมมีพระอรหันต์ในครั้งนั้นในพรรษาแรกถึงหกสิบรูป
                        ครั้นหมดฤดูฝน (ออกพรรษาแล้ว) ทรงเรียกประชุมสงฆ์ มีพระดำรัสให้พระอรหันตสาวกเหล่านั้นออกไป ประกาศพระศาสนามีใจความว่า บัดนี้พวกเธอหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์แล้ว จงเที่ยวจารึกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขของเทวดา และมนุษย์เถิด จงแยกย้ายไปทางละรูปด้วยมีคนจำนวนมากที่มีกิเลสน้อย ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะสูญเสียผลอันตนพึงจะได้ จงไปแสดงธรรมอันงาม ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมอรรถรสให้ครบบริบูรณ์แก่พวกเขาเถิด ส่วนเราตถาคตจะไปประเทศธรรมที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
                        ในระหว่างทาง ทรงพบกับพวกภัททิยกุมารจำนวนสามสิบคน ทรงแสดงธรรมโปรดจนสำเร็จ เป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอนาคามี และทรงให้อุปสมบททั้งหมด แล้วโปรดให้จารึกไปเผยแพร่พระศาสนาเป็นคณะที่สอง
                        หลังพุทธปรินิพพานได้ราว ๒๗๔ ปี พระเจ้าอโศก ฯได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรมคธ ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงทรงทำนุบำรุงพระพุทธศานาเป็นการใหญ่ เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถานทุก ๆ ตำบล แล้วโปรดให้สร้างพระเจดีย์ พระวิหาร และเสาศิลาจารึกขึ้น ณ ตำบลนั้น ๆ ถึง ๘๔,๐๐๐ ตำบล
                        ที่มฤคทายวัน พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้สร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ไว้หลายอย่างได้แก่
                            ๑. พระสถูปสององค์ คือ ธัมมราชิกสถปู อยู่ทางทิศตะวันตกของธัมมเมกขสถูป โปรดให้สร้างขึ้น ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์รวมหกครั้ง แต่ถูกพวกมุสลิมมีกุตม์ - อุด - ดิน เป็นหัวหน้า ทำลายคร้งใหญ่ เมื่อราวปี พ.ศ.๑๗๓๘ (มคฤทายวันร้างครั้งนี้) และเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๗ ราชาผู้ครองเมืองพาราณสีชื่อ ชคัต สิงห์ สั่งให้ฝังซากธัมมราชิกสถูป และกุฏิวิหารอื่น ๆ เพื่อเอาอิฐหินและดินไปทำสะพานข้ามแม่น้ำคงคา ปรากฎว่าได้พบพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในผอบหินอ่อนสีมรกต ซึ่งอยู่ภายในแท่งหินทรงกลมอีกชั้นหนึ่ง ชคัต สิงห์ สั่งให้คนนำเอาพระบรมสารีริกธาตุไปทิ้งในแม่น้ำคงคา
                         ส่วนธัมเมกขสถูปนั้น พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้สร้างขึ้น ณ  จุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักร โปรดเบญจวัคคีย์ พระสถูปนี้มีผู้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อเติมหลายครั้ง
                            ๒. เสาอโศก คือ เสาศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ณ มฤคทายวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงตั้งสังฆมณฑลขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วทรงหมุนวงล้อแห่งพุทธธรรมให้เคลื่อนออกไปจากที่นี้ ดังจะเห็นได้จากรูปลักษณะของเสาอโศกนี้คือ เดิมเสานี้สูงประมาณ ๑๕ เมตร ที่หัวเสาสลักเป็นรูปสิงห์สี่ตัว ยืนหันหลังเข้าหากัน ที่ฐานสลักเป็นรูปวงล้อธรรมจักรสี่วงอยู่ตรงเท้า ของสิงห์แต่ละตัว เหนือหัวสิงห์ทั้งสัตว์มีวงล้อธรรมจักรปักอยู่หนึ่งวง จารึกพระคาถา ๓๒ บท มี "เย ธมฺมา เหตุปภวา" เป็นต้น
                          ในสมัยราชวงศ์ศุงคะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ - ๕)  ซึ่งปกครองอาณาจักรมคธสืบต่อมา จากราชวงศ์โมริยะของพระเจ้าอโศก ฯ พระเจ้าบุษยมิตรผู้สถานปนาราชวงศ์นี้ นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเคร่งครัด และสั่งให้ทำลายพระพุทธศาสนาทุกรูปแบบ (ดูบุศยมิตร - ลำดับที่ ๓๑๗๗ ประกอบ) มฤคทายวันไม่ได้รับการเอาใจใส่แต่อย่างใด
                          ในสมัยราชวงศ์กุษาณะของพวกอ้ายสี ที่ยกมาจากเอเชียกลางมีอำนาจปกครองอินเดียตอนเหนือ โดยเฉพาะในรัชสมัยเพระเจ้ากนิษกะที่สอง ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทำให้พระพุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สมัยนั้นมฤคทายวันก็กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง
                         ในสมัยราชวงศ์คุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) นับเป็นยุคทองของมฤคทายวัน แต่เมื่อสิ้นราชวงศ์นี้ก็เริ่มเสื่อมลง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๑๔๙ พระเจ้าหรรษวรรธนะกษัตริย์ราชวงศ์ธเนศวรองค์ที่หก ได้แผ่อาณาเขตมาครองอาณาจักรมคธทั้งหมด พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างพระเจ้าอโศก ฯ มฤคทายวันก็ได้รับการพัฒนายิ่งขึ้น จนกลายเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง มีพระภิกษุสงฆ์ถึง ๑,๕๐๐ รูป พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้สังกัดนิกายสัมมีติยะแห่งเถรวาท
                         หลังจากพระเจ้าหรรษวรรธนะสวรรคตแล้ว กษัตริย์วรรณศูทรทางตะวันออกคือ รัฐพิหาร และเบงกอลในปัจจุบัน ได้สถาปนาราชวงศ์ปาละขึ้น และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญอีกหลังจากซบเซาอยู่พักหนึ่ง
                         ต่อมาพระเจ้าโควินทจันระแห่งราชวงศ์คาหัฑวาล (พ.ศ.๑๑๕๗ - ๑๑๙๗) ครองราชย์ที่นครกโนช ปกครองเขตอโยธยา และพาราณสีมีพระมเหสีพระนามกุมารเทวี ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก หลังจากรัชกาลนี้แล้ว มฤคทายวันก็เสื่อมลงจนร้าง ด้วยอิทธิพลของฮินดูในระยะแรก และของมุสลิมในระยะต่อมา รวมเวลาที่ถูกทิ้งร้างประมาณ ๗๐๐ ปี
                         จนถึงสมัยการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย มีอนาคาริกธรรมบาลชาวศรีลังกาเป็นผู้นำ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๓๔ มฤคทายวันก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่        ๒๒/ ๑๔๑๖๗
                ๔๑๘๒. มฤคทายวัน ๒  เป็นชื่อวัดไทยในประเทศอินเดียวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ที่อิสิปตนมฤคทายวัน หรือสารนาถ เมืองพาราณสี เรียกชื่อว่า วัดมฤคทายวันมหาวิหาร อีกชื่อว่า วัดไทยสารนาถ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ในพื้นที่ ๓๒ ไร่        ๒๒/ ๑๔๑๘๗
                ๔๑๘๓. มฤคทายวัน ๓  เป็นพระนามพระราชนิเวศน์ที่รัชกาลที่หก โปรดให้สร้างขึ้น ณ ชายหาด ต.ห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงเป็นหมู่เรือน และมีทางเดินติดต่อกันได้ทั้งชั้นบน และชั้นล่าง โดยสร้างเป็นไม้สักเรือนหรืออาคารมี ๑๖ หลัง ๑๙ บันได เสา ๑,๐๘๐ ต้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๒ ไร่
                        พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วยพระที่นั่งใหญ่สามองค์ หันหน้าเรียงแถวขนานไปกับชายทะเล มีนามเรียกจากชั้นในสุด จนถึงประตูพระราชนิเวศน์ด้านหน้าคือ พระที่นั่งสมุทพิมาน พระที่นั่งพิศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์          ๒๒/๑๔๑๙๒
                ๔๑๘๔. มลยฬัม - ภาษา  เป็นภาษาหนึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาทราวิท ใช้พูดกันในท้องถิ่นภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย มีผู้พูดภาษานี้ราว ๒๐ ล้านคน        ๒๒/ ๑๔๑๙๙
                ๔๑๘๕. มลายู  (ดูมาเลเชีย - ลำดับที่...)        ๒๒/ ๑๔๒๐๐
                ๔๑๘๖. มลาว (ดูลาว - ลำดับที่...)         ๒๒/ ๑๔๒๐๐
                ๔๑๘๗. มลิวัน - เมือง  เป็นเมืองหนึ่งในบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เมืองมลิวันเป็นเมืองของท้าวจักรวรรดิ์พระยายักษ์ เพื่อนร่วมสาบานของทศกัณฐ์ เป็นเมืองที่มีด่านกลถึงสองด่าน คือ ด่านไฟกัลย์และด่านน้ำกรด        ๒๒/ ๑๔๒๐๐

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch