หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/118

    ๔๑๒๐. ภาษีเจริญ เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอเรียก อ.ภาษีเจริญ ชาวบ้านมักเรียกว่า อ.รางบัว เพราะที่ว่าการอำเภออยู่ใกล้วัดรางบัว เปลี่ยนเป็นเขตเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๖    ๒๒/ ๑๓๙๑๙
                ๔๑๒๑. ภิกษุ มีบทนิยามว่า "พระผู้ชายในพระพุทธศาสนา" ผู้ชายที่จะเป็นพระในพระพุทธศาสนาต้องบวชหรืออุปสมบทเป็นภิกษุและต้องเป็นผู้ที่สงฆ์บวชให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสมบท ผู้ที่จะอุปสมบทต้องเป็นชายมีร่างกายสมบูรณ์ มีอายุครบกำหนดไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามพุทธบัญญัติ
                        เมื่อสงฆ์จะให้อุปสมบทต้องชุมนุมภิกษุให้ได้องค์กำหนดและต้องชุมนุมในแขตชุมนุม ซึ่งเรียกว่า สีมา จึงจะให้อุปสมบทสำเร็จ
                        ในตอนปฐมโพธิกาลวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตได้หกกรณี คือ
                        ๑. เอหิภิกขุอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุมีสังวาสคือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอด้วยพระองค์และภิกษุอื่นที่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน
                        ๒. ติสรณคมอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีทรงอนุญาตให้พระสาวกรับเข้าหมู่ได้ ด้วยวิธีให้ผู้ร่วมเข้าหมู่นั้นถือเพศก่อนแล้วแสดงตนถึงสรณสาม
                        ๓. โอวาทปฏิคคหณอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีรับพระพุทธโอวาทดังที่ประทานแก่พระมหากัสสปเถระ
                        ๔. ปัญหาพยากรณอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีกราบทูลกล่าวแก้ปัญหาถวายพระพุทธองค์แล้วทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุด้วยวิธีนั้น ดังที่ประทานแก่สามเณรโสปากะ
                        ๕. ครุธัมมปฏิคคหณอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีการได้รับครุธรรมแปดประการดังที่ประทานแก่พระมหาปชาบดี
                        ๖. ทูเตนอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีส่งทูตไปรับบวชแทนดังที่ทรงอนุญาตแก่นางอัฒกาสีคณิกา
                        ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารคณะภิกษุหลายรูปเข้าประชุมกันเป็นหมู่ เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่า สงฆ์ สงฆ์นั้นย่อมมีองค์ประชุมเป็นกำหนดสำหรับกิจนั้น ๆ การให้อุปสมบทในปัจจันตชนทบคือ แดนที่หาพระภิกษุยากต้องการสงฆ์มีภิกษุห้ารูป ในมัชฌิมประเทศคือแดนที่หาพระภิกษุง่ายต้องการสงฆ์มีพระภิกษุสิบรูป แต่ในประเทศไทยปัจจุบันการบวชนาคนิยมใช้พระภิกษุรวม ๒๘ รูป คือ พระอุปัชฌาย์ หนึ่งรูป พระคู่สวดสองรูป พระอันคับ ๒๕ รูป เกินกว่านี้ไม่ห้าม
                        ตกมาถึงชั้นนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำด้วยวิธี ซึ่งเรียกว่าญัตติจตุตกกรรมอุปสมบท คือภิกษุประชุมครบองค์กำหนดในเขตแห่งชุมนุม ซึ่งเรียกว่า สีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้น ๆ เข้าหมู่และได้รับความยินยอมจากภิกษุทั้งปวง
                        เมื่อทรงเลิกติสรณคมนอุปสมบทแล้วได้ทรงอนุญาตให้เอาวิธีนั้นมาใช้บวชกุลบุตร  ผู้มีอายุยังหย่อนไม่ครบ เป็นพระภิกษุให้เป็นสามเณร การบวชจึงเป็นสอง คือ บวชเป็นภิกษุหรือบวชพระเรียกอุปสัมปทาหรืออุปสมบท บวชเป็นสามเณรเรียกว่าบรรพชาหรือบวชเณรและวิธีที่สงฆ์จะให้อุปสมบทก็ให้แก่ผู้ได้รับบรรพชาหรือเป็นสามเณรมาแล้วใช้เป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้
                        สงฆ์ผู้จะให้อุปสมบทนั้นต้องตรวจตราผู้จะให้อุปสมบท ให้เห็นว่าเป็นผู้สมควรก่อน คือ ต้องให้ผู้นั้นหาภิกษุรับรองหรือชักนำเข้าหมู่รูปหนึ่งเรียกว่า อุปัชฌายะ นั้น  ต้องเป็นผู้ใหญ่สามารถจะฝึกสอนเมื่อบวชแล้ว จะต้องตรวจตราเครื่องบริขารที่จำเป็นของภิกษุ คือ ไตรจีวรกับบาตรให้มีพร้อม ถ้าบกพร่องเป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะ จะต้องหาให้การซักไซ้ด้วยเรื่องเหล่านี้ สงฆ์สมมติให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ทำและการอุปสมบทนี้ต้องให้แก่ผู้สมัครเท่านั้น ถ้าเขาไม่สมัครจะให้ขืนใจเขาไม่ได้ จึงมีเป็นธรรมเนียมว่าผู้จะอุปสมบทที่ต้องเปล่งคำขอกรณียกิจเหล่านี้เรียกว่า บุรพกิจ ควรทำให้เสร็จก่อนสวดประกาศ เมื่อพร้อมด้วยสมบัติดังกล่าวแล้วจึงเป็นวาระที่จะสวดประกาศรับผู้นั้น เป็นภิกษุเข้าหมู่เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความรู้ความสามารถประกาศให้สงฆ์ฟังวาจาประกาศนั้นสี่จบ จบแรกเป็นคำเผดียงสงฆ์ ขอให้อุปสมบทคนชื่อนั้นเรียกว่าญัตติอีกสามจบ เป็นคำปรึกษาหารือกันและกันของสงฆ์ที่ตกลงรับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เรียกว่า อนุสาวนา ในระหว่างนี้ถ้ามีภิกษุแม้รูปหนึ่งคัดค้าน การนั้นเป็นอันเสียใช้ไม่ได้ ถ้านิ่งอยู่ทุกรูปถือเอาเป็นยอม ต่อนั้นมีคำประกาศซ้ำท้ายว่าสงฆ์รับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เสร็จแล้ว ผู้ประกาศจำข้อความนี้ไว้ ในคำประกาศนั้นจำต้องระบุชื่อผู้ขออุปสมบทระบุชื่อพระอุปัชฌายะผู้รับรองหรือนำเข้าหมู่คณะ ระบุชื่อสงฆ์ผู้เป็นเจ้าการขาดไม่ได้ และจะต้องประกาศให้ครบกำหนด และถูกระเบียบต่อหน้าไม่ลับหลัง ดังนี้เรียกว่า กรรมวาจาสมบัติ พระสงฆ์จะให้อุปสมบทต้องทำให้ได้พร้อมสมบัติห้าประการ
                        พระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อบวชแล้วต้องปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติคือ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นศีลหรือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์และที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์
                        ศีลหรือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์ คือ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒  นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตติย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยะ ๗๕ รวมเป็น ๒๒๐ นับทั้งอธิกรณ์สมถะ ๗ ด้วย เป็น ๒๒๗
                        การลาสิกขา คือการปฏิญาณตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกันแล้วละเพศภิกษุเสียถือเอาเพศที่ปฏิญาณนั้น ท่านอนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้ แม้ต่อหน้าคนอื่นจากภิกษุ คำปฏิญาณนั้นต้องชัดพอที่ผู้ฟังจะรู้ได้ว่า ตนละความเป็นภิกษุถึงความเป็นผู้อื่น การปฏิญาณนั้นต้องทำเป็นกิจจะลักษณะ
                        คำปฏิญาณที่ใช้อยู่ในบัดนี้สองคำควบกันว่า "สิกขํ ปจฺจกฺขามิ คิหีติมํ ธาเรถ" แปลว่า "ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์ " เมื่อถือเพศคฤหัสถ์แล้ว แสดงอุปาสกัตตเพศ คือแสดงคนเป็นอุบาสกต่อหน้าพระรัตนตรัยอีกวาระหนึ่ง โดยความเป็นนิจศีลตลอดชีวิตอีกชั้นหนึ่ง    ๒๒/ ๑๓๙๒๐
                ๔๑๒๒. ภิกษุณี มีบทนิยามว่า "พระผู้หญิงในพระพุทธศาสนา" ในสมัยพุทธกาลภิกษุณีองค์แรกคือพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
                        สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จนิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้า นางเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอพระพุทธานญาตให้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปถึงเมืองไพศาลีประทับที่กูฎาคาร ป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีได้ตัดพระเมาลีของพระองค์พร้อมด้วยนางสากิยานี ทรงผ้ากาสาวพัสตร อธิษฐานเพศบรรพชิตอุทิศเฉพาะพระศาสดาไปยังเมืองไพศาลี ยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารกูฎาคาร พระอานนท์เสด็จมาพบทูลถามสาเหตุเมื่อทราบแล้วจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเรื่องให้ทรงทราบแล้วกราบทูลขอให้ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต พระอานนท์จึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ถ้าผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัยแล้วจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าดำรัสว่าผู้หญิงบวชก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ พระอานนท์จึงขอให้ผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าพระนางมหาปชาบดีจะยอมรับเงื่อนไขครุธรรมแปดประการก็บวชได้ ครุธรรมแปดประการนั้นคือ
                        ๑. นางภิกษุณีแม้บวชแล้วได้ร้อยพรรษาต้องกราบไหว้ ลุกต้อนรับประนมมือและทำสามีจิกรรมอื่น ๆ แก่ภิกษุแม้บวชในวันนั้น
                        ๒. ภิกษุณีไม่ควรอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
                        ๓. ภิกษุณีต้องปฏิบัติตามหลักธรรมสองประการคือ จะต้องทำอุโบสถกรรมและเข้าไปฟังคำสอนจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
                        ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้งสามคือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ
                        ๕. ภิกษุณีต้องครุกาบัติ (อาบัติสังฆาทิเสส) แล้วต้องประพฤติปักขมานัต (อยู่ปริวาสกรรม) จากสงฆ์ทั้งสองฝ่ายปักษ์หนึ่ง (๑๕ วัน)
                        ๖ ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย เมื่อได้เป็นสิกขมานาศึกษาธรรมหกข้อ (ศีลหกข้อ) ตั้งแต่สิกขาบทปาณาติปาตาเวรมณีถึงวิกาลโภชนา เวรมณีครบสองปีแล้ว
                        ๗. ภิกษุณีอย่าพึงด่า อย่าพึงบริภาษภิกษุด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
                        ๘. ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป ห้ามไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ให้สดับรับโอวาทของภิกษุว่ากล่าว นางภิกษุณีฝ่ายเดียว
                        พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทตามลำดับที่ภิกษุณีประพฤติในกาลนั้น ๆ รวมเป็นสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ได้ ๓๑๑ สิกขาบท คือ ปาราชิก ๘ สังฆาทิเสส ๑๗ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์ ๑๖๖ ปาฏิเทสนียะ ๘ เสขิยวัตร ๗๕ และอธิกรณสมถะ ๗      ๒๒/๑๓๙๒๗
                ๔๑๒๓. ภีมเสน เป็นชื่อหนึ่งของภีมะในเรื่องมหาภารตะ (ดูภีมะ ๑ - ลำดับที่ ๔๑๒๓)  ๒๒/ ๑๓๙๓๑
                ๔๑๒๔. ภีมะ ๑ เป็นชื่อวีรบุรุษสำคัญคนหนึ่งในมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ คำว่า "ภีมะ" แปลว่า ผู้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว" เป็นเจ้าชายปาณฑพองค์ที่สองในจำนวนทั้งหมดห้าองค์ ภีมะมีชีวิตอยู่ในช่วงนารายณ์อวตารปางที่แปด (กฤษณะวตาร) แต่มีพี่ชายร่วมบิดาเดียวกันคือ หนุมาน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงนารายณ์อวตารปางที่เจ็ด (รามจันทราวุตาร) และมีชีวิตยืนยาวมาถึงนารายณ์อวตารปางที่แปดได้พบกับภีมะ ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดา (พระวายุ) กับตน
                        ภีมะเป็นคนรูปร่างใหญ่โตมีพละกำลังยิ่งใหญ่ ถือกระบองเป็นอาวุธ เป็นคนใจกล้าหาญโหดเหี้ยมร้ายกาจ เจ้าโทสะปากร้ายไม่เคยปราณีต่อศัตรูเป็นคนหยาบคายและกินจุมาก
                        ชีวิตในบั้นปลายตอนภีมะ ตอนออกเดินป่าพร้อมด้วยพี่ ๆ น้อง ๆ ปาณฑพและนางเทราปทีมุ่งหน้าไปยังเขาสุเมรุ ระหว่างการเดินทาง เมื่อใกล้ถึงจุดหมายผู้ร่วมขบวนก็ล้มตายไปทีละคน เริ่มจากนางเทราปที สหเทพ นกุล และอรชุน จากนั้นก็เป็นภีมะ   ๒๒/ ๑๓๙๓๑
                ๔๑๒๕. ภีมะ ๒ เป็นชื่อกษัตริย์แห่งเมืองวิทรรภ์ในเรื่องพระนล อันเป็นเรื่องแทรกในมหากาพย์มหาภารตะ เป็นผู้ที่ใจดีมีเมตตาและมีความรักลูกหลานเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนางทมยันตีผู้เป็นพระธิดาหลงรักพระนล ท้าวภีมะก็รับช่วยเหลือโดยจัดให้มีพิธีสยุมพรจนนางเลือกคู่ได้พระนลเป็นสามี     ๒๒/๑๓๙๓๖
                ๔๑๒๖. ภีมะ ๓   เป็นชื่อบุคคลหนึ่งในปัทมบุราณะแสดงให้เห็นถึงความสูงส่ง และความศักดิ์สิทธิของพราหมณ์ว่าอาจช่วยแม้คนวรรณะต่ำต้อย เช่น วรรณศูทรให้ขึ้นสวรรค์ของพระวิษณุได้     ๒๒/๑๓๙๓๖
                ๔๑๒๗. ภู่ - แมลง  เป็นแมลงที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายผึ้งมากจนทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม จัดเอาไว้เป็นแมลงในวงศ์เดียวกัน
                        แมลงภู่มักจะทำรังโดยการเจาะเป็นรูเข้าไปในเนื้อไม้แห้ง ๆ และมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม สอง - สามคู่ในรังเดียวกัน   ๒๒/๑๓๙๓๗
                ๔๑๒๘. ภูกระดึง อำเภอขึ้น จ.เลย ภูมิประเทศเป็นป่ามีเขาใหญ่ เช่น ภูกระดึงมีที่ราบน้อย
                        อ.ภูกระดึงตั้งชื่อตามเขา (ภู) กระดึง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.วังสะพุง ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๖   ๒๒/ ๑๓๙๔๐
                ๔๑๒๙. ภูเก็ต จังหวัดภาคใต้เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ใกล้ฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูทาง จ.พังงา ส่วนกว้างที่สุดราว ๒๑ กม. ส่วนยาวที่สุดราว ๔๙ กม. มีเกาะเล็กเกาะน้อยเป็นบริวารอยู่ ๒๖ เกาะ เช่น เกาะพร้าว เกาะสิเหร่ เกาะตะเภาน้อย เกาะโล้น เกาะแวว เกาะงาใหญ่ เกาะนาคาใหญ่ เป็นต้น ภูมิประเทศเป็นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มีที่ราบเป็นตอน ๆ มีแหลมและอ่าวหลายแห่ง คือ แหลมงา แหลมอ่าวขาม แหลมพระเจ้า แหลมวิง แหลมขาด แหลมทราย แหลมยาง แหลมเนือ แหลมไทร มีอ่าว คือ อ่าวภูเก็ต อ่าวขาม อ่าวราไวย์ อ่าวฉลอง อ่าวป่าตอง อ่าวกมลา อ่าวบางเทา อ่าวสะป่า อ่าวสิเหร่
                        พลเมืองนอกจากไทยชาวพื้นเมืองแล้ว รองลงมาก็มีชาวจีนส่วนมาก ถัดมาก็มีชาวมลายู อินเดีย พม่า ฝรั่ง และญี่ปุ่น เป็นต้น เกาะภูเก็ตมีแร่ดีบุกมากจึงมีชนต่างชาติเข้ามาทำเหมืองและทำการค้าขายกันมาก
                        เกาะภูเก็ตเดิมเรียกว่าเกาะฉลางหรือถลาง ซึ่งบัดนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอหนึ่งในเกาะนี้คือ อ.ถลาง เอกสารกล่าวถึงเกาะภูเก็ตเก่าแก่ที่สูงก็คือตำนานเมืองไทรกล่าวว่า มะโรงมหาวังษาผู้สร้างเมืองไทรบุรีแล่นเรือจากอินเดียมาแวะเกาะสลาง คือ เกาะภูเก็ต ก่อนหน้าไปสร้างเมืองไทรบุรี สันนิษฐานว่าระยะเวลาตกอยู่ราวพุทธศตวรราที่ ๑๘ จดหมายเหตุชาวยุโรปเรียกเกาะนี้ว่า ยังซีลอน
                        เกาะภูเก็ตก่อนสมัยสุโขทัยขึ้นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วทุ่ง รวมทั้งดินแดนส่วนอื่นในแหลมมลายูเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นเมื่อพระเจ้ารามคำแหง ฯ ทรงขยายเขตแดนลงไปใต้ตลอดแหลมมลายู เกาะภูเก็ตจึงตกอยู่ในครอบครองของกรุงสุโขทัย แต่นั้นตลอดมาสมัยอยุธยาตอนต้นไม่ปรากฎว่าได้กล่าวถึงเรื่องเกาะภูเก็ต เพราะคงขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช
                        เมื่อปีพ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกทัพเรือมาตีเมืองถลาง ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจันกับน้องสาวชื่อมุกได้รวบรวมกำลังต่อต้านไว้ได้ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร
                        ในปีพ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางได้ แต่ถูกทัพกรุงตีแตกกลับไป บ้านเมืองยับเยินมากราษฎรพาหนีข้ามไปรวมกันบนฝั่งที่ ต.กระพูงา ซึ่งภายหลังตั้งเป็นเมืองพังงาขึ้น เมืองถลางก็ร้างไปคราวหนึ่งจนถึงรัชกาลที่สามราษฎรจึงกลับไปอยู่ที่เมืองถลางอีก
                        มาในรัชกาลที่สี่โปรด ฯ ให้ยกศักดิ์เมืองภูเก็ตขึ้นเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ ย้ายที่ว่าการเมืองถลางไปภูเก็ตและลดเมืองถลางเป็นหัวเมืองขึ้นภูเก็ต ถึงรัชกาลที่ห้า ลดเมืองถลางลงเป็นอำเภอ เกาะถลางก็เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต ครั้นเมื่อมีการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จ.ภูเก็ต ก็ได้เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลภูเก็ต   ๒๒/ ๑๓๙๔๐
                ๔๑๓๐. ภูเขา คือพื้นที่ดินส่วนที่สูงขึ้นมาจากบริเวณรอบ ๆ และมีความลาดชันมากความแตกต่างระหว่างยอดเขากับเชิงเขามากกว่า ๖๐๐ เมตรขึ้นไป ไหล่เขาของภูเขาสูงใหญ่จะทำมุม ๒๐ - ๒๕ องศากับพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ ความแตกต่างระหว่างยอดเขากับเชิงเขาประมาณ ๓,๐๐๐ - ๔,๕๐๐ เมตร ภูเขาสูงใหญ่นั้นส่วนใหญ่จะมีหลายเทือกหลายแนวสลับกับหุบเขาลึก เรียกว่า กลุ่มเทือกเขา กลุ่มเทือกเขาสูงใหญ่ในปัจจุบันเกิดขึ้นในยุคเทอร์เชียรี จากการเคลื่อนไหวแปรรูปของเปลือกโลก กลุ่มเทือกเขาเหล่านี้จะมีความกว้างมากและทอดยาวเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เรียกว่า กลุ่มเทือกเขาระบบแอลไพน์ มีปรากฎอยู่ในทวีปต่าง ๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตลอดจนออสเตรเลีย เช่น เทือกเขาแอลฟ์ เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาร็อกกี เทือกเขาเขอตลาส เทือกเขาแอนดิส
                        ก่อนถึงยุคเทอร์เชียรีมีภูเขาที่เกิดจากการเคลื่อนไหวแปรรูปมาแล้วสองครั้งด้วยกัน ภูเขารุ่นที่หนึ่งเรียกกว่า ภูเขาระบบคาสิโดเนียน เกิดเมื่อประมาณ ๓๐๐ ล้านปีมาแล้ว พบอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย พาดผ่านสกอตแลนด์ไปจนถึงไอร์แลนด์ ภูเขารุ่นที่สองเรียกว่า ภูเขาระบบเฮอร์ซีเนียน เกิดเมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีมาแล้ว ปรากฎอยู่ทุกทวีป เช่น เทือกเขาอูราล เทือกเขาแอพพาเลเชียน ที่สูงทางตะวันออกของทวีปออสเตรเลียในประเทศไทยทิวเขาด้านตะวันตกของไทย ซึ่งเป็นแนวพรมแดนไทยกับพม่า ทิวเขาที่เป็นแกนกลางของคาบสมุทรภาคใต้จัดอยู่ในภูเขารุ่นที่สองนี้
                        ภูเขามีหลายชนิดด้วยกันได้แก่
                        ๑. ภูเขารูปโดม เป็นภูเขารูปกลมมีรูปร่างคล้ายกระทะคว่ำ มีขนาดต่าง ๆ กันไปตั้งแต่ความกว้างน้อยกว่า ๑ กม. ไปจนถึงความกว้างหลายร้อยกิโลเมตร เกิดจากการโค้งงอของชั้นหินจนมีโครงสร้างเป็นรูปคล้ายกระทะคว่ำ ปัจจุบันภูเขารูปโดมส่วนใหญ่มีขนาดไม่สูงใหญ่มากนักเพราะเป็นภูเขารุ่นเก่าผ่านการสึกกร่อนมาเป็นเวลายาวนาน
                        ๒. ภูเขาบล็อก เป็นภูเขาที่เกิดจากการเลื่อนตัวของหินในระยะที่เกิดขึ้นนั้น ภูเขาบล็อกจะมีด้านหนึ่งชัน ซึ่งมักจะเป็นด้านเดียวกับผิวรอบเลื่อน ๆ อีกด้านหนึ่งมีความลาดเทน้อย เกิดจากชั้นหินที่วางตัวเอียง ๆ ภูเขาบล็อกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เริ่มด้วยด้านที่ชันมาก รอยเลื่อนจะถูกทำลายไปในอัตราที่เร็วกว่าอีกด้านหนึ่ง แม่น้ำที่ไหลลงไปตามหน้าผาจะกัดเซาะทำให้เกิดหุบเขา นาน ๆ เข้าภูเขาจะมีรูปร่างที่สมมาตรกันมากขึ้น ค่อย ๆ ลึกกร่อนจนหายไปในที่สุด
                        ๓. ภูเขาที่เกิดจากรอยคดโค้งของหิน มักจะเป็นเทือกเขายาว วางตัวซ้อนกันหรือต่อกันเป็นแนวสลับกับหุบเขา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มเทือกเขา ภูเขาชนิดนี้รุ่นหลังสุดเรียกว่า ภูเขาระบบแอลไพน์เป็นกลุ่มเทือกเขาขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาแอลพ์ เทือกเขารอกกี เทือกเขาแอนดิส ในประเทศไทยคือทิวเขาที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ทิวเขาที่เป็นแกนกลางของคาบสมุทรภาคใต้ รวมทั้งอาณาเขตที่สูงในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา ทิวเขาเหล่านี้จัดเข้าในภูเขารุ่นที่สองในระยะแรกที่มีการคดโค้งของเปลือกโลกชั้นหินรูปประทุนหงายมักเป็นหุบเขา
                        ๔. ภูเขาแบบซับซ้อน เป็นภูเขาที่มีโครงสร้างหลายรูปแบบรวม ๆ กันอยู่ แต่ละแบบมองเห็นได้ชัดเจน ภูเขาชนิดนี้อาจประกอบด้วยหินอัคคีล้วน ๆ หรือหินแปรล้วน ๆ หรือเป็นหินชั้นที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยหินทั้งสามประเภทดังกล่าวแล้ว  ๒๒/ ๑๓๙๔๕
                ๔๑๓๑. ภูเขาทอง (ดูบรมบรรพต - ลำดับที่ ๒๙๙๓)  ๒๒/ ๑๓๙๔๘
                ๔๑๓๒. ภูเขาไฟ เป็นภูเขาที่เกิดขึ้นจากการประทุของแมกมาหรือหินหนืด และแก๊สจากใต้เปลือกโลกออกมาสู่ผิวโลกแล้วทับถมพอกพูนตรงบริเวณประทุจนปรากฎเป็นสภาพเด่นทางภูมิศาสตร์ ปรกติจะมีลักษณะเป็นรูปกรวยคว่ำ ตรงยอดเขาที่เป็นปากปลองภูเขาไฟจะเว้าเป็นแอ่งหรือเป็นหุบลึกที่มีขอบเกือบกลม
                        แหล่งแมกมาหรือหินหนืด หรือหินหลอมเหลวอาจเกิดขึ้น ณ ที่ส่วนใดของโลกก็ได้โดย ณ ที่นั้นมีอุณหภูมิสูงมากพอที่จะหลอมละลายหินแข็งได้ การระเบิดของภูเขาไฟแต่ละแห่งได้พ่นสารหรือวัสดุลักษณะและขนาดต่าง ๆ ออกมามากบ้างน้อยบ้างได้แก่
                        หินชั้นภูเขาไฟ เป็นหินที่ประกอบด้วยสารแข็งขนาดต่าง ๆ ที่ภูเขาไฟพ่นออกมา
                        มูลภูเขาไฟ เป็นเศษหินชิ้นส่วนภูเขาไฟ เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟแล้วพ่นลาวาขึ้นไปในอากาศแล้วกลับตกลงมา เมื่อแข็งตัวแล้วทำให้มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ขนาด ๒ - ๒๖ มม.
                        กรวดภูเขาไฟ มูลภูเขาไฟเนื้อแก้ว มีสีคล้ำและเป็นรูพรุน ขนาด ๔ - ๓๒ มม.
                        เถ้าธุลีภูเขาไฟ มีขนาดไม่เกิน ๔ มม.
                        ลาวา คือแมกมาหรือหินหลอมเหลวจากใต้เปลือกโลกออกมาสู่ผิวโลก มีลักษณะแตกต่างกัน ตามส่วนประกอบทางเคมีและอุณหภูมิ มีอุณภูมิระหว่าง ๖๐๐ - ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส
                        แกส ภูเขาไฟเกือบทุกแห่งจะมีแก๊สออกมาด้วย รวมทั้งไอน้ำซึ่งมีด้วยเสมออุณหภูมิของแก๊สจะสูงประมาณ ๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส
                        การประทุและหยุดประทุแสดงถึงสภาวะภาพในภูเขาไฟ ทำให้สามารถจัดแยกภูเขาไฟดังกล่าวได้เป็นพวก ๆ คือ พวกที่ยังมีพลัง หมายถึงภูเขาไปที่มีการบันทึกไว้ว่ากำลังมีการประทุอยู่ และภูเขาเขาไฟที่ไม่ได้มีการระเบิดหรือประทุอยู่ขณะนี้แต่คาดว่าจะต้องมีการประทแน่นอนเรียกว่า ภูเขาไฟมีพลัง ภูเขาไฟที่เคยมีการประทุมาแล้วและขณะนี้ไม่ได้ประทุ แต่คาดว่าจะมีการประทุในอนาคตเรียกว่าภูเขาไฟสงบ ภูเขาไฟที่ไม่มีการประทุในขณะนี้และทราบแน่ชัดว่าจะไม่มีการประทุขึ้นอีกในภายหน้าเรียกว่า ภูเขาไฟดับสนิท
                        ภูเขาไฟเกิดขึ้นทั้งแผ่นดินที่เป็นทวีปในพื้นท้องทะเลและมหาสมุทร รวมทั้งในบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ปัจจุบันภูเขาไฟเกิดอยู่ในส่วนใหญ่ที่เป็นแนวเขตที่มีพลังอันเป็นเขตที่มีการแตกและเลื่อนเหลื่อมกันเป็นแนวแบบฟันเลื่อยในพื้นท้องมหาสมุทรผ่านหมู่เกาะมาจนถึงบนทวีป
                        ได้มีการแบ่งเขตที่มีพลังภูเขาไฟออกเป็นสามแนว คือ แนวที่หนึ่งได้แก่ แนวเทือกภูเขาไฟโดยทั่วไปเกิดอยู่ตามขอบทวีปและหมู่เกาะรูปโค้ง แนวที่สองเกิดอยู่ในแผ่นเปลือกโลก แผ่นใดแผ่นหนึ่งตรงที่เป็นจุดกำเนิดแมกมาอันเนื่องมาจากศูนย์พลังภูเขาไฟหรือจุดร้อน ซึ่งอยู่ลึกลงไปในโลก แนวที่สามเกิดอยู่ใต้มหาสมุทรตรงบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกต่าง ๆ มีการแยกห่างจากกันอันเป็นช่องทางให้แมกมาข้างใต้พุ่งขึ้นมาได้    ๒๒/๑๓๙๔๘
                ๔๑๓๓. ภูเขียว อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีภูเขาบ้าง ทางทิศตะวันออกเป็นป่าและภูเขา
                        อ.ภูเขียว เป็นเมืองเก่าในรัชกาลที่สี่เรียกเมืองภูเขียวขึ้น เมืองนครราชสีมาภายหลังยกขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย ราวปีพ.ศ.๒๔๒๕ ได้แยกเมืองภูเขียวเป็นเมืองเกษตรสมบูรณ์อีกเมืองหนึ่ง แล้วต่อมาได้ยุบเมืองทั้งสองเป็น อ.ภูเขียว แล้วกลับมาตั้งที่ อ.เกษตรสมบูรณ์อีก อ.ภูเขียวเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ผักปัง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๑ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ภูเขียว เมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๑    ๒๒/๑๓๙๕๔
                ๔๑๓๔. ภูฎาน - ประเทศ ตั้งอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยตะวันออกระหว่างทิเบตกับประเทศอินเดีย ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศจีน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกติดต่อกับประเทศอินเดีย มีพื้นที่ ๔๖,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร ภาคเหนือเป็นภูเขาสูงถัดลงมาเป็นหุบเขาที่อุมดสมบูรณ์ตอนใต้สุดเป็นที่ราบ เมืองหลวงชื่อทิมพู
                        ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ป่าไม้ แหล่งป่าอยู่ที่ที่ราบทางตอนใต้ ป่าไม้ทำรายได้สูงสุดแก่ภูฎานและทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การค้าขายส่วนใหญ่เป็นการค้ากับอินเดีย
                        พลเมืองส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ภาษาราชการคือภาษาซองคา ภาษาเนปาลและภาษาอังกฤษ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔  ภูฎานได้ทำสนธิสัญญากับอินเดียยินยอมให้อินเดีย ให้คำแนะนำในกิจการต่างประเทศ แต่จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการภายในประเทศ ในปีพ.ศ.๒๔๐๘ ภูฎานได้ทำสัญญากับอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียในฐานะอาณานิคม ภูฎานจะได้รับเงินอุดหนุนจากอังกฤษปีละ ๕๐,๐๐๐ รูปี
                        ในปีพ.ศ.๒๔๑๗ ภูฎานได้ทำสัญญากับบริษัทอินเดียตะวันออกยินยอมส่งบรรณาการคือ ม้าห้าตัวแก่บริษัทเป็นประจำทุกปีและจะไม่รุกรานอินเดีย ต่อมาภูฎานบุกรุกดินแดนของอินเดีย อังกฤษจึงเข้ายึดครองภูฎาน ในปีพ.ศ.๒๔๕๐ เซอร์ อุกเยน วังชุก ผู้ว่าการมณฑลตองสาในภูฎานตะวันออกได้รับเลือกเป็นมหาราชองค์แรกของภูฎาน และในปีพ.ศ.๒๕๑๒ ได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข   ๒๒/ ๑๓๙๕๕
                ๔๑๓๕. ภูติ (ดูผี - ลำดับที่ ๓๖๘๑)    ๒๒/ ๑๓๙๕๘
                ๔๑๓๖. ภูมิพล ชื่อเขื่อนเก็บน้ำ กั้นแม่น้ำปิงตอนที่เขาประชิดเข้าหากันจนจดฝั่งลำน้ำบริเวณเขาแก้ว ทางท้ายน้ำของเขายันฮี ๑ กม. อยู่ใน อ.สามเงา จ.ตาก มีพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน ๒๖,๓๘๖ ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยปีละ ๘,๖๐๐ ล้านลบ.เมตร
                        เริ่มดำเนินการเมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๕ เปิดทำการเขื่อนปีพ.ศ.๒๕๐๔ และเปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๗ ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งสูงจาก                  ๒๒/ ๑๓๙๕๘
                ๔๑๓๗. ภูมิศาสตร์  เป็นศาสตร์ทางพื้นที่ว่าด้วยการจัดพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ โดยค้นหาหลักเกณฑ์ทั่วไป อันเกิดจากความสัมพันธ์ทางพื้นที่ ระหว่างองค์ประกอบทางด้านสภาพแวดล้อมธรรมชาติ กับองค์ประกอบทางด้านสังคม หรือมนุษย์เป็นสำคัญ
                    อาจกล่าวสรุปได้ว่า ภูมิศาสตร์เป็นทายาทของระบบสังคมและเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพื่อการอยู่รอดและอยู่อย่างภาคภูมิ จึงต้องมีการปรับแนวคิด โดยปรับปรุงรายเนื้อหาวิชา และวิธีการให้ทันสมัย จึงเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ในการเรียน การสอน การฝึกฝนอบรม และการวิจัยทางภูมิศาสตร์ ในปัจจุบัน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต             ๒๒/๑๓๙๖๑
                ๔๑๓๘. ภูริทัต - พระโพธิสัตว์  เป็นพระโพธิสัตว์พระชาติที่หก ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งจะกล่าวถึงพระพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ พระพุทธจริยาในพระชาติที่หกนี้ ทรงบำเพ็ญศีลบารมีเป็นสำคัญ มีเรื่องอยู่ในภูริทัตตชาดก ตามเรื่องกล่าวว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงพระนามว่า ภูริทัต นั้น พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของท้าวธตรฐ และพระนางสมุททชา ซึ่งเป็นราชธิดาแห่งราชบุตรของพระเจ้าพรหมทัต และนางนาค ม่ายตนหนึ่ง ในสมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัต ทรงครองราชย์อยู่ที่กรุงพาราณสี          ๒๒/๑๓๙๖๗
                ๔๑๓๙. ภูเรือ  อำเภอ ขึ้น จ.เลย มีอาณาเขตทางทิศเหนือจดประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นป่า และภูเขาส่วนมาก อ.ภูเรือ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗
               ๒๒/๑๓๙๗๖
                   
                ๔๑๔๐ ภูเวียง  อำเภอ ขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าโปร่ง และทุ่งสลับกัน            ๒๒/๑๓๙๗๑
                ๔๑๔๑. ภูษามาลา - พนักงาน  เป็นเจ้าพนักงานในราชสำนัก มีมาแต่โบราณเห็นจะก่อน รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
                    กรมภูษามาลา มีสืบเนื่องมาจนถึงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้ยุบกรมนี้ลงเป็นแผนกเรียกว่า แผนกราชูปโภค แต่คงปฎิบัติหน้าที่ในงานเดิม และผนวกงานพระแสงต้นรวมเข้าไว้ด้วย            ๒๒/๑๓๙๗๔
                ๔๑๔๒ เภสัช ๑  มีบทนิยามว่า "ยาแก้โรค" มาจากคำภาษาบาลีว่า เภสัช
                    ในพระพุทธศาสนามักใช้คำนี้เข้าคู่กับคำ "ศิลาน" (แปลว่า เจ็บไข้, เป็นไข้, คนไข้) เป็นศิลานเภสชฺช แปลว่า ยาแก้โรคของภิกษุไข้ ศิลานเภสัชมีห้าอย่าง เรียกสั้นๆ ว่า เภสัชห้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในปัจจัยสี่ของภิกษุ (ดู เภสัช ๒ - ลำดับที่ ๔๑๐๑)
                    ไทยนำคำ เภสชฺช มาใช้แบบไทยว่า เภสัช แทนคำว่า ยา หรือยาแก้โรค ทั้งที่เป็นยาแผนโบราณ และยาแผนปัจจุบัน โดยใช้คำนำหน้าคำอื่น ๆ เช่น เภสัชกร เภสัชกรรม เภสัชศาสตร์            ๒๒/๑๓๙๗๘
                ๔๑๔๓. เภสัช ๒  เป็นคำที่ใช้ในสังฆมณฑลของพระพุทธศาสนา หมายถึง ศิลานเภสัช คือ ยาแก้โรคของภิกษุ มีเภสัชห้า เป็นต้น
                    เภสัชห้า เป็นยาชุดแรกที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับประเคนไว้ฉันได้ในกาล แต่ต่อมาทรงอนุญาตให้ฉันยาได้ ทั้งในกาลและในเวลาวิกาล และเก็บไว้ได้มีกำหนดเจ็ดวัน  เภสัชห้าคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
                    นอกจากเภสัชห้า ซึ่งเป็นยาชุดแรกแล้ว ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตยาชนิดอื่น ๆ อีกมาก ตามความจำเป็นเมื่อมีภิกษุอาพาธขึ้น เมื่อกาลล่วงไปแล้วมีโรคร้ายเกิดแก่พระภิกษุมากขึ้น พระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้สังฆมณฑล นำสมุนไพรมาใช้เป็นศิลานเภสัชรักษาโรคเหล่านั้น            ๒๒/๑๓๙๗๙
                ๔๑๔๔. เภสัชกร  เป็นชื่อที่ใช้เรียกผู้ประกอบอาชีพทางเภสัชกรรม หมายถึง ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องยา นับตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่ใช้เป็นยา การคัดเลือก การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา การป้องกันการเสื่อมคุณภาพ การเตรียมขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ให้สะดวกแก่คนไข้ การวิเคราะห์หาความบริสุทธิ์และสิ่งปลอมปนในยา การจัดหามาตรฐานของยา ตลอดจนการควบคุมดูแลการจ่ายยาให้แก่คนไข้ ให้ถูกต้องและปลอดภัย
                    เภสัชกร ที่จะประกอบอาชีพควบคุมการผลิตยา ขายยา หรือนำยาเข้ามาในราชอาณาจักรได้นั้น จะต้องขึ้นทะเบียน และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ เสียก่อน            ๒๒/๑๓๙๘๔
              ๔๑๔๕. เภสัชกรรม  มีบทนิยามว่า "วิทยาศาสตร์แขนงที่ว่าด้วยการเตรียมเครื่องยา ตัวยาจากธรรมชาติ หรือการสังเคราะห์ให้เป็นยาสำเร็จรูป "คำนี้ กระทรวงธรรมการได้ประกาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ แทนคำว่า ปรุงยา และวิชาเภสัชกรรม แทนคำว่า วิชาปรุงยา ความจริงคำว่า เภสัชกรรมนี้ได้รู้จักใช้กันมาก่อนหน้านี้แล้ว
                    ในสมัยโบราณนับพันปีมาแล้ว วิชาชีพเภสัชกรรม และการแพทย์ รวมอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน และมักเป็นนักบวชด้วย ต่อมาเมื่อมนุษย์เจริญขึ้นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับทางยา และการรักษาพยาบาลมากขึ้น จึงเริ่มแยกออกจากกัน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เชื่อกันว่าได้มีร้านขายยาเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในนครแบกแดด ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๘๓ พระเจ้าเฟรเดอริกที่สอง กษัตริย์ชาวเยอรมัน ผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ์โรมัน อันศักดิ์สิทธิ์ได้ออกกฎหมายแยกวิชาชีพเภสัชกรรม และการแพทย์ออก จากกัน            ๒๒/๑๓๙๘๗
                ๔๑๔๖. เภสัชศาสตร์  เป็นการศึกษาเรื่องการเยียวยา และยาบำบัดโรคมีมาคู่กับมนุษยชาติ ในตอนแรกจะอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน มีอายุมากกว่า ๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว
                    เภสัชศาสตร์เป็นวิชาความรู้เกี่ยวกับยาแก้โรค ผู้ที่จะไปปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยา จึงต้องเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพื้นฐาน ทั้งพืช สัตว์ แร่ธาตุ คณิตศาสตร์ วิชาฟิสิกส์ เคมี พิษวิทยา การตรวจเครื่องยา ตัวยา การสกัด การทำให้บริสุทธิ์ การสังเคราะห์ การเตรียมยาสำเร็จรูป การปรุงยา การถนอม ฤทธิ์ของยาต่อคนหรือสัตว์ สารพิษ การเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกาย กฎหมายเกี่ยวกับยา และการแพทย์ การตลาด อุตสาหกรรมทำยา             ๒๒/๑๓๙๘๙
                ๔๑๔๗. ไภสัชคุรุ.  เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตพระองค์หนึ่ง ตามคติในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคือ ธยานิพุทธเจ้า ตามทฤษฎีตรีกาย (ดู คำตรีกาย - ลำดับที่ ๒๑๑๐)  ทรงมีฤทธิ์อำนาจมีพระเมตตา และทรงขจัดโรคพยาธิทุกชนิด ที่เกิดทางร่างกายและเกิดทางจิต (คือ กิเลส) ตลอดถึงวิปริตภัยอันตรายอื่น ที่เกิดจากอำนาจของบุคคล และธรรมชาติให้สลายพ่ายแพ้ไปได้ หากผู้ปรารภมีศรัทธาคารวะต่อพระองค์
                        พระพุทธเจ้าพระองค์นี้มีพระนามอีกหลายอย่างเช่นไภสัชคุรุราช แปลว่าจอมหมอยา และไภสัชคุรุไวฑูรยประภาตถาคต แปลว่าพระตถาคตผู้ทรงเป็นจอมแพทย์ทางยา ทรงพระรัศมีอันไพฑูรย์   ๒๒/๑๓๙๙๔

     



                ๔๑๔๘. ม พยัชนะตัวที่ ๓๓  เป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดใน แม่กม เป็นตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะรูปหนึ่ง ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูป ของไทย
                    อักษร ม แทนเสียงพยัญชนะหนึ่งในกลุ่มพยัญชนะนาสิกในภาษาไทย เสียงพยัญชนะนาสิกที่แทนด้วยอักษร "ม" เป็นพยัญชนะเสียงก้อง
                    ในระบบอักขรวิธีไทยอักษร "ม" เป็นได้ทั้งพยัญชนะต้น และตัวสะกดในคำไทย และคำยืมจากต่างประเทศ            ๒๒/๑๔๐๐๔
                ๔๑๔๙. มกุฏ  (ดู มงกุฎ - ลำดับที่ ๔๑๕๓)     ๒๒/๑๔๐๐๖
                ๔๑๕๐. มคธ ๑ - ภาษา   (ดู บาลี -ลำดับที่ ๓๑๕๐)   ๒๒/๑๔๐๐๖
                ๔๑๕๑. มคธ ๒  เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่งของอินเดียโบราณ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการ การพาณิชย์ และการทหาร เป็นถิ่นกำเนิด และเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยมีพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ของอาณาจักรนี้ เป็นศาสนูปถัมภก องค์แรก และมีกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรนี้องค์ต่อ ๆ มาหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ พระเจ้าสมุทรคุปตะ แห่งราชวงศ์คุปตะ เป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุง ส่งเสริมและเผยแผ่ให้แพร่หลายไปในนานาประเทศ ดินแดนของอาณาจักรนี้ ในปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหารภาคใต้
                    ในต้นพุทธกาล มคธเป็นมหาชนบท หรืออาณาจักรหนึ่งในจำนวน ๑๖ อาณาจักร ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุโปสถสูตร แห่งติกนิบาต อังคุตรนิกาย ต่อมามคธได้แผ่อำนาจออกไปกว้างขวาง รวมเอาอาณาจักรอื่น ๆ มาอยู่ในการปกครอง จนกลายเป็นหนึ่งในจำนวนสี่อาณาจักรในยุคเดียวกันคือ มคธ โกศล วังสะ และอวันตี แต่หลังพุทธกาลในรัชสมัยพระเจ้าอโศก ฯ อาณาจักรมคธ มีอาณาเขตกว้างขวางทึ่สุด ตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้ของชมพูทวีป            ๒๒/๑๔๐๐๖
              ๔๑๕๒. มงกุฎ  เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ของพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง ถือเป็นเครื่องหมายยศอันสูงสุด สำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
                    พระมหากษัตริย์ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นโอกาสแรก ในวันถวายสิริราชสมบัติในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในโอกาสต่อมาเมื่อเสด็จออกมหาสมาคม ในพระราชพิธีเดียวกัน ในการทรงพระมหามงกุฎนี้ จะต้องทรงเครื่องต้นด้วย
                    มงกุฎรอง ที่เรียกกันว่า พระชฎา พระชฎาที่สร้างในรัชกาลต่าง ๆ มีอยู่ห้าองค์คือ
                    พระชฎากลีบ  พระชฎาเดินหน พระชฎาห้ายอด สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง และรัชกาลที่หก รวมสององค์ ชฎาห้ายอด ที่เรียกว่า พระมหาชมพู สร้างในรัชกาลที่ห้า
                    นอกจากมงกุฎ ดังกล่าวแล้ว ในทางนาฎศิลป์ได้สร้างชฎา สำหรับโขน ละคร ไว้อีกมาก ชฎาบางประเภทก็เรียกกันว่า มงกุฎ ได้แก่ มงกุฎยอดกนก มงกุฎยอดหางไก่ มงกุฎยอดหางไหล มงกุฎยอดสามกลีบ มงกุฎยอดก้านไผ่ มงกุฎยอดนาค มงกุฎยอดน้ำเต้า             ๒๒/๑๔๐๑๙
                ๔๑๕๓. มงคลบพิตร - พระ  เป็นพระพุทธรูปหุ้มทองสำริด องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง ๙.๕๕ เมตร สูงแต่ทับเกษตรถึงสุดพระเมาลี ๑๒.๔๕ พระกรรณยาวข้างละ ๑.๘๑ เมตร พระเนตรยาวข้างละ ๑.๐๕ เมตร พระนาสิกแต่ใต้พระอุนาโลม ถึงปลายพระนาสิก ๑.๒๓ เมตร ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารข้างกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ด้านใต้ในพระราชวังโบราณ กรุงศรีอยุธยา
                        พระมงคลบพิตรถ้าจะพิจารณารูปร่างลักษณะแล้วก็พอจะกล่าวได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เดิมประดิษฐานอยู่ทางตะวันออกนอกพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรด ฯ ให้ชะลอมาไว้ทางทิศตะวันตก ณ ที่ประดิษฐานปัจจุบัน
                        เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ เครื่องบนหักพังลงมาต้องพระเมาลี และพระกรขวาขององค์พระหัก
                        ในปี พ.ศ.๒๑๔๙๙ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ให้ซ่อมหลังคาพระวิหารใหม่ให้เหมือนของเดิม ซ่อมผนัง ซ่อมพื้น ตลอดจนองค์พระใหม่หมด    ๒๒/๑๔๐๒๓
                ๔๑๕๔. มงคลสูตร  เป็นพระสูตรที่ห้า ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้ แก่เทพบุตรตนหนึ่งที่วัดพระเชตุวันมหาวิหาร นครสาวัตถี เทพบุตรตนนั้น เข้าไปทูลถามข้อมงคลว่า เทวดา และมนุษย์เป็นอันมาก หวังความสวัสดี พากันคิดเรื่องมงคล ขอพระองค์ได้โปรดตรัสมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
                        พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคล ๓๘ ประการ โดยพุทธภาษิตดังนี้
                        การไม่คบคนพาล หนึ่ง การคบบัณฑิต หนึ่ง การบูชาบุคคลที่ควรบูชา หนึ่ง การอยู่ในประเทศ (ท้องถิ่น) อันสมควร หนึ่ง ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ในปางก่อน หนึ่ง การตั้งตนไว้ชอบ หนึ่ง ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก หนึ่ง ความเป็นผู้มีศิลปะ หนึ่ง วินัยที่ได้ศึกษามาดีแล้ว หนึ่ง วาจาที่เป็นสุภาษิต หนึ่ง การบำรุงมารดา บิดา หนึ่ง การสงเคราะห์บุตร หนึ่ง การสงเคราะห์ภริยา หนึ่ง การงานที่ไม่อากูล หนึ่ง  ทาน หนึ่ง  ธรรมจริยา (การประพฤติธรรม) หนึ่ง การสงเคราะห์ญาติ หนึ่ง การงานที่ปราศจากโทษ หนึ่ง การงดเว้นจากบาป หนึ่ง การไม่ดื่มน้ำเมา (      ) หนึ่ง ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย  หนึ่ง ความเคารพ หนึ่ง ความถ่อมตน หนึ่ง ความสันโดษ หนึ่ง ความกตัญญู หนึ่ง การฟังธรรมโดยกาลอันควรหนึ่ง ขันติ (ความอดทน) หนึ่ง ความเป็นผู้ว่าง่ายหนึ่ง การเห็นสมณะหนึ่ง การสนทนาธรรมโดยกาลอันควรหนึ่ง ตบะ (ความเพียรเผากิเลส) หนึ่ง ความประพฤติพรหมจรรย์หนึ่ง การเห็นอริยสัจหนึ่ง การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนึ่ง จิตที่ไม่หวั่นไหวในเมื่อถูกต้องโลกธรรมหนึ่ง ความไม่เศร้าโศกหนึ่ง ความคลายกำหนัดหนึ่ง ความเกษมจากโยคะ (กิเลสเครื่องร้อยรัด) หนึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมงคลอันสูงสุด ผู้ที่กระทำมงคลให้ประจักษ์แล้ว จะไม่เป็นผู้พ่ายแพ้ และบรรลุถึงความเป็นผู้สวัสดีในที่ทุกสถาน
                        ในตำนานของบทสวดมนต์ซึ่งเรียกว่าเจ็ดตำนาน ท่านถือเอาพระสูตรที่เป็นหลักไว้เจ็ดพระสูตรด้วยกัน และกำหนดเอามงคลสูตรนี้เป็นพระสูตรที่หนึ่ง เวลามีศาสนพิธีเนื่องในงานมงคล เมื่อพระสงฆฺเจริญพระพุทธมนต์มาถึงบทมงคลสูตร ซยึ่งบจะขึ้นต้นว่า "เอเสวนา จ พลาน " เจ้าภาพจะจุดเทียนมงคลถวายพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน เพื่อให้ทำน้ำพระพุทธมนต์   ๒๒/ ๑๔๐๓๕
                ๔๑๕๕. มณฑป  เป็นเรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม มณฑปกับบุษบก ลักษณะรูปหลังคาเป็นอย่างเดียวกัน ต่างแต่ขนาดใหญ่กับเล็ก แถมปราสาทเข้าด้วยกัน ถ้ามีมุขก็เรียก "ปราสาท" จะเห็นได้ว่าจากหลังคาปราสาทว่าเป็นเรือนชั้น
                        เรือนยอดขนาดใหญ่ที่คนเข้าได้หลายคนเรียกว่ามณฑป ถ้าประกอบกับมุขเรียกว่าปราสาท เฉพาะยอดอาจเป็นทรงจอมแห หรือยอดปรางค์ก็ได้ ถ้ามีแต่ยอดขนาดเล็กคนเข้าได้คนเดียว หรือเข้าไม่ได้เลยเรียกว่าบุษบก
                        มณฑปนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูงสุด ประเภทเครื่องยอด นับเป็นศิลปไทยที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในบรรดาศิลปะไทยหลากหลายชนิด        ๒๒/ ๑๔๐๔๑


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch