หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/117
    เล่ม ๒๒ ภัททิยะ - มโหสถ  ภัททิยะ - มโหสถ     ลำดับที่ ๔๑๐๘ - ๔๒๔๙    ๒๒/ ๑๓๘๕๓ - ๑๔๕๒๗
                ๔๑๐๘. ภัททิยะ - พระเถระ  เป็นพระเถระองค์หนึ่งซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์รุ่นแรกของพระพุทธศาสนา นับเป็นพระสาวกองค์ที่สาม ในจำนวนพระเบญจวัคคีย์และนับเป็นพระมหาสาวก องค์ที่สิบในพระมหาสาวกแปดสิบรูปด้วย
                       พระภัททิยะเป็นชาวกรุงกบิลพัสด์เป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งในแปดคน  ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษและได้รับเลือกจากพราหมณ์ร้อยแปดคนที่พระเจ้าสุทโธทนะเชิญมารับภัตตาหารในพระราชวัง เพื่อประกอบพิธีทำนายพระลักษณะพระราชกุมารที่ประสูติใหม่และได้ขนานพระนามพระราชกุมารว่าสิทธัตถราชกุมาร
                        เมื่อพราหมณ์ผู้เป็นบิดาได้ร่วมทำนายและเห็นชอบกับคำทำนายของโกณฑัญญะพราหมณ์ว่า พระราชกุมารมีพระลักษณะถูกต้องตามมหาปุริส  ลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ทุกประการ และจะต้องเสด็จออกทรงผนวชเป็นศาสดาเอก ในโลกแล้วได้นำความาเล่าและสั่งบุตรหลานไว้ว่า ถ้าพระสิทธัตถราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อไรให้พากันออกบวชตามเสด็จด้วย
                        ครั้นพระสิทธัตถราชกุมารเสด็จออกผนวชจึงพร้อมด้วยพราหมณ์สี่คน มีโกณฑัญญะ เป็นหัวหน้าได้ออกบวชตามเสด็จด้วยและติดตามไปยังตำบลอุรุเวสาเสนานิคม แขวงกรุงราชคฤห์ เฝ้าปฏิบัติพระมหาบุรุษขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา  ครั้นเห็นพระองค์ทรงเลิกละทุกรกิริยา และหันมาทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตก็คลายความเลื่อมใส พร้อมใจกันหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปทรงแสดงพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรโปรดเป็นปฐมเทศนาจนพระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็น
    ธรรมและเมื่อทรงแสดงปณิณกเทศนาอีกสี่องค์ที่เหลือก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาเมื่อได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ทั้งห้าท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์                ๒๒/ ๑๓๘๕๓
                ๔๑๐๙. ภัทรบท มีบทนิยามว่า ชื่อดาวนักษัตรมีสี่ดวง เรียกว่าดาวเพดาน เมื่อแยกเพียงสองดวงหน้า เรียกว่าบุรพภัทรบท เป็นดาวฤกษ์ที่ ๒๕ อีกสองดวงหลังเรียกว่า อุตรภัทรบท เป็นดาวฤกษ์ที่ ๒๖..."
                        หมู่ดาวนักษัตรเป็นหมู่ดาวแคบ ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวในระบบดาราศาสตร์สากล ซึ่งแบ่งดาวออกเป็น ๘๘ กลุ่ม หมู่ดาวนักษัตรเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในแถบที่ดวงจันทร์ผ่าน เนื่องจากดวงจันทร์ผ่านหมู่ดาวต่าง ๆ จากตะวันตกไปตะวันออกในเวลาประมาณ ๒๗ วัน ปราชญ์โบราณจึงแบ่งดาวฤกษ์ที่ดวงจันทร์ผ่านออกเป็น ๒๗ หมู่ หรือ ๒๗ ฤกษ์
                        ดาวภัทรบทเป็นหมู่ดาวรวมสองหมู่ดาวนักษัตรเข้าด้วยกัน คือ บุรพบทฤกษ์ที่ ๒๕ และอุตรภัทรบทฤกษ์ที่ ๒๖
                        ดาวเพดานมีประโยชน์ในการหาทิศทางได้ เพราะดวงที่หนึ่งและที่สองเรียงอยู่ในแนวทิศเหนือ - ใต้ ส่วนดวงที่สองและที่สามเรียงอยู่ในแนวตะวันตก - ตะวันออก
                        เมื่อดวงจันทร์มาอยู่ในหมู่ดาวเพดานหรือภัทรบท จะตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ     ๒๒/ ๑๓๘๕๔
                ๔๑๑๐. ภัทรบิฐ มีบทนิยามว่า "แท่นสำหรับเทพบดีหรือพระราชาประทับถือว่าเป็นมงคล"
                        ในราชการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียกว่า พระที่นั่งภัทรบิฐใช้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะคล้ายเก้าอี้มีกงเท้าแขน ด้านหลังพนักพิง และตั้งนพปฎลมหาเศวตฉัตร
                        พระที่นั่งภัทรบิฐนี้แต่เดิมเป็นแท่นหรือตั่งราชอาสน์สี่เหลี่ยมมีสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นมีลักษณะคล้ายกับเก้าอี้ พระที่นั่งภัทรบิฐมีความสำคัญคู่กับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพระราชอาสน์ ซึ่งเป็นพระแท่นแปดเหลี่ยมสลักลายปิดทองประดับกระจกกลางปักคันสัปตปฎลเศวตฉัตรประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเช่นเดียวกัน  ๒๒/๑๓๘๕๙
                ๔๑๑๑. ภาควัตปุราณะ  ได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นมหาปุราณะเล่มเดียว ในสิบแปดเล่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด  มีคนอ่านมากที่สุดในอินเดียและได้รับการแปลถ่ายทอด ออกเป็นภาษาถิ่นของอินเดียเกือบทุกสาขา
                    ภาควัตปุราณะ เป็นคัมภีร์ปุราณะสำคัญที่สุดของพวกไวษณพ  ซึ่งยกย่องพระกฤษณะหรือพระวิษณุอวตาร ปางที่แปดเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาปสาทะและความภักดี คัมภีร์เล่มนี้มีความยาวประมาณ ๑๘,๐๐ โศลก แบ่งออกเป็นบทใหญ่ ๆ สิบสองบท แบ่งเป็นตอนย่อย ๆ ๓๓๒ ตอน บทที่สิบถือว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์เล่มนี้  เพราะกล่าวถึงกำเนิดและความเป็นมา ของพระกฤษณะอย่างละเอียดเป็นหนังสือปุราณะเล่มเดียวที่บันทึกการอวตารของพระวิษณุไว้ถึง ๒๒ ครั้งที่ผ่านไปแล้วและจะมีการอวตารอีกในครั้งที่ ๒๓ มีอวตารปางหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้าและปางหนึ่งเป็นกบิลฤษี (ฤษีตาไฟ)  ๒๒/ ๑๓๘๖๖
                ๔๑๑๒. ภาชี อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนาโดยทั่วไป
                        อ.พาชี เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.อุทัย ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๖      ๒๒/ ๑๓๘๖๗
                ๔๑๑๓. ภาณุราช เป็นเสนายักษ์ตนหนึ่งของทศกัณฐ์  มีบทบาทตอนกองทัพพระรามข้ามมหาสมุทร ไปถึงชายฝั่งเมืองลงกา ทศกัณฐ์ในภาณุราชเนรมิตป่าที่น่ารื่นรมย์ขึ้นแห่งหนึ่ง  เพื่อล่อให้กองทัพพระรามหลงเข้าไปตั้งมั่น และให้ภาณุราชลงไปซ่อนตัวใต้พื้นป่าคอยทำลายล้างทั้งกองทัพด้วยการพลิกแผ่นดินให้คว่ำลง พิเภกทูลว่าอาจเป็นกลลวงของทศกัณฐ์ หนุมานแทรกแผ่นดินไปพบภาณุราชและฆ่าเสีย  ๒๒/ ๑๓๘๖๘
                ๔๑๑๔. ภาพยนตร์ เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง  เช่นเดียวกับจิตรกรรมและงานประพันธ์จิตรกร แสดงความรู้สึกนึกคิดทางภาพเขียน นักประพันธ์ใช้ถ้อยคำ แต่ผู้สร้างภาพยนตร์แสดงความรู้สึกนึกคิดของตนผ่านทางภาพยนตร์
    การสร้างภาพยนตร์ได้กลายเป็นงานอุตสาหกรรม และต้องอาศัยผู้ชำนาญงานเป็นจำนวนมากต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสูง ภาพยนตร์มีประวัติสั้นมากเริ่มมีการคิดทำภาพยนตร์ เมื่อปีพ.ศ.๑๓๔๓
                        ภาพยนตร์แบ่งได้เป็นสี่ประเภทคือ ภาพยนตร์บันเทิง ภาพยนตร์การศึกษาและฝึกอบรม ภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์โฆษณา
                        ในปีพ.ศ.๒๔๓๒ ทอมัส เอ เอดิสัน ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพให้เคลื่อนไหวได้ เมริเอส์เป็นคนแรกที่สร้างภาพยนต์โดยเอาฉากต่าง ๆ มาจัดเข้าด้วยกันเพื่อบอกเรื่องในปีพ.ศ.๒๔๔๓ เมริเอส์สร้างภาพยนตร์ชื่อซินเดอเรลลาใช้เวลาฉาย ๔ นาทีเต็ม
                        สำหรับประเทศไทยได้เริ่มมีภาพยนตร์เข้ามาฉายครั้งแรกราวปี พ.ศ.๒๔๔๕ เรียกว่าหนังญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ามาฉายส่วนคำว่าภาพยนตร์นั้นมาเกิดในรัชกาลที่หก  โรงภาพยนตร์แต่แรกเป็นกระโจมอยู่ ที่เวิ้งนครเกษมและมีโรงภาพยนตร์อื่น ๆ ในยุคแรกได้แก่โรงหนังปีระกา โรงหนังพัฒนากร โรงหนังพัฒนารมย์และโรงหนังสิงคโปร์ (เฉลิมบุรี) ฉายหนังเงียบของฝรั่งเศสและอเมริกา
                        ผู้สร้างภาพยนตร์เงียบในสมัยนั้นก็มีศรีกรุงเริ่มด้วยเรื่องน้ำท่วมเมืองซัวเถา ภาพยนตร์เรื่องแรกของไทยที่มีผู้แสดงคือ นางสาวสุวรรณ  สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๗ ผู้นำในการสร้างภาพยนตร์เสียงเป็นรายแรกคือ ศรีกรุง สร้างเรื่องหลงทาง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๕    ๒๒/๑๓๘๖๙
                ๔๑๑๕. ภารตวรรษ แปลตามรูปศัพท์ว่า ดินแดนแห่งลูกหลานของพระภรต หมายถึงประเทศอินเดีย ชื่อภารตวรรษ เป็นชื่อเรียกประเทศอินเดียสมัยแรก ๆ ในทางตำนานอันมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์ปุราณะฉบับต่าง ๆ เช่น วิษณุปุราณะ
                        เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อภารตวรรษนี้คงจะเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาล เพราะคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ซึ่งอ้างถึงภารตวรรษล้วนเป็นผลงานที่รวบรวมและแต่งขึ้นในสมัยไล่เลี่ยและสมัยพุทธกาลทั้งสิ้น  ๒๒/ ๑๓๘๘๒
                ๔๑๑๖. ภารตศาสตร์ คือภารตนาฏยศาสตร์หรือนาฏยเวทเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดทางทฤษฎีการฟ้อนรำ การละครและการประพันธ์ของอินเดียโบราณและเป็นต้นฉบับหรือแบบอย่างที่ทำให้เกิดการแต่งหนังสือประเภทนี้อย่างแพร่หลายและแตกสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง
    ในสมัยต่อมาจึงนับว่าคัมภีร์ภารตศาสตร์ของภรตมุนีเป็นแม่บทของตำราละครและตำราการประพันธ์ทุกเล่มของอินเดียและมีอิทธิพลอย่างสูงสุดในด้านความศักดิ์สิทธิ์
    ถึงกับเรียกว่าเป็นพระเวทที่ห้าเช่นเดียวกับคัมภีร์ปราณะทั้งหลาย
                        คัมภีร์ภารตศาสตร์อาจจะแต่งในช่วงเวลาประมาณปีพ.ศ.๑๕๐ - ๑๔๕๐   ๒๒/ ๑๓๘๘๗
                ๔๑๑๗. ภาษา คำว่าภาษาเป็นคำสันสกฤตมาจากรากศัพท์เดิมว่า ภาษ แปลว่า กล่าว พูด หรือบอก เมื่อนำมาใช้เป็นคำนามมีรูปเป็นภาษา แปลตามรูปศัพท์ว่า คำพูดหรือถ้อยคำ
                        นักภาษาศาสตร์ให้คำนิยามว่า ภาษาเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารจะอยู่ในรูปของเสียงพูดหรือตัวเขียนก็ได้ ภาษาอาจจำแนกออกเป็นสองประเภทใหญ่ คือ
                        ๑. ระบบสื่อสารที่ใช้เสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรแทนเสียงพูดเป็นสำคัญเรียกว่า วัจนภาษา
                        ๒. ระบบสื่อสารซึ่งไม่ใช้เสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรแทนเสียงพูดเป็นสำคัญเรียกว่า อวัจมภาษา ได้แก่
                            ๑. เสียงประกอบและลักษณะการพูดเช่นเสียงแสดงอาการลังเล เสียงเลียบ เสียงธรรมชาติ เสียงอุทาน เสียงเรียก เสียงหัวเราะ และเสียงสะอื้น ลักษณะการพูดเช่นจังหวะการหยุด การลงเสียงหนักพิเศษ ทำนองเสียง ความดัง - ค่อย และลักษณะน้ำเสียง
                            ๒. ท่าทาง ได้แก่การเคลื่อนไหวของส่วนต่าง ๆ บนใบหน้า แขน ขา สีรษะ และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
                        ๓. ระยะห่างระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ อาจแตกต่างกัน                       สัตว์ก็มีระบบสื่อสารซึ่งสามารถส่งความหมายได้  มากกว่าการใช้คำพูดหรือท่าทางเช่นผึ้งมีสื่อคือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย สัตว์อื่น ๆ ก็มีระบบสื่อสารเช่นนก ปลาโลมา ใช้เสียงร้องเป็นสัญญาณ ส่วนลิงใช้ทั้งการเคลื่อนไหวและการทำหน้าตา          ๒๒/ ๑๓๘๙๓
               ๔๑๑๘. ภาษิต มีบทนิยามว่า "คำกล่าว ตามศัพท์เป็นคำกลาง ๆ ใช้ทั้งทางดี ทางชั่ว แต่โดยความหมายแล้วประสงค์คำกล่าวนี้ถือว่าเป็นคติ"
                        คำที่มักใช้ในความหมายใกล้เคียงกับภาษิตคือ สุภาษิต เป็นสิ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชนในชาติ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่ละชาติแต่ละภาษาย่อมมีสุภาษิตของตนแตกต่างกันไปตามความนิยมและภูมิธรรม
                        ชาติไทยได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ร่ำรวยภาษิต ซึ่งสะสมมาแต่โบราณกาลในสมัยสุโขทัยมีภาษิตพระร่วงนับเป็นภาษิตไทยแท้ ๆ ที่ติดปากคนไทยสืบมา ภาษาไทยอุดมด้วยภาษิตสำนวนต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีคำพังเพยอีกเป็นจำนวนมาก เรามักใช้ปนกันจนแยกไม่ออก  ภาษิตเกิดจากการกลั่นกรองความคิดและสติปัญญา อันลึกซึ้งเฉียบแหลมของบรรพบุรุษไทยที่ถ่ายทอดมาสู่อนุชนรุ่นหลัง สะท้อนภาพสังคมไทยและอุปนิสัยใจคอของคนไทย
                        โครงสร้างของภาษิตไทยพื้นบ้านนั้นส่วนมากประกอบด้วยไทยแท้พยางค์เดียว เรียงกันอยู่ในรูปของวลีหรือกลุ่มคำบ้าง ในรูปของประโยคบ้าง จำนวนคำที่มาเรียงกันนั้น อาจเป็นจำนวนคู่หรือคี่ก็ได้ ถ้าเป็นจำนวนคู่ก็มักมีเสียงสัมผัส ถ้าเป็นจำนวนคี่อาจมีเสียนงสัมผัสหรือไม่มีก็ได้ ภาษิตไทยเหล่สานี้แต่ละบทมีจังหวะอยู่ในตัว มีความหมายกระชับ และมีเสียงไพเราะคล้ายดนตรีทำให้จำง่าย จำได้นาน
                        ความหมายของภาษิตส่วนมากจะเป็นไปในเชิงสั่งสอน หรือเป็นการใช้ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอละสังคมมนุษย์                ๒๒/ ๑๓๙๐๓
                ๔๑๑๙.ภาษี  หมายถึงสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎรเพื่อนำมาใช้ให้เกิดแก่สังคม โดยส่วนร่วมโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร
                        ภาษีอากรไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บในรูปตัวเงินเสมอไป ภาษีอากรบางประเภทอาจเรียกเก็บในรูปของสินค้าหรือบริการก็ได้ เช่น การเกณฑ์ทหาร  ซึ่งมีลักษณะเป็นการบังคับซื้อบริการจากผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานที่ควรจะได้ตามปรกติ   ค่าแรงงานส่วนที่ขาดหายไปจัดว่าเป็นภาษีอากร ที่เรียกเก็บจากผู้ถูกเกณฑ์ทหาร  อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การเวนคืนที่ดินของรัฐราคาที่ดินที่รัฐจ่ายให้นั้นมักจะต่ำกว่าราคาตลาด ส่วนแตกต่างของราคาที่ได้รับกับราคาที่ควรได้ คือภาษีอากรที่รัฐบาลเก็บจากเจ้าของที่ดิน
                        การจำแนกการเก็บภาษีอากรมีหลายวิธีด้วยกัน ถ้าจำแนกตามหลักการผลักภาระภาษี จะแบ่งเป็น ภาษีทางตรง ซึ่งหมายถึงภาษีที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระภาษีไปให้ผู้อื่น และภาษีทางอ้อม ซึ่งหมายถึงภาษีที่ผู้เสียภาษีผลักภาระไปให้ผู้อื่นต่อไปได้ หรือถ้าจำแนกตามลักษณะของฐานภาษีจะแบ่งเป็นภาษีที่เก็บจากฐานรายได้ภาษีที่เก็บจากฐานบริโภคและภาษีที่เก็บจากฐานทรัพย์สินเป็นต้น
                        - การจัดเก็บภาษีอากรของไทยในอดีต มีหลักฐานปรากฎในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ฯ ในสมัยสุโขทัยอันแสดงว่าก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ก็ได้มีการเก็บภาษีอากรกันอยู่แล้ว ในสมัยอยุธยามีการจัดเก็บภาษีอากรแยกได้เป็นสี่ประเภท คือ จังกอบ (จกอบ) อากร ส่วย และฤชา ซึ่งเรียกกันรวม ๆ ว่า ส่วยสาอากรหรือส่วยสัดพัทธยากร
                        จังกอบ คือ การเก็บชักส่วนจากสินค้าหรือเก็บเป็นเงินตามขนาดยานพาหนะที่ขนสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำ เช่น เรือ เกวียน เมื่อผ่านขนอน (สถานที่เก็บจังกอบ)
                        อากร คือ การเก็บชักส่วนจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้จากการประกอบการต่าง ๆ เช่น  ทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือการใช้สิทธิพิเศษของรัฐบาลในการอนุญาตให้จับปลา เก็บของป่า ต้มสุรา เล่นการพนัน
                        ส่วย คือ การยอมให้บุคคลบางจำพวกส่งเงินหรือสิ่งของที่รัฐต้องการใช้แทนการมาทำงานให้รัฐด้วยแรงตนเอง เช่น อนุญาตให้ราษฎรตั้งภูมิลำเนาอยู่ชายดงพญาไฟหาดินมูลค้างคาวในดงนั้นมาหุงดินประสิวส่งรัฐบาลสำหรับทำดินปืนหรือยอมให้ราษฎรชาวเมืองถลางหาดีบุกนำมาส่ง
    รัฐบาลสำหรับทำลูกปืนแทนรับราชการทหาร นอกจากนี้ยังมีส่วยอีกหลายอย่าง เช่น เครื่องราชบรรณาการซึ่งประเทศราชส่งมาให้
                        พัทธยา หมายถึงการริบทรัพย์สมบัติของผู้ต้องพัทธยา (ผู้ต้องโทษ) เข้าเป็นของหลวง
                        เกณฑ์เฉลี่ย หมายถึงการเกณฑ์เงิน แรงงานหรือสิ่งของช่วยราชการเป็นครั้งคราว
                        ส่วยแทนแรง หมายถึงการยอมให้ชายฉกรรจ์ซึ่งมีหน้าที่รับราชการส่งเงินมาจ้างคนรับราชการแทนตนได้
                        ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกเก็บจากบริการต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำให้เพื่อประโยชน์แก่ราษฎรบางคนเป็นการเฉพาะตัว เช่น ผู้ใดขอจดโฉนดตราสารเป็นสำคัญแก่กรรมสิทธิ์มิให้ผู้อื่นบุกรุกที่ดินสวนไร่นาของตนหรือราษฎรเป็นความกัน รัฐบาลต้องชำระความให้ในโรงศาล ฝ่ายใดแพ้คดีถูกปรับไหมใช้เงินแก่ฝ่ายชนะเท่าใด รัฐบาลย่อมเก็บเป็นค่าฤชากึ่งหนึ่ง
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการจัดเก็บภาษีอากรคงถือแบบตามสมัยอยุธยาเป็นหลัก ครั้นถึงรัชกาลที่สามได้มีการปรับปรุงภาษีอากรครั้งใหญ่ โดยปรับปรุงและเพิ่มประเภทอากรอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้เปลี่ยนรูปการจัดเก็บภาษีอากรจากสิ่งของมาเป็นตัวเงินมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนไปเป็นวิธีการผูกขาดจัดเก็บโดยเอกชนมากขึ้น การที่ผู้ใดจะได้รับทำภาษีอากรชนิดใดก็ต้องเป็นผู้ประมูลได้เรียกว่า เจ้าภาษีนายอากร ในสมัยรัชกาลที่ห้าได้มีการปฏิรูปทางด้านการคลังและระบบภาษีอากรครั้งใหญ่นับเป็นการวางรากฐานระบบและระเบียบปฏิบัติการเก็บภาษีอากรของประเทศอย่างสมัยใหม่
                        - การจัดเก็บภาษีอากรของไทยในปัจจุบัน มีหลายประเภทที่สำคัญได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เป็นต้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเก็บภาษีมีหลายหน่วยงานด้วยกัน แต่ภาษีอากรส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บ โดยกรมสรรพากร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตในสังกัดกระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้ รวมกันทั้งสิ้นเกินกว่าร้อยละ ๙๐ ของภาษีอากรที่จัดเก็บได้ทั้งหมด          ๒๒/๑๓๙๑๒

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch