หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/116

    ๔๐๙๐. ฟิสิกส์  เป็นชื่อวิชาแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับเคมี ชีววิทยา แท้จริงแล้วฟิสิกส์เป็นวิชาหลักของวิทยาศาสตร์ คำนี้มาจากภาษากรีก แปลว่า ธรรมชาติ ดังนั้นวิชาฟิสิกส์จึงเกี่ยวกับความเป็นจริง หรือกฎเกณฑ์ของความเป็นไปตามธรรมชาติ วิชาฟิสิกส์และเคมี รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจัดเป็น วิทยาศาสตร์กายภาพ
                        พื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ เกี่ยวกับสาระความจริงของธรรมชาติจึงเป็นวิชาที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสสาร และวัตถุต่าง ๆ ความเข้าใจนั้นได้เพิ่มขึ้นเสมอมา ด้วยการทดลองค้นคว้า และสร้างทฤษฎีขึ้นให้สมเหตุผล         ๒๑/ ๑๓๗๓๖
                ๔๐๙๑. ฟุตบอล  เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ที่ได้รับความนิยม และมีการเล่นอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก การกีฬาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการเล่นฟุตบอลนี้ ที่จริงได้มีการเล่นกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน แต่กีฬาฟุตบอลที่มีวิธีการเล่น ตลอดจนกติกา และระเบียบการเล่นเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ได้เริ่มเล่นเป็นครั้งแรก เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๐๖ โดยคณะกรรมการควบคุมการเล่น หรือสมาคมฟุตบอลในอังกฤษ ในขณะนั้นเป็นผู้วางระเบียบ กฎ กติกา และวิธีเล่น ให้เป็นแบบฉบับที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วิธีเล่นฟุตบอลตามแบบใหม่นี้ ต่อมาจึงได้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ซอกเกอร์
                        การเล่นฟุตบอลมีข้างละ ๑๑ คน เป็นผู้รักษาประตู ๑ คน กองหลัง ๒ คน กองกลาง ๓ คน และกองหน้า ๕ คน
                        สนามฟุตบอล มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๙๑ - ๑๑๙ เมตร กว้าง ๔๖ - ๙๑ เมตร ผู้เล่นแต่ละฝ่ายยกเว้น ผู้รักษาประตูพยายามที่จะใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ยกเว้นส่วนของแขน นำพาลูกให้ผ่านเส้นหลังประตูไป ในระหว่างเสาประตู และใต้คานของอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ จะได้หนึ่งประตู          ๒๑/ ๑๓๗๓๙
                ๔๐๙๒. ฟูนัน - อาณาจักร  เป็นอาณาจักรที่สำคัญที่สุดในภาคเอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ คำนี้มาจากภาษาเขมรโบราณ (ขอม) ว่า "บนัม" และภาษาเขมรปัจจุบันว่า "พนม"  คือ ภูเขา พระราชาแห่งอาณาจักรนี้มีพระนาม ตามภาษาสันสกฤตว่า บรรพตภูบาล หรือไศลราช ศูนย์กลางของอาณาจักรนี้เดิมชื่อกันว่า ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ หรือที่ราบปากแม่น้ำโขง แต่ในขณะที่เจริญสูงสุดนั้น ดินแดนของอาณาจักรฟูนันได้ครอบคลุมไปถึงประเทศเวียดนามตอนใต้ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ตลอดจนส่วนใหญ่ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแหลมมลายู
                        ปัจจุบัน นักปราชญ์ฝรั่งเศสผู้หนึ่ง สันนิษฐานว่าศูนย์กลางดั้งเดิมของอาณาจักรฟูนัน อาจตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณเมืองอู่ทอง เพราะ ณ  ที่นั้นได้ค้นพบโบราณวัตถุหลายอย่าง ที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอมราวดี ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๙ ตลอดจนวัตถุที่คล้ายคลึงกับที่ค้นพบ ณ เมืองออกแก้ว ในแหลมโคชินจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม อันเชื่อกันว่าเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน วัตถุเหล่านี้มีลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยโลหะ เศษเครื่องถ้วยชาม ฯลฯ อันมีสืบต่อลงไปจนถึงสมัยอาณาจักรทวารวดี ในประเทศไทย แต่มิได้สืบต่อลงไปในอาณาจักรเจนละ ซึ่งมีอำนาจสืบต่อจากอาณาจักรฟูนัน ในประเทศกัมพูชา ส่วนการขยายอำนาจของอาณาจักรฟูนันนั้น เห็นว่าอาจจะขยายจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกคือ ขยายจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังลุ่มแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาก็ได้ ราชธานีในขณะหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ตั้งอยู่ที่เมืองวยาธปุระ หรือเมืองพราน ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาบาพนม และหมู่บ้านบนัม ในแคว้นไพรเวง
                        จดหมายเหตุราชวงศ์ฉี ภาคใต้ได้กล่าวเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันว่า ประชาชนของอาณาจักรนี้โหดร้าย และเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เข้าโจมตีเมืองใกล้เคียงที่ไม่ยอมอ่อนน้อม และกดขี่ประชาชนลงเป็นทาส
                        รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันเป็นสมัยที่อาณาจักรฟูนันเจริญรุ่งเรือง ดังเห็นได้จากการรับรองของพระจักรพรรดิ์จีน เมื่อราชทูตฟูนันเดินทางเข้ามายังประเทศจีน ในปี พ.ศ.๑๐๔๖ พระจักรพรรดิ์จีนทรงมีพระราชโองการว่า "พระราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน ทรงพระนามว่า โกณฑิยะชัยวรมัน ประทับอยู่สุดเขตโพ้นทะเล... ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายเป็นหลายครั้ง สมควรตอบแทนให้ทัดเทียมกัน และให้ตำแหน่งอันมีเกียรติยศคือ ตำแหน่งขุนพลแห่งภาคสันติใต้ กษัตริย์แห่งฟูนัน"
                        อาณาจักรฟูนัน ได้เป็นใหญ่อยู่ในแหลมอินโดจีนถึง ๕๐๐ ปี บรรดาพระราชาแห่งประเทศกัมพูชา สมัยก่อนสร้างเมืองพระนคร ได้ทรงยอมรับประเพณีการตั้งราชวงศ์ ของกษัตริย์ฟูนันมาเป็นของพระองค์
                        ทางด้านฝ่ายไทยมีบางท่านเห็นว่า คำว่า ฟูนัน โปหนำ หรือฝูหนาน นี้ ตรงกับอาณาจักรโคตรบูร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพราะไทยมีคำว่า นครพนม พระธาตุพนม        ๒๑/ ๑๓๗๔๕
                ๔๐๙๓.  เฟอร์เนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๐ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นไม่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติ นักฟิสิกส์อเมริกัน และคณะได้ค้นพบธาตุนี้จากฝุ่นละออง เถ้าธุลี และเศษวัสดุที่ได้จากการระเบิดของลูกระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร (ระเบิดไฮโตรเจน) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ ธาตุเฟอร์เนียมที่พบเป็นไอโซโทป         ๒๑/ ๑๓๗๖๐
                ๔๐๙๔. เฟลด์สปาร์   เป็นแร่ซิลิเกต ในตระกูลเทกโทซิลิเกต และจัดเป็นแร่ประกอบหิน ที่พบแพร่หลายในหินอัคนี ทราบกันทั่วไปในชื่อ หินฟันม้า
                        โครงสร้างของแร่ตระกูลเฟลด์สปาร์ทุกชนิด ปรกติคล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้แร่มีสมบัติทางฟิสิกส์เหมือนกัน เช่น รูปผลึก แนวแตกเรียบ ความแข็ง ความถ่วงจำเพาะ
                        การใช้ประโยชน์ของเฟลต์สปาร์นั้น ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบทางเคมีของเฟลด์ สปาร์ ในแต่ละชนิดและแต่ละแหล่งเป็นหลัก ส่วนประกอบทางเคมีจะเป็นตัวควบคุมสมบัติทางกายภาพไปในตัวด้วย
                        ในอุตสาหกรรมเซรามิก เฟลด์ สปาร์ ใช้เป็นวัตถุผสมเพื่อเป็นตัวลดอุณหภูมิ หรือลดจุดหลอมเหลวให้ต่ำลง และเข้าไปผสมเป็นเนื้อประสานแบบแก้ว ในการทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องขาว กระเบื้องปูพื้นคุณภาพสูง และยังใช้ในการทำน้ำยาเคลือบเครื่องขาว และแผ่นเหล็ก เป็นต้น
                        แร่ในตระกูลเฟลด์ สปาร์ บางชนิดมีสมบัติจัดเป็นรัตนชาติ นำมาทำเป็นเครื่องประดับได้         ๒๑/ ๑๓๗๖๒
                ๔๐๙๕. เฟิน  เป็นพืชจำพวกไม้ใบ ไม่มีดอก สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์และเซลล์สืบพันธุ์ พืชจำพวกเฟินมีขนาดและแหล่งที่ขึ้นต่าง ๆ กัน มีตั้งแต่ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ คล้ายไม้ยืนต้น ซึ่งบางชนิดมีความสูงถึง ๒๔ เมตร เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้น โดยเฉพาะเทือกเขาในเขตร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิเหมาะสม และมีร่มเงา  เฟินมีอยู่ทั่วโลกกว่า ๙,๐๐๐ ชนิด มีบางชนิดนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ บางชนิดบริโภคได้
                        ลักษณะของเฟิน ที่สังเกตได้ง่ายคือ ใบอ่อนจะม้วนเป็นขดตรงปลาย เนื่องจากส่วนโคนเจริญเร็วกว่าส่วนปลาย ลำต้นมักจะทอดไปตามพ้น หรือฝังอยู่ใต้ดิน เฉพาะพวกที่มีขนาดใหญ่ และขึ้นอยู่ตามป่ามักจะมีใบใหญ่ และลำต้นตั้ง
    ตรง         ๒๑/ ๑๓๗๗๔
                ๔๐๙๖. เฟื่องฟ้า  เป็นพรรณไม้ประเภทกึ่งเลื้อย กึ่งรอเลื้อย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายชนิดหนึ่ง ในประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้ที่เริ่มออกดอกในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงเรียกว่า ดอกตรุษจีน เฟื้องฟ้ามีลำต้นค่อนข้างแข็งมีเนื้อไม้ มีหนามแหลมคม ลำต้น และกิ่งทำหน้าที่ในการเกาะเกี่ยวเพื่อเลื้อยพัน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่ง ขนาดกิ่งค่อนข้างใหญ่ ส่วนที่เห็นเป็นแผ่นสีสดใสคือ ใบประดับที่รองรับช่อดอก ตัวดอกที่แท้จริงมีขนาดเล็ก ใบประดับนี้มีสีต่าง ๆ กัน ทั้งชนิดที่มีสีเดียวล้วน ๆ และสองสีปนกัน
                        เฟื่องฟ้าเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทรายเป็นพิเศษ ต้องการแสงแดดมาก และต้องการน้ำค่อนข้างน้อย ทนแล้งได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง ปลูกง่ายและไม่ต้องดูแลมากนัก         ๒๑/ ๑๓๗๗๕
                ๔๐๙๗. แฟรนเซียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๙๗ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีปรากฎในธรรมชาติ จัดอยู่ในหมู่ธาตุโลหะ แอลคาไล ลักษณะเป็นโลหะ ในธรรมชาติธาตุนี้มีปรากฎอยู่ในลักษณะเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี ปะปนอยู่ในสินแร่ยูเรเนียม มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติเป็นปริมาณน้อยยิ่งคือ เพียง ๑ ออนซ์ เท่านั้นในเปลือกโลก        ๒๑/ ๑๓๗๗๗
                ๔๐๙๘. ไฟลามทุ่ง - โรค  เป็นโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ที่เกิดจากการติดเชื้ออย่างปัจจุบัน พบมากในทารก เด็กเล็กและคนสูงอายุ ตำแหน่งที่พบมากที่สุดคือ ใบหน้า มักเป็นที่สันจมูกและแก้มข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง การติดเชื้อจะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนโตเต็มที่ภายใน ๓ - ๖ วัน
                       ในทางการแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า โรคนี้เกิดจากโลหิตเป็นพิษ ร่วมกับเนื้อหนังพิการ ทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ มีลักษณะเหมือนไฟไหม้ แดงลุกลามรวดเร็ว คนไข้รู้สึกปวด และปวดร้อนมาก และมีไข้สูง การรักษาโรคนี้มีทั้งการใช้ยากิน และยาทา        ๒๑/ ๑๓๗๘๐

     

                ๔๐๙๙. ภ พยัญชนะตัวที่ ๓๒ เป็นอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดใยแม่กบ ในคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต อักษร ภ ออกเสียงโดยผนึกริมฝีปากบนและล่างเข้าด้วยกันเพื่อกักลมไว้ และปล่อยลมพ่นออกมา    ๒๑/ ๑๓๗๘๒
                ๔๑๐๐. ภควัทคีตา  เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ขจองงศาสนาฮินดู โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพหรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (นารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุดชื่อคัมภีร์นี้แปลว่าบทเพลง (หรือลำนำ) ของพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศเหมือนดังคัมภีร์พระเวทแต่ละเล่ม แต่ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่หก (ภีษมบรรพ) แห่งกาพย์มหาภารตะ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือ อรชุน เจ้าชายฝ่ายปาฌฑพ แห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่ มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสดินาปุระ จากฝ่ายเคารพแห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยชน์ และกองทัพพันธมิตรมากมาย เป็นคู่สงครามด้วยฝ่ายผู้ตอบปัญหา และเป็นผู้อธิบายตลอดทั้งเรื่องคือ กฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์สาขายาทพ ขณะทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้อรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย ผู้เป็นเสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฎร์ พระราชาเนตรบอดแห่งเมืองหัสดินาปุระ โดยมหาฤษีวยาส หรือฤาษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งครั้งนั้น และมาให้ชื่อกันภายหลังว่าภควัทคีตา
                        ถ้าจะกล่าวแล้วคำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตาเกือบครึ่งเล่มเป็นคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท และอีกกว่าครึ่งเล่มเป็นคำสอนแบบพวกภาควตะซึ่งบูชาพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุด ภควัทคีตาแบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า อัธยายะ รวม ๑๘ อัธยายะ ได้แก่ ความท้อถอยของอรชุน หลักรู้โดยอาศัยแนวความคิดในปรัชญาสางขยะและโยคะ หลักปฏิบัติ หลักจำแนกญาณหลักแห่งการสละกรรม และประกอบกรรม หลักแห่งการเข้าฌาน หลักญาณ หลักพรหม ผู้ไม่เสื่อม หลักเข้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งวความลึกลับ หลักทิพยอำนาจ หลักการเห็นรูปยิ่งใหญ่แท้จริงของพระเจ้า หลักภักดี หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย หลักจำแนกคณะทั้งสาม หลักว่าด้วยบุรุษผู้ประเสริฐสุด หลักว่าด้วยการบจำแนกทิพยสมบัติและอสุรสมบัติ หลักจำแนกศรัทธาสามอย่าง หลักว่าด้วยการสละ ซึ่งเป็นปฏิปทาแห่งการหลุดพ้น
                        ภควคีตา เริ่มเรื่องโดยกล่าวถึงวันแรกแห่งมหาสงครามระหว่างฝ่ายเการพ และฝ่ายปาณฑพ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากันที่ทุ่งกุรเกษตร ฝั่งขวาของบแม่น้ำยมนานั้น อรชุนผู้นำทัพฝ่ายปาณฑพ ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ ได้สั่งให้สารถีคือกฤษณะขับรถออกหน้ากองทัพ เพื่อจะให้สัญญาณรบกับฝ่ายเการพ ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรม แต่เมื่อมองไปในกองทัพของศัตรูก็เห็นนายทัพนายกองฝ่านนั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่รู้จักสนิทกันมาก่อน บางคนก็เป็นญาติพี่น้อง บางคนก็เป็นครูบาอาจารย์ และมิตรสหาย ก็เกิดความท้อแท้ในใจ เพราะความสงสารไม่อาจให้สัญญาณรบ กฤษณะทราบวาระน้ำจิตของอรชุนจึงกล่าวเตือนสติ โดยยกหลักคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท มากระตุ้นให้อรชุนเข้าใจในความจริง อันเร้นลับว่าอาตมัน หรือพระเจ้าที่อาศัยอยู่ในร่างมนุษย์นั้นมีความเป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดหรือใคร ๆ จะทำอันตรายหรือฆ่าได้ กฤษณะเริ่มบทบาทของพระเจ้าในร่างมนุษย์ ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป โดยชี้ให้เห็นความจริงอันเป็นคำสอนเร้นลับ (รหัสยลัทธิ)
                        อาตมันนี้ไม่เคยเกิดไม่เคยตาย จะไม่เป็นอีกเมื่อได้เป็นแล้วอาตมันนี้ไม่เกิด มีความเที่ยงแท้ในภายหน้า และมีความเที่ยงแท้มาแล้วในอดีต ย่อมฆ่าไม่ตาย ในเมื่อร่างกายถูกฆ่า
                        อาตมันนี้ ไม่ถูกตัดไม่ถูกเผา ใครทำให้เปียกก็ไม่ได้  ทำให้แห้งก็ไม่ได้ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ย่อมปรากฎทั่วไป ย่อมมั่นคง ไม่หวั่นไหว มีแต่ความยั่งยืนตลอดไป
                        อาตมันนี้ กล่าวกันว่าไม่มีการปรากฏในรูปนั้นรูปนี้ เป็นอจินไตย (ไม่พึงคิดไม่พึงเดา) ไม่มีวิการ (การเปลี่ยนแปลงรูปหรือภาวะ) ฉะนั้นเมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ท่านจะระทดระท้อด้วยเหตุใดเล่า (ภควัทคีตา อัธยายะ ที่ ๒ ข้อที่ ๑๙ - ๒๕)
                        กฤษณะเตือนอรชุนให้ระลึกถึงหน้าที่อันแท้จริงของกษัตริย์หรือนักรบว่า จะต้องต่อสู้เพื่อปราบศัตรูให้สิ้นไป การที่ชนวรรณกษัตริย์ละทิ้งหน้าที่ของตนย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไร้เกียรติยศ และจะถูกคนทั้งหลายติเตียนไปชั่วชีวิต หน้าที่เป็นภาระศักกดิ์สิทธิ์ที่เกิดมาพร้อมวรรณะ ชนแต่ละวรรณะ จะต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ และได้เน้นให้อรชุนตระหนักว่าหากถูกฆ่า ท่านก็จะได้ไปสู่สวรรค์ หากชนะท่านก็จะได้ครองแผ่นดินโลก ฉะนั้นจงทำใจให้มั่นคงเพื่อจะรบ ณ บัดนี้
                        จากนั้น กฤษณะก็เริ่มการสอนหลักธรรมอันนำมนุษย์ไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์คือ โมกษธรรม ซึ่งทำให้อรชุนเกิดความพิศวงงงงวย เพราะเป็นตอนที่กฤษณะประกาศตนเองว่าเป็นพระเจ้าในร่างมนุษย์ เป็นพระเจ้าที่อวตารมาในโลกเพื่อปราบอธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งธรรมะเป็นหลักโลกต่อไป
                        อรชุนได้ซักถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเจ้า กฤษณะก็ได้อธิบายความอันเกี่ยวกับภาวะของพระเจ้าและหนทางไปสู่พระเจ้า อันเป็นความหลุดพ้นอย่างละเอียดพิสดาร โดยหยิบยกปรัชญาสาขาต่าง ๆ มากล่าวประกอบคำอธิบายหลายเรื่องเช่น กล่าวถึงคำสอนตามหลักปรัชญาสางขยะ ปรัชญาอุปนิษัท และปรัชญาเวทานตะ แต่มิได้เน้นจริงจังแน่นอนลงไปในปรัชญาสาขาใดโดยเฉพาะ สรุปได้ว่ากฤษณะกล่าวถึงคนในลักษณะสองอย่างคือ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมคือมีภาวะความเป็นอยู่ แต่ไม่แสดงรูปร่างของพระเจ้าให้ปรากฎ ซึ่งในลักษณะเช่นนั้นก็คือ อาตมันหรือปรมาตมันหรือพรหม อันเป็นพระเจ้าในแบบนามธรรม ในขณะเดียวกันก็กล่าวถึงตนเองในฐานะพระเจ้าซึ่งมีรูปร่างเป็นพระเจ้าผู้ทรงสรรพศักดิ์สูงสุด แต่ผู้เดียวในสากลจักรวาล
                ๔๑๐๑. ภควัม - พระ  เป็นชื่อพระเครื่อง หรือพระเครื่องรางอย่างหนึ่ง ทำรูปมีพระพักตร์คว่ำหน้า และปิดทวารทั้งเก่า และเป็นชื่อหินชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างเหมือนพระภควัม พระภควัมนี้มีมาแต่โบราณเรียกกันว่า พระปิดทวาร หรือพระปิดตา หรือพระมหาอุดปิดทวาร สร้างครั้งแรกในอินเดียราวปี พ.ศ.๑๒๐๐ มีหลายขนาด
                        คำว่า ภควัม หมายถึง ภควา คือ หมายถึง พระพุทธเจ้า มูลเหตุในการสร้างเข้าใจว่ามาจากการสอนธรรมในพระพุทธศาสนา ให้คนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งเรียกว่า อายตนภายในหก หรืออินทรียหก เพราะเป็นสื่อรับอารมณ์หกอย่างที่มากระทบ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
                        พระภควัมนี้ คนโบราณใช้อม แล้วทำให้ข้าศึกจังงัง ทำอันตรายตนไม่ได้ กล่าวกันเป็นสามัญว่า พระภควัมนั้น มีอานุภาพในทางยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า เป็นพระอยู่ยงคงกระพันชาตรี         ๒๑/ ๑๓๗๙๕
                ๔๑๐๒. ภรต ๑  เป็นนามพระราชาและวีรบุรุษดึกดำบรรพ์ของชนอารยัน - อินเดียเผ่าหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังในการสงคราม ปรากฎชื่อหลายแห่งในคัมภีร์ฤคเวท (อายุประมาณ ๓๕๐๐ - ๔๐๐๐ ปี) ของศาสนาพราหมณ์ ผู้สืบเชื้อสายต่อมาได้นามว่า พวก ภารต ทั้งสิ้น          ๒๑/ ๑๓๗๙๘
                ๔๑๐๓. ภรต ๒  เป็นนามพระราชาแห่งแคว้นจันทรวงศ์ ผู้ครองนครหัสดินาบุระ เป็นโอรสของท้าวทุษยันต์ กับนางศกุนตลา พระราชาภรตได้รับยกย่องว่า เป็นจักรพรรดิ์องค์แรกของอินเดีย ทรงครอบครองแผ่นดินโลกทั้งหมด คัมภีร์ปุราณะฉบับต่าง ๆ กล่าวว่า พระองค์เป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์
                        พระพรต ครองโลกอยู่ ๒๗,๐๐๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์แผ่นดินที่พระองค์ครอบครอง จึงได้นามว่า ภารต และมีเชื้อสายเป็นกษัตริย์สืบมาอีก ๒๕ องค์ จึงได้เกิดสงครามใหญ่ เรียกว่า มหาภารตะ           ๒๑/ ๑๓๗๙๘
                ๔๑๐๔. ภรต ๓  เป็นโอรสของท้าวทศรถกับพระนางไกเกยี (ไกยเกษี) ได้ครอบครองกรุงอโยธยา แทนพระราม เป็นเวลาสิบสี่ปี จนพระรามเสด็จกลับจึงถวายเมืองคืน
                        ในระหว่างครองกรุงอโยธยา พระภรตได้ประหารคนธรรพ์ ผู้ชั่วช้าถึง ๓๐ ล้านคน  เพราะพวกนั้นได้ก่อกรรมทำเข็ญแว่นแคว้นแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ รวมทั้งแคว้นเกกัย ของพระเจ้ายุธาชิ ผู้เป็นพระเจ้าตาของพระพรตด้วย แล้วแบ่งดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุ ออกเป็นสองส่วนมอบให้โอรสทั้งสองของพระองค์ ให้ครององค์ละแคว้น
                        เมื่อครบสิบสี่ปี พระรามเสด็จกลับพระนคร พระภรตถวายบ้านเมืองคืนแก่พระรามแล้ว จนกระทั่งถึงเวลาที่พระรามจะกลับคืนไปสู่ภาวะของพระวิษณุ พระรามเสด็จไปสู่แม่น้ำสรยู แล้วกลายพระองค์เป็นพระเจ้า พระภรตกับพระศัตรุฆน์ ตามไปด้วยเมื่อถึงเวลาดังกล่าว พระภรตก็คืนร่างเป็นหอยสังข์ สถิตในหัตถ์ขวา ด้านหน้าของพระวิษณุ ส่วนพระสัตรุฆน์ก็กลายเป็นจักร สถิตอยู่ในพระหัตถ์ขวา ด้านหลังของพระวิษณุ เช่นเดียวกัน         ๒๑/ ๑๓๗๙๙
                ๔๑๐๕. ภรต ๔  เป็นนามของพระราชาองค์หนึ่ง ในสมัยพระมนู องค์ที่หนึ่ง เป็นโอรสองค์ใหญ่ ในจำนวนร้อยองค์ของพระเจ้าฤษภะ ผู้ครองแคว้นหิมะ ในชมพูทวีป ดินแดนที่พระองค์ครองนี้คัมภีร์ภควตปุราณะ ตอนที่ห้า อ้างว่า ต่อมาได้ชื่อว่า ภารตะ และสรุปว่า ภารตะ ก็คือ อินเดียทั้งหมดนั่นเอง
                        พระภรต ครองราชย์อยู่โกฎปี ตลอดเวลาทรงมีศรัทธาเต็มเปี่ยมต่อพระวิษณุองค์เดียว ในที่สุด สละราชสมบัติออกบวชเป็นฤาษี เพื่ออุทิศตนในการเข้าฌานสมาธิ ระลึกถึงพระวิษณุ ในที่สุดก็บรรลุโมกษะ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เข้ารวมเป็นองค์เดียวกับพระวิษณุ          ๒๑/ ๑๓๘๐๑
                ๔๑๐๖. ภรต ๕  รู้จักกันแพร่หลายว่า ภรตมุนี เป็นฤษีโบราณผู้หนึ่ง สันนิษฐานว่า มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่สอง เป็นผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือทั่วอินเดีย และประเทศใกล้เคียงว่า เป็นบุคคลคนแรกที่เขียนตำราละครของอินเดียเป็นคนแรก ที่เขียนตำราละครของอินเดียเรียกว่า นาฎยศาสตร์ หรือภารตศาสตร์ (ดู ภารตศาสตร์ - ลำดับที่ ๓๙๘๒ ประกอบ)
                        ภรตมุนี ได้จัดการแสดงละครเป็นครั้งแรกที่ด้านหลังภูเขาหิมวันต์ อันเป็นที่กว้างขวางและรื่นรมย์ เรื่องที่แสดงมีสองเรื่องคือ เรื่องการกวนน้ำทิพย์ อันเป็นเรื่องในนารายณ์อวตารปางที่สอง หรือกูรมาวตาร อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเฉลิมพระเกียรติพระศิวะ ในการที่ทรงได้ชัยชนะต่อพวกอสูรคือ เรื่องการเผาป้อมของอสูรตรีปุระ
                        ในประเทศไทย มีประเพณีสืบมาว่า เมื่อมีการแสดงละครรำ จะต้องมีการบูชาหัวฤษี ก่อนเสมอ หัวฤษีดังกล่าวก็แทนพระภรตมุนี นั่นเอง         ๒๑/ ๑๓๘๐๓
                ๔๑๐๗. ภักดี - ลัทธิ  หมายถึง ทางแห่งความจงรักภักดี ซึ่งมนุษย์ปฎิบัติต่อพระเจ้าสูงสุด เพื่อความหวังว่า มนุษย์อาจถึงพระเจ้าได้แน่นอนกว่าวิธีอื่น ๆ
                       ลัทธิภักดีนี้ในอินเดีย แบ่งเป็นสองภาคคือ ตั้งแต่เมืองพาราณสีไปทางภาคตะวันออก เป็นเขตของผู้ถือลัทธิภักดีต่อพระศิวะ หรือพระอิศวร ส่วนทางภาคตะวันตกทั้งหมดเป็นเขตของผู้ถือลัทธิภักดีต่อพระวิษณุ หรือพระนารายณ์
                      นิกายไวษณพ มุ่งเน้นลัทธิภักดีมาก่อน ส่วนนิกายไศวะภายหลัง ลัทธิภักดีเกิดขึ้นภายหลังความรู้สึกของคนอารยัน - อินเดีย รุ่นโบราณมาก ครั้งนั้นคำภักดียังไม่มีที่ใช้มีแต่เพียงศรัทธาและประสาทะ คำว่า ภักดี เพิ่งปรากฎใช้เป็นครั้งแรกไม่เกิน ๑,๔๐๐ ปี มานี้ นับว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายในศาสนาพราหมณ์และฮินดู


    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch