หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/112
    ๔๐๑๐. พุมเรียง  เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นสูงยาว ๑.๕ - ๑๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยจำนวนคู่ ๑ - ๑๔ คู่ แกนกลางใบกลมแบน หรือมีครีบดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ หรือที่ยอดสีแดงเข้ม บางครั้งอาจเป็นสีเหลืองและขาว ผลแบนรูปไข่รีหรือเกือบกลม ผลอ่อนสีขาว ผลแก่จัดสีแดงเข้ม ยอดดำเนื้อมีรสหวานบริโภคได้ กล่าวกันว่ารากใช้ทำยาแก้ไข้          ๒๑/ ๑๓๔๖๒
                ๔๐๑๑. พู่กลิ่น  เป็นเครื่องแขวนดอกไม้สดของไทยขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายพู่ ส่งกลิ่นหอมของดอกไม้ที่นำมาเย็บและร้อย ใช้แขวนประดับตกแต่งสถานที่ ในที่ไม่กว้างใหญ่นัก เช่น ช่องประตู หน้าต่าง มุมห้อง หรือใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องแขวนขนาดใหญ่เช่น ระย้าใช้พู่กลิ่นแขวนตามมุมทุกมุม          ๒๑/ ๑๓๔๖๒
                ๔๐๑๒. พู่ระหง  เป็นไม้พุ่ม ลำต้นและใบคล้ายชบา ใบรูปไข่ขอบใบหยักแหลม ดอกใหญ่สีแดง ดอกติดอยู่กับกิ่งในลักษณะห้อยคว่ำ ผลรูปยาว
                        พู่ระหงเป็นไม้พื้นเมืองของแอฟริกานำมาปลูกเป็นรั้วหรือไม้ประดับ          ๒๑/ ๑๓๔๖๙
                ๔๐๑๓. เพ็ก - ต้น  เป็นไผ่ขนดเล็ก สูงราว ๑ - ๓ เมตร มีเหง้าแข็งอยู่ใต้ดิน ลำต้นเล็กกลม ดอกขนาดเล็ก ต้นเพ็กมักขึ้นเป็นหมู่หนาแน่นตามป่าเต็งรัง          ๒๑/ ๑๓๔๖๙
                ๔๐๑๔. เพชร  มีส่วนประกอบทั้งสิ้นเป็นธาตุคาร์บอน ผลึกมีแกนลายแกนเท่ากันมีความแข็ง ๑๐ แข็งกว่าแร่อื่น ๆ ที่เกิดตามธรรมชาติทุกชนิด มีแนวแตกเรียบที่สมบูรณ์สี่ทิศทาง ซึ่งจะแตกขนานกับหน้าผลึก แนวแตกดังกล่าวจะเป็นแนวที่เพชรแตกออกง่ายที่สุด ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการตัด และเจียระไนเพชร
                        เพชรมีหลายสีตั้งแต่ชนิดที่ใสบริสุทธิ์ไม่มีสีไปจนกระทั่งดำ อาจมีสีเหลือง น้ำตาล เขียว น้ำเงิน แดง และชมพู เพชรที่มีสีต่าง ๆ ดังกล่าว ปรกติเรียกรวมว่า สีแฟนซี
                        ปรกติถือว่าเพชรน้ำดีจริง ๆ นั้นจะใสบริสุทธิ์ ไร้สี ไร้มลทิน ชนิดที่มีสีอมฟ้าหรือที่เรียกกันว่า สีน้ำมันก๊าด ความจริงเป็นเพชรไม่มีสีแต่ที่เห็นเป็นสีฟ้าปน เกิดขึ้นเนื่องจากการเรื่องแสง โดยรังสีเหนือม่วงที่มีอยู่ในแสงแดด แต่บางคำว่ากล่าวว่า เพชรชนิดที่มีสีชมพูหรือน้ำเงิน แม้จะออกสีดังกล่าวเพียงเล็กน้อย ก็แพงกว่าเพชรสีขาวสีขาวบริสุทธิ์
                        เพชรมีความวาวสูง ปรกติหากยังไม่มีการตัดขัด และเจียระไนจะไม่เห็น เนื่องจากเพชรหลุดจากต้นกำเนิดเดิม ถูกพัตพาขัดสีทำให้เนื้อขุ่นด้าน เพชรมีความโปร่งใสมาก และมีการสะท้อนแสงที่ดี พื้นผิวของเพชรจะสะท้อนแสงได้ประมาณร้อยละ ๑๗ ค่าของความโปร่งใสเป็นคุณสมบัติที่เรียกกันว่า น้ำ น้ำของเพชรจึงขึ้นอยู่กับความใสขุ่นของเพชร
                        เพชรเกิดในสภาวะที่มีความร้อน ความดันสูงภายใต้เปลือกโลก มีระดับความลึกนับสิบ ๆ กม. (ราวถึง ๘๐ กม.หรือมากกว่านั้น) หินชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ดิมเบอร์ไลต์เป็นตัวนำพาขึ้นมา
                        แหล่งเพชรพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ๒๕๐ ปีก่อนพุทธศักราชจากนั้นได้พบในส่วนต่าง ๆ ของโลกอีกหลายแห่ง แหล่งที่สำคัญคือ แหล่งเพชรในแอฟริกา และไซบีเรีย นอกจากนั้นก็มีบอร์เนียว บราซิล สหรัฐอเมริกา รัสเซียและออสเตรเลีย ฯลฯ ในประเทศไทยพบเพชรปนอยู่ในลานแร่ดีบุก จำนวนเล็กน้อยแถบบริเวณ จ.พังงา และจ.ภูเก็ต
                        นอกเหนือจากการนำเพชรมาเป็นเครื่องประดับแล้ว เพชรชนิดที่ไม่มีสมบัติของรัตนชาติ ยังนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ได้ มีผู้นำเพชรมาทำเป็นผงขัดหลายชนิด และยังคงใช้กันมาจนปัจจุบัน โดยนำมาตำให้เป็นผง แล้วฝังในใบเลื่อยที่ใช้ในการตัดเพชร เพื่อทำการเจียระไน หรือตัดหิน และแร่อื่น ๆ ใช้ทำหัวเจาะในเครื่องมือเจาะตรวจหิน และใช้ทำอุปกรณ์ในการตัดแก้ว          ๒๑/ ๑๓๔๖๙
                ๔๐๑๕. เพชร ๒  เขื่อนกั้นแม่น้ำเพชรบุรีที่คุ้งท่าซิก ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ส่งน้ำในพื้นที่ในระบบการส่งน้ำของโครงการเพชรบุรี ๓๓๖,๐๐๐ ไร่ และส่งไปใช้อุปโภคบริโภคที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ โดยทำได้แต่งานดิน งานทั้งโครงการเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ สินค้าใช้จ่าย ๓๘ ล้านบาท          ๒๑/ ๑๓๔๗๙
                ๔๐๑๖. เพชรกลับ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกจำพวกว่านชนิดหนึ่งมีเหง้าใต้ดินกลม ๆ ส่งลำต้นขึ้นมาเหนือพื้นดินสูงประมาณ ๖๐ ซม. ใบสีเขียว ด้านล่างสีม่วง ดอกสีแดง ออกที่ปลายยอด          ๒๑/ ๑๓๔๘๒
                ๔๐๑๗. เพชรบุรี  จังหวัดภาคตะวันตก มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ราชบุรี และจ.สมุทรสงคราม ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทิศตะวันตกจดทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเขาปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นที่ลาดจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก ทางทิศตะวันตกเป็นป่าและภูเขา นอกนั้นเป็นที่ราบลงไปจนถึงชายทะเล
                        จ.เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย เมืองนี้เดิมคงเป็นเมืองของมอญมาก่อน และคงจะเป็นเมืองที่รับอารยธรรมจากอินเดียมาแต่ดึกดำบรรพ์ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราชได้แผ่อำนาจขึ้นมาถึงทวารวดีและเขมร เพชรบุรีก็คงตกอยู่ในอำนาจด้วย ครั้นถึงตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าอนุรุทธกษัตริย์พุกาม ได้บุกรุกลงมาในดินแดนของเขมร ได้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไทยได้โอกาสจึงแผ่อำนาจลงไปทางใต้จนถึงแหลมมลายูในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เมืองเพชรบุรีจึงตกเป็นของไทย
                        สิ่งสำคัญในจังหวัดนี้คือ พระปรางค์ที่วัดมหาธาตุ และปราสาทหินที่วัดกำแพงแลง เป็นโบราณสถานสมัยขอมทั้งสองแห่ง และยังมีพระเจดีย์แดงที่วัดเสาธงอีกแห่งหนึ่ง ก็ว่าเป็นโบราณสถานก่อนสมัยสุโขทัย วัดสุวรรณาราม (วัดใหญ่) ที่ศาลาการเปรียญมีภาพฝีมือครั้งกรุงศรีอยุธยา และที่บานประตูสลักลวดลายงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่และปูชนียวัตถุอีกมาก เช่น เขาวัง เขาหลวง เขาบันไดอิฐ พระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระนอน          ๒๑/ ๑๓๔๘๒
                ๔๐๑๘. เพชรบูรณ์  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.เลย ทิศตะวันออกจด จ.ขอนแก่น และจ.ชัยภูมิ ทิศใต้จด จ.ลพบุรี และจ.นครราชสีมา ทิศตะวันตกจด จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และจ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศมีเทือกเขาขนานกับแม่น้ำป่าสักทั้งสองฟาก ตอนริมแม่น้ำท่วมถึงเกือบทุกแห่ง ถัดขึ้นไปริมเชิงเขาเป็นโคกสลับแอ่ง
                        จ.เพชรบุรีเป็นเมืองโบราณเป็นเมืองที่ได้สร้างมาสองยุค แต่สร้างซ้ำลงในที่เดียวกัน สิ่งที่สำคัญคือ พระมหาธาตุ และวัดโบราณ ทำให้เข้าใจว่า ยุคแรกจะสร้างเมื่อเมืองเหนือคือ สุโขทัย หรือพิษณุโลก เป็นเมืองหลวงด้วย เจ้าแม่น้ำไว้กลางเมือง เช่น เมืองพิษณุโลก แนวกำแพงเมืองกว้างยาวราว ๘๐ เมตร ยุคที่สองจะสร้างในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ด้วยมีป้อมและกำแพงก่อด้วยอิฐปนศิลาสัณฐาน คล้ายที่เมืองนครราชสีมา แต่เล็กและเตี้ยกว่า เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนกัน เป็นแตร่นแนวกำแพงเมืองให้เล็กลงกว่าเก่า ภูมิฐานที่สร้างส่อให้เห็นว่าส่วนรับป้องกันศัตรูทางฝ่ายเหนือ เพราะสร้างประชิดทางโคกป่าด้านเหนือ เอาทำเลไร่นาไว้ทางใต้เมืองทั้งสิ้น
                        จังหวัดนี้มีสิ่งสำคัญคือ วัดมหาธาตุ สละรี พุน้ำร้อน เมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองร้างสมัยโบราณและภูเขาภูปูน          ๒๑/ ๑๓๔๘๘
                ๔๐๑๙. เพชรมงกุฎ ๑ - พระ  เป็นชื่อตัวละครเอกฝ่ายชายในวรรณคดีเรื่องลิสิตเพชรมงกุฎ          ๒๑/ ๑๓๔๘๙
                ๔๐๒๐. เพชรมงกุฎ ๒ - ลิสิต  เป็นชื่อวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดง่ายสลับกับโคลงซึ่งเรียกว่า ลิสิต ผู้แต่งคือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อครั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต หรือสรรพวิชต
                        นิทานเรื่องเพชรมงกุฎเป็นนิทานเรื่องที่หนึ่งของนิทานเวตาล เนื้อเรื่องมีต้นเค้ามาจากวรรณคดีสันสกฤตประเภทนิทาน เรื่องราวของนิทานเรื่องนี้ เป็นการผจญภัยของพระเพชรมงกุฎ และในตอนจบผู้เล่าจะตั้งปัญหาตามผู้ฟังให้ตอบคำถามลักษณะนิทานแบบนี้เรียกว่า นิทานประเทืองปัญหา
                        ลักษณะการแต่งเรื่องนี้ดำเนินเรื่องตามแบบลิสิตพระลอแต่รวบรัดกว่า          ๒๑/ ๑๓๔๙๑
                ๔๐๒๑. เพชรสังฆาต  เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นอวบสีเขียว สี่เหลี่ยมเป็นครีบคอดเป็นข้อ ๆ ยาวประมาณ ๔.๕ เมตร ใบเดี่ยวรูปหัวใจหรือรูปไต มีมือจับอยู่ตรงข้ามกับใบ ดอกเล็กสีขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ มีมากดอกตามง่ามใบ ผลกลมโต สุกสีแดงรสเปรี้ยวจัด ใบและยอดอ่อนมีสรรพคุณรักษาโรคกะเพาะ บดเป็นผงกินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ น้ำคั้นจากลำต้นใช้กินเมื่อประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ และรักษาโรคลักกะปิดลักกะเปิด          ๒๑/ ๑๓๔๙๓
                ๔๐๒๒. เพ็ญ  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศตอนตะวันออก และตะวันตกเป็นที่ลุ่มทำนาได้ แต่หน้าฝนน้ำท่วมบ่อย ตอนเหนือ ตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ดอนมีป่าไม้มากมีทุ่งราบทำนาได้เป็นแห่ง ๆ
                        อ.เพ็ญ เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งแต่ไม่ปรากฏชื่อ และได้ร้างไปเสียนาน เดิมชื่อ อ.เมืองเพ็ญ เปลี่ยนเป็น อ.เพ็ญ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐          ๒๑/ ๑๓๔๙๔
                ๔๐๒๓. เพทราชา - สมเด็จพระ  เดิมเป็นคนสามัญชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นจางวางกรมช้าง มีฝีมือในราชการสงคราม กระทำความชอบหลายครั้ง ได้โดยเสด็จพระราชสงครามครั้งเชียงใหม่ด้วย ได้แสดงความสามารถ เมื่อครั้งของกองทัพไทยไปช่วยพระศรีไชยเชษฐา รักษาราชบัลลังก์กรุงกัมพูชา และขับไล่นักองตนจนต้องหนีไปพึ่งญวน นอกจากนั้นแม่ของพระเพทราชาเป็นพระนม และน้องสาวเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ
                        ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเปิดความสัมพันธ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสได้มีการแลกเปลี่ยนทูตต่อกัน ปรากฏว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น โดยเมื่อคณะทูตฝรั่งเศสครั้งที่สองซึ่งมีเซเบเรต์และเดอลาลูแบร์เป็นทูตได้เดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้นำกองทหารฝรั่งเศส ๖๓๖ คนและช่างฝีมือ ๑๐๐ คน และติดตามมาด้วยบาทหลวงเยซูอิตหลายรูป ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ได้ตามความเห็นของบรรดาขุนนางข้าราชการ และสามัญชน สถานการณ์ส่อว่า อาจจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น อันอาจจะเป็นภัยแก่บ้านเมืองได้ พระเพทราชาจึงได้รวบรวมขุนนาง ข้าราชการและไพร่พลเป็นสมัครพรรคพวก ตั้งเป็นคณะต่อต้านฝรั่งเศส เป็นคณะที่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป โดยมีหลวงสุรศักดิ์ (เดื่อ) บุตรพระเพทราชาเป็นบุคคลชั้นนำของคณะ
                        เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรประทับอยู่ในพระราชวังเมืองลพบุรี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้คบคิดกับบาทหลวงเยซูอิดฝรั่งเศส จะเกลี้ยกล่อมพระปีย์เป็นพรรคพวกของตน และให้เลื่อมใสในศาสนาคริสตัง พระปีย์ได้รับพระกรุณาอย่างมากจากสมเด็จพระนารายณ์เหมือนราชบุตรบุญธรรม
                        พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์คบคิดกันที่จะชิงราชบัลลังก์จึงได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย โดยขั้นแรกจัดการกำจัดคู่แข่งชิงราชสมบัติ และหัวหน้าสนับสนุนโดยสั่งกองทหารล้อมพระราชวังเมืองลพบุรี ซึ่งได้ใช้เป็นกองบัญชาการ แล้วอ้างพระราชโองการ เรียกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และนายทหารฝรั่งเศสไปอยู่ที่เมืองนั้น อ้างว่ากำลังสืบจับผู้คิดกบฎชิงราชบัลลังก์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และพระปีย์ประหารชีวิตเสีย ขั้นต่อมาได้ออกอุบายให้เจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อยเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปเมืองลพบุรี แล้วจัดการปลงพระชนม์เจ้านายทั้งสองเสีย ขั้นที่สามต่อมาพระเพทราชา ออกอุบายจะให้กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองธนบุรี และเมืองมะริด ยกขึ้นไปเสริมกำลังกองทัพไทยที่จะไปทางเมืองลาว แต่กองทหารฝรั่งเศสไม่ยอมไป กองทหารไทยจึงยกไปล้อมป้อมทางฝั่งตะวันออกของเมืองธนบุรี ในที่สุดนายพลเดอฟอร์ชยอมถอนทหารฝรั่งเศสออกจากเมืองไทย
                        สมเด็จพระนารายณ์ ฯ สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ มีพระชันษา ๕๖ ปี เวลานั้นหมดสิ้นเจ้านายที่จะรับรัชทายาท ข้าราชการทั้งปวง จึงจำต้องเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ขณะมีพระชันษา ๕๖ ปี ครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี พระองค์ทรงกระชับสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ปราสาททอง โดยโปรดให้พระอัครมเหสีเดิมเป็นพระอัครมเหสีกลาง พระราชกัลยาณีกรมหลวงโยธาทิพ พระบรมราชภดินี้ของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระราชธิศของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย นอกจากนั้นก็ได้สถานปนาหลวงสรศักดิ์เป็นวังหน้า ตั้งนายจบคชประสิทธิศิลป์เป็นวังหลัง ตั้งนายกรินคชประสิทธิ์ทรงบาศซ้าย ซึ่งเป็นพระนัดดาเป็นเจ้าราชนิกูลชื่อเจ้าพระยาพิชัยสุรินทร เป็นต้น
                        สมเด็จพระเพทราชา ประสบภัยที่มีอยู่กำเริบพยายามก่อการกบฎตลอดเวลา ๑๕ ปี การกบฎต่าง ๆ ที่ได้จัดการปราบลงได้ คือ กบฎธรรมเถียร กบฎพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยารามเดโชชัยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และกบฎบุญกว้าง
                        ในตอนปลายแผ่นดินของพระองค์ การสืบราชสมบัติได้กลายเป็นปัญหายุ่งยากด้วยเหตุว่าวังหน้า (หลวงสรศักดิ์) มีความปรารถนาจะได้ครองราชย์ จึงได้ดำเนินการกำจัดผู้ที่จะเป็นอุปสรรค ด้วยการโค่นอำนาจวังหลัง และเจ้าพระยาสุรสงคราม
                        สมเด็จพระเพทราชาทรงมีพระราชโอรส กับเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าขวัญ มีผู้รักใคร่นับถือกันมากด้วยเหตุว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทางพระราชมารดา วังหน้าได้ออกอุบายให้จับเจ้าฟ้าขวัญไปสำเร็จโทษเสีย สมเด็จพระเพทราชาทรงพิโรธมาก ทรงมอบเวนราชสมบัติให้เจ้าพระยาพิชัยสุรินทร์พระนัดดา และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๒๔๖ เจ้าพระยาอภัยสุรินทร์ ได้นำเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ไปถวายวังหน้า ให้รับมอบราชสมบัติ          ๒๑/ ๑๓๔๙๕
                ๔๐๒๔. เพนิซิลลิน  เป็นชื่อสารประกอบอินทรีย์ชื่อนำไปใช้เป็นยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมายหลายชนิด เพราะว่าไม่ทำอันตรายต่อเซลล์ของร่างกาย และทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวทวีจำนวนออกไปได้อีกและในที่สุดก็ถูกทำลายไป เพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรก ที่นำมาใช้รักษาโรค และนับเป็นการเริ่มศักราชของการใช้ยาปฏิชีวนะ เซอร์ละเล็กซานเดอร์เฟลมิงเป็นผู้ค้นพบสารนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑
                        เพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคได้มากกมายหลายโรค ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ประเภทแกรมบวก และประเภทแกรมลบบางชนิด แต่ใช้รักษาไม่ได้กับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส          ๒๑/ ๑๓๕๐๔
                ๔๐๒๕. เพนียด  สมัยโบราณมีการจับช้างไว้ใช้ราชการ จึงต้องสร้างเพนียด คือ คอก เมื่อต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด แล้วจึงคัดเลือกตามต้องการของทางราชการ
                        ลักษณะของเพนียดทำด้วยเสาไม้แก่น มีความแข็งแรงมั่นคงทั้งต้น ปักลงไปพื้นดินลึก ๑.๕ - ๒.๐ เมตร ปักเรียงรายห่างเว้นระยะแต่ละต้น ให้หมอช้างความช้าง และผู้มีหน้าที่ในการคล้องช้าง หลบตัวออกมาได้สะดวกพ้นอันตราย เมื่อช้างไล่ทำร้ายคอก หรือเพนียดนี้ ปักเสาล้อมเรียงรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปไข่ใช้พื้นที่ล้อมเป็นเพนียดประมาณ ๒๐ หรือ ๓๐ ไร่ มีประตูด้านหน้าที่ช่องโค้งหัวตัว อ และหางตัว อ จัดเป็นประตูด้านที่ต้อนล่อนำช้างเข้าเพนียด และที่ด้านหลังมีประตูสำหรับ คัดเลือกช้างสำคัญ ที่ต้องการได้แล้ว จะได้ผ่านเข้าประตูหลังนี้ ที่ประตูจะมีเสาที่เรียกว่า เสาโตงเตง คือ เป็นเสาคู่ขนานเมื่อช้างลอดผ่านเข้าไปแล้ว เสาจะปิดกันขวางประตูช้างจะออกไปอีกไม่ได้ ส่วนช้างที่ไม่ต้องการก็ปล่อยออกทางประตูแรกเข้า
                        ในการคล้องช้างเข้าเพนียด จะมีพลับพลาสร้างติดกับเพนียดด้านหนึ่ง สำหรับพระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรในพลับพลา จะต้องเทวรูปพระพิฆเนศสำหรับสักการะ และนอกเพนียดอีกด้านหนึ่ง จะต้องปลูกศาลตั้งรูปพระครูประกำ ซึ่งเป็นครูของหมอเฒ่า หมอช้าง หมอควาญ เป็นเทวรูปหล่อด้วยโลหะสำริด ลักษณะหน้าเป็นคน ผมศีรษะเลียบ โดยรวมปกไว้ด้านหลัง นั่งบนแท่นโลหะหน้ากระดานสองชั้น มือถือด่อน (เหล็กกลมปลายแหลมด้ามเจาะรู) และถือเชือกบาศ (ทำด้วยโลหะ) เหน็บขอช้างไว้ข้างหลัง
                        การคล้องช้างในเพนียดมีมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ห้า มีการคล้องช้างไปเพนียดถึงสี่ครั้ง          ๒๑/ ๑๓๕๑๒
                ๔๐๒๖. เพรซีโอดิเมียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๕๙ มีผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ จากแร่ไดดิเมีย ธาตุนี้มีปรากฏอยู่เป็นปริมาณน้อยในธรรมชาติ และเป็นธาตุที่หายากธาตุหนึ่ง เป็นโลหะมีลักษณะอ่อนตีแผ่ให้เป็นแผ่นได้ สีเหลืองอ่อน ๆ คล้ายสีเงิน เมื่อทิ้งไว้ในอากาศผิวจะกลายเป็นสีเขียว เนื่องจากทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ
                        ประโยชน์ของธาตุนี้ก็คือ ใช้เจือในโลหะเจือ ใช้ทำถ่านไฟแช็ก เจือลงในแมกนีเซียมอัลลอย เพื่อใช้ทำชิ้นส่วนของเครื่องยนต์เจ็ต ใช้ผสมกับธาตุนีโอดิเมียม เพื่อทำแก้วไดดีเมียม ซึ่งนำไปใช้ทำแว่นสำหรับป้องกันสายตา เป็นต้น          ๒๑/ ๑๓๕๑๔
                ๔๐๒๗. เพรียง  เป็นหอยสองฝาที่เจาะไชไม้ และอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ การเจาะไชทำให้ไม้และท้องเรือชำรุดเสียหายบางที่เรียกว่า หนอนเรือ
                        เพรียงมีรูปร่างยาวคล้ายนหนอน ลำตัวสีค่อนข้างขาวขุ่น เปลือกเป็นสองฝาสีขาวขนาดสั้นกว่าลำตัวมาก จึงคลุมเฉพาะส่วนต้นของลำตัวไว้ ลำตัวส่วนที่เหลือมีหลอดที่เป็นหินปูนบาง ๆ หุ้มไว้ ด้านนอกของเปลือกเป็นสันคมคล้ายฟันเลื่อย เมื่อหมุนตัวไปมาเปลือกจะเจาะไม้ให้เป็นรูลึกลงไปทีละน้อย ๆ บางรูลึกถึง ๖๐ ซม. เมื่อเข้าอยู่ในรูแล้ว ก็จะไม่มีการเคลื่อนย้ายอีกตลอดชีพ เพรียงจะอยู่ในรูทั้งตัว แต่จะยื่นส่วนท้ายที่มีพัลเล็ตหนึ่งคู่ และท่อน้ำซึ่งมีสองท่อโผล่ขึ้นมาเหนือรู เป็นทางให้น้ำไหลเข้าและออก ระยะที่เป็นตัวอ่อนอยู่ในน้ำทะเลจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ เมื่อเจริญถึงระยะที่มีเปลือกจึงเข้าเกาะตามไม้
                        นอกจากนี้คำว่า "เพรียง"ยังใช้เรียกชื่อสัตว์ที่อยู่ในทะเลอีกพวกหนึ่งที่พบเกาะอยู่ตามก้อนหิน หรือไม้ที่อยู่ในทะเล อาศัยไม้หรือก้อนหินเป็นที่ยึดเกาะ แต่ไม่เจาะหรือทำอันตรายต่อไม้ ตัวมีเปลือกแข็งหุ้มเพื่อป้องกันอันตราย          ๒๑/ ๑๓๕๑๖
                ๔๐๒๘. เพลง ๑  หมายถึง เสียงร้องหรือเสียงดนตรีที่เป็นทำนองเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับสับสนกันตามแต่ผู้แต่งได้ประดิษฐ์เรียบเรียงขึ้นโดยมีประโยค วรรค ตอน สัมผัสและจังหวะถูกต้องตามทฤษฎีดุริยางคศิลป์ เพลงแต่ละเพลงมีความยาวไม่เท่ากัน บางเพลงมีท่อนเดียวจบ บางเพลงมีสองท่อน สามท่อน สี่ท่อนจบ บางเพลงยาวถึงเจ็ดท่อนจบก็มี นอกจากนั้นยังแบ่งเพลงออกไปตามลักษณะและกรณีที่ใช้เป็น
    หลายจำพวกคือ เพลงมโหรี เพลงเสภา เพลงเรื่อง เพลงตับ เพลงเกร็ด เพลงหน้าพาทย์ เพลงเบ็ดเตล็ด และเพลงภาษา
                       เพลงมโหรี  บรรเลงเพื่อการขับกล่อม บรรเลงด้วยวงมโหรี ในสมัยอยุธยามีแต่เพลงอัตราสองชั้นเท่านั้น บางทีก็รวมหลาย ๆ เพลง บรรเลงติดต่อกันเป็นตับ เรียกชื่อตามชื่อเพลง อันดับแรกของตับเท่านั้น บางทีก็แยกออกบรรเลงเป็นเพลง ๆ เรียกว่าเพลงเกร็ด หรือเพลงเกร็ดนอกเรื่อง
                       เพลงเสภา  คือเพลงที่ร้องแทรกในการขับเสภา เริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงเสภาแล้ว จึงมีเพลงร้องต่าง ๆ ให้มีพาทย์รับ ในสมัยโบราณเป็นเพลงอัตราสองชั้นเท่านั้น ครั้งถึงรัชกาลที่สี่ ความนิยมเพลงสามชั้นได้แพร่หลายขึ้นในวงการบรรเลง เพลงปี่พาทย์ เพลงเสภาจึงเปลี่ยนเป็นเพลงสามชั้นไปด้วย
                       เพลงเรื่อง  เป็นเพลงหลาย ๆเพลงที่นำมาเรียบเรียงต่อกัน บรรเลงดนตรีโดยเฉพาะไม่มีขับร้อง และใช้ชื่อเพลงอันดับแรกเป็นชื่อเรื่อง แบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง เช่น เรื่องเพลงช้า เรื่องเพลงฉิ่ง เรื่องเพลงเร็ว เรื่องปี่ชวา
                       เพลงตับ  คือเพลงหลาย ๆ เพลงนำมาขับร้อง และบรรเลงติดต่อกันซึ่งแยกได้เป็นสองอย่างคือ ตับเพลงและตับเรื่อง
                       เพลงเกร็ด  ได้แก่ เพลงที่ขับร้อง หรือบรรเลงโดยเฉพาะเป็นเพลง ๆ ไม่ติดต่อกับเพลงอื่น
                       เพลงหน้าพาทย์  หมายถึง เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาทั้งปวง หรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของมนุษย์ ของสัตว์ ของเทวดา ฯลฯ หรือวัสดุใด ๆ
                       เพลงเบ็ดเตล็ด  ได้แก่ เพลงเล็ก ๆ อัตราสองชั้น หรือชั้นเดียว ซึ่งไม่อยู่ในเพลงตับ หรือเพลงเรื่องใด ๆ นำมาบรรเลงเป็นพิเศษ
                       เพลงภาษา  เป็นเพลงที่นำมาจากเพลงชองชาติอื่น หรือเพลงไทยแต่แต่งให้ทำนอง มีสำเนียงเป็นของชาติอื่น
                       เพลงประเภทดังกล่าวนี้ เป็นไปตามกำหนดของเพลงนั้น ๆ แต่ในด้านดนตรี ผู้แต่งอาจดำเนินทำนองไปได้หลายประการ ซึ่งเรียกว่า ทาง อาจเป็นทางพื้นไม่พลิกแพลง ทางกรอ ดำเนินทำนองเป็นเสียงยาวเป็นระยะ ๆ ทางลูกล้อลูกขัด คือมีลูกเล่นที่ผลัดกันบรรเลงสลับเป็นตอน ๆ          ๒๑/ ๑๓๕๑๙
                ๔๐๒๙. เพลง ๒  หมายถึง การร้องที่เล่นเพื่อความรื่นเริง เป็นพื้นบ้านหรือพื้นเมือง บางอย่างก็ร้องเล่นตามฤดูกาล เพลงประเภทนี้แต่ละอย่างวางแบบทำนองไว้เป็นหลักเท่านั้น ผู้ร้องจะยักเยื้องไปได้ตามเสียงของถ้อยคำ และมีความยาวไม่จำกัด แล้วแต่ผู้ร้องจะลงเมื่อใด โดยมากมักจะมีลูกคู่คอยร้องรับ ในตอนลงจบหรือแทรกสลับเป็นตอน ๆ เช่น เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงปรบไก่ เพลงโคราช เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเทพทอง เพลงเรือ            ๒๑/ ๑๓๕๒๓
                ๔๐๓๐. เพลง ๓  หมายถึง ท่ารำอาวุธ หรือการต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ ในสมัยโบราณ การรำหรือต่อสู้กันไปจบขบวนหนึ่ง ก็เรียกว่า เพลงหนึ่ง           ๒๑/ ๑๓๕๒๖
                ๔๐๓๑. เพลี้ย ๑  เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ดีดเป็นเสียง ทำด้วยไม้ไผ่ซีกเล็กๆ ยาวไม่จำกัด แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าของ ในตอนที่ยาวพ้น ส่วนสำคัญที่ทำลิ้นให้เกิดเสียงแล้ว บางคนก็เหลาให้เรียวยาว ส่วนสำคัญที่จะให้เกิดเสียงนั้น จะต้องเจาะขุดเนื้อไม้ทางด้านท้องให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เซาะเหลาด้านผิวไม้ทำลิ้นเป็นเข็ม อยู่ตรงกลางสองข้างลิ้น มีปีกหรือกราบ เป็นแผ่นบางเลื่อนตากแต่งให้ได้ส่วนสัดกับลิ้น ตอนหัวเหลาให้มน และบากปลายลงให้พอเหมาะ ที่จะใช้หัวแม่มือดีด เสียงเพลี้ยมีระดับเดียว รูปลักษณะของเพลี้ย คล้ายกับจ้องหน่อง แต่จ้องหน่อง ต้องมีสายเชือกผูกตอนหัว สำหรับกระตุกให้เป็นเสียงเรียกว่า ชัก             ๒๑/ ๑๓๕๒๖

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch