หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สารานุกรมไทยฉบับย่อ/111
    ๓๙๙๗. พุทธคยา ๒  เป็นชื่อวัดไทยที่รัฐบาลไทยสร้างขึ้นที่พุทธคยา เรียกชื่อเต็มว่า วัดไทยพุทธคยา สร้างขึ้นในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ อยู่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๔๐๐ เมตร            ๒๑/ ๑๓๓๘๐
                ๓๙๙๘. พุทธชาด - ต้น  เป็นไม้เถาเล็กๆ นิยมปลูกตามบ้านทั่วไป เนื่องจากดอกมีกลิ่นหอมมาก ใบเป็นแบบใบผสม มีใบย่อยสามใบ ตัวใบรูปโค้งรี หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลกลมสีดำ           ๒๑/ ๑๓๓๘๒
                ๓๙๙๙. พุทธรักษา  มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ในดิน และแทงหน่อขึ้นมาชิด ๆ กัน ทำให้ดูเป็นกอแบบต้นขมิ้น ข่า ฯลฯ สูง ๑ - ๑.๕๐ เมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบแบบใบกล้วย แต่รูปโค้งรี หรือรูปไข่โค้งรี ช่อดอกออกที่ปลายลำต้นเป็นก้านยาว ไม่แตกแยกสาขา แต่มีดอกมาก ซึ่งจะทยอยกันบาน ครั้งละ ๑ - ๓ ดอก ขนาดดอกเล็กปานกลาง สีเแดง หรือเหลืองสด ผลกลมเปลือกสีน้ำตาล            ๒๑/ ๑๓๓๘๓
                ๔๐๐๐. พุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทรงพระนามเดิมว่า ฉิม เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
                        พ.ศ.๒๓๓๒ ทรงผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ต่อมาได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าบุญรอด เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงสถาปนาเป็น พระอัครมเหสี มีพระราชโอรสด้วยกันสามองค์ องค์ที่หนึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์  องค์ที่สองคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และองค์ที่สามคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ส่วนพระราชโอรสองค์ใหญ่คือ พระองค์เจ้าทับ ประสูตแต่เจ้าจอมมารดาเรียม ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ภายหลังได้ครองราชย์ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
                        พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗
                        ในการพัฒนาบ้านเมือง พระองค์ทรงมีความมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างการป้องกันเมืองหน้าด่านไว้ โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่ปากลัด สำหรับสกัดกั้นข้าศึกที่อาจจะมาทางทะเล มีป้อมและเครื่องป้องกันข้าศึกทุกปราการ พระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ โปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้น ให้มีป้อมปราการและเครื่องป้องกันข้าศึก ที่จะมารุกรานทางทะเล
                        กรุงรัตนโกสินทร์ได้ธงชาติประจำประเทศไทย ในรัชสมัยของพระองค์เป็นครั้งแรก โดยโปรดให้ทำรูปช้างสี่ขาว อยู่กลางวงจักร ติดในธงพื้นแดง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ ต่อมาให้มีรูปช้างสีขาว ในธงแดงเท่านั้น เพื่อใช้เป็นธงสำหรับชักบนเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายกับนานาประเทศ
                        พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทรงให้สร้างวัดสุทัศน์ ต่อจนเสร็จทรงให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดแจ้ง แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชวราราม โปรด ฯ ให้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาท ต่อจนเสร็จ
                        พระองค์ได้มีพระราชกำหนดห้ามการสูบฝิ่น และการซื้อขายฝิ่น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๔ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษรุนแรง
                        พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางวรรณกรรมและศิลปกรรม วรรณคดีของชาติเจริญรุ่งเรืองมากในรัชสมัยของพระองค์ ทรงชำนิชำนาญลักษณะโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระราชนิพนธ์ที่สำคัญคือ บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ ไชเชษญ์ คาวี ไกรทอง มณีพิชัย และสังข์ทอง เสภาเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน กาพย์เห่เรือ
                        ในด้านการต่างประเทศ พม่าได้ยกำลังทางบกและทางเรือ มาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียงสองเดือน พม่าตีได้เมืองตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่ง แล้วข้ามไปล้อมเมืองถลาง พอทราบว่ากองทัพไทยยกมาใกล้เมืองถลาง จึงกวาดต้อนผู้คนริบทรัพยสมบัติเอา จุดไฟเผาเมืองถลาง แล้วยกทัพกลับไป ส่วนกองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองชุมพร ต้านทานกองทัพไทยไม่ได้ก็แตกหนีกลับไป  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๒ พระเจ้าจักกายแมง ได้เกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรีเข้าเป็นพวก ชุมนุมกองทัพที่เมืองเมาะตะมะ ฝ่ายไทยจัดกำลังสี่กองทัพ กองทัพที่หนึ่งไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อต่อสู้ข้าศึกที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพที่สอง ตั้งอยู่ที่เมืองพชรบุรี เพื่อต่อสู้ข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางด่านสิงขร กองทัพที่สาม ยกไปทางเมืองถลาง กองทัพที่สี่ คอยต่อสู้ข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่ทัพพม่าไม่ยกเข้ามาเพราะต้องเผชิญศึกกับอังกฤษ
                        เกี่ยวกับเขมรและญวน เมื่อตอนต้นรัชกาลเขมรเป็นประเทศราชของไทย ญวนเป็นไมตรีกับไทย ต่อมาเขมรมักไม่เชื่อฟังไทย และส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้ญวนทุกปี
                        ในด้านสัมพันธภาพกับจีนในปี พ.ศ.๒๓๕๓ โปรดให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าเกียเข่ง ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อทรงทราบที่ได้มีการเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พร้อมกับการเจริญทางพระราชไมตรีที่ได้มีมาแต่ก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๓ พระเจ้าเต้ากวางราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ ได้มีพระราชสาสน์มาแจ้งว่า จีนได้เปลี่ยนรัชกาลทางไทย ได้ให้พระยาสุวัสดิสุนทรเป็นราชทูต เชิญพระราชสาสน์ไปถวายบังคมพระศพพระเจ้าเกียเข่ง และแสดงความยินดีกับพระเจ้าเต้ากวาง พร้อมถวายเครื่องราชบรรณาการ การเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับจีน มีลักษณะเป็นพระราชไมตรี เพื่อขอความสะดวกในการค้าขายกับจีน
                        โปร์ตุเกสเป็นประเทศในทวีปยุโรปที่ไทยได้เปิดความสัมพันธ์เป็นประเทศแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๑ เจ้าเมืองหมาเก๊าได้ให้ชาวโปร์ตุเกสผู้หนึ่ง เดินทางเข้ามาขอความสะดวกในการค้าขาย และการต่อเรือ ฝ่ายไทยได้ในการต้อนรับในฐานะเป็นพ่อค้าชาวต่างประเทศ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยวานิช พร้อมกับที่ดินและบ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตโปร์ตุเกส หลวงอภัยวานิชได้นำปืนมาขายให้แก่รัฐบาลไทย และต่อมาก็ได้เป็นกงสุลโปร์ตุเกสประจำกรุงเทพ ฯ
                        อังกฤษได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยภายหลังโปร์ตุเกส รัฐบาลอังกฤษมอบให้ผู้สำเร็จราชการอินเดีย แต่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนในปี พ.ศ.๒๓๖๕ ฝ่ายจอห์นครอเฟิร์ดได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตมาเจรจาขอให้ไทยยกเลิก หรือลดหย่อนการเก็บภาษี และวิธีการค้าขายสินค้าบางอย่างเป็นของหลวง และต้องการเจรจาเรื่องเมืองไทรบุรีกับไทยด้วย โดยประสงค์จะให้เจ้าพระยาไทรบุรีพ้นจากอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช แต่การเจรจาประสบความล้มเหลวเนื่องจากอุปสรรคทางภาษา           ๒๑/ ๑๓๓๘๔
                ๔๐๐๑. พุทธวงศ์  เป็นคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย สุตตันตุปิฎกเป็นคัมภีร์ลำดับที่ ๑๔ ในจำนวน ๑๕ คัมภีร์ด้วยกัน ได้พรรฌาความเป็นสี่ตอน
                       ตอนที่หนึ่ง แสดงรัตนจงกลมกัณฑ์ว่าด้วยพระพุทธานุภาพ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศ
                       ตอนที่สอง แสดงพุทธวงสกถาว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์
                       ตอนที่สาม แสดงพุทธปกิฌกัณฑ์ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
                       ตอนที่สี่ แสดงธาตุภาชนียกถาว่าด้วยการแจกพระบรมสารีริกธาตุ
                      ตอนที่หนึ่งแสดงพุทธานุภาพ  เริ่มต้นแต่ท้าวมหาพรหมทราบพุทธปริชิตกว่า ทรงมีความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ที่จะไม่ทรงแสดงธรรม จึงมาเฝ้ากราบทูลอาราธนาว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสธุลีในจักษุน้อย เมื่อได้ฟังธรรมย่อมสามารถรู้ได้ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์เหล่านั้นด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงทรงสดับแล้วได้ตรัสว่าสัตว์เหล่าใดมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ตั้งใจฟ้งด้วยดีตภาคตจะเปิดประตูนิพพานอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น บัดนี้ตถาคตตกลงใจว่าจะแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายแล้ว ขณะนั้นมารผู้มีบาปได้ช่องจึงเข้ามาเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลว่า ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จหมดแล้ว พระองค์เสร็จต่อพรหมจรรย์แล้ว บัดนี้เป็นสมควรแล้วที่จะเสด็จปรินิพานได้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มารผู้มีบาปตถาคตจะยังไม่ปรินิพพานก่อน ตราบเท่าที่พรหมจรรย์นี้ของเรา จักยังไม่สำเร็จประโยชน์แพร่หลายกว้างขวางชนหมู่มาก รู้ทั่วถึงธรรมเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เป็นไปมากและตราบเท่าที่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ในลำดับนั้นพระองค์ทรงอธิษฐานพระองค์ ในอันที่จะสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้บรรลุมรรคผลนิพพานสืบต่อไป จากนั้นก็ทรงเลือกหาผู้ที่สมควรจะรับธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรเห็นปัญจวัคคีย์ด้วยพุทธญาณ จึงได้เสด็จไปโปรดด้วยพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา เมื่อจบเทศนานั้นพระอัญญาโกณทัญญะได้รู้ทั่วถึงธรรมว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา จากนั้นได้ทรงแสดงธรรมโปรดท่านที่เหลือทั้งสี่ ให้พิจารณาเห็นธรรมตามเป็นจริง บรรลุมรรคผลตามสามารถ แล้วประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ทั้งสี่ท่าน แล้วทรงแสดงอนัตตลักขณธรรม เมื่อเทศนาจบท่านทั้งห้าบรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม โปรดพระยศกับสหายอีก ๕๔ องค์ รวมเป็น ๕๕ องค์ ได้พระอรหันต์หกสิบองค์ แล้วตรัสส่งให้พระสาวกเหล่านั้น ไปแสดงธรรมสั่งสอนประชาชนในทิศต่าง ๆ ด้วยพระดำรัสว่า พวกเธอตัดบ่วงที่ผูกพันตนเองได้แล้ว จงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก จงไปทางละคนอย่าไปทางเดียวกัน สองคน ส่วนเราตถาคตก็จะไปยังตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฏิลสามพี่น้อง เมื่อพระผู้มีพระภาคโปรดชฏิลสามพี่น้อง พร้อมบริวารหนึ่งพัน ให้บรรลุมรรคผลแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสมบท จากนั้นเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์ เพื่อทรงเปลืองปฏิญญาที่ถวายไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมไพร่ฟ้าประชาชนเป็นจำนวนมาก ให้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายสวนหลวงเวฬุวัน เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก
                        พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธวิตกว่า พวกพรหมพร้อมเทวดา มาร คผธรรมห์ นาค ครุฑ ไม่รู้จักว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พุทธานุภาพเป็นอย่างไร พระกำลังเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้ามีประโยชน์แก่โลกอย่างไร จึงแสดงพุทจานุภาพให้ปรากฎชัด ทรงเนรมิตรัตนจงกรมในนภากาศแล้วเสด็จจงกลมอยู่ ทรงบันดาลให้โลกนี้ เทวโลกและพรหมโลกสว่างไสวเป็นอันเดียวกัน อันนั้นเป็นความมหัศจรรย์ บรรดาเทวดาทุกชั้น และเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมต่างก็แสดงความยินดี ทวยเทพในหมื่นโลกธาตุมาประชุมกัน ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกระทำพุทธบูชา
                       ตอนที่สองว่าด้วยพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์  ได้แก่ พระทีปังกรพุทธเจ้า พระโกญทัญญพุทธเจ้า พระมงคลพุทธเจ้า พระสมุนพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า พระอโนมาทัสสีพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้าพระนารทพุทธเจ้า พระปทุมุตรพุทธเจ้า พระสุเมธพุทธเจ้า พระสุชาตพุทธเจ้า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า พระสิทธัตถพุทธเจ้า พระติสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้า พระวิปัสสัพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า
                       พระโคตมพุทธเจ้า  เสด็จอุบัติ ณ สวนลุมพินี พรมแดนเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบทกับเมืองเทวทหะแคว้นเดียวกัน พระเจ้าสุทโธทนราชาเป็นพระชนก พระนางเจ้ามหามายาราชเทวีเป็นพระชนนีเสด็จอยู่ครองฆราวาส ๒๙ ปี พระนางเจ้ายโสธราเทวีเป็นพระชายา มีพระโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่าราหุลกุมาร ทรงเห็นนิมิตสี่ประการ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยอัสวราชยานพระที่นั่งต้น ทรงบำเพ็ญเพียรประพฤติทุกกรกิริยาอยู่หกปี ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมนาสัมโพธิญาณ ณ ภายใต้ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์โพใบ เป็นไม้โพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลเสนานิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลอาราธนาเสด็จจากพุทธคยา ไปยังกรุงพาราณสี ทรงประกาศพระอนุตรธรรมจักรอันบวร โปรดคณะพระปัญจวัคคัย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี แคว้นกาสี ทรงพักจำพรรษา ณ ที่นั้น ทรงแสดงธรรมโปรดพระยศกับพวกอีก รวม ๕๕ คน หมดฝนแล้วได้พระสาวก ๖๐ องค์ ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ณ ทิศต่าง ๆ ส่วนพระองค์เองเสด็จกลับไปยังตำบลอุรุเวลา เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้องกับบริวารหนึ่งพันองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแล้ว ทรงพาเข้ากรุงราชคฤห ทรงเปลื้องปฏิญญาที่ถวายไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงพาภิกษุสงฆ์เข้าพัก ณ วัดเวฬุวัน มีพระสารีบุตรเถระกับพระมหาโมคคัลลานเกระ เป็นคู่พระอัครสาวก พระอานนท์เถระเป็นพระพุทธอุปฐาก พระเขมาเถรีกับพระอุบลวรรณาเถรีเป็นคู่พระอัครเถรี จิตตคฤหบดีกับหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเป็นคู่อัครอุปัฏฐาก นางนันทมาตาอุบาสิกากับนางอุตราอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา ในพระศาสนานี้มีมหาสาวกสันนิบาตครั้งเดียว มีพระสงฆ์มาประชุมกัน ๑,๒๕๐ องค์ พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงแสดงหลักทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักสำคัญสามประการ ห้ามทำความชั่วทั้งปวง ให้ทำความดีให้บริบูรณ์ ให้ทำจิตให้สะอาดหมดจด พระองค์ทรงดำรงค์พระชนม์อยู่ประมาณ ๑๐๐ ปี (ในมหาปรินิพพานสูตร มหาวรรคทีฆนิกายและพระสูตรอื่นว่า ๘๐ ปี) ทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัยไว้พระศาสนาแก่บริษัททั้งสี่ (ภิกษุ ภิกษุนี อุบาสก อุบาสิกา - เพิ่มเติม) เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างต้นรังทั้งคู่ในสาลวโนทยาน สวนหลวงกรุงกุสินารา แคว้นมัลละ พระบรมธาตุของพระองค์แผ่ไปในทิศต่าง ๆ
                       ตอนที่สาม แสดงพุทธปกิณกกัณฑ์  ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าข้อความสำคัญก็คือ แสดงว่ากัปไหนมีพระพุทธเจ้าที่กล่าวพระนามมาแล้ว เสด็จอุบัติในกัปไหน
                       ตอนที่สี่แสดงธาตุภาชนียกถา  ว่าด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกาธาตุไปในประเทศต่าง ๆ พระบรมสารีริกาธาตุทะนานหนึ่ง พระเจ้าอชาติศัตรู ทรงนำไปใช้ที่นครราชคฤห์ ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองเวสาลี ทะนานหนึ่งอยู่ในนครกบิลพัสดุ์ ทะนานหนึ่งอยู่ในอัลลกัปปนคร ทะนานหนึ่งอยู่ในรามคามนคร ทะนานหนึ่งอยู่ในเวฏฐาทีปกนคร ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองปาวาของมัลลกษัตริย์ ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองกุสินารา
                        โทณพราหมณ์ให้สร้างสถูปบรรจุทะนานทอง โมฬิยกษัตริย์ให้สร้างสถูปบรรจุพระพุทธสรีรางคาร พระสถูปบรรจุพระบรมธาตุแปดแห่งเป็นเก้าแห0่ง ทั้งตุมพเจดีย์ รวมพระอังคารด้วยเป็นสิบแห่ง          ๒๑/ ๑๓๓๙๕
                ๔๐๐๒. พุทไธศวรรย์ - วัด  เป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่คนละฝั่งกับตัวเมือง สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดให้สถาปนาวัดนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖ เกือบพูดได้ว่าเป็นวัดเดียวที่มิได้ถูกข้าศึกทำลาย เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๓๑๐ ฉะนั้นจึงยังคงมีสิ่งที่เป็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน ปรากฎอยู่เพื่อเป็นพยาน ถึงความรุ่งเรืองสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชะานี
                        สิ่งสำคัญของวัดมีอยู่ทั้งในเขตพุทธาวาส ที่มีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนยาว ๑๙๒ เมตร กว้าง ๙๒ เมตร และอยู่ภายนอกเขตพุทธาวาส แต่อยู่ใกล้ ๆ กับกำแพงแก้ว คือ
                         ๑.  พระอุโบสถ  ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปใหญ่เก้าองค์ พัทธสีมาเป็นสีมาคู่ รอบพัทธสีมามีวิหารหลังเล็ก ๆ และหมู่พระเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ
                        ๒.  พระปรางค์ หรือพระมหาธาตุ  ตั้งอยู่กึ่งกลางบริเวณพุทธาวาส อยู่หน้าพระอุโบสถ
                        ๓.  พระระเบียงรอบพระปรางค์ เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส รอบพระระเบียงมีพระพุทธรูปนั่งปางต่าง ๆ ร้อยแปดองค์
                        ๔.  ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อยู่นอกเขตพุทธาวาสใกล้กำแพง ด้านทิศตะวันตก
                        ๕.  สิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ วิหารพระนอน วิหารสี่ทิศ วิหารทรงเครื่อง และพระเจดีย์ห้ายอด เป็นต้น    ๒๑/ ๑๓๔๒๓
                ๔๐๐๓. พุทไธสง  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศตอนตะวันออกเป็นที่ลุ่ม ตอนกลางและตอนตะวันตกเป็นที่ราบ และป่าโปร่งทำนาได้มีเกลือสินเธาว์ทั่ว ๆ ไป หน้าแล้งกันดารน้ำ
                        อ.พุทไธสงเป็นเมืองเก่าสมัยขอม ยังมีเนินดินปรากฏอยู่ที่เรียกชื่อว่า พุทไธสงนี้ เลือนมาจากภาษาเขมร คือ บันทายสรอง แปลว่ากำแพงสูง          ๒๑/ ๑๓๔๒๘
                ๔๐๐๔. พุทไธสวรรย์ - พระที่นั่ง ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดให้ย้ายมิวเซียมจากศาลาสหทัยสมาคม ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ไปตั้งในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลแทน
                        พระที่นั่งพุทไธสวรรย์นี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้โปรดให้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.๒๓๓๘ ให้เป็นพุทธสถานถวายเป็น พระวิมานประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่ได้ทรงอัญเชิญมาเมื่อคราวเสด็จเป็นจอมทัพ ไปช่วยพระยาเชียงใหม่กาวิละขับไล่กองทัพพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ และใช้เป็นที่สำหรับทำการพระราชพิธีต่าง ๆ
                      พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ เป็นสถานที่สำคัญเก่าแก่ และมีคุณค่ายิ่งในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดี ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบศิลปะ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น          ๒๑/ ๑๓๔๒๘
                ๔๐๐๕. พุทรา  เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดเล็ก สูง ๕ - ๑๐ เมตร มีหนามแหลมคม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปเกือบกลม ดอกเล็กสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อเล็กที่โคนก้านใบผลรูปกลม เมื่อดิบสีเขียว สุกสีเหลืองส้มหรือน้ำตาล มีรสอมเปรี้ยวอมหวาน
                        เนื่องจากเปลือกต้นไม้มีรสฝาดจึงใช้เป็นยากินแก้ท้องร่วงและอาเจียน          ๒๑/ ๑๓๔๓๔
                ๔๐๐๖. พุท - ดาว  เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๘ ล้านกิโลเมตร มีขนาดโตกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย ลักษณะภายนอกมีหลุมบ่อคล้ายดวงจันทร์ ด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ร้อนมากในขณะที่ด้านตรงข้ามมืดและเย็นจัด
                        ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์หนึ่งในห้าดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เวลาที่อาจจะเห็นได้คือ ทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ หรือทางทิศตะวันออกในเวลาจวนสว่าง ดาวพุธมีการเคลื่อนที่สองอย่างคือ เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ และหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลาเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละ ๘๗.๙๖๗ วัน หมุนรอบตัวเองรอบละ ๕๘.๖๕ วัน ทิศทางการเคลื่อนที่เป็นทางเดียวกันกับโลก การหมุนรอบตัวเองของดาวพุธ จะยาวนานน้อยกว่าหนึ่งวันของดาวพุธ ซึ่งยาวประมาณ ๑๗๖ วันของโลก
                        วงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นยกเว้นดาวพลูโต
                        ดาวพุธไม่มีบรรยากาศห่อหุ้ม เส้นแรงแม่เหล็กรอบดาวพุธมีลักษณะคล้ายของโลก คือ เส้นแสงด้านที่หันไปทางดวงอาทิตย์อยู่ชิดกัน ในขณะที่ด้านตรงข้ามถ่างออกจนกลายเป็นหาง          ๒๑/ ๑๓๔๓๕
                ๔๐๐๗. พุนพิน  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ เป็นชุมทางคมนาคมติดต่อทุกอำเภอใน จ.สุราษฎร์ธานี เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำตาปี และเป็นที่ตั้งสถานรถไฟสุราษฎร์ธานี
                        ในรัชกาลที่หนึ่ง พม่ายกทัพไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เจ้าพระยานครให้กรมการคุมพล ๑,๐๐๐ เศษ ยกไปตั้งขัดตาทัพที่อำเภอนี้ อ.พุนพินเปลี่ยนเป็น อ.ท่าข้ามอยู่ครั้งหนึ่งกลับมาชื่อ อ.พุนพินอีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑          ๒๑/ ๑๓๔๔๙
                ๔๐๐๘. พุพอง - โรค  เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง แพทย์แผนโบราณกล่าวถึงโรคนี้ว่ามีลักษณะจำเพาะคือ เริ่มด้วยมีเม็ดใสขนาดเล็กเกิดขึ้นตามตัว บางเม็ดเกิดมีหนอง ทำให้มีอาการเจ็บปวดตะครันตะครอ หรือมีไข้ เม็ดพุพองนี้จะโตและแตกออกมีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลเยิ้ม เกิดการลุกลามไปยังที่อื่นได้ง่าย และกลายเป็นโรคผิวหนังอย่างเรื้อรัง
                        การรักษาโรคนี้ตามแนวแพทย์แผนโบราณประกอบด้วย ยากินและยาทา แพทย์แผนปัจจุบันจัดโรคพุพองอยู่ในพวกโรคติดเชื้อของผิวหนัง          ๒๑/ ๑๓๔๕๐
                ๔๐๐๙. พุ่มข้าวบิณฑ์  มีบทนิยามว่า "ข้าวสุกที่บรรจุในกรวยใส่ไว้ในพุ่มดอกไม้ใช้ในการเซ่นบูชา, ชื่อลายอย่างหนึ่งรูปเหมือนพุ่มข้าวบิณฑ์ บางทีเรียกว่า ทรงข้าวบิณฑ์"
                        คำว่าพุ่มข้าวบิณฑ์นี้ทางการช่างศิลปะไทยแต่เดิม ท่านกำหนดเอารูปลักษณะทรวดทรงภายนอกจากบาตรพระ พุ่มข้าวบิณฑ์จำแนกออกในรูปลักษณะ และความหมายสำหรับใช้ในงานต่าง ๆ กัน คือ
                        ๑. เป็นทรงพุ่มใช้เป็นเครื่องตกแต่งหลังคาเรือนยอด โดยปักอยู่ส่วนบนสุดของยอดบุษบก ยอดมณฑป ยอดปราสาท ยอดมงกุฎ (พระวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ยอดเทียนเครื่องบูชา
                        ๒. เป็นทรงพุ่มดอกไม้สด สำหรับจัดพานเป็นเครื่องนมัสการหรือถวายสักการะพระพุทธปฏิมา พระพุทธบาท พระบรมสารีริกาธาตุ เทพยอดา พระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ในอดีต
                        ๓. เป็นทรงของส่วนยอดเจดีย์ในสมัยสุโขทัยเรียกว่า เจดีย์ยอดทรงข้าวบิณฑ์
                        ๔. เป็นทรงพุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง สำหรับเจ้าหน้าที่เชิญเข้าในขบวนเครื่องสูงแทนจารมร
                        ๕. เป็นชื่อลายอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะของทรงพุ่มเข้าตามรูปทรงของข้าวบิณฑบาต หรือทรงดอกบัวตูม ลายที่ประดิษฐ์อยู่ในทรงพุ่มนี้เรียกว่า ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกลาย ก้านแย่งและโคมแย่ง ทั้งสามประเภทนี้ยังแบ่งเป็นชนิดของลายได้อีกสามชนิดคือ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ธรรมดาหน้าสิงห์ และเทพประนม          ๒๑/ ๑๓๔๕๒

    • Update : 27/5/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch